“เรือจากคิททิม” แล่นข้ามทะเล
“เรือจากคิททิม” แล่นข้ามทะเล
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแถบตะวันออกเป็นบริเวณที่เคยเกิดยุทธการทางทะเลหลายครั้ง. ลองนึกภาพการประจันหน้าครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นห้าร้อยปีก่อนสมัยพระคริสต์. เรือลำหนึ่งที่มีความคล่องตัวสูงซึ่งเรียกว่าเรือไตรรีมแล่นมาด้วยความเร็วเต็มอัตรา. ฝีพายประมาณ 170 คนซึ่งนั่งเรียงอยู่ที่กราบเรือทั้งสองข้างเป็นแถวสามชั้นลดหลั่นกัน ต่างเกร็งกล้ามเนื้ออันแข็งแกร่งของตนขณะพายเรือ โดยโยกตัวไปข้างหน้าและข้างหลังบนเบาะหนังที่รัดติดกับสะโพก.
เรือแล่นตัดฝ่าคลื่นมุ่งไปยังเรือของศัตรูด้วยความเร็วราว ๆ เจ็ดถึงเก้านอต (13-17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง). เรือที่ตกเป็นเป้าหมายพยายามหนี. ในช่วงคับขันนั้นเอง เรือเป้าหมายก็จะกลับลำอย่างยากลำบาก และด้านข้างเรือก็จะกลายเป็นเป้าที่เปิดโล่งโดยไม่มีอะไรป้องกัน. เครื่องกระทุ้งหุ้มทองสัมฤทธิ์ซึ่งติดอยู่ที่หัวเรือรบไตรรีมก็เจาะทะลุเข้าไปในตัวเรือที่เปราะบาง. เสียงดังสนั่นของไม้กระดานเรือที่แตกเป็นเสี่ยง ๆ และเสียงน้ำทะเลที่พุ่งเข้ามาตรงรูโหว่ สร้างความตื่นตระหนกให้กับฝีพายของศัตรู. บนเรือไตรรีม นักรบติดอาวุธครบมือกลุ่มเล็ก ๆ จะรีบไปที่ทางออกตรงกลางและบุกขึ้นไปบนเรือที่ได้รับความเสียหาย. ใช่แล้ว เรือรบโบราณบางลำน่ากลัวจริง ๆ!
นักศึกษาพระคัมภีร์สนใจเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับการอ้างถึง “คิททิม” หรือ “เรือจากคิททิม” หลายครั้ง ซึ่งบางครั้งเป็นเชิงพยากรณ์. (อาฤธโม 24:24; ดานิเอล 11:30, ล.ม.; ยะซายา 23:1) คิททิมอยู่ที่ไหน? เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเรือจากคิททิม? และเหตุใดคำตอบจึงน่าจะเป็นเรื่องที่คุณควรสนใจ?
โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ชาวยิวเรียกคิททิมว่า “เฮทีมอส” ซึ่งติดต่อเกี่ยวข้องกับเกาะไซปรัส. เมืองคิทีออน (หรือซิเทียม) ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะยิ่งทำให้เมืองคิททิมมีความเกี่ยวข้องมากขึ้นกับเกาะไซปรัส. ในทางภูมิศาสตร์ เกาะไซปรัสตั้งอยู่บนชุมทางของเส้นทางการค้าขายสมัยโบราณ เกาะนี้จึงอยู่ในทำเลที่ดีมากเนื่องจากอยู่ใกล้ศูนย์กลางการค้าทางทะเลของเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออก. เนื่องด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ บ่อยครั้งไซปรัสจึงจำต้องเข้าข้างชาติใดชาติหนึ่งที่สู้รบกัน เกาะไซปรัสจึงกลายเป็นพันธมิตรที่มีอำนาจ หรือไม่ก็เป็นอุปสรรคที่สร้างความยุ่งยาก.
ชาวเกาะไซปรัสและท้องทะเล
หลักฐานทางโบราณคดีจากการขุดค้นใต้ท้องทะเลและในหลุมศพ รวมถึงงานเขียนโบราณและภาพวาดบนเครื่องปั้นดินเผา ช่วยให้เราเห็นภาพเรือจากเกาะไซปรัส. ชาวเกาะไซปรัสยุคแรก ๆ เป็นช่างต่อเรือที่เชี่ยวชาญ. บนเกาะมีป่าไม้หนาแน่น และมีอ่าวกำบังลมซึ่งใช้เป็นท่าเรือธรรมชาติ. ต้นไม้จะถูกตัดไม่เพียงเพื่อนำมาสร้างเรือ แต่ยังถูกนำมาใช้ในการหลอมทองแดงซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ทำให้เกาะไซปรัสมีชื่อเสียงในโลกโบราณ.
การค้าด้านการส่งออกที่เฟื่องฟูของเกาะไซปรัสหนีไม่พ้นการจับตามองของชาวฟินิเซียซึ่งตั้งอาณานิคมตามที่ต่าง ๆ ตลอดเส้นทางการค้าของพวกเขา. หนึ่งในอาณานิคมดังกล่าวคือคิทีออน บนเกาะไซปรัส.—ยะซายา 23:10-12.
หลังจากที่เมืองไทร์ (ตุโร) ล่มจม ดูเหมือนว่าชาวเมืองนั้นบางคนได้ลี้ภัยมาอยู่ที่คิททิม. เป็นไปได้ว่าผู้ก่อตั้งอาณานิคมชาวฟินิเซียซึ่งเชี่ยวชาญในการเดินเรือได้ช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการเดินเรือให้กับชาวเกาะไซปรัสอย่างมาก. ตำแหน่งที่ได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ของคิทีออนยังเป็นการคุ้มกันอย่างดีสำหรับเรือของชาวฟินิเซียด้วยเช่นกัน.
เชี่ยวชาญในการค้าระหว่างประเทศ
ในช่วงเวลานั้น การค้าขายบริเวณฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสมัยโบราณมีความซับซ้อน. โภคภัณฑ์ราคาแพงจากไซปรัสถูกส่งทางเรือไปยังเกาะครีต, เกาะซาร์ดิเนีย, และเกาะซิซิลี รวมถึงเกาะต่าง ๆ ในทะเลอีเจียน. มีการค้นพบเหยือกและแจกันจากไซปรัสในบริเวณ
ดังกล่าว และเครื่องปั้นดินเผาของชาวไมซีเนียน (ชาวกรีก) พบในไซปรัสเป็นจำนวนมาก. จากการวิเคราะห์แท่งโลหะทองแดงที่ค้นพบในเกาะซาร์ดิเนียทำให้นักวิจัยบางคนเชื่อว่าโลหะเหล่านั้นมาจากไซปรัส.ในปี 1982 มีการค้นพบซากเรืออับปางสมัยปลายศตวรรษที่ 14 ก่อนสากลศักราชไม่ไกลจากชายฝั่งตอนใต้ของตุรกี. ในการขุดสำรวจใต้ท้องทะเลมีการค้นพบสมบัติอันประเมินค่ามิได้หลายอย่าง เช่น แท่งทองแดงที่เชื่อว่ามาจากไซปรัส, อำพัน, เหยือกของชาวคะนาอัน, ไม้มะเกลือ, งาช้าง, ชุดเครื่องประดับทองคำกับเงินของชาวคะนาอัน, และเครื่องประดับรูปแมลงและของอื่น ๆ จากอียิปต์. จากการวิเคราะห์ดินเหนียวที่ใช้ทำเครื่องปั้นดินเผาที่พบบนเรือ บางแหล่งอ้างอิงระบุว่าเรือดังกล่าวน่าจะสร้างโดยชาวไซปรัส.
น่าสนใจ ในช่วงเวลาที่กะประมาณว่าเรือนี้อับปาง บีละอามได้อ้างถึงเรือจากคิททิมใน “คำกล่าวปริศนา” ของเขา. (อาฤธโม 24:15, 24) เห็นได้ชัดว่า เรือของชาวไซปรัสเป็นที่รู้จักกันดีในแถบตะวันออกกลาง. เรือดังกล่าวมีลักษณะเช่นไร?
เรือสินค้า
มีการค้นพบแบบจำลองเรือที่ทำจากดินเหนียวจำนวนมากในหลุมศพที่เมืองอะมาทัสโบราณบนเกาะไซปรัส. แบบจำลองดินเหนียวเหล่านี้ให้ข้อมูลที่มีค่าซึ่งช่วยให้ทราบว่าเรือของชาวไซปรัสมีลักษณะเช่นไร และแบบจำลองบางชิ้นจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถาน.
แบบจำลองเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่า เรือในยุคแรกเป็นเรือที่ทำขึ้นเพื่อทำการค้าอย่างสันติ. ตามปกติแล้ว เรือขนาดเล็กใช้ฝีพาย 20 คน. มีการออกแบบตัวเรือให้กว้างและลึกเพื่อขนส่งสินค้าและผู้โดยสารในการเดินทางระยะสั้นตามชายฝั่งของเกาะไซปรัส. พลินีผู้อาวุโสได้กล่าวว่าชาวเกาะไซปรัสออกแบบเรือให้มีขนาดเล็ก และน้ำหนักเบาซึ่งขับเคลื่อนโดยใช้ฝีพาย และบรรทุกของได้ถึง 90 ตัน.
ต่อมา ก็มีเรือสินค้าขนาดใหญ่กว่าซึ่งเป็นแบบที่เหมือนกับเรือที่ค้นพบใกล้ชายฝั่งตุรกี. เรือบางลำบรรทุกสินค้าได้ถึง 450 ตันในทะเลใหญ่. เรือขนาดใหญ่อาจมีฝีพายมากถึง 50 คน โดยนั่งข้างละ 25 คน และยาว 30 เมตรและมีเสาสูง 10 เมตร.
เรือรบจากคิททิมในคำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิล
พระวิญญาณของพระยะโฮวาอยู่เบื้องหลังคำแถลงนี้: “กำปั่นจะมาจากฝั่งเมืองซีติม [“คิททิม,” ล.ม.] แลตีทำลายพวกอัศฮร.” (อาฤธโม 24:2, 24) คำทำนายนี้เป็นจริงไหม? เรือจากไซปรัสเกี่ยวข้องกับความสำเร็จเป็นจริงนี้อย่างไร? เรือจากคิททิมเหล่านี้ไม่ใช่เรือสินค้าที่มาอย่างสันติซึ่งล่องมาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน. เรือเหล่านี้เป็นเรือรบที่สร้างความหายนะ.
เมื่อรูปแบบของสงครามเปลี่ยนไป จึงมีการปรับรูปทรงของเรือให้คล่องตัวขึ้นและมีอำนาจในการทำลายล้างมากขึ้น. เรือรบของไซปรัสในยุคแรกสุดอาจเป็นแบบภาพวาดที่พบในอะเมทัส. เรือในภาพนั้นมีลักษณะยาวเรียวและมีท้ายเรือโค้งขึ้นและม้วนเข้าหาตัวเรือ คล้ายกับเรือรบของชาวฟินิเซีย. เรือนี้มีเครื่องกระทุ้งและมีโล่ทรงกลมที่ด้านใดด้านหนึ่งใกล้ท้ายเรือเรียงรายไปจนถึงหัวเรือ.
ศตวรรษที่แปดก่อน ส.ศ. ก็มีเรือไบรีม (เรือที่มีฝีพายนั่งอยู่ที่กราบเรือข้างละสองชั้น) ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในกรีซ. เรือชนิดนี้ยาวประมาณ 24 เมตร และกว้าง 3 เมตร. ในตอนแรก มีการใช้เรือชนิดนี้เพื่อขนส่งทหารไปยังสนามรบที่อยู่บนบก. ไม่นาน มีการคำนึงถึงข้อได้เปรียบของการเพิ่มฝีพายชั้นที่สาม และติดเครื่องกระทุ้งหุ้มทองสัมฤทธิ์ที่หัวเรือ. เรือแบบใหม่นี้เป็นที่รู้จักในชื่อไตรรีม ดังที่กล่าวถึงตอนต้นของบทความ. เรือชนิดนี้มีชื่อเสียงโด่งดังในช่วงยุทธการที่ซาลามิส (ปี 480 ก่อน ส.ศ.) เมื่อชาวกรีกเอาชนะกองเรือรบของเปอร์เซียได้.
ต่อมา อะเล็กซานเดอร์มหาราชได้สั่งเคลื่อนกองเรือรบไตรรีมไปทางตะวันออกเพื่อแผ่ขยายอาณาเขตปกครอง. เรือเหล่านั้นถูกออกแบบสำหรับการรบ ไม่ใช่เพื่อการเดินทางไกลในทะเลใหญ่ เนื่องจากมีเนื้อที่จำกัดในการเก็บเสบียงอาหาร. นี่จึงเป็นเหตุให้ต้องหยุดพักที่เกาะอีเจียนเพื่อหาเสบียงอาหารและซ่อมบำรุงเรือ. เป้าหมายของอะเล็กซานเดอร์คือทำลายกองเรือรบของเปอร์เซีย. อย่างไรก็ตาม เพื่อจะประสบผลสำเร็จ ก่อนอื่นเขาต้องยึดป้อมปราการบนเกาะของเมืองไทร์ที่ยากจะพิชิตได้เสียก่อน. เกาะไซปรัสจึงเป็นจุดแวะพักในการเดินทาง.
ชาวเกาะไซปรัสสนับสนุนอะเล็กซานเดอร์มหาราชในการล้อมเมืองไทร์ (332 ก่อน ส.ศ.) โดยจัดหากองเรือรบให้ 120 ลำ. กษัตริย์สามองค์ของไซปรัสนำกองเรือรบมาร่วมสมทบกับอะเล็กซานเดอร์. พวกเขาเข้าร่วมในการล้อมเมืองไทร์ซึ่งใช้เวลานานถึงเจ็ดเดือน. เมืองไทร์ล่มสลายและคำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิลก็สำเร็จเป็นจริง. (ยะเอศเคล 26:3, 4; ซะคาระยา 9:3, 4) เพื่อแสดงความขอบคุณ อะเล็กซานเดอร์มอบอำนาจพิเศษแก่กษัตริย์ไซปรัส.
ความสำเร็จเป็นจริงที่น่าทึ่ง
สตราโบ นักประวัติศาสตร์สมัยศตวรรษแรกเล่าว่าอะเล็กซานเดอร์ได้สั่งให้เรือจากไซปรัสและฟินิเซียมาช่วยในการรบที่คาบสมุทรอาหรับ. เรือเหล่านี้มีน้ำหนักเบาและง่ายต่อการแยกชิ้นส่วน เรือเหล่านั้นจึงมาถึงเมืองแทปซาคัส (ทิฟซาห์) ทางตอนเหนือของซีเรียภายในเจ็ดวันเท่านั้น. (1 กษัตริย์ 4:24) จากที่นั่น เป็นไปได้ที่จะเดินทางลงมาตามแม่น้ำจนถึงบาบิโลน.
ฉะนั้น ถ้อยคำที่ดูเหมือนคลุมเครือในคัมภีร์ไบเบิลจึงสำเร็จเป็นจริงอย่างน่าทึ่งประมาณสิบศตวรรษต่อมา! ตรงกันกับถ้อยคำที่อาฤธโม 24:24 กองทหารของอะเล็กซานเดอร์มหาราชได้บุกตะลุยจากมาซิโดเนียไปทางตะวันออกและพิชิตดินแดนอัสซีเรีย และในที่สุดก็เอาชนะจักรวรรดิมิโด-เปอร์เซียอันยิ่งใหญ่ได้.
ข้อมูลเกี่ยวกับ “เรือจากคิททิม” แม้มีไม่มากนัก แต่ก็ชี้ถึงความสำเร็จอันน่าทึ่งของคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างไม่ผิดพลาด. หลักฐานทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวเสริมความมั่นใจว่า เราสามารถวางใจคำพยากรณ์ที่พบในคัมภีร์ไบเบิล. คำพยากรณ์ที่วางใจได้เช่นนั้นหลายข้อเกี่ยวข้องกับอนาคตของเราทีเดียว เราจึงควรเอาใจใส่คำพยากรณ์เหล่านั้นอย่างจริงจัง.
[แผนที่หน้า 16, 17]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
อิตาลี
ซาร์ดิเนีย
ซิซิลี
ทะเลอีเจียน
กรีซ
ครีต
ลิเบีย
ตุรกี
ไซปรัส
คิทีออน
ไทร์
อียิปต์
[ภาพหน้า 16]
แบบจำลองเรือรบไตรรีมของชาวกรีก
[ที่มาของภาพ]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.
[ภาพหน้า 17]
แบบจำลองเรือรบโบราณไบรีมของชาวฟินิเซีย
[ที่มาของภาพ]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.
[ภาพหน้า 17]
แจกันที่มีภาพเรือจากไซปรัส
[ที่มาของภาพ]
Published by permission of the Director of Antiquities and the Cyprus Museum
[ภาพหน้า 18]
เรือสินค้าโบราณ ดังที่กล่าวถึงในยะซายา 60:9