ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เราควรปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร?

เราควรปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร?

เรา​ควร​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​อย่าง​ไร?

“เจ้า​ทั้ง​หลาย​ต้องการ​ให้​คน​อื่น​ทำ​ต่อ​เจ้า​อย่าง​ไร จง​ทำ​อย่าง​นั้น​ต่อ​เขา.”—ลูกา 6:31.

1, 2. (ก) คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​คือ​อะไร? (ข) เรา​จะ​พิจารณา​อะไร​ใน​บทความ​นี้​และ​บทความ​ถัด​ไป?

พระ​เยซู​คริสต์​ทรง​เป็น​ครู​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่​อย่าง​แท้​จริง. ครั้ง​หนึ่ง เมื่อ​พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ศัตรู​ของ​พระองค์​ส่ง​คน​ไป​จับ​พระองค์ พวก​เจ้าหน้าที่​เหล่า​นั้น​กลับ​มา​มือ​เปล่า​และ​กล่าว​ว่า “ไม่​เคย​มี​ใคร​พูด​เหมือน​คน​นี้​เลย.” (โย. 7:32, 45, 46) คำ​บรรยาย​หนึ่ง​ที่​ยอด​เยี่ยม​ของ​พระ​เยซู​ได้​แก่​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา. คำ​เทศน์​นี้​มี​บันทึก​ไว้​ใน​หนังสือ​กิตติคุณ​ของ​มัดธาย​บท 5 ถึง​บท 7 และ​มี​ข้อ​ความ​คล้าย ๆ กัน​ที่​ลูกา 6:20-49. *

2 คำ​ตรัส​ที่​อาจ​นับ​ได้​ว่า​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​มาก​ที่​สุด​ใน​คำ​เทศน์​นั้น​ก็​คือ​คำ​ตรัส​ที่​มัก​เรียก​กัน​ว่า​กฎ​ทอง. คำ​ตรัส​นี้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​วิธี​ที่​เรา​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “เจ้า​ทั้ง​หลาย​ต้องการ​ให้​คน​อื่น​ทำ​ต่อ​เจ้า​อย่าง​ไร จง​ทำ​อย่าง​นั้น​ต่อ​เขา.” (ลูกา 6:31) และ​พระองค์​ทรง​ทำ​ดี​ต่อ​ผู้​คน​จริง ๆ! พระ​เยซู​ทรง​รักษา​คน​ป่วย​และ​แม้​แต่​ปลุก​คน​ที่​เสีย​ชีวิต​ให้​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย. แต่​ผู้​คน​ได้​รับ​พระ​พร​เป็น​พิเศษ​เมื่อ​เขา​ตอบรับ​ข่าว​ดี​ที่​พระองค์​ทรง​สอน. (อ่าน​ลูกา 7:20-22.) พวก​เรา​ที่​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ยินดี​เข้า​ร่วม​ใน​งาน​ประกาศ​เรื่อง​ราชอาณาจักร​คล้าย ๆ กัน​นั้น. (มัด. 24:14; 28:19, 20) ใน​บทความ​นี้​และ​บทความ​ถัด​ไป เรา​จะ​พิจารณา​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​เกี่ยว​กับ​งาน​นี้ รวม​ทั้ง​แง่​มุม​อื่น ๆ ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​ซึ่ง​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​เรา​ควร​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น.

มี​จิตใจ​อ่อนโยน

3. คุณ​จะ​ให้​คำ​จำกัดความ​ของ​คำ​ว่า​จิตใจ​อ่อนโยน​อย่าง​ไร?

3 พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “คน​ที่​จิตใจ​อ่อนโยน​ก็​มี​ความ​สุข เพราะ​เขา​จะ​ได้​รับ​แผ่นดิน​โลก​เป็น​มรดก.” (มัด. 5:5) ใน​พระ​คัมภีร์ การ​เป็น​คน​จิตใจ​อ่อนโยน​ไม่​เกี่ยว​ข้อง​เลย​กับ​การ​เป็น​คน​อ่อนแอ. การ​มี​จิตใจ​อ่อนโยน​คือ​การ​แสดง​ความ​สุภาพ​นุ่มนวล​ตาม​ข้อ​เรียก​ร้อง​ของ​พระเจ้า. เจตคติ​นี้​สะท้อน​ออก​มา​ให้​เห็น​ใน​วิธี​ที่​เรา​ปฏิบัติ​ต่อ​เพื่อน​มนุษย์. ตัว​อย่าง​เช่น เรา​ไม่ “ทำ​ชั่ว​ตอบ​แทน​ชั่ว​แก่​ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด.”—โรม 12:17-19.

4. เหตุ​ใด​คน​ที่​จิตใจ​อ่อนโยน​จึง​มี​ความ​สุข?

4 คน​ที่​จิตใจ​อ่อนโยน​มี​ความ​สุข​เพราะ “เขา​จะ​ได้​รับ​แผ่นดิน​โลก​เป็น​มรดก.” พระ​เยซู​ผู้ “อ่อนโยน​และ​ถ่อม​ใจ” ทรง​เป็น “ผู้​รับ​มรดก​ทั้ง​มวล” และ​ด้วย​เหตุ​นั้น​จึง​ทรง​เป็น​บุคคล​หลัก​ที่​จะ​ได้​รับ​แผ่นดิน​โลก​เป็น​มรดก​ใน​ฐานะ​ผู้​ปกครอง. (มัด. 11:29; ฮีบรู 1:2; เพลง. 2:8) มี​การ​บอก​ไว้​ล่วง​หน้า​ว่า​จะ​มี​ผู้​ร่วม​ปกครอง​ราชอาณาจักร​ใน​สวรรค์​กับ​พระ​มาซีฮา​ผู้​ถูก​เรียก​ว่า “บุตร​ของ​มนุษย์.” (ดานิ. 7:13, 14, 21, 22, 27) ชน​ผู้​ถูก​เจิม​ที่​จิตใจ​อ่อนโยน 144,000 คน ซึ่ง​เป็น “ผู้​รับ​มรดก​ร่วม​กับ​พระ​คริสต์” จะ​ร่วม​รับ​แผ่นดิน​โลก​เป็น​มรดก​กับ​พระ​เยซู​ด้วย. (โรม 8:16, 17; วิ. 14:1) ผู้​มี​จิตใจ​อ่อนโยน​คน​อื่น ๆ จะ​ได้​รับ​พระ​พร​ให้​มี​ชีวิต​นิรันดร์​บน​แผ่นดิน​โลก​นี้​ที่​อยู่​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​ราชอาณาจักร.—เพลง. 37:11.

5. การ​มี​ความ​อ่อนโยน​แบบ​พระ​คริสต์​มี​ผล​ต่อ​บุคลิกภาพ​ของ​เรา​อย่าง​ไร?

5 ถ้า​เรา​เป็น​คน​หยาบ​กระด้าง นั่น​คง​จะ​เหมือน​กับ​ว่า​เรา​กำลัง​ทดสอบ​ความ​อด​ทน​ของ​คน​อื่น ๆ และ​ทำ​ให้​คน​อื่น​ไม่​อยาก​อยู่​ใกล้​เรา. แต่​การ​มี​ความ​อ่อนโยน​เหมือน​พระ​คริสต์​ทำ​ให้​เรา​เป็น​สมาชิก​ที่​น่า​รัก​ของ​ประชาคม​และ​เสริม​สร้าง​ผู้​อื่น​ฝ่าย​วิญญาณ. ความ​อ่อนโยน​เป็น​ผล​อย่าง​หนึ่ง​ที่​พลัง​ปฏิบัติการ​ของ​พระเจ้า​ก่อ​ให้​เกิด​ขึ้น​ภาย​ใน​ตัว​เรา ถ้า​เรา “ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ.” (อ่าน​กาลาเทีย 5:22-25.) แน่นอน เรา​ต้องการ​ถูก​นับ​ว่า​เป็น​คน​จิตใจ​อ่อนโยน​ที่​ได้​รับ​การ​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระ​ยะโฮวา!

คน​ที่​เมตตา​ช่าง​มี​ความ​สุข​สัก​เพียง​ไร!

6. “คน​ที่​เมตตา” มี​คุณลักษณะ​เด่น​อะไร?

6 ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา พระ​เยซู​ยัง​ตรัส​ด้วย​ว่า “คน​ที่​เมตตา​ก็​มี​ความ​สุข เพราะ​เขา​จะ​ได้​รับ​ความ​เมตตา.” (มัด. 5:7) “คน​ที่​เมตตา” มี​ความ​เห็น​ใจ, คำนึง​ถึง​ความ​รู้สึก, และ​แม้​กระทั่ง​สงสาร​คน​ที่​เสีย​เปรียบ​ทาง​สังคม. พระ​เยซู​ทรง​ทำ​การ​อัศจรรย์​เพื่อ​ช่วย​บรรเทา​ทุกข์​ให้​ประชาชน​เพราะ​พระองค์ “ทรง​รู้สึก​สงสาร.” (มัด. 14:14; 20:34) ความ​สงสาร​และ​ความ​เห็น​ใจ​จึง​น่า​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​แสดง​ความ​เมตตา.—ยโก. 2:13.

7. ความ​สงสาร​กระตุ้น​พระ​เยซู​ให้​ทำ​อะไร?

7 เมื่อ​คน​กลุ่ม​หนึ่ง​มา​พบ​พระ​เยซู​ขณะ​ทรง​ไป​พักผ่อน “พระองค์​ทรง​รู้สึก​สงสาร​พวก​เขา​เพราะ​พวก​เขา​เป็น​เหมือน​แกะ​ที่​ไม่​มี​ผู้​เลี้ยง.” ด้วย​เหตุ​นั้น “พระองค์​จึง​ทรง​สอน​พวก​เขา​หลาย​เรื่อง.” (มโก. 6:34) เรา​จะ​มี​ความ​ยินดี​สัก​เพียง​ไร​เมื่อ​เรา​ทำ​คล้าย ๆ กัน​โดย​บอก​คน​อื่น​เกี่ยว​กับ​ข่าวสาร​เรื่อง​ราชอาณาจักร​และ​พระ​เมตตา​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​ของ​พระเจ้า!

8. เหตุ​ใด​คน​ที่​เมตตา​จึง​มี​ความ​สุข?

8 คน​ที่​เมตตา​มี​ความ​สุข​เพราะ​เขา “จะ​ได้​รับ​ความ​เมตตา.” เมื่อ​เรา​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​คน​ด้วย​ความ​เมตตา ตาม​ปกติ​แล้ว​พวก​เขา​ก็​จะ​ตอบ​สนอง​คล้าย ๆ กัน. (ลูกา 6:38) นอก​จาก​นั้น พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “ถ้า​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ให้​อภัย​การ​ผิด​ที่​มนุษย์​ทำ​ต่อ​เจ้า พระ​บิดา​ของ​เจ้า​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​ก็​จะ​ให้​อภัย​เจ้า​ด้วย.” (มัด. 6:14) เฉพาะ​คน​ที่​เมตตา​เท่า​นั้น​ที่​จะ​ได้​รับ​การ​อภัย​บาป​และ​ความ​พอ​พระทัย​จาก​พระเจ้า ซึ่ง​เป็น​เหตุ​ให้​เขา​มี​ความ​สุข.

เหตุ​ใด “ผู้​ที่​สร้าง​สันติ” จึง​มี​ความ​สุข?

9. เรา​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​ถ้า​เรา​เป็น​คน​ที่​สร้าง​สันติ?

9 พระ​เยซู​ทรง​อ้าง​ถึง​เหตุ​ผล​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​มี​ความ​สุข​โดย​ตรัส​ว่า “ผู้​ที่​สร้าง​สันติ​ก็​มี​ความ​สุข เพราะ​เขา​จะ​ได้​ชื่อ​ว่า ‘บุตร​ของ​พระเจ้า.’ ” (มัด. 5:9) ถ้า​เรา​เป็น​คน​สร้าง​สันติ เรา​จะ​ไม่​มอง​ข้าม​หรือ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​กระทำ​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง​ที่​อาจ “กระทำ​ให้​มิตร​สนิท​แตก​แยก​กัน” เช่น​การ​พูด​ใส่​ร้าย. (สุภา. 16:28) ทั้ง​ทาง​คำ​พูด​และ​การ​กระทำ เรา​จะ​พยายาม​สร้าง​สันติ​สุข​กับ​ผู้​คน​ทั้ง​ภาย​ใน​และ​ภาย​นอก​ประชาคม​คริสเตียน. (ฮีบรู 12:14) โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง เรา​จะ​พยายาม​เต็ม​ที่​เพื่อ​จะ​มี​สันติ​สุข​กับ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า.—อ่าน 1 เปโตร 3:10-12.

10. เหตุ​ใด “ผู้​ที่​สร้าง​สันติ” จึง​มี​ความ​สุข?

10 พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “ผู้​ที่​สร้าง​สันติ” มี​ความ​สุข “เพราะ​เขา​จะ​ได้​ชื่อ​ว่า ‘บุตร​ของ​พระเจ้า.’ ” เนื่อง​จาก​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​แสดง​ความ​เชื่อ​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​เป็น​พระ​มาซีฮา พวก​เขา​จึง​มี “สิทธิ์​เป็น​บุตร​ของ​พระเจ้า.” (โย. 1:12; 1 เป. 2:24) จะ​ว่า​อย่าง​ไร​สำหรับ “แกะ​อื่น” ของ​พระ​เยซู​ที่​เป็น​ผู้​สร้าง​สันติ? พระองค์​จะ​ทรง​เป็น “พระ​บิดา​องค์​ถาวร” ของ​พวก​เขา​ใน​ช่วง​รัชสมัย​พัน​ปี​ที่​ทรง​ปกครอง​กับ​รัชทายาท​ร่วม​ใน​สวรรค์. (โย. 10:14, 16; ยซา. 9:6; วิ. 20:6) เมื่อ​รัช​สมัย​พัน​ปี​สิ้น​สุด​ลง ผู้​สร้าง​สันติ​เหล่า​นั้น​จะ​ได้​เป็น​บุตร​ของ​พระเจ้า​ทาง​แผ่นดิน​โลก​ใน​ความ​หมาย​ครบ​ถ้วน​เต็ม​ที่.—1 โค. 15:27, 28.

11. เรา​จะ​ปฏิบัติ​ต่อ​คน​อื่น ๆ อย่าง​ไร​ถ้า​เรา​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​โดย “สติ​ปัญญา​จาก​เบื้อง​บน”?

11 เพื่อ​จะ​มี​สาย​สัมพันธ์​อัน​ใกล้​ชิด​กับ​พระ​ยะโฮวา “พระเจ้า​แห่ง​สันติ​สุข” เรา​ต้อง​เลียน​แบบ​คุณลักษณะ​ของ​พระองค์ รวม​ถึง​การ​เป็น​ผู้​สร้าง​สันติ. (ฟิลิป. 4:9) ถ้า​เรา​พร้อม​จะ​ให้ “สติ​ปัญญา​จาก​เบื้อง​บน” ชี้​นำ เรา​จะ​ปฏิบัติ​ต่อ​คน​อื่น​อย่าง​ที่​มี​สันติ​สุข. (ยโก. 3:17) จริง​ที​เดียว เรา​จะ​เป็น​ผู้​สร้าง​สันติ​ที่​มี​ความ​สุข.

“จง​ให้​ความ​สว่าง​ของ​พวก​เจ้า​ส่อง​ไป”

12. (ก) พระ​เยซู​ตรัส​อะไร​เกี่ยว​กับ​ความ​สว่าง​ฝ่าย​วิญญาณ? (ข) เรา​จะ​ให้​ความ​สว่าง​ของ​เรา​ส่อง​ไป​ได้​อย่าง​ไร?

12 เรา​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​คน​อย่าง​ดี​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้​เมื่อ​เรา​ช่วย​พวก​เขา​ให้​รับ​ความ​สว่าง​ฝ่าย​วิญญาณ​จาก​พระเจ้า. (เพลง. 43:3) พระ​เยซู​ทรง​บอก​เหล่า​สาวก​ว่า​พวก​เขา​เป็น “ความ​สว่าง​ของ​โลก” และ​ทรง​กระตุ้น​ว่า​ให้​ความ​สว่าง​ของ​พวก​เขา​ส่อง​ไป​เพื่อ​ผู้​คน​จะ​เห็น​ว่า​พวก​เขา​ทำ “การ​งาน​อัน​ดี” หรือ​ทำ​ดี​ต่อ​ผู้​อื่น. การ​ทำ​อย่าง​นั้น​จะ​ทำ​ให้​มี​การ​ส่อง​สว่าง​ฝ่าย​วิญญาณ​ออก​ไป “ต่อ​หน้า​ผู้​คน” หรือ​เพื่อ​เป็น​ประโยชน์​แก่​มนุษยชาติ. (อ่าน​มัดธาย 5:14-16.) ปัจจุบัน เรา​ให้​แสง​สว่าง​ของ​เรา​ส่อง​ออก​ไป​โดย​ทำ​ดี​ต่อ​เพื่อน​บ้าน​และ​โดย​ร่วม​ใน​งาน​ประกาศ​ข่าว​ดี “ไม่​ว่า . . . ที่​ไหน​ใน​โลก” กล่าว​คือ “แก่​ทุก​ชาติ.” (มัด. 26:13; มโก. 13:10) นับ​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​จริง ๆ ที่​เรา​ได้​รับ!

13. ผู้​คน​สังเกต​เห็น​เรา​เนื่อง​จาก​อะไร?

13 พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “เมือง​ที่​ตั้ง​อยู่​บน​ภูเขา​จะ​ซ่อน​ไว้​ไม่​ได้.” เมือง​ใด​ที่​ตั้ง​อยู่​บน​ภูเขา​ย่อม​เห็น​ได้​เด่น​ชัด. คล้าย​กัน ผู้​คน​สังเกต​เห็น​การ​งาน​ที่​ดี​ที่​เรา​ทำ​ใน​ฐานะ​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​และ​คุณลักษณะ​ต่าง ๆ เช่น การ​รู้​จัก​ประมาณ​ตน​และ​ความ​บริสุทธิ์.—ทิทุส 2:1-14.

14. (ก) ตะเกียง​ที่​ใช้​กัน​โดย​ทั่ว​ไป​ใน​สมัย​ศตวรรษ​แรก​เป็น​อย่าง​ไร? (ข) การ​ที่​เรา​ไม่​ปิด​ซ่อน​ความ​สว่าง​ฝ่าย​วิญญาณ​ไว้​ใต้ “ถัง” หมาย​ถึง​อะไร?

14 พระ​เยซู​ตรัส​ถึง​การ​จุด​ตะเกียง​และ​ตั้ง​ไว้​บน​เชิง​ตะเกียง ไม่​ใช่​เอา​ถัง​ครอบ​ไว้ เพื่อ​ให้​ตะเกียง​นั้น​ส่อง​แสง​แก่​ทุก​คน​ใน​เรือน. ตะเกียง​ที่​ใช้​กัน​ทั่ว​ไป​ใน​ศตวรรษ​แรก​เป็น​ตะเกียง​ที่​ทำ​จาก​ดิน​เผา​ซึ่ง​มี​ไส้​ตะเกียง​ที่​ดูด​ของ​เหลว (ปกติ​จะ​ใช้​น้ำมัน​มะกอก) ขึ้น​ไป​เลี้ยง​เปลว​ไฟ. เนื่อง​จาก​ตะเกียง​มัก​ถูก​ตั้ง​ไว้​บน​เชิง​ตะเกียง​ที่​ทำ​ด้วย​ไม้​หรือ​โลหะ มัน​จึง “ส่อง​แสง​แก่​ทุก​คน​ใน​เรือน.” ไม่​มี​ใคร​จะ​จุด​ตะเกียง​แล้ว​เอา “ถัง” ครอบ​ไว้. พระ​เยซู​ไม่​ประสงค์​ให้​เหล่า​สาวก​ซ่อน​ความ​สว่าง​ฝ่าย​วิญญาณ​ไว้​ใต้​ถัง​โดย​นัย. ดัง​นั้น เรา​ต้อง​ให้​ความ​สว่าง​ของ​เรา​ส่อง​ออก​ไป อย่า​ยอม​ให้​การ​ต่อ​ต้าน​หรือ​การ​ข่มเหง​ทำ​ให้​เรา​ปิด​ซ่อน​หรือ​เก็บ​ความ​จริง​ไว้​กับ​ตัว​เรา​เอง.

15. “การ​งาน​อัน​ดี” ของ​เรา​ส่ง​ผล​ต่อ​บาง​คน​อย่าง​ไร?

15 หลัง​จาก​พระ​เยซู​ตรัส​ถึง​ตะเกียง​ที่​ส่อง​สว่าง​แล้ว​พระองค์​จึง​ทรง​บอก​เหล่า​สาวก​ว่า “ทำนอง​เดียว​กัน จง​ให้​ความ​สว่าง​ของ​พวก​เจ้า​ส่อง​ไป​ต่อ​หน้า​ผู้​คน เพื่อ​พวก​เขา​จะ​เห็น​การ​งาน​อัน​ดี​ของ​เจ้า​และ​ยกย่อง​สรรเสริญ​พระ​บิดา​ของ​เจ้า​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์.” เนื่อง​ด้วย “การ​งาน​อัน​ดี” ของ​เรา บาง​คน​จึง “ยกย่อง​สรรเสริญ” พระเจ้า​ด้วย​การ​เข้า​มา​เป็น​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์. นั่น​นับ​เป็น​แรง​กระตุ้น​ที่​ดี​จริง ๆ ที่​ทำ​ให้​เรา ‘ส่อง​แสง​ดุจ​ดวง​สว่าง​ใน​โลก’ ต่อ ๆ ไป!—ฟิลิป. 2:15.

16. การ​เป็น “ความ​สว่าง​ของ​โลก” เรียก​ร้อง​อะไร​จาก​เรา?

16 เพื่อ​จะ​เป็น “ความ​สว่าง​ของ​โลก” เรา​จำเป็น​ต้อง​เข้า​ร่วม​ใน​งาน​ประกาศ​และ​สอน​คน​ให้​เป็น​สาวก. แต่​มี​สิ่ง​อื่น​ที่​เรา​จำเป็น​ต้อง​ทำ​ด้วย. อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “จง​ประพฤติ​อย่าง​ลูก​ของ​ความ​สว่าง​ต่อ​ไป เพราะ​ผล​ของ​ความ​สว่าง​ประกอบ​ด้วย​ความ​ดี​ทุก​อย่าง ความ​ชอบธรรม และ​ความ​ซื่อ​ตรง.” (เอเฟ. 5:8, 9) เรา​ต้อง​เป็น​แบบ​อย่าง​ที่​เห็น​ได้​ชัด​ใน​เรื่อง​ความ​ประพฤติ​ที่​สอดคล้อง​กับ​มาตรฐาน​ของ​พระเจ้า. ที่​จริง เรา​ต้อง​เอา​ใจ​ใส่​คำ​แนะ​นำ​ของ​อัครสาวก​เปโตร ที่​ว่า “จง​ประพฤติ​อย่าง​ดี​งาม​ท่ามกลาง​ชน​ต่าง​ชาติ​ต่อ ๆ ไป เพื่อ​ว่า​ใน​เรื่อง​ที่​พวก​เขา​กล่าว​ร้าย​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ว่า​เป็น​คน​ทำ​ชั่ว​นั้น เมื่อ​พวก​เขา​เห็น​การ​ดี​ของ​พวก​ท่าน พวก​เขา​จะ​สรรเสริญ​พระเจ้า​ใน​วัน​ที่​พระองค์​ทรง​ตรวจตรา.” (1 เป. 2:12) แต่​เรา​ควร​ทำ​อย่าง​ไร​หาก​มี​ปัญหา​เกิด​ขึ้น​ระหว่าง​เรา​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ?

‘จง​คืน​ดี​กับ​พี่​น้อง’

17-19. (ก) “ของ​ถวาย” ที่​กล่าว​ถึง​ใน​มัดธาย 5:23, 24 คือ​อะไร? (ข) เป็น​เรื่อง​สำคัญ​เพียง​ไร​ที่​จะ​คืน​ดี​กับ​พี่​น้อง และ​พระ​เยซู​ทรง​แสดง​เรื่อง​นี้​อย่าง​ไร?

17 ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา พระ​เยซู​ทรง​เตือน​เหล่า​สาวก​ว่า​อย่า​เก็บ​ความ​โกรธ​และ​ความ​เกลียด​พี่​น้อง​ไว้​ใน​ใจ. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น พวก​เขา​ต้อง​รีบ​ไป​คืน​ดี​กับ​พี่​น้อง​ที่​รู้สึก​ขุ่นเคือง. (อ่าน​มัดธาย 5:21-25.) โปรด​สังเกต​คำ​แนะ​นำ​ของ​พระ​เยซู​ให้​ดี ๆ. ถ้า​คุณ​กำลัง​นำ​ของ​ถวาย​มา​ที่​แท่น​บูชา​และ​นึก​ขึ้น​ได้​ว่า​พี่​น้อง​มี​เรื่อง​ขุ่นเคือง​คุณ คุณ​ต้อง​ทำ​อะไร? คุณ​ต้อง​ละ​ของ​ถวาย​ไว้​หน้า​แท่น​บูชา​และ​ไป​คืน​ดี​กับ​พี่​น้อง​ก่อน. หลัง​จาก​ทำ​อย่าง​นั้น​แล้ว คุณ​จึง​จะ​กลับ​มา​ถวาย​ของ​ได้.

18 ใน​สมัย​ก่อน “ของ​ถวาย” ดัง​กล่าว​มัก​จะ​เป็น​เครื่อง​บูชา​ที่​ผู้​คน​ถวาย​ที่​พระ​วิหาร​ของ​พระ​ยะโฮวา. เครื่อง​บูชา​ที่​เป็น​สัตว์​มี​ความ​สำคัญ​มาก เพราะ​พระเจ้า​ทรง​กำหนด​ไว้​ว่า​เครื่อง​บูชา​นี้​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ใน​การ​นมัสการ​ของ​ชาติ​อิสราเอล​ภาย​ใต้​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ. แต่​ถ้า​คุณ​นึก​ขึ้น​ได้​ว่า​พี่​น้อง​ของ​คุณ​มี​เรื่อง​ขุ่นเคือง​คุณ​อยู่ การ​แก้ไข​ปัญหา​นั้น​ให้​เรียบร้อย​เป็น​เรื่อง​เร่ง​ด่วน​ยิ่ง​กว่า​การ​ถวาย​ของ​นั้น. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “จง​วาง​ของ​ถวาย​ไว้​หน้า​แท่น​บูชา​และ​ไป​คืน​ดี​กับ​พี่​น้อง​ก่อน แล้ว​ค่อย​กลับ​มา​ถวาย​ของ​ของ​เจ้า.” การ​คืน​ดี​กับ​พี่​น้อง​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​ต้อง​ทำ​ก่อน​จะ​ถวาย​เครื่อง​บูชา​ที่​พระ​บัญญัติ​กำหนด​ไว้.

19 พระ​เยซู​ไม่​ได้​จำกัด​ว่า​คำ​ตรัส​ของ​พระองค์​ใช้​ได้​กับ​การ​ถวาย​เครื่อง​บูชา​แบบ​ใด​และ​การ​ทำ​ผิด​แบบ​ไหน​โดย​เฉพาะ. ด้วย​เหตุ​นั้น ต้อง​เลื่อน​การ​ถวาย​เครื่อง​บูชา​ใด ๆ ก็​ตาม​ออก​ไป​ถ้า​ผู้​ถวาย​นึก​ขึ้น​ได้​ว่า​พี่​น้อง​มี​เรื่อง​ขุ่นเคือง​เขา​อยู่. ถ้า​ของ​ถวาย​นั้น​เป็น​สัตว์​ที่​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่ ต้อง​ละ​สัตว์​นั้น​ไว้ “หน้า​แท่น​บูชา” สำหรับ​ถวาย​เครื่อง​บูชา​เผา​ที่​ลาน​ของ​ปุโรหิต​ใน​พระ​วิหาร. หลัง​จาก​แก้ไข​ปัญหา​นั้น​เรียบร้อย​แล้ว คน​ที่​ทำ​ให้​พี่​น้อง​ขุ่นเคือง​จึง​จะ​กลับ​มา​ถวาย​เครื่อง​บูชา.

20. เหตุ​ใด​เรา​ควร​พยายาม​คืน​ดี​กัน​โดย​เร็ว​ถ้า​เรา​มี​เรื่อง​โกรธ​เคือง​พี่​น้อง?

20 จาก​มุม​มอง​ของ​พระเจ้า ความ​สัมพันธ์​ของ​เรา​กับ​พี่​น้อง​เป็น​ส่วน​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ใน​การ​นมัสการ​แท้. สัตว์​ที่​ใช้​เป็น​เครื่อง​บูชา​ไม่​มี​ความ​หมาย​เลย​สำหรับ​พระ​ยะโฮวา​ถ้า​คน​ที่​ถวาย​ไม่​ได้​ปฏิบัติ​ต่อ​พี่​น้อง​อย่าง​เหมาะ​สม. (มีคา 6:6-8) ดัง​นั้น พระ​เยซู​ทรง​กระตุ้น​เหล่า​สาวก​ให้ “ปรองดอง​กับ​คู่ความ​โดย​เร็ว.” (มัด. 5:25, ฉบับ​แปล​ใหม่) เปาโล​เขียน​คล้าย ๆ กัน​ว่า “ถ้า​จะ​โกรธ​ก็​โกรธ​เถิด แต่​อย่า​ทำ​บาป อย่า​โกรธ​จน​ถึง​ดวง​อาทิตย์​ตก ทั้ง​อย่า​เปิด​ช่อง​ให้​พญา​มาร.” (เอเฟ. 4:26, 27) ถ้า​เรา​โกรธ​อย่าง​ที่​มี​เหตุ​ผล​จะ​โกรธ เรา​ควร​พยายาม​แก้ไข​ปัญหา​ให้​เรียบร้อย​โดย​เร็ว​เพื่อ​เรา​จะ​ไม่​อยู่​ใน​สภาพ​ขุ่นเคือง​นาน ๆ ซึ่ง​จะ​ทำ​ให้​พญา​มาร​สามารถ​ฉวย​โอกาส​ล่อ​ลวง​เรา.—ลูกา 17:3, 4.

จง​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​ด้วย​ความ​นับถือ​เสมอ

21, 22. (ก) เรา​จะ​ใช้​คำ​แนะ​นำ​ของ​พระ​เยซู​ที่​เพิ่ง​พิจารณา​กัน​ไป​ได้​อย่าง​ไร? (ข) เรา​จะ​พิจารณา​อะไร​ใน​บทความ​ถัด​ไป?

21 การ​ทบทวน​คำ​ตรัส​บาง​อย่าง​จาก​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​ของ​พระ​เยซู​น่า​จะ​ช่วย​เรา​ให้​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​ด้วย​ความ​กรุณา​และ​นับถือ. แม้​ว่า​เรา​ทุก​คน​ไม่​สมบูรณ์ เรา​สามารถ​ใช้​คำ​แนะ​นำ​ของ​พระ​เยซู​เพราะ​พระองค์​ไม่​คาด​หมาย​เกิน​กว่า​ที่​เรา​จะ​ทำ​ได้ และ​พระ​บิดา​ของ​เรา​ผู้​อยู่​ใน​สวรรค์​ก็​เช่น​กัน. ด้วย​การ​อธิษฐาน, ความ​พยายาม​อย่าง​จริง​ใจ, และ​การ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า เรา​สามารถ​มี​จิตใจ​อ่อนโยน, มี​ความ​เมตตา, และ​สร้าง​สันติ. เรา​สามารถ​สะท้อน​ความ​สว่าง​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​ส่อง​ออก​ไป​เพื่อ​ยกย่อง​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา. นอก​จาก​นั้น เรา​สามารถ​สร้าง​สันติ​กับ​พี่​น้อง​ของ​เรา​เมื่อ​จำเป็น​ต้อง​ทำ​อย่าง​นั้น.

22 การ​นมัสการ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ยอม​รับ​หมาย​รวม​ถึง​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​เหมาะ​สม​ต่อ​เพื่อน​บ้าน​ด้วย. (มโก. 12:31) ใน​บทความ​ถัด​ไป เรา​จะ​พิจารณา​คำ​ตรัส​อื่น ๆ ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​ที่​น่า​จะ​ช่วย​เรา​ให้​ทำ​ดี​ต่อ​ผู้​อื่น​เสมอ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หลัง​จาก​ใคร่ครวญ​จุด​ต่าง ๆ ดัง​ที่​กล่าว​ไป​แล้ว​ซึ่ง​ยก​มา​จาก​คำ​บรรยาย​ที่​โดด​เด่น​ของ​พระ​เยซู เรา​อาจ​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​ดี​ขนาด​ไหน?’

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 1 ใน​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว คง​จะ​เป็น​ประโยชน์​มาก​ถ้า​คุณ​จะ​อ่าน​พระ​คัมภีร์​ส่วน​ดัง​กล่าว​ก่อน​พิจารณา​บทความ​นี้​และ​บทความ​ถัด​ไป.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• การ​มี​จิตใจ​อ่อนโยน​หมาย​ความ​อย่าง​ไร?

• เหตุ​ใด “คน​ที่​เมตตา” จึง​มี​ความ​สุข?

• เรา​จะ​ให้​ความ​สว่าง​ของ​เรา​ส่อง​ออก​ไป​ได้​โดย​วิธี​ใด?

• เหตุ​ใด​เรา​ควร​รีบ ‘สร้าง​สันติ​กับ​พี่​น้อง’ โดย​เร็ว?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 4]

การ​ประกาศ​ข่าวสาร​เรื่อง​ราชอาณาจักร​เป็น​วิธี​สำคัญ​ใน​การ​ให้​ความ​สว่าง​ของ​เรา​ส่อง​ออก​ไป

[ภาพ​หน้า 5]

คริสเตียน​ต้อง​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ใน​เรื่อง​ความ​ประพฤติ​ตาม​มาตรฐาน​ของ​พระเจ้า

[ภาพ​หน้า 6]

จง​พยายาม​สุด​ความ​สามารถ​ที่​จะ​สร้าง​สันติ​กับ​พี่​น้อง