ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณมองคนอื่นเหมือนพระยะโฮวาทรงมองไหม?

คุณมองคนอื่นเหมือนพระยะโฮวาทรงมองไหม?

คุณ​มอง​คน​อื่น​เหมือน​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอง​ไหม?

“เพื่อ​ไม่​ให้​มี​การ​แตก​แยก​ใน​ร่าง​กาย แต่​เพื่อ​ให้​อวัยวะ​ทั้ง​หลาย​ต่าง​ห่วงใย​กัน.” —1 โค. 12:25.

1. คุณ​รู้สึก​อย่าง​ไร​เมื่อ​เริ่ม​เข้า​สู่​อุทยาน​ฝ่าย​วิญญาณ?

เมื่อ​เรา​แยก​ตัว​จาก​โลก​ชั่ว​และ​เริ่ม​สมทบ​กับ​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา เรา​คง​รู้สึก​ยินดี​ที่​เห็น​ความ​รัก​และ​ความ​ห่วงใย​อย่าง​อบอุ่น​ใน​หมู่​พวก​เขา. ช่าง​แตกต่าง​จริง ๆ จาก​ผู้​คน​ที่​อยู่​ใต้​การ​ครอบ​งำ​ของ​ซาตาน​ซึ่ง​หยาบคาย, เกลียด​ชัง, และ​แก่ง​แย่ง​ชิง​ดี​กัน! เรา​เข้า​สู่​อุทยาน​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​เต็ม​ด้วย​สันติ​สุข​และ​มี​เอกภาพ.—ยซา. 48:17, 18; 60:18; 65:25.

2. (ก) อะไร​อาจ​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​ทัศนะ​ที่​เรา​มี​ต่อ​ผู้​อื่น? (ข) เรา​อาจ​ต้อง​ทำ​อะไร?

2 แต่​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป เพราะ​ความ​ไม่​สมบูรณ์​เรา​อาจ​เริ่ม​มอง​พี่​น้อง​ของ​เรา​อย่าง​ผิด​เพี้ยน. ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​เรา​อาจ​ทำ​ให้​เรา​ขยาย​ข้อ​บกพร่อง​ของ​พี่​น้อง​แทน​ที่​จะ​มอง​คุณลักษณะ​ฝ่าย​วิญญาณ​โดย​รวม. พูด​ง่าย ๆ คือ เรา​ลืม​มอง​พี่​น้อง​เหมือน​กับ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอง​พวก​เขา. หาก​เป็น​อย่าง​นั้น ถึง​เวลา​แล้ว​ที่​จะ​ตรวจ​สอบ​ทัศนะ​ของ​เรา​และ​ปรับ​ให้​สอดคล้อง​กับ​ทัศนะ​ที่​ชัดเจน​ของ​พระ​ยะโฮวา.—เอ็ก. 33:13.

วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอง​พี่​น้อง​ของ​เรา

3. คัมภีร์​ไบเบิล​เปรียบ​ประชาคม​คริสเตียน​กับ​อะไร?

3 ดัง​บันทึก​ที่ 1 โครินท์ 12:2-26 อัครสาวก​เปาโล​เปรียบ​ประชาคม​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​กับ​ร่าง​กาย​ซึ่ง​มี “อวัยวะ​หลาย​ส่วน.” เช่น​เดียว​กับ​ที่​อวัยวะ​แต่​ละ​อย่าง​ของ​ร่าง​กาย​ต่าง​จาก​อวัยวะ​อื่น สมาชิก​ของ​ประชาคม​ก็​แตกต่าง​กัน​มาก​ใน​เรื่อง​นิสัย​ใจ​คอ​และ​ความ​สามารถ. กระนั้น พระ​ยะโฮวา​ทรง​ยอม​รับ​ความ​หลาก​หลาย​เช่น​นี้. พระองค์​ทรง​รัก​และ​หยั่ง​รู้​ค่า​สมาชิก​แต่​ละ​คน. ดัง​นั้น เปาโล​แนะ​นำ​เรา​ว่า​สมาชิก​ของ​ประชาคม​น่า​จะ “ห่วงใย​กัน” ด้วย. อาจ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นี้ เพราะ​บุคลิกภาพ​ของ​คน​อื่น​อาจ​แตกต่าง​จาก​เรา.

4. เหตุ​ใด​เรา​อาจ​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน​ทัศนะ​ที่​เรา​มี​ต่อ​พี่​น้อง?

4 เรา​อาจ​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​เพ่งเล็ง​ข้อ​อ่อนแอ​ของ​พี่​น้อง. ที่​จริง เมื่อ​ทำ​อย่าง​นั้น​ก็​เหมือน​กับ​ว่า​เรา​กำลัง​ใช้​กล้อง​ถ่าย​รูป​ที่​ใช้​เลนส์​มุม​แคบ. แต่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอง​พี่​น้อง​ของ​เรา​เหมือน​กับ​ทรง​ใช้​เลนส์​มุม​กว้าง​ซึ่ง​ทำ​ให้​สามารถ​ถ่าย​ภาพ​ทั้ง​ตัว​บุคคล​และ​สิ่ง​ที่​อยู่​รอบ​ตัว​เขา. เรา​อาจ​มี​แนว​โน้ม​จะ​เพ่งเล็ง​เฉพาะ​สิ่ง​ที่​เรา​ไม่​ชอบ ใน​ขณะ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอง​ตัว​บุคคล​ทั้ง​หมด รวม​ถึง​มอง​คุณลักษณะ​ดี ๆ ทั้ง​หมด​ของ​คน​เรา. ยิ่ง​เรา​พยายาม​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​มาก​เท่า​ไร เรา​ก็​จะ​ยิ่ง​สามารถ​ส่ง​เสริม​น้ำใจ​ที่​รัก​กัน​และ​มี​เอกภาพ​ใน​ประชาคม​มาก​เท่า​นั้น.—เอเฟ. 4:1-3; 5:1, 2.

5. เหตุ​ใด​จึง​ไม่​ควร​ตัดสิน​คน​อื่น?

5 พระ​เยซู​ทรง​ตระหนัก​ดี​ว่า​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​มัก​มี​แนว​โน้ม​จะ​ตัดสิน​ผู้​อื่น. พระองค์​ทรง​ให้​คำ​แนะ​นำ​ว่า “จง​เลิก​ตัดสิน​ผู้​อื่น​เพื่อ​เจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​ไม่​ถูก​ตัดสิน.” (มัด. 7:1) สังเกต​ว่า​พระ​เยซู​ไม่​ได้​ตรัส​ว่า “อย่า​ตัดสิน”; พระองค์​ตรัส​ว่า “จง​เลิก​ตัดสิน.” พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​ผู้​ที่​ฟัง​พระองค์​หลาย​คน​มี​นิสัย​ชอบ​วิพากษ์วิจารณ์​คน​อื่น​อยู่​แล้ว. อาจ​เป็น​ได้​ไหม​ว่า​เรา​เริ่ม​มี​นิสัย​อย่าง​นั้น? หาก​เรา​มี​แนว​โน้ม​จะ​วิพากษ์วิจารณ์​คน​อื่น เรา​ควร​พยายาม​แก้ไข​อย่าง​จริงจัง เพื่อ​เรา​จะ​ไม่​ถูก​ตัดสิน​ลง​โทษ. อัน​ที่​จริง เรา​เป็น​ใคร​จึง​จะ​พิพากษา​คน​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​แต่ง​ตั้ง​ให้​ทำ​หน้า​ที่​หรือ​จะ​บอก​ว่า​เขา​ไม่​ควร​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ประชาคม? พี่​น้อง​ของ​เรา​อาจ​มี​ข้อ​บกพร่อง​บาง​อย่าง แต่​หาก​พระ​ยะโฮวา​ยัง​คง​ยอม​รับ​เขา เป็น​เรื่อง​ถูก​ต้อง​ไหม​ที่​เรา​จะ​ปฏิเสธ​เขา? (โย. 6:44) เรา​เชื่อ​จริง ๆ ไหม​ว่า​พระ​ยะโฮวา​กำลัง​นำ​องค์การ​ของ​พระองค์ และ​หาก​จำเป็น​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน​อะไร​บาง​อย่าง​พระองค์​จะ​ดำเนิน​การ​ใน​เวลา​ที่​ทรง​กำหนด​ไว้?—อ่าน​โรม 14:1-4.

6. พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอง​ดู​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​อย่าง​ไร?

6 สิ่ง​หนึ่ง​ที่​น่า​ทึ่ง​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​คือ​พระองค์​ทรง​สามารถ​มอง​เห็น​ว่า​คริสเตียน​แต่​ละ​คน​มี​ศักยภาพ​จะ​พัฒนา​ตัว​เขา​เอง​ถึง​ขนาด​ไหน​เมื่อ​พวก​เขา​บรรลุ​ความ​สมบูรณ์​ใน​โลก​ใหม่. พระองค์​ยัง​รู้​ด้วย​ว่า​พวก​เขา​ได้​ทำ​ความ​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ​มาก​น้อย​แค่​ไหน​แล้ว. ด้วย​เหตุ​นั้น พระองค์​ไม่​มี​เหตุ​ผล​จะ​เพ่งเล็ง​ที่​ข้อ​อ่อนแอ​แต่​ละ​อย่าง. เรา​อ่าน​ที่​บทเพลง​สรรเสริญ 103:12 ว่า “ทิศ​ตะวัน​ออก​ไกล​จาก​ทิศ​ตะวัน​ตก​มาก​เท่า​ใด, พระองค์​ได้​ทรง​ถอน​เอา​การ​ล่วง​ละเมิด​ของ​พวก​ข้าพเจ้า​ไป​ให้​ห่าง​ไกล​มาก​เท่า​นั้น.” เรา​แต่​ละ​คน​รู้สึก​ขอบคุณ​สัก​เพียง​ไร​ที่​พระองค์​ทรง​ทำ​อย่าง​นั้น!—เพลง. 130:3.

7. เรา​เรียน​อะไร​จาก​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอง​ดาวิด?

7 เรา​เห็น​หลักฐาน​ใน​พระ​คัมภีร์​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มี​ความ​สามารถ​อัน​ยอด​เยี่ยม​ใน​การ​มอง​ที่​ส่วน​ดี​ของ​มนุษย์​เรา​แต่​ละ​คน. พระเจ้า​ทรง​พรรณนา​ถึง​ดาวิด​ว่า “ดาวิด​ผู้​ทาส​ของ​เรา, ผู้​ซึ่ง​ได้​รักษา​ข้อ​บัญญัติ​ของ​เรา, และ​ได้​ประพฤติ​ตาม​ด้วย​จิตต์​ใจ​ของ​ตน, กระทำ​แต่​สิ่ง​ซึ่ง​เป็น​ที่​ชอบ​ใน​คลอง​พระ​เนตร​ของ​เรา.” (1 กษัต. 14:8) แน่นอน เรา​รู้​ว่า​ดาวิด​ทำ​ผิด​บาง​อย่าง. กระนั้น พระ​ยะโฮวา​ทรง​เลือก​มอง​ที่​ส่วน​ดี​ของ​ท่าน​เพราะ​พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​ดาวิด​มี​หัวใจ​ที่​ดี.—1 โคร. 29:17.

จง​มอง​พี่​น้อง​เหมือน​กับ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอง

8, 9. (ก) เรา​จะ​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​ได้​ใน​เรื่อง​ใด? (ข) อาจ​ยก​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​นี้ และ​นั่น​ให้​บทเรียน​อะไร​แก่​เรา?

8 พระ​ยะโฮวา​ทรง​อ่าน​หัวใจ​คน​เรา​ได้ แต่​เรา​ทำ​ไม่​ได้. แค่​จุด​นี้​จุด​เดียว​ก็​มี​เหตุ​ผล​เพียง​พอ​อยู่​แล้ว​ที่​เรา​จะ​ไม่​ตัดสิน​คน​อื่น. เรา​ไม่​รู้​ทุก​อย่าง​เกี่ยว​กับ​แรง​กระตุ้น​ที่​อยู่​ใน​ใจ​คน​อื่น. เรา​ควร​พยายาม​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​โดย​ไม่​เพ่งเล็ง​ที่​ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​เพื่อน​มนุษย์​ซึ่ง​จะ​หมด​ไป​ใน​ที่​สุด. การ​ทำ​แบบ​เดียว​กับ​พระองค์​ใน​แง่​นี้​เป็น​เป้าหมาย​ที่​ดี​มิ​ใช่​หรือ? การ​ทำ​เช่น​นั้น​จะ​ช่วย​เรา​อย่าง​มาก​ให้​มี​ความ​สัมพันธ์​ที่​สงบ​สุข​กับ​พี่​น้อง.—เอเฟ. 4:23, 24.

9 เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ขอ​ให้​นึก​ถึง​บ้าน​หลัง​หนึ่ง​ที่​ทรุดโทรม—ราง​น้ำ​ฝน​จวน​จะ​หลุด, หน้าต่าง​หัก​พัง, และ​ฝ้า​เพดาน​ก็​ถูก​ฝน​รั่ว​รด​เสียหาย. คน​ส่วน​ใหญ่​อาจ​มอง​บ้าน​หลัง​นี้​แล้ว​ก็​ลง​ความ​เห็น​ว่า​ควร​รื้อ​ทิ้ง เพราะ​ดู​ขัด​ตา. แต่​มี​คน​หนึ่ง​ที่​มุม​มอง​ของ​เขา​ต่าง​จาก​คน​อื่น​อย่าง​สิ้นเชิง. อาจ​เป็น​ได้​ว่า​เขา​สามารถ​มอง​ทะลุ​ปัญหา​ซึ่ง​เป็น​แค่​ผิว​นอก​และ​เห็น​ว่า​โครง​สร้าง​บ้าน​หลัง​นี้​ยัง​ดี​อยู่​และ​สามารถ​ซ่อมแซม​ได้. เขา​ซื้อ​บ้าน​หลัง​นี้​แล้ว​จัด​การ​ซ่อม​ส่วน​ภาย​นอก​ที่​ชำรุด​และ​ปรับ​ปรุง​ตกแต่ง​ให้​สวย​งาม. หลัง​จาก​นั้น ผู้​คน​ที่​ผ่าน​ไป​ผ่าน​มา​ต่าง​ก็​ออก​ปาก​ชม​ว่า​บ้าน​หลัง​นี้​สวย. เรา​จะ​เป็น​เหมือน​ชาย​คน​นี้​ได้​ไหม​ที่​พยายาม​ซ่อมแซม​แก้ไข​บ้าน​ให้​มี​สภาพ​ดี​เหมือน​เดิม? แทน​ที่​จะ​เพ่งเล็ง​ข้อ​บกพร่อง​ที่​เห็น​ได้​ชัดเจน เรา​จะ​มอง​หา​คุณลักษณะ​ดี ๆ และ​ศักยภาพ​ที่​พี่​น้อง​ของ​เรา​จะ​เติบโต​ฝ่าย​วิญญาณ​ได้​ไหม? ถ้า​เรา​ทำ​อย่าง​นั้น เรา​จะ​รัก​พี่​น้อง​ของ​เรา เช่น​เดียว​กับ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​รัก​พวก​เขา​เพราะ​คุณลักษณะ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​พวก​เขา.—อ่าน​ฮีบรู 6:10.

10. คำ​แนะ​นำ​ที่​ฟิลิปปอย 2:3, 4 ช่วย​เรา​ได้​อย่าง​ไร?

10 อัครสาวก​เปาโล​ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​สามารถ​ช่วย​เรา​ใน​เรื่อง​ความ​สัมพันธ์​กับ​ทุก​คน​ใน​ประชาคม. ท่าน​กล่าว​กระตุ้น​คริสเตียน​ว่า “[อย่า] ทำ​อะไร​ด้วย​น้ำใจ​ชิง​ดี​ชิง​เด่น​หรือ​ด้วย​ความ​ถือ​ดี แต่​ให้​ถ่อม​ใจ​ถือ​ว่า​คน​อื่น​ดี​กว่า​ตัว ไม่​ห่วง​แต่​เรื่อง​ของ​ตัว​เอง​เท่า​นั้น แต่​ห่วง​เรื่อง​ของ​คน​อื่น​ด้วย.” (ฟิลิป. 2:3, 4) ความ​ถ่อม​จะ​ช่วย​เรา​ให้​มี​ทัศนะ​ที่​ถูก​ต้อง​ต่อ​ผู้​อื่น. การ​แสดง​ความ​สนใจ​เป็น​ส่วน​ตัว​และ​มอง​หา​ส่วน​ดี​ใน​ตัว​ผู้​อื่น​จะ​ช่วย​เรา​ด้วย​ให้​มอง​พวก​เขา​เหมือน​กับ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอง.

11. การ​เปลี่ยน​แปลง​อะไร​ที่​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​บาง​ประชาคม?

11 ใน​ระยะ​หลัง ๆ นี้ การ​เปลี่ยน​แปลง​ต่าง ๆ ที่​เกิด​ขึ้น​ทั่ว​โลก​ทำ​ให้​มี​การ​ย้าย​ถิ่น​ฐาน​ของ​ผู้​คน​มาก​มาย. ใน​เวลา​นี้ มี​ผู้​คน​จาก​ประเทศ​ต่าง ๆ มา​อาศัย​อยู่​ใน​เมือง​ใหญ่​บาง​เมือง. คน​เหล่า​นี้​บาง​คน​ที่​เพิ่ง​ย้าย​มา​อยู่​ใน​ท้องถิ่น​ของ​เรา​สนใจ​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​เข้า​มา​ร่วม​กับ​เรา​ใน​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา. คน​เหล่า​นี้​มา “จาก​ทุก​ประเทศ ทุก​ตระกูล ทุก​ชน​ชาติ และ​ทุก​ภาษา.” (วิ. 7:9) ผล​ก็​คือ เรา​อาจ​เรียก​หลาย ๆ ประชาคม​ได้​ว่า​เป็น​ประชาคม​นานา​ชาติ.

12. เรา​แต่​ละ​คน​จำเป็น​ต้อง​รักษา​ทัศนะ​เช่น​ไร​ต่อ​กัน และ​เหตุ​ใด​การ​ทำ​อย่าง​นั้น​อาจ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​เสมอ​ไป?

12 เรา​อาจ​จำเป็น​ต้อง​ใส่​ใจ​มาก​ขึ้น​ใน​เรื่อง​การ​รักษา​ทัศนะ​ที่​ถูก​ต้อง​ต่อ​กัน​และ​กัน​ใน​ประชาคม​ของ​เรา. เพื่อ​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น​เรา​ต้อง​จำ​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปโตร​ไว้​เสมอ​ที่​ให้ “รักใคร่​กัน​ฉัน​พี่​น้อง​โดย​ไม่​เสแสร้ง” และ “รัก​กัน​อย่าง​แรง​กล้า​จาก​หัวใจ.” (1 เป. 1:22) การ​พัฒนา​ความ​รัก​แท้​และ​ความ​รักใคร่​สนิทสนม​อาจ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ที่​ทำ​ได้​ง่าย ๆ ใน​กลุ่ม​หรือ​ประชาคม​ที่​มี​พี่​น้อง​หลาก​หลาย​เชื้อชาติ. ภูมิหลัง​ของ​เพื่อน​ผู้​นมัสการ​ของ​เรา​อาจ​ต่าง​จาก​เรา​มาก เช่น การ​ศึกษา, ฐานะ​ทาง​เศรษฐกิจ, และ​เชื้อชาติ. คุณ​รู้สึก​ว่า​ยาก​จะ​เข้าใจ​ความ​คิด​หรือ​ปฏิกิริยา​ของ​บาง​คน​ไหม? พวก​เขา​อาจ​รู้สึก​อย่าง​เดียว​กัน​ต่อ​คุณ. แม้​กระนั้น เรา​ทุก​คน​ได้​รับ​คำ​แนะ​นำ​ว่า “จง​รัก​ทุก​คน​ใน​สังคม​พี่​น้อง​คริสเตียน.”—1 เป. 2:17.

13. เรา​อาจ​จำเป็น​ต้อง​ปรับ​ทัศนะ​เช่น​ไร?

13 อาจ​จำเป็น​ต้อง​ปรับ​ทัศนะ​ของ​เรา​บาง​อย่าง เปิด​ใจ​ให้​กว้าง​เพื่อ​จะ​รัก​พี่​น้อง​ทุก​คน. (อ่าน 2 โครินท์ 6:12, 13.) คุณ​เคย​สังเกต​ไหม​ว่า​เรา​เอง​อาจ​เคย​พูด​ใน​ทำนอง​ว่า “ผม​ไม่​ได้​มี​อคติ​นะ แต่ . . . ” แล้ว​ก็​เล่า​ถึง​นิสัย​ไม่​ดี​บาง​อย่าง​ที่​เรา​เห็น​ว่า​เป็น​ลักษณะ​หรือ​นิสัย​ของ​กลุ่ม​ชาติ​พันธุ์​หนึ่ง? หาก​เรา​มี​ความ​รู้สึก​เช่น​นั้น นั่น​อาจ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​มี​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​ต้อง​ขจัด​อคติ​ซึ่ง​ยัง​คง​ฝัง​ลึก​ใน​ตัว​เรา. เรา​อาจ​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​พยายาม​อยู่​เสมอ​ไหม​ที่​จะ​ทำ​ความ​รู้​จัก​กับ​ผู้​คน​ที่​มี​วัฒนธรรม​ต่าง​จาก​ฉัน?’ การ​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​อย่าง​นั้น​อาจ​ช่วย​ปรับ​ความ​รู้สึก​นึก​คิด​ของ​เรา​ให้​ดี​ขึ้น​เพื่อ​จะ​ยอม​รับ​และ​หยั่ง​รู้​ค่า​สังคม​พี่​น้อง​ที่​มี​หลาย​เชื้อชาติ.

14, 15. (ก) จง​ยก​ตัว​อย่าง​คน​ที่​ปรับ​ทัศนะ​ใน​การ​มอง​คน​อื่น? (ข) เรา​จะ​เลียน​แบบ​คน​เหล่า​นั้น​ได้​อย่าง​ไร?

14 คัมภีร์​ไบเบิล​มี​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ของ​หลาย​คน​ที่​ได้​ปรับ​ทัศนะ​ของ​ตน คน​หนึ่ง​ได้​แก่​อัครสาวก​เปโตร. เพราะ​เป็น​ชาว​ยิว เปโตร​ไม่​เข้า​ไป​ใน​บ้าน​ของ​คน​ต่าง​ชาติ. ขอ​ให้​นึก​ดู​ว่า​ท่าน​รู้สึก​อย่าง​ไร​เมื่อ​ถูก​ขอ​ให้​ไป​ที่​บ้าน​ของ​คอร์เนลิอุส คน​ต่าง​ชาติ​ที่​ไม่​ได้​รับ​สุหนัต! เปโตร​ปรับ​ทัศนะ​ของ​ท่าน เพราะ​เข้าใจ​ว่า​เป็น​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​ให้​ชน​จาก​ทุก​ชาติ​เข้า​มา​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ประชาคม​คริสเตียน. (กิจ. 10:9-35) เซาโล​ซึ่ง​ภาย​หลัง​กลาย​มา​เป็น​อัครสาวก​เปาโล​ก็​ต้อง​เปลี่ยน​แปลง​หลาย​อย่าง​และ​ขจัด​อคติ​ที่​ท่าน​มี. ท่าน​ยอม​รับ​ว่า​ท่าน​เคย​เกลียด​คริสเตียน​มาก​จน​ถึง​กับ “ข่มเหง​ประชาคม​ของ​พระเจ้า​อย่าง​หนัก​และ​หา​ทาง​ทำลาย​เสีย.” ถึง​กระนั้น เมื่อ​พระ​เยซู​เจ้า​ทรง​แก้ไข​ทัศนะ​ของ​เปาโล​แล้ว ท่าน​เปลี่ยน​เป็น​คน​ละ​คน​และ​เริ่ม​ยอม​รับ​การ​ชี้​นำ​จาก​คน​ที่​ท่าน​เคย​ข่มเหง​เสีย​ด้วย​ซ้ำ.—กล​า. 1:13-20.

15 ไม่​มี​ข้อ​สงสัย​ว่า​เรา​สามารถ​ปรับ​เปลี่ยน​ทัศนคติ​ของ​เรา​โดย​อาศัย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​วิญญาณ​ของ​พระ​ยะโฮวา. หาก​เรา​พบ​ว่า​ยัง​มี​ร่องรอย​ของ​อคติ​แฝง​เร้น​อยู่​ใน​ตัว​เรา ให้​เรา​พยายาม​ขจัด​อคติ​นั้น​ออก​ไป​ให้​หมด และ “รักษา​ความ​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน​ด้วย​สันติ​สุข​ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​ที่​ผูก​พัน​ผู้​คน​ให้​มี​เอกภาพ.” (เอเฟ. 4:3-6) คัมภีร์​ไบเบิล​สนับสนุน​เรา​ให้ “สวม​ความ​รัก เพราะ​ความ​รัก​เป็น​สิ่ง​ที่​ผูก​พัน​ผู้​คน​ให้​เป็น​อัน​หนึ่ง​อัน​เดียว​กัน​อย่าง​สมบูรณ์.”—โกโล. 3:14.

เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​ใน​งาน​รับใช้​ของ​เรา

16. พระเจ้า​ทรง​มี​พระทัย​ประสงค์​เช่น​ไร​เกี่ยว​กับ​ผู้​คน​ทั้ง​หลาย?

16 อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “พระเจ้า​ไม่​ทรง​ลำเอียง.” (โรม 2:11) พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประสงค์​ให้​ประชาชน​จาก​ทุก​ชาติ​นมัสการ​พระองค์. (อ่าน 1 ติโมเธียว 2:3, 4.) เพื่อ​จะ​เป็น​ตาม​พระ​ประสงค์​นั้น พระองค์​ทรง​จัด​เตรียม​ให้​มี​การ​ประกาศ “ข่าว​ดี​นิรันดร์ . . . แก่​ทุก​ประเทศ ทุก​ตระกูล ทุก​ภาษา และ​ทุก​ชน​ชาติ.” (วิ. 14:6) พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “นา​นั้น​คือ​โลก​นี้.” (มัด. 13:38) นั่น​มี​ความ​หมาย​อย่าง​ไร​สำหรับ​คุณ​และ​ครอบครัว?

17. เรา​จะ​ช่วย​ผู้​คน​ทุก​ชนิด​ได้​อย่าง​ไร?

17 ไม่​ใช่​ทุก​คน​สามารถ​ไป​ยัง​ส่วน​ที่​ห่าง​ไกล​ของ​โลก​เพื่อ​นำ​ข่าวสาร​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ไป​ให้​คน​อื่น ๆ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เรา​อาจ​จะ​สามารถ​นำ​ข่าวสาร​ไป​ให้​ผู้​คน​ที่​มา​จาก​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​โลก​ซึ่ง​มา​อาศัย​อยู่​ใน​เขต​ของ​เรา. เรา​ตื่น​ตัว​ไหม​ต่อ​โอกาส​ที่​จะ​บอก​ข่าวสาร​แก่​คน​ทุก​ชนิด ไม่​เพียง​แค่​คน​ที่​เรา​ประกาศ​ให้​ฟัง​มา​เป็น​เวลา​หลาย​ปี? คุณ​น่า​จะ​ตั้งใจ​เข้า​ถึง​คน​กลุ่ม​อื่น ๆ ที่​ยัง​ไม่​ได้​รับ​ข่าวสาร​อย่าง​ทั่ว​ถึง​มิ​ใช่​หรือ?—โรม 15:20, 21.

18. พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ความ​ห่วงใย​เช่น​ไร​ต่อ​ผู้​คน?

18 พระ​เยซู​ทรง​ตระหนัก​ดี​ว่า​จำเป็น​ต้อง​ช่วยเหลือ​ทุก​คน. พระองค์​ไม่​ได้​ประกาศ​เฉพาะ​ใน​เขต​เดียว. บันทึก​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​เรา​ว่า​พระองค์ “ทรง​ออก​เดิน​ทาง​ไป​ทั่ว​ทุก​เมือง​และ​ทุก​หมู่​บ้าน.” และ “เมื่อ​ทรง​เห็น​ฝูง​ชน พระองค์​ทรง​รู้สึก​สงสาร” และ​ทรง​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​จำเป็น​จะ​ต้อง​ช่วย​พวก​เขา.—มัด. 9:35-37.

19, 20. เรา​จะ​เลียน​แบบ​ความ​ห่วงใย​ที่​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​เยซู​ทรง​มี​ต่อ​ผู้​คน​ทุก​ชนิด​ได้​ใน​ทาง​ใด​บ้าง?

19 มี​ทาง​ใด​บ้าง​ที่​คุณ​สามารถ​แสดง​เจตคติ​คล้าย ๆ กัน? บาง​คน​ได้​พยายาม​ประกาศ​ข่าว​ดี​ใน​เขต​ที่​ไม่​ได้​ประกาศ​กัน​บ่อย ๆ. เขต​ดัง​กล่าว​อาจ​เป็น​ย่าน​ธุรกิจ, สวน​สาธารณะ, สถานี​ขน​ส่ง, หรือ​หน้า​ตึก​ที่​พัก​อาศัย​ที่​ไม่​อนุญาต​ให้​คน​ภาย​นอก​เข้า. คน​อื่น ๆ ได้​พยายาม​เรียน​ภาษา​ใหม่​เพื่อ​จะ​ประกาศ​กับ​กลุ่ม​ชาติ​พันธุ์​บาง​กลุ่ม​ซึ่ง​เวลา​นี้​อาศัย​อยู่​ใน​ท้องถิ่น​หรือ​เป็น​กลุ่ม​ที่​ก่อน​หน้า​นี้​ไม่​ค่อย​ได้​มี​การ​ประกาศ​เท่า​ไร​นัก. การ​เรียน​รู้​คำ​ทักทาย​ใน​ภาษา​ท้องถิ่น​ของ​พวก​เขา​อาจ​แสดง​ให้​เห็น​อย่าง​ชัดเจน​ว่า​คุณ​สนใจ​สวัสดิภาพ​ของ​พวก​เขา. หาก​เรา​เรียน​ภาษา​ใหม่​ไม่​ได้ เรา​จะ​สนับสนุน​คน​ที่​กำลัง​เรียน​อยู่​ได้​ไหม? แน่นอน เรา​คง​ไม่​อยาก​มี​ความ​คิด​ใน​แง่​ลบ​หรือ​ตั้ง​ข้อ​สงสัย​เกี่ยว​กับ​เหตุ​ผล​ที่​คน​อื่น​กำลัง​พยายาม​ทำ​อย่าง​นั้น​เพื่อ​จะ​ประกาศ​แก่​ผู้​คน​ที่​มา​จาก​ประเทศ​อื่น. ทุก​ชีวิต​มี​ค่า​ใน​สาย​พระ​เนตร​พระเจ้า และ​เรา​ต้องการ​มอง​เรื่อง​ต่าง ๆ ใน​แนว​เดียว​กัน.—โกโล. 3:10, 11.

20 การ​มี​ทัศนะ​ต่อ​ผู้​คน​แบบ​เดียว​กับ​พระเจ้า​ยัง​หมาย​ถึง​การ​ประกาศ​แก่​ทุก​คน ไม่​ว่า​เขา​อยู่​ใน​สภาพ​อย่าง​ไร. บาง​คน​อาจ​เป็น​คน​ไร้​ที่​อยู่​อาศัย, ดู​รุงรัง, หรือ​เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ใช้​ชีวิต​แบบ​ผิด​ศีลธรรม. หาก​บาง​คน​ปฏิบัติ​ต่อ​เรา​อย่าง​ไม่​กรุณา นั่น​ไม่​ควร​ทำ​ให้​เรา​มี​ทัศนะ​ใน​แง่​ลบ​ต่อ​คน​ชาติ​นั้น​ทั้ง​ชาติ​หรือ​ต่อ​คน​ใน​กลุ่ม​ชาติ​พันธุ์​นั้น​ทั้ง​หมด. บาง​คน​ปฏิบัติ​ต่อ​เปาโล​อย่าง​เลว​ร้าย แต่​ท่าน​ไม่​ปล่อย​ให้​เรื่อง​นั้น​ทำ​ให้​ท่าน​เลิก​ประกาศ​แก่​ผู้​คน​ที่​มี​พื้นเพ​แบบ​คน​เหล่า​นั้น. (กิจ. 14:5-7, 19-22) ท่าน​เชื่อ​มั่น​ว่า​จะ​มี​บาง​คน​ตอบรับ​ข่าวสาร​ด้วย​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า.

21. การ​มี​ทัศนะ​ต่อ​ผู้​อื่น​แบบ​เดียว​กับ​พระ​ยะโฮวา​จะ​ช่วย​คุณ​อย่าง​ไร?

21 เป็น​เรื่อง​ที่​เห็น​ได้​ชัด​กว่า​แต่​ก่อน​ว่า​จำเป็น​ต้อง​มี​ทัศนะ​ที่​ถูก​ต้อง—ทัศนะ​แบบ​เดียว​กับ​พระ​ยะโฮวา—ใน​การ​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​พี่​น้อง​ใน​ท้องถิ่น, พี่​น้อง​จาก​ชาติ​ต่าง ๆ, และ​ประชาชน​ที่​อยู่​ใน​เขต​ทำ​งาน. ยิ่ง​เรา​สะท้อน​ทัศนะ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ได้​มาก​เท่า​ไร เรา​ก็​จะ​ยิ่ง​เป็น​แรง​จูง​ใจ​ให้​มี​สันติ​สุข​และ​เอกภาพ​มาก​เท่า​นั้น. และ​เรา​จะ​มี​ความ​สามารถ​มาก​ขึ้น​ใน​การ​ช่วย​คน​อื่น​ให้​รัก​พระ​ยะโฮวา พระเจ้า​ผู้ “ไม่​ทรง​แสดง​อคติ” แต่​ทรง​ใฝ่​พระทัย​ทุก​คน​ด้วย​ความ​รัก “เพราะ​คน​ทั้ง​หมด​นี้​เป็น​พระ​หัตถกิจ​ของ​พระองค์.”—โยบ 34:19, ฉบับ​แปล​ใหม่.

คุณ​ตอบ​ได้​ไหม?

• เรา​ไม่​ควร​มี​ทัศนะ​เช่น​ไร​ใน​การ​มอง​พี่​น้อง?

• เรา​จะ​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​ได้​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​เรา​มอง​พี่​น้อง?

• คุณ​ได้​บทเรียน​อะไร​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​เรา​ควร​มอง​พี่​น้อง​จาก​ชาติ​ต่าง ๆ?

• เรา​จะ​เลียน​แบบ​ทัศนะ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​การ​มอง​ผู้​คน​ได้​อย่าง​ไร​เมื่อ​เรา​ทำ​งาน​รับใช้?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 26]

คุณ​จะ​ทำ​ความ​รู้​จัก​ผู้​คน​ที่​มา​จาก​วัฒนธรรม​อื่น ๆ ได้​อย่าง​ไร?

[ภาพ​หน้า 28]

คุณ​จะ​เข้า​ถึง​ผู้​คน​ให้​มาก​ขึ้น​เพื่อ​บอก​ข่าว​ดี​แก่​พวก​เขา​ได้​โดย​ใช้​วิธี​ใด​บ้าง?