จงถวายเกียรติแด่พระยะโฮวาด้วยความประพฤติที่น่านับถือ
จงถวายเกียรติแด่พระยะโฮวาด้วยความประพฤติที่น่านับถือ
“พระราชกิจของ [พระยะโฮวา] เป็นที่แสดงอานุภาพและเกียรติยศ.”—เพลง. 111:3.
1, 2. (ก) คุณจะนิยามคำว่า “ความน่านับถือ” อย่างไร? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไรบ้างในบทความนี้?
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระเจ้าว่า “ทรงฉลองพระองค์ด้วยยศศักดิ์.” (เพลง. 104:1) สำหรับมนุษย์เรา บางครั้งการแสดงศักดิ์ศรีหรือความน่านับถืออาจเกี่ยวข้องกับการแต่งกายดี. ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปาโลปรารถนาให้สตรีคริสเตียน “แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่เรียบร้อย สุภาพ และมีสติ ไม่ใช่ด้วยการถักผมแบบต่าง ๆ และโดยการประดับตัวด้วยทองคำหรือไข่มุกหรือสวมเสื้อผ้าราคาแพงมาก.” (1 ติโม. 2:9) แต่การกระทำที่น่านับถือซึ่งยกย่อง ‘ความสูงส่งและความมีเกียรติ’ ของพระยะโฮวามีความหมายที่กว้างกว่านั้น.—เพลง. 111:3, ฉบับแปลใหม่.
2 ในคัมภีร์ไบเบิล คำภาษาฮีบรูสำหรับคำว่า “ความน่านับถือ” อาจแปลได้ด้วยว่า “ความสง่างาม,” “ความยิ่งใหญ่,” “สง่าราศี,” และ “เกียรติยศ.” ตามที่พจนานุกรมฉบับหนึ่งนิยามไว้ “ความน่านับถือ” เป็น “คุณลักษณะหรือสภาพของความคู่ควร, ได้รับเกียรติ, หรือได้รับการยกย่อง.” ไม่มีใครคู่ควรจะได้รับเกียรติและการยกย่องมากไปกว่าพระยะโฮวา. ดังนั้น ในฐานะผู้รับใช้ที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาเราควรพูดและทำอย่างน่านับถือ. แต่เพราะเหตุใดมนุษย์เราจึงสามารถแสดงความน่านับถือได้? มีการแสดงให้เห็นความน่านับถือและความสง่างามของพระยะโฮวาอย่างชัดเจนอย่างไร? เราควรได้รับผลกระทบจากความน่านับถือของพระเจ้าอย่างไร? พระเยซูคริสต์ทรงสามารถสอนอะไรแก่เราเกี่ยวกับการแสดงคุณลักษณะนี้? และเราจะประพฤติอย่างน่านับถือในการนมัสการพระเจ้าได้อย่างไร?
เหตุที่เราสามารถประพฤติอย่างมีเกียรติ
3, 4. (ก) เราควรตอบสนองอย่างไรต่อการที่เราได้รับเกียรติจากพระเจ้า? (ข) บทเพลงสรรเสริญ 8:5-9 เป็นคำพยากรณ์ที่ชี้ถึงใคร? (โปรดดูเชิงอรรถ.) (ค) พระยะโฮวาทรงให้เกียรติแก่ใครในอดีต?
3 เนื่องจากถูกสร้างตามแบบพระเจ้า มนุษย์ทุกคนจึงมีความสามารถที่จะประพฤติอย่างน่านับถือ. พระยะโฮวาทรงให้เกียรติมนุษย์คนแรกโดยแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้ดูแลแผ่นดินโลก. (เย. 1:26, 27) แม้แต่หลังจากที่มนุษย์สูญเสียความสมบูรณ์ไปแล้ว พระยะโฮวาตรัสซ้ำพระบัญชาของพระองค์อีกครั้งเกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบของมนุษย์ต่อแผ่นดินโลก. ด้วยเหตุนั้น พระเจ้ายังคง “สวมมงกุฎ” แห่งความมีเกียรติให้แก่มนุษย์. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 8:5-9.) * เกียรติที่พระยะโฮวาประทานแก่เรานั้นทำให้เรามีพันธะที่จะตอบสนองด้วยการสรรเสริญพระนามอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ด้วยความเคารพยำเกรงและนับถือ.
4 พระยะโฮวาได้ให้เกียรติเป็นพิเศษแก่คนที่ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระองค์. พระเจ้าทรงให้เกียรติเฮเบลโดยทรงยอมรับเครื่องบูชาของเขา และปฏิเสธเครื่องบูชาที่คายินพี่ชายของเขาถวาย. (เย. 4:4, 5) โมเซได้รับพระบัญชาให้ท่าน ‘ให้เกียรติยศอย่างของท่าน’ แก่ยะโฮซูอะ ซึ่ง จะสืบทอดตำแหน่งเป็นผู้นำชาวอิสราเอลต่อไป. (อาฤ. 27:20, ฉบับแปลใหม่) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับโซโลมอน ราชบุตรของดาวิด ว่า “พระยะโฮวาทรงบันดาลให้กษัตริย์ซะโลโมเจริญมากยิ่งต่อหน้าบรรดาพวกยิศราเอล, และได้พระราชทานให้ท่านมีเกียรติยศยิ่งกว่ากษัตริย์องค์ใด ๆ ในพวกยิศราเอลที่เป็นก่อนท่าน.” (1 โคร. 29:25) พระเจ้าจะทรงให้เกียรติเป็นพิเศษแก่คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย ซึ่งได้ประกาศอย่างซื่อสัตย์ถึง “สง่าราศีอันรุ่งโรจน์แห่งราชอาณาจักรของพระองค์.” (เพลง. 145:11-13, ฉบับแปลใหม่) ด้วยการยกย่องสรรเสริญพระยะโฮวาเช่นนั้น จึงมีฝูงชนที่เป็น “แกะอื่น” ของพระเยซูมากขึ้นพากันเข้ามารับเอาบทบาทที่ยอดเยี่ยมและมีเกียรติด้วยเช่นกัน.—โย. 10:16.
ความยิ่งใหญ่และความสง่างามของพระยะโฮวาปรากฏชัด
5. พระยะโฮวาทรงยิ่งใหญ่ขนาดไหน?
5 ในเพลงบทหนึ่งซึ่งชี้ถึงความแตกต่างระหว่างความยิ่งใหญ่ของพระเจ้ากับความเล็กจ้อยของมนุษย์ ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, องค์พระผู้เป็นเจ้าของพวกข้าพเจ้า, พระนามของพระองค์ประเสริฐยิ่งทั่วโลกสักเท่าใด, พระองค์ทรงเปล่งรัศมีในฟ้าสวรรค์ให้ปรากฏแจ้ง.” (เพลง. 8:1) นับตั้งแต่ก่อนสร้าง “ฟ้าและดิน” ไปจนกระทั่งผ่านพ้นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่แห่งพระประสงค์ของพระเจ้าที่จะทำให้แผ่นดินโลกเป็นอุทยานและยกระดับครอบครัวมนุษย์ขึ้นสู่ความสมบูรณ์—ตั้งแต่อดีตกาลจนตลอดอนาคตกาล—พระยะโฮวาเจ้าทรงเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่และน่านับถือที่สุดในเอกภพ.—เย. 1:1; 1 โค. 15:24-28; วิ. 21:1-5.
6. เหตุใดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่าพระยะโฮวาทรงฉลองพระองค์ด้วยยศศักดิ์?
6 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่เกรงกลัวพระเจ้าคงต้องประทับใจมากสักเพียงไรเมื่อมองดูความยิ่งใหญ่อันเงียบสงัดของท้องฟ้ายามราตรีที่เต็มด้วยดาว ดารดาษไปด้วย “อัญมณี” อันแวววาว! ด้วยความพิศวงในวิธีที่พระเจ้า “ทรงคลี่ท้องฟ้าออกดุจคลี่ผ้าม่าน” ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญพรรณนาพระยะโฮวาว่าประหนึ่งทรงฉลองพระองค์ด้วยยศศักดิ์หรือความน่านับถือเนื่องด้วยพระปรีชาสามารถอันยอดเยี่ยมของพระองค์ในการสร้างสรรค์. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 104:1, 2.) ความยิ่งใหญ่และความสง่างามของพระผู้สร้างองค์ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งผู้ไม่ประจักษ์แก่ตาสามารถเห็นได้ชัดในผลงานการสร้างของพระองค์ที่เห็นได้ด้วยตา.
7, 8. เราเห็นหลักฐานอะไรในเอกภพที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และความสง่างามของพระยะโฮวา?
7 เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณากาแล็กซีทางช้างเผือก. ในกลุ่มดาวอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ซึ่งเต็มไปด้วยดาวฤกษ์, ดาวเคราะห์และระบบสุริยะต่าง ๆ โลกกลายเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดเล็กมากจนไร้ความหมายไปเลย เปรียบประดุจทรายเม็ดหนึ่งบนหาดทรายอันยาวเหยียด. คิดดูสิ เฉพาะกาแล็กซีนี้กาแล็กซีเดียวมีดาวฤกษ์มากกว่า 100,000 ล้านดวง! ถ้าคุณสามารถนั่งนับดาวในอัตราหนึ่งดวงทุก ๆ หนึ่งวินาทีโดยไม่หยุดเลยวันละ 24 ชั่วโมง คุณต้องใช้เวลามากกว่า 3,000 ปีจึงจะนับได้ครบจำนวน 100,000 ล้าน.
8 หากแค่กาแล็กซีทางช้างเผือกกาแล็กซีเดียวก็มีดาวถึง 100,000 ล้านดวง แล้วจะมีดาวมากขนาดไหนในส่วนที่เหลือของเอกภพ? นักดาราศาสตร์ประมาณว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกอาจเป็นหนึ่งในกาแล็กซีทั้งหมดซึ่งมีจำนวนราว ๆ 50,000 ล้านถึง 125,000 ล้านกาแล็กซี. มีดาวจำนวนเท่าไรทั่วทั้งเอกภพ? คำตอบคงต้องเป็นจำนวนมากมายจนนึกภาพไม่ออกอย่างแน่นอน. กระนั้น พระยะโฮวา “ทรงนับดวงดาว; และทรงตั้งชื่อให้ดวงดาวทั้งปวง.” (เพลง. 147:4) เมื่อเห็นว่าพระยะโฮวาทรงฉลองพระองค์ด้วยความยิ่งใหญ่และความสง่างามเช่นนั้น คุณไม่ถูกกระตุ้นใจให้สรรเสริญพระนามอันยิ่งใหญ่ของพระองค์หรอกหรือ?
9, 10. การจัดเตรียมที่ทำให้มีขนมปังเป็นการสรรเสริญพระปัญญาของพระผู้สร้างของเราอย่างไร?
9 ตอนนี้ ขอให้เราลดระดับสายตาของเราลงจากท้องฟ้าอันยิ่งใหญ่มาดูสิ่งที่ธรรมดา ๆ อย่างขนมปัง. ไม่เพียงแต่พระยะโฮวาทรงเป็น “ผู้ได้ทรงสร้างฟ้าและแผ่นดิน” เท่านั้น แต่พระองค์ยังเป็น “ผู้ทรงประทานอาหาร [ภาษาเดิม ขนมปัง] แก่คนที่หิว.” (เพลง. 146:6, 7) พระราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าสะท้อนให้เห็น “อานุภาพและเกียรติยศ” ของพระองค์ รวมถึงการที่พระองค์จัดให้มีพืชชนิดต่าง ๆ ที่มนุษย์เราใช้ทำขนมปัง. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 111:1-5.) พระเยซูทรงสอนเหล่าสาวกให้อธิษฐานว่า “ขอทรงประทานอาหาร [ภาษาเดิม ขนมปัง] แก่พวกข้าพเจ้าสำหรับวันนี้.” (มัด. 6:11) ขนมปังเป็นอาหารหลักในมื้ออาหารของผู้คนจำนวน มากในสมัยโบราณ รวมทั้งชาวอิสราเอลด้วย. แม้ว่าขนมปังเป็นเพียงอาหารธรรมดา ๆ แต่กระบวนการเคมีที่เปลี่ยนส่วนประกอบพื้นฐานไม่กี่อย่างให้กลายเป็นขนมปังที่อร่อยนั้นนับว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย.
10 ในสมัยที่เขียนคัมภีร์ไบเบิล ชาวอิสราเอลใช้แป้งข้าวสาลีหรือแป้งข้าวบาร์เลย์กับน้ำเพื่อทำขนมปัง. บางครั้งมีการใช้เชื้อหรือยีสต์ในกระบวนการทำขนมปัง. สารธรรมดา ๆ เหล่านี้รวมตัวกันเพื่อก่อให้เกิดสารประกอบทางเคมีหลายชนิดอย่างน่าพิศวงซึ่งมีปฏิกิริยาต่อกัน. สารประกอบเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไรจริง ๆ ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างเต็มที่. นอกจากนั้น วิธีที่ขนมปังถูกย่อยในร่างกายก็เป็นกระบวนการอีกอย่างหนึ่งที่ซับซ้อนอย่างน่าทึ่ง. ไม่แปลกที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, พระราชกิจของพระองค์มีเป็นอเนกประการจริง! พระองค์ได้ทรงกระทำการนั้นทั้งสิ้นโดยพระสติปัญญา”! (เพลง. 104:24) คุณรู้สึกถูกกระตุ้นใจคล้าย ๆ กันให้สรรเสริญพระยะโฮวาไหม?
คุณได้รับผลกระทบอย่างไรจากความสูงส่งและความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า?
11, 12. การใคร่ครวญพระราชกิจที่พระเจ้าทรงสร้างสรรค์ไว้สามารถก่อผลกระทบอย่างไรต่อเรา?
11 เราไม่จำเป็นต้องเป็นนักดาราศาสตร์จึงจะอัศจรรย์ใจท้องฟ้ายามราตรี และไม่จำเป็นต้องเป็นนักเคมีจึงจะชอบกินขนมปัง. แต่เพื่อจะซาบซึ้งความยิ่งใหญ่ของพระผู้สร้าง เราต้องใช้เวลาคิดใคร่ครวญสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นผลงานฝีพระหัตถ์ของพระองค์. การคิดใคร่ครวญเช่นนั้นสามารถก่อผลที่ดีเช่นไรแก่เรา? ผลก็เป็นอย่างเดียวกับที่เราใคร่ครวญพระราชกิจอีกชนิดหนึ่งของพระยะโฮวา.
12 ดาวิดร้องเพลงพรรณนาพระราชกิจอันยิ่งใหญ่ที่พระยะโฮวาทรงกระทำเพื่อประชาชนของพระองค์ดังนี้: “ความรุ่งโรจน์สง่างามแห่งพระเกียรติของพระองค์และรายละเอียดแห่งพระราชกิจอันยอดเยี่ยมของพระองค์ ข้าพเจ้าจะสนใจ.” (เพลง. 145:5, ล.ม.) เราแสดงความสนใจพระราชกิจเหล่านี้โดยศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและใช้เวลาคิดใคร่ครวญสิ่งที่เราได้อ่านไป. ผลของการคิดใคร่ครวญแบบนี้คืออะไร? เราจะซาบซึ้งความสูงส่งและความยิ่งใหญ่ของพระเจ้ามากขึ้น. เมื่อเป็นอย่างนั้น เราก็จะถูกกระตุ้นให้ร่วมกับดาวิดในการถวายเกียรติแด่พระยะโฮวาอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าจะประกาศพระลักษณะอันใหญ่ยิ่งของพระองค์.” (เพลง. 145:6) การใคร่ครวญพระราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระเจ้าน่าจะเสริมสายสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและกระตุ้นเราให้บอกคนอื่น ๆ เกี่ยวกับพระองค์อย่างกระตือรือร้นและมุ่งมั่น. คุณกำลังประกาศข่าวดีและช่วยผู้คนให้ประทับใจความน่านับถือ, ความสง่างาม, และความยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาพระเจ้าอย่างกระตือรือร้นไหม?
พระเยซูทรงสะท้อนความน่านับถือของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์แบบ
13. (ก) ตามดานิเอล 7:13, 14 พระยะโฮวาประทานอะไรแก่พระบุตร? (ข) ในฐานะกษัตริย์ พระเยซูทรงปฏิบัติอย่างไรต่อราษฎร?
13 พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า ทรงประกาศข่าวดีอย่างกระตือรือร้นและถวายเกียรติแด่พระบิดาองค์ยิ่งใหญ่ผู้น่านับถือที่อยู่ในสวรรค์. พระยะโฮวาทรงให้เกียรติดานิเอล 7:13, 14.) กระนั้น พระเยซูไม่ทรงเย่อหยิ่งหรือวางตัวเหินห่างจากผู้อื่น. ตรงกันข้าม พระองค์เป็นผู้ปกครองที่เห็นอกเห็นใจซึ่งเข้าใจข้อจำกัดของราษฎรและปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างใส่ใจและนับถือ. ขอให้พิจารณาตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวิธีที่พระเยซู ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ ปฏิบัติต่อประชาชนที่พระองค์พบ โดยเฉพาะคนที่ถูกปฏิเสธและดูเหมือนว่าไม่มีใครรัก.
เป็นพิเศษแก่พระบุตรองค์เดียวโดยทรงมอบ ‘รัชและอาณาจักร’ แก่พระองค์. (อ่าน14. คนโรคเรื้อนถูกมองอย่างไรในอิสราเอลโบราณ?
14 คนที่เป็นโรคเรื้อนในสมัยโบราณมักตายอย่างช้า ๆ และอย่างทุกข์ทรมาน. ทีละเล็กทีละน้อย อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของผู้เป็นเหยื่อโรคนี้ก็จะค่อย ๆ ถูกกัดกิน. การรักษาคนเป็นโรคเรื้อนนับได้ว่าเป็นเรื่องยากพอ ๆ กับการปลุกคนให้กลับเป็นขึ้นจากตาย. (อาฤ. 12:12; 2 กษัต. 5:7, 14) คนเป็นโรคเรื้อนถูกประกาศว่าเป็นมลทิน ถูกรังเกียจและถูกขับออกจากสังคม. เมื่อเข้าใกล้คนอื่น พวกเขาต้องร้องเตือนให้ผู้คนรู้ตัวว่า “มลทิน ๆ!” (เลวี. 13:43-46) คนเป็นโรคเรื้อนก็เหมือนกับคนที่ตายแล้ว. ตามบันทึกของพวกรับบี คนเป็นโรคเรื้อนได้รับอนุญาตให้เข้าใกล้คนอื่น ๆ ได้ใกล้สุดประมาณ 1.7 เมตรเท่านั้น. มีรายงานว่าเมื่อผู้นำศาสนาคนหนึ่งเห็นชายโรคเรื้อนแต่ไกลก็ได้เอาก้อนหินขว้างไม่ให้เขาเข้ามาใกล้.
15. พระเยซูทรงปฏิบัติต่อชายคนหนึ่งที่เป็นโรคเรื้อนอย่างไร?
15 แต่ปฏิกิริยาของพระเยซูต่อคนโรคเรื้อนที่มาหาพระองค์และอ้อนวอนให้ช่วยรักษาเขานั้นน่าสนใจทีเดียว. (อ่านมาระโก 1:40-42.) แทนที่จะไล่ชายโรคเรื้อนคนนี้ไป พระเยซูทรงปฏิบัติต่อชายคนนี้ที่ผู้คนหลีกลี้หนีไกลด้วยกิริยาท่าทีที่เห็นอกเห็นใจและให้เกียรติ. ในสายพระเนตรพระเยซู ชายผู้นี้เป็นคนที่น่าสงสารและจำเป็นต้องได้รับการบรรเทาทุกข์. ด้วยความสะเทือนพระทัย พระเยซูทรงเปลี่ยนความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเช่นนั้นให้เป็นการกระทำทันที. พระองค์ทรงยื่นพระหัตถ์ออกไปแตะชายโรคเรื้อน และรักษาเขาให้หาย.
16. คุณได้บทเรียนอะไรจากกิริยาท่าทีของพระเยซูในการปฏิบัติต่อคนอื่น ๆ?
16 ในฐานะสาวกของพระเยซู เราจะเลียนแบบกิริยาท่าทีของพระเยซูซึ่งสะท้อนให้เห็นความน่านับถือของพระบิดาได้อย่างไร? วิธีหนึ่งก็คือโดยยอมรับว่ามนุษย์ทุกคน—ไม่ว่ามีสถานภาพหรือสุขภาพเช่นไร และไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด—ควรได้รับเกียรติและความนับถือ. (1 เป. 2:17) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีตำแหน่งหน้าที่ในการดูแลผู้อื่น เช่น สามี, บิดามารดา, และผู้ปกครองคริสเตียน จำเป็นต้องให้เกียรติคนที่เขาดูแลและช่วยพวกเขาให้รักษาความนับถือต่อตัวเอง. คัมภีร์ไบเบิลเน้นว่านี่เป็นข้อเรียกร้องอย่างหนึ่งสำหรับคริสเตียนทุกคนโดยกล่าวว่า “จงมีความรักใคร่อันอบอุ่นต่อกันฉันพี่น้อง. จงนำหน้าในการให้เกียรติกัน.”—โรม 12:10.
ประพฤติอย่างน่านับถือในการนมัสการ
17. เราอาจเรียนอะไรได้จากพระคัมภีร์เกี่ยวกับการประพฤติอย่างน่านับถือเมื่อนมัสการพระยะโฮวา?
17 คัมภีร์ไบเบิลชี้ว่าควรสนใจเป็นพิเศษในการประพฤติอย่างน่านับถือเมื่อเรานมัสการพระยะโฮวา. ท่านผู้ประกาศ 5:1 กล่าวว่า “จงระวังเท้าของเจ้าเมื่อเจ้าไปยังวิหารของพระเจ้า.” ทั้งโมเซและยะโฮซูอะได้รับพระบัญชาให้ถอดรองเท้าเมื่ออยู่ในที่บริสุทธิ์. (เอ็ก. 3:5; ยโฮ. 5:15) ทั้งสองต้องถอดรองเท้าอันเป็นกิริยาท่าทางที่แสดงความเคารพนับถือ. ปุโรหิตชาวอิสราเอลต้องสวมกางเกงชั้นในผ้าลินิน “เพื่อจะปกปิดความเปลือยกายของเขา.” (เอ็ก. 28:42, 43) ทั้งนี้ก็ เพื่อป้องกันไม่ให้ปุโรหิตเผยให้เห็นส่วนของร่างกายที่ควรปกปิดขณะรับใช้ ณ แท่นบูชา. สมาชิกทุกคนในครอบครัวของปุโรหิตต้องเชิดชูมาตรฐานของพระเจ้าในเรื่องความน่านับถือ.
18. เราแสดงความน่านับถืออย่างไรในการนมัสการพระยะโฮวา?
18 ในฐานะผู้นมัสการพระยะโฮวา เราควรประพฤติอย่างน่านับถือในทุกแง่มุมของชีวิต. เพื่อจะสมควรได้รับเกียรติและความนับถือ เราต้องประพฤติอย่างน่านับถือ. ความน่านับถือที่เราแสดงออกต้องไม่เป็นเพียงแค่การแสร้งทำหรือเหมือนกับเสื้อชั้นนอกที่แสดงว่าเราเป็นใคร. ความน่านับถือของเราควรจะอยู่ลึกกว่าที่ตามนุษย์มองเห็นลงไปถึงระดับที่พระเจ้าทรงมองเห็น คือในหัวใจของเรา. (1 ซามู. 16:7; สุภา. 21:2) ความน่านับถือควรเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราและส่งผลต่อความประพฤติ, เจตคติ, ความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น, และแม้แต่วิธีที่เรามองและรู้สึกเกี่ยวกับตัวเราเอง. ที่จริง ความน่านับถือควรปรากฏชัดตลอดเวลาและในทุกสิ่งที่เราพูดและทำ. ในเรื่องความประพฤติ, กิริยาท่าทาง, และการแต่งกาย เราควรใส่ใจถ้อยคำที่อัครสาวกเปาโลกล่าวที่ว่า “เราไม่เป็นเหตุให้หลงผิดไม่ว่าในทางใด เพื่องานรับใช้ของเราจะไม่ถูกติเตียน แต่เราแนะนำตัวว่าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าในทุกวิถีทาง.” (2 โค. 6:3, 4) เรา “ทำให้คำสอนของพระเจ้าพระผู้ช่วยให้รอดของเรางดงามในทุกด้าน.”—ทิทุส 2:10.
จงประพฤติอย่างน่านับถือในการนมัสการพระเจ้าต่อ ๆ ไป
19, 20. (ก) แนวทางที่ดีอย่างหนึ่งในการแสดงความนับถือต่อคนอื่น ๆ คืออะไร? (ข) เราควรตั้งใจแน่วแน่เช่นไรในเรื่องความน่านับถือ?
19 คริสเตียนผู้ถูกเจิม ซึ่งเป็น “ราชทูตที่ปฏิบัติหน้าที่แทนพระคริสต์” ประพฤติตนอย่างน่านับถือ. (2 โค. 5:20) “แกะอื่น” ซึ่งสนับสนุนพวกเขาอย่างภักดีเป็นอุปทูตที่น่านับถือของราชอาณาจักรมาซีฮา. ราชทูตหรืออุปทูตกล่าวอย่างกล้าหาญและน่านับถือเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลประเทศเขา. ด้วยเหตุนั้น เราควรพูดอย่างน่านับถือและกล้าหาญเพื่อสนับสนุนราชอาณาจักร รัฐบาลของพระเจ้า. (เอเฟ. 6:19, 20) และเมื่อเรานำ “ข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งที่ดีกว่า” ไปบอกคนอื่น ๆ เราก็กำลังให้เกียรติและให้ความนับถือแก่พวกเขา.—ยซา. 52:7, ล.ม.
20 เราควรตั้งใจแน่วแน่จะถวายเกียรติแด่พระเจ้าโดยประพฤติตัวสอดคล้องกับความสูงส่งของพระองค์. (1 เป. 2:12) ให้เราแสดงความนับถืออย่างลึกซึ้งต่อพระองค์, ต่อการนมัสการพระองค์, และต่อเพื่อนผู้นมัสการเสมอ. และขอให้พระยะโฮวา ผู้ทรงฉลองพระองค์ด้วยความน่านับถือและความสง่างาม พอพระทัยกิริยาท่าทีอันน่านับถือของเราในการนมัสการพระองค์.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ถ้อยคำของดาวิดในบทเพลงสรรเสริญบท 8 ยังเป็นคำกล่าวเชิงพยากรณ์ด้วยซึ่งชี้ถึงพระเยซูคริสต์ผู้เป็นมนุษย์สมบูรณ์.—ฮีบรู 2:5-9.
คุณจะตอบอย่างไร?
• การที่เราซาบซึ้งความสง่างามและความน่านับถือของพระยะโฮวาน่าจะส่งผลต่อเราอย่างไร?
• เราเรียนรู้อะไรได้ในเรื่องการให้เกียรติผู้อื่นจากวิธีที่พระเยซูทรงปฏิบัติต่อชายคนหนึ่งที่เป็นโรคเรื้อน?
• เราสามารถถวายเกียรติแด่พระยะโฮวาในวิธีที่น่านับถือได้อย่างไร?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 12]
พระยะโฮวาทรงให้เกียรติเฮเบลอย่างไร?
[ภาพหน้า 14]
พระราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาเห็นได้ชัดเจนแม้แต่ในการจัดเตรียมที่ทำให้มีขนมปัง
[ภาพหน้า 15]
คุณเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการให้เกียรติผู้อื่นจากวิธีที่พระเยซูทรงปฏิบัติต่อชายคนหนึ่งที่เป็นโรคเรื้อน?
[ภาพหน้า 16]
การนมัสการที่น่านับถือเกี่ยวข้องกับการถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา