ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงยินยอมและสมดุล

จงยินยอมและสมดุล

จง​ยินยอม​และ​สมดุล

“จง​เตือน​พวก​เขา​ต่อ ๆ ไป . . . ให้​ยินยอม.”—ทิทุส 3:1, 2, เชิงอรรถ​ฉบับ​มี​ข้อ​อ้างอิง.

1, 2. พระ​คัมภีร์​กล่าว​อะไร​เกี่ยว​กับ​การ​ยินยอม และ​เหตุ​ใด​เรื่อง​นี้​จึง​นับ​ว่า​เหมาะ?

พระ​ยะโฮวา พระ​บิดา​ของ​เรา​ใน​สวรรค์​ผู้​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก ทรง​ฉลาด​สุขุม​อย่าง​ยิ่ง. เนื่อง​จาก​พระองค์​ทรง​เป็น​พระ​ผู้​สร้าง เรา​จึง​หมาย​พึ่ง​พระองค์​ให้​ชี้​นำ​ชีวิต​เรา. (เพลง. 48:14) คริสเตียน​สาวก​ยาโกโบ​บอก​เรา​ว่า “สติ​ปัญญา​จาก​เบื้อง​บน​นั้น ประการ​แรก บริสุทธิ์ แล้ว​ก็​ทำ​ให้​มี​สันติ มี​เหตุ​ผล [“ยินยอม,” เชิงอรรถ​ฉบับ​มี​ข้อ​อ้างอิง] พร้อม​จะ​เชื่อ​ฟัง เปี่ยม​ด้วย​ความ​เมตตา​และ​ผล​อัน​ดี ไม่​ลำเอียง ไม่​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด.”—ยโก. 3:17.

2 อัครสาวก​เปาโล​ให้​คำ​แนะ​นำ​ว่า “ให้​คน​ทั้ง​ปวง​เห็น​ว่า​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​คน​มี​เหตุ​ผล [“ยินยอม,” ฉบับ​แปล​คิงดอม อินเตอร์ลิเนียร์].” * (ฟิลิป. 4:5) พระ​คริสต์​เยซู​ทรง​เป็น​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​และ​ประมุข​ของ​ประชาคม​คริสเตียน. (เอเฟ. 5:23) นับ​ว่า​สำคัญ​จริง ๆ ที่​เรา​แต่​ละ​คน​จะ​ปฏิบัติ​อย่าง​มี​เหตุ​ผล โดย​ยอม​ทำ​ตาม​การ​ชี้​นำ​ของ​พระ​คริสต์​และ​ยินยอม​เมื่อ​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คน​อื่น ๆ!

3, 4. (ก) จง​ยก​ตัว​อย่าง​ที่​แสดง​ว่า​เป็น​ประโยชน์​เมื่อ​เรา​ยินยอม. (ข) เรา​จะ​พิจารณา​อะไร?

3 เรา​ได้​ประโยชน์​เมื่อ​เรา​เต็ม​ใจ​จะ​ยินยอม​อย่าง​สมดุล. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง: หลัง​จาก​ที่​ตรวจ​พบ​แผน​ก่อ​การ​ร้าย​ที่​บริเตน ผู้​โดยสาร​ส่วน​ใหญ่​ที่​เดิน​ทาง​โดย​เครื่องบิน​ดู​เหมือน​ว่า​ยินดี​ปฏิบัติ​ตาม​กฎ​ที่​ห้าม​นำ​สิ่ง​ของ​บาง​อย่าง​ขึ้น​เครื่อง​ซึ่ง​เมื่อ​ก่อน​ไม่​ได้​ห้าม. เมื่อ​ขับ​รถยนต์ เรา​เห็น​ว่า​มี​บาง​กรณี​เรา​จำเป็น​ต้อง​ยอม​ให้​รถ​คัน​อื่น​ไป​ก่อน เช่น ใน​กรณี​ที่​รถ​วิ่ง​มา​ถึง​วงเวียน เพื่อ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​ทุก​คน​จะ​ปลอด​ภัย​และ​การ​จราจร​จะ​ไม่​ติด​ขัด.

4 สำหรับ​หลาย​คน​แล้ว ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​ที่​จะ​ยินยอม. เพื่อ​ช่วย​เรา​ให้​พร้อม​จะ​ยินยอม ให้​เรา​พิจารณา​สาม​แง่​มุม​ของ​การ​ยินยอม กล่าว​คือ เหตุ​ผล​ที่​เรา​ยินยอม, เจตคติ​ของ​เรา​ต่อ​ผู้​มี​อำนาจ, และ​เรา​ควร​ยินยอม​ถึง​ขนาด​ไหน.

ทำไม​ต้อง​ยินยอม?

5. ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ อะไร​อาจ​กระตุ้น​ทาส​ให้​เลือก​อยู่​กับ​นาย​ต่อ​ไป?

5 ตัว​อย่าง​หนึ่ง​จาก​ยุค​ก่อน​คริสเตียน​เน้น​ให้​เห็น​ชัด​เกี่ยว​กับ​แรง​จูง​ใจ​ที่​ถูก​ต้อง​ใน​การ​ยินยอม. ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ ชาว​ฮีบรู​ที่​เป็น​ทาส​จะ​ต้อง​ถูก​ปล่อย​ตัว​ให้​เป็น​อิสระ​ใน​ปี​ที่​เจ็ด​ของ​การ​เป็น​ทาส​หรือ​ใน​ปี​จูบิลี ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​อย่าง​ไหน​มา​ถึง​ก่อน. แต่​ทาส​จะ​เลือก​เป็น​ทาส​ต่อ​ไป​ก็​ได้. (อ่าน​เอ็กโซโด 21:5, 6.) อะไร​อาจ​กระตุ้น​ทาส​ให้​ทำ​อย่าง​นี้? ความ​รัก​นั่น​เอง​ที่​กระตุ้น​ทาส​ให้​คง​สถานภาพ​เดิม​ของ​ตน​เอา​ไว้ และ​อยู่​ใต้​อำนาจ​ของ​นาย​ที่​เป็น​คน​มี​น้ำใจ​ต่อ​ไป.

6. ความ​รัก​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​ไร​กับ​การ​ที่​เรา​เป็น​คน​ยินยอม?

6 ใน​ทำนอง​เดียว​กัน ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​กระตุ้น​เรา​ให้​อุทิศ​ชีวิต​แด่​พระองค์​และ​ดำเนิน​ชีวิต​สม​กับ​ที่​ได้​อุทิศ​ตัว. (โรม 14:7, 8) อัครสาวก​โยฮัน​เขียน​ว่า “การ​รัก​พระเจ้า​หมาย​ถึง​การ​ทำ​ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​พระองค์ และ​พระ​บัญญัติ​ของ​พระองค์​ไม่​เป็น​ภาระ​หนัก.” (1 โย. 5:3) ความ​รัก​ดัง​กล่าว​ไม่​เห็น​แก่​ประโยชน์​ส่วน​ตัว. (1 โค. 13:4, 5) เมื่อ​เรา​ติด​ต่อ​กับ​คน​อื่น ๆ ความ​รัก​ต่อ​เพื่อน​บ้าน​ทำ​ให้​เรา​ยินยอม​และ​คำนึง​ถึง​ผล​ประโยชน์​ของ​เขา​ก่อน. แทน​ที่​จะ​ยอม​ให้​ความ​เห็น​แก่​ตัว​ครอบ​งำ เรา​คิด​ถึง​ผล​ประโยชน์​ของ​คน​อื่น ๆ.—ฟิลิป. 2:2, 3.

7. การ​พร้อม​จะ​ยินยอม​มี​ส่วน​อย่าง​ไร​ใน​งาน​รับใช้​ของ​เรา?

7 เรา​ไม่​ควร​ทำ​ให้​คน​อื่น​ขุ่นเคือง​เพราะ​คำ​พูด​หรือ​การ​กระทำ​ของ​เรา. (เอเฟ. 4:29) ที่​จริง ความ​รัก​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​หลีก​เลี่ยง​การ​ทำ​สิ่ง​ใด​ก็​ตาม​ที่​อาจ​หน่วง​เหนี่ยว​ผู้​คน​ซึ่ง​มา​จาก​ภูมิหลัง​และ​วัฒนธรรม​ต่าง​กัน​จน​ทำ​ให้​พวก​เขา​ไม่​ก้าว​หน้า​ถึง​ขั้น​รับใช้​พระ​ยะโฮวา. เรื่อง​นี้​มัก​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ที่​เรา​พร้อม​จะ​ยินยอม. ตัว​อย่าง​เช่น มิชชันนารี​ที่​คุ้น​เคย​กับ​การ​ใช้​เครื่อง​สำอาง​หรือ​การ​ใส่​ถุง​น่อง​ยอม​งด​ใช้​สิ่ง​เหล่า​นี้​ใน​ท้องถิ่น​ที่​การ​แต่ง​ตัว​แบบ​นี้​อาจ​ทำ​ให้​ผู้​คน​คิด​ว่า​เป็น​ผู้​หญิง​ที่​ผิด​ศีลธรรม​และ​ทำ​ให้​คน​อื่น​ไม่​สบาย​ใจ.—1 โค. 10:31-33.

8. ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​สามารถ​ช่วย​เรา​ได้​อย่าง​ไร​ให้​ประพฤติ​ตัว​เป็น “ผู้​เล็ก​น้อย”?

8 ความ​รัก​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ช่วย​เรา​เอา​ชนะ​ความ​หยิ่ง. หลัง​จาก​เกิด​การ​โต้​เถียง​กัน​ใน​หมู่​สาวก​ว่า​ใคร​เป็น​ใหญ่ พระ​เยซู​ทรง​พา​เด็ก​คน​หนึ่ง​มา​ยืน​อยู่​ท่ามกลาง​พวก​เขา. พระองค์​ทรง​อธิบาย​ว่า “ผู้​ใด​รับ​เด็ก​เล็ก ๆ คน​นี้​ใน​นาม​ของ​เรา​ก็​รับ​เรา​ด้วย และ​ผู้​ใด​ที่​รับ​เรา​ก็​รับ​พระองค์​ผู้​ทรง​ใช้​เรา​มา​ด้วย. ด้วย​ว่า​ผู้​ใด​ที่​ประพฤติ​ตัว​เป็น​ผู้​เล็ก​น้อย​ท่ามกลาง​พวก​เจ้า​ทุก​คน ผู้​นั้น​จะ​เป็น​ใหญ่.” (ลูกา 9:48; มโก. 9:36) เรา​เอง​ก็​อาจ​รู้สึก​ว่า​เป็น​เรื่อง​ท้าทาย​จริง ๆ ที่​จะ​ประพฤติ​ตัว​เป็น “ผู้​เล็ก​น้อย.” ความ​ไม่​สมบูรณ์​และ​แนว​โน้ม​จะ​เป็น​คน​หยิ่ง​ที่​ได้​รับ​ตก​ทอด​มา​อาจ​กระตุ้น​เรา​ให้​แสวง​หา​ความ​เด่น​ดัง แต่​ความ​ถ่อม​จะ​ช่วย​เรา​ให้​พร้อม​จะ​ยินยอม.—โรม 12:10.

9. เพื่อ​จะ​ยินยอม เรา​ต้อง​ยอม​รับ​อะไร?

9 เพื่อ​จะ​ยินยอม เรา​ต้อง​ยอม​รับ​อำนาจ​ที่​พระเจ้า​ทรง​ตั้ง​ไว้. คริสเตียน​แท้​ทุก​คน​ยอม​รับ​หลักการ​สำคัญ​เรื่อง​ความ​เป็น​ประมุข. อัครสาวก​เปาโล​ชี้​ให้​ชาว​โครินท์​เห็น​จุด​นี้​อย่าง​ชัดเจน​ว่า “ข้าพเจ้า​ต้องการ​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​รู้​ว่า พระ​คริสต์​ทรง​เป็น​ประมุข​ของ​ผู้​ชาย​ทุก​คน ผู้​ชาย​เป็น​ประมุข​ของ​ผู้​หญิง และ​พระเจ้า​ทรง​เป็น​ประมุข​ของ​พระ​คริสต์.”—1 โค. 11:3.

10. การ​ยอม​รับ​อำนาจ​ของ​พระ​ยะโฮวา​แสดง​ถึง​อะไร?

10 การ​ยอม​รับ​อำนาจ​ของ​พระเจ้า​แสดง​ว่า​เรา​ไว้​วางใจ​และ​เชื่อ​มั่น​พระองค์​ใน​ฐานะ​ที่​ทรง​เป็น​พระ​บิดา​ที่​รัก. พระองค์​ทรง​ทราบ​ทุก​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​และ​สามารถ​ประทาน​รางวัล​แก่​เรา​สำหรับ​สิ่ง​ที่​เรา​ทำ. นับ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​ที่​จะ​จำ​ข้อ​เท็จ​จริง​นี้​ไว้​เมื่อ​คน​อื่น​ไม่​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​เรา​หรือ​โกรธ​และ​อารมณ์​เสีย. เปาโล​เขียน​ว่า “ถ้า​เป็น​ได้ จง​พยายาม​สุด​ความ​สามารถ​เพื่อ​จะ​อยู่​อย่าง​สันติ​กับ​คน​ทั้ง​ปวง.” เปาโล​เน้น​คำ​แนะ​นำ​นั้น​ด้วย​การ​กระตุ้น​ดัง​นี้: “พี่​น้อง​ที่​รัก อย่า​แก้แค้น​เสีย​เอง แต่​ให้​พระเจ้า​เป็น​ผู้​สำแดง​พระ​พิโรธ เพราะ​มี​คำ​เขียน​ไว้​ดัง​นี้ ‘พระ​ยะโฮวา​ตรัส​ว่า การ​แก้แค้น​เป็น​ธุระ​ของ​เรา เรา​จะ​ตอบ​แทน.’ ”—โรม 12:18, 19.

11. เรา​จะ​แสดง​ได้​โดย​วิธี​ใด​ว่า​เรา​ยอม​อ่อนน้อม​ต่อ​ตำแหน่ง​ประมุข​ของ​พระ​คริสต์?

11 เรา​ต้อง​นับถือ​ผู้​มี​อำนาจ​ที่​พระเจ้า​ทรง​ตั้ง​ไว้​ใน​ประชาคม​คริสเตียน​ด้วย. วิวรณ์​บท 1 พรรณนา​ว่า​มี “ดาว” ของ​ประชาคม​อยู่​ใน​พระ​หัตถ์​ขวา​ของ​พระ​คริสต์​เยซู. (วิ. 1:16, 20) ใน​ความ​หมาย​โดย​ทั่ว​ไป “ดาว” เหล่า​นี้​หมาย​ถึง​คณะ​ผู้​ปกครอง​หรือ​ผู้​ดู​แล​ใน​ประชาคม. ผู้​ดู​แล​เหล่า​นี้​ที่​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​ยอม​อยู่​ใต้​การ​นำ​ของ​พระ​คริสต์​และ​เลียน​แบบ​วิธี​ที่​พระองค์​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​อย่าง​กรุณา. ทุก​คน​ใน​ประชาคม​ยอม​รับ​การ​จัด​เตรียม​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ตั้ง “ทาส​สัตย์​ซื่อ​และ​สุขุม” ไว้​ให้​แจก​จ่าย​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ​ใน​เวลา​อัน​เหมาะ. (มัด. 24:45-47) ใน​ทุก​วัน​นี้ การ​ที่​เรา​เต็ม​ใจ​ศึกษา​และ​ใช้​ความ​รู้​ที่​ทาส​สัตย์​ซื่อ​จัด​ให้​แสดง​ว่า​เรา​เอง​ยอม​อ่อนน้อม​ต่อ​ตำแหน่ง​ประมุข​ของ​พระ​คริสต์ ซึ่ง​ส่ง​เสริม​ให้​มี​สันติ​สุข​และ​เอกภาพ.—โรม 14:13, 19.

ยินยอม—ถึง​ขั้น​ไหน?

12. เหตุ​ใด​การ​ยินยอม​จึง​มี​ขอบ​เขต​จำกัด?

12 อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​ยินยอม​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​ให้​เรา​ประนีประนอม​ความ​เชื่อ​ของ​เรา​หรือ​หลักการ​ของ​พระเจ้า. คริสเตียน​ใน​ยุค​แรก​แสดง​ให้​เห็น​จุด​ยืน​ของ​ตน​อย่าง​ไร​เมื่อ​พวก​หัวหน้า​ศาสนา​สั่ง​ให้​เลิก​สอน​ใน​พระ​นาม​พระ​เยซู? เปโตร​และ​อัครสาวก​คน​อื่น ๆ กล่าว​อย่าง​กล้า​หาญ​ว่า “พวก​ข้าพเจ้า​ต้อง​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า​ใน​ฐานะ​ผู้​มี​อำนาจ​ปกครอง ไม่​ใช่​เชื่อ​ฟัง​มนุษย์.” (กิจ. 4:18-20; 5:28, 29) ดัง​นั้น ใน​ทุก​วัน​นี้​เมื่อ​เจ้าหน้าที่​รัฐบาล​พยายาม​บังคับ​เรา​ไม่​ให้​ประกาศ​ข่าว​ดี เรา​ไม่​เลิก​ประกาศ แม้​ว่า​เรา​อาจ​ต้อง​รับมือ​สถานการณ์​อย่าง​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา​ด้วย​การ​ปรับ​เปลี่ยน​วิธี​ประกาศ. หาก​มี​คำ​สั่ง​ห้าม​การ​ประกาศ​ตาม​บ้าน เรา​อาจ​มอง​หา​วิธี​อื่น​ใน​การ​ติด​ต่อ​กับ​เจ้าของ​บ้าน​และ​ทำ​งาน​ที่​พระเจ้า​ทรง​มอบหมาย​แก่​เรา​ต่อ​ไป. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน เมื่อ “ผู้​มี​อำนาจ​ปกครอง” สั่ง​ห้าม​การ​ประชุม เรา​ก็​ประชุม​กัน​อย่าง​ลับ ๆ เป็น​กลุ่ม​เล็ก ๆ.—โรม 13:1; ฮีบรู 10:24, 25.

13. พระ​เยซู​ตรัส​อะไร​เกี่ยว​กับ​การ​ยินยอม​ต่อ​ผู้​มี​อำนาจ?

13 ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา พระ​เยซู​ทรง​ชี้​ถึง​ความ​จำเป็น​ต้อง​ยอม​อยู่​ใต้​อำนาจ​ว่า “ถ้า​คน​หนึ่ง​ต้องการ​พา​เจ้า​ไป​ขึ้น​ศาล​และ​ยึด​เอา​เสื้อ​ตัว​ใน​ของ​เจ้า​ไป จง​ให้​เสื้อ​ตัว​นอก​แก่​เขา​ด้วย และ​ถ้า​ผู้​ใด​เกณฑ์​เจ้า​ให้​ไป​กับ​เขา​หนึ่ง​กิโลเมตร จง​ไป​กับ​เขา​สอง​กิโลเมตร.” (มัด. 5:40, 41) * การ​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น​และ​ความ​ปรารถนา​จะ​ช่วย​พวก​เขา​ยัง​กระตุ้น​เรา​ด้วย​ให้​ทำ​มาก​กว่า​ที่​คน​อื่น​ขอ​ให้​เรา​ทำ.—1 โค. 13:5; ทิทุส 3:1, 2.

14. เหตุ​ใด​เรา​ต้อง​ไม่​ยอม​ให้​แก่​การ​ออก​หาก?

14 อย่าง​ไร​ก็​ตาม แม้​ว่า​ตาม​ปกติ​เรา​พร้อม​จะ​ยินยอม แต่​เรา​ต้อง​ไม่​ยอม​ประนีประนอม​กับ​พวก​ผู้​ออก​หาก. เรา​ต้อง​ยืนหยัด​มั่นคง​ใน​เรื่อง​นี้​เพื่อ​รักษา​ความ​บริสุทธิ์​สะอาด​ของ​ความ​จริง​และ​เอกภาพ​ของ​ประชาคม. เปาโล​เขียน​เกี่ยว​กับ “พี่​น้อง​จอม​ปลอม” ว่า “เรา​ไม่​ยอม​ตาม​พวก​เขา​แม้​สัก​ครู่​เดียว เพื่อ​ความ​จริง​ที่​มี​อยู่​ใน​ข่าว​ดี​จะ​อยู่​กับ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ต่อ​ไป.” (กลา. 2:4, 5) เมื่อ​มี​การ​ออก​หาก ซึ่ง​ไม่​ใช่​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​บ่อย คริสเตียน​ที่​อุทิศ​ตัว​แล้ว​จะ​ยึด​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง​ไว้​อย่าง​มั่นคง.

ผู้​ดู​แล​จำเป็น​ต้อง​พร้อม​จะ​ยินยอม

15. คริสเตียน​ผู้​ดู​แล​จะ​แสดง​ให้​เห็น​อย่าง​ไร​ว่า​พร้อม​จะ​ยินยอม​เมื่อ​ประชุม​กัน?

15 คุณสมบัติ​อย่าง​หนึ่ง​ซึ่ง​คน​ที่​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ผู้​ดู​แล​ควร​มี​คือ​การ​เป็น​คน​ที่​พร้อม​จะ​ยินยอม. เปาโล​เขียน​ว่า “ผู้​ดู​แล​ต้อง​เป็น​คน . . . มี​เหตุ​ผล [“ยินยอม,” เชิงอรรถ​ฉบับ​มี​ข้อ​อ้างอิง].” (1 ติโม. 3:2, 3) เรื่อง​นี้​สำคัญ​เป็น​พิเศษ​เมื่อ​ชาย​ที่​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​ประชุม​กัน​เพื่อ​พิจารณา​เรื่อง​ต่าง ๆ เกี่ยว​กับ​ประชาคม. ก่อน​จะ​ตัดสิน​ใจ​เรื่อง​ใด​เรื่อง​หนึ่ง แต่​ละ​คน​ที่​ร่วม​ประชุม​ควร​มี​อิสระ​จะ​แสดง​ความ​คิด​เห็น​อย่าง​ชัดเจน แม้​ไม่​มี​ข้อ​กำหนด​ว่า​ผู้​ปกครอง​ทุก​คน​ต้อง​แสดง​ความ​คิด​เห็น. ระหว่าง​ที่​พิจารณา​กัน ความ​เห็น​ของ​คน​หนึ่ง​อาจ​เปลี่ยน​ไป​เมื่อ​เขา​ได้​ยิน​คน​อื่น ๆ กล่าว​ถึง​หลักการ​ใน​พระ​คัมภีร์​ที่​เกี่ยว​ข้อง. แทน​ที่​จะ​ต่อ​ต้าน​และ​ยืนกราน​ให้​เป็น​ไป​ตาม​ทัศนะ​ของ​ตน​เอง ผู้​ปกครอง​ที่​มี​ความ​เป็น​ผู้​ใหญ่​พร้อม​จะ​ยินยอม. เมื่อ​เริ่ม​พิจารณา​กัน อาจ​มี​ความ​เห็น​แตกต่าง​กัน แต่​การ​ใคร่ครวญ​พร้อม​ด้วย​การ​อธิษฐาน​ส่ง​เสริม​ให้​มี​เอกภาพ​ใน​หมู่​ผู้​ปกครอง​ที่​เจียม​ตัว​และ​พร้อม​จะ​ยินยอม.—1 โค. 1:10; อ่าน​เอเฟโซส์ 4:1-3.

16. คริสเตียน​ผู้​ดู​แล​ควร​แสดง​น้ำใจ​อะไร?

16 คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​ควร​พยายาม​รักษา​ระเบียบ​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​ใน​กิจกรรม​ทุก​อย่าง. เขา​ควร​แสดง​น้ำใจ​อย่าง​นั้น​แม้​แต่​เมื่อ​บำรุง​เลี้ยง​ฝูง​แกะ ซึ่ง​จะ​ช่วย​เขา​ให้​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น​และ​ปฏิบัติ​อย่าง​อ่อนโยน. เปโตร​เขียน​ว่า “จง​บำรุง​เลี้ยง​ฝูง​แกะ​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​อยู่​ใน​ความ​ดู​แล​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย ไม่​ใช่​โดย​ฝืน​ใจ แต่​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ ไม่​ใช่​เพราะ​อยาก​ได้​ผล​ประโยชน์ แต่​ด้วย​ความ​กระตือรือร้น.”—1 เป. 5:2.

17. ทุก​คน​ใน​ประชาคม​จะ​แสดง​น้ำใจ​ยินยอม​ได้​อย่าง​ไร​ใน​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น?

17 สมาชิก​ที่​สูง​อายุ​ของ​ประชาคม​หยั่ง​รู้​ค่า​การ​ช่วยเหลือ​อัน​มี​ค่า​มาก​จาก​คน​ที่​อายุ​น้อย​กว่า​และ​ปฏิบัติ​ต่อ​พวก​เขา​อย่าง​ให้​เกียรติ. เมื่อ​เป็น​อย่าง​นั้น​แล้ว เยาวชน​ก็​จะ​นับถือ​คน​ที่​มี​อายุ​มาก​กว่า​ซึ่ง​มี​ประสบการณ์​หลาย​ปี​ใน​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา. (1 ติโม. 5:1, 2) คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​มอง​หา​ชาย​ที่​มี​คุณสมบัติ​ที่​พวก​เขา​จะ​สามารถ​มอบ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​บาง​อย่าง​ให้ ฝึก​คน​เหล่า​นี้​ให้​ช่วย​ดู​แล​ฝูง​แกะ​ของ​พระเจ้า. (2 ติโม. 2:1, 2) คริสเตียน​แต่​ละ​คน​ควร​เห็น​คุณค่า​คำ​แนะ​นำ​ซึ่ง​เปาโล​เขียน​โดย​การ​ดล​ใจ ที่​ว่า “จง​เชื่อ​ฟัง​ผู้​ที่​นำ​หน้า​ท่ามกลาง​ท่าน​ทั้ง​หลาย​และ​ยอม​รับ​อำนาจ​ของ​พวก​เขา เพราะ​คน​เหล่า​นั้น​คอย​ดู​แล​พวก​ท่าน​เหมือน​เป็น​ผู้​ที่​ต้อง​ถวาย​รายงาน เพื่อ​พวก​เขา​จะ​ดู​แล​พวก​ท่าน​ด้วย​ความ​ยินดี ไม่​ใช่​ด้วย​การ​ทอด​ถอน​ใจ​ซึ่ง​จะ​ก่อ​ผล​เสียหาย​แก่​พวก​ท่าน.”—ฮีบรู 13:17.

สมาชิก​ครอบครัว​พร้อม​จะ​ยินยอม

18. เหตุ​ใด​สมาชิก​แต่​ละ​คน​ใน​ครอบครัว​ควร​พร้อม​จะ​ยินยอม?

18 สมาชิก​ครอบครัว​จำเป็น​ต้อง​พร้อม​จะ​ยินยอม​ด้วย. (อ่าน​โกโลซาย 3:18-21.) คัมภีร์​ไบเบิล​ระบุ​หน้า​ที่​ของ​สมาชิก​แต่​ละ​คน​ใน​ครอบครัว​คริสเตียน. บิดา​เป็น​ประมุข​ของ​ภรรยา​และ​เป็น​ผู้​มี​ความ​รับผิดชอบ​หลัก​ใน​การ​สั่ง​สอน​บุตร. ภรรยา​ต้อง​ยอม​รับ​อำนาจ​ของ​สามี และ​บุตร​ควร​พยายาม​อ่อนน้อม​และ​เชื่อ​ฟัง เพราะ​ว่า​นั่น​คือ​แนว​ทาง​ที่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ทรง​พอ​พระทัย. สมาชิก​แต่​ละ​คน​ใน​ครอบครัว​สามารถ​ส่ง​เสริม​เอกภาพ​และ​สันติ​สุข​ใน​ครอบครัว​ด้วย​การ​ยินยอม​อย่าง​เหมาะ​สม​และ​สมดุล. คัมภีร์​ไบเบิล​มี​ตัว​อย่าง​ที่​ช่วย​อธิบาย​จุด​นี้.

19, 20. (ก) จง​ชี้​ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​ตัว​อย่าง​ของ​เอลี​กับ​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​การ​ยินยอม. (ข) บิดา​มารดา​สามารถ​ได้​บทเรียน​อะไร​จาก​ตัว​อย่าง​ดัง​กล่าว?

19 เมื่อ​ซามูเอล​ยัง​เด็ก​อยู่ เอลี​รับใช้​เป็น​มหา​ปุโรหิต​ใน​อิสราเอล. แต่​ฮฟนี​และ​ฟีนะฮาศ​บุตร​ชาย​ของ​เอลี​เป็น “คน​ชั่ว​ช้า, หา​รู้​จัก​พระ​ยะโฮวา​ไม่.” มี​คน​มา​รายงาน​ให้​เอลี​ทราบ​เรื่อง​บุตร​ของ​เขา รวม​ถึง​เรื่อง​ที่​ว่า​ทั้ง​สอง​ทำ​ผิด​ประเวณี​กับ​หญิง​ที่​รับใช้ ณ ทาง​เข้า​พลับพลา​ประชุม. เอลี​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร? เอลี​พูด​กับ​บุตร​ว่า​ถ้า​เขา​ทำ​บาป​ต่อ​พระ​ยะโฮวา จะ​ไม่​มี​ใคร​อธิษฐาน​ขอ​เพื่อ​เขา. แต่​เอลี​ไม่​ได้​แก้ไข​และ​ตี​สอน​บุตร​ทั้ง​สอง. ผล​ก็​คือ บุตร​ชาย​ของ​เอลี​ดำเนิน​ใน​แนว​ทาง​ชั่ว​ของ​ตน​ต่อ​ไป. ใน​ที่​สุด พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตัดสิน​อย่าง​เที่ยงธรรม​ว่า​ทั้ง​สอง​สม​ควร​ถูก​ลง​โทษ​ถึง​ตาย. เมื่อ​ได้​ยิน​ข่าว​ว่า​บุตร​ทั้ง​สอง​ตาย เอลี​เอง​ก็​ล้ม​ตาย​ด้วย. ช่าง​เป็น​ผล​ที่​น่า​เศร้า​จริง ๆ! เห็น​ได้​ชัด การ​ที่​เอลี​ยินยอม​อย่าง​ไม่​เหมาะ​สม​ต่อ​การ​กระทำ​ชั่ว—ใน​แง่​ที่​เขา​ยอม​ให้​บุตร​ทำ​ต่อ​ไป—เป็น​การ​ยินยอม​ที่​ไม่​ถูก​ต้อง.—1 ซามู. 2:12-17, 22-25, 34, 35; 4:17, 18.

20 ขอ​ให้​พิจารณา​วิธี​ที่​แตกต่าง​ที่​พระเจ้า​ทรง​ปฏิบัติ​ต่อ​เหล่า​บุตร​กาย​วิญญาณ​ของ​พระองค์. ผู้​พยากรณ์​มีคายา​ได้​รับ​นิมิต​อัน​น่า​ทึ่ง​เกี่ยว​กับ​การ​ประชุม​ของ​พระ​ยะโฮวา​กับ​เหล่า​ทูตสวรรค์. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ถาม​ว่า​มี​ทูตสวรรค์​องค์​ใด​ไหม​ที่​สามารถ​หลอก​กษัตริย์​อาฮาบ​แห่ง​อิสราเอล​เพื่อ​ล้ม​กษัตริย์​ชั่ว​ผู้​นี้. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ฟัง​ข้อ​เสนอ​แนะ​จาก​เหล่า​บุตร​กาย​วิญญาณ​หลาย​องค์. และ​แล้ว​ก็​มี​ทูตสวรรค์​องค์​หนึ่ง​ขัน​อาสา​จะ​จัด​การ​เรื่อง​นี้. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ถาม​ทูตสวรรค์​องค์​นี้​ว่า​จะ​ทำ​อย่าง​ไร. เมื่อ​ทรง​พอ​พระทัย​กับ​คำ​ตอบ พระ​ยะโฮวา​ก็​ทรง​มอบหมาย​ทูตสวรรค์​องค์​นี้​ให้​ไป​ทำ. (1 กษัต. 22:19-23) สมาชิก​แต่​ละ​คน​ใน​ครอบครัว​สามารถ​นำ​บทเรียน​เกี่ยว​กับ​การ​ยินยอม​ที่​ได้​จาก​บันทึก​ดัง​กล่าว​เอา​ไป​ใช้. คริสเตียน​ที่​เป็น​สามี​และ​บิดา​ควร​พิจารณา​ความ​คิด​เห็น​และ​ข้อ​เสนอ​แนะ​ของ​ภรรยา​และ​บุตร. ใน​ทาง​กลับ​กัน ภรรยา​และ​บุตร​ควร​จะ​เข้าใจ​ว่า​ถ้า​เขา​เสนอ​ความ​คิด​เห็น​หรือ​ทาง​เลือก​ที่​ตัว​เอง​ชอบ เขา​อาจ​จำเป็น​ต้อง​แสดง​ความ​นับถือ​ด้วย​การ​ยินยอม​ทำ​ตาม​คำ​ชี้​แนะ​ของ​สามี​หรือ​บิดา​ซึ่ง​มี​อำนาจ​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์​ที่​จะ​ตัดสิน​ใจ.

21. จะ​มี​การ​พิจารณา​อะไร​ใน​บทความ​ถัด​ไป?

21 เรา​รู้สึก​หยั่ง​รู้​ค่า​จริง ๆ สำหรับ​ข้อ​เตือน​ใจ​อัน​สุขุม​และ​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​จาก​พระ​ยะโฮวา​ที่​แนะ​นำ​เรา​ให้​พร้อม​จะ​ยินยอม! (เพลง. 119:99) บทความ​ถัด​ไป​จะ​พิจารณา​ว่า​การ​ยินยอม​อย่าง​สมดุล​ช่วย​อย่าง​ไร​ให้​มี​ความ​ยินดี​ใน​ชีวิต​สมรส.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 2 อัครสาวก​เปาโล​ใช้​คำ​ใน​ภาษา​เดิม​ที่​หา​คำ​แปล​เป็น​คำ​ใด​คำ​หนึ่ง​ใน​ภาษา​ไทย​ได้​ยาก. หนังสือ​อ้างอิง​เล่ม​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “คำ​ใน​ภาษา​เดิม​ที่​แปล​ไว้​ว่า​ความ​มี​เหตุ​ผล​กิน​ความ​รวม​ถึง​การ​เต็ม​ใจ​ยอม​สละ​สิทธิ์ คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น และ​แสดง​ความ​อ่อน​สุภาพ​ต่อ​ผู้​อื่น.” ดัง​นั้น คำ​นี้​มี​ความ​หมาย​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ยินยอม​และ​ความ​มี​เหตุ​ผล คือ​ไม่​ยืนกราน​ว่า​ต้อง​ทำ​ตาม​ตัว​บท​กฎหมาย​อย่าง​เคร่งครัด​หรือ​เรียก​ร้อง​ให้​เป็น​ไป​ตาม​สิทธิ์​ของ​ตน.

^ วรรค 13 โปรด​ดู​บทความ ‘ถ้า​ท่าน​ถูก​เกณฑ์​ให้​ทำ​งาน’ ใน​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กุมภาพันธ์ 2005 หน้า 23-26.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• การ​ยินยอม​สามารถ​ก่อ​ให้​เกิด​ผล​ที่​ดี​อะไร?

• ผู้​ดู​แล​จะ​แสดง​น้ำใจ​ยินยอม​ได้​อย่าง​ไร?

• เหตุ​ใด​น้ำใจ​ยินยอม​จึง​สำคัญ​ใน​ชีวิต​ครอบครัว?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 4]

ผู้​ปกครอง​เลียน​แบบ​วิธี​ที่​พระ​คริสต์​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​อย่าง​กรุณา

[ภาพ​หน้า 6]

เมื่อ​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม​ประชุม​กัน การ​ใคร่ครวญ​พร้อม​ด้วย​การ​อธิษฐาน​และ​น้ำใจ​พร้อม​จะ​ยินยอม​ส่ง​เสริม​ให้​มี​เอกภาพ