ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จุดเด่นจากจดหมายถึงคริสเตียนในเมืองโครินท์

จุดเด่นจากจดหมายถึงคริสเตียนในเมืองโครินท์

พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​มี​ชีวิต

จุด​เด่น​จาก​จดหมาย​ถึง​คริสเตียน​ใน​เมือง​โครินท์

อัครสาวก​เปาโล​เป็น​ห่วง​สวัสดิภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​ประชาคม​ใน​เมือง​โครินท์​อย่าง​ยิ่ง. ท่าน​ได้​ยิน​ว่า​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​กัน​กัน​ใน​หมู่​พี่​น้อง​ที่​นั่น. ประชาคม​นี้​ยอม​ให้​กับ​การ​ทำ​ผิด​ศีลธรรม. นอก​จาก​นั้น พี่​น้อง​ที่​ประชาคม​นี้​ได้​เขียน​จดหมาย​ไป​ถึง​เปาโล​เพื่อ​ถาม​เกี่ยว​กับ​บาง​เรื่อง. ด้วย​เหตุ​นั้น ราว ๆ สากล​ศักราช 55 เมื่อ​ท่าน​อยู่​ที่​เมือง​เอเฟโซส์​ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง​รอบ​ที่​สาม​ใน​ฐานะ​มิชชันนารี เปาโล​ได้​เขียน​จดหมาย​ฉบับ​แรก​จาก​สอง​ฉบับ​ที่​ท่าน​เขียน​ถึง​พี่​น้อง​ใน​เมือง​โครินท์.

จดหมาย​ฉบับ​ที่​สอง ซึ่ง​ดู​เหมือน​ว่า​เขียน​หลัง​จาก​ฉบับ​แรก​ไม่​กี่​เดือน เป็น​จดหมาย​ที่​มี​เนื้อ​ความ​ต่อ​เนื่อง​จาก​ฉบับ​แรก. เนื่อง​จาก​สภาพการณ์​ทั้ง​ใน​และ​นอก​ประชาคม​โครินท์​ใน​ศตวรรษ​แรก​คล้ายคลึง​กับ​สมัย​ของ​เรา​ใน​หลาย ๆ ทาง ข่าวสาร​ใน​จดหมาย​ของ​เปาโล​ถึง​พี่​น้อง​ใน​โครินท์​จึง​มี​คุณค่า​ต่อ​เรา​อย่าง​ยิ่ง.—ฮีบรู 4:12.

‘จง​ตื่น​อยู่ มี​ความ​เชื่อ ที่​มั่นคง และ​เข้มแข็ง’

(1 โค. 1:1–16:24)

เปาโล​กระตุ้น​เตือน​ว่า “พวก​ท่าน​ทุก​คน​ควร​พูด​ให้​สอดคล้อง​กัน.” (1 โค. 1:10) ไม่​มี ‘ฐาน​ราก​อื่น​อีก​นอก​จาก​พระ​เยซู​คริสต์’ สำหรับ​การ​ก่อ​สร้าง​คุณลักษณะ​แบบ​คริสเตียน. (1 โค. 3:11-13) เปาโล​กล่าว​เกี่ยว​กับ​ผู้​ทำ​ผิด​ประเวณี​คน​หนึ่ง​ใน​ประชาคม​นี้​ว่า “จง​ขับ​ไล่​คน​ชั่ว​นั้น​ออก​ไป​จาก​พวก​ท่าน​เถิด.” (1 โค. 5:13) ท่าน​กล่าว​ว่า “ร่าง​กาย​ไม่​ได้​มี​ไว้​สำหรับ​การ​ผิด​ประเวณี แต่​มี​ไว้​สำหรับ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า.”—1 โค. 6:13.

เมื่อ​เปาโล​ตอบ “เรื่อง​ที่ [พวก​เขา] เขียน​มา​นั้น” ท่าน​ได้​ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​ดี​เกี่ยว​กับ​การ​สมรส​และ​การ​เป็น​โสด. (1 โค. 7:1) หลัง​จาก​อธิบาย​เรื่อง​ความ​เป็น​ประมุข​ของ​คริสเตียน, เรื่อง​ความ​เป็น​ระเบียบ​เรียบร้อย ณ การ​ประชุม​คริสเตียน, และ​เรื่อง​ความ​แน่นอน​ของ​การ​กลับ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย เปาโล​กระตุ้น​เตือน​ดัง​นี้: “จง​ตื่น​อยู่ จง​มี​ความ​เชื่อ​ที่​มั่นคง จง​ปฏิบัติ​อย่าง​ลูก​ผู้​ชาย จง​เข้มแข็ง.”—1 โค. 16:13.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​คัมภีร์:

1:21—พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใช้ “เรื่อง​โง่​เขลา” เพื่อ​ช่วย​คน​ที่​เชื่อ​ให้​รอด​จริง ๆ ไหม? พระองค์​ไม่​ได้​ทำ​อย่าง​นั้น. แต่​เนื่อง​จาก “โลก​ไม่​ได้​มา​รู้​จัก​พระเจ้า​ด้วย​ปัญญา​ของ​โลก” สิ่ง​ที่​พระองค์​ทรง​ใช้​เพื่อ​ช่วย​ผู้​คน​จึง​ดู​เป็น​เรื่อง​โง่​เขลา​ใน​สายตา​ของ​โลก.—โย. 17:25.

5:5—การ “มอบ​คน [ชั่ว] นั้น​แก่​ซาตาน​เพื่อ​ขจัด​แรง​ชักจูง​ที่​ผิด​บาป จะ​ได้​รักษา​น้ำใจ​อัน​ดี​ของ​ประชาคม​ไว้” หมาย​ถึง​อะไร? เมื่อ​ผู้​ทำ​บาป​ร้ายแรง​ที่​ไม่​กลับ​ใจ​ถูก​ประชาคม​ตัด​สัมพันธ์ เขา​กลาย​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ใน​โลก​ชั่ว​ของ​ซาตาน​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. (1 โย. 5:19) ด้วย​เหตุ​นั้น จึง​มี​คำ​พรรณนา​ว่า​เขา​ถูก​มอบ​แก่​ซาตาน. การ​ขับ​ไล่​คน​นั้น​ออก​ไป​ยัง​ผล​เป็น​การ​ทำลาย​หรือ​ขจัด​อิทธิพล​ที่​เสื่อม​เสีย​ให้​หมด​ไป​จาก​ประชาคม และ​รักษา​น้ำใจ​หรือ​เจตคติ​ของ​ประชาคม.—2 ติโม. 4:22.

7:33, 34—“สิ่ง​ที่​เป็น​ของ​โลก” ซึ่ง​ชาย​หญิง​ที่​สมรส​แล้ว​สาละวน​อยู่​หมาย​ถึง​อะไร? เปาโล​กำลัง​กล่าว​ถึง​สิ่ง​ต่าง ๆ ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน​ซึ่ง​คริสเตียน​ที่​สมรส​แล้ว​จำเป็น​ต้อง​เป็น​ห่วง. สิ่ง​เหล่า​นี้​รวม​ถึง​อาหาร, เสื้อ​ผ้า, และ​ที่​อยู่​อาศัย แต่​ไม่​ได้​หมาย​ถึง​สิ่ง​ที่​ไม่​ดี​ทั้ง​หลาย​ของ​โลก​ซึ่ง​คริสเตียน​หลีก​เลี่ยง.—1 โย. 2:15-17.

11:26—ควร​ระลึก​ถึง​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู​บ่อย​ขนาด​ไหน และ “จน​กว่า” เมื่อ​ไร? สิ่ง​ที่​เปาโล​ตั้งใจ​จะ​บอก​ก็​คือ​ว่า​ทุก​ครั้ง​ที่​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​รับประทาน​สิ่ง​ซึ่ง​เป็น​สัญลักษณ์​ใน​วัน​อนุสรณ์ ปี​ละ​ครั้ง​ใน​วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน พวก​เขา​ก็​กำลัง “ประกาศ​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า.” พวก​เขา​ทำ​อย่าง​นี้ “จน​กว่า​พระองค์​จะ​เสด็จ​มา” ซึ่ง​ก็​คือ​จน​กว่า​พระองค์​จะ​รับ​พวก​เขา​เข้า​สู่​สวรรค์​โดย​การ​กลับ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย.—1 เทส. 4:14-17.

13:13—ความ​รัก​ใหญ่​กว่า​ความ​เชื่อ​และ​ความ​หวัง​อย่าง​ไร? เมื่อ “สิ่ง​ที่​หวัง​ไว้” กลาย​เป็น​จริง​และ “ความ​มั่น​ใจ​โดย​มี​เหตุ​ผล​หนักแน่น” เกี่ยว​กับ​ความ​หวัง​นั้น​เกิด​ขึ้น​จริง ๆ แล้ว แง่​มุม​ต่าง ๆ ของ​ความ​เชื่อ​และ​ความ​หวัง​ก็​สิ้น​สุด​ลง​แค่​นั้น. (ฮีบรู 11:1) ความ​รัก​ใหญ่​กว่า​ความ​เชื่อ​และ​ความ​หวัง​ใน​แง่​ที่​ว่า​ความ​รัก​คง​อยู่​ตลอด​ไป.

15:29—การ “รับ​บัพติสมา​เพื่อ​จะ​เป็น​คน​ตาย” หมาย​ความ​อย่าง​ไร? เปาโล​ไม่​ได้​บอก​เป็น​นัย​ว่า คน​ที่​มี​ชีวิต​อยู่​จะ​รับ​บัพติสมา​เพื่อ​คน​ที่​ตาย​ไป​โดย​ที่​ยัง​ไม่​ได้​รับ​บัพติสมา ดัง​ที่​อาจ​เข้าใจ​อย่าง​นั้น​จาก​วิธี​ที่​ฉบับ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​หลาย​ฉบับ​แปล​ข้อ​นี้. ใน​ที่​นี้ เปาโล​กำลัง​กล่าว​ถึง​การ​จุ่ม​ตัว​ของ​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​ด้วย​พระ​วิญญาณ​เข้า​สู่​แนว​ทาง​แห่ง​ชีวิต​ซึ่ง​พวก​เขา​ต้อง​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​จน​กระทั่ง​สิ้น​ชีวิต​และ​หลัง​จาก​นั้น​จึง​จะ​ได้​รับ​การ​ปลุก​ให้​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย​สู่​ชีวิต​ที่​เป็น​กาย​วิญญาณ.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

1:26-31; 3:3-9; 4:7. การ​อวด​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ ไม่​ใช่​อวด​ตัว​เรา​เอง ส่ง​เสริม​เอกภาพ​ใน​ประชาคม.

2:3-5. ขณะ​ให้​คำ​พยาน​ใน​เมือง​โครินท์ ซึ่ง​เป็น​ศูนย์กลาง​การ​ศึกษา​และ​ปรัชญา​กรีก เปาโล​อาจ​กังวล​ก็​ได้​ว่า​ท่าน​จะ​โน้ม​น้าว​ผู้​ฟัง​ให้​เชื่อ​ได้​หรือ​ไม่. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ท่าน​ไม่​ปล่อย​ให้​ความ​อ่อนแอ​หรือ​ความ​กลัว​ใด ๆ ก็​ตาม​ที่​ท่าน​อาจ​มี​ขัด​ขวาง​การ​ทำ​งาน​รับใช้​ที่​พระเจ้า​ประทาน​แก่​ท่าน. เช่น​เดียว​กัน เรา​ไม่​ควร​ปล่อย​ให้​สภาพการณ์​ที่​ไม่​เป็น​ไป​ตาม​ปกติ​มา​ยับยั้ง​เรา​ไว้​จาก​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า. เรา​สามารถ​หมาย​พึ่ง​พระ​ยะโฮวา​ให้​ช่วย​ด้วย​ความ​มั่น​ใจ​เช่น​เดียว​กับ​เปาโล.

2:16. การ​มี “จิตใจ​อย่าง​พระ​คริสต์” หมาย​ถึง​การ​ที่​เรา​รู้​ว่า​พระองค์​ทรง​คิด​อย่าง​ไร, คิด​อย่าง​ที่​พระองค์​คิด, เข้าใจ​บุคลิกภาพ​ของ​พระองค์​เป็น​อย่าง​ดี, และ​เลียน​แบบ​อย่าง​ของ​พระองค์. (1 เป. 2:21; 4:1) นับ​ว่า​สำคัญ​สัก​เพียง​ไร​ที่​เรา​จะ​ศึกษา​ชีวิต​และ​งาน​รับใช้​ของ​พระ​เยซู​อย่าง​ละเอียด!

3:10-15; 4:17. เรา​ควร​วิเคราะห์​และ​ปรับ​ปรุง​ความ​สามารถ​ของ​เรา​ใน​การ​สอน​และ​การ​ทำ​ให้​คน​เป็น​สาวก. (มัด. 28:19, 20) ถ้า​เรา​สอน​ไม่​ดี นัก​ศึกษา​ของ​เรา​อาจ​ไม่​ผ่าน​การ​ทดสอบ​ความ​เชื่อ และ​เรา​อาจ​ประสบ​กับ​ความ​สูญ​เสีย​ที่​เจ็บ​ปวด​มาก ถึง​ขนาด​ที่​แม้​ว่า​เรา​จะ​รอด​แต่​ก็ “เหมือน​รอด​จาก​ไฟ.”

6:18. การ “หลีก​หนี​จาก​การ​ผิด​ประเวณี” หมาย​ถึง​การ​ที่​เรา​หลีก​เลี่ยง​ไม่​เพียง​แค่​การ​กระทำ​ต่าง ๆ ที่​เข้า​ข่าย​พอร์เนีย แต่​หลีก​เลี่ยง​สื่อ​ลามก, ความ​ไม่​สะอาด​ด้าน​ศีลธรรม, การ​คิด​เพ้อ​ฝัน​ใน​เรื่อง​เพศ, การ​เกี้ยวพาราสี​เล่น ๆ—สิ่ง​ใด​ก็​ตาม​ที่​อาจ​นำ​ไป​สู่​การ​ทำ​ผิด​ประเวณี.—มัด. 5:28; ยโก. 3:17.

7:29. คู่​สมรส​ควร​ระวัง​อย่า​หมกมุ่น​สนใจ​กัน​และ​กัน​มาก​เกิน​ไป​จน​ทำ​ให้​ผล​ประโยชน์​ของ​ราชอาณาจักร​กลาย​เป็น​เรื่อง​อันดับ​รอง​ใน​ชีวิต​ของ​ตน.

10:8-11. พระ​ยะโฮวา​ทรง​กริ้ว​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​ชาติ​อิสราเอล​บ่น​ต่อ​ว่า​โมเซ​และ​อาโรน. นับ​ว่า​ฉลาด​สุขุม​ที่​เรา​จะ​ระวัง​อย่า​สร้าง​นิสัย​ชอบ​บ่น.

16:2. การ​บริจาค​เงิน​เพื่อ​ส่ง​เสริม​ความ​ก้าว​หน้า​ของ​งาน​ประกาศ​ทั่ว​โลก​จะ​เป็น​ไป​อย่าง​สม่ำเสมอ​ถ้า​เรา​วาง​แผน​ล่วง​หน้า​และ​ทำ​อย่าง​เป็น​ระบบ.

‘ได้​รับ​การ​ปรับ​ให้​มี​สภาพ​ดี​ดัง​เดิม​เรื่อย​ไป’

(2 โค. 1:1–13:14)

เปาโล​บอก​พี่​น้อง​ใน​เมือง​โครินท์​ว่า​พวก​เขา​ควร “เต็ม​ใจ​ให้​อภัย​และ​ปลอบโยน” ผู้​ทำ​ผิด​คน​หนึ่ง​ที่​ถูก​ตำหนิ​แล้ว​เขา​แสดง​การ​กลับ​ใจ. แม้​ว่า​จดหมาย​ฉบับ​แรก​ที่​ท่าน​เขียน​มา​ทำ​ให้​พวก​เขา​เสียใจ แต่​เปาโล​ก็​ยินดี​เพราะ​พวก​เขา “เสียใจ​ถึง​ขนาด​ที่​กระตุ้น​ให้​กลับ​ใจ.”—2 โค. 2:6, 7; 7:8, 9.

‘เมื่อ​พวก​เขา​มี​ทุก​สิ่ง​บริบูรณ์’ เปาโล​จึง​สนับสนุน​พี่​น้อง​ใน​โครินท์​ให้ “มี​น้ำใจ​บริจาค​อย่าง​บริบูรณ์.” หลัง​จาก​ตอบ​โต้​ผู้​ต่อ​ต้าน​แล้ว ท่าน​ให้​คำ​แนะ​นำ​สุด​ท้าย​แก่​ทุก​คน​ว่า “ขอ​ให้​พวก​ท่าน​ปีติ​ยินดี​เรื่อย​ไป ได้​รับ​การ​ปรับ​ให้​มี​สภาพ​ดี​ดัง​เดิม ได้​รับ​การ​ชู​ใจ​จาก​พี่​น้อง ขอ​ให้​คิด​สอดคล้อง​กัน และ​ดำเนิน​ชีวิต​อย่าง​มี​สันติ​สุข​ต่อ ๆ ไป.”—2 โค. 8:7; 13:11.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​คัมภีร์:

2:15, 16—เรา​เป็น “กลิ่น​อัน​หอม​หวาน​ของ​ข่าว​ดี​เรื่อง​พระ​คริสต์” อย่าง​ไร? ที่​เป็น​อย่าง​นี้​เพราะ​เรา​ยึด​มั่น​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​ร่วม​ประกาศ​ข่าวสาร​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. แม้​ว่า “กลิ่น​อัน​หอม​หวาน” เช่น​นั้น​อาจ​เป็น​ที่​น่า​รังเกียจ​สำหรับ​คน​ไม่​ชอบธรรม แต่​เป็น​กลิ่น​อัน​หอม​หวาน​สำหรับ​พระ​ยะโฮวา​และ​ผู้​มี​หัวใจ​สุจริต.

5:16—คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม “ไม่​มอง​ใคร​อย่าง​ที่​คน​ทั่ว​ไป​มอง” อย่าง​ไร? พวก​เขา​ไม่​มอง​ผู้​คน​แบบ​เดียว​กับ​ที่​ผู้​คน​ทั่ว​ไป​มอง กล่าว​คือ เลือก​ที่​รัก​มัก​ที่​ชัง​เพราะ​ฐานะ​ทาง​การ​เงิน, เชื้อชาติ, ชาติ​พันธุ์, หรือ​สัญชาติ. สิ่ง​ที่​สำคัญ​สำหรับ​พวก​เขา​คือ​ความ​สัมพันธ์​ฝ่าย​วิญญาณ​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ.

11:1, 16; 12:11—เปาโล​แสดง​ความ​ไร้​เหตุ​ผล​กับ​พี่​น้อง​ใน​โครินท์​ไหม? ท่าน​ไม่​ได้​เป็น​อย่าง​นั้น. แต่​ท่าน​อาจ​ดู​เหมือน​เป็น​คน​โอ้อวด​และ​ไร้​เหตุ​ผล​ใน​สายตา​ของ​บาง​คน เนื่อง​ด้วย​สิ่ง​ที่​ท่าน​จำ​ต้อง​พูด​เพื่อ​ปก​ป้อง​ฐานะ​ของ​ท่าน​ที่​เป็น​อัครสาวก.

12:1-4—ใคร “ถูก​รับ​เข้า​สู่​อุทยาน”? เนื่อง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​กล่าว​ถึง​ใคร​อื่น​อีก​ที่​ได้​รับ​นิมิต​เช่น​นั้น​และ​ข้อ​ความ​นี้​กล่าว​หลัง​จาก​เปาโล​กล่าว​ปก​ป้อง​ฐานะ​ของ​ท่าน​ที่​เป็น​อัครสาวก อาจ​เป็น​ไป​ได้​มาก​ว่า​ท่าน​กำลัง​เล่า​ประสบการณ์​ของ​ตัว​ท่าน​เอง. สิ่ง​ที่​ท่าน​อัครสาวก​เห็น​ใน​นิมิต​คง​จะ​เป็น​อุทยาน​ฝ่าย​วิญญาณ​อัน​เป็น​สภาพ​ที่​มี​อยู่​ท่ามกลาง​ประชาคม​คริสเตียน​ใน “เวลา​อวสาน.”—ดานิ. 12:4, ล.ม.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

3:5. โดย​หลักการ​แล้ว ข้อ​นี้​บอก​เรา​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ทำ​ให้​คริสเตียน​มี​คุณสมบัติ​ที่​เหมาะ​สม​สำหรับ​งาน​รับใช้​ด้วย​พระ​คำ​ของ​พระองค์, พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์, และ​องค์การ​ของ​พระองค์​ส่วน​ที่​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก. (โย. 16:7; 2 ติโม. 3:16, 17) เรา​ควร​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​สรรพหนังสือ​ที่​อาศัย​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หลัก​อย่าง​ขยัน​ขันแข็ง, พากเพียร​ใน​การ​อธิษฐาน​ขอ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์, รวม​ถึง​เข้า​ร่วม​และ​มี​ส่วน​เป็น​ประจำ​ใน​การ​ประชุม​คริสเตียน.—เพลง. 1:1-3; ลูกา 11:10-13; ฮีบรู 10:24, 25.

4:16. เนื่อง​จาก “สภาพ​ภาย​ใน​ของ​เรา​ก็​ได้​รับ​การ​เสริม​กำลัง​ขึ้น​ใหม่​ทุก​วัน” โดย​พระ​ยะโฮวา เรา​ควร​พร้อม​เสมอ​ที่​จะ​รับ​เอา​การ​จัด​เตรียม​ของ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ประจำ ไม่​ปล่อย​ให้​แต่​ละ​วัน​ผ่าน​ไป​โดย​ไม่​ได้​พิจารณา​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ.

4:17, 18. การ​จำ​ไว้​ว่า “ความ​ทุกข์​ลำบาก​นั้น​มี​ชั่ว​ประเดี๋ยว​เดียว​และ​ไม่​หนัก” อาจ​ช่วย​เรา​ให้​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​อยู่​เสมอ​ใน​ช่วง​ที่​ประสบ​ความ​ทุกข์​ลำบาก.

5:1-5. เปาโล​พรรณนา​ความ​รู้สึก​ของ​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​ที่​มี​ต่อ​ความ​หวัง​จะ​ได้​รับ​ชีวิต​ใน​สวรรค์​ไว้​อย่าง​งดงาม​จริง ๆ!

10:13. ตาม​กฎ​โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว เรา​ควร​ทำ​งาน​เฉพาะ​เขต​มอบหมาย​ของ​ประชาคม เว้น​แต่​ว่า​เรา​จะ​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ช่วย​ใน​เขต​ที่​มี​ความ​จำเป็น​มาก​กว่า.

13:5. เพื่อ​จะ ‘ทดสอบ​ว่า​เรา​ยึด​มั่น​กับ​หลัก​ความ​เชื่อ​หรือ​ไม่’ เรา​ต้อง​ตรวจ​สอบ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​การ​กระทำ​ของ​เรา​สอดคล้อง​กับ​สิ่ง​ที่​เรา​เรียน​รู้​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล. เพื่อ​จะ ‘พิสูจน์​ยืน​ยัน​ตัว​เรา​เอง’ เรา​ต้อง​ประเมิน​ดู​ว่า​สภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​เรา​อยู่​ใน​ระดับ​ใด รวม​ไป​ถึง​ความ​สามารถ​ของ​เรา​ใน​การ​ใช้ “วิจารณญาณ” และ​ขอบ​เขต​ของ​งาน​รับใช้​ที่​เรา​ทำ. (ฮีบรู 5:14; ยโก. 1:22-25) โดย​ใช้​คำ​แนะ​นำ​ที่​ดี​ของ​เปาโล เรา​สามารถ​ดำเนิน​ต่อ ๆ ไป​ใน​แนว​ทาง​แห่ง​ความ​จริง.

[ภาพ​หน้า 26, 27]

ถ้อย​คำ​ที่​ว่า “เมื่อ​ใด​ก็​ตาม​ที่​ท่าน​ทั้ง​หลาย​กิน​ขนมปัง​และ​ดื่ม​จาก​ถ้วย​ตาม​อย่าง​นี้” หมาย​ถึง​อะไร?—1 โค. 11:26