ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จุดเด่นจากพระธรรมมาระโก

จุดเด่นจากพระธรรมมาระโก

พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​มี​ชีวิต

จุด​เด่น​จาก​พระ​ธรรม​มาระโก

กิตติคุณ​ของ​มาระโก​เป็น​ส่วน​ที่​สั้น​ที่​สุด​ใน​กิตติคุณ​ทั้ง​สี่​เล่ม. กิตติคุณ​นี้​ซึ่ง​เขียน​โดย​โยฮัน​มาระโก ประมาณ 30 ปี​หลัง​จาก​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​และ​การ​ฟื้น​คืน​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู​คริสต์ เต็ม​ไป​ด้วย​เรื่อง​ราว​ที่​น่า​ตื่นเต้น​มาก​มาย​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​ใน​ช่วง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ทำ​งาน​รับใช้​ตลอด​ระยะ​เวลา​สาม​ปี​ครึ่ง.

ดู​เหมือน​ว่า​พระ​ธรรม​มาระโก​ไม่​ได้​เขียน​เพื่อ​ชาว​ยิว แต่​เพื่อ​ชาว​โรมัน​โดย​เฉพาะ พระ​ธรรม​นี้​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​พระ​เยซู​เป็น​พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า​ผู้​ทำ​การ​อัศจรรย์ ซึ่ง​พระองค์​ได้​รณรงค์​การ​ประกาศ​อย่าง​ขยัน​ขันแข็ง. พระ​ธรรม​นี้​เน้น​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ทำ แทน​ที่​จะ​เน้น​สิ่ง​ที่​พระองค์​ทรง​สอน. การ​เอา​ใจ​ใส่​กิตติคุณ​ของ​มาระโก​จะ​เสริม​ความ​เชื่อ​ของ​เรา​ใน​เรื่อง​มาซีฮา​ให้​เข้มแข็ง​ขึ้น และ​กระตุ้น​เรา​ให้​เป็น​ผู้​ประกาศ​ข่าวสาร​ของ​พระเจ้า​ที่​กระตือรือร้น​ใน​งาน​รับใช้​ของ​คริสเตียน.—ฮีบรู 4:12.

การ​รับใช้​ที่​โดด​เด่น​ใน​แกลิลี

(มาระโก 1:1–9:50)

หลัง​จาก​รายงาน​ถึง​เรื่อง​การ​ทำ​งาน​ของ​โยฮัน​ผู้​ให้​บัพติสมา​และ​ช่วง 40 วัน​ที่​พระ​เยซู​อยู่​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร​โดย​ใช้​เพียง 14 ข้อ มาระโก​ก็​เริ่ม​รายงาน​อย่าง​น่า​ตื่นเต้น​ถึง​เรื่อง​งาน​รับใช้​ของ​พระ​เยซู​ที่​แกลิลี. การ​ใช้​คำ​ว่า “ทันที” ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​อีก​ทำ​ให้​รู้สึก​ว่า​เรื่อง​ราว​ที่​บันทึก​นั้น​เป็น​เรื่อง​ที่​เร่ง​ด่วน.—มโก. 1:10, 12.

ภาย​ใน​เวลา​ไม่​ถึง​สาม​ปี พระ​เยซู​ทำ​การ​รณรงค์​การ​ประกาศ​ใน​แกลิลี​เสร็จ​สาม​รอบ. ส่วน​ใหญ่​แล้ว มาระโก​เขียน​เรื่อง​ราว​ต่าง ๆ ตาม​ลำดับ​เวลา. ท่าน​ไม่​ได้​กล่าว​ถึง​เรื่อง​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา เช่น​เดียว​กับ​ที่​ไม่​ได้​กล่าว​ถึง​คำ​บรรยาย​ของ​พระ​เยซู​ที่​ยาว ๆ อีก​หลาย​เรื่อง.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​คัมภีร์:

1:15—“เวลา​ที่​กำหนด​ไว้” สำหรับ​อะไร​มา​ถึง​แล้ว? พระ​เยซู​ทรง​กล่าว​ว่า​เวลา​ที่​กำหนด​ไว้​สำหรับ​พระองค์​ที่​จะ​ทรง​เริ่ม​งาน​รับใช้​ก็​มา​ถึง​แล้ว. เนื่อง​จาก​พระองค์​ซึ่ง​เป็น​ผู้​ที่​จะ​เป็น​กษัตริย์​ใน​ภาย​หน้า​ได้​อยู่​ท่ามกลาง​พวก​เขา ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​จึง​มา​ใกล้​แล้ว. ใน​ตอน​นั้น ผู้​มี​หัวใจ​สุจริต​คง​จะ​ตอบรับ​งาน​ประกาศ​ของ​พระองค์​และ​ลง​มือ​ทำ​สิ่ง​ซึ่ง​จะ​ทำ​ให้​เขา​ได้​รับ​ความ​โปรดปราน​จาก​พระเจ้า.

1:44; 3:12; 7:36—เหตุ​ใด​พระ​เยซู​ไม่​ต้องการ​ให้​ผู้​คน​โฆษณา​เรื่อง​การ​อัศจรรย์​ต่าง ๆ ที่​พระองค์​ได้​ทำ? แทน​ที่​จะ​ให้​ผู้​คน​ลง​ความ​เห็น​โดย​อาศัย​ข่าว​ที่​มี​การ​รายงาน​อย่าง​น่า​ตื่นเต้น​หรือ​อาจ​มี​การ​บิดเบือน​ความ​จริง พระ​เยซู​ต้องการ​ให้​พวก​เขา​เห็น​ด้วย​ตัว​เอง​ว่า​พระองค์​เป็น​พระ​คริสต์​และ​ให้​พวก​เขา​ตัดสิน​ใจ​ด้วย​ตัว​เอง​โดย​อาศัย​หลักฐาน​นั้น. (ยซา. 42:1-4; มัด. 8:4; 9:30; 12:15-21; 16:20; ลูกา 5:14) แต่​ยก​เว้น​กรณี​หนึ่ง นั่น​คือ​กรณี​ของ​ชาย​คน​หนึ่ง​ที่​เคย​ถูก​ปิศาจ​สิง ซึ่ง​เป็น​ชาว​เมือง​เกราซา. พระ​เยซู​บอก​ให้​เขา​กลับ​บ้าน​แล้ว​ไป​บอก​เรื่อง​นั้น​กับ​ญาติ ๆ ของ​เขา. เนื่อง​จาก​ผู้​คน​ได้​ขอร้อง​ให้​พระ​เยซู​ไป​จาก​เขต​นั้น ดัง​นั้น พระองค์​จึง​แทบ​ไม่​ได้​พบ​ปะ​หรือ​ไม่​ได้​ติด​ต่อ​กับ​ผู้​คน​ใน​แถบ​นั้น​เลย. การ​ที่​ชาย​คน​นั้น​อยู่​ที่​นั่น​และ​ให้​การ​เป็น​พยาน​ถึง​คุณ​ความ​ดี​ที่​พระ​เยซู​ได้​กระทำ​นั้น​จะ​ช่วย​ลบ​ล้าง​คำ​พูด​จา​ว่า​ร้าย​ใด ๆ ที่​เกี่ยว​กับ​การ​สูญ​เสีย​ฝูง​สุกร​ได้.—มโก. 5:1-20; ลูกา 8:26-39.

2:28—ทำไม​พระ​เยซู​จึง​ถูก​เรียก​ว่า “เจ้า​แห่ง​วัน​ซะบาโต”? อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “พระ​บัญญัติ​แสดง​ให้​เห็น​เงา​ของ​สิ่ง​ดี​ที่​จะ​มี​มา.” (ฮีบรู 10:1) ตาม​ที่​กล่าว​ใน​พระ​บัญญัติ หลัง​จาก​ทำ​งาน​หก​วัน​แล้ว​วัน​ที่​เจ็ด​ก็​จะ​เป็น​วัน​ซะบาโต และ​พระ​เยซู​ทรง​รักษา​คน​ป่วย​หลาย​คน​ใน​วัน​นั้น. นี่​เป็น​ภาพ​ล่วง​หน้า​ที่​แสดง​ถึง​การ​หยุด​พัก​ที่​สงบ​สุข​และ​พระ​พร​อื่น ๆ ที่​มนุษยชาติ​จะ​ได้​รับ​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ใน​รัชสมัย​พัน​ปี​ของ​พระ​คริสต์ หลัง​จาก​การ​ปกครอง​ที่​กดขี่​ของ​ซาตาน​สิ้น​สุด​ลง. ดัง​นั้น กษัตริย์​แห่ง​ราชอาณาจักร​นั้น​จึง​เป็น “เจ้า​แห่ง​วัน​ซะบาโต” ด้วย.—มัด. 12:8; ลูกา 6:5.

3:5; 7:34; 812—มาระโก​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​พระ​เยซู​มี​ความ​รู้สึก​เช่น​ไร​ต่อ​สถานการณ์​ต่าง ๆ? มาระโก​ไม่​ได้​เป็น​หนึ่ง​ใน​อัครสาวก 12 คน ทั้ง​ไม่​ได้​เป็น​สหาย​คน​สนิท​ของ​พระ​เยซู​ด้วย. ตาม​ที่​เล่า​สืบ​ต่อ​กัน​มา อัครสาวก​เปโตร​ซึ่ง​เป็น​เพื่อน​สนิท​ของ​มาระโก​เป็น​แหล่ง​ที่​ให้​ข้อมูล​มาก​มาย​แก่​มาระโก.—1 เป. 5:13.

6:51, 52—“เรื่อง​ขนมปัง” ที่​เหล่า​สาวก​ไม่​เข้าใจ​คือ​อะไร? เพียง​ไม่​กี่​ชั่วโมง​ก่อน​หน้า​นั้น พระ​เยซู​ทรง​เลี้ยง​อาหาร​ผู้​ชาย 5,000 คน​ไม่​รวม​พวก​ผู้​หญิง​และ​เด็ก ๆ ด้วย​ขนมปัง​เพียง​ห้า​อัน​และ​ปลา​สอง​ตัว. “เรื่อง​ขนมปัง” ที่​เหล่า​สาวก​น่า​จะ​เข้าใจ​จาก​เหตุ​การณ์​ดัง​กล่าว​ก็​คือ พระ​เยซู​ทรง​ได้​รับ​ฤทธิ์​อำนาจ​จาก​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​เพื่อ​ทำ​การ​อัศจรรย์. (มโก. 6:41-44) หาก​พวก​เขา​เข้าใจ​ความ​ยิ่ง​ใหญ่​ของ​ฤทธิ์​อำนาจ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ได้​รับ พวก​เขา​คง​ไม่​ประหลาด​ใจ​เมื่อ​เห็น​พระ​เยซู​ทำ​การ​อัศจรรย์​ด้วย​การ​เดิน​บน​น้ำ.

8:22-26—เหตุ​ใด​พระ​เยซู​ทรง​รักษา​ชาย​ตา​บอด​คน​นั้น​สอง​ขั้น​ตอน? พระ​เยซู​อาจ​ทำ​เช่น​นั้น​เนื่อง​จาก​ทรง​คำนึง​ถึง​ชาย​คน​นั้น. การ​รักษา​แบบ​ที่​ให้​ชาย​คน​นั้น​ค่อย ๆ มอง​เห็น​อาจ​ช่วย​เขา​ปรับ​สายตา​ให้​เข้า​กับ​แสง​อาทิตย์​ที่​สว่าง​จ้า​ได้​ดี​กว่า​เนื่อง​จาก​เขา​เคย​ชิน​กับ​ความ​มืด​มา​นาน.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

2:18; 7:11; 12:18; 13:3. มาระโก​อธิบาย​ขนบธรรมเนียม, ถ้อย​คำ, ความ​เชื่อ, และ​สถาน​ที่​ต่าง ๆ ซึ่ง​ผู้​อ่าน​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​ยิว​อาจ​จะ​ไม่​คุ้น​เคย. ท่าน​อธิบาย​เรื่อง​ต่าง ๆ เช่น พวก​ฟาริซาย “ถือ​ศีล​อด​อาหาร,” คอร์​บัน หมาย​ถึง “ของ​ที่​อุทิศ​แด่​พระเจ้า​แล้ว,” พวก​ซาดูกาย “บอก​ว่า​ไม่​มี​การ​กลับ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย,” และ​พระ​วิหาร “มอง​เห็น” ได้​จาก “ภูเขา​มะกอก.” เนื่อง​จาก​ลำดับ​วงศ์​ตระกูล​ของ​มาซีฮา​เป็น​เรื่อง​ที่​ชาว​ยิว​เท่า​นั้น​จะ​สนใจ ท่าน​จึง​ไม่​ได้​กล่าว​ถึง​เรื่อง​นี้. มาระโก​จึง​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ไว้​สำหรับ​เรา. เรา​ควร​คำนึง​ถึง​ภูมิหลัง​ของ​ผู้​ฟัง เมื่อ​เรา​ไป​ประกาศ หรือ​เมื่อ​บรรยาย​ต่อ​ประชาคม.

3:21. ญาติ ๆ ของ​พระ​เยซู​ไม่​ได้​เป็น​ผู้​ที่​มี​ความ​เชื่อ. ด้วย​เหตุ​นี้ พระองค์​จึง​ร่วม​ความ​รู้สึก​กับ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ถูก​สมาชิก​ครอบครัว​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​ต่อ​ต้าน​หรือ​เยาะเย้ย​เพราะ​ความ​เชื่อ​ของ​พวก​เขา.

3:31-35. เมื่อ​พระ​เยซู​รับ​บัพติสมา พระองค์​กลาย​เป็น​บุตร​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า และ “เยรูซาเลม​ที่​อยู่​เบื้อง​บน” เป็น​มารดา​ของ​พระองค์. (กลา. 4:26) นับ​แต่​นั้น​มา พระองค์​ทรง​ใกล้​ชิด​กับ​ครอบครัว​ฝ่าย​วิญญาณ​มาก​กว่า​และ​รัก​ครอบครัว​ฝ่าย​วิญญาณ​มาก​กว่า​ญาติ​พี่​น้อง​ฝ่าย​เนื้อหนัง. เรื่อง​นี้​สอน​ให้​เรา​จัด​ผล​ประโยชน์​ฝ่าย​วิญญาณ​ไว้​เป็น​อันดับ​แรก​ใน​ชีวิต​ของ​เรา.—มัด. 12:46-50; 8:19-21.

8:32-34. เรา​ควร​มอง​ให้​ออก​และ​ปฏิเสธ​อย่าง​ไม่​ชักช้า​เมื่อ​คน​อื่น​แสดง​ความ​กรุณา​แบบ​ที่​ไม่​ถูก​ต้อง​ต่อ​เรา. สาวก​ของ​พระ​คริสต์​ต้อง​พร้อม​ที่​จะ “ปฏิเสธ​ตัว​เอง” ซึ่ง​ก็​คือ​การ​ปฏิเสธ​ความ​ปรารถนา​และ​เป้าหมาย​อัน​เห็น​แก่​ตัว​นั่น​เอง. เขา​ควร​เต็ม​ใจ “แบก​เสา​ทรมาน​ของ​ตน” ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า ถ้า​จำเป็น​เขา​ต้อง​พร้อม​ที่​จะ​ทน​ทุกข์, หรือ​ถูก​เหยียด​หยาม, หรือ​ถูก​ข่มเหง, หรือ​ถึง​กับ​ถูก​ฆ่า​เนื่อง​จาก​การ​เป็น​คริสเตียน. และ​เขา​ต้อง ‘ติด​ตาม​พระ​เยซู​เรื่อย​ไป’ โดย​ปฏิบัติ​ตาม​รูป​แบบ​ชีวิต​ของ​พระองค์. แนว​ทาง​แห่ง​การ​เป็น​สาวก​เรียก​ร้อง​ให้​เรา​พัฒนา​หรือ​รักษา​น้ำใจ​ที่​เสีย​สละ​เหมือน​อย่าง​ที่​พระ​คริสต์​เยซู​ได้​ทำ.—มัด. 16:21-25; ลูกา 9:22, 23.

9:24. เรา​ไม่​ควร​รู้สึก​อาย​ที่​จะ​บอก​คน​อื่น​เรื่อง​ความ​เชื่อ​ของ​เรา​หรือ​ที่​จะ​ทูล​ขอ​ให้​เรา​มี​ความ​เชื่อ​มาก​ขึ้น.—ลูกา 17:5.

เดือน​สุด​ท้าย

(มาระโก 10:1–16:8)

ปลาย​ปี​สากล​ศักราช 32 พระ​เยซู​ทรง “ข้าม​แม่น้ำ​จอร์แดน​มา​ยัง​เขต​แดน​แคว้น​ยูเดีย” และ​ฝูง​ชน​ก็​มา​หา​พระองค์​อีก. (มโก. 10:1) หลัง​จาก​ประกาศ​ที่​นั่น พระองค์​ก็​เสด็จ​ไป​กรุง​เยรูซาเลม.

วัน​ที่ 8 เดือน​ไนซาน พระ​เยซู​ทรง​อยู่​ที่​บ้าน​เบทาเนีย. ตอน​ที่​พระองค์​กำลัง​นั่ง​เอน​กาย​รับประทาน​อาหาร​อยู่ หญิง​คน​หนึ่ง​ก็​เข้า​มา​และ​เท​น้ำมัน​หอม​ลง​บน​พระ​เศียร​ของ​พระองค์. มี​การ​พรรณนา​เหตุ​การณ์​นับ​ตั้ง​แต่​ที่​พระ​เยซู​เสด็จ​เข้า​มา​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​อย่าง​ผู้​มี​ชัย​ไป​จน​ถึง​การ​ฟื้น​คืน​พระ​ชนม์​ของ​พระองค์​ตาม​ลำดับ​เวลา.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​คัมภีร์:

10:17, 18—ทำไม​พระ​เยซู​ทรง​แก้ไข​ชาย​คน​หนึ่ง​เมื่อ​เขา​เรียก​พระองค์​ว่า “ท่าน​อาจารย์​ผู้​ประเสริฐ”? โดย​การ​ปฏิเสธ​การ​เรียก​แบบ​ป้อยอ​นี้ พระ​เยซู​ถวาย​พระ​เกียรติ​แด่​พระ​ยะโฮวา​และ​ทรง​ชี้​ให้​เห็น​ว่า​พระเจ้า​องค์​เที่ยง​แท้​เป็น​ผู้​บันดาล​ให้​เกิด​สรรพสิ่ง​ที่​ดี​งาม​ทุก​อย่าง. นอก​จาก​นี้ พระ​เยซู​ยัง​ชี้​ถึง​ความ​จริง​พื้น​ฐาน​ที่​ว่า พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า ผู้​สร้าง​สรรพสิ่ง​ทั้ง​ปวง พระองค์​ผู้​เดียว​เท่า​นั้น​มี​สิทธิ์​ตั้ง​มาตรฐาน​ใน​เรื่อง​ความ​ดี​และ​ความ​ชั่ว.—มัด. 19:16, 17; ลูกา 18:18, 19.

14:25—พระ​เยซู​ทรง​หมาย​ความ​เช่น​ไร​เมื่อ​ตรัส​กับ​เหล่า​อัครสาวก​ที่​ซื่อ​สัตย์​ว่า “เรา​จะ​ไม่​ดื่ม​เหล้า​องุ่น​อีก​เลย​จน​กระทั่ง​วัน​นั้น​ที่​เรา​จะ​ดื่ม​เหล้า​องุ่น​ใหม่​ใน​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า”? พระ​เยซู​ไม่​ได้​บอก​ว่า​มี​เหล้า​องุ่น​อยู่​บน​สวรรค์​จริง ๆ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เนื่อง​จาก​บาง​ครั้ง​มี​การ​ใช้​เหล้า​องุ่น​เป็น​ภาพ​แสดง​ถึง​ความ​ยินดี พระ​เยซู​กำลัง​กล่าว​ถึง​ความ​ยินดี​ที่​ได้​อยู่​ร่วม​กับ​สาวก​ผู้​ถูก​เจิม​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ปลุก​ให้​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย​ใน​ราชอาณาจักร.—เพลง. 104:15; มัด. 26:29.

14:51, 52—ชาย​หนุ่ม​ที่ “หนี​ไป​โดย​ไม่​มี​ผ้า​คลุม” เป็น​ใคร? มาระโก​เป็น​คน​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​กล่าว​ถึง​เหตุ​การณ์​นี้ ดัง​นั้น เรา​จึง​ลง​ความ​เห็น​ได้​อย่าง​สม​เหตุ​ผล​ว่า​ชาย​คน​นั้น​ก็​คือ​ตัว​ผู้​กล่าว​นั่น​เอง.

15:34—ถ้อย​คำ​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “พระเจ้า​ของ​ข้าพเจ้า พระเจ้า​ของ​ข้าพเจ้า เหตุ​ใด​พระองค์​ทรง​ทอดทิ้ง​ข้าพเจ้า?” บ่ง​ชี้​ว่า​พระองค์​ขาด​ความ​เชื่อ​ไหม? ไม่. แม้​เรา​จะ​ไม่​แน่​ใจ​ว่า​อะไร​กระตุ้น​พระองค์​ให้​กล่าว​เช่น​นั้น แต่​คำ​กล่าว​ของ​พระ​เยซู​อาจ​บ่ง​ชี้​ว่า พระองค์​ทราบ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ได้​ปก​ป้อง​พระองค์​อีก​ต่อ​ไป เพื่อ​จะ​ได้​ทดสอบ​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ของ​พระ​บุตร​ได้​อย่าง​เต็ม​ที่. นอก​จาก​นี้ การ​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​เช่น​นั้น​ก็​อาจ​เป็น​เพราะ​พระองค์​ต้องการ​ทำ​ให้​สิ่ง​ที่​เขียน​ไว้​ล่วง​หน้า​เกี่ยว​กับ​พระองค์​ใน​บทเพลง​สรรเสริญ 22:1 นั้น​สำเร็จ​เป็น​จริง.—มัด. 27:46.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

10:6-9. พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​ก็​คือ คู่​สมรส​ต้อง​ผูก​พัน​อยู่​ด้วย​กัน. ด้วย​เหตุ​นี้ แทน​ที่​จะ​รีบ​หา​ทาง​หย่าร้าง​กัน สามี​และ​ภรรยา​ควร​พยายาม​นำ​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​มา​ใช้ เพื่อ​เอา​ชนะ​ปัญหา​ยุ่งยาก​ใด ๆ ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​ใน​ชีวิต​สมรส.—มัด. 19:4-6.

12:41-44. ตัว​อย่าง​ของ​หญิง​ม่าย​ผู้​ยาก​จน​สอน​เรา​ว่า เรา​ควร​สนับสนุน​การ​นมัสการ​แท้​อย่าง​ไม่​เห็น​แก่​ตัว.

[ภาพ​หน้า 29]

ทำไม​พระ​เยซู​บอก​ให้​ชาย​คน​นี้​ไป​เล่า​เรื่อง​ทั้ง​หมด​ที่​เกิด​ขึ้น​กับ​เขา​ให้​ญาติ ๆ ฟัง?