ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงรักษา ‘ความรักที่คุณมีในตอนแรก’

จงรักษา ‘ความรักที่คุณมีในตอนแรก’

จง​รักษา ‘ความ​รัก​ที่​คุณ​มี​ใน​ตอน​แรก’

“จง​ยึด​สิ่ง​ที่​เจ้า​มี​อยู่​ไว้​ให้​มั่น.”—วิ. 3:11.

1, 2. คุณ​รู้สึก​อย่าง​ไร​เมื่อ​คุณ​เริ่ม​เชื่อ​มั่น​ว่า​สิ่ง​ที่​คุณ​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ความ​จริง?

คุณ​จำ​ได้​ไหม​ตอน​ที่​คุณ​เรียน​รู้​เป็น​ครั้ง​แรก​เกี่ยว​กับ​ความ​หวัง​อัน​ยอด​เยี่ยม​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เสนอ​จะ​ประทาน​แก่​มนุษยชาติ​ที่​เชื่อ​ฟัง? ถ้า​คุณ​เคย​ถือ​ศาสนา​อื่น​มา​ก่อน คุณ​รู้สึก​อย่าง​ไร​เมื่อ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​อธิบาย​เกี่ยว​กับ​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​โดย​ใช้​พระ​คัมภีร์​หรือ​เมื่อ​คุณ​ได้​รับ​คำ​อธิบาย​อย่าง​ชัดเจน​ใน​เรื่อง​ที่​เคย​เป็น​เรื่อง​ยาก​จะ​เข้าใจ? คุณ​อาจ​ตระหนัก​ว่า​ก่อน​หน้า​นี้​คุณ​ไม่​ได้​รับ​การ​สอน​ความ​จริง​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า. แต่​คุณ​รู้สึก​ยินดี​สัก​เพียง​ไร​ที่​ใน​ตอน​นี้​คุณ​รู้​ความ​จริง​แล้ว. หาก​บิดา​มารดา​ที่​เลี้ยง​ดู​คุณ​มา​เป็น​คริสเตียน คุณ​จำ​ได้​ไหม​ว่า​คุณ​รู้สึก​อย่าง​ไร​เมื่อ​คุณ​เริ่ม​เชื่อ​มั่น​ว่า​สิ่ง​ที่​คุณ​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ความ​จริง​และ​คุณ​ตัดสิน​ใจ​จะ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​ความ​จริง​นั้น?—โรม 12:2.

2 พี่​น้อง​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​คุณ​หลาย​คน​จะ​บอก​คุณ​ได้​ว่า​พวก​เขา​ปีติ​ยินดี​มาก, รู้สึก​ใกล้​ชิด​กับ​พระ​ยะโฮวา, และ​หยั่ง​รู้​ค่า​ที่​พระองค์​ได้​ชัก​นำ​พวก​เขา​มา​หา​ประชาคม​ของ​พระองค์. (โย. 6:44) ความ​สุข​ที่​พวก​เขา​มี​กระตุ้น​พวก​เขา​ให้​ร่วม​ทำ​กิจกรรม​ต่าง ๆ ของ​คริสเตียน. พวก​เขา​เต็ม​เปี่ยม​ด้วย​ความ​ยินดี​จน​ทำ​ให้​พวก​เขา​ต้องการ​จะ​แบ่ง​ปัน​ความ​ยินดี​ที่​ตน​มี​กับ​ทุก​คน. คุณ​มี​ประสบการณ์​คล้าย ๆ กัน​นี้​ไหม?

3. สถานการณ์​ใน​ประชาคม​เอเฟโซส์​เป็น​อย่าง​ไร​เมื่อ​พระ​เยซู​ทรง​ส่ง​ข่าวสาร​มา​ถึง​พวก​เขา?

3 เมื่อ​ตรัส​กับ​ประชาคม​คริสเตียน​ใน​เมือง​เอเฟโซส์​สมัย​ศตวรรษ​แรก พระ​เยซู​ตรัส​ถึง “ความ​รัก​อย่าง​ที่​เจ้า​เคย​มี​ใน​ตอน​แรก.” คริสเตียน​ใน​เอเฟโซส์​มี​คุณลักษณะ​ที่​ดี​หลาย​อย่าง แต่​ความ​รัก​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ที่​พวก​เขา​เคย​แสดง​ให้​เห็น​กลับ​ลด​น้อย​ลง. ด้วย​เหตุ​นั้น พระ​เยซู​ทรง​บอก​พวก​เขา​ว่า “เรา​รู้​ว่า​เจ้า​ทำ​อะไร และ​รู้​ว่า​เจ้า​ทำ​งาน​หนัก​และ​เพียร​อด​ทน เรา​รู้​ว่า​เจ้า​ทน​คน​เลว​ไม่​ได้ และ​เจ้า​ทดสอบ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​บอก​ว่า​เขา​เป็น​อัครสาวก​แต่​หา​ได้​เป็น​ไม่ และ​เจ้า​พบ​ว่า​เขา​พูด​มุสา. เจ้า​ยัง​มี​ความ​เพียร​อด​ทน​ด้วย เจ้า​ทน​หลาย​สิ่ง​เพื่อ​เห็น​แก่​นาม​ของ​เรา​และ​ไม่​ได้​ท้อ​แท้. แต่​เรา​มี​เรื่อง​จะ​ว่า​กล่าว​เจ้า คือ เจ้า​ไม่​มี​ความ​รัก​อย่าง​ที่​เจ้า​เคย​มี​ใน​ตอน​แรก.”—วิ. 2:2-4.

4. เหตุ​ใด​ข่าวสาร​จาก​พระ​เยซู​ถึง​คริสเตียน​ใน​เอเฟโซส์​มี​ความ​สำคัญ​ใน​สมัย​ปัจจุบัน?

4 คำ​แนะ​นำ​ของ​พระ​เยซู​แก่​คริสเตียน​ใน​เอเฟโซส์​และ​ประชาคม​อื่น ๆ ใน​หนังสือ​วิวรณ์​นับ​ว่า​เหมาะ​จริง ๆ เมื่อ​คำนึง​ถึง​สภาพการณ์​ช่วง​หนึ่ง​ท่ามกลาง​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​นับ​ตั้ง​แต่​ปี 1914 เป็น​ต้น​มา. (วิ. 1:10) กระนั้น เป็น​ไป​ได้​ที่​แม้​แต่​ใน​เวลา​นี้​คริสเตียน​บาง​คน​อาจ​สูญ​เสีย “ความ​รัก​อย่าง​ที่ [พวก​เขา] เคย​มี​ใน​ตอน​แรก” ต่อ​พระ​ยะโฮวา​และ​ความ​จริง​ของ​คริสเตียน. โดย​คำนึง​ถึง​ข้อ​เท็จ​จริง​ดัง​กล่าว ให้​เรา​พิจารณา​ว่า​การ​ระลึก​ถึง​และ​การ​ใคร่ครวญ​ประสบการณ์​ของ​ตัว​คุณ​เอง​จะ​ช่วย​คุณ​อย่าง​ไร​ให้​รักษา, ฟื้นฟู, และ​เสริม​ความ​รัก​และ​ความ​กระตือรือร้น​ที่​คุณ​เคย​มี​ต่อ​พระเจ้า​และ​ความ​จริง.

อะไร​ทำ​ให้​คุณ​เชื่อ​มั่น​ว่า​สิ่ง​ที่​คุณ​ได้​เรียน​รู้​เป็น​ความ​จริง?

5, 6. (ก) คริสเตียน​แต่​ละ​คน​ต้อง​เชื่อ​มั่น​ใน​เรื่อง​ใด? (ข) อะไร​ทำ​ให้​คุณ​เชื่อ​มั่น​ว่า​พยาน​พระ​ยะโฮวา​สอน​ความ​จริง? (ค) อะไร​สามารถ​ช่วย​ใคร​คน​หนึ่ง​ให้​ฟื้นฟู​ความ​รัก​อย่าง​ที่​เขา​เคย​มี​ใน​ตอน​แรก?

5 ทุก​คน​ที่​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา​ต้อง “ทำ​ให้​รู้​แน่” ก่อน​ว่า​อะไร​คือ “พระ​ประสงค์​อัน​ดี​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​เป็น​ที่​ชอบ​พระทัย​และ​สมบูรณ์​พร้อม.” (โรม 12:1, 2) ส่วน​หนึ่ง​นั้น นั่น​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​เรียน​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​ใคร​คน​หนึ่ง​เชื่อ​มั่น​ว่า​พยาน​พระ​ยะโฮวา​สอน​ความ​จริง​อาจ​ต่าง​จาก​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​อีก​คน​หนึ่ง​เชื่อ​มั่น. บาง​คน​จำ​ได้​ว่า​จุด​เปลี่ยน​ก็​คือ​เมื่อ​พวก​เขา​อ่าน​พบ​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล หรือ​เมื่อ​พวก​เขา​เข้าใจ​ว่า​สภาพ​ที่​แท้​จริง​ของ​คน​ตาย​เป็น​อย่าง​ไร. (เพลง. 83:18; ผู้ป. 9:5, 10) สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​หลาย​คน​ประทับใจ​ก็​คือ​ความ​รัก​ใน​หมู่​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา. (โย. 13:34, 35) และ​ก็​ยัง​มี​อีก​หลาย​คน​ที่​ประทับใจ​เมื่อ​ได้​มา​เข้าใจ​ความ​หมาย​ของ​การ​ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก. พวก​เขา​ได้​ข้อ​สรุป​ว่า​คริสเตียน​แท้​ไม่​อาจ​มี​ส่วน​ร่วม​กับ​ความ​ขัด​แย้ง​ทาง​การ​เมือง​หรือ​ใน​สงคราม​ของ​ชาติ​ต่าง ๆ.—ยซา. 2:4; โย. 6:15; 17:14-16.

6 สำหรับ​หลาย​คน การ​หา​เหตุ​ผล​ใน​เรื่อง​เหล่า​นี้​และ​เรื่อง​อื่น ๆ ช่วย​จุด​ประกาย​ทำ​ให้​พวก​เขา​เริ่ม​มี​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า. ลอง​ใช้​เวลา​สัก​นิด​นึก​ทบทวน​ว่า​อะไร​ทำ​ให้​คุณ​เชื่อ​มั่น​ใน​ความ​จริง. คุณ​เป็น​ปัจเจกบุคคล​ที่​มี​สภาพการณ์​ใน​ชีวิต​และ​บุคลิก​ลักษณะ​เฉพาะ​ตัว​ไม่​เหมือน​ใคร ดัง​นั้น​เหตุ​ผล​พื้น​ฐาน​ที่​ทำ​ให้​คุณ​รัก​พระ​ยะโฮวา​และ​เชื่อ​คำ​สัญญา​ของ​พระองค์​คง​จะ​แตกต่าง​จาก​คน​อื่น ๆ. เป็น​ไป​ได้​มาก​ที​เดียว​ว่า เหตุ​ผล​ดัง​กล่าว​ก็​ยัง​คง​เป็น​จริง​สำหรับ​คุณ​ใน​ทุก​วัน​นี้​เช่น​เดียว​กับ​ตอน​ที่​คุณ​เรียน​รู้​เหตุ​ผล​เหล่า​นั้น​เป็น​ครั้ง​แรก. ความ​จริง​ไม่​เคย​เปลี่ยน. ดัง​นั้น การ​ทบทวน​แนว​คิด​และ​ความ​รู้สึก​ที่​มี​ต่อ​เรื่อง​เหล่า​นั้น​อาจ​ช่วย​ฟื้นฟู​ความ​รัก​ที่​คุณ​เคย​มี​ต่อ​ความ​จริง​ใน​ตอน​แรก.—อ่าน​บทเพลง​สรรเสริญ 119:151, 152; 143:5.

จง​เสริม​ความ​รัก​ของ​คุณ​ให้​แรง​กล้า​ยิ่ง​ขึ้น

7. เหตุ​ใด​เรา​จำเป็น​ต้อง​เสริม​ความ​รัก​ต่อ​ความ​จริง​ที่​เรา​มี​ใน​ตอน​แรก​ให้​แรง​กล้า​ยิ่ง​ขึ้น และ​เรา​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น​ได้​อย่าง​ไร?

7 ชีวิต​ของ​คุณ​อาจ​เปลี่ยน​ไป​มาก​นับ​ตั้ง​แต่​ที่​คุณ​ได้​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา. ความ​รัก​ต่อ​ความ​จริง​ที่​คุณ​มี​ใน​ตอน​แรก​นับ​ว่า​สำคัญ แต่​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป​คุณ​จำเป็น​ต้อง​เสริม​ความ​รัก​ให้​แรง​กล้า​ยิ่ง​ขึ้น​เพื่อ​จะ​เผชิญ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​ใหม่ ๆ ที่​ทดสอบ​ความ​เชื่อ​ของ​คุณ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​ยะโฮวา​ได้​ทรง​ค้ำจุน​คุณ. (1 โค. 10:13) ด้วย​เหตุ​นั้น ประสบการณ์​ที่​คุณ​มี​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป​ก็​นับ​ว่า​มี​ค่า​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​คุณ​ด้วย. ประสบการณ์​เหล่า​นั้น​ได้​ช่วย​คุณ​เสริม​ความ​รัก​ที่​คุณ​มี​ใน​ตอน​แรก​ให้​แรง​กล้า​ยิ่ง​ขึ้น และ​เป็น​อีก​วิธี​หนึ่ง​ที่​จะ​ทำ​ให้​คุณ​แน่​ใจ​ได้​ว่า​อะไร​คือ​พระ​ประสงค์​อัน​ดี​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​เป็น​ที่​ชอบ​พระทัย​พระองค์.—ยโฮ. 23:14; เพลง. 34:8.

8. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ระบุ​ตัว​พระองค์​เอง​อย่าง​ไร​ให้​โมเซ​รู้​จัก และ​ชาว​อิสราเอล​ได้​มา​รู้​จัก​พระเจ้า​อย่าง​ใกล้​ชิด​ยิ่ง​ขึ้น​โดย​วิธี​ใด?

8 เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ขอ​ให้​พิจารณา​สถานการณ์​ของ​ชาว​อิสราเอล​เมื่อ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​บอก​พวก​เขา​ว่า​พระองค์​ทรง​ประสงค์​จะ​ช่วย​พวก​เขา​ให้​พ้น​จาก​การ​เป็น​ทาส​ใน​อียิปต์. พระเจ้า​ทรง​ระบุ​ตัว​พระองค์​เอง​ให้​โมเซ​รู้​จัก​โดย​ตรัส​ว่า “เรา​จะ​เป็น​อย่าง​ที่​เรา​ประสงค์​จะ​เป็น.” (เอ็ก. 3:7, 8, 13, 14, ล.ม.) โดย​พื้น​ฐาน​แล้ว พระ​ยะโฮวา​ทรง​หมาย​ความ​ว่า​พระองค์​จะ​แสดง​บทบาท​อะไร​ก็​ตาม​ที่​จำเป็น​เพื่อ​ปลด​ปล่อย​ประชาชน​ของ​พระองค์​ให้​เป็น​อิสระ. ใน​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​หลัง​จาก​นั้น​และ​ตาม​ที่​จำเป็น​ใน​สถานการณ์​ต่าง ๆ ชาว​อิสราเอล​ได้​เห็น​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เผย​แง่​มุม​ต่าง ๆ แห่ง​บุคลิกภาพ​ของ​พระองค์—ใน​ฐานะ​ผู้​ทรง​ฤทธิ์​ใหญ่​ยิ่ง, ผู้​พิพากษา, ผู้​นำ, ผู้​ช่วย​ให้​รอด, นัก​รบ, และ​ผู้​เลี้ยง​ดู.—เอ็ก. 12:12; 13:21; 14:24-31; 16:4; นเฮม. 9:9-15.

9, 10. เหตุ​การณ์​แบบ​ใด​บ้าง​ที่​อาจ​ช่วย​คน​เรา​ให้​รู้​จัก​พระเจ้า​ดี​ขึ้น และ​เหตุ​ใด​จึง​นับ​ว่า​ดี​ที่​จะ​ระลึก​ถึง​ประสบการณ์​เช่น​นั้น?

9 สถานการณ์​ใน​ชีวิต​ของ​คุณ​ไม่​เหมือน​กับ​สถานการณ์​ของ​ชาว​อิสราเอล​โบราณ. แม้​กระนั้น คุณ​คง​มี​ประสบการณ์​ที่​ทำ​ให้​เชื่อ​มั่น​ว่า​พระเจ้า​ทรง​ใฝ่​พระทัย​คุณ​เป็น​ส่วน​ตัว ซึ่ง​นั่น​เสริม​ความ​เชื่อ​ของ​คุณ​ให้​เข้มแข็ง​ยิ่ง​ขึ้น. พระ​ยะโฮวา​อาจ​แสดง​ให้​เห็น​โดย​วิธี​ใด​วิธี​หนึ่ง​ว่า​พระองค์​ทรง​เป็น​ผู้​เลี้ยง​ดู, ผู้​ปลอบโยน, หรือ​ครู. (อ่าน​ยะซายา 30:20​ข, 21.) หรือ​คุณ​อาจ​มี​ประสบการณ์​บาง​อย่าง​ที่​เห็น​ได้​ชัด​ว่า​พระเจ้า​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​ของ​คุณ. คุณ​อาจ​ประสบ​กับ​ปัญหา​ยุ่งยาก​บาง​อย่าง แล้ว​ก็​มี​เพื่อน​คริสเตียน​มา​ให้​ความ​ช่วยเหลือ. หรือ​ใน​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​คุณ​อาจ​สังเกต​เห็น​ข้อ​คัมภีร์​ที่​เหมาะ​กับ​สภาพการณ์​ของ​คุณ.

10 ถ้า​คุณ​เล่า​ประสบการณ์​เหล่า​นั้น​ให้​คน​อื่น​ฟัง บาง​คน​อาจ​ไม่​รู้สึก​ประทับใจ​เหมือน​ที่​คุณ​รู้สึก. อัน​ที่​จริง เหตุ​การณ์​เหล่า​นั้น​ไม่​ใช่​การ​อัศจรรย์. แต่​คุณ​เห็น​ว่า​เหตุ​การณ์​เหล่า​นั้น​มี​ความ​หมาย​มาก​สำหรับ​คุณ. พระ​ยะโฮวา​ทรง​แสดง​ให้​เห็น​ด้วย​การ​กระทำ​ว่า​พระองค์​ทรง​พร้อม​จะ​แสดง​บทบาท​ใด ๆ ก็​ตาม​ที่​จำเป็น​เพื่อ​คุณ. ขอ​ให้​นึก​ย้อน​กลับ​ไป​จน​ถึง​ช่วง​แรก ๆ ที่​คุณ​อยู่​ใน​ความ​จริง. คุณ​จำ​ได้​ไหม​ว่า​มี​กี่​ครั้ง​ที่​คุณ​รู้สึก​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ดู​แล​ชีวิต​คุณ​เป็น​ส่วน​ตัว? ถ้า​อย่าง​นั้น การ​จำ​เหตุ​การณ์​เหล่า​นี้​ไว้​และ​จำ​ว่า​เหตุ​การณ์​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​คุณ​รู้สึก​อย่าง​ไร​ก็​อาจ​กระตุ้น​หัวใจ​คุณ​ให้​รู้สึก​ถึง​ความ​รัก​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​เช่น​เดียว​กับ​ใน​ตอน​นั้น. จง​รำลึก​ถึง​ประสบการณ์​เหล่า​นั้น​เสมอ. ใคร่ครวญ​เรื่อง​เหล่า​นั้น. เหตุ​การณ์​เหล่า​นั้น​เป็น​ข้อ​พิสูจน์​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​สน​พระทัย​ใน​ตัว​คุณ​เป็น​ส่วน​ตัว และ​ไม่​มี​ใคร​จะ​ทำ​ให้​คุณ​หมด​ความ​เชื่อ​มั่น​เช่น​นั้น.

จง​วิเคราะห์​ตัว​คุณ​เอง

11, 12. หาก​ความ​รัก​ที่​คริสเตียน​มี​ต่อ​ความ​จริง​ลด​น้อย​ลง​ไป นั่น​อาจ​เป็น​เพราะ​อะไร และ​พระ​เยซู​ทรง​ให้​คำ​แนะ​นำ​อะไร?

11 ถ้า​คุณ​ไม่​ได้​รู้สึก​ว่า​รัก​พระเจ้า​และ​ความ​จริง​เหมือน​ที่​เคย​รู้สึก นั่น​ไม่​ใช่​เพราะ​ว่า​มี​อะไร​เปลี่ยน​ไป​ใน​ส่วน​ของ​พระองค์. พระ​ยะโฮวา​ไม่​เคย​เปลี่ยน. (มลคี. 3:6; ยโก. 1:17) เมื่อ​ก่อน​พระองค์​ทรง​สน​พระทัย​ใน​ตัว​คุณ และ​ใน​เวลา​นี้​พระองค์​ก็​ทรง​สน​พระทัย​ใน​ตัว​คุณ​เหมือน​เดิม. ดัง​นั้น หาก​มี​สิ่ง​ใด​ที่​เปลี่ยน​ไป​ใน​ความ​สัมพันธ์​ของ​คุณ​กับ​พระ​ยะโฮวา สิ่ง​นั้น​อาจ​ได้​แก่​อะไร? อาจ​เป็น​ได้​ไหม​ที่​คุณ​หมกมุ่น​หรือ​เครียด​มาก​ขึ้น​กับ​ความ​กระวนกระวาย​ต่าง ๆ ใน​ชีวิต? ใน​อดีต คุณ​อาจ​อธิษฐาน​อย่าง​แรง​กล้า​กว่า, ขยัน​ศึกษา​กว่า, คิด​รำพึง​บ่อย​กว่า​เมื่อ​เทียบ​กับ​ตอน​นี้. ใน​อดีต​คุณ​กระตือรือร้น​ใน​งาน​รับใช้​และ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​เป็น​ประจำ​มาก​กว่า​ตอน​นี้​ไหม?— 2 โค. 13:5.

12 คุณ​อาจ​ไม่​รู้​ตัว​ว่า​มี​แนว​โน้ม​บาง​อย่าง​เปลี่ยน​ไป​ใน​ตัว​คุณ​เอง แต่​ถ้า​คุณ​รู้​ว่า​มี​อะไร​บาง​อย่าง​เปลี่ยน​ไป นั่น​เป็น​เพราะ​อะไร? อาจ​เป็น​ได้​ไหม​ที่​ความ​เป็น​ห่วง​ใน​เรื่อง​ที่​สม​ควร​ห่วง เช่น การ​หา​เลี้ยง​ครอบครัว​เพื่อ​ให้​พอ​กิน​พอ​ใช้, การ​ดู​แล​สุขภาพ, หรือ​เรื่อง​อื่น ๆ ที่​คล้าย ๆ กัน​นั้น ทำ​ให้​คุณ​เฉื่อย​ลง​และ​ไม่​สำนึก​ถึง​ความ​เร่ง​ด่วน​ว่า​วัน​ของ​พระ​ยะโฮวา​กำลัง​ใกล้​เข้า​มา? พระ​เยซู​ทรง​บอก​เหล่า​อัครสาวก​ว่า “จง​ระวัง​ตัว​ให้​ดี​เพื่อ​ว่า​ใจ​ของ​เจ้า​จะ​ไม่​หมกมุ่น​อยู่​กับ​การ​กิน​มาก​เกิน​ไป การ​ดื่ม​จัด และ​ความ​วิตก​กังวล​กับ​ชีวิต แล้ว​วัน​นั้น​จะ​มา​ถึง​เจ้า​ทันที​โดย​ที่​เจ้า​ไม่​ทัน​รู้​ตัว เหมือน​บ่วง​แร้ว. ด้วย​ว่า​วัน​นั้น​จะ​มา​ถึง​ทุก​คน​ที่​อยู่​ทั่ว​พื้น​แผ่นดิน​โลก. ฉะนั้น จง​เฝ้า​ระวัง​และ​ทูล​วิงวอน​อยู่​เสมอ​เพื่อ​เจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​หนี​พ้น​สิ่ง​ทั้ง​ปวง​นี้​ซึ่ง​จะ​ต้อง​เกิด​ขึ้น.”—ลูกา 21:34-36.

13. ยาโกโบ​เปรียบ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​กับ​อะไร?

13 ยาโกโบ ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ กระตุ้น​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ให้​วิเคราะห์​ตัว​เอง​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​โดย​อาศัย​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. ยาโกโบ​เขียน​ดัง​นี้: “จง​เป็น​ผู้​ทำ​ตาม​พระ​คำ ไม่​ใช่​เป็น​เพียง​ผู้​ฟัง​ที่​หลอก​ตัว​เอง​ด้วย​การ​หา​เหตุ​ผล​ผิด ๆ. ด้วย​ว่า​ถ้า​ผู้​ใด​เป็น​ผู้​ฟัง​พระ​คำ​แล้ว​ไม่​ทำ​ตาม ผู้​นั้น​ก็​เป็น​เหมือน​คน​ที่​มอง​หน้า​ตัว​เอง​ใน​กระจก. เพราะ​เขา​มอง​ตัว​เอง​แล้ว​ก็​ไป​และ​ลืม​ทันที​ว่า​เขา​เป็น​อย่าง​ไร. แต่​ผู้​ที่​พินิจ​พิจารณา​กฎหมาย​อัน​สมบูรณ์​ซึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เสรีภาพ​และ​ยึด​มั่น​กับ​กฎหมาย​นั้น เขา​จะ​มี​ความ​สุข​ที่​ทำ​เช่น​นั้น เพราะ​เขา​ไม่​เป็น​ผู้​ฟัง​ที่​หลง​ลืม แต่​เป็น​ผู้​ปฏิบัติ​ตาม​พระ​คำ.”—ยโก. 1:22-25.

14, 15. (ก) คัมภีร์​ไบเบิล​สามารถ​ช่วย​คุณ​ให้​ปรับ​ปรุง​สภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​คุณ​ได้​อย่าง​ไร? (ข) คุณ​อาจ​ใคร่ครวญ​คำ​ถาม​อะไร​บ้าง?

14 คน​เรา​สามารถ​ส่อง​กระจก​เพื่อ​จะ​ตรวจ​ดู​ให้​แน่​ใจ​ว่า​เขา​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ดู​ดี​แล้ว. ตัว​อย่าง​เช่น ถ้า​ชาย​คน​หนึ่ง​เห็น​ว่า​เนกไท​ของ​เขา​ไม่​ตรง เขา​ก็​จะ​จัด​ให้​ตรง​ได้. ถ้า​ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​เห็น​ว่า​ผม​ยุ่ง เธอ​ก็​จะ​หวี​ผม​ให้​เรียบร้อย​ได้. คล้าย​กัน พระ​คัมภีร์​ช่วย​เรา​ให้​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​ว่า​เป็น​อย่าง​ไร. เมื่อ​เรา​เทียบ​ตัว​เรา​เอง​กับ​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า​เรา​ควร​เป็น เรา​ก็​กำลัง​ใช้​พระ​คัมภีร์​ให้​ทำ​หน้า​ที่​เหมือน​กับ​กระจก. แต่​จะ​เป็น​ประโยชน์​ไหม​ถ้า​เรา​ส่อง​กระจก​แล้ว​ก็​ไม่​ได้​ทำ​อะไร​เพื่อ​แก้ไข​จุด​บกพร่อง​ที่​เรา​มอง​เห็น? นับ​ว่า​ฉลาด​สุขุม​ที่​จะ​ลง​มือ​ทำ​ตาม​สิ่ง​ที่​เรา​เห็น​ใน “กฎหมาย​อัน​สมบูรณ์” ของ​พระเจ้า และ​เป็น “ผู้​ปฏิบัติ​ตาม” กฎหมาย​นั้น. ด้วย​เหตุ​นั้น ใคร​ก็​ตาม​ที่​ตระหนัก​ว่า​ความ​รัก​ที่​ตน​เคย​มี​ใน​ตอน​แรก​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​และ​ความ​จริง​ลด​น้อย​ลง​ไป​น่า​จะ​ใคร่ครวญ​คำ​ถาม​ต่อ​ไป​นี้: ‘ฉัน​กำลัง​พบ​กับ​แรง​กดดัน​อะไร​ใน​ชีวิต และ​ฉัน​ทำ​อย่าง​ไร​กับ​แรง​กดดัน​เหล่า​นั้น? ใน​อดีต​ฉัน​ทำ​อย่าง​ไร? มี​อะไร​บาง​อย่าง​เปลี่ยน​ไป​ไหม?’ ถ้า​การ​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​เช่น​นั้น​เผย​ให้​เห็น​ว่า​มี​ข้อ​บกพร่อง​บาง​อย่าง ก็​อย่า​เพิกเฉย. ถ้า​จำเป็น​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน​แก้ไข อย่า​ชักช้า​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น.—ฮีบรู 12:12, 13.

15 การ​ใคร่ครวญ​เช่น​นั้น​ยัง​จะ​ช่วย​คุณ​ได้​ด้วย​ให้​ตั้ง​เป้าหมาย​ที่​สม​เหตุ​ผล​เพื่อ​จะ​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ. อัครสาวก​เปาโล​ให้​คำ​แนะ​นำ​ซึ่ง​มา​จาก​การ​ดล​ใจ​แก่​ติโมเธียว​เพื่อน​ร่วม​งาน​ของ​ท่าน​ให้​ปรับ​ปรุง​งาน​รับใช้​ของ​ตน. เปาโล​กระตุ้น​เพื่อน​ผู้​อ่อน​วัย​กว่า​ว่า “จง​ไตร่ตรอง​เรื่อง​เหล่า​นี้ จง​หมกมุ่น​อยู่​กับ​เรื่อง​เหล่า​นี้ เพื่อ​ความ​ก้าว​หน้า​ของ​ท่าน​จะ​ปรากฏ​แก่​ทุก​คน.” เรา​ก็​ควร​ไตร่ตรอง​ให้​ดี​ด้วย โดย​อาศัย​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า ว่า​มี​ทาง​ใด​บ้าง​ที่​เรา​จะ​ก้าว​หน้า​ได้.—1 ติโม. 4:15.

16. คุณ​จำเป็น​ต้อง​ตื่น​ตัว​ต่อ​อันตราย​อะไร​เมื่อ​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​โดย​อาศัย​พระ​คัมภีร์?

16 หาก​คุณ​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​อย่าง​ซื่อ​สัตย์ คุณ​คง​จะ​พบ​ว่า​คุณ​มี​ข้อ​อ่อนแอ​บาง​อย่าง. นั่น​อาจ​ทำ​ให้​คุณ​รู้สึก​ห่อเหี่ยว​ใจ​ได้ แต่​อย่า​ปล่อย​ให้​เกิด​ความ​รู้สึก​อย่าง​นั้น. ที่​จริง จุด​ประสงค์​ของ​การ​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​ก็​คือ​เพื่อ​จะ​รู้​ว่า​จะ​ปรับ​ปรุง​ใน​จุด​ไหน​ได้​บ้าง. แน่นอน ซาตาน​อยาก​ให้​คริสเตียน​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​ไร้​ค่า​เพราะ​ความ​ไม่​สมบูรณ์. อัน​ที่​จริง ได้​มี​การ​กล่าว​อ้าง​ว่า​พระเจ้า​ทรง​ดูแคลน​ความ​พยายาม​ทั้ง​สิ้น​ของ​มนุษย์​ที่​ต้องการ​รับใช้​พระองค์. (โยบ 15:15, 16; 22:3) นั่น​เป็น​คำ​โกหก​ที่​พระ​เยซู​ทรง​โต้​แย้ง​อย่าง​แรง; พระเจ้า​ทรง​ถือ​ว่า​เรา​แต่​ละ​คน​มี​ค่า​มาก. (อ่าน​มัดธาย 10:29-31.) การ​รู้​ตัว​ว่า​คุณ​มี​ข้อ​บกพร่อง​บาง​อย่าง​น่า​จะ​ทำ​ให้​คุณ​ถ่อม​ใจ​และ​ตั้งใจ​แน่วแน่​จะ​แก้ไข​ตัว​เอง​ให้​ดี​ขึ้น โดย​อาศัย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​ยะโฮวา. (2 โค. 12:7-10) หาก​ความ​เจ็บ​ป่วย​หรือ​อายุ​ที่​มาก​ขึ้น​เป็น​ปัจจัย​ที่​ทำ​ให้​คุณ​ทำ​ได้​จำกัด ก็​จง​ตั้ง​เป้าหมาย​อย่าง​ที่​ทำ​ได้​จริง แต่​อย่า​หยุด​เลิก​หรือ​ปล่อย​ให้​ความ​รัก​ของ​คุณ​ลด​น้อย​ลง​ไป.

มี​ประโยชน์​มาก​มาย​ที่​จะ​หยั่ง​รู้​ค่า

17, 18. การ​สร้าง​เสริม​ความ​รัก​ที่​คุณ​มี​ใน​ตอน​แรก​ให้​ประโยชน์​อะไร​บ้าง?

17 มี​ประโยชน์​มาก​มาย​ที่​จะ​ได้​รับ​จาก​การ​สร้าง​เสริม​ต่อ ๆ ไป​บน​รากฐาน​ความ​รัก​ที่​คุณ​มี​ใน​ตอน​แรก. คุณ​สามารถ​พัฒนา​ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า​และ​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ต่อ​การ​ชี้​นำ​ด้วย​ความ​รัก​จาก​พระองค์. (อ่าน​สุภาษิต 2:1-9; 3:5, 6.) ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​กล่าว​ว่า “ข้อ​เตือน​ใจ​ของ​พระ​ยะโฮวา​วางใจ​ได้ ทำ​ให้​ผู้​ที่​ขาด​ประสบการณ์​มี​ปัญญา. . . . การ​รักษา​ข้อ​ความ​เหล่า​นั้น​ไว้​ก็​มี​บำเหน็จ​เป็น​อัน​มาก.” นอก​จาก​นั้น “ความ​สุข​มี​แก่​คน​ที่​ปราศจาก​ผิด​ใน​แนว​ทาง​ของ​เขา คือ​ผู้​ที่​ดำเนิน​ใน​กฎหมาย​ของ​พระ​ยะโฮวา.”—เพลง. 19:7, 11, ล.ม.; 119:1, ล.ม.

18 คุณ​คง​เห็น​ด้วย​แน่ ๆ ว่า​คุณ​มี​หลาย​สิ่ง​ที่​น่า​จะ​หยั่ง​รู้​ค่า. คุณ​เข้าใจ​เหตุ​ผล​ว่า​ทำไม​จึง​เกิด​เหตุ​การณ์​ต่าง ๆ อย่าง​ที่​เป็น​อยู่​ใน​โลก. คุณ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​การ​จัด​เตรียม​ฝ่าย​วิญญาณ​ทุก​อย่าง​ที่​พระเจ้า​กำลัง​ประทาน​แก่​ประชาชน​ของ​พระองค์​ใน​ทุก​วัน​นี้. ไม่​มี​ข้อ​สงสัย​ว่า​คุณ​รู้สึก​ขอบคุณ​ด้วย​ที่​พระ​ยะโฮวา​ได้​ชัก​นำ​คุณ​เข้า​สู่​ประชาคม​ของ​พระองค์​ซึ่ง​มี​อยู่​ทั่ว​โลก​และ​ประทาน​สิทธิ​พิเศษ​ให้​คุณ​เป็น​พยาน​คน​หนึ่ง​ของ​พระองค์. ลอง​นับ​พระ​พร​ที่​คุณ​ได้​รับ​ดู​สิ! ถ้า​คุณ​จด​พระ​พร​เหล่า​นั้น​ลง​บน​กระดาษ ก็​คง​จะ​เป็น​รายการ​อัน​ยาว​เหยียด. การ​คิด​ถึง​พระ​พร​เหล่า​นั้น​เป็น​ครั้ง​คราว​จะ​ช่วย​คุณ​อย่าง​แน่นอน​ให้​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ที่​ว่า “จง​ยึด​สิ่ง​ที่​เจ้า​มี​อยู่​ไว้​ให้​มั่น.”—วิ. 3:11.

19. นอก​จาก​การ​ใคร่ครวญ​ความ​สัมพันธ์​ที่​คุณ​มี​กับ​พระเจ้า​แล้ว ยัง​มี​อะไร​อีก​ที่​นับ​ว่า​จำเป็น​เพื่อ​จะ​รักษา​สุขภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ให้​ดี?

19 การ​ใคร่ครวญ​วิธี​ที่​ความ​เชื่อ​ของ​คุณ​ได้​พัฒนา​ขึ้น​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป​เป็น​เพียง​ขั้น​ตอน​หนึ่ง​ที่​สามารถ​ช่วย​คุณ​ให้​ยึด​สิ่ง​ที่​คุณ​มี​อยู่​ไว้​ให้​มั่น. วารสาร​นี้​ได้​กล่าว​ย้ำ​หลาย​ครั้ง​ถึง​สิ่ง​อื่น ๆ ที่​จำเป็น​เพื่อ​จะ​รักษา​สุขภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ให้​ดี. สิ่ง​จำเป็น​เหล่า​นี้​รวม​ถึง​การ​อธิษฐาน, การ​เข้า​ร่วม​และ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​ประชุม​คริสเตียน, และ​การ​ร่วม​ทำ​งาน​ประกาศ​อย่าง​กระตือรือร้น. การ​ทำ​สิ่ง​เหล่า​นี้​สามารถ​ช่วย​คุณ​ให้​ฟื้นฟู​และ​สร้าง​เสริม​ความ​รัก​ที่​คุณ​เคย​มี​ใน​ตอน​แรก.—เอเฟ. 5:10; 1 เป. 3:15; ยูดา 20, 21.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• เหตุ​ผล​ที่​คุณ​เริ่ม​รัก​พระ​ยะโฮวา​จะ​ช่วย​ให้​คุณ​มี​กำลังใจ​ใน​ตอน​นี้​ได้​อย่าง​ไร?

• การ​ใคร่ครวญ​ประสบการณ์​ที่​คุณ​เอง​มี​ตลอด​หลาย​ปี​ที่​ผ่าน​ไป​จะ​ทำ​ให้​คุณ​สามารถ​เชื่อ​มั่น​ใน​เรื่อง​ใด?

• เหตุ​ใด​คุณ​ควร​วิเคราะห์​ความ​รัก​ที่​คุณ​มี​ต่อ​พระเจ้า?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 23]

ส่วน​ไหน​ของ​ความ​จริง​ที่​ดึงดูด​ใจ​คุณ​และ​ทำ​ให้​คุณ​เชื่อ​มั่น?

[ภาพ​หน้า 25]

คุณ​เห็น​สิ่ง​ใด​ที่​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน​ไหม?