ลูกาเพื่อนร่วมงานผู้เป็นที่รัก
ลูกาเพื่อนร่วมงานผู้เป็นที่รัก
ในปี 65 สากลศักราช ณ กรุงโรม. ลูการู้ว่าเป็นการเสี่ยงที่จะเปิดเผยตัวเองว่า เป็นเพื่อนของอัครสาวกเปาโล ซึ่งในตอนนั้นถูกดำเนินคดีเพราะความเชื่อของท่าน. ดูเหมือนว่าเปาโลจะได้รับโทษประหารชีวิต. แต่ในช่วงคับขันนั้น ลูกาแต่เพียงผู้เดียวได้อยู่กับท่านอัครสาวก.—2 ติโมเธียว 4:6, 11.
ชื่อลูกาเป็นที่คุ้นเคยของผู้อ่านพระคัมภีร์เพราะกิตติคุณที่ท่านเขียนถูกเรียกตามชื่อของท่าน. ลูกาเดินทางเป็นระยะทางไกลร่วมกับเปาโลซึ่งเรียกท่านว่าเป็น “แพทย์ที่รัก” และ “เพื่อนร่วมงาน.” (โกโลซาย 4:14; ฟิเลโมน 24) พระคัมภีร์ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลูกาเพียงเล็กน้อย โดยเอ่ยชื่อของท่านเพียงสามครั้ง. อย่างไรก็ตาม ขณะที่คุณตรวจสอบสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับลูกา คุณคงจะร่วมความรู้สึกกับเปาโลที่หยั่งรู้ค่าคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์คนนี้.
ผู้เขียนพระคัมภีร์และมิชชันนารี
กิตติคุณของลูกาและพระธรรมกิจการของอัครสาวกได้รับการเขียนถึงเทโอฟิลุส ระบุว่าลูกาเป็นผู้บันทึกข้อเขียนที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าทั้งสองเล่มนี้. (ลูกา 1:3; กิจการ 1:1) ลูกาไม่ได้อ้างว่าท่านเป็นพยานรู้เห็นการรับใช้ของพระเยซูคริสต์. แต่ลูกากล่าวว่าท่านได้รับข้อมูลจากผู้เป็นประจักษ์พยานและ “ได้สืบเสาะทุกเรื่องตั้งแต่ต้นอย่างถูกต้องแม่นยำ.” (ลูกา 1:1-3) ดังนั้น ดูเหมือนว่าลูกาได้มาเป็นสาวกของพระคริสต์ช่วงใดช่วงหนึ่งหลังวันเพนเทคอสต์ปี ส.ศ. 33.
บางคนคาดว่าลูกามาจากเมืองอันทิโอกในซีเรีย. พวกเขาสังเกตว่าพระธรรมกิจการให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองนั้นและพระธรรมนี้ได้ระบุถึงชายคนหนึ่งในเจ็ดคน “ซึ่งเป็นคนมีชื่อเสียงดี” ว่าเป็น “ชาวเมืองอันทิโอกผู้เคยเปลี่ยนมาถือศาสนายิว” ในขณะที่เมืองอื่น ๆ อีกหกเมืองไม่ได้รับการเอ่ยถึง. แน่นอน เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าความสนใจที่มีต่อเมืองนี้เป็นพิเศษบ่งชี้ว่าอันทิโอกเป็นบ้านเกิดของลูกา.—กิจการ 6:3-6.
แม้ว่าลูกาไม่ได้รับการเอ่ยถึงในพระธรรมกิจการ แต่ข้อความบางตอนได้ใช้สรรพนามว่า “เรา,” “ของเรา”, และ “พวกเรา” ซึ่งเป็นการระบุว่าท่านมีส่วนร่วมในบางเหตุการณ์ที่มีกล่าวถึงในพระธรรมนี้. เมื่อลูกาอธิบายเส้นทางที่เปาโลและเพื่อน ๆ ของท่านใช้ตลอดทั่วเอเชียน้อย ท่านกล่าวว่า “พวกเขาจึงเดินทางผ่านแคว้นมีเซียไปแล้วมายังเมืองโตรอัส.” ณ เมืองโตรอัสนั่นเองที่เปาโลเห็นนิมิตเกี่ยวกับชายชาวมาซิโดเนียคนหนึ่งซึ่งได้วิงวอนว่า “โปรดมาช่วยพวกข้าพเจ้าที่แคว้นมาซิโดเนียด้วย.” ลูกาเพิ่มเติมว่า “หลังจากเปาโลเห็นนิมิต พวกเราก็หาทางไปยังแคว้นมาซิโดเนียทันที.” (กิจการ 16:8-10) การเปลี่ยนจาก “พวกเขา” มาเป็น “พวกเรา” บ่งชี้ว่าลูกาได้สมทบกับคณะของเปาโลที่เมืองโตรอัส. ต่อจากนั้นลูกาได้ชี้แจงถึงการประกาศในฟิลิปปอยโดยใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งในรูปพหูพจน์ ซึ่งแสดงว่าท่านได้อยู่ในคณะนั้นด้วย. ท่านเขียนว่า “ในวันซะบาโตพวกเราออกนอกประตูเมืองไปยังริมแม่น้ำซึ่งพวกเราคิดว่ามีที่สำหรับอธิษฐาน แล้วนั่งลงสอนพวกผู้หญิงซึ่ง ชุมนุมกันอยู่ที่นั่น.” ผลคือนางลิเดียกับทุกคนในบ้านนางได้ตอบรับข่าวดีและได้รับบัพติสมา.—กิจการ 16:11-15.
ลูกาและคณะพบกับการต่อต้านในฟิลิปปอย ที่ซึ่งเปาโลได้รักษาสาวใช้ผู้ให้คำทำนายภายใต้อิทธิพลของ “ปิศาจทำนาย.” เมื่อนายของเธอเห็นว่าไม่มีโอกาสได้เงินอีกแล้ว พวกเขาจึงจับตัวเปาโลกับซีลัสทุบตีและขังท่านไว้ในคุก. ดูเหมือนว่าลูกาไม่ถูกจับ เพราะท่านได้พรรณนาถึงความทุกข์ของเพื่อน ๆ โดยใช้สรรพนามบุรุษที่สาม. เมื่อพวกเขาถูกปล่อยตัว “[เปาโลกับซีลัส] ก็หนุนกำลังใจ [พี่น้อง] แล้วจึงออกเดินทาง.” เมื่อเปาโลกลับไปฟิลิปปอยในเวลาต่อมา ลูกาได้กลับมาใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งอีกเมื่อพูดถึงตัวเอง. (กิจการ 16:16-40; 20:5, 6) ลูกาอาจยังคงอยู่ที่ฟิลิปปอยเพื่อดูแลงานที่นั่น.
การรวบรวมข้อมูล
ลูกาได้รับเรื่องราวสำหรับกิตติคุณของท่านและพระธรรมกิจการโดยวิธีใด? ส่วนต่าง ๆ ของพระธรรมกิจการที่ลูกาได้รวมตัวท่านเองไว้ในเนื้อหาบ่งชี้ว่าท่านได้เดินทางร่วมกับเปาโลจากฟิลิปปอยไปยังเยรูซาเลม ซึ่งเปาโลถูกจับอีกครั้งหนึ่งที่นั่น. ระหว่างทาง คณะของเปาโลได้พักกับฟิลิปผู้เผยแพร่ข่าวดีในซีซาเรีย. (กิจการ 20:6; 21:1-17) ลูกาคงได้รวบรวบข้อมูลสำหรับบันทึกของท่านในช่วงแรก ๆ ของงานมิชชันนารีในซะมาเรียจากฟิลิปซึ่งเป็นผู้นำหน้าในการประกาศที่นั่น. (กิจการ 8:4-25) ใครอีกที่เป็นแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ของลูกา?
ช่วงเวลาสองปีที่เปาโลถูกคุมขังในซีซาเรียดูเหมือนจะเปิดโอกาสให้ลูกาทำการค้นคว้าสำหรับการเขียนกิตติคุณของท่าน. เยรูซาเลมซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่นั่น เป็นที่ที่ท่านสามารถค้นหาข้อมูลจากบันทึกลำดับวงศ์ตระกูลของพระเยซู. ลูกาได้บันทึกหลายเหตุการณ์ในชีวิตและการรับใช้ของพระเยซูที่พบได้เฉพาะในกิตติคุณของท่าน. นักวิจารณ์คนหนึ่งได้สังเกตว่าข้อความที่บันทึกรายละเอียดดังกล่าวมีอย่างน้อย 82 แห่ง.
เป็นไปได้ว่าลูกาได้เรียนสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับการกำเนิดของโยฮันจากเอลิซาเบท มารดาของโยฮันผู้ให้บัพติสมา. รายละเอียดเกี่ยวกับการประสูติของพระเยซูและชีวิตในวัยเด็กก็อาจได้รับจากมาเรียมารดาของพระเยซู. (ลูกา 1:5–2:52) บางทีเปโตร, ยาโกโบ, หรือโยฮันได้บอกลูกาเกี่ยวกับการจับปลาอย่างน่าอัศจรรย์. (ลูกา 5:4-10) เฉพาะในกิตติคุณของลูกาที่เราได้เรียนอุปมาของพระเยซูบางเรื่อง เช่น ชาวซะมาเรียผู้มีน้ำใจเป็นมิตร, ประตูแคบ, เหรียญเงินที่ หายไป, บุตรสุรุ่ยสุร่าย, และชายเศรษฐีกับลาซะโร.—ลูกา 10:29-37; 13:23, 24; 15:8-32; 16:19-31.
ลูกาแสดงความสนใจอย่างแท้จริงในผู้คน. ท่านบันทึกเรื่องการถวายเครื่องบูชาของมาเรียเพื่อชำระตัวให้สะอาด, การปลุกลูกชายหญิงม่ายให้เป็นขึ้นจากตาย, และผู้หญิงคนหนึ่งที่ชำระพระบาทของพระเยซู. ลูกาพูดถึงพวกสตรีที่รับใช้พระคริสต์และบอกเราเรื่องที่มาร์ทาและมาเรียได้เตรียมอาหารและรับรองพระองค์ที่บ้าน. กิตติคุณของลูกาเล่าเรื่องการรักษาหญิงหลังค่อม ชายที่มีอาการบวมน้ำและการรักษาชายโรคเรื้อนสิบคนให้หาย. ลูกาบอกเราเรื่องซัคเคอุสชายร่างเล็กซึ่งปีนต้นไม้เพื่อจะได้เห็นพระเยซูและบันทึกเกี่ยวกับท่าทีที่แสดงการกลับใจของผู้ร้ายที่ถูกตรึงข้างพระคริสต์.—ลูกา 2:24; 7:11-17, 36-50; 8:2, 3; 10:38-42; 13:10-17; 14:1-6; 17:11-19; 19:1-10; 23:39-43.
ที่น่าสังเกตก็คือกิตติคุณของลูกาได้กล่าวถึงการรักษาบาดแผลโดยชาวซะมาเรียผู้มีน้ำใจเป็นมิตรในคำอุปมาของพระเยซู. ดูเหมือนว่าด้วยความสนใจตามแบบของแพทย์ ลูกาได้บันทึกการพรรณนาของพระเยซูเรื่องการรักษาโดยมีเหล้าองุ่นเป็นยาฆ่าเชื้อ, น้ำมันที่ทำให้ผ่อนคลาย, และการพันแผล.—ลูกา 10:30-37.
เพื่อนของนักโทษ
ลูกาเป็นห่วงอัครสาวกเปาโล. เมื่อเปาโลถูกคุมขังที่ซีซาเรีย เฟลิกซ์ผู้ว่าราชการโรมันออกคำสั่งว่า “ถ้ามีพวกของเปาโลมาคอยรับใช้เขาก็ไม่ต้องห้าม.” (กิจการ 24:23) มีความเป็นไปได้ที่ลูกาจะอยู่ท่ามกลางคนรับใช้เหล่านี้. เนื่องจากสุขภาพของเปาโลบางครั้งไม่ค่อยดี การดูแลท่านจึงคงต้องเป็นส่วนหนึ่งของการรับใช้ของ “แพทย์ที่รัก.”—โกโลซาย 4:14; กาลาเทีย 4:13.
เมื่อเปาโลอุทธรณ์ถึงซีซาร์ เฟสตุสผู้ว่าราชการโรมันได้ส่งท่านอัครสาวกไปโรม. ลูกาได้อยู่เคียงข้างผู้เป็นนักโทษอย่างภักดีตลอดระยะทางอันยาวไกลไปยังอิตาลีและได้จดบันทึกที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนเกี่ยวกับการผจญภัยเรือแตกของพวกเขา. (กิจการ 24:27; 25:9-12; 27:1, 9-44) ขณะที่ถูกกักบริเวณในโรม เปาโลเขียนจดหมายภายใต้การดลใจหลายฉบับและได้อ้างถึงลูกาในสองฉบับ. (กิจการ 28:30; โกโลซาย 4:14; ฟิเลโมน 24) น่าจะเป็นในช่วงสองปีนี้ที่ลูกาเขียนพระธรรมกิจการ.
บ้านพักของเปาโลในโรมต้องเต็มไปด้วยกิจกรรมฝ่ายวิญญาณอย่างแน่นอน. ที่นั่น ลูกาคงต้องได้ติดต่อกับเพื่อนร่วมงานของเปาโลบางคน เช่น ทีคิคุส, อาริสตาร์คุส, มาระโก, ยุสทุส, เอปาฟรัส, และโอเนซิมุส.—โกโลซาย 4:7-14.
ระหว่างการคุมขังครั้งที่สองของเปาโล เมื่อท่านรู้ว่าความตายใกล้เข้ามา ลูกาผู้ภักดีและกล้าหาญได้อยู่เคียงข้างแม้ว่าบางคนได้ละทิ้งท่านไป. ลูกาอาจต้องอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่จะสูญเสียอิสรภาพของตนเอง. ลูกาอาจทำหน้าที่เหมือนเลขานุการซึ่งได้เขียนถ้อยคำของเปาโลว่า “มีลูกาคนเดียวอยู่กับข้าพเจ้า.” ตามการเล่าสืบต่อกันมา ไม่นานหลังจากนั้นเปาโลก็ถูกตัดศีรษะ.—2 ติโมเธียว 4:6-8, 11, 16.
ลูกามีน้ำใจเสียสละและเป็นคนถ่อม. ท่านไม่ได้อวดอ้างการศึกษาของท่านหรือยกตัวเพื่อให้ได้รับความสนใจจากคนอื่น. แน่นอน ท่านสามารถเลือกชีวิตเป็นนายแพทย์ได้ แต่ท่านเลือกที่จะส่งเสริมผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักร. ดังเช่นลูกา ขอให้เราประกาศข่าวดีอย่างไม่เห็นแก่ตัวและรับใช้อย่างถ่อมใจเพื่อนำคำสรรเสริญมาสู่พระยะโฮวา.—ลูกา 12:31.
[กรอบหน้า 19]
เทโอฟิลุสเป็นใคร?
ลูกาได้เขียนกิตติคุณของท่านและพระธรรมกิจการถึงเทโอฟิลุส. ในกิตติคุณของลูกา ชายคนนี้ได้รับการเรียกในฐานะ “ท่านเทโอฟิลุสที่เคารพยิ่ง.” (ลูกา 1:3) คำ “ที่เคารพยิ่ง” เป็นรูปแบบของคำที่ใช้เรียกบุคคลที่มีชื่อเสียงและฐานะร่ำรวยหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลโรมัน. อัครสาวกเปาโลได้เรียกเฟสตุสผู้ว่าราชการโรมันแห่งแคว้นยูเดียในลักษณะที่คล้ายกันนั้น.—กิจการ 26:25.
ดูเหมือนว่า เทโอฟิลุส ได้ยินเรื่องราวของพระเยซูและแสดงความสนใจ. ลูกาหวังว่าบันทึกในกิตติคุณของท่านจะช่วยเทโอฟิลุสให้ “มั่นใจว่าเรื่องต่าง ๆ ที่ท่าน [เทโอฟิลุส] ได้รับการสอนมานั้นเป็นความจริง.”—ลูกา 1:4.
ตามที่นักวิจารณ์ชาวกรีกริชาร์ด เลนสกีได้เขียนไว้ เมื่อลูกาใช้คำพูด “ที่เคารพยิ่ง” กับเทโอฟิลุส ท่านคงยังไม่เป็นผู้เชื่อถือ เพราะ “ในเอกสารคริสเตียนทั้งหมด . . . ไม่มีพี่น้องคริสเตียนคนใดเคยได้รับการเรียกโดยตำแหน่งทางโลกที่มีเกียรติเช่นนั้น.” ต่อมาเมื่อลูกาเขียนพระธรรมกิจการ ท่านไม่ได้ใช้คำ “ที่เคารพยิ่ง” เพียงแต่เรียกว่า “ท่านเทโอฟิลุส.” (กิจการ 1:1) เลนสกีสรุปว่า “เมื่อลูกาเขียนกิตติคุณถึงเทโอฟิลุส ชายที่โดดเด่นคนนี้ยังไม่เป็นคริสเตียนแต่แสดงความสนใจอย่างยิ่งในสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นคริสเตียน แต่ตอนที่ลูกาส่งพระธรรมกิจการไปให้ เทโอฟิลุสได้มาเป็นผู้เชื่อถือแล้ว.”