ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงเอาใจใส่ “ศิลปะในการสอน”

จงเอาใจใส่ “ศิลปะในการสอน”

จง​เอา​ใจ​ใส่ “ศิลปะ​ใน​การ​สอน”

“จง​ประกาศ​พระ​คำ . . . จง​ว่า​กล่าว ตักเตือน​แรง ๆ กระตุ้น​เตือน​ด้วย​ความ​อด​กลั้น​ไว้​นาน​และ​ด้วย​ศิลปะ​ใน​การ​สอน.”—2 ติโม. 4:2.

1. พระ​เยซู​ทรง​บัญชา​ให้​สาวก​ทำ​อะไร และ​พระองค์​ทรง​วาง​ตัว​อย่าง​เช่น​ไร?

ถึง​แม้​พระ​เยซู​รักษา​โรค​โดย​การ​อัศจรรย์​ขณะ​ที่​รับใช้​บน​แผ่นดิน​โลก แต่​ผู้​คน​รู้​จัก​พระองค์​ส่วน​ใหญ่​ไม่​ใช่​ใน​ฐานะ​ผู้​รักษา​โรค​หรือ​ผู้​ทำ​การ​อัศจรรย์ แต่​รู้​จัก​ใน​ฐานะ​ผู้​สอน. (มโก. 12:19; 13:1) การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​เป็น​งาน​สำคัญ​ที่​สุด​ของ​พระ​เยซู และ​ผู้​ติด​ตาม​พระองค์​ใน​ทุก​วัน​นี้​ก็​เช่น​เดียว​กัน. คริสเตียน​ได้​รับ​มอบหมาย​งาน​สอน​คน​ให้​เป็น​สาวก​ต่อ ๆ ไป​โดย​สอน​เขา​ให้​ปฏิบัติ​ตาม​ทุก​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​บัญชา.—มัด. 28:19, 20.

2. เรา​ต้อง​ทำ​เช่น​ไร​เพื่อ​บรรลุ​ผล​สำเร็จ​ใน​งาน​ประกาศ​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย?

2 เพื่อ​บรรลุ​ผล​สำเร็จ​ใน​งาน​สอน​คน​ให้​เป็น​สาวก เรา​พยายาม​เสมอ​ที่​จะ​ปรับ​ปรุง​ความ​สามารถ​ใน​การ​สอน​ให้​ดี​ขึ้น. อัครสาวก​เปาโล​เน้น​ความ​สำคัญ​ของ​ทักษะ​นี้​เมื่อ​เขียน​จดหมาย​ถึง​ติโมเธียว​เพื่อน​ร่วม​งาน​ประกาศ​กับ​ท่าน. ท่าน​กล่าว​ดัง​นี้: “จง​หมั่น​เอา​ใจ​ใส่​ตัว​ท่าน​เอง​และ​การ​สอน​ของ​ท่าน. จง​ทำ​สิ่ง​เหล่า​นี้​อยู่​เสมอ เพราะ​ด้วย​การ​ทำ​เช่น​นี้ ท่าน​จะ​ช่วย​ทั้ง​ตัว​ท่าน​เอง​และ​คน​ที่​ฟัง​ท่าน​ให้​รอด.” (1 ติโม. 4:16) เปาโล​นึก​ถึง​การ​สอน​ที่​ไม่​ใช่​เพียง​แต่​ให้​ความ​รู้​เท่า​นั้น. คริสเตียน​ผู้​เผยแพร่​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​เข้า​ถึง​หัวใจ​ผู้​คน​และ​กระตุ้น​เขา​ให้​เปลี่ยน​แปลง​ชีวิต. การ​ทำ​เช่น​นี้​ต้อง​ใช้​ศิลปะ. ดัง​นั้น เรา​จะ​พัฒนา “ศิลปะ​ใน​การ​สอน” เมื่อ​เรา​เสนอ​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​แก่​คน​อื่น ๆ ได้​อย่าง​ไร?—2 ติโม. 4:2.

การ​พัฒนา “ศิลปะ​ใน​การ​สอน”

3, 4. (ก) เรา​จะ​พัฒนา “ศิลปะ​ใน​การ​สอน” ได้​อย่าง​ไร? (ข) โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​ช่วย​เรา​อย่าง​ไร​ให้​เป็น​ผู้​สอน​ที่​มี​ประสิทธิภาพ?

3 พจนานุกรม​เล่ม​หนึ่ง​นิยาม​คำ “ศิลปะ” ว่า​เป็น “ทักษะ​ที่​ได้​มา​จาก​การ​ศึกษา, การ​ฝึกฝน, หรือ​การ​สังเกต.” เรา​ต้อง​เอา​ใจ​ใส่​ทั้ง​สาม​แง่​มุม​ดัง​กล่าว​เพื่อ​เป็น​ผู้​สอน​ข่าว​ดี​ที่​มี​ประสิทธิภาพ. เรา​จะ​เข้าใจ​เรื่อง​ที่​ศึกษา​ได้​อย่าง​ถูก​ต้อง​ก็​ต่อ​เมื่อ​เรา​ศึกษา​พร้อม​ด้วย​การ​อธิษฐาน. (อ่าน​บทเพลง​สรรเสริญ 119:27, 34.) การ​สังเกต​ผู้​เผยแพร่​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​ขณะ​ที่​เขา​สอน​ช่วย​เรา​ให้​เรียน​รู้​วิธี​ที่​เขา​สอน​และ​เลียน​แบบ​เขา. และ​การ​พยายาม​อย่าง​จริงจัง​อยู่​เสมอ​เพื่อ​นำ​สิ่ง​ที่​เรา​เรียน​รู้​ไป​ใช้​จะ​ช่วย​เรา​ปรับ​ปรุง​ความ​สามารถ​ให้​ดี​ขึ้น.—ลูกา 6:40; 1 ติโม. 4:13-15.

4 พระ​ยะโฮวา​เป็น​ผู้​สอน​องค์​ยิ่ง​ใหญ่. โดย​ทาง​องค์การ​ของ​พระองค์​ใน​ส่วน​ที่​เห็น​ได้ พระองค์​ทรง​จัด​ให้​มี​คำ​ชี้​นำ​แก่​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​ทาง​แผ่นดิน​โลก​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​พวก​เขา​จะ​ทำ​งาน​ประกาศ​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​สำเร็จ. (ยซา. 30:20, 21) เพื่อ​จุด​ประสงค์​นี้ ทุก​ประชาคม​จึง​จัด​ให้​มี​โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​ทุก​สัปดาห์ ซึ่ง​จัด​ขึ้น​เพื่อ​ช่วย​ทุก​คน​ที่​เข้า​ร่วม​ให้​เป็น​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​ที่​มี​ประสิทธิภาพ. ตำรา​หลัก​ของ​โรง​เรียน​นี้​คือ​คัมภีร์​ไบเบิล. พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​บอก​เรา​ว่า​เรา​จะ​สอน​เรื่อง​อะไร. ยิ่ง​กว่า​นั้น พระ​คำ​ของ​พระองค์​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​วิธี​สอน​แบบ​ใด​ที่​บังเกิด​ผล​และ​เหมาะ​สม. โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​เตือน​ใจ​เรา​อยู่​เสมอ​ว่า​เรา​จะ​เป็น​ผู้​สอน​ที่​ดี​ขึ้น​ถ้า​เรา​ใช้​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เป็น​พื้น​ฐาน, ใช้​คำ​ถาม​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ, สอน​แบบ​ง่าย ๆ, และ​แสดง​ความ​สนใจ​ผู้​อื่น​จาก​ใจ​จริง. ขอ​เรา​พิจารณา​จุด​ต่าง ๆ เหล่า​นี้​ที​ละ​จุด. จาก​นั้น​เรา​จะ​พิจารณา​วิธี​เข้า​ถึง​หัวใจ​ของ​นัก​ศึกษา.

จง​ใช้​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เป็น​พื้น​ฐาน​ใน​การ​สอน

5. อะไร​ควร​เป็น​พื้น​ฐาน​ใน​การ​สอน​ของ​เรา และ​ทำไม?

5 พระ​เยซู ครู​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่​ใน​บรรดา​ครู​ที่​เป็น​มนุษย์ ทรง​ใช้​พระ​คัมภีร์​เป็น​พื้น​ฐาน​ใน​การ​สอน. (มัด. 21:13; โย. 6:45; 8:17) พระองค์​ทรง​สอน​ถ้อย​คำ​ของ​ผู้​ที่​ทรง​ใช้​พระองค์​มา ไม่​ใช่​คำ​สอน​ของ​พระองค์​เอง. (โย. 7:16-18) นี่​แหละ​เป็น​ตัว​อย่าง​ให้​เรา​ติด​ตาม. ดัง​นั้น เรื่อง​ที่​เรา​พูด​ไม่​ว่า​เมื่อ​ออก​ประกาศ​หรือ​ใน​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ตาม​บ้าน​ควร​รวม​จุด​อยู่​ที่​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. (2 ติโม. 3:16, 17) ไม่​ว่า​เรา​จะ​หา​เหตุ​ผล​อย่าง​ชาญ​ฉลาด​ได้​มาก​สัก​แค่​ไหน ก็​ไม่​อาจ​เทียบ​ได้​กับ​ประสิทธิภาพ​และ​พลัง​ของ​พระ​คัมภีร์​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ. คัมภีร์​ไบเบิล​มี​พลัง​มาก. เมื่อ​เรา​พยายาม​ช่วย​นัก​ศึกษา​ให้​เข้าใจ​ไม่​ว่า​จุด​ใด​ก็​ตาม วิธี​ที่​ดี​ที่​สุด​ที่​เรา​ทำ​ได้​คือ​ให้​เขา​อ่าน​จาก​พระ​คัมภีร์​ที่​พูด​ถึง​เรื่อง​นั้น.—อ่าน​ฮีบรู 4:12.

6. ผู้​สอน​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​ให้​แน่​ใจ​ได้​ว่า​นัก​ศึกษา​เข้าใจ​เรื่อง​ที่​พิจารณา​จริง ๆ?

6 แน่นอน นี่​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​คริสเตียน​ผู้​สอน​ไม่​ต้อง​เตรียม​ตัว​สำหรับ​การ​สอน​คัมภีร์​ไบเบิล. ตรง​กัน​ข้าม ควร​คิด​ล่วง​หน้า​อย่าง​รอบคอบ​เพื่อ​ตัดสิน​ว่า​ผู้​สอน​หรือ​นัก​ศึกษา​จะ​อ่าน​ข้อ​คัมภีร์​ที่​อ้าง​ถึง​ข้อ​ไหน​บ้าง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ระหว่าง​การ​ศึกษา. ปกติ​แล้ว​นับ​ว่า​ดี​ที่​จะ​อ่าน​ข้อ​คัมภีร์​ที่​สนับสนุน​ความ​เชื่อ​ของ​เรา. เป็น​สิ่ง​จำเป็น​เช่น​กัน​ที่​จะ​ช่วย​นัก​ศึกษา​ให้​เข้าใจ​ข้อ​คัมภีร์​แต่​ละ​ข้อ​ที่​เขา​อ่าน.—1 โค. 14:8, 9.

จง​ใช้​คำ​ถาม​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ

7. เหตุ​ใด​การ​ใช้​คำ​ถาม​จึง​เป็น​วิธี​สอน​ที่​มี​ประสิทธิภาพ?

7 คำ​ถาม​ที่​ดี​กระตุ้น​ความ​คิด​และ​ช่วย​ผู้​สอน​ให้​เข้า​ถึง​หัวใจ​ของ​นัก​ศึกษา. ดัง​นั้น แทน​ที่​คุณ​จะ​อธิบาย​ข้อ​คัมภีร์​ให้​นัก​ศึกษา​ฟัง จง​ขอ​เขา​อธิบาย​ให้​คุณ​ฟัง. บาง​ครั้ง​คำ​ถาม​เสริม​หรือ​แม้​แต่​คำ​ถาม​ที่​ต่อ​เนื่อง​กัน​หลาย​คำ​ถาม​อาจ​จำเป็น​เพื่อ​ช่วย​นัก​ศึกษา​ให้​เข้าใจ​อย่าง​ถูก​ต้อง. เมื่อ​คุณ​ใช้​คำ​ถาม​ต่าง ๆ เพื่อ​สอน​นัก​ศึกษา แท้​ที่​จริง​คุณ​กำลัง​ช่วย​เขา​ไม่​เพียง​แต่​ให้​เข้าใจ​เหตุ​ผล​ที่​อยู่​เบื้อง​หลัง​ข้อ​สรุป​ใด ๆ เท่า​นั้น แต่​ยัง​ช่วย​เขา​ให้​ได้​ข้อ​สรุป​ด้วย​ตัว​เอง.—มัด. 17:24-26; ลูกา 10:36, 37.

8. เรา​จะ​หยั่ง​เห็น​สิ่ง​ที่​อยู่​ใน​หัวใจ​นัก​ศึกษา​ได้​อย่าง​ไร?

8 วิธี​ศึกษา​ที่​ใช้​ใน​สิ่ง​พิมพ์​ต่าง ๆ ของ​เรา​เป็น​แบบ​ถาม​ตอบ. ไม่​ต้อง​สงสัย คน​ส่วน​ใหญ่​ที่​คุณ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ด้วย​จะ​สามารถ​ตอบ​คำ​ถาม​ที่​พิมพ์​ไว้​แล้ว​ได้​อย่าง​รวด​เร็ว​โดย​ใช้​ข้อมูล​ใน​วรรค​นั้น. กระนั้น ผู้​สอน​ที่​มี​ความ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ​จะ​ไม่​พอ​ใจ​เพียง​แค่​คำ​ตอบ​ที่​ถูก​ต้อง. ยก​ตัว​อย่าง นัก​ศึกษา​อาจ​สามารถ​อธิบาย​ได้​อย่าง​ถูก​ต้อง​ถึง​สิ่ง​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​พูด​เกี่ยว​กับ​การ​ผิด​ประเวณี. (1 โค. 6:18) อย่าง​ไร​ก็​ตาม คำ​ถาม​หยั่ง​ทัศนะ​ที่​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา​สามารถ​บอก​ได้​ว่า​นัก​ศึกษา​คิด​อย่าง​ไร​จริง ๆ เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​เขา​กำลัง​เรียน​รู้. ดัง​นั้น ผู้​สอน​อาจ​ถาม​ดัง​นี้: “เหตุ​ใด​คัมภีร์​ไบเบิล​จึง​ตำหนิ​เพศ​สัมพันธ์​นอก​สาย​สมรส? คุณ​คิด​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​ข้อ​จำกัด​นี้​ที่​พระเจ้า​ทรง​วาง​ไว้? คุณ​คิด​ไหม​ว่า​การ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​มาตรฐาน​ของ​พระเจ้า​ใน​เรื่อง​ศีลธรรม​มี​ประโยชน์?” คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เหล่า​นี้​จะ​บอก​ได้​ว่า​นัก​ศึกษา​คิด​อย่าง​ไร​จริง ๆ.—อ่าน​มัดธาย 16:13-17.

จง​สอน​แบบ​ง่าย ๆ

9. เรา​ควร​คำนึง​ถึง​สิ่ง​ใด​เมื่อ​ถ่ายทอด​ความ​รู้​ใน​พระ​คัมภีร์?

9 ความ​จริง​หลาย ๆ เรื่อง​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า ส่วน​ใหญ่​แล้ว​เป็น​เรื่อง​ที่​ค่อนข้าง​ง่าย. แต่​อาจ​เป็น​ได้​ว่า​คน​ที่​เรา​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ด้วย​ถูก​ทำ​ให้​สับสน​ด้วย​คำ​สอน​ของ​ศาสนา​เท็จ. หน้า​ที่​ของ​เรา​ฐานะ​ผู้​สอน​คือ​ทำ​ให้​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​เรื่อง​ที่​เข้าใจ​ง่าย. ผู้​สอน​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​ถ่ายทอด​ความ​รู้​อย่าง​ง่าย ๆ, ชัดเจน, และ​ถูก​ต้อง​แม่นยำ. ถ้า​เรา​ทำ​ตาม​แนว​แนะ​ดัง​กล่าว เรา​ก็​จะ​ไม่​ทำ​ให้​ความ​จริง​เป็น​เรื่อง​ที่​เข้าใจ​ยาก. จง​หลีก​เลี่ยง​ราย​ละเอียด​ที่​ไม่​จำเป็น. ไม่​จำเป็น​ที่​จะ​อธิบาย​ทุก​แง่​มุม​จาก​ข้อ​คัมภีร์​ที่​เรา​อ่าน. จง​มุ่ง​สนใจ​ใน​สิ่ง​ที่​สำคัญ ๆ เท่า​นั้น​ที่​จะ​ช่วย​ให้​เข้าใจ​ชัดเจน​ใน​จุด​ที่​มี​การ​พิจารณา. นัก​ศึกษา​จะ​ค่อย ๆ หยั่ง​รู้​เข้าใจ​ความ​จริง​ใน​พระ​คัมภีร์​ที่​ลึกซึ้ง​กว่า​เมื่อ​เขา​มี​ความ​เข้าใจ​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ.—ฮีบรู 5:13, 14.

10. มี​ปัจจัย​อะไร​บ้าง​ที่​กำหนด​ว่า​จะ​ครอบ​คลุม​เนื้อหา​มาก​น้อย​แค่​ไหน​ใน​การ​ศึกษา​แต่​ละ​ครั้ง?

10 เรา​ควร​ครอบ​คลุม​เนื้อหา​มาก​น้อย​แค่​ไหน​ใน​การ​ศึกษา​แต่​ละ​ครั้ง? เรื่อง​นี้​ต้อง​ใช้​การ​สังเกต​เข้าใจ. ความ​สามารถ​และ​สภาพการณ์​ของ​นัก​ศึกษา​และ​ผู้​สอน​แตกต่าง​กัน แต่​เรา​ควร​จำ​ไว้​เสมอ​ว่า​เป้าหมาย​ของ​เรา​ฐานะ​เป็น​ผู้​สอน​คือ ช่วย​นัก​ศึกษา​ให้​สร้าง​ความ​เชื่อ​ที่​เข้มแข็ง. ดัง​นั้น เรา​ให้​เขา​มี​เวลา​มาก​พอ​ที่​จะ​อ่าน, ทำ​ความ​เข้าใจ, และ​ตอบรับ​ความ​จริง​ที่​อยู่​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. เรา​ไม่​พิจารณา​เนื้อหา​มาก​เกิน​กว่า​ที่​เขา​จะ​เข้าใจ​ได้. ใน​เวลา​เดียว​กัน จง​ให้​การ​ศึกษา​คืบ​หน้า​ไป. เมื่อ​นัก​ศึกษา​เข้าใจ​จุด​หนึ่ง​แล้ว เรา​ก็​ศึกษา​จุด​ถัด​ไป.—โกโล. 2:6, 7.

11. เรา​เรียน​รู้​อะไร​จาก​อัครสาวก​เปาโล​ใน​เรื่อง​การ​สอน?

11 อัครสาวก​เปาโล​ประกาศ​ข่าว​ดี​แบบ​ที่​เข้าใจ​ง่าย​เมื่อ​สนทนา​กับ​คน​ใหม่ ๆ. แม้​ว่า​ท่าน​มี​การ​ศึกษา​สูง แต่​ท่าน​ก็​หลีก​เลี่ยง​การ​ใช้​ภาษา​ที่​ฟัง​เข้าใจ​ยาก. (อ่าน 1 โครินท์ 2:1, 2.) ความ​จริง​ใน​พระ​คัมภีร์​ที่​เรียบ​ง่าย​ดึงดูด​คน​ที่​จริง​ใจ​และ​ทำ​ให้​เขา​พอ​ใจ. ไม่​จำเป็น​ต้อง​มี​การ​ศึกษา​สูง​เพื่อ​จะ​เข้าใจ​พระ​คัมภีร์.—มัด. 11:25; กิจ. 4:13; 1 โค. 1:26, 27.

จง​ช่วย​นัก​ศึกษา​ให้​เห็น​คุณค่า​ของ​สิ่ง​ที่​ได้​เรียน

12, 13. อะไร​อาจ​กระตุ้น​นัก​ศึกษา​ให้​ปฏิบัติ​ตาม​สิ่ง​ที่​เขา​ได้​เรียน​รู้? จง​ยก​ตัว​อย่าง.

12 เพื่อ​จะ​บังเกิด​ผล เรา​ต้อง​สอน​ให้​เข้า​ถึง​หัวใจ​ของ​นัก​ศึกษา. นัก​ศึกษา​ต้อง​เข้าใจ​ว่า​เขา​จะ​นำ​เรื่อง​นั้น​ไป​ใช้​อย่าง​ไร​ใน​ชีวิต​ของ​เขา​เอง, เรื่อง​นั้น​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​เขา​อย่าง​ไร, และ​ชีวิต​ของ​เขา​จะ​ดี​ขึ้น​อย่าง​ไร​ถ้า​เขา​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ใน​พระ​คัมภีร์.—ยซา. 48:17, 18.

13 ยก​ตัว​อย่าง เรา​อาจ​กำลัง​พิจารณา​ฮีบรู 10:24, 25 ซึ่ง​สนับสนุน​คริสเตียน​ให้​ประชุม​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​เพื่อ​ให้​การ​หนุน​ใจ​จาก​พระ​คัมภีร์​และ​มี​การ​คบหา​สมาคม​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก. ถ้า​นัก​ศึกษา​ยัง​ไม่​เคย​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ของ​ประชาคม เรา​ก็​อาจ​อธิบาย​สั้น ๆ ว่า​มี​การ​นำ​การ​ประชุม​อย่าง​ไร​และ​มี​การ​พิจารณา​เรื่อง​อะไร​บ้าง. เรา​อาจ​พูด​ถึง​การ​ประชุม​ประจำ​ประชาคม​ว่า​เป็น​ส่วน​แห่ง​การ​นมัสการ​ของ​เรา​และ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​เอง​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​การ​ประชุม​นั้น. จาก​นั้น​เรา​ก็​อาจ​เชิญ​นัก​ศึกษา​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม. แรง​กระตุ้น​ที่​เขา​ตอบรับ​ต่อ​คำ​สั่ง​ใน​พระ​คัมภีร์​ควร​มา​จาก​การ​ที่​เขา​ปรารถนา​จะ​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา ไม่​ใช่​อยาก​ให้​ผู้​นำ​การ​ศึกษา​พอ​ใจ.—กลา. 6:4, 5.

14, 15. (ก) นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​จะ​เรียน​รู้​อะไร​ได้​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา? (ข) ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​บุคลิก​ลักษณะ​ของ​พระเจ้า​จะ​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ได้​อย่าง​ไร?

14 ผล​ดี​ประการ​สำคัญ​ที่​นัก​ศึกษา​ได้​รับ​จาก​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​นำ​หลักการ​ใน​นั้น​ไป​ใช้​คือ​เขา​ได้​มา​รู้​จัก​และ​รัก​พระ​ยะโฮวา​ฐานะ​เป็น​บุคคล. (ยซา. 42:8) พระองค์​ไม่​ใช่​เป็น​แค่​พระ​บิดา​และ​พระ​ผู้​สร้าง​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​และ​เป็น​เจ้าของ​เอกภพ​นี้​เท่า​นั้น แต่​พระองค์​ยัง​เปิด​เผย​บุคลิก​ลักษณะ​และ​พระ​ปรีชา​สามารถ​ของ​พระองค์​แก่​คน​ที่​รัก​และ​รับใช้​พระองค์​ด้วย. (อ่าน​เอ็กโซโด 34:6, 7.) ก่อน​หน้า​ที่​โมเซ​จะ​พา​ชาว​อิสราเอล​ออก​จาก​การ​เป็น​ทาส​ใน​อียิปต์ พระ​ยะโฮวา​ทรง​ระบุ​ตัว​พระองค์​เอง​โดย​ตรัส​ว่า “เรา​จะ​เป็น​อย่าง​ที่​เรา​ประสงค์​จะ​เป็น.” (เอ็ก. 3:13-15, ล.ม.) คำ​ตรัส​นี้​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​เปลี่ยน​บทบาท​เป็น​อะไร​ก็​ได้​ตาม​ที่​จำเป็น​เพื่อ​ทำ​ให้​พระ​ประสงค์​ที่​เกี่ยว​กับ​ประชาชน​ที่​ถูก​เลือก​สรร​ของ​พระองค์​สำเร็จ. ดัง​นั้น ชาว​อิสราเอล​จึง​มา​รู้​จัก​พระ​ยะโฮวา​ใน​ฐานะ​ผู้​ช่วย​ให้​รอด, นัก​รบ, ผู้​ประทาน​สิ่ง​จำเป็น, และ​ผู้​ทำ​ให้​คำ​สัญญา​สำเร็จ และ​ใน​แง่​อื่น ๆ.—เอ็ก. 15:2, 3; 16:2-5; ยโฮ. 23:14.

15 นัก​ศึกษา​ของ​เรา​อาจ​ไม่​ได้​รับ​การ​ช่วยเหลือ​โดย​การ​อัศจรรย์​จาก​พระ​ยะโฮวา​เหมือน​ที่​โมเซ​ได้​รับ. กระนั้น​ก็​ตาม เมื่อ​นัก​ศึกษา​มี​ความ​เชื่อ​มาก​ขึ้น​และ​หยั่ง​รู้​ค่า​สิ่ง​ที่​ได้​เรียน​รู้​และ​เริ่ม​นำ​หลักการ​ใน​พระ​คัมภีร์​ไป​ใช้ ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า​เขา​จะ​เห็น​ถึง​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​หมาย​พึ่ง​พระ​ยะโฮวา​สำหรับ​ความ​กล้า​หาญ, สติ​ปัญญา, และ​การ​ชี้​นำ. เมื่อ​เขา​ทำ​เช่น​นั้น เขา​ก็​เช่น​กัน จะ​มา​รู้​จัก​พระ​ยะโฮวา​ใน​ฐานะ​ที่​ปรึกษา​ที่​สุขุม​และ​วางใจ​ได้, เป็น​ผู้​ปก​ป้อง, และ​ผู้​ประทาน​ทุก​สิ่ง​ที่​เขา​จำเป็น​ต้อง​มี​ด้วย​พระทัย​เอื้อ​อารี.—เพลง. 55:22; 63:7; สุภา. 3:5, 6.

จง​แสดง​ความ​สนใจ​ด้วย​ความ​รัก

16. เหตุ​ใด​ความ​สามารถ​ที่​ติด​ตัว​มา​จึง​ไม่​ใช่​ปัจจัย​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​การ​เป็น​ผู้​สอน​ที่​มี​ประสิทธิภาพ?

16 ถ้า​คุณ​รู้สึก​ว่า​ตน​เอง​สอน​ไม่​ชำนาญ​เท่า​ที่​ควร​ก็​อย่า​เพิ่ง​ท้อ​แท้. พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​เยซู​กำลัง​ดู​แล​โครงการ​ต่าง ๆ ด้าน​การ​ศึกษา​ซึ่ง​ดำเนิน​อยู่​ทั่ว​โลก​ใน​ทุก​วัน​นี้. (กิจ. 1:7, 8; วิ. 14:6) พระองค์​ทั้ง​สอง​สามารถ​เสริม​ความ​พยายาม​ของ​เรา​เพื่อ​ว่า​ถ้อย​คำ​ของ​เรา​จะ​ส่ง​ผล​กระทบ​ใน​ทาง​ดี​ต่อ​ผู้​มี​หัวใจ​ชอบธรรม. (โย. 6:44) ความ​รัก​จาก​ใจ​จริง​ที่​ผู้​สอน​มี​ต่อ​นัก​ศึกษา​จะ​ชดเชย​ความ​สามารถ​ที่​ติด​ตัว​มา​ใน​ด้าน​ใด​ด้าน​หนึ่ง​ที่​ยัง​ขาด​อยู่. อัครสาวก​เปาโล​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ท่าน​เข้าใจ​ความ​สำคัญ​ของ​การ​มี​ความ​รัก​ต่อ​คน​ที่​ท่าน​สอน.—อ่าน 1 เทสซาโลนิเก 2:7, 8.

17. เรา​จะ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​สนใจ​นัก​ศึกษา​แต่​ละ​คน​อย่าง​จริง​ใจ​ได้​อย่าง​ไร?

17 เช่น​เดียว​กัน เรา​สามารถ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​สนใจ​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​แต่​ละ​คน​อย่าง​จริง​ใจ​โดย​ใช้​เวลา​เพื่อ​รู้​จัก​เขา​ให้​มาก​ขึ้น. ขณะ​ที่​เรา​พิจารณา​หลักการ​ใน​พระ​คัมภีร์​กับ​เขา เรา​คง​จะ​รู้​สภาพการณ์​ของ​เขา. เรา​อาจ​สังเกต​ว่า​เขา​ได้​ดำเนิน​ชีวิต​ประสาน​กับ​บาง​จุด​ที่​เขา​ได้​เรียน​รู้​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​แล้ว. ใน​บาง​ด้าน เขา​อาจ​ยัง​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน. โดย​การ​ช่วย​นัก​ศึกษา​ให้​เห็น​ว่า​จะ​นำ​เรื่อง​ที่​ศึกษา​ใน​แต่​ละ​ครั้ง​ไป​ใช้​กับ​ตัว​เขา​เอง​ได้​อย่าง​ไร เรา​ก็​สามารถ​ช่วย​เขา​ด้วย​ความ​รัก​ให้​มา​เป็น​สาวก​แท้​ของ​พระ​คริสต์.

18. เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​ที่​จะ​อธิษฐาน​กับ​นัก​ศึกษา​และ​พูด​เกี่ยว​กับ​ตัว​เขา​ใน​คำ​อธิษฐาน?

18 สิ่ง​สำคัญ​ที่​สุด​คือ​เรา​สามารถ​อธิษฐาน​กับ​นัก​ศึกษา​ของ​เรา​และ​พูด​เกี่ยว​กับ​ตัว​เขา​ใน​คำ​อธิษฐาน. เขา​ควร​เข้าใจ​อย่าง​ชัดเจน​ว่า​เรา​ต้องการ​ช่วย​เขา​ให้​รู้​จัก​พระ​ผู้​สร้าง​มาก​ยิ่ง​ขึ้น, ใกล้​ชิด​พระองค์​มาก​ขึ้น, และ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​การ​ชี้​นำ​ของ​พระองค์. (อ่าน​บทเพลง​สรรเสริญ 25:4, 5.) เมื่อ​เรา​อธิษฐาน​ขอ​พระ​ยะโฮวา​อวย​พร​ความ​พยายาม​ของ​นัก​ศึกษา​ที่​จะ​นำ​สิ่ง​ที่​ได้​เรียน​รู้​ไป​ใช้ นัก​ศึกษา​ก็​จะ​เห็น​ความ​สำคัญ​ของ​การ​เป็น “ผู้​ทำ​ตาม​พระ​คำ.” (ยโก. 1:22) และ​เมื่อ​นัก​ศึกษา​ฟัง​คำ​อธิษฐาน​ที่​จริง​ใจ​ของ​เรา เขา​ก็​จะ​เรียน​รู้​วิธี​อธิษฐาน​ด้วย. ช่าง​เป็น​ความ​ยินดี​สัก​เพียง​ไร​ที่​ได้​ช่วย​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ให้​สร้าง​สัมพันธภาพ​กับ​พระ​ยะโฮวา!

19. เรา​จะ​พิจารณา​เรื่อง​อะไร​ใน​บทความ​ถัด​ไป?

19 เรา​ได้​รับ​กำลังใจ​ที่​รู้​ว่า​มี​พยาน​พระ​ยะโฮวา​มาก​กว่า​หก​ล้าน​ห้า​แสน​คน​ทั่ว​โลก​ง่วน​อยู่​กับ​การ​พัฒนา “ศิลปะ​ใน​การ​สอน” โดย​มี​เป้าหมาย​เพื่อ​ช่วย​ผู้​มี​หัวใจ​สุจริต​ให้​ทำ​ตาม​ทุก​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​บัญชา. กิจกรรม​การ​ประกาศ​ของ​เรา​ส่ง​ผล​เช่น​ไร? จะ​มี​การ​พิจารณา​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​นี้​ใน​บทความ​ถัด​ไป.

คุณ​จำ​ได้​ไหม?

• เหตุ​ใด​คริสเตียน​จึง​ต้อง​พัฒนา “ศิลปะ​ใน​การ​สอน”?

• มี​วิธี​ใด​บ้าง​ที่​ทำ​ให้​การ​สอน​ของ​เรา​มี​ประสิทธิภาพ​ยิ่ง​ขึ้น?

• อะไร​จะ​ชดเชย​ความ​สามารถ​ที่​ติด​ตัว​มา​ใน​การ​สอน​ที่​เรา​ยัง​ขาด​อยู่?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 9]

คุณ​สมัคร​เป็น​นัก​เรียน​ใน​โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​แล้ว​หรือ​ยัง?

[ภาพ​หน้า 10]

เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​ที่​จะ​เชิญ​นัก​ศึกษา​ให้​อ่าน​จาก​พระ​คัมภีร์​โดย​ตรง?

[ภาพ​หน้า 12]

จง​อธิษฐาน​กับ​นัก​ศึกษา​และ​พูด​เกี่ยว​กับ​ตัว​เขา​ใน​คำ​อธิษฐาน