“ใครบ้างในพวกท่านมีปัญญาและความเข้าใจ?”
“ใครบ้างในพวกท่านมีปัญญาและความเข้าใจ?”
“ใครบ้างในพวกท่านมีปัญญาและความเข้าใจ? ให้เขาแสดงความประพฤติอันดีงามด้วยการกระทำที่อ่อนโยนอันเนื่องมาจากสติปัญญา.”—ยโก. 3:13.
1, 2. อาจกล่าวได้เช่นไรเกี่ยวกับหลายคนที่ถือกันว่าเป็นคนมีปัญญา?
คุณคิดว่าใครมีปัญญาอย่างแท้จริง? เป็นบิดามารดาของคุณไหม หรือว่าผู้สูงอายุ หรือศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย? ทัศนะของคุณในเรื่องที่ว่าใครเป็นคนมีปัญญาอาจได้รับผลกระทบจากภูมิหลังและสภาพแวดล้อมในชีวิตคุณ. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้รับใช้ของพระเจ้าสนใจเป็นประการแรกคือพระเจ้าทรงมองอย่างไร.
2 ไม่ใช่ทุกคนที่โลกถือว่าฉลาดเป็นคนมีปัญญาอย่างแท้จริงในสายพระเนตรพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น โยบสนทนากับคนที่ถือว่าตัวเองกล่าวถ้อยคำที่แสดงว่าเขามีปัญญา แต่ท่านลงความเห็นว่า ‘ข้าฯไม่พบใครที่มีปัญญาสักคนหนึ่ง.’ (โยบ 17:10) อัครสาวกเปาโลเขียนเกี่ยวกับคนที่ปฏิเสธความรู้ของพระเจ้าว่า “แม้พวกเขาอ้างว่าตนมีปัญญา แต่พวกเขาเป็นคนโง่.” (โรม 1:22) และพระยะโฮวาเองตรัสอย่างหนักแน่นโดยทางผู้พยากรณ์ยะซายาว่า “วิบัติแก่คนเหล่านั้นที่ฉลาดในสายตาของตัว.”—ยซา. 5:21, ฉบับแปลใหม่.
3, 4. มีข้อเรียกร้องอะไรสำหรับคนที่มีปัญญาอย่างแท้จริง?
3 เห็นได้ชัด เราจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรทำให้คนเรามีปัญญาอย่างแท้จริงเพื่อจะสามารถได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า. สุภาษิต 9:10 ให้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งแก่เราดังนี้: “ความยำเกรงพระยะโฮวาเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา; และการรู้ถึงขององค์บริสุทธิ์นั้นคือความเข้าใจ.” คนฉลาดต้องมีความเกรงกลัวอย่างเหมาะสมต่อพระเจ้าและนับถือมาตรฐานของพระองค์. อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องทำมากกว่าเพียงแค่ยอมรับว่าพระเจ้าทรงดำรงอยู่หรือยอมรับว่าแนวทางของพระองค์เป็นแนวทางที่ดี. สาวกยาโกโบกระตุ้นเราให้คิดในเรื่องนี้. (อ่านยาโกโบ 3:13.) โปรดสังเกตประโยคที่ว่า “ให้เขาแสดงความประพฤติอันดีงาม.” สติปัญญาแท้น่าจะเห็นได้จากสิ่งที่คุณพูดและทำในชีวิตประจำวัน.
4 สติปัญญาแท้เกี่ยวข้องกับการใช้วิจารณญาณที่ดีรวมถึงการใช้ความรู้และความเข้าใจอย่างที่เกิดผลดี. การกระทำอะไรจะเผยให้เห็นว่าเรามีสติปัญญาเช่นนั้น? ยาโกโบบันทึกไว้ว่ามีอะไรบ้างที่จะปรากฏชัดในการกระทำของคนมีปัญญา. * ท่านกล่าวถึงอะไรซึ่งสามารถช่วยเราให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมความเชื่อ รวมไปถึงคนที่อยู่นอกประชาคม?
การกระทำที่แสดงว่ามีปัญญาอย่างแท้จริง
5. คนที่มีปัญญาอย่างแท้จริงจะประพฤติอย่างไร?
5 นับว่าดีที่จะกล่าวย้ำอีกครั้งว่ายาโกโบผูกโยงสติปัญญากับการประพฤติที่ดี. เนื่องจากความเกรงกลัวพระยะโฮวาเป็นจุดเริ่มต้นของสติปัญญา คนมีปัญญาจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะประพฤติสอดคล้องกับแนวทางและมาตรฐานของพระเจ้า. เราไม่ได้มีสติปัญญาจากพระเจ้ามาตั้งแต่เกิด. ถึงกระนั้น เราสามารถได้รับสติปัญญานั้นโดยศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและคิดรำพึงเป็นประจำ. การทำอย่างนี้จะช่วยเราให้ทำตามที่เอเฟโซส์ 5:1 กระตุ้นเรา ที่ว่า “จงเป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า.” ยิ่งเราประพฤติตัวสอดคล้องกับบุคลิกภาพของพระยะโฮวามากเท่าไร เราก็จะยิ่งแสดงสติปัญญาในการกระทำของเรามากขึ้นเท่านั้น. แนวทางของพระยะโฮวาเหนือกว่าแนวทางของมนุษย์มาก. (ยซา. 55:8, 9) ดังนั้น ขณะที่เราเลียนแบบแนวทางของพระยะโฮวาในการทำสิ่งต่าง ๆ คนภายนอกก็จะเห็นว่าเราต่างจากคนอื่น ๆ.
6. เหตุใดความอ่อนโยนเป็นหลักฐานแสดงถึงความเลื่อมใสพระเจ้า และคุณลักษณะนี้เกี่ยวข้องกับอะไร?
6 ยาโกโบชี้ให้เห็นว่าวิธีหนึ่งที่จะเป็นเหมือนพระยะโฮวาคือการมี ‘ความอ่อนโยนอันเนื่องมาจากสติปัญญา.’ แม้ว่าความอ่อนโยนหมายรวมถึงการเป็นคนสุภาพ แต่ในขณะเดียวกันคริสเตียนก็สามารถมีคุณลักษณะที่เข้มแข็งซึ่งช่วยเขาให้ปฏิบัติอย่างสมดุล. แม้ว่าพระยะโฮวาทรงมีความแข็งแกร่งที่ไร้ขีดจำกัด แต่พระองค์ทรงอ่อนโยน และเราไม่กลัวที่จะเข้าหาพระองค์. พระบุตรของพระเจ้าสะท้อนให้เห็นความอ่อนโยนของพระบิดาได้เป็นอย่างดีถึงขนาดที่พระองค์สามารถตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายที่ตรากตรำและมีภาระมากจงมาหาเราเถิด แล้วเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น. จงรับแอกของเราแบกไว้และเรียนจากเรา เพราะเราเป็นคนอ่อนโยนและถ่อมใจ แล้วเจ้าทั้งหลายจะสดชื่น.”—มัด. 11:28, 29; ฟิลิป. 2:5-8.
7. เหตุใดเราสามารถถือว่าโมเซเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความอ่อนโยน?
7 คัมภีร์ไบเบิลบอกเรื่องราวของคนอื่น ๆ ด้วยที่เด่นในเรื่องความอ่อนโยนหรือความอ่อนน้อม. โมเซเป็นคนหนึ่งที่เป็นอย่างนั้น. ท่านมีหน้าที่รับผิดชอบมากมาย กระนั้น พระคัมภีร์พรรณนาว่าท่าน “เป็นคนถ่อมจิตใจอ่อนยิ่งมากกว่าคนทั้งปวงที่อยู่บนแผ่นดิน.” (อาฤ. 11:29; 12:3) และขอให้นึกถึงความเข้มแข็งที่พระยะโฮวาประทานแก่โมเซเพื่อจะทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. พระยะโฮวาทรงพอพระทัยใช้คนที่อ่อนโยนเพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ.
8. มนุษย์ไม่สมบูรณ์จะแสดง ‘ความอ่อนโยนอันเนื่องมาจากสติปัญญา’ ได้อย่างไร?
8 เห็นได้ชัดว่าเป็นไปได้ที่มนุษย์ไม่สมบูรณ์จะแสดง ‘ความอ่อนโยนอันเนื่องมาจากสติปัญญา.’ จะว่าอย่างไรสำหรับเรา? เราจะแสดงคุณลักษณะนี้ให้ดีขึ้นได้อย่างไร? ความอ่อนโยนเป็นผลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ประการหนึ่งของพระยะโฮวา. (กลา. 5:22, 23) เราสามารถอธิษฐานขอพระวิญญาณและตั้งใจพยายามแสดงผลของพระวิญญาณ โดยไว้วางใจว่าพระเจ้าจะทรงช่วยเราให้แสดงความอ่อนโยนได้ดีขึ้น. เราได้รับแรงกระตุ้นที่มีพลังให้ทำอย่างนั้นจากคำรับรองของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ซึ่งกล่าวว่า “[พระเจ้า] ทรงสอนมรรคาของพระองค์แก่คนใจถ่อม.”—เพลง. 25:9 ฉบับแปลใหม่.
9, 10. เราจำเป็นต้องพยายามเช่นไรเพื่อจะแสดงความอ่อนโยนแบบพระเจ้า และเพราะเหตุใด?
9 อย่างไรก็ตาม อาจต้องพยายามอย่างจริงจังเพื่อจะปรับปรุงในเรื่องนี้. ผลจากวัฒนธรรมหรือการเลี้ยงดูอาจทำให้พวกเราบางคนมีแนวโน้มจะไม่อ่อนโยน. นอกจากนั้น ผู้คนที่อยู่รอบตัวเราอาจกระตุ้นส่งเสริมทัศนะที่ตรงกันข้าม โดยบอกว่าต้อง “ใช้ไฟดับไฟ.” แต่ว่านั่นเป็นความคิดที่ฉลาดจริง ๆ ไหม? หากไฟไหม้บ้าน คุณจะพยายามดับไฟโดยใช้น้ำมันหรือน้ำ? การราดน้ำมันลงบนกองไฟย่อมทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก ในขณะที่การดับไฟด้วยน้ำน่าจะทำให้ได้ผลที่ต้องการ. คัมภีร์ไบเบิลแนะนำเราในทำนองเดียวกันว่า “คำตอบอ่อนหวานกระทำให้ความโกรธผ่านพ้นไป; แต่คำขมเผ็ดร้อนกระทำให้โทโสพลุ่งขึ้น.” (สุภา. 15:1, 18) ครั้งต่อไปเมื่อเกิดความขัดเคืองใจกับผู้อื่น ไม่ว่าในหรือนอกประชาคม เราจะแสดงให้เห็นได้ไหมว่าเรามีสติปัญญาแท้โดยแสดงปฏิกิริยาอย่างอ่อนโยน?— 2 ติโม. 2:24.
10 ดังกล่าวไปแล้วข้างต้น คำพูดและการกระทำของผู้คนมากมายที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำใจของโลกห่างไกลจากความสุภาพอ่อนโยน รักสันติ และสงบเสงี่ยม. ตรงกันข้าม เราพบผู้คนมากมายที่หยาบกระด้างและหยิ่งยโส. ยาโกโบตระหนักในเรื่องนี้ และท่านเตือนพี่น้องในประชาคมให้ระวังเพื่อจะไม่ติดเชื้อน้ำใจแบบนั้น. เราสามารถเรียนอะไรได้อีกจากคำแนะนำที่ท่านให้?
ลักษณะนิสัยของคนไม่ฉลาด
11. นิสัยแบบใดขัดกับสติปัญญาที่มาจากพระเจ้า?
11 ยาโกโบเขียนอย่างตรงไปตรงมาทีเดียวเกี่ยวกับลักษณะนิสัยที่ขัดโดยตรงกับสติปัญญาที่มาจากพระเจ้า. (อ่านยาโกโบ 3:14.) ความริษยาและความคิดชิงดีชิงเด่นเป็นนิสัยอย่างโลก ไม่ใช่นิสัยของมนุษย์ฝ่ายวิญญาณ. ขอให้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อความคิดอย่างโลกมีอิทธิพลครอบงำ. มี “คริสเตียน” อยู่หกกลุ่มที่มีอำนาจควบคุมดูแลส่วนต่าง ๆ ของโบสถ์แห่งอุโมงค์ฝังศพศักดิ์สิทธิ์ในกรุงเยรูซาเลม ซึ่งเชื่อกันว่าสร้างขึ้น ณ สถานที่ที่พระเยซูทรงถูกประหารและเป็นที่ฝังพระศพพระองค์. พวกเขามีความสัมพันธ์แบบชิงดีชิงเด่นมาโดยตลอด. ในปี 2006 วารสารไทม์รายงานสถานการณ์ในช่วงแรก ๆ ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งพวกนักบวชซึ่งอยู่ที่นั่น “ทะเลาะวิวาทกันเป็นชั่วโมง ๆ . . . ใช้เชิงเทียนอันใหญ่ฟาดกัน.” พวกเขาไม่ไว้ใจกันถึงขนาดที่ได้มอบหน้าที่ให้ชาวมุสลิมคนหนึ่งเป็นคนถือกุญแจประตูโบสถ์.
12. อาจเกิดอะไรขึ้นเมื่อขาดสติปัญญา?
12 แน่นอน การขัดแย้งกันอย่างสุดโต่งเช่นนั้นไม่ควรมีอยู่ในประชาคมคริสเตียนแท้. อย่างไรก็ตาม บางครั้งความไม่สมบูรณ์ทำให้บางคนยืนยันให้เป็นไปตามความเห็นของตัวเองแบบหัวชนฝา. นั่นอาจทำให้เกิดการทะเลาะหรือขัดแย้งกันอย่างรุนแรง. อัครสาวกเปาโลสังเกตว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในประชาคมโครินท์ ท่านจึงเขียนว่า “ในเมื่อพวกท่านยังริษยากันและขัดแย้งกัน พวกท่านก็เป็นคนที่มีความคิดอย่างโลกไม่ใช่หรือ? พวกท่านประพฤติอย่างที่คนทั่วไปทำกันไม่ใช่หรือ?” (1 โค. 3:3) สภาพอันน่าเศร้าใจดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่ชั่วระยะหนึ่งที่ประชาคมนี้ในศตวรรษแรก. ด้วยเหตุนั้น เราต้องระวังอย่าให้น้ำใจเช่นนั้นเข้ามาในประชาคมสมัยนี้.
13, 14. จงยกตัวอย่างให้เห็นว่าอาจมีการแสดงน้ำใจแบบโลกอย่างไร.
13 น้ำใจเช่นนั้นอาจค่อย ๆ เข้ามาได้โดยวิธีใด? อาจเริ่มด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนก็ได้. ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการสร้างหอประชุมราชอาณาจักร อาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันว่าควรทำอย่างไร. พี่น้องคนหนึ่งอาจไม่พอใจเมื่อข้อเสนอของเขาถูกปฏิเสธ และอาจเริ่มวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจที่ทำไปแล้ว. เขาอาจถึงกับไม่ยอมช่วยทำงานในโครงการนั้นอีกต่อไป! คนที่ทำอย่างนั้นคงลืมไปว่า ตามปกติแล้วการทำงานที่เกี่ยวกับประชาคมให้สำเร็จขึ้นอยู่กับน้ำใจอันมีสันติสุขของประชาคมมากกว่าจะขึ้นอยู่กับการเลือกใช้วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง. พระยะโฮวาพอพระทัยที่เห็นเรามีน้ำใจอ่อนโยน ไม่ใช่น้ำใจชิงดีชิงเด่น.—1 ติโม. 6:4, 5.
14 อีกตัวอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นคือในกรณีที่คณะผู้ปกครองในประชาคมสังเกตว่ามีผู้ปกครองคนหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าได้รับใช้มาหลายปีแล้ว แต่ในเวลานี้ไม่มีคุณวุฒิตามข้อเรียกร้องในพระคัมภีร์อย่างเห็นได้ชัด. เมื่อเห็นว่าพี่น้องคนนี้เคยได้รับคำแนะนำในเรื่องนั้น ๆ มาแล้วแต่ก็ยังไม่ได้แก้ไขให้ดีขึ้น ผู้ดูแลหมวดที่มาเยี่ยมประชาคมจึงเห็นชอบกับข้อเสนอให้ปลดเขาจากการเป็นผู้ปกครอง. เขาจะมีทัศนะอย่างไรต่อการถูกปลด? เขาจะยอมรับการลงความเห็นอย่างเป็นเอกฉันท์ของคณะผู้ปกครองและยอมรับคำแนะนำจากพระคัมภีร์ด้วยใจถ่อมและอ่อนโยน แล้วตั้งใจใหม่ว่าจะพยายามบรรลุข้อเรียกร้องตามหลักพระคัมภีร์เพื่อจะมีโอกาสได้รับใช้ในฐานะเดิมอีกครั้งไหม? หรือว่าเขาจะเก็บความขุ่นเคืองและความอิจฉาเอาไว้เนื่องจากไม่มีสิทธิพิเศษที่เคยได้รับอีกต่อไป? ทำไมเขายังจะยืนยันอยู่อีกว่าเขามีคุณสมบัติเป็นผู้ปกครอง ในเมื่อผู้ปกครองคนอื่น ๆ ทั้งหมดลงความเห็นว่าเขาไม่มีคุณสมบัติ? นับว่าฉลาดกว่าสักเพียงไรที่จะแสดงความถ่อมใจและความเข้าใจ!
15. เหตุใดคำแนะนำที่มีขึ้นโดยการดลใจที่ยาโกโบ 3:15, 16 จึงสำคัญมาก?
15 ที่จริง มีสถานการณ์อื่น ๆ ด้วยที่อาจชักนำให้บางคนมีเจตคติคล้าย ๆ กันนั้น. แต่ไม่ว่าสถานการณ์เป็นเช่นไรก็ตาม เราต้องพยายามจริง ๆ ที่จะหลีกเลี่ยงนิสัยอย่างนั้น. (อ่านยาโกโบ 3:15, 16.) สาวกยาโกโบเรียกเจตคติแบบนั้น ว่า “อย่างโลก” เพราะเป็นทัศนะที่ไม่ได้อาศัยสติปัญญาจากเบื้องบนเป็นพื้นฐาน. เจตคติแบบนั้นเป็น “อย่างเดรัจฉาน” เพราะเป็นผลที่เกิดจากแนวโน้มทางโลก คล้าย ๆ กับลักษณะนิสัยของสัตว์ซึ่งหาเหตุผลไม่เป็น. เจตคติแบบนั้นเป็น “อย่างปิศาจ” เพราะสะท้อนถึงนิสัยของกายวิญญาณที่เป็นศัตรูของพระเจ้า. ไม่เหมาะอย่างยิ่งที่คริสเตียนจะมีนิสัยอย่างนั้น!
16. เราอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอะไร และเราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร?
16 สมาชิกแต่ละคนของประชาคมควรตรวจสอบตัวเองและขจัดนิสัยแบบนั้น. ผู้ดูแลซึ่งเป็นผู้สอนในประชาคมควรสำนึกถึงความจำเป็นที่ตัวเขาเองต้องขจัดเจตคติที่ไม่ดี. การทำอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์และอยู่ใต้อิทธิพลของโลก. การพยายามขจัดเจตคติที่ไม่ดีอาจเปรียบได้กับการพยายามปีนเนินที่สูงชันและเป็นโคลนลื่น. หากไม่มีอะไรจับยึดเอาไว้ เราก็จะลื่นไถลกลับอยู่ตลอด. แต่ถ้าเรายึดคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลไว้ให้มั่น และรับความช่วยเหลือจากประชาคมของพระเจ้าทั่วโลก เราก็จะสามารถรุดหน้าไป.—เพลง. 73:23, 24.
คุณลักษณะที่คนมีปัญญาพยายามแสดงออก
17. คนมีปัญญามักจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อถูกล่อใจให้ทำชั่ว?
17 อ่านยาโกโบ 3:17. เราสามารถได้รับประโยชน์จากการพิจารณาคุณลักษณะบางอย่างที่เกิดจากการแสดง “สติปัญญาจากเบื้องบน.” การเป็นคนบริสุทธิ์เกี่ยวข้องกับการที่เรามีแรงจูงใจและการกระทำที่สะอาดปราศจากมลทิน. เราต้องปฏิเสธสิ่งชั่วร้ายทันที. การทำอย่างนั้นน่าจะเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ. คุณอาจเคยมีประสบการณ์ที่หมอใช้ค้อนเคาะเอ็นใต้หัวเข่าเพื่อทดสอบปฏิกิริยาของคุณ. เมื่อถูกเคาะ ขาของคุณก็จะกระตุกเตะไปข้างหน้าโดยอัตโนมัติ. ปฏิกิริยาดังกล่าวเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ; คุณไม่ต้องคิดหรือสั่งให้ร่างกายทำอย่างนั้น. เราน่าจะมีปฏิกิริยาคล้าย ๆ กันอย่างนั้นเมื่อถูกล่อใจให้ทำชั่ว. ความบริสุทธิ์และสติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการฝึกจากคัมภีร์ไบเบิลน่าจะกระตุ้นเราให้ปฏิเสธสิ่งชั่วทันทีโดยไม่จำเป็นต้องคิด. (โรม 12:9) คัมภีร์ไบเบิลให้ตัวอย่างคนที่แสดงปฏิกิริยาอย่างนี้ เช่น โยเซฟและพระเยซู.—เย. 39:7-9; มัด. 4:8-10.
18. อะไรคือความหมายของ (ก) การเป็นคนรักสันติ? (ข) การเป็นคนสร้างสันติ?
18 เพื่อจะมีสติปัญญาจากเบื้องบนเราต้องรักสันติด้วย. การเป็นคนรักสันติเกี่ยวข้องกับการที่เราหลีกเลี่ยงการแสดงความก้าวร้าว, นิสัยชอบทะเลาะ, หรือการกระทำที่ทำลายสันติสุข. ยาโกโบขยายความจุดนี้เมื่อท่านกล่าวว่า “เมล็ดที่เกิดผลแห่งความชอบธรรมถูกหว่านในสภาพที่มีสันติสุขเพื่อประโยชน์ของผู้ที่สร้างสันติสุข.” (ยโก. 3:18) สังเกตวลีที่ว่า “สร้างสันติสุข.” ในประชาคม เราเป็นที่ รู้จักว่าเป็นคนสร้างสันติสุขหรือทำลายสันติสุข? เรามีเรื่องขัดแย้งหรือมีความเห็นไม่ลงรอยกับคนอื่น ขัดเคืองใจง่ายหรือทำให้คนอื่นขัดเคืองบ่อย ๆ ไหม? เรายืนกรานให้คนอื่นยอมรับเราอย่างที่เราเป็น หรือว่าเราพยายามอย่างถ่อมใจที่จะขจัดนิสัยเฉพาะตัวที่ทำให้คนอื่นมีเหตุจะขัดเคืองใจ? เราเป็นที่รู้จักไหมว่าพยายามรักษาสันติสุขกับผู้อื่น พร้อมจะให้อภัยและลืมความผิดของผู้อื่น? การตรวจสอบตัวเองอย่างสัตย์ซื่อสามารถช่วยเราให้เห็นว่าเราต้องปรับปรุงหรือไม่ในการแสดงสติปัญญาจากเบื้องบนแง่นี้.
19. คนมีเหตุผลมีลักษณะอย่างไร?
19 ยาโกโบรวมการเป็นคนมีเหตุผลไว้ในคำพรรณนาที่แสดงว่าคุณลักษณะใดบ้างสะท้อนสติปัญญาจากเบื้องบน. เราเป็นที่รู้จักไหมว่าพร้อมจะยินยอมผู้อื่นเมื่อไม่ขัดกับหลักการในพระคัมภีร์ และไม่รีบยืนกรานว่าต้องทำตามมาตรฐานของเราเอง? เรามีชื่อเสียงว่าเป็นคนสุภาพอ่อนโยนและพูดคุยด้วยได้ง่ายไหม? หากเป็นอย่างนั้นก็แสดงว่าเราได้เรียนรู้ที่จะเป็นคนมีเหตุผล.
20. ผลจะเป็นอย่างไรเมื่อเราแสดงคุณลักษณะแบบพระเจ้าดังที่ได้พิจารณาไป?
20 ช่างเป็นสภาพที่น่ายินดีสักเพียงไรในประชาคมเมื่อพี่น้องพยายามแสดงคุณลักษณะแบบพระเจ้าตามที่ยาโกโบเขียนมากขึ้น! (เพลง. 133:1-3) การเป็นคนอ่อนโยน, รักสันติ, และมีเหตุผลต่อกันย่อมจะทำให้สายสัมพันธ์ดีขึ้นและแสดงชัดว่าเรามี “สติปัญญาจากเบื้องบน.” ในบทความถัดไปเราจะพิจารณากันว่าการเรียนรู้ที่จะมองผู้อื่นเหมือนพระยะโฮวาทรงมองสามารถช่วยเราอย่างไรในเรื่องนี้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 บริบทบ่งชี้ว่าในอันดับแรกยาโกโบนึกถึงผู้เฒ่าผู้แก่ หรือ “ครู” ที่อยู่ในประชาคม. (ยโก. 3:1) คนเหล่านี้ควรวางตัวอย่างที่ดีในการแสดงสติปัญญาที่พระเจ้าทรงพอพระทัย. ถึงกระนั้น เราทุกคนสามารถเรียนจากคำแนะนำของท่านได้.
คุณอธิบายได้ไหม?
• อะไรทำให้คริสเตียนมีปัญญาอย่างแท้จริง?
• เราจะแสดงสติปัญญาจากพระเจ้าให้ดีขึ้นได้อย่างไร?
• เราเห็นลักษณะนิสัยแบบใดในคนที่ไม่ได้แสดง “สติปัญญาจากเบื้องบน”?
• คุณตั้งใจแน่วแน่จะพัฒนาคุณลักษณะอะไรให้มากขึ้น?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 23]
เป็นไปได้อย่างไรที่อาจเริ่มเกิดความขัดแย้งกันในปัจจุบัน?
[ภาพหน้า 24]
คุณปฏิเสธความชั่วทันทีโดยไม่จำเป็นต้องคิดไหม?