ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อยู่ห่างไกลลูกหลาน แต่ไม่ถูกลืม

อยู่ห่างไกลลูกหลาน แต่ไม่ถูกลืม

อยู่​ห่าง​ไกล​ลูก​หลาน แต่​ไม่​ถูก​ลืม

อัครสาวก​เปาโล​ตักเตือน​เพื่อน​คริสเตียน​ว่า “ให้​เรา​ทำ​ดี​ต่อ​ทุก​คน โดย​เฉพาะ​ต่อ​ผู้​ที่​มี​ความ​เชื่อ​เช่น​เดียว​กับ​เรา.” (กลา. 6:10) ทุก​วัน​นี้ เรา​ยัง​คง​ปฏิบัติ​ตาม​การ​ชี้​นำ​ที่​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​และ​มอง​หา​ช่อง​ทาง​จะ​ทำ​ดี​ต่อ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ. ผู้​ที่​จำเป็น​ได้​รับ​และ​คู่​ควร​กับ​การ​เอา​ใจ​ใส่​ด้วย​ความ​รักใคร่​จาก​ประชาคม​คริสเตียน​ได้​แก่​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ผู้​สูง​อายุ​ที่​อาศัย​อยู่​ใน​บ้าน​พัก​คน​ชรา.

จริง​อยู่ ใน​บาง​ประเทศ​การ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​พ่อ​แม่​ผู้​สูง​อายุ​ที่​บ้าน​เป็น​ธรรมเนียม​ปฏิบัติ​ของ​ครอบครัว. อย่าง​ไร​ก็​ดี ใน​บาง​ประเทศ มี​อยู่​เนือง ๆ ที่​คน​ชรา​จำนวน​ไม่​น้อย​ต้อง​ไป​พึ่ง​การ​ดู​แล​จาก​บ้าน​พัก​คน​ชรา. แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​กับ​คริสเตียน​ผู้​สูง​อายุ​ที่​เข้า​ไป​อยู่​ใน​บ้าน​พัก​คน​ชรา? พวก​เขา​ต้อง​เผชิญ​ความ​ยาก​ลำบาก​อะไร​บ้าง? เขา​จะ​รับมือ​สภาพการณ์​นั้น ๆ อย่าง​ไร หาก​เขา​ไม่​ได้​รับ​การ​อุปถัมภ์​จาก​ลูก​หลาน​หรือ​คน​ใน​ครอบครัว? ประชาคม​คริสเตียน​จะ​ช่วยเหลือ​พวก​เขา​โดย​วิธี​ใด? และ​พวก​เรา​ได้​ประโยชน์​ใน​ทาง​ใด​เมื่อ​เรา​เยี่ยม​พวก​เขา​อย่าง​สม่ำเสมอ?

ข้อ​ท้าทาย​ที่​พวก​เขา​เผชิญ​ใน​บ้าน​พัก​คน​ชรา

เมื่อ​คริสเตียน​ผู้​สูง​อายุ​ย้าย​เข้า​ไป​อยู่​ใน​บ้าน​พัก​คน​ชรา พวก​เขา​อาจ​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​มา​อยู่​ใน​เขต​ใหม่​ของ​อีก​ประชาคม​หนึ่ง ซึ่ง​พี่​น้อง​พยาน​ฯ​ใน​ท้องถิ่น​ไม่​เคย​รู้​จัก​ผู้​สูง​อายุ​เหล่า​นี้​มา​ก่อน. ผล​คือ พยาน​ฯ​ใน​ประชาคม​ท้องถิ่น​จึง​ไม่​คิด​ที่​จะ​ไป​เยี่ยม​เขา​เท่า​ที่​ควร. ยิ่ง​กว่า​นั้น ดู​เหมือน​ว่า​ผู้​สูง​อายุ​ที่​อยู่​ใน​บ้าน​พัก​คน​ชรา​มัก​ถูก​ห้อม​ล้อม​ด้วย​ผู้​คน​ที่​นับถือ​ศาสนา​ต่าง ๆ กัน. สิ่ง​นี้​อาจ​ทำ​ให้​เพื่อน​พยาน​ฯ​ผู้​สูง​อายุ​ตก​อยู่​ใน​สภาพ​ลำบาก.

ยก​ตัว​อย่าง ใน​บาง​ท้อง​ที่ บ้าน​พัก​คน​ชรา​จัด​ให้​มี​การ​ทำ​พิธี​ทาง​ศาสนา​ภาย​ใน​อาคาร​สถาน​ที่​นั้น. ผู้​ช่วย​พยาบาล​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “พยาน​ฯ​สูง​อายุ​บาง​คน​ซึ่ง​ไม่​สามารถ​สื่อ​ความ​ได้​ชัดเจน​จะ​ถูก​พา​นั่ง​เก้าอี้​ล้อ​ไป​เข้า​โบสถ์ โดย​ไม่​มี​การ​ปรึกษา​หารือ​กัน​เกี่ยว​กับ​ความ​ประสงค์​ของ​เขา.” ใช่​แต่​เท่า​นั้น คณะ​ทำ​งาน​ใน​บ้าน​พัก​คน​ชรา​มัก​จะ​ใช้​วัน​เกิด วัน​คริสต์มาส​หรือ​วัน​อีสเตอร์​เพื่อ​ให้​ผู้​สูง​อายุ​ได้​เปลี่ยน​บรรยากาศ. พยาน​ฯ​บาง​คน​ใน​บ้าน​พัก​คน​ชรา​เคย​ได้​รับ​อาหาร​ซึ่ง​โดย​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​เขา​แล้ว​จะ​ไม่​ยอม​รับประทาน​เลย. (กิจ. 15:29) ถ้า​พวก​เรา​ไป​เยี่ยม​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ผู้​สูง​อายุ​เหล่า​นี้​อย่าง​สม่ำเสมอ เรา​ก็​สามารถ​จะ​ช่วย​เขา​รับมือ​ข้อ​ท้าทาย​ดัง​กล่าว​ได้.

การ​ค้ำจุน​จาก​ประชาคม

คริสเตียน​สมัย​แรก​ตื่น​ตัว​ต่อ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ต่อ​ผู้​สูง​อายุ​เมื่อ​คน​เหล่า​นี้​ไม่​มี​ครอบครัว​คอย​เจือ​จุน​เขา. (1 ติโม. 5:9) ทำนอง​เดียว​กัน ทุก​วัน​นี้​พวก​ผู้​ดู​แล​ก็​ตื่น​ตัว​เพื่อ​จะ​แน่​ใจ​ว่า​ผู้​สูง​อายุ​ที่​พัก​อาศัย​ที่​บ้าน​คน​ชรา​ใน​ท้อง​ที่​ของ​ประชาคม​จะ​ไม่​ถูก​ละเลย. * โรเบิร์ต ผู้​ปกครอง​ชี้​ให้​เห็น​ว่า “คง​จะ​เป็น​คุณประโยชน์​ถ้า​คริสเตียน​ผู้​ดู​แล​ได้​ไป​เยี่ยม​เยียน​พวก​ผู้​สูง​อายุ​เป็น​ส่วน​ตัว​เพื่อ​จะ​รู้​เห็น​สภาพ​ความ​เป็น​อยู่​ของ​เขา​และ​อธิษฐาน​ด้วย​กัน. ประชาคม​สามารถ​ช่วยเหลือ​ได้​มาก​เพื่อ​พวก​เขา​จะ​ไม่​ขาด​ปัจจัย​ต่าง ๆ ที่​จำเป็น.” ถ้า​เรา​จัด​เวลา​ไว้​สำหรับ​การ​เยี่ยม​ผู้​สูง​อายุ นั่น​แสดง​ว่า​เรา​เข้าใจ​เรื่อง​นี้​สำคัญ​เพียง​ไร​ใน​สาย​พระ​เนตร​พระ​ยะโฮวา​ผู้​ทรง​ใฝ่​พระทัย​ดู​แล​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ขัดสน.—ยโก. 1:27.

เมื่อ​จำเป็น พวก​ผู้​ปกครอง​จะ​ร่วม​มือ​กัน​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ​เพื่อ​ให้​การ​ช่วยเหลือ​พี่​น้อง​ชาย​หรือ​หญิง​ที่​อาศัย​ใน​บ้าน​พัก​คน​ชรา​ใน​ท้อง​ที่​ของ​ประชาคม. โรเบิร์ต​พูด​ถึง​สิ่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​อาจ​จำเป็น​ดัง​นี้: “เรา​ควร​สนับสนุน​พี่​น้อง​ผู้​สูง​อายุ​ให้​ไป​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน​ใน​วาระ​ต่าง ๆ หาก​เขา​ไป​ได้.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม สำหรับ​คน​ที่​ไป​ไม่​ได้ ผู้​ปกครอง​สามารถ​จัด​หา​วิธี​อื่น. ชากลีน อายุ 80 กว่า​ปี เธอ​ทน​ทรมาน​ด้วย​โรค​ไข​ข้อ​ต่อ​เสื่อม แต่​ก็​ได้​ฟัง​รายการ​ประชุม​ทาง​โทรศัพท์. เธอ​พูด​ว่า “ฉัน​ได้​รับ​ประโยชน์​มาก​จริง ๆ เมื่อ​ฟัง​การ​ประชุม​ต่าง ๆ ใน​ขณะ​ที่​รายการ​ดำเนิน​อยู่. ฉัน​ไม่​อยาก​พลาด​การ​ฟัง​รายการ​ประชุม​ต่าง ๆ แม้​เพียง​ครั้ง​เดียว!”

หาก​คริสเตียน​ผู้​สูง​อายุ​ไม่​สามารถ​ฟัง​การ​ประชุม​ทาง​โทรศัพท์ ผู้​ปกครอง​อาจ​จัด​การ​บันทึก​เสียง​รายการ​ประชุม​ต่าง ๆ. ส่วน​คน​ที่​นำ​แผ่น​บันทึก​เสียง​ไป​ฝาก​พี่​น้อง​ผู้​สูง​อายุ​ที่​บ้าน​พัก​คน​ชรา​ก็​จะ​ใช้​โอกาส​นั้น​พูด​คุย​ให้​การ​หนุน​ใจ​กัน​และ​กัน. ผู้​ดู​แล​คน​หนึ่ง​พูด​ว่า “การ​บอก​เล่า​ข่าว​คราว​เกี่ยว​กับ​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​ท้องถิ่น​ให้​ผู้​สูง​อายุ​ฟัง ทำ​ให้​พวก​เขา​รู้สึก​ว่า​เขา​ยัง​คง​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ครอบครัว​ฝ่าย​วิญญาณ.”

รักษา​การ​สื่อ​ความ​ให้​คง​อยู่

เข้าใจ​ได้​ไม่​ยาก​ที่​ผู้​สูง​อายุ​หลาย​คน​เกิด​ความ​เครียด​และ​รู้สึก​สับสน​เมื่อ​เข้า​ไป​อยู่​ใน​บ้าน​พัก​คน​ชรา. ผล​ที่​ตาม​มา​คือ​บาง​คน​กลาย​เป็น​คน​ปลีก​ตัว ชอบ​ครุ่น​คิด​แต่​ตัว​เอง. อย่าง​ไร​ก็​ดี ถ้า​เรา​เยี่ยม​พี่​น้อง​ผู้​สูง​อายุ​ทันที​หลัง​จาก​เขา​ย้าย​เข้า​ไป​อยู่​บ้าน​พัก​คน​ชรา และ​แสดง​ให้​เขา​รู้​ว่า​การ​เกื้อ​หนุน​จาก​เรา​จะ​มี​ไป​อย่าง​ต่อ​เนื่อง นับ​ว่า​เป็น​การ​ช่วย​ได้​มาก​ที​เดียว เขา​จะ​มี​ใจ​สงบ​อีก​ครั้ง​และ​ชื่นชม​ยินดี​พอ​ประมาณ.—สุภา. 17:22.

ถ้า​พี่​น้อง​ผู้​สูง​อายุ​ไม่​ว่า​ชาย​หรือ​หญิง​สูญ​เสีย​สมรรถนะ​ด้าน​การ​คิด หรือ​การ​ได้​ยิน​บกพร่อง หรือ​การ​สื่อ​ความ​มี​ปัญหา บาง​คน​อาจ​ลง​ความ​เห็น​ว่า​ถึง​จะ​เยี่ยม​ก็​คง​ไร้​ประโยชน์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ความ​พยายาม​ของ​เรา​ที่​จะ​เยี่ยม​เรื่อย ๆ ไม่​ว่า​การ​สื่อ​ความ​จะ​ยุ่งยาก​แค่​ไหน นั่น​แสดง​ว่า​เรา​ยัง​คง “นำ​หน้า​ใน​การ​ให้​เกียรติ” เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ. (โรม 12:10) หาก​ความ​จำ​ระยะ​สั้น​ของ​พี่​น้อง​ผู้​สูง​อายุ​เริ่ม​เสื่อม เรา​สามารถ​กระตุ้น​เขา​ให้​เล่า​ประสบการณ์​เมื่อ​ก่อน—อาจ​เป็น​ประสบการณ์​ใน​วัย​เด็ก​ด้วย​ซ้ำ—หรือ​ขอ​ให้​เล่า​เรื่อง​ตอน​ที่​เขา​ได้​มา​รู้​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​ได้. เรา​ควร​ทำ​อะไร​ถ้า​เขา​ติด​ขัด​ใน​แง่​ของ​การ​หา​คำ​พูด​เหมาะ ๆ ไม่​ได้? จง​ตั้งใจ​ฟัง​อย่าง​อด​ทน และ​ถ้า​เห็น​ว่า​สม​ควร​ขัด​จังหวะ ก็​น่า​จะ​พูด​นำ​สัก​สอง​สาม​คำ​ขณะ​ที่​เขา​คิด​หา​คำ​พูด​อยู่ หรือ​พูด​สั้น ๆ ย้ำ​ความ​คิด​ของ​เขา​และ​สนับสนุน​เขา​ให้​พูด​ต่อ. ถ้า​เขา​สับสน​หรือ​พูด​ติด​ขัด​และ​เรา​แทบ​จะ​ไม่​เข้าใจ​ที่​เขา​พูด เรา​จะ​พยายาม​นึก​ถึง​สิ่ง​ที่​เขา​หมาย​ถึง โดย​สนใจ​ฟัง​สำเนียง​ของ​เขา.

ถ้า​ไม่​สามารถ​พูด​จา​กัน​รู้​เรื่อง ก็​อาจ​ใช้​วิธี​อื่น. ลอเรนซ์​ซึ่ง​เป็น​ไพโอเนียร์​ได้​ไป​เยี่ยม​มัด​เลน สตรี​คริสเตียน​สูง​อายุ​วัย 80 ปี​เป็น​ประจำ เธอ​พูด​ไม่​ได้​แล้ว. ลอเรนซ์​อธิบาย​วิธี​ที่​เธอ​สื่อ​ความ​ว่า “ฉัน​กุม​มือ​มัด​เลน​ไว้​ขณะ​เรา​อธิษฐาน​ด้วย​กัน เธอ​บีบ​มือ​ฉัน​เบา ๆ และ​กะพริบ​ตา​แสดง​ความ​ขอบคุณ​และ​หยั่ง​รู้​ค่า​อากัปกิริยา​อัน​อ่อนโยน​ชั่ว​ขณะ​นั้น.” การ​ที่​เรา​จับ​มือ​เพื่อน​ผู้​สูง​อายุ​หรือ​โอบ​กอด​เขา​ด้วย​น้ำ​ใส​ใจ​จริง​เช่น​นั้น​ย่อม​ทำ​ให้​เขา​รู้สึก​อุ่น​ใจ​อย่าง​แท้​จริง.

การ​อยู่​ต่อ​หน้า​เขา​เป็น​สิ่ง​สำคัญ

การ​เยี่ยม​ผู้​สูง​อายุ​อย่าง​สม่ำเสมอ​อาจ​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​การ​ดู​แล​ที่​พวก​เขา​ได้​รับ. ดัน​เยล​ซึ่ง​ได้​ไป​เยี่ยม​เพื่อน ๆ พยาน​ฯ​ที่​บ้าน​พัก​คน​ชรา​มา​ร่วม 20 ปี พูด​ว่า “เมื่อ​คณะ​ทำ​งาน​ใน​บ้าน​พัก​คน​ชรา​สังเกต​เห็น​ว่า​ถ้า​ใคร​คน​หนึ่ง​มี​คน​มา​เยี่ยม​เป็น​ประจำ ผู้​สูง​อายุ​คน​นั้น​ได้​รับ​การ​ดู​แล​ดี​ขึ้น.” โรเบิร์ต​ตาม​ที่​พูด​ไว้​ข้าง​ต้น​แจ้ง​ว่า “คณะ​ทำ​งาน​ดู​เหมือน​จะ​รับ​ฟัง​บาง​คน​ที่​มา​เยี่ยม​คน​ใน​บ้าน​พัก​คน​ชรา​อย่าง​สม่ำเสมอ​มาก​กว่า​จะ​ฟัง​ผู้​เยี่ยม​เป็น​ครั้ง​คราว.” เนื่อง​จาก​บ่อย​ครั้ง​ผู้​มี​หน้า​ที่​ดู​แล​คน​ชรา​ต้อง​ติด​ต่อ​กับ​ครอบครัว​ที่​เอา​ใจ​ยาก​และ​เรียก​ร้อง พวก​เขา​จึง​หยั่ง​รู้​ค่า​ผู้​มา​เยี่ยม​ที่​สำนึก​รู้​คุณ. ยิ่ง​กว่า​นั้น ถ้า​พวก​เรา​พัฒนา​ความ​สัมพันธ์​ที่​ดี​กับ​คณะ​ทำ​งาน พวก​เขา​อาจ​มี​แนว​โน้ม​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​นับถือ​มาตรฐาน​และ​ความ​เชื่อ​ของ​พยาน​ฯ​ผู้​สูง​อายุ ซึ่ง​เป็น​คนไข้​ใน​การ​ดู​แล​ของ​เขา.

เรา​สามารถ​พัฒนา​สัมพันธภาพ​ที่​ดี​กับ​คณะ​ทำ​งาน​ได้​โดย​เสนอ​ตัว​ช่วย​งาน​ง่าย ๆ. ใน​บาง​พื้น​ที่ มัก​จะ​ขาด​แคลน​คน​ทำ​งาน​ที่​มี​คุณสมบัติ เป็น​เหตุ​ให้​ผู้​สูง​อายุ​พลอย​ไม่​ได้​รับ​การ​ดู​แล​เท่า​ที่​ควร. เรเบกกา ซึ่ง​เป็น​พยาบาล​แนะ​นำ​ว่า “เวลา​รับประทาน​อาหาร​เป็น​ช่วง​ฉุกละหุก​และ​เร่ง​รีบ. ดัง​นั้น ช่วง​นี้​แหละ​เหมาะ​สำหรับ​การ​เยี่ยม​เพื่อน​ผู้​สูง​อายุ​เพื่อ​จะ​ได้​ช่วย​ตัก​ช่วย​ป้อน​อาหาร​ให้​เขา​กิน.” พวก​เรา​ไม่​น่า​จะ​รีรอ​ใน​การ​เสนอ​ตัว​ช่วยเหลือ.

เมื่อ​เรา​จัด​การ​เยี่ยม​บ้าน​พัก​คน​ชรา​แห่ง​หนึ่ง​เป็น​ประจำ เรา​ก็​พอ​จะ​รู้​ว่า​พี่​น้อง​ผู้​สูง​อายุ​ขัดสน​หรือ​จำเป็น​ต้อง​มี​อะไร​บ้าง และ​ด้วย​การ​อนุญาต​ของ​คณะ​ทำ​งาน เรา​สามารถ​ริเริ่ม​คิด​หา​ทาง​ช่วย​พวก​เขา​ได้. ตัว​อย่าง​เช่น เรา​สามารถ​ตกแต่ง​ห้อง​ผู้​อยู่​อาศัย​ให้​ดู​สดชื่น​ด้วย​ภาพ​ของ​คน​ที่​เขา​รัก หรือ​ภาพ​วาด​โดย​ฝีมือ​เด็ก ๆ. ด้วย​การ​คำนึง​ถึง​สวัสดิภาพ​ของ​ผู้​อยู่​อาศัย เรา​อาจ​นำ​เสื้อ​คลุม​ชนิด​นุ่ม​ให้​ความ​อบอุ่น​สำหรับ​ใช้​เวลา​ไป​อาบ​น้ำ หรือ​ผลิตภัณฑ์​ของ​ใช้​เล็ก ๆ น้อย ๆ. หาก​บ้าน​พัก​คน​ชรา​มี​สนาม​หญ้า​หรือ​บริเวณ​สวน เรา​ก็​อาจ​พา​เพื่อน​ของ​เรา​ออก​ไป​เดิน​เล่น​รับ​อากาศ​ข้าง​นอก. ลอเรนซ์ ดัง​ที่​กล่าว​ข้าง​ต้น​พูด​ว่า “มัด​เลน​ตั้ง​ตา​คอย​การ​เยี่ยม​ของ​ฉัน​ทุก​สัปดาห์. เมื่อ​ฉัน​พา​เด็ก​มา​ด้วย เธอ​ยิ้ม​แย้ม​ทันที​และ​ตา​เป็น​ประกาย!” การ​ริเริ่ม​ทำ​อะไร​ต่าง ๆ ทำนอง​นี้​ย่อม​ส่ง​ผล​กระทบ​อย่าง​น่า​สังเกต​ต่อ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​อาศัย​ใน​บ้าน​พัก​คน​ชรา.—สุภา. 3:27.

เอื้อ​ประโยชน์​ซึ่ง​กัน​และ​กัน

การ​เยี่ยม​ผู้​สูง​อายุ​เป็น​ประจำ​จะ “ทดสอบ​ว่า [พวก​เรา] มี​ความ​รัก​แท้​แค่​ไหน.” (2 โค. 8:8) ใน​ทาง​ใด? อาจ​เป็น​เรื่อง​เศร้า​เสียใจ​สำหรับ​เรา​เมื่อ​มอง​เห็น​เพื่อน​อ่อน​กำลัง​ลง​เรื่อย ๆ และ​กะปลกกะเปลี้ย​มาก​ขึ้น. ลอเรนซ์​ยอม​รับ​ดัง​นี้: “ที​แรก เมื่อ​เห็น​สภาพ​ร่าง​กาย​มัด​เลน​ทรุดโทรม ฉัน​รู้สึก​สงสาร​เธอ​ถึง​กับ​ร้องไห้​ทุก​ครั้ง​หลัง​จาก​เยี่ยม​เธอ​แล้ว. แต่​ฉัน​ได้​มา​เข้าใจ​ว่า​การ​อธิษฐาน​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า​สามารถ​ช่วย​เรา​รับมือ​ความ​กลัว​และ​เรา​จึง​ให้​การ​หนุน​ใจ​ได้​มาก​แก่​คน​เหล่า​นั้น​ที่​เรา​เยี่ยม.” โรเบิร์ต​เคย​เยี่ยม​บราเดอร์​ลาร์​รี​เป็น​เวลา​หลาย​ปี เขา​เป็น​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ซึ่ง​ป่วย​ด้วย​โรค​พาร์กิน​สัน. โรเบิร์ต​เล่า​ว่า “การ​ป่วย​ของ​ลาร์​รี​ส่ง​ผล​กระทบ​อย่าง​รุนแรง จน​ผม​ไม่​สามารถ​จะ​เข้าใจ​สิ่ง​ที่​เขา​พูด​แม้​แต่​คำ​เดียว. แต่​ครั้น​เรา​อธิษฐาน​ด้วย​กัน ผม​ยัง​คง​ตระหนัก​ได้​ถึง​ความ​เชื่อ​ของ​เขา.”

เมื่อ​เรา​เยี่ยม​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ที่​สูง​อายุ เรา​ไม่​เพียง​ได้​ช่วย​เขา ทว่า​เรา​เอง​ก็​ได้​รับ​ประโยชน์. การ​ตก​ลง​ใจ​ของ​พวก​เขา​ที่​จะ​สนิท​ชิด​ใกล้​พระ​ยะโฮวา​ขณะ​ที่​ดำรง​ชีวิต​ท่ามกลาง​ผู้​คน​ที่​มี​ความ​เชื่อ​ต่าง​กัน​เป็น​บทเรียน​สอน​เรา​ให้​มี​ความ​เชื่อ​และ​แสดง​ความ​กล้า​หาญ. ความ​กระตือรือร้น​ของ​พวก​เขา​ที่​ต้องการ​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ ทั้ง ๆ ที่​สมรรถนะ​ใน​การ​ฟัง​หรือ​การ​มอง​เห็น​ของ​เขา​ไม่​ดี​เท่า​ที่​ควร​เช่น​นั้น​เน้น​จุด​เด่น​ที่​ว่า “มนุษย์​ดำรง​ชีวิต​ด้วย​อาหาร​อย่าง​เดียว​ไม่​ได้ แต่​ต้อง​ดำรง​ชีวิต​ด้วย​คำ​ตรัส​ทุก​คำ​ที่​ออก​มา​จาก​พระ​โอษฐ์​ของ​พระ​ยะโฮวา.” (มัด. 4:4) การ​ที่​พวก​เขา​ชื่นชม​ยินดี​กับ​สิ่ง​ธรรมดา ดัง​เช่น รอย​ยิ้ม​ของ​เด็ก​หรือ​การ​ร่วม​รับประทาน​อาหาร​ด้วย​กัน ผู้​สูง​อายุ​ก็​เตือน​เรา​ให้​อิ่ม​ใจ​พอ​ใจ​ใน​สิ่ง​ที่​เรา​มี​อยู่. ความ​รัก​ที่​พวก​เขา​มี​ต่อ​ค่า​นิยม​ฝ่าย​วิญญาณ​ย่อม​ช่วย​เรา​จัด​ลำดับ​ความ​สำคัญ​ได้​อย่าง​ถูก​ต้อง​เหมาะ​สม.

แท้​จริง ประชาคม​โดย​รวม​นั่น​แหละ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​การ​เกื้อ​หนุน​ที่​เรา​ให้​แก่​พวก​ผู้​สูง​อายุ. ทำไม​จึง​เป็น​เช่น​นั้น? เนื่อง​จาก​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​อ่อนแอ​ด้าน​สุขภาพ​ร่าง​กาย​ต้อง​พึ่ง​พา​ความ​รักใคร่​ฉัน​พี่​น้อง​มาก​ขึ้น พวก​เขา​จึง​ให้​โอกาส​ประชาคม​แสดง​ความ​เมตตา​สงสาร​มาก​ขึ้น. ดัง​นั้น พวก​เรา​ทุก​คน​ควร​คิด​คำนึง​เรื่อง​การ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​ผู้​สูง​อายุ ถือ​ว่า​เป็น​ส่วน​ของ​งาน​ปรนนิบัติ​รับใช้​กัน​และ​กัน แม้​จะ​เป็น​ช่วง​เวลา​ยาว​นาน. (1 เป. 4:10, 11) หาก​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม​นำ​หน้า​ใน​กิจกรรม​ด้าน​นี้ พวก​เขา​จะ​ช่วย​สมาชิก​ประชาคม​คน​อื่น ๆ เห็น​ว่า​กิจกรรม​แบบ​นี้​ของ​คริสเตียน​ไม่​ควร​จะ​ถูก​ละเลย. (ยเอศ. 34:15, 16) โดย​ความ​เต็ม​ใจ​และ​การ​เกื้อ​หนุน​ด้วย​ความ​รัก เรา​ทำ​ให้​เพื่อน​คริสเตียน​ผู้​สูง​อายุ​แน่​ใจ​ได้​ว่า​พวก​เขา​ไม่​ถูก​ลืม!

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 8 ทันที​ที่​เลขาธิการ​ประชาคม​รู้​ว่า​มี​พี่​น้อง​ย้าย​เข้า​ไป​อยู่​ที่​บ้าน​พัก​คน​ชรา​ใน​ท้อง​ที่​อื่น คง​เป็น​ประโยชน์​และ​เป็น​การ​แสดง​ความ​รัก​หาก​แจ้ง​พวก​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม​ท้อง​ที่​นั้น ๆ ทราบ​โดย​เร็ว.

[คำ​โปรย​หน้า 28]

“เมื่อ​คณะ​ทำ​งาน​ใน​บ้าน​พัก​คน​ชรา​สังเกต​ว่า​ถ้า​ใคร​คน​หนึ่ง​มี​คน​มา​เยี่ยม​เป็น​ประจำ ผู้​สูง​อายุ​คน​นั้น​ได้​รับ​การ​ดู​แล​ดี​ขึ้น”

[ภาพ​หน้า 26]

คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​จาก​ใจ​จริง​อาจ​ช่วย​เพื่อน​พยาน​ฯ​ผู้​สูง​อายุ​ให้​มี​ใจ​สงบ​ได้​อีก

[ภาพ​หน้า 26]

การ​ที่​เรา​แสดง​ความ​รัก​อัน​อบอุ่น​เป็น​การ​ให้​กำลังใจ​แก่​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ที่​สูง​อายุ