ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงยินดีในชีวิตสมรส

จงยินดีในชีวิตสมรส

จง​ยินดี​ใน​ชีวิต​สมรส

“โดย​สติ​ปัญญา​ครัว​เรือน​จะ​ได้​รับ​การ​เสริม​สร้าง และ​โดย​การ​สังเกต​เข้าใจ​จะ​ปรากฏ​ว่า​ตั้ง​มั่นคง.”—สุภา. 24:3, ล.ม.

1. พระเจ้า​ทรง​แสดง​พระ​ปัญญา​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​มนุษย์​คน​แรก?

พระ​บิดา​ของ​เรา​ผู้​อยู่​ใน​สวรรค์​ทรง​ทราบ​ว่า​อะไร​ดี​สำหรับ​เรา. ตัว​อย่าง​เช่น พระเจ้า​ทรง​ทราบ​ดี​ว่า​เพื่อ​พระ​ประสงค์​ของ​พระองค์​จะ​สำเร็จ “ไม่​ดี​ที่ [อาดาม] จะ​อยู่​ลำพัง” ใน​สวน​เอเดน. ส่วน​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ของ​พระ​ประสงค์​นั้น​ก็​คือ​การ​ที่​คู่​สมรส​จะ​มี​บุตร​และ “บรรจุ​ให้​เต็ม​แผ่นดิน​โลก.”—เย. 1:28; 2:18, ล.ม.

2. พระ​ยะโฮวา​ทรง​จัด​เตรียม​อะไร​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​มนุษยชาติ?

2 พระ​ยะโฮวา​ตรัส​ว่า “เรา​จะ​สร้าง​ผู้​ช่วย​สำหรับ​เขา เป็น​คู่​เคียง​ของ​เขา.” แล้ว​พระเจ้า​ก็​ทรง​ทำ​ให้​มนุษย์​คน​แรก​หลับ​สนิท ทรง​ชัก​กระดูก​ซี่​โครง​ซี่​หนึ่ง​จาก​ร่าง​กาย​อัน​สมบูรณ์​ของ​เขา​และ​สร้าง​ผู้​หญิง​ขึ้น​จาก​กระดูก​ซี่​นั้น. เมื่อ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​นำ​หญิง​ที่​สมบูรณ์​ผู้​นี้ คือ​ฮาวา มา​มอบ​ให้​อาดาม เขา​กล่าว​ว่า “นี่​เป็น​กระดูก​แท้​และ​เนื้อ​แท้​ของ​เรา จะ​ต้อง​เรียก​ว่า​หญิง, เพราะ​หญิง​นี้​ออก​มา​จาก​ชาย.” ฮาวา​เป็น​คู่​เคียง​ที่​เหมาะ​จริง ๆ สำหรับ​อาดาม. แต่​ละ​คน​จะ​แสดง​คุณลักษณะ​และ​คุณสมบัติ​ที่​แตกต่าง​กัน แต่​ทั้ง​สอง​เป็น​มนุษย์​สมบูรณ์​และ​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ตาม​แบบ​พระเจ้า. โดย​วิธี​นั้น พระ​ยะโฮวา​ทรง​จัด​ให้​มี​การ​สมรส​ครั้ง​แรก. อาดาม​และ​ฮาวา​เต็ม​ใจ​ยอม​รับ​การ​จัด​เตรียม​ดัง​กล่าว​จาก​พระเจ้า​ซึ่ง​ทำ​ให้​ทั้ง​สอง​ช่วยเหลือ​และ​สนับสนุน​กัน​และ​กัน.—เย. 1:27; 2:21-23.

3. หลาย​คน​มอง​การ​สมรส​ซึ่ง​เป็น​ของ​ประทาน​จาก​พระเจ้า​อย่าง​ไร และ​นั่น​ทำ​ให้​เกิด​ปัญหา​อะไร?

3 น่า​เศร้า น้ำใจ​ขืน​อำนาจ​แทรกซึม​ไป​ทั่ว​โลก​ใน​ทุก​วัน​นี้. ปัญหา​ที่​น้ำใจ​นี้​ก่อ​ให้​เกิด​ขึ้น​ไม่​ได้​มา​จาก​พระเจ้า. หลาย​คน​เย้ย​หยัน​การ​สมรส​อัน​เป็น​ของ​ประทาน​จาก​พระเจ้า โดย​ถือ​ว่า​เป็น​เรื่อง​ล้า​สมัย​และ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​วุ่นวาย​ใจ​หรือ​ความ​ขัด​แย้ง. ใน​หมู่​ผู้​คน​มาก​มาย​ที่​สมรส การ​หย่าร้าง​กลาย​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา. เด็ก ๆ อาจ​ไม่​ได้​รับ​ความ​รัก​ตาม​ปกติ​ที่​ควร​ได้​จาก​บิดา​มารดา และ​อาจ​ถูก​ใช้​เป็น​เครื่อง​มือ​ใน​การ​ต่อ​รอง​ของ​แต่​ละ​ฝ่าย. บิดา​มารดา​หลาย​คน​ปฏิเสธ​ที่​จะ​เป็น​ฝ่าย​ยอม​เพื่อ​เห็น​แก่​สันติ​สุข​และ​ความ​ปรองดอง​กัน. (2 ติโม. 3:3) ถ้า​อย่าง​นั้น จะ​รักษา​ความ​ยินดี​ใน​ชีวิต​สมรส​เอา​ไว้​ใน​สมัย​วิกฤติ​นี้​ได้​โดย​วิธี​ใด? การ​พร้อม​จะ​ยินยอม​มี​ส่วน​อย่าง​ไร​ใน​การ​รักษา​ชีวิต​สมรส​ไว้​ไม่​ให้​แตก​หัก? เรา​จะ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​บาง​คน​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​ที่​ได้​รักษา​ความ​ยินดี​ใน​ชีวิต​สมรส?

ยินยอม​ทำ​ตาม​การ​ชี้​นำ​จาก​พระ​ยะโฮวา

4. (ก) เปาโล​ชี้​แนะ​ไว้​เช่น​ไร​เกี่ยว​กับ​การ​สมรส? (ข) คริสเตียน​ที่​เชื่อ​ฟัง​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​ชี้​แนะ​ของ​เปาโล​อย่าง​ไร?

4 คริสเตียน​อัครสาวก​เปาโล​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​ให้​ชี้​แนะ​แก่​หญิง​ม่าย​ว่า​ถ้า​พวก​เธอ​เลือก​จะ​แต่งงาน​ใหม่​ก็​สามารถ​ทำ​ได้ แต่​คน​ที่​จะ​แต่งงาน​ด้วย​ควร “เป็น​ผู้​ที่​เชื่อ​ใน​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า.” (1 โค. 7:39) นี่​ไม่​ใช่​แง่​คิด​ใหม่​สำหรับ​คริสเตียน​ที่​เคย​อยู่​ภาย​ใต้​พระ​บัญญัติ​มา​ก่อน. พระ​บัญญัติ​ที่​พระเจ้า​ประทาน​แก่​ชาติ​อิสราเอล​สั่ง​ไว้​อย่าง​ชัดเจน​ว่า​พวก​เขา​ต้อง​ไม่ ‘ผูก​สัมพันธ์​โดย​การ​แต่งงาน’ กับ​ชาว​นอก​รีต​ที่​อยู่​โดย​รอบ. พระ​ยะโฮวา​ทรง​เสริม​พระ​บัญชา​นั้น​ด้วย​คำ​อธิบาย​ที่​เน้น​ให้​เห็น​อันตราย​ของ​การ​ละเลย​มาตรฐาน​ของ​พระเจ้า​ใน​เรื่อง​นี้. “เพราะ​ว่า [คน​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​อิสราเอล] จะ​ทำ​ให้​บุตร​ชาย​ของ​พวก​เจ้า​หันเห​ไป​จาก​เรา ไป​ปฏิบัติ​พระ​อื่น ๆ พระเจ้า​จะ​ทรง​พระ​พิโรธ​ต่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย และ​จะ​ทรง​ทำลาย​ท่าน​เสีย​โดย​เร็ว.” (บัญ. 7:3, 4, ฉบับ​แปล​ใหม่) พระ​ยะโฮวา​ทรง​คาด​หมาย​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​ให้​ทำ​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​นี้? เห็น​ได้​ชัด​ว่า ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​ควร​เลือก​สมรส​กับ​คน​ที่ “เชื่อ​ใน​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า” กล่าว​คือ สมรส​กับ​เพื่อน​ผู้​นมัสการ​ที่​อุทิศ​ตัว​และ​รับ​บัพติสมา​แล้ว. การ​ยินยอม​ทำ​ตาม​การ​ชี้​นำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​เกี่ยว​กับ​การ​เลือก​คู่​สมรส​เป็น​แนว​ทาง​ที่​ฉลาด​สุขุม.

5. พระ​ยะโฮวา​และ​คริสเตียน​ที่​สมรส​แล้ว​มี​ทัศนะ​อย่าง​ไร​ต่อ​คำ​ปฏิญาณ​การ​สมรส?

5 คำ​ปฏิญาณ​การ​สมรส​ถือ​ว่า​ศักดิ์สิทธิ์​ใน​สาย​พระ​เนตร​พระเจ้า. พระ​เยซู พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า​เอง ทรง​อ้าง​ถึง​การ​สมรส​แรก​เมื่อ​ตรัส​ว่า “ที่​พระเจ้า​ทรง​ผูก​มัด​ไว้​ด้วย​กัน​แล้ว​นั้น​อย่า​ให้​มนุษย์​ทำ​ให้​แยก​จาก​กัน​เลย.” (มัด. 19:6) ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​เตือน​เรา​ให้​ระลึก​ถึง​ความ​จริงจัง​ของ​คำ​ปฏิญาณ​โดย​กล่าว​ว่า “จง​ถวาย​การ​ขอบพระคุณ​เป็น​เครื่อง​บูชา​ของ​ท่าน​แด่​พระเจ้า และ​ทำ​ตาม​คำ​ปฏิญาณ​ของ​ท่าน​แด่​พระ​ผู้​ใหญ่​ยิ่ง​สูง​สุด.” (เพลง. 50:14) แม้​ว่า​คู่​สมรส​สามารถ​มี​ความ​ยินดี​มาก​มาย​ใน​วัน​ข้าง​หน้า แต่​การ​ที่​ทั้ง​สอง​คน​กล่าว​คำ​ปฏิญาณ​ใน​วัน​แต่งงาน​เป็น​เรื่อง​จริงจัง​และ​ทั้ง​คู่​ต้อง​รับผิดชอบ.—บัญ. 23:21.

6. เรา​สามารถ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​ยิฟทาห์?

6 ขอ​พิจารณา​กรณี​ของ​ยิฟทาห์ ซึ่ง​รับใช้​เป็น​ผู้​วินิจฉัย​ใน​อิสราเอล​ใน​ศตวรรษ​ที่ 12 ก่อน​สากล​ศักราช. ท่าน​กล่าว​คำ​ปฏิญาณ​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ว่า “ถ้า​พระองค์​จะ​ทรง​มอบ​ชาว​เมือง​อัมโมน​ไว้​ใน​มือ​ข้าพเจ้า​จริง, เมื่อ​ข้าพเจ้า​มี​ชัย​ชนะ​ชาว​เมือง​อัมโมน​มา​แล้ว สิ่ง​ใด ๆ ออก​มา​ต้อนรับ​ข้าพเจ้า​จาก​ประตู​บ้าน, สิ่ง​นั้น​ข้าพเจ้า​จะ​เผา​เป็น​เครื่อง​บูชา​ถวาย​พระ​ยะโฮวา.” เมื่อ​เห็น​ว่า​คน​ที่​ออก​มา​พบ​ท่าน​เมื่อ​กลับ​ถึง​บ้าน​ใน​เมือง​มิซพาห์​ได้​แก่​บุตร​สาว​คน​เดียว​ของ​ท่าน ยิฟทาห์​หา​ทาง​เลี่ยง​เพื่อ​จะ​ไม่​ต้อง​ทำ​ตาม​คำ​ปฏิญาณ​ไหม? ไม่. ท่าน​กล่าว​ว่า “เรา​ออก​ปาก​ทูล​พระ​ยะโฮวา​แล้ว, จะ​กลับ​คำ​ไม่​ได้.” (วินิจ. 11:30, 31, 35) ยิฟทาห์​รักษา​คำ​สัญญา​ที่​ให้​ไว้​กับ​พระ​ยะโฮวา แม้​นั่น​หมาย​ความ​ว่า​ท่าน​จะ​ไม่​มี​ลูก​หลาน​สืบ​ตระกูล. คำ​ปฏิญาณ​ของ​ยิฟทาห์​ไม่​เหมือน​กับ​คำ​ปฏิญาณ​การ​สมรส แต่​การ​ที่​ท่าน​รักษา​คำ​ปฏิญาณ​นับ​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​สำหรับ​สามี​ภรรยา​คริสเตียน​ที่​จะ​รักษา​คำ​ปฏิญาณ​การ​สมรส​ของ​ตน.

การ​สมรส​ที่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ต้อง​อาศัย​อะไร?

7. คู่​สมรส​ใหม่​จำเป็น​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน​อะไร​บ้าง?

7 คู่​สมรส​หลาย​คู่​นึก​ย้อน​ไป​ถึง​ตอน​ที่​เขา​ติด​ต่อ​ฝาก​รัก​กัน​ด้วย​ความ​รักใคร่​หวาน​ชื่น. เป็น​เรื่อง​น่า​ยินดี​จริง ๆ ที่​ได้​ทำ​ความ​รู้​จัก​กับ​คน​ที่​จะ​มา​เป็น​คู่​ของ​ตน! ยิ่ง​ใช้​เวลา​ด้วย​กัน​มาก​เท่า​ไร ทั้ง​สอง​ก็​ยิ่ง​ใกล้​ชิด​กัน​มาก​เท่า​นั้น. แต่​ไม่​ว่า​เขา​แต่งงาน​กัน​หลัง​จาก​ได้​ติด​ต่อ​ฝาก​รัก​กัน​มา​หรือ​แต่งงาน​กัน​โดย​ผู้​ใหญ่​จัด​การ​ให้ เมื่อ​ใน​ที่​สุด​ทั้ง​สอง​เป็น​สามี​ภรรยา​กัน​แล้ว​ก็​จำเป็น​อย่าง​ยิ่ง​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน. สามี​คน​หนึ่ง​ยอม​รับ​ว่า “ปัญหา​ใหญ่​ที่​เรา​มี​ตอน​แต่งงาน​กัน​ใหม่ ๆ ก็​คือ​เรา​มัก​ลืม​ว่า​ตอน​นี้​เรา​ไม่​ได้​เป็น​คน​โสด​อีก​แล้ว. มี​อยู่​พัก​หนึ่ง​ที่​เรา​พบ​ว่า​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​มี​ความ​สมดุล​ใน​การ​รักษา​สาย​สัมพันธ์​กับ​เพื่อน​และ​กับ​ญาติ ๆ.” สามี​อีก​คน​หนึ่ง ซึ่ง​แต่งงาน​มา 30 ปี​แล้ว ตระหนัก​ตั้ง​แต่​ช่วง​แรก ๆ ที่​แต่งงาน​ว่า​เพื่อ​จะ​รักษา​ความ​สมดุล เขา​ต้อง “คิด​สำหรับ​สอง​คน.” ก่อน​จะ​ตอบรับ​คำ​เชิญ​หรือ​ตก​ปาก​รับ​คำ​ทำ​อะไร เขา​ปรึกษา​กับ​ภรรยา​ก่อน​แล้ว​ค่อย​ตัดสิน​ใจ โดย​คำนึง​ถึง​ผล​ประโยชน์​ร่วม​กัน​ของ​เขา​ทั้ง​สอง. ใน​สถานการณ์​อย่าง​นั้น การ​เป็น​คน​พร้อม​จะ​ยินยอม​นับ​ว่า​เป็น​ประโยชน์.—สุภา. 13:10.

8, 9. (ก) เหตุ​ใด​การ​สื่อ​ความ​ที่​ดี​จึง​เป็น​เรื่อง​สำคัญ? (ข) การ​รู้​จัก​ยืดหยุ่น​ใน​เรื่อง​ใด​นับ​ว่า​เป็น​ประโยชน์ และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

8 บาง​ครั้ง การ​แต่งงาน​หลอม​รวม​สอง​บุคคล​ที่​มา​จาก​ภูมิหลัง​ทาง​วัฒนธรรม​ที่​ต่าง​กัน. โดย​เฉพาะ​ใน​กรณี​อย่าง​นี้ จำเป็น​ต้อง​สื่อ​ความ​กัน​อย่าง​เปิด​เผย. แต่​ละ​คน​มี​วิธี​สื่อ​ความ​แตกต่าง​กัน. การ​สังเกต​ว่า​คู่​สมรส​พูด​คุย​กับ​ญาติ ๆ อย่าง​ไร​อาจ​ช่วย​คุณ​ได้​ให้​เข้าใจ​คู่​ของ​คุณ​ดี​ขึ้น. บาง​ครั้ง​สิ่ง​ที่​เผย​ให้​รู้​ว่า​ลึก ๆ แล้ว​ใคร​คน​หนึ่ง​คิด​อย่าง​ไร​อาจ​ไม่​ใช่​สิ่ง​ที่​เขา​พูด แต่​เป็น​วิธี​พูด. และ​อาจ​มี​เรื่อง​ให้​เรียน​รู้​ได้​มาก​มาย​นอก​เหนือ​จาก​คำ​พูด. (สุภา. 16:24; โกโล. 4:6) การ​สังเกต​เข้าใจ​นับ​ว่า​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​เพื่อ​จะ​ช่วย​ให้​ครอบครัว​มี​ความ​สุข.—อ่าน​สุภาษิต 24:3.

9 ใน​เรื่อง​การ​เลือก​งาน​อดิเรก​และ​นันทนาการ หลาย​คน​พบ​ว่า​การ​รู้​จัก​ยืดหยุ่น​เป็น​เรื่อง​สำคัญ. ก่อน​แต่งงาน คู่​ของ​คุณ​อาจ​ชอบ​เล่น​กีฬา​หรือ​ทำ​กิจกรรม​อื่น ๆ เพื่อ​พักผ่อน​หย่อนใจ. เหมาะ​ไหม​ใน​ตอน​นี้​ที่​จะ​ปรับ​เปลี่ยน​บาง​สิ่ง​บาง​อย่าง? (1 ติโม. 4:8) อาจ​กล่าว​ได้​อย่าง​เดียว​กัน​ใน​เรื่อง​การ​ใช้​เวลา​กับ​ญาติ ๆ. เป็น​เรื่อง​ที่​ควร​คาด​หมาย​อยู่​แล้ว​ว่า​คู่​สมรส​จำเป็น​ต้อง​กัน​เวลา​ไว้​เพื่อ​จะ​สามารถ​ทำ​กิจกรรม​ต่าง ๆ ฝ่าย​วิญญาณ​และ​กิจกรรม​อื่น ๆ ด้วย​กัน.—มัด. 6:33.

10. น้ำใจ​ยินยอม​จะ​ช่วย​ส่ง​เสริม​อย่าง​ไร​ให้​บิดา​มารดา​กับ​บุตร​ที่​สมรส​แล้ว​มี​ความ​สัมพันธ์​ที่​ดี?

10 เมื่อ​ผู้​ชาย​แต่งงาน เขา​ก็​จะ​จาก​บิดา​มารดา​ไป และ​อาจ​กล่าว​ได้​คล้าย ๆ กัน​ใน​กรณี​ของ​ผู้​หญิง. (อ่าน​เยเนซิศ 2:24.) ถึง​กระนั้น พระ​บัญชา​ของ​พระเจ้า​ที่​ให้​นับถือ​บิดา​มารดา​นั้น​ไม่​มี​การ​จำกัด​เวลา. ดัง​นั้น แม้​แต่​เมื่อ​แต่งงาน​ไป​แล้ว ทั้ง​สอง​ก็​คง​จะ​ไป​มา​หา​สู่​บิดา​มารดา​และ​พี่ ๆ น้อง ๆ บ้าง. สามี​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​แต่งงาน​มา 25 ปี​แล้ว​กล่าว​ว่า “บาง​ครั้ง เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​สนอง​ความ​ต้องการ​ของ​คู่​สมรส และ​ขณะ​เดียว​กัน​ก็​สนอง​ความ​ต้องการ​ของ​พ่อ​แม่​และ​พี่​น้อง​ของ​ตัว​เอง และ​ญาติ​ของ​คู่​สมรส. ผม​พบ​ว่า​เยเนซิศ 2:24 ช่วย​ให้​ตัดสิน​ใจ​ได้​ว่า​ทำ​อย่าง​ไร​จึง​จะ​ดี​ที่​สุด. คน​เรา​มี​พันธะ​ต้อง​ภักดี​และ​รับผิดชอบ​ต่อ​สมาชิก​คน​อื่น ๆ ของ​ครอบครัว แต่​พระ​คัมภีร์​ข้อ​นี้​แสดง​ให้​ผม​เห็น​ว่า​การ​ภักดี​ต่อ​คู่​สมรส​ต้อง​มา​ก่อน.” ด้วย​เหตุ​นั้น บิดา​มารดา​คริสเตียน​ที่​พร้อม​จะ​ยินยอม​ต้อง​ไม่​ลืม​ว่า​บุตร​ที่​สมรส​แล้ว​ได้​แยก​ไป​อยู่​ใน​อีก​ครอบครัว​หนึ่ง​ที่​สามี​เป็น​ผู้​มี​ความ​รับผิดชอบ​หลัก​ใน​การ​นำ​ครอบครัว.

11, 12. เหตุ​ใด​การ​ศึกษา​ใน​ครอบครัว​และ​การ​อธิษฐาน​ด้วย​กัน​จึง​สำคัญ​สำหรับ​คู่​สมรส?

11 การ​ศึกษา​ใน​ครอบครัว​เป็น​ประจำ​นับ​ว่า​สำคัญ​มาก. ประสบการณ์​ของ​ครอบครัว​คริสเตียน​หลาย​ครอบครัว​ยืน​ยัน​ความ​จริง​ดัง​กล่าว. อาจ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​ที่​จะ​จัด​ให้​มี​การ​ศึกษา​แบบ​นี้​หรือ​ทำ​อย่าง​ต่อ​เนื่อง. หัวหน้า​ครอบครัว​คน​หนึ่ง​ยอม​รับ​ว่า “ถ้า​ย้อน​เวลา​กลับ​ไป​ได้ ผม​อยาก​กลับ​ไป​เพื่อ​จะ​นำ​การ​ศึกษา​ใน​ครอบครัว​เป็น​ประจำ​ตั้ง​แต่​แรก​ที่​แต่งงาน.” เขา​ยัง​กล่าว​อีก​ว่า “นับ​เป็น​ของ​ประทาน​อัน​วิเศษ​สุด​ที่​ได้​เห็น​ความ​ยินดี​ของ​ภรรยา​เมื่อ​เธอ​ถูก​กระตุ้น​ใจ​จาก​ความ​รู้​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​น่า​สนใจ​ซึ่ง​เรา​พบ​ใน​การ​ศึกษา​ด้วย​กัน.”

12 การ​อธิษฐาน​ด้วย​กัน​เป็น​อีก​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​ช่วย​ได้​เป็น​อย่าง​ดี. (โรม 12:12) เมื่อ​สามี​ภรรยา​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​ใน​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา สาย​สัมพันธ์​อัน​ใกล้​ชิด​กับ​พระเจ้า​สามารถ​เสริม​ความ​ผูก​พัน​ใน​ชีวิต​สมรส​ให้​แน่นแฟ้น​ยิ่ง​ขึ้น. (ยโก. 4:8) สามี​คริสเตียน​คน​หนึ่ง​อธิบาย​ว่า “การ​รีบ​ขอ​โทษ​เมื่อ​ทำ​อะไร​ผิด​พลาด​และ​การ​กล่าว​ถึง​ความ​ผิด​พลาด​นั้น​เมื่อ​อธิษฐาน​ด้วย​กัน​เป็น​แนว​ทาง​หนึ่ง​ที่​จะ​แสดง​ความ​เสียใจ​จาก​ใจ​จริง แม้​แต่​ใน​เรื่อง​เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่​ทำ​ให้​คู่​สมรส​ขุ่นเคือง.”—เอเฟ. 6:18.

จง​พร้อม​จะ​ยินยอม​ใน​ชีวิต​สมรส

13. เปาโล​ให้​คำ​แนะ​นำ​อะไร​ใน​เรื่อง​เพศ​สัมพันธ์​ใน​ชีวิต​สมรส?

13 คริสเตียน​ที่​สมรส​แล้ว​ต้อง​หลีก​เลี่ยง​กิจ​ปฏิบัติ​ที่​ทำ​ให้​สาย​สัมพันธ์​ใน​ชีวิต​สมรส​เสื่อม​ลง แบบ​ที่​ทำ​กัน​ทั่ว​ไป​ใน​โลก​ทุก​วัน​นี้​ที่​คลั่งไคล้​ใน​เรื่อง​เพศ. เปาโล​ให้​คำ​แนะ​นำ​ใน​เรื่อง​นี้​ว่า “สามี​พึง​ให้​แก่​ภรรยา​ตาม​ที่​นาง​ควร​ได้​รับ และ​ภรรยา​ก็​พึง​ให้​แก่​สามี​ตาม​ที่​เขา​ควร​ได้​รับ. ภรรยา​ไม่​มี​สิทธิ์​ใน​กาย​ของ​ตน แต่​สามี​มี​สิทธิ์​ใน​กาย​ภรรยา เช่น​เดียว​กัน สามี​ไม่​มี​สิทธิ์​ใน​กาย​ของ​ตน แต่​ภรรยา​มี​สิทธิ์​ใน​กาย​สามี.” แล้ว​เปาโล​ก็​ให้​คำ​ชี้​แนะ​ที่​ชัดเจน​ดัง​นี้: “อย่า​ให้​ฝ่าย​ใด​ฝ่าย​หนึ่ง​ไม่​ได้​รับ​ตาม​สิทธิ์​ของ​ตน นอก​เสีย​จาก​ว่า​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​ตก​ลง​ให้​เป็น​เช่น​นั้น​ระยะ​หนึ่ง.” เพราะ​เหตุ​ใด? “เพื่อ​พวก​ท่าน​จะ​อุทิศ​เวลา​ให้​แก่​การ​อธิษฐาน​แล้ว​จึง​มา​อยู่​ด้วย​กัน​อีก จะ​ได้​ไม่​ถูก​ซาตาน​ล่อ​ใจ​เนื่อง​จาก​พวก​ท่าน​ขาด​การ​ควบคุม​ตน​เอง.” (1 โค. 7:3-5) การ​ที่​เปาโล​กล่าว​ถึง​การ​อธิษฐาน​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ​มี​ความ​สำคัญ​เป็น​อันดับ​แรก​ใน​ชีวิต​ของ​คริสเตียน. แต่​ท่าน​ยัง​แสดง​ชัดเจน​ด้วย​ว่า​คริสเตียน​ที่​สมรส​แล้ว​แต่​ละ​คน​ควร​ไว​ต่อ​ความ​ต้องการ​ด้าน​ร่าง​กาย​และ​อารมณ์​ของ​คู่​สมรส.

14. อาจ​ใช้​หลักการ​พระ​คัมภีร์​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​เพศ​สัมพันธ์​ใน​ชีวิต​สมรส?

14 สามี​และ​ภรรยา​ต้อง​พูด​กัน​อย่าง​เปิด​เผย​และ​ตระหนัก​ว่า​การ​ขาด​ความ​อ่อนโยน​ใน​เรื่อง​เพศ​สัมพันธ์​อาจ​ก่อ​ให้​เกิด​ปัญหา​ได้. (อ่าน​ฟิลิปปอย 2:3, 4; เทียบ​กับ​มัดธาย 7:12.) ปรากฏ​ว่า​เป็น​อย่าง​นี้​จริง​ใน​บาง​ครอบครัว​ที่​สามี​หรือ​ภรรยา​ไม่​อยู่​ใน​ความ​จริง. แม้​ว่า​ไม่​เห็น​พ้อง​ต้อง​กัน​ใน​บาง​เรื่อง แต่​คริสเตียน​สามารถ​ทำ​ให้​สถานการณ์​ดี​ขึ้น​ได้​ด้วย​ความ​ประพฤติ​ที่​ดี, ความ​กรุณา, และ​การ​ให้​ความ​ร่วม​มือ. (อ่าน 1 เปโตร 3:1, 2.) ความ​รัก​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​และ​ต่อ​คู่​สมรส รวม​ทั้ง​น้ำใจ​พร้อม​จะ​ยินยอม จะ​ช่วย​ให้​ความ​สัมพันธ์​ใน​แง่​นี้​ของ​ชีวิต​สมรส​ดี​ขึ้น.

15. ความ​นับถือ​และ​การ​ให้​เกียรติ​มี​บทบาท​อย่าง​ไร​ใน​ชีวิต​สมรส​ที่​มี​ความ​สุข?

15 ใน​แง่​อื่น ๆ ก็​เช่น​กัน สามี​ที่​กรุณา​จะ​ปฏิบัติ​ต่อ​ภรรยา​อย่าง​ให้​เกียรติ. ตัว​อย่าง​เช่น เขา​จะ​คำนึง​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​เธอ​แม้​แต่​ใน​เรื่อง​เล็ก ๆ น้อย ๆ. สามี​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​แต่งงาน​มา 47 ปี​แล้ว​ยอม​รับ​ว่า “ผม​ยัง​ต้อง​เรียน​รู้​อยู่​ใน​เรื่อง​นี้.” ภรรยา​คริสเตียน​ได้​รับ​คำ​แนะ​เตือน​ให้​นับถือ​สามี​อย่าง​สุด​ซึ้ง. (เอเฟ. 5:33) การ​พูด​ถึง​สามี​ใน​แง่​ลบ เน้น​ข้อ​ผิด​พลาด​ของ​สามี​ต่อ​หน้า​คน​อื่น ๆ ย่อม​ไม่​ได้​แสดง​ให้​เห็น​ถึง​ความ​นับถือ. สุภาษิต 14:1 เตือน​ใจ​เรา​ว่า “สตรี​ที่​มี​ปัญญา​ทุก​คน​ย่อม​ก่อ​สร้าง​บ้าน​เรือน​ของ​ตน​ขึ้น; แต่​ผู้​ที่​โฉด​เขลา​ย่อม​รื้อ​บ้าน​ลง​ด้วย​มือ​ตน​เอง.”

อย่าง​ยอม​พญา​มาร

16. สามี​ภรรยา​จะ​ใช้​คำ​แนะ​นำ​ที่​เอเฟโซส์ 4:26, 27 ใน​ชีวิต​สมรส​ได้​อย่าง​ไร?

16 “ถ้า​จะ​โกรธ​ก็​โกรธ​เถิด แต่​อย่า​ทำ​บาป อย่า​โกรธ​จน​ถึง​ดวง​อาทิตย์​ตก ทั้ง​อย่า​เปิด​ช่อง​ให้​พญา​มาร.” (เอเฟ. 4:26, 27) การ​นำ​คำ​แนะ​นำ​นี้​ไป​ใช้​อาจ​ช่วย​เรา​ได้​ให้​แก้ไข​หรือ​หลีก​เลี่ยง​ความ​บาดหมาง​ใน​ชีวิต​สมรส. พี่​น้อง​หญิง​คน​หนึ่ง​เล่า​ว่า “ดิฉัน​นึก​ไม่​ออก​ว่า​มี​ครั้ง​ไหน​ที่​ดิฉัน​กับ​สามี​ขัด​เคือง​ใจ​กัน​แล้ว​ไม่​ได้​พูด​คุย​ปรับ​ความ​เข้าใจ​กัน แม้​ว่า​ต้อง​เสีย​เวลา​กัน​เป็น​ชั่วโมง ๆ ก็​ตาม.” ตั้ง​แต่​แรก​ที่​แต่งงาน​กัน เธอ​กับ​สามี​ตก​ลง​กัน​ว่า​จะ​ไม่​ปล่อย​ให้​แต่​ละ​วัน​ผ่าน​ไป​โดย​ไม่​ได้​แก้​ข้อ​ขัด​แย้ง​ที่​เกิด​ขึ้น. “เรา​ตัดสิน​ใจ​กัน​ว่า ไม่​ว่า​จะ​เป็น​ปัญหา​อะไร เรา​จะ​ให้​อภัย​กัน​และ​ลืม​เรื่อง​นั้น​เสีย เพื่อ​จะ​เริ่ม​ต้น​แต่​ละ​วัน​อย่าง​สดชื่น.” โดย​ทำ​อย่าง​นั้น สามี​ภรรยา​คู่​นี้​ไม่ “เปิด​ช่อง​ให้​พญา​มาร.”

17. แม้​แต่​เมื่อ​ดู​เหมือน​ว่า​เข้า​กัน​ไม่​ค่อย​ได้​กับ​คู่​สมรส อะไร​อาจ​ช่วย​ได้?

17 แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​ถ้า​คุณ​แต่งงาน​กับ​คน​ที่​เข้า​กัน​ไม่​ค่อย​ได้? คุณ​อาจ​พบ​ว่า​สาย​สัมพันธ์​ของ​ตัว​เอง​ดู​เหมือน​ไม่​หวาน​ชื่น​เหมือน​กับ​คู่​อื่น. ถึง​กระนั้น การ​จำ​เอา​ไว้​ถึง​ทัศนะ​ของ​พระ​ผู้​สร้าง​ใน​เรื่อง​พันธะ​ของ​การ​สมรส​จะ​ช่วย​คุณ. เปาโล​ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​มา​จาก​การ​ดล​ใจ​แก่​คริสเตียน​ว่า “จง​ให้​การ​สมรส​เป็น​ที่​นับถือ​แก่​คน​ทั้ง​ปวง และ​จง​ให้​เตียง​สมรส​ปราศจาก​มลทิน เพราะ​พระเจ้า​จะ​ทรง​พิพากษา​คน​ผิด​ประเวณี​และ​คน​เล่นชู้.” (ฮีบรู 13:4) และ​อย่า​มอง​ข้าม​ถ้อย​คำ​นี้​ที่​ว่า “เชือก​สาม​เกลียว​จะ​ขาด​ง่าย​ก็​หา​มิ​ได้.” (ผู้ป. 4:12) เมื่อ​ทั้ง​สามี​และ​ภรรยา​เป็น​ห่วง​อย่าง​แท้​จริง​ใน​เรื่อง​การ​ทำ​ให้​พระ​นาม​ยะโฮวา​เป็น​ที่​นับถือ​อัน​บริสุทธิ์ ทั้ง​สอง​ก็​จะ​ผูก​พัน​กัน​และ​ผูก​พัน​กับ​พระเจ้า. สามี​ภรรยา​ควร​ช่วย​กัน​ทำ​ให้​ชีวิต​สมรส​ประสบ​ความ​สำเร็จ โดย​รู้​ว่า​การ​ทำ​อย่าง​นั้น​เป็น​การ​ยกย่อง​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา ผู้​ทรง​ริเริ่ม​การ​สมรส.—1 เป. 3:11.

18. คุณ​สามารถ​แน่​ใจ​ได้​ใน​เรื่อง​ใด​เกี่ยว​กับ​การ​สมรส?

18 เป็น​ไป​ได้​แน่นอน​ที่​คริสเตียน​จะ​มี​ความ​ยินดี​ใน​ชีวิต​สมรส. การ​มี​ความ​ยินดี​อย่าง​นั้น​ต้อง​อาศัย​ความ​พยายาม​และ​ต้อง​แสดง​คุณลักษณะ​แบบ​คริสเตียน ซึ่ง​ประการ​หนึ่ง​คือ​การ​เป็น​คน​พร้อม​จะ​ยินยอม. ปัจจุบัน ใน​ประชาคม​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทั่ว​โลก มี​คู่​สมร​สนับ​ไม่​ถ้วน​ที่​พิสูจน์​ว่า​เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​ยินดี​ใน​ชีวิต​สมรส.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• เหตุ​ใด​การ​มี​ความ​ยินดี​ใน​ชีวิต​สมรส​เป็น​เรื่อง​ที่​เป็น​ไป​ได้?

• อะไร​สามารถ​ช่วย​ชีวิต​สมรส​ให้​ประสบ​ความ​สำเร็จ?

• คู่​สมรส​จำเป็น​ต้อง​พัฒนา​คุณลักษณะ​อะไร?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 9]

คู่​สมรส​ควร​พูด​คุย​กัน​ก่อน​ตอบรับ​คำ​เชิญ​หรือ​นัด​หมาย​กับ​ผู้​อื่น

[ภาพ​หน้า 10]

พยายาม​จัด​การ​กับ​ข้อ​ขัด​แย้ง​โดย​ไม่​ปล่อย​ไว้​ข้าม​วัน เพื่อ​จะ​ไม่ “เปิด​ช่อง​ให้​พญา​มาร”