ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณโดยทำตามแบบอย่างของเปาโล

จงทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณโดยทำตามแบบอย่างของเปาโล

จง​ทำ​ความ​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ​โดย​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ของ​เปาโล

“ข้าพเจ้า​ได้​ต่อ​สู้​อย่าง​ดี​แล้ว ข้าพเจ้า​วิ่ง​จน​ถึง​เส้น​ชัย​แล้ว ข้าพเจ้า​ได้​รักษา ความ​เชื่อ​ไว้​แล้ว.”—2 ติโม. 4:7.

1, 2. เซาโล​ซึ่ง​มา​จาก​เมือง​ทาร์ซัส​เปลี่ยน​ชีวิต​ตัว​เอง​อย่าง​ไร และ​เขา​รับ​เอา​งาน​สำคัญ​อะไร?

ชาย​ผู้​นี้​มี​ปัญญา​เฉียบ​แหลม​และ​เป็น​คน​เฉียบขาด. แต่​เขา “ประพฤติ​ตาม​ความ​ปรารถนา​ทาง​กาย.” (เอเฟ. 2:3) ใน​เวลา​ต่อ​มา เขา​พรรณนา​ตัว​เขา​เอง​ว่า “เคย​เป็น​คน​หมิ่น​ประมาท​พระเจ้า เคย​ข่มเหง​คน​ของ​พระองค์ และ​เคย​เป็น​คน​โอหัง​บังอาจ.” (1 ติโม. 1:13) ชาย​ผู้​นี้​คือ​เซาโล​ซึ่ง​มา​จาก​เมือง​ทาร์ซัส.

2 ต่อ​มา เซาโล​เปลี่ยน​ชีวิต​ตัว​เอง​อย่าง​สิ้นเชิง. เขา​ทิ้ง​วิถี​ชีวิต​อย่าง​เดิม​แล้ว​พยายาม​อย่าง​หนัก​ที่​จะ “ไม่​ได้​ทำ​อะไร​เพื่อ​ประโยชน์​ส่วน​ตัว แต่​ทำ​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​คน​มาก​มาย.” (1 โค. 10:33) เขา​กลาย​เป็น​คน​อ่อน​สุภาพ​และ​แสดง​ความ​รัก​อัน​อ่อน​ละมุน​ต่อ​คน​ที่​เคย​ตก​เป็น​เหยื่อ​ความ​เป็น​ปฏิปักษ์​อย่าง​รุนแรง​ของ​เขา. (อ่าน 1 เทสซาโลนิเก 2:7, 8.) เขา​เขียน​อีก​ว่า “ข้าพเจ้า​ซึ่ง​เป็น​ผู้​ที่​เล็ก​น้อย​กว่า​ผู้​เล็ก​น้อย​ใน​เหล่า​ผู้​บริสุทธิ์​ได้​รับ​พระ​กรุณา​อัน​ใหญ่​หลวง​โดย​ทรง​โปรด​ให้​ข้าพเจ้า​ประกาศ​ให้​ชน​ต่าง​ชาติ​รู้​ข่าว​ดี​เรื่อง​ความ​มั่งคั่ง​ของ​พระ​คริสต์​ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​ที่​ไม่​อาจ​หยั่ง​รู้​ได้.”—เอเฟ. 3:7, 8.

3. การ​ศึกษา​จดหมาย​ของ​เปาโล​และ​บันทึก​เกี่ยว​กับ​งาน​รับใช้​ของ​ท่าน​อาจ​ช่วย​เรา​อย่าง​ไร?

3 เซาโล ซึ่ง​รู้​จัก​กัน​ใน​อีก​ชื่อ​หนึ่ง​ว่า​เปาโล ทำ​ความ​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ​อย่าง​โดด​เด่น. (กิจ. 13:9) วิธี​หนึ่ง​ซึ่ง​ช่วย​ให้​เรา​ก้าว​หน้า​ด้าน​ความ​จริง​อย่าง​รวด​เร็ว​ได้​แน่นอน​ก็​คือ​การ​ศึกษา​จดหมาย​ของ​เปาโล​และ​บันทึก​เกี่ยว​กับ​งาน​รับใช้​ของ​ท่าน​แล้ว​ก็​เลียน​แบบ​ความ​เชื่อ​ของ​ท่าน. (อ่าน 1 โครินท์ 11:1; ฮีบรู 13:7.) ให้​เรา​มา​ดู​กัน​ว่า​การ​ทำ​อย่าง​นั้น​จะ​ช่วย​กระตุ้น​เรา​อย่าง​ไร​ให้​สร้าง​กิจวัตร​ที่​ดี​ใน​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว, พัฒนา​ความ​รัก​แท้​ต่อ​ผู้​คน, และ​มี​ทัศนะ​ที่​เหมาะ​สม​ต่อ​ตัว​เรา​เอง.

กิจวัตร​ของ​เปาโล​ใน​เรื่อง​การ​ศึกษา

4, 5. เปาโล​ได้​รับ​ประโยชน์​อย่าง​ไร​จาก​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว?

4 เนื่อง​จาก​เปาโล​เป็น​ฟาริซาย​ที่​ได้​รับ​การ​สอน “โดย​ตรง​จาก​ท่าน​กามาลิเอล . . . ได้​รับ​การ​สั่ง​สอน​ให้​ปฏิบัติ​ตาม​บัญญัติ​ของ​บรรพบุรุษ​อย่าง​เคร่งครัด” ท่าน​จึง​มี​ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์​อยู่​แล้ว. (กิจ. 22:1-3; ฟิลิป. 3:4-6) ทันที​หลัง​จาก​รับ​บัพติสมา ท่าน “ไป​ยัง​คาบสมุทร​อาหรับ”—อาจ​เป็น​ทะเล​ทราย​ซีเรีย​หรือ​อาจ​เป็น​ที่​เงียบ​สงบ​แห่ง​ใด​แห่ง​หนึ่ง​ใน​คาบสมุทร​อาหรับ​ซึ่ง​เป็น​ที่​ที่​เหมาะ​แก่​การ​คิด​ใคร่ครวญ. (กลา. 1:17) ดู​เหมือน​ว่า​เปาโล​ต้องการ​ใคร่ครวญ​ข้อ​คัมภีร์​ต่าง ๆ ที่​พิสูจน์​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​เป็น​พระ​มาซีฮา. นอก​จาก​นั้น เปาโล​ต้องการ​เตรียม​ตัว​ให้​พร้อม​สำหรับ​งาน​ที่​รอ​ท่าน​อยู่. (อ่าน​กิจการ 9:15, 16, 20, 22.) เปาโล​ใช้​เวลา​คิด​ใคร่ครวญ​เรื่อง​ต่าง ๆ เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ.

5 ความ​รู้​และ​ความ​เข้าใจ​ลึกซึ้ง​ใน​พระ​คัมภีร์​ที่​เปาโล​ได้​จาก​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​ทำ​ให้​ท่าน​สามารถ​สอน​ความ​จริง​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ. ตัว​อย่าง​เช่น ณ ธรรมศาลา​เมือง​อันทิโอก​ใน​แคว้น​ปิซิเดีย เปาโล​ใช้​ข้อ​ความ​ที่​ยก​โดย​ตรง​จาก​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​อย่าง​น้อย​ห้า​ข้อ​เพื่อ​พิสูจน์​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​เป็น​พระ​มาซีฮา. เปาโล​ยัง​อ้าง​ถึง​หนังสือ​ศักดิ์สิทธิ์​หลาย​ครั้ง. เปาโล​ชัก​เหตุ​ผล​สนับสนุน​โดย​อาศัย​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​น่า​คล้อย​ตาม จน “ชาว​ยิว​กับ​ผู้​ที่​เปลี่ยน​มา​ถือ​ศาสนา​ยิว​หลาย​คน​ซึ่ง​นมัสการ​พระเจ้า​ก็​ตาม​เปาโล​กับ​บาร์นาบัส​ไป” เพื่อ​จะ​เรียน​รู้​มาก​ขึ้น. (กิจ. 13:14-44) หลาย​ปี​ต่อ​มา​เมื่อ​ชาว​ยิว​กลุ่ม​หนึ่ง​ซึ่ง​อยู่​ใน​กรุง​โรม​มา​หา​ท่าน​ที่​บ้าน​พัก​ของ​ท่าน เปาโล​ชี้​แจง​เรื่อง​ราว​ให้​พวก​เขา​ฟัง “โดย​อธิบาย​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​แก่​พวก​เขา​อย่าง​ถี่ถ้วน และ​โดย​การ​พูด​จูง​ใจ​พวก​เขา​ด้วย​เรื่อง​พระ​เยซู​ทั้ง​จาก​พระ​บัญญัติ​ที่​ทรง​ประทาน​ผ่าน​ทาง​โมเซ​และ​จาก​หนังสือ​ของ​พวก​ผู้​พยากรณ์.”—กิจ. 28:17, 22, 23.

6. อะไร​ช่วย​เปาโล​ให้​รักษา​ความ​เข้มแข็ง​ฝ่าย​วิญญาณ​เมื่อ​ถูก​ทดสอบ​ความ​เชื่อ?

6 เมื่อ​ถูก​ทดสอบ​ความ​เชื่อ เปาโล​ตรวจ​สอบ​พระ​คัมภีร์​ต่อ​ไป​และ​ได้​กำลัง​เข้มแข็ง​จาก​ข่าวสาร​ที่​เขียน​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า. (ฮีบรู 4:12) ขณะ​ถูก​คุม​ขัง​ใน​กรุง​โรม​ก่อน​ถูก​ประหาร เปาโล​ขอ​ติโมเธียว​ให้​นำ “พวก​ม้วน​หนังสือ” และ “ม้วน​ที่​เป็น​แผ่น​หนัง” มา​ให้​ท่าน. (2 ติโม. 4:13) เอกสาร​เหล่า​นั้น​คง​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ที่​เปาโล​ใช้​ใน​การ​ศึกษา​อย่าง​ลึกซึ้ง. การ​ได้​รับ​ความ​รู้​ใน​พระ​คัมภีร์​โดย​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ประจำ​สำคัญ​มาก​สำหรับ​เปาโล ทำ​ให้​ท่าน​สามารถ​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​อยู่​เสมอ.

7. คุณ​อาจ​ได้​ประโยชน์​อะไร​บ้าง​เมื่อ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ประจำ?

7 การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ประจำ​พร้อม​กับ​การ​คิด​รำพึง​โดย​มี​เป้าหมาย​เฉพาะ​จะ​ช่วย​เรา​ให้​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ. (ฮีบรู 5:12-14) ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ร้อง​เพลง​เกี่ยว​กับ​คุณค่า​ของ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ว่า “พระ​บัญญัติ​ที่​ออก​มา​จาก​พระ​โอษฐ์​ของ​พระองค์​นั้น​ดี​ประเสริฐ​สำหรับ​ข้าพเจ้า ประเสริฐ​กว่า​เงิน​ทอง​หลาย​พัน​ชั่ง. ข้อ​บัญญัติ​ของ​พระองค์​ทำ​ให้​ข้าพเจ้า​ฉลาด​กว่า​พวก​ศัตรู; ด้วย​ข้อ​เหล่า​นั้น​อยู่​กับ​ข้าพเจ้า​เสมอ. ข้าพเจ้า​ได้​ยั้ง​เท้า​ของ​ข้าพเจ้า​ให้​เว้น​เสีย​จาก​ทาง​ชั่ว​ทุก​ทาง, เพื่อ​ข้าพเจ้า​จะ​ได้​ประพฤติ​ตาม​พระ​วจนะ​ของ​พระองค์.” (เพลง. 119:72, 98, 101) คุณ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ส่วน​ตัว​เป็น​ประจำ​ไหม? คุณ​กำลัง​เตรียม​ตัว​ไว้​สำหรับ​การ​มอบหมาย​ใน​งาน​รับใช้​พระเจ้า​ที่​อาจ​ได้​รับ​ใน​วัน​ข้าง​หน้า​โดย​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ทุก​วัน​และ​คิด​รำพึง​สิ่ง​ที่​ได้​อ่าน​ไหม?

เซาโล​เรียน​รู้​ที่​จะ​รัก​ผู้​คน

8. เซาโล​ปฏิบัติ​อย่าง​ไร​ต่อ​คน​ที่​ไม่​ได้​ถือ​ลัทธิ​ยูดาย?

8 ก่อน​เข้า​มา​เป็น​คริสเตียน เซาโล​มี​ใจ​ร้อน​รน​ใน​การ​ปฏิบัติ​ศาสนา​ของ​เขา แต่​เขา​มี​ความ​ห่วงใย​น้อย​มาก​ต่อ​คน​ที่​ไม่​ได้​ถือ​ลัทธิ​ยูดา. (กิจ. 26:4, 5) เขา​มอง​ดู​พวก​ยิว​เอา​หิน​ขว้าง​สเตฟาโน​อย่าง​เห็น​ชอบ​ด้วย. สิ่ง​ที่​เซาโล​เห็น​คง​ต้อง​ทำ​ให้​เขา​ฮึก​หาญ โดย​อาจ​เห็น​ว่า​สม​ควร​แล้ว​ที่​สเตฟาโน​จะ​ถูก​ประหาร. (กิจ. 6:8-14; 7:54–8:1) บันทึก​ซึ่ง​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​บอก​ว่า “เซาโล​ก็​ทำ​ร้าย​ประชาคม โดย​บุก​เข้า​ไป​ตาม​บ้าน​แล้ว​ฉุด​ลาก​คริสเตียน​ทั้ง​ชาย​และ​หญิง​ไป​จำ​คุก​ไว้.” (กิจ. 8:3) เขา “ทำ​ถึง​ขนาด​ที่​ไป​ข่มเหง​พวก​เขา​ตาม​เมือง​ต่าง ๆ.”—กิจ. 26:11.

9. เซาโล​มี​ประสบการณ์​อะไร​ที่​ทำ​ให้​เขา​ทบทวน​วิธี​ที่​เขา​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​คน​เสีย​ใหม่?

9 เมื่อ​พระ​เยซู​เจ้า​ทรง​ปรากฏ​แก่​เซาโล เขา​กำลัง​เดิน​ทาง​ไป​เมือง​ดามัสกัส​เพื่อ​จะ​ข่มเหง​เหล่า​สาวก​ของ​พระ​คริสต์​ที่​นั่น. แสง​เจิดจ้า​อัน​เหนือ​ธรรมชาติ​จาก​พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า​ทำ​ให้​เซาโล​ตา​บอด​และ​ต้อง​พึ่ง​คน​อื่น​ให้​พา​เขา​ไป. เมื่อ​ถึง​ตอน​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใช้​อะนานีอัส​ให้​ช่วย​เซาโล​กลับ​มา​มอง​เห็น​เป็น​ปกติ​แล้ว เจตคติ​ของ​เซาโล​ต่อ​ผู้​คน​ก็​ได้​เปลี่ยน​ไป​อย่าง​ถาวร. (กิจ. 9:1-30) หลัง​จาก​เป็น​สาวก​ของ​พระ​คริสต์​แล้ว เขา​ได้​พยายาม​อย่าง​มาก​เพื่อ​จะ​ปฏิบัติ​ต่อ​ทุก​คน​แบบ​เดียว​กับ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ปฏิบัติ. นั่น​หมาย​ถึง​ว่า​เขา​ต้อง​ละ​เลิก​ความ​รุนแรง​และ “อยู่​อย่าง​สันติ​กับ​คน​ทั้ง​ปวง.”—อ่าน​โรม 12:17-21.

10, 11. เปาโล​แสดง​ความ​รัก​แท้​ต่อ​ผู้​คน​อย่าง​ไร?

10 เปาโล​ไม่​พอ​ใจ​เพียง​แค่​จะ​อยู่​อย่าง​สันติ​กับ​ผู้​อื่น. ท่าน​ต้องการ​แสดง​ความ​รัก​แท้​ต่อ​ผู้​คน และ​งาน​รับใช้​ของ​คริสเตียน​ทำ​ให้​ท่าน​มี​โอกาส​ทำ​อย่าง​นั้น. ใน​การ​เดิน​ทาง​รอบ​แรก​ฐานะ​มิชชันนารี ท่าน​ประกาศ​ข่าว​ดี​ใน​เอเชีย​น้อย. แม้​ถูก​ต่อ​ต้าน​อย่าง​รุนแรง เปาโล​และ​เพื่อน​ร่วม​งาน​จดจ่อ​อยู่​กับ​การ​ช่วย​คน​ที่​อ่อนน้อม​ให้​เข้า​มา​เป็น​คริสเตียน. พวก​เขา​กลับ​มา​เยี่ยม​เมือง​ลิสตรา​และ​อิโกนิอัน​อีก​ครั้ง แม้​ว่า​พวก​ผู้​ต่อ​ต้าน​ใน​สอง​เมือง​นี้​เคย​พยายาม​ฆ่า​เปาโล.—กิจ. 13:1-3; 14:1-7, 19-23.

11 ต่อ​มา เปาโล​และ​คณะ​ก็​ไป​สืบ​ค้น​หา​คน​ที่​พร้อม​จะ​ตอบรับ​ความ​จริง​ที่​เมือง​ฟิลิปปอย​ใน​แคว้น​มาซิโดเนีย. ผู้​เปลี่ยน​มา​ถือ​ศาสนา​ยิว​คน​หนึ่ง​ชื่อ​ลิเดีย​รับ​ฟัง​ข่าว​ดี​และ​เข้า​มา​เป็น​คริสเตียน. เจ้าหน้าที่​ฝ่าย​ปกครอง​ตี​เปาโล​และ​ซีลัส​ด้วย​ไม้​และ​จำ​คุก​ไว้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เปาโล​ประกาศ​กับ​ผู้​คุม​คุก ซึ่ง​ก็​ทำ​ให้​ผู้​คุม​กับ​ครอบครัว​รับ​บัพติสมา​เป็น​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา.—กิจ. 16:11-34.

12. อะไร​กระตุ้น​เซาโล​ผู้​โอหัง​บังอาจ​ให้​กลาย​เป็น​อัครสาวก​ผู้​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ของ​พระ​เยซู​คริสต์?

12 เหตุ​ใด​เซาโล​ซึ่ง​เคย​เป็น​ผู้​ข่มเหง​จึง​ยอม​รับ​เอา​ความ​เชื่อ​ของ​คน​ที่​เขา​เคย​ข่มเหง? อะไร​กระตุ้น​ชาย​ผู้​โอหัง​บังอาจ​ให้​กลาย​เป็น​อัครสาวก​ผู้​กรุณา​และ​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก ซึ่ง​เต็ม​ใจ​เสี่ยง​ชีวิต​เพื่อ​ผู้​อื่น​จะ​เรียน​ความ​จริง​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า​และ​พระ​คริสต์​ได้? เปาโล​เอง​อธิบาย​ว่า “พระเจ้า​ผู้ . . . ทรง​เรียก​ข้าพเจ้า​ด้วย​พระ​กรุณา​อัน​ใหญ่​หลวง​ของ​พระองค์​ทรง​เห็น​ชอบ​ให้​มี​การ​เปิด​เผย​เรื่อง​พระ​บุตร​ของ​พระองค์​โดย​ทาง​ข้าพเจ้า.” (กลา. 1:15, 16) เปาโล​เขียน​ถึง​ติโมเธียว​ว่า “ข้าพเจ้า​ได้​รับ​พระ​เมตตา​นั้น​ก็​เพื่อ​พระ​คริสต์​เยซู​จะ​ทรง​ใช้​ข้าพเจ้า​เป็น​ตัว​อย่าง​อัน​โดด​เด่น​เพื่อ​แสดง​ให้​คน​ที่​จะ​เชื่อ​และ​วางใจ​พระองค์​โดย​หวัง​จะ​ได้​รับ​ชีวิต​นิรันดร์​นั้น​ได้​เห็น​เป็น​ตัว​อย่าง​ว่า​พระองค์​ทรง​อด​กลั้น​ไว้​นาน​เพียง​ไร.” (1 ติโม. 1:16) พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​อภัย​เปาโล และ​การ​ที่​ท่าน​ได้​รับ​พระ​เมตตา​กรุณา​อย่าง​ใหญ่​หลวง​กระตุ้น​ท่าน​ให้​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​ผู้​อื่น​โดย​ประกาศ​ข่าว​ดี​ให้​พวก​เขา​ฟัง.

13. อะไร​น่า​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​ผู้​อื่น และ​เรา​อาจ​ทำ​อย่าง​นั้น​โดย​วิธี​ใด?

13 พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​อภัย​บาป​และ​ข้อ​ผิด​พลาด​ของ​เรา​คล้าย ๆ กัน​นั้น. (เพลง. 103:8-14) ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ถาม​ว่า “ข้า​แต่​พระ​ยะโฮวา, ถ้า​หาก​พระองค์​จะ​ทรง​จด​จำ​การ​อสัตย์​อธรรม​ทั้ง​หมด​ไว้, ใคร​จะ​ทน​ไหว?” (เพลง. 130:3) ถ้า​พระเจ้า​ไม่​ทรง​เมตตา ไม่​มี​ใคร​ใน​พวก​เรา​จะ​ได้​รับ​ความ​ยินดี​จาก​การ​รับใช้​อัน​ศักดิ์สิทธิ์ และ​เรา​ก็​จะ​ไม่​สามารถ​คาด​หวัง​ว่า​จะ​ได้​รับ​ชีวิต​นิรันดร์. พระ​กรุณา​อัน​ใหญ่​หลวง​ที่​พระเจ้า​ทรง​สำแดง​ต่อ​เรา​ทุก​คน​นั้น​ยิ่ง​ใหญ่​จริง ๆ. ด้วย​เหตุ​นั้น เรา​ควร​ปรารถนา​เช่น​เดียว​กับ​เปาโล​ที่​จะ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​คน​อื่น ๆ โดย​ประกาศ​และ​สอน​ความ​จริง​แก่​พวก​เขา​และ​โดย​ช่วย​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ให้​เข้มแข็ง.—อ่าน​กิจการ 14:21-23.

14. เรา​อาจ​สามารถ​ขยาย​งาน​รับใช้​ของ​เรา​อย่าง​ไร?

14 เปาโล​ต้องการ​ก้าว​หน้า​ใน​ฐานะ​เป็น​ผู้​ประกาศ​ข่าว​ดี และ​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​ทำ​ให้​ท่าน​ประทับใจ​มาก. วิธี​หนึ่ง​ที่​พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า​ทรง​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​ผู้​คน​อย่าง​ที่​ไม่​มี​ใคร​เทียบ​ได้​ก็​คือ​โดย​ทาง​งาน​ประกาศ. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “การ​เกี่ยว​เป็น​งาน​ใหญ่ แต่​คน​งาน​มี​น้อย. ฉะนั้น จง​ขอ​เจ้าของ​งาน​เกี่ยว​ให้​ส่ง​คน​งาน​ออก​ไป​ใน​งาน​เกี่ยว​ของ​พระองค์.” (มัด. 9:35-38) เปาโล​ลง​มือ​ทำ​สอดคล้อง​กับ​คำ​ขอ​ที่​ท่าน​อาจ​ได้​ขอ​เพื่อ​จะ​มี​คน​งาน​มาก​ขึ้น​ด้วย​การ​ทำ​งาน​อย่าง​ขันแข็ง. คุณ​ล่ะ​เป็น​อย่าง​ไร? คุณ​จะ​ปรับ​ปรุง​คุณภาพ​งาน​รับใช้​ของ​คุณ​ได้​ไหม? หรือ​คุณ​จะ​เพิ่ม​เวลา​ที่​คุณ​ใช้​ใน​การ​ประกาศ​ราชอาณาจักร หรือ​แม้​แต่​อาจ​จัด​ชีวิต​เสีย​ใหม่​เพื่อ​เป็น​ไพโอเนียร์​ได้​ไหม? ให้​เรา​แสดง​ความ​รัก​แท้​ต่อ​คน​อื่น ๆ โดย​ช่วย​พวก​เขา​ให้ “ยึด​มั่น​กับ​พระ​คำ​ที่​ให้​ชีวิต.”—ฟิลิป. 2:16.

เปาโล​มอง​ตัว​เอง​อย่าง​ไร?

15. เปาโล​มอง​ตัว​เอง​อย่าง​ไร​ใน​แง่​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เพื่อน​คริสเตียน?

15 ใน​ฐานะ​คริสเตียน​ที่​เป็น​ผู้​รับใช้​พระเจ้า เปาโล​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​โดด​เด่น​ไว้​สำหรับ​เรา​ใน​อีก​ทาง​หนึ่ง. แม้​ท่าน​ได้​รับ​สิทธิ​พิเศษ​หลาย​อย่าง​ใน​ประชาคม​คริสเตียน แต่​เปาโล​ตระหนัก​ดี​ว่า​ที่​ท่าน​ได้​รับ​พระ​พร​เหล่า​นั้น​ไม่​ใช่​เพราะ​ความ​สามารถ​ของ​ท่าน. ท่าน​ตระหนัก​ว่า​พระ​พร​ที่​ท่าน​ได้​รับ​นั้น​แสดง​ให้​เห็น​ถึง​พระ​กรุณา​อัน​ใหญ่​หลวง​ของ​พระเจ้า. เปาโล​ตระหนัก​ว่า​คริสเตียน​คน​อื่น ๆ ก็​เป็น​ผู้​ประกาศ​ข่าว​ดี​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​ด้วย. แม้​ว่า​มี​ตำแหน่ง​อัน​มี​เกียรติ​ใน​หมู่​ประชาชน​ของ​พระเจ้า แต่​ท่าน​ก็​ยัง​คง​ถ่อม​ใจ.—อ่าน 1 โครินท์ 15:9-11.

16. เปาโล​แสดง​ความ​ถ่อม​ใจ​และ​เจียม​ตัว​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​ประเด็น​เรื่อง​การ​รับ​สุหนัต?

16 ขอ​ให้​พิจารณา​วิธี​ที่​เปาโล​จัด​การ​กับ​ปัญหา​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​เมือง​อันทิโอก แคว้น​ซีเรีย. ประชาคม​คริสเตียน​ที่​นั่น​เกิด​การ​แตก​แยก​กัน​ด้วย​เรื่อง​การ​รับ​สุหนัต. (กิจ. 14:26–15:2) เนื่อง​จาก​เปาโล​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​ให้​นำ​หน้า​ใน​การ​ประกาศ​แก่​คน​ต่าง​ชาติ​ที่​ไม่​ได้​รับ​สุหนัต ท่าน​อาจ​คิด​ว่า​ตัว​เอง​เป็น​ผู้​เชี่ยวชาญ​ใน​การ​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คน​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​ยิว​และ​ด้วย​เหตุ​นั้น​จึง​มี​คุณสมบัติ​เหมาะ​สม​ที่​จะ​แก้​ปัญหา​นี้. (อ่าน​กาลาเทีย 2:8, 9.) อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​ท่าน​พยายาม​แก้ไข​เรื่อง​นั้น​แต่​ไม่​สำเร็จ ท่าน​ก็​ดำเนิน​การ​ต่อ​ไป​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ​และ​เจียม​ตัว​โดย​เข้า​หา​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​ให้​ช่วย​พิจารณา​เรื่อง​นั้น. ท่าน​ให้​ความ​ร่วม​มือ​อย่าง​เต็ม​ที่​ขณะ​สมาชิก​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​รับ​ฟัง​เรื่อง​ราว, ตัดสิน, และ​มอบหมาย​ท่าน​ให้​เป็น​ผู้​ส่ง​ข่าว​ร่วม​กับ​คน​อื่น ๆ. (กิจ. 15:22-31) ดัง​นั้น เปาโล “นำ​หน้า​ใน​การ​ให้​เกียรติ” เพื่อน​ผู้​รับใช้.—โรม 12:10ข.

17, 18. (ก) เปาโล​มี​ความ​รู้สึก​อย่าง​ไร​ต่อ​คน​อื่น ๆ ใน​ประชาคม? (ข) ปฏิกิริยา​ของ​ผู้​ปกครอง​ประชาคม​เอเฟโซส์​เมื่อ​เปาโล​จาก​ไป​บอก​อะไร​เรา​เกี่ยว​กับ​ท่าน?

17 เปาโล​ผู้​มี​ใจ​ถ่อม​ไม่​ได้​ทำ​ตัว​ห่าง​เหิน​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น ท่าน​คลุกคลี​ใกล้​ชิด​กับ​พี่​น้อง. เมื่อ​ถึง​ตอน​ท้าย​จดหมาย​ที่​ท่าน​เขียน​ถึง​พี่​น้อง​ใน​กรุง​โรม ท่าน​ฝาก​คำ​ทักทาย​พี่​น้อง​มาก​กว่า 20 คน​โดย​ออก​ชื่อ​พี่​น้อง​เหล่า​นั้น. พี่​น้อง​เหล่า​นี้​ส่วน​ใหญ่​ไม่​เคย​ถูก​เอ่ย​ถึง​ใน​ที่​อื่น​ของ​พระ​คัมภีร์ และ​มี​ไม่​กี่​คน​ที่​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​พิเศษ. แต่​พวก​เขา​เป็น​ผู้​รับใช้​ที่​ภักดี​ของ​พระ​ยะโฮวา และ​เปาโล​รัก​พวก​เขา​อย่าง​ยิ่ง.—โรม 16:1-16.

18 กิริยา​ท่าที​ที่​เป็น​มิตร​และ​ถ่อม​ใจ​ของ​เปาโล​ช่วย​เสริม​ประชาคม​ให้​เข้มแข็ง. หลัง​จาก​ท่าน​พบ​กับ​ผู้​ปกครอง​จาก​เมือง​เอเฟโซส์​ครั้ง​สุด​ท้าย พวก​เขา “กอด​เปาโล​และ​จูบ​เขา เพราะ​พวก​เขา​เป็น​ทุกข์​มาก​เนื่อง​จาก​เปาโล​บอก​ว่า​พวก​เขา​จะ​ไม่​เห็น​หน้า​เปาโล​อีก.” การ​จาก​ไป​ของ​คน​ที่​เย่อหยิ่ง​และ​ทำ​ตัว​ห่าง​เหิน​คน​อื่น​คง​ไม่​ทำ​ให้​เกิด​ปฏิกิริยา​อย่าง​นี้.—กิจ. 20:37, 38.

19. เรา​จะ​แสดง ‘ความ​ถ่อม​ใจ’ ได้​อย่าง​ไร​ใน​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​เพื่อน​คริสเตียน?

19 ทุก​คน​ที่​ปรารถนา​จะ​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ​ต้อง​แสดง​น้ำใจ​ถ่อม​แบบ​เดียว​กับ​เปาโล. ท่าน​กระตุ้น​เพื่อน​คริสเตียน​ว่า​อย่า “ทำ​อะไร​ด้วย​น้ำใจ​ชิง​ดี​ชิง​เด่น​หรือ​ด้วย​ความ​ถือ​ดี แต่​ให้​ถ่อม​ใจ​ถือ​ว่า​คน​อื่น​ดี​กว่า​ตัว.” (ฟิลิป. 2:3) เรา​จะ​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​นั้น​ได้​อย่าง​ไร? วิธี​หนึ่ง​ก็​คือ​โดย​ร่วม​มือ​กับ​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​และ​ยอม​รับ​การ​ตัดสิน​ของ​พวก​เขา. (อ่าน​ฮีบรู 13:17.) อีก​วิธี​หนึ่ง​ก็​คือ​โดย​ให้​ความ​นับถือ​อย่าง​สูง​ต่อ​พี่​น้อง​ทุก​คน​ใน​ประชาคม. ประชาคม​แห่ง​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​มัก​ประกอบ​ด้วย​ผู้​คน​ที่​มี​ภูมิหลัง​จาก​ชาติ, วัฒนธรรม, เชื้อชาติ, และ​ชาติ​พันธุ์​หลาก​หลาย. แม้​กระนั้น เรา​น่า​จะ​เรียน​รู้​ที่​จะ​ปฏิบัติ​ต่อ​ทุก​คน​อย่าง​ไม่​มี​อคติ​และ​ด้วย​ความ​รัก​เช่น​เดียว​กับ​เปาโล​มิ​ใช่​หรือ? (กิจ. 17:26; โรม 12:10​ก) เรา​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​ให้ “ต้อนรับ​กัน​อย่าง​ที่​พระ​คริสต์​ทรง​ต้อนรับ​เรา​ด้วย เพื่อ​พระเจ้า​จะ​ได้​รับ​พระ​เกียรติ.”—โรม 15:7.

“วิ่ง​ด้วย​ความ​เพียร​อด​ทน” ใน​การ​วิ่ง​แข่ง​เพื่อ​ชีวิต

20, 21. อะไร​จะ​ช่วย​เรา​ให้​วิ่ง​แข่ง​เพื่อ​ชีวิต​ได้​สำเร็จ?

20 ชีวิต​ของ​คริสเตียน​อาจ​เปรียบ​ได้​กับ​การ​วิ่ง​แข่ง​ระยะ​ไกล. เปาโล​เขียน​ว่า “ข้าพเจ้า​ได้​ต่อ​สู้​อย่าง​ดี​แล้ว ข้าพเจ้า​วิ่ง​จน​ถึง​เส้น​ชัย​แล้ว ข้าพเจ้า​ได้​รักษา​ความ​เชื่อ​ไว้​แล้ว. ตั้ง​แต่​นี้​ไป มี​มงกุฎ​แห่ง​ความ​ชอบธรรม​ไว้​สำหรับ​ข้าพเจ้า ซึ่ง​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ผู้​พิพากษา​องค์​ชอบธรรม​จะ​ทรง​ประทาน​แก่​ข้าพเจ้า​เป็น​รางวัล​ใน​วัน​นั้น และ​ไม่​เพียง​ข้าพเจ้า​เท่า​นั้น แต่​จะ​ทรง​ประทาน​แก่​ทุก​คน​ที่​ปรารถนา​จะ​เห็น​การ​ปรากฏ​ของ​พระองค์.”—2 ติโม. 4:7, 8.

21 การ​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ของ​เปาโล​จะ​ช่วย​เรา​วิ่ง​แข่ง​เพื่อ​ชีวิต​นิรันดร์​ได้​สำเร็จ. (ฮีบรู 12:1) ดัง​นั้น ขอ​ให้​เรา​ทำ​ความ​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ​ต่อ ๆ ไป​อย่าง​เต็ม​ที่​โดย​พัฒนา​นิสัย​ที่​ดี​ใน​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​เป็น​ประจำ, พัฒนา​ความ​รัก​อย่าง​แท้​จริง​ต่อ​ผู้​คน, และ​รักษา​ความ​ถ่อม​ใจ​ไว้​เสมอ.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• เปาโล​ได้​รับ​ประโยชน์​อย่าง​ไร​จาก​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​เป็น​ส่วน​ตัว​เป็น​ประจำ?

• เหตุ​ใด​การ​มี​ความ​รัก​อย่าง​ลึกซึ้ง​ต่อ​ผู้​คน​จึง​สำคัญ​สำหรับ​คริสเตียน​แท้?

• การ​มี​คุณลักษณะ​อะไร​บ้าง​จะ​ช่วย​คุณ​ให้​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​อย่าง​ไม่​มี​อคติ?

• ตัว​อย่าง​ของ​เปาโล​อาจ​ช่วย​คุณ​ได้​อย่าง​ไร​ให้​ร่วม​มือ​กับ​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 23]

จง​เสริม​ความ​เข้มแข็ง​ด้วย​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​เหมือน​ที่​เปาโล​ทำ

[ภาพ​หน้า 24]

จง​แสดง​ความ​รัก​โดย​บอก​ข่าว​ดี​แก่​คน​อื่น ๆ

[ภาพ​หน้า 25]

คุณ​รู้​ไหม​ว่า​ทำไม​พี่​น้อง​จึง​รัก​เปาโล​อย่าง​ยิ่ง?