มุ่งหน้าไปสู่โลกใหม่ของพระเจ้า
เรื่องราวชีวิตจริง
มุ่งหน้าไปสู่โลกใหม่ของพระเจ้า
เล่าโดย แจ็ก แพรมเบิร์ก
นอกเมืองอาร์บูกา ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ สวยดั่งภาพวาดในสวีเดนตอนกลาง ที่นั่นพยานพระยะโฮวามีสำนักงานสาขา พร้อมด้วยอาสาสมัครแปดสิบกว่าคน. นี่เป็นบ้านของเรา ผมและ การินภรรยาอยู่และทำงานที่นี่. เราสองคนมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร?
ปลายศตวรรษที่ 19 เด็กสาวชาวสวีเดนวัย 15 ปีคนหนึ่งได้อพยพไปยังประเทศสหรัฐ. ณ ที่พักพิงคนเข้าเมืองในนครนิวยอร์ก เธอได้พบกะลาสีชาวสวีเดน. ต่อมาเขาก็รักกัน, แต่งงาน, และให้กำเนิดลูกชายคนหนึ่งคือผมนี่แหละ. ผมเกิดในเขตบรองซ์ รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1916 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1.
ไม่นานหลังจากนั้น เราย้ายไปที่บรุกลิน ห่างจากเบเธลในบรุกลินไฮตส์เพียงสองสามช่วงตึก. พ่อเล่าให้ผมฟังภายหลังว่าท่านเคยพาผมไปแล่นเรือใบจำลองใกล้สะพานบรุกลิน ซึ่งจากมุมนี้จะมองเห็นสำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาได้ถนัด. ตอนนั้นผมไม่นึกเลยว่ากิจกรรมต่าง ๆ ในสำนักงานแห่งนี้จะมีผลกระทบต่อชีวิตผม.
สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ยุติในปี 1918 และการพิฆาตเข่นฆ่าอย่างไร้จุดหมายในยุโรปก็จบสิ้น. ทหารที่เดินทางกลับบ้านต้องเจอศึกหนักแบบใหม่ ซึ่งได้แก่การว่างงาน และความยากจนข้นแค้น. พ่อคิดว่าดี
ที่สุดที่จะกลับสวีเดน พวกเราจึงอพยพกลับในปี 1923. ผลสุดท้ายเราได้ตั้งหลักแหล่งในหมู่บ้านเอริกสตาดใกล้ ๆ สถานีรถไฟในเขตดาลสแลนด์. ที่นั่นพ่อเริ่มทำธุรกิจจัดตั้งโรงกลึง ผมเติบโตและเข้าโรงเรียนในเมืองนี้.การหว่านเมล็ดลงไป
ธุรกิจของพ่อไม่สู้จะดีนัก. ดังนั้นในช่วงต้นทศวรรษ 1930 พ่อกลับไปเป็นกะลาสีตามเดิม. พ่อละพวกเราให้อยู่กันตามลำพัง แม่ห่วงกังวลหลายเรื่อง ส่วนผมเองก็ต้องดูแลโรงงาน. วันหนึ่งแม่ได้ไปเยี่ยมลุงยูฮัน พี่เขยของแม่. เนื่องจากแม่หมกมุ่นคิดกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของโลก แม่ได้ถามลุงว่า “ยูฮัน สภาพการณ์ของโลกจะเป็นอย่างนี้เสมอไปหรือ?”
ลุงตอบว่า “ไม่หรอก รูธ.” เขากล่าวถึงคำสัญญาของพระเจ้าที่จะยุติความชั่วร้ายและนำการปกครองอันชอบธรรมมาสู่แผ่นดินโลกโดยทางราชอาณาจักร โดยมีพระเยซูบริหารการปกครองฐานะพระมหากษัตริย์. (ยะซายา 9:6, 7; ดานิเอล 2:44, ล.ม.) เขาอธิบายว่าราชอาณาจักรที่พระเยซูสอนเราให้อธิษฐานขอนั้นเป็นการปกครองหรือรัฐบาลที่ชอบธรรม ซึ่งจะทำให้แผ่นดินโลกกลายเป็นอุทยาน.—มัดธาย 6:9, 10; วิวรณ์ 21:3, 4.
แม่รู้สึกประทับใจคำสัญญาหลายเรื่องของคัมภีร์ไบเบิลทันที. ท่านมุ่งหน้ากลับบ้าน กล่าวขอบคุณพระเจ้าไปตลอดทาง. อย่างไรก็ตาม ผมและพ่อต่างก็ไม่ชอบการที่แม่เริ่มสนใจทางศาสนา. ประมาณช่วงนี้คือกลางทศวรรษ 1930 ผมย้ายไปที่เมืองทรอลล์ฮัดทัน ทางภาคตะวันตกของสวีเดน ผมได้งานทำที่โรงงานขนาดใหญ่. ต่อมา แม่กับพ่อซึ่งเพิ่งเลิกการใช้ชีวิตในทะเลก็พากันย้ายมาอยู่กับผม. ดังนั้นครอบครัวของเราจึงได้อยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง.
เนื่องจากมีความปรารถนาจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระเจ้า แม่จึงสืบหาพยานพระยะโฮวาในละแวกใกล้เคียง. สมัยนั้น พยานฯ จัดการประชุมภายในบ้าน อย่างที่คริสเตียนสมัยแรกเคยกระทำ. (ฟิเลโมน 1, 2) วันหนึ่ง ถึงคราวที่แม่จะใช้บ้านของเราเป็นที่ประชุม. ด้วยความรู้สึกกังวล แม่ได้ขออนุญาตพ่อว่าจะยินยอมให้แม่เชิญชวนเพื่อน ๆ มาประชุมที่บ้านได้หรือไม่. พ่อตอบว่า “เพื่อนของคุณก็เหมือนเพื่อนของผม.”
ดังนั้น เราได้เปิดบ้านต้อนรับผู้คน. พอคนเดินเข้าประตู ผมก็ออกไป. แต่ในคราวต่อมา ผมตัดสินใจอยู่บ้านเมื่อมีคนมาร่วมประชุม. การเป็นมิตรไมตรีอย่างอบอุ่นของพยานพระยะโฮวา, และการมองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง, การหาเหตุผลอย่างง่าย ๆ ได้ขจัดอคติทุกอย่างที่ผมมีอยู่ในใจ. เมล็ดที่หว่านไว้เริ่มงอกขึ้นแล้วในหัวใจของผม นั่นคือความหวังสำหรับอนาคต.
ออกทะเล
ผมคงจะมีเลือดน้ำเค็มในตัวซึ่งได้จากพ่อ ผมจึงออกทะเลเช่นกัน. นอกจากนั้น ผมเริ่มตระหนักถึงความต้องการจะเข้าใกล้พระเจ้าด้วย. คราใดเรือเข้าเทียบท่า ผมพยายามจะติดต่อพยานพระยะโฮวาทุกครั้ง. ที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผมได้ไปที่ทำการไปรษณีย์ถามหาที่อยู่ของพวกเขา. หลังจากสอบถามที่อยู่ได้แล้ว ผมมุ่งไปตามที่อยู่ทันที. เด็กหญิงวัยสิบขวบได้ออกมาเปิดประตูต้อนรับผมด้วยท่าทีเป็นมิตร. ผมเป็นคนแปลกหน้า กระนั้น ทันใดนั้นเอง ผมมีความรู้สึกอยากผูกมิตรกับ
เธอรวมไปถึงครอบครัวของเธอด้วย นั่นเป็นประสบการณ์ที่ผมได้รู้จักภราดรภาพนานาชาติที่น่าพิศวง!ถึงแม้เราไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน ครั้นครอบครัวนั้นดึงปฏิทินพร้อมทั้งกำหนดเวลาการเดินรถไฟออกมาดู และเริ่มเขียนแผนที่ ผมก็เข้าใจได้ว่าจะมีการประชุมใหญ่ในเมืองฮาร์เลมซึ่งอยู่ไม่ไกล. ผมไปที่นั่น แม้นไม่สามารถเข้าใจแม้แต่คำเดียว แต่ผมชอบการประชุมครั้งนั้น. เมื่อผมเห็นเหล่าพยานฯ ยื่นใบปลิวเชิญฟังการบรรยายสาธารณะในวันอาทิตย์ ผมเกิดแรงบันดาลใจอยากจะมีส่วนร่วม. ดังนั้น ผมตามเก็บใบปลิวที่คนเขาทิ้งแล้วและแจกต่อให้คนอื่นอีก.
ครั้งหนึ่ง เราเทียบท่าในกรุงบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา, และที่นั่นผมสืบหาจนพบสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวา. ข้างในเป็นห้องทำงานและห้องพัสดุ. ผู้หญิงคนหนึ่งนั่งถักนิตติ้งอยู่ที่โต๊ะเขียนหนังสือ มีเด็กเล็ก ๆ คงจะเป็นลูกสาวกำลังเล่นตุ๊กตา. ตอนนั้นดึกแล้ว และชายคนหนึ่งก็หยิบหนังสือบางเล่มจากชั้น มีหนังสือการทรงสร้าง ภาษาสวีเดนด้วย. เมื่อเห็นสีหน้าพวกเขามีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส ผมรู้เลยว่าผมอยากเป็นพยานพระยะโฮวา.
ระหว่างการเดินทางกลับบ้าน เรือของเราได้แวะรับลูกเรือจากเครื่องบินทหารแคนาดาซึ่งตกนอกชายฝั่งของเกาะนิวฟันด์แลนด์. หลังจากนั้นไม่กี่วัน เมื่อใกล้จะถึงสกอตแลนด์ เรือราชนาวีอังกฤษลำหนึ่งได้ยึดเรือของเรา และนำพวกเราขึ้นไปตรวจที่เคิร์กวอลล์บนหมู่เกาะออร์กนี. สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งเริ่มขึ้น และกองทัพนาซีของฮิตเลอร์ได้รุกรานโปแลนด์ในเดือนกันยายน ปี 1939. ไม่กี่วันหลังจากนั้น พวกเราได้รับอิสระและเดินทางกลับสวีเดนอย่างปลอดภัย.
การกลับบ้านไม่เพียงแต่ทำให้ผมได้มาอยู่ที่บ้านเท่านั้น แต่ตอนนี้ผมสามารถเอาใจใส่สัมพันธภาพของผมกับพระเจ้าด้วย. ตอนนี้ผมต้องการอย่างแท้จริงที่จะเป็นส่วนหนึ่งแห่งประชาชนของพระเจ้าและไม่ประสงค์จะละเลยการประชุมร่วมกัน. (ฮีบรู 10:24, 25) ผมสุขใจเมื่อนึกถึงสมัยที่เป็นกะลาสี ผมได้ให้คำพยานแก่ลูกเรือคนอื่น ๆ เสมอ และผมทราบว่ามีลูกเรือคนหนึ่งเข้ามาเป็นพยานฯ เหมือนกัน.
รูปแบบพิเศษเกี่ยวกับการรับใช้
ต้นปี 1940 ผมไปเยี่ยมชมสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในสตอกโฮล์ม. ผู้ให้การต้อนรับผมคือยูฮัน เอช. อีเนอโรต ผู้รับใช้สาขาในสวีเดนเวลานั้น. เมื่อผมบอกเขาว่าอยากร่วมงานเผยแพร่ประเภทเต็มเวลาฐานะไพโอเนียร์. เขาจ้องหน้าผมและถามว่า “คุณเชื่อไหมว่านี่คือองค์การของพระเจ้า?”
“เชื่อครับ” ผมตอบเขา. คำตอบนี้นำผมก้าวไปถึงขั้นรับบัพติสมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 1940 แล้วผมเริ่มรับใช้ที่สำนักงานสาขาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่พร้อมกับเพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นแบบอย่างอันดี. เราใช้เวลาวันสุดสัปดาห์ประกาศเผยแพร่. ในช่วงฤดูร้อน เรามักจะขี่จักรยานไปยังที่ห่างไกลและออกทำงานเผยแพร่ในวันสุดสัปดาห์ ตกกลางคืนเราซุกตัวหลับในกองฟาง.
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เราไปประกาศตามบ้าน ทั้งในกรุงสตอกโฮล์มและรอบนอก. คราวหนึ่ง ในห้องใต้ถุนตึกผมไปเจอชายผู้หนึ่งกำลังซ่อมหม้อต้มน้ำอย่างรีบเร่ง. เมื่อเห็นเช่นนั้นผมถลกแขนเสื้อขึ้นและเข้าไปช่วย. เมื่ออุดรอยรั่วแล้ว ชายผู้นั้นมองหน้าผมด้วยความขอบคุณและพูดว่า “ผมคิดว่าคุณคงมาเพื่อจุดประสงค์อีกอย่างหนึ่ง. ให้เราขึ้นไปล้างมือชั้นบนแล้วดื่มกาแฟด้วยกันสักถ้วย.” เมื่อล้างมือเรียบร้อยแล้ว ระหว่างดื่มกาแฟ ผมได้ให้คำพยานแก่เขา. ในที่สุด เขาเข้ามาเป็นคริสเตียนพยานพระยะโฮวา.
ถึงแม้สวีเดนประกาศตัวเป็นกลาง กระนั้น สงครามก็ยังส่งผลกระทบต่อชาวสวีเดนอยู่ดี. ชายวัยฉกรรจ์จำนวนมากขึ้นถูกเรียกเข้าประจำการ รวมถึงตัวผมด้วย. ครั้นผมปฏิเสธการฝึกทหาร ผมถูกจำคุกชั่วระยะสั้น ๆ หลายครั้ง. ทีหลัง ผมถูกตัดสินให้ไปอยู่ในค่ายแรงงาน. เหล่าพยานฯ วัยหนุ่มมักจะถูกนำตัวไปให้การต่อหน้าผู้พิพากษาและพวกเราสามารถให้คำพยานซึ่งเป็นการประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. การนี้เป็นจริงตามคำพยากรณ์ของพระเยซูที่ว่า “เจ้าจะถูกเอาตัวไปอยู่ต่อหน้าผู้ว่าราชการและกษัตริย์เพราะเรา เพื่อบอกพวกเขาและชนต่างชาติให้รู้ความจริง.”—มัดธาย 10:18.
ชีวิตผมเปลี่ยน
ปี 1945 สงครามในยุโรปสงบลง. ในช่วงท้าย ๆ ของปีนั้นนาทาน เอช. นอรร์ ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้นำหน้างานประกาศที่ทำอยู่ทั่วโลกได้เดินทางจากบรุกลินพร้อมกับมิลตัน เฮนเชล เลขานุการส่วนตัวมาเยี่ยมพวกเรา. การเยี่ยมครั้งนั้นปรากฏว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดระเบียบใหม่ด้านงานประกาศที่สวีเดน—และต่อตัวผมเองด้วย. เมื่อผมได้ยินว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด ผมยื่นใบสมัครทันที.
ปีต่อมา ผมได้นั่งในห้องเรียนของโรงเรียน สมัยนั้นอยู่ใกล้เซาท์แลนซิง รัฐนิวยอร์ก. ในระหว่างที่เรียนหลักสูตรห้าเดือน ผมได้รับการฝึกอบรมซึ่งทำให้ผมหยั่งรู้ค่าคัมภีร์ไบเบิลและองค์การของพระเจ้ามากยิ่งขึ้น. ผมได้เรียนรู้ว่าคนเหล่านั้นที่นำหน้าในการเผยแพร่ทั่วโลกนั้นล้วนแต่มีไมตรีจิตและคำนึงถึงผู้อื่น. พวกเขาทำงานกับพวกเราอย่างขยันขันแข็ง. (มัดธาย 24:14) แม้การนี้ไม่ได้ทำให้ผมประหลาดใจ แต่ผมปีติยินดีที่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง.
ในที่สุดก็ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1947 วันจบหลักสูตรของนักเรียนรุ่นที่แปดของโรงเรียนกิเลียด. บราเดอร์นอรร์ประกาศชื่อประเทศที่นักเรียนจะถูกส่งไป. พอมาถึงชื่อผม ท่านประกาศว่า “บราเดอร์แพรมเบิร์กจะกลับไปรับใช้พี่น้องที่สวีเดน.” ผมต้องยอมรับว่าผมไม่ค่อยจะตื่นเต้นมากนักกับการกลับบ้าน.
รับมืองานมอบหมายที่ยาก
เมื่อผมกลับสวีเดน ผมได้เรียนงานใหม่ ซึ่งได้เริ่มขึ้นแล้วในหลายประเทศทั่วโลก นั่นคืองานภาค. ผมถูกแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลภาคคนแรกในสวีเดน และหน้าที่มอบหมายของผมคือดูแลงานภาคทั่วประเทศ. ผมเตรียมการและจัดระเบียบการดูแลซึ่งต่อมาเรียกกันว่าการประชุมหมวด ซึ่งจัดขึ้นในเมืองใหญ่และเมืองเล็กทั่วสวีเดน. เนื่องจากเราไม่เคยจัดเตรียมการประชุมอย่างนี้มาก่อน จึงไม่ค่อยมีคำแนะนำ. ผมกับบราเดอร์อีเนอโรตได้นั่งลงและร่วมคิดร่วมจัดเตรียมระเบียบวาระการประชุมให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้. ผมกังวลจนตัวสั่นเมื่อรับมอบหน้าที่นี้ และได้ทูลอธิษฐานต่อพระยะโฮวาหลายครั้ง. ผมมีสิทธิพิเศษทำงานภาคเป็นเวลา 15 ปี.
สมัยนั้นการจะหาสถานที่อันเหมาะสมสำหรับการประชุมใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย. เราจึงต้องใช้สถานลีลาศหรือโรงเรือนที่มีสภาพคล้าย ๆ กัน ซึ่งบ่อยครั้งเครื่องทำความร้อนใช้งานไม่ได้หรือบางทีก็ได้อาคารเก่า ๆ ขาดการบำรุงรักษา. การประชุมหมวดครั้งหนึ่งในรอกิโอ ประเทศฟินแลนด์เป็นตัวอย่าง. ห้องประชุมก็คือศาลาประชาคมที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ระยะหนึ่ง. เกิดพายุหิมะข้างนอก อุณหภูมิต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส. พวกเราจึงเริ่มก่อไฟบนเตาใหญ่สองเตาซึ่งดัดแปลงมาจากถังน้ำมัน. แต่หารู้ไม่ว่านกได้ทำรังอยู่ภายในปล่องไฟ. ควันตลบทั่วทั้งห้องประชุมทีเดียว! กระนั้น แม้จะแสบตา ทุกคนก็ยังคงนั่งกับที่ ห่อตัวด้วยเสื้อคลุมยาวถึงเข่า. การประชุมครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่น่าจดจำเป็นพิเศษ.
การแนะนำวิธีจัดการประชุมหมวดสามวันยังรวมถึงคำแนะนำในการเตรียมอาหารเพื่อผู้ที่มาในการประชุมด้วย. ทีแรก เราไม่มีเครื่องใช้ไม้สอยและขาดประสบการณ์ด้านการจัดงานใหญ่ทำนองนี้. แต่เรามีพี่น้องชายหญิงที่ถนัด
ทำอาหารได้อาสาทำงานที่ยากนี้ด้วยความเต็มใจ. หนึ่งวันก่อนการประชุมเริ่ม คุณอาจเห็นพวกเขาต่างก็ก้มหน้าก้มตาปอกมันฝรั่ง เวลาเดียวกันก็เล่าประสบการณ์สู่กันฟังด้วยความสนุกเพลิดเพลิน. มิตรภาพยั่งยืนของหลายคนได้เริ่มขึ้นในโอกาสเช่นนั้นขณะที่พี่น้องชายหญิงขันแข็งทำงานร่วมกัน.วิธีโฆษณาการประชุมหมวดด้วยการเดินพร้อมกับมีแผ่นป้ายประกบหน้าหลังเป็นอีกลักษณะหนึ่งของงานที่เราทำสมัยนั้น. เราเดินเรียงแถวผ่านเมืองหรือหมู่บ้าน เชิญชวนผู้คนในบ้านไปฟังการบรรยายสาธารณะ. ผู้คนโดยทั่วไปส่วนมากเป็นคนใจดีและแสดงความนับถือ. ครั้งหนึ่งบนท้องถนนในเมืองฟินสปัง คนงานจำนวนมากเพิ่งเดินออกมาจากโรงงาน. ทันใดนั้นเอง ชายผู้หนึ่งตะโกนขึ้นว่า “นี่แน่ะพรรคพวก คนกลุ่มนี้แหละที่ฮิตเลอร์ปราบไม่ได้!”
เหตุการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตของผม
ชีวิตผมในฐานะผู้ดูแลเดินทางได้เปลี่ยนไปไม่นานหลังจากผมพบการิน เธอเป็นหญิงสาวที่น่ารัก. เราสองคนได้รับเชิญไปร่วมการประชุมนานาชาติในเดือนกรกฎาคม 1953 ณ สนามกีฬาแยงกี นครนิวยอร์ก. วันจันทร์ที่ 20 ในช่วงพักกลางวัน มิลตัน เฮนเชลจัดการแต่งงานให้เรา. ไม่ใช่เหตุการณ์ธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นในสนามกีฬาแยงกี สนามเบสบอลที่โด่งดัง. ภายหลังการเดินทางรับใช้ด้วยกันกระทั่งถึงปี 1962 ผมกับการินก็ได้รับเชิญไปรับใช้ที่เบเธลในสวีเดน. ตอนแรก ผมทำงานแผนกวารสาร. เนื่องจากผมเคยเรียนเป็นช่างเครื่อง ในเวลาต่อมาผมได้รับมอบหมายงานดูแลด้านแท่นพิมพ์และเครื่องจักรที่สาขา. ส่วนการินทำงานหลายปีในแผนกซักรีด. ตอนนี้เธอทำงานพิสูจน์อักษรมาหลายปีแล้ว.
ช่างเป็นชีวิตที่มีความสุขเสียนี่กระไรที่เราได้พานพบเหตุการณ์สำคัญและน่าตื่นเต้นเนื่องจากได้รับใช้พระยะโฮวามานานกว่า 54 ปีฐานะเป็นคู่! จริง ๆ แล้ว พระยะโฮวาทรงสำแดงความโปรดปรานแก่องค์การของพระองค์ซึ่งประกอบด้วยผู้รับใช้ที่ขยันขันแข็ง. ย้อนไปในปี 1940 ตอนที่ผมเริ่มรับใช้ที่สำนักงานสาขา ประเทศสวีเดนมีพยานพระยะโฮวาเพียง 1,500 คน. แต่เวลานี้มีมากกว่า 22,000 คน. การเจริญเติบโตยิ่งเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ดังนั้น ทั่วทั้งโลกเวลานี้มีพยานฯ มากกว่าหกล้านห้าแสนคน.
พระวิญญาณของพระยะโฮวาสนับสนุนงานของเรา ราวกับว่าทำให้ใบเรือของเราได้รับลมเต็มที่. ด้วยการรักษาความเชื่อให้มั่นคง ถึงแม้เราเพ่งมองคลื่นมนุษย์ที่ไม่สงบนิ่ง แต่เราก็ไม่ตื่นตระหนก. เมื่อมองตรงไปข้างหน้า เราเห็นโลกใหม่ของพระเจ้าอย่างชัดเจน. ผมกับการินขอบคุณพระเจ้าสำหรับคุณความดีทุกประการของพระองค์ และทุก ๆ วันเราอธิษฐานขอกำลังเพื่อคงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์ภักดีต่อ ๆ ไปจนในที่สุดเราบรรลุจุดหมายของเรา นั่นคือได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้าและชีวิตนิรันดร์!—มัดธาย 24:13.
[ภาพหน้า 12]
ผมนั่งบนตักแม่
[ภาพหน้า 13]
ที่ที่พ่อกับผมเคยแล่นเรือจำลองในช่วงต้นทศวรรษ 1920
[ภาพหน้า 15]
กับเฮอร์มัน เฮนเชล (บิดาของมิลตัน เฮนเชล) ที่โรงเรียนกิเลียด ปี 1946
[ภาพหน้า 16]
เราแต่งงานที่สนามกีฬาแยงกีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1953