พระยะโฮวาจะไม่ทรงละทิ้งผู้ที่ภักดีต่อพระองค์
พระยะโฮวาจะไม่ทรงละทิ้งผู้ที่ภักดีต่อพระองค์
“[พระยะโฮวา] ไม่ทรงละทิ้งพวกผู้ชอบธรรม [“ผู้ภักดี,” ล.ม.] ของพระองค์เลย; ทรงรักษาเขาไว้เป็นนิจกาล.”—เพลง. 37:28.
1, 2. (ก) มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในศตวรรษที่สิบก่อนสากลศักราชซึ่งทดสอบความภักดีของผู้รับใช้พระเจ้า? (ข) พระยะโฮวาทรงปกป้องผู้ที่ภักดีต่อพระองค์ในสามสถานการณ์อะไรบ้าง?
ตอนนั้นเป็นศตวรรษที่สิบก่อนสากลศักราช และเป็นเวลาที่ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาด. เนื่องจากมีการยอมให้อิสราเอลสิบตระกูลทางเหนือที่ไม่พอใจมีเอกราชในระดับหนึ่ง จึงเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามกลางเมืองได้อย่างหวุดหวิด. ยาราบะอาม กษัตริย์ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้ง เสริมอำนาจของตนให้มั่นคงโดยไม่รอช้าด้วยการตั้งศาสนาประจำรัฐขึ้นมาใหม่. เขาเรียกร้องให้ราษฎรแสดงความจงรักภักดีอย่างครบถ้วน. ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาจะทำอย่างไร? พวกเขาจะยังคงภักดีต่อพระเจ้าที่พวกเขานมัสการไหม? หลายพันคนภักดีต่อพระเจ้า และพระยะโฮวาทรงคอยดูแลพวกเขาขณะที่พวกเขารักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระองค์.—1 กษัต. 12:1-33; 2 โคร. 11:13, 14.
2 ความภักดีของผู้รับใช้พระเจ้ากำลังถูกทดสอบในสมัยของเราด้วย. คัมภีร์ไบเบิลเตือนว่า “ท่านทั้งหลายจงมีสติอยู่เสมอและจงเฝ้าระวัง. พญามาร ปรปักษ์ของพวกท่านเดินไปมาเหมือนสิงโตคำราม เสาะหาคนที่มันจะขม้ำกินเสีย.” เราจะสามารถ ‘ต่อสู้มัน และยืนหยัดมั่นคงในความเชื่อ’ ได้อย่างไร? (1 เป. 5:8, 9) ให้เราตรวจสอบเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงที่ยาราบะอามขึ้นเป็นกษัตริย์ในปี 997 ก่อนสากลศักราช และดูว่าเราจะเรียนอะไรได้จากเหตุการณ์เหล่านี้. ในช่วงวิกฤติดังกล่าว ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาถูกกดขี่. พวกเขายังเผชิญกับอิทธิพลที่ไม่ดีจากพวกออกหากด้วยขณะที่พวกเขาทำหน้าที่มอบหมายซึ่งเป็นงานยาก. ในสถานการณ์เหล่านั้นทุกอย่าง พระยะโฮวาไม่ทรงละทิ้งผู้ที่ภักดีต่อพระองค์ และพระองค์จะไม่ทรงละทิ้งผู้ภักดีในทุกวันนี้ด้วย.—เพลง. 37:28.
เมื่อถูกกดขี่
3. เหตุใดการปกครองของกษัตริย์ดาวิดจึงไม่เป็นแบบที่กดขี่ประชาชน?
3 ในอันดับแรก ให้เราดูกันก่อนว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรซึ่งทำให้ยาราบะอามได้ขึ้นเป็นกษัตริย์. สุภาษิต 29:2 บอกว่า “เมื่อคนชั่วขึ้นปกครอง, ราษฎรต่างก็ถอนใจใหญ่.” ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ดาวิดแห่งอิสราเอลโบราณ ประชาชนไม่ต้องถอนใจใหญ่. ดาวิดไม่ใช่มนุษย์สมบูรณ์ แต่ท่านภักดีต่อพระเจ้าและไว้วางใจพระองค์. การปกครองของดาวิดไม่เป็นแบบที่กดขี่ประชาชน. พระยะโฮวาทรงทำสัญญากับดาวิด โดยตรัสว่า “ราชวงศ์ของเจ้าและอาณาจักรของเจ้าจะดำรงอยู่ต่อหน้าเจ้าอย่างมั่นคงเป็นนิตย์ และบัลลังก์ของเจ้าจะถูกสถาปนาไว้เป็นนิตย์.”—2 ซามู. 7:16, ฉบับแปลใหม่.
4. พระพรที่มีอยู่ในช่วงที่โซโลมอนปกครองขึ้นอยู่กับอะไร?
4 การปกครองของโซโลมอน ราชบุตรของดาวิด ในช่วงต้นสงบสุขและรุ่งเรืองจนถือว่าเป็นภาพเล็งถึงรัชสมัยพันปีของพระคริสต์เยซูได้เป็นอย่างดี. (เพลง. 72:1, 17) ไม่มีตระกูลใดใน 12 ตระกูลของอิสราเอลในตอนนั้นมีเหตุผลจะก่อกบฏ. อย่างไรก็ตาม พระพรทั้งหลายที่โซโลมอนและราษฎรได้รับนั้นมีเงื่อนไข. พระยะโฮวาทรงบอกโซโลมอนแล้วว่า “ถ้าเจ้าจะดำเนินตามข้อกฎหมายของเรา, และให้ข้อพิพากษาของเราสำเร็จ, และรักษาข้อพระบัญญัติของเราทุกประการทั้งประพฤติตาม; แล้วเราจะให้ถ้อยคำของ เรา, ซึ่งเราตรัสกับดาวิดราชบิดาของเจ้าสำเร็จ: เราจะสถิตอยู่ท่ามกลางลูกหลานพวกยิศราเอล, และจะไม่ละทิ้งพลไพร่ยิศราเอลของเราเลย.”—1 กษัต. 6:11-13.
5, 6. ความไม่ภักดีของโซโลมอนต่อพระเจ้าทำให้เกิดผลอย่างไร?
5 ในช่วงที่โซโลมอนชราแล้ว ท่านกลายเป็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาและเริ่มเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการนมัสการเท็จ. (1 กษัต. 11:4-6) ทีละเล็กทีละน้อย โซโลมอนเลิกทำตามกฎหมายของพระยะโฮวาและกดขี่ประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ. การกดขี่มีมากถึงขนาดที่เมื่อท่านสิ้นพระชนม์แล้วประชาชนได้มาร้องทุกข์กับระฮับอาม ราชบุตรซึ่งครองราชย์ต่อจากท่าน เกี่ยวด้วยเรื่องที่ท่านทำไว้กับพวกเขา และขอให้มีการลดหย่อนผ่อนปรน. (1 กษัต. 12:4) พระยะโฮวาทรงแสดงปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อโซโลมอนกลายเป็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์?
6 คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “พระยะโฮวาทรงกริ้วแก่กษัตริย์ซะโลโม, เพราะพระทัยของพระองค์หันกลับจาก . . . พระเจ้ายิศราเอล, ผู้ได้ทรงปรากฏแก่พระองค์สองครั้งแล้ว.” พระยะโฮวาทรงบอกโซโลมอนว่า “เพราะเหตุเจ้า . . . มิได้รักษาคำสัญญาไมตรีและข้อกฎหมายของเรา, ซึ่งเราได้สั่งแก่เจ้า, เราจะคืนแผ่นดินจากเจ้าเป็นแน่, และจะให้แก่ทาสของเจ้า.”—1 กษัต. 11:9-11.
7. แม้โซโลมอนถูกปฏิเสธ พระยะโฮวาทรงเอาใจใส่ดูแลคนที่ภักดีต่อพระองค์อย่างไร?
7 จากนั้น พระยะโฮวาทรงส่งผู้พยากรณ์อะฮียาห์ให้เจิมผู้ที่จะช่วยปลดแอก. ผู้ปลดแอกดังกล่าวก็คือยาราบะอาม ชายผู้มีความสามารถสูงซึ่งเคยทำงานในราชสำนักของโซโลมอน. แม้ว่าพระยะโฮวายังคงยึดมั่นในสัญญาราชอาณาจักรที่ทำไว้กับดาวิด แต่พระองค์ทรงเห็นชอบให้มีการแบ่ง 12 ตระกูลออกเป็นสองอาณาจักร. สิบตระกูลจะมอบให้ยาราบะอาม; สองตระกูลจะยังคงอยู่กับราชวงศ์ดาวิด ซึ่งตอนนี้กษัตริย์ระฮับอามเป็นตัวแทน. (1 กษัต. 11:29-37; 12:16, 17, 21) พระยะโฮวาทรงบอกยาราบะอามว่า “ถ้าเจ้าจะเชื่อฟังทุกสิ่งซึ่งเราสั่ง, จะประพฤติตามทางของเรา, และจะกระทำตามสัตย์ซื่อในคลองพระเนตรของเรา, และรักษาข้อกฎหมายและข้อบัญญัติของเรา, เหมือนอย่างดาวิดผู้ทาสของเราได้กระทำ; เราจะอยู่กับเจ้า, และจะตั้งเชื้อวงศ์ของเจ้าขึ้นเป็นแน่, เหมือนเราได้ตั้งเชื้อวงศ์ของดาวิด, และมอบพวกยิศราเอลให้เจ้า.” (1 กษัต. 11:38) พระยะโฮวาทรงทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนของพระองค์ และทรงจัดให้มีทางที่จะช่วยพวกเขาได้รับความบรรเทาจากการถูกกดขี่.
8. ประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้ประสบความยากลำบากอะไรบ้าง?
8 มีการกดขี่และความอยุติธรรมมากมายในทุกวันนี้. ท่านผู้ประกาศ 8:9 (ล.ม.) กล่าวว่า “มนุษย์ใช้อำนาจเหนือมนุษย์อย่างที่ก่อผลเสียหายแก่เขา.” การค้าที่ละโมบและการปกครองที่ทุจริตอาจทำให้เกิดความลำบากด้านเศรษฐกิจ. ผู้นำรัฐบาล, ผู้นำทางการค้า, และผู้นำด้านศาสนามักวางตัวอย่างที่ไม่ดีด้านศีลธรรม. ด้วยเหตุนั้น เช่นเดียวกับโลตผู้ชอบธรรม ผู้ภักดีต่อพระเจ้าในปัจจุบัน “เป็นทุกข์มากเนื่องจากการหมกมุ่นอยู่กับการประพฤติที่ไร้ยางอายของคนฝ่าฝืนกฎหมาย.” (2 เป. 2:7) นอกจากนั้น เมื่อเราพยายามดำเนินชีวิตอย่างสงบเรียบร้อยโดยใช้มาตรฐานของพระเจ้า เรามักตกเป็นเป้าของการข่มเหงโดยพวกผู้ปกครองที่หยิ่งยโส.—2 ติโม. 3:1-5, 12.
9. (ก) พระยะโฮวาได้ทำอะไรไปแล้วเพื่อช่วยประชาชนของพระองค์ให้รอด? (ข) เหตุใดเราจึงแน่ใจได้ว่าพระเยซูจะทรงภักดีต่อพระเจ้าเสมอ?
9 อย่างไรก็ตาม เราแน่ใจได้ในความจริงพื้นฐานที่ว่าพระยะโฮวาจะไม่ละทิ้งผู้ที่ภักดีต่อพระองค์! ขอให้นึกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ทำไปแล้วเพื่อจะขจัดผู้ปกครองโลกทั้งหลายที่ชั่วร้ายและให้ผู้ปกครองที่ดีเข้ามาแทน. ราชอาณาจักรมาซีฮาของพระเจ้าภายใต้การปกครองของพระคริสต์เยซูได้รับการสถาปนาแล้ว. พระเยซูคริสต์ปกครองในสวรรค์มาเกือบหนึ่งร้อยปีแล้ว. ในไม่ช้า พระองค์จะปลดเปลื้องความทุกข์ยากทุกอย่างจากคนที่ยำเกรงพระนามของพระเจ้า. (อ่านวิวรณ์ 11:15-18.) พระเยซูได้พิสูจน์พระองค์เองแล้วว่าทรงภักดีต่อพระเจ้าจนกระทั่งสิ้นพระชนม์. พระองค์จะไม่มีทางทำให้ราษฎรของพระองค์ผิดหวังเหมือนกับโซโลมอนเลย.—ฮีบรู 7:26; 1 เป. 2:6.
10. (ก) เราจะแสดงได้อย่างไรว่าเราเห็นค่าราชอาณาจักรของพระเจ้า? (ข) เมื่อถูกทดสอบ เราเชื่อมั่นได้ในเรื่องใด?
10 ราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นรัฐบาลจริง ๆ ที่จะยุติการกดขี่ทุกอย่าง. เราจงรักภักดีต่อพระยะโฮวาพระเจ้าและราชอาณาจักรของพระองค์. ด้วยความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมในราชอาณาจักร เราปฏิเสธการกระทำที่ดูหมิ่นพระเจ้าแบบที่ผู้คนในโลกทำ และทำการงานที่ดีอย่างกระตือรือร้น. ทิทุส 2:12-14) เราพยายามรักษาตัวให้ปราศจากด่างพร้อยของโลก. (2 เป. 3:14) ไม่ว่าเราอาจเผชิญกับการทดสอบอะไรก็ตามในเวลานี้ เราสามารถมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะทรงปกป้องเราไม่ให้ประสบความเสียหายฝ่ายวิญญาณ. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 97:10.) นอกจากนั้น บทเพลงสรรเสริญ 116:15 ยังรับรองกับเราด้วยว่า “ที่มีค่ายิ่งในสายพระเนตรของพระยะโฮวา คือความตายแห่งผู้ภักดีของพระองค์.” ผู้รับใช้ของพระยะโฮวามีค่าอย่างยิ่งต่อพระองค์ ดังนั้น พระองค์จะไม่ปล่อยให้พวกเขาทั้งกลุ่มถูกทำลาย.
(เมื่อเผชิญอิทธิพลของพวกผู้ออกหาก
11. ยาราบะอามกลายเป็นคนไม่ภักดีอย่างไร?
11 อันที่จริง การปกครองของกษัตริย์ยาราบะอามน่าจะช่วยบรรเทาประชาชนของพระเจ้าจากการถูกกดขี่ได้บ้าง. แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น การกระทำของยาราบะอามกลับกลายเป็นการทดสอบประชาชนมากยิ่งขึ้นไปอีกในเรื่องความภักดีต่อพระเจ้า. เพราะไม่พอใจกับเกียรติยศและสิทธิพิเศษที่ได้รับแล้ว ยาราบะอามเริ่มมองหาทางเสริมสร้างให้ตำแหน่งของตนมั่นคงยิ่งขึ้น. เขาหาเหตุผลว่า “ถ้าชนชาติเหล่านี้ขึ้นไปถวายเครื่องสัตวบูชาในพระนิเวศของพระเจ้าที่กรุงเยรูซาเล็มแล้วจิตใจของชนชาติเหล่านี้จะหันกลับไปยังเจ้านายของเขาทั้งหลาย คือหันไปยังเรโหโบอัมพระราชาแห่งยูดาห์ และเขาทั้งหลายจะฆ่าเราเสียและกลับไปยังเรโหโบอัมพระราชาแห่งยูดาห์.” ยาราบะอามจึงก่อตั้งศาสนาขึ้นมาใหม่ซึ่งมีจุดศูนย์รวมอยู่ที่รูปโคทองคำสองรูป. “พระองค์ก็ประดิษฐานไว้ที่เบธเอลรูปหนึ่งและอีกรูปหนึ่งทรงประดิษฐานไว้ในเมืองดาน และสิ่งนี้ได้เป็นบาปเพราะว่าประชาชนได้ไปยังรูปหนึ่งที่เบธเอลและไปยังอีกรูปหนึ่งไกลไปจนถึงเมืองดาน แล้วพระองค์ได้ทรงสร้างนิเวศที่ปูชนียสถานสูงทรงกำหนดตั้งปุโรหิตจากหมู่ประชาชนทั้งปวงผู้มิได้เป็นคนเลวี.” ยาราบะอามถึงกับกำหนดวันขึ้นเองให้เป็น “เทศกาลเลี้ยงสำหรับคนอิสราเอล” แล้วก็ “ทรงขึ้นไปยังแท่นบูชาเพื่อถวายเครื่องหอม.”—1 กษัต. 12:26-33, ฉบับแปลใหม่.
12. คนที่ภักดีต่อพระเจ้าในอาณาจักรทางเหนือทำอะไรเมื่อยาราบะอามตั้งรูปโคให้ประชาชนในอิสราเอลนมัสการ?
12 ถึงตอนนี้คนที่ภักดีต่อพระเจ้าในอาณาจักรทางเหนือจะทำอย่างไร? เช่นเดียวกับบรรพบุรุษที่ซื่อสัตย์ของพวกเขา ชาวเลวีที่อาศัยในเมืองต่าง ๆ ซึ่งได้มอบให้แก่พวกเขาในอาณาจักรทางเหนือลงมือทำอะไรบางอย่างทันที. (เอ็ก. 32:26-28; อาฤ. 35:6-8; บัญ. 33:8, 9) พวกเขาทิ้งทรัพย์มรดกไว้เบื้องหลัง แล้วย้ายครอบครัวลงใต้ไปอยู่ที่ยูดาห์ซึ่งเป็นที่ที่พวกเขาสามารถนมัสการพระยะโฮวาต่อไปได้โดยไม่ถูกขัดขวาง. (2 โคร. 11:13, 14) ชาวอิสราเอลคนอื่น ๆ ที่ได้มาอาศัยชั่วคราวในอาณาจักรยูดาห์ก็เลือกจะอยู่ต่อไปอย่างถาวรแทนที่จะย้ายกลับไปบ้านเกิด. (2 โคร. 10:17) พระยะโฮวาทรงจัดการให้หนทางที่พวกเขาจะกลับมายังการนมัสการแท้เปิดอยู่เสมอ เพื่อในชั่วอายุต่อ ๆ มาคนอื่น ๆ จากอาณาจักรทางเหนือจะสามารถละทิ้งการนมัสการรูปโคทองคำและกลับมายูดาห์.—2 โคร. 15:9-15.
13. ในสมัยปัจจุบัน อิทธิพลของพวกผู้ออกหากทดสอบประชาชนของพระเจ้าอย่างไร?
13 ในปัจจุบัน ผู้ออกหากและอิทธิพลของคนพวกนี้เป็นภัยคุกคามประชาชนของพระเจ้า. ผู้ปกครองรัฐบาลบางคนได้พยายามตั้งศาสนาประจำรัฐในแบบของเขาเองและบังคับราษฎรให้ยอมรับ. นักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรและคนอื่น ๆ ที่ทำเกินสิทธิ์อ้างว่าพวกเขามีตำแหน่งเป็นปุโรหิตในวิหารฝ่ายวิญญาณ. แต่เราพบผู้ถูกเจิมที่แท้จริงซึ่งประกอบกันเป็น “ปุโรหิตและเป็นกษัตริย์” เฉพาะในหมู่คริสเตียนแท้เท่านั้น.—1 เป. 2:9; วิ. 14:1-5.
14. เราควรแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อความคิดเห็นที่ออกหาก?
14 เช่นเดียวกับชาวเลวีผู้ซื่อสัตย์เมื่อศตวรรษที่สิบก่อนสากลศักราช คนที่ภักดีต่อพระเจ้าในปัจจุบันไม่ถูกหลอกโดยความคิดเห็นที่ออกหาก. ชนผู้ถูกเจิมและเพื่อนคริสเตียนที่สมทบกับพวกเขาหลีกเลี่ยงและปฏิเสธทันทีเมื่อมีใครเสนอความคิดเห็นที่ออกหาก. (อ่านโรม 16:17.) แม้ว่าเรายินดียอมอยู่ในอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐบาลในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการนมัสการ แต่เรารักษาตัวเป็นกลางเกี่ยวกับความขัดแย้งในโลก และเราภักดีต่อราชอาณาจักรของพระเจ้า. (โย. 18:36; โรม 13:1-8) เราปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่ไม่เป็นความจริงของคนที่อ้างว่ารับใช้พระเจ้าแต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติด้วยการกระทำของพวกเขา.—ทิทุส 1:16.
15. เหตุใด “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” สมควรได้รับความภักดีจากเรา?
15 นอกจากนี้ ขอให้คิดถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพระยะโฮวาทรงเปิดโอกาสให้ผู้มีหัวใจสุจริตแยกตัวจากโลกชั่วแล้วเข้าสู่อุทยานฝ่ายวิญญาณที่พระองค์ได้สร้างไว้. (2 โค. 12:1-4) ด้วยหัวใจที่สำนึกบุญคุณ เราติดสนิทกับ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุมซึ่งนายตั้งไว้ให้ดูแลพวกคนรับใช้ เพื่อให้อาหารแก่พวกเขาในเวลาอันเหมาะ.” พระคริสต์ได้ทรงตั้งทาสนี้ “ให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของ [พระองค์].” (มัด. 24:45-47) ด้วยเหตุนั้น แม้ว่าเราเองอาจไม่เข้าใจความเห็นบางเรื่องของชนชั้นทาสอย่างเต็มที่ ไม่มีเหตุผลที่เราจะปฏิเสธความเห็นนั้นหรือหวนกลับไปหาโลกของซาตาน. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ความภักดีจะกระตุ้นเราให้แสดงความถ่อมใจและคอยให้พระยะโฮวาเปิดเผยเรื่องนั้นให้กระจ่าง.
เมื่อทำงานมอบหมายจากพระเจ้าให้สำเร็จ
16. ผู้พยากรณ์คนหนึ่งจากยูดาห์ได้รับมอบหมายให้ทำอะไร?
16 พระยะโฮวาทรงประณามการกระทำที่ออกหากของยาราบะอาม. พระองค์ทรงมอบหมายผู้พยากรณ์คนหนึ่งจากยูดาห์ให้เดินทางขึ้นเหนือไปที่เมืองเบทเอล และไปพบกับยาราบะอามขณะที่เขากำลังทำพิธี ณ แท่นบูชาของเขา. ผู้พยากรณ์จะต้องบอกข่าวสารการพิพากษาอันน่าตกตะลึงแก่ยาราบะอาม. ไม่ต้องสงสัย นั่นเป็นงานมอบหมายที่ไม่ง่ายเลย.—1 กษัต. 13:1-3.
17. พระยะโฮวาทรงปกป้องผู้ส่งข่าวของพระองค์อย่างไร?
17 เมื่อได้ยินคำพิพากษาลงโทษจากพระยะโฮวา ยาราบะอามโกรธมาก. เขายื่นมือชี้ไปที่ตัวแทนของพระเจ้า และร้องสั่งคนที่อยู่ใกล้ ๆ ว่า “จงจับเขาไว้!” แต่ทันใดนั้นเอง ก่อนที่ใครจะทันทำอะไร “พระหัตถ์ของพระองค์ซึ่งเหยียดออกต่อเขานั้นก็เหี่ยวแห้งไป พระองค์จะชักกลับเข้าหาตัวอีกก็ไม่ได้ แท่นบูชาก็พังลงด้วยและมูลเถ้าก็ร่วงลงมาจากแท่น.” ยาราบะอามจำใจต้องขอให้ผู้พยากรณ์อธิษฐานวิงวอนขอความเมตตาจากพระยะโฮวาเพื่อให้มือของเขาที่เหี่ยวแห้งหาย. ผู้พยากรณ์อธิษฐานขอพระยะโฮวา และมือของยาราบะอามก็ได้รับการรักษาให้หาย. โดยวิธีนี้ พระยะโฮวาทรงปกป้องผู้ส่งข่าวของพระองค์ไม่ให้ได้รับอันตราย.—1 กษัต. 13:4-6.
18. พระยะโฮวาทรงปกป้องเราอย่างไรเมื่อเราทำงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ถวายพระองค์อย่างไม่หวั่นกลัว?
มัด. 24:14; 28:19, 20) แต่เราต้องไม่ปล่อยให้ความกลัวจะถูกปฏิเสธทำให้ความกระตือรือร้นของเราในการรับใช้ลดลง. เช่นเดียวกับผู้พยากรณ์ที่เราไม่ทราบชื่อในสมัยยาราบะอาม เรามี “สิทธิพิเศษได้ทำงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ถวาย [พระยะโฮวา] โดยปราศจากความกลัวด้วยความภักดี.” * (ลูกา 1:74, 75) แม้เราไม่คาดหมายว่าจะมีการแทรกแซงอย่างอัศจรรย์ในทุกวันนี้ แต่พระยะโฮวายังคงปกป้องและหนุนหลังพวกเราที่เป็นพยานของพระองค์โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์และเหล่าทูตสวรรค์. (อ่านโยฮัน 14:15-17; วิวรณ์ 14:6.) พระเจ้าจะไม่มีวันละทิ้งคนที่ประกาศพระคำของพระองค์ต่อ ๆ ไปอย่างไม่หวั่นกลัว.—ฟิลิป. 1:14, 28.
18 เมื่อเราเข้าร่วมในการประกาศเรื่องราชอาณาจักรและงานทำให้คนเป็นสาวกอย่างภักดี บางครั้งเราพบกับปฏิกิริยาที่ไม่เป็นมิตรหรือแม้แต่การต่อต้านเสียด้วยซ้ำ. (พระยะโฮวาจะทรงปกป้องคนที่ภักดีต่อพระองค์
19, 20. (ก) เหตุใดเราจึงมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะไม่มีวันละทิ้งเรา? (ข) จะมีการพิจารณาคำถามอะไรบ้างในบทความถัดไป?
19 พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าผู้ภักดี. (วิ. 15:4; 16:5) พระองค์ทรง “ภักดีในกิจการทั้งสิ้นของพระองค์.” (เพลง. 145:17, ล.ม.) และคัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราว่า พระองค์ “ระวังรักษามรคาแห่งสิทธชน [“ผู้ภักดี,” ล.ม.] ทั้งหลายของพระองค์.” (สุภา. 2:8) เมื่อเผชิญกับการทดสอบหรือความคิดเห็นที่ออกหากหรือเมื่อทำงานมอบหมายที่ท้าทาย คนที่ภักดีต่อพระเจ้าสามารถมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะทรงชี้นำและสนับสนุน.
20 สิ่งที่เราจำเป็นต้องคิดใคร่ครวญเป็นส่วนตัวในตอนนี้ก็คือ: อะไรจะช่วยฉันให้รักษาความภักดีต่อพระยะโฮวาไม่ว่าจะมีการทดสอบหรือการล่อใจใด ๆ ก็ตาม? กล่าวอีกอย่างคือ ฉันจะเสริมความภักดีต่อพระเจ้าให้มั่นคงได้อย่างไร?
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 18 จะมีการพิจารณาในบทความถัดไปว่าผู้พยากรณ์คนนี้จะเชื่อฟังพระยะโฮวาต่อ ๆ ไปหรือไม่และเกิดอะไรขึ้นกับเขา.
คุณจะตอบอย่างไร?
• พระยะโฮวาทรงแสดงอย่างไรว่าพระองค์ไม่ทรงละทิ้งคนที่ภักดีต่อพระองค์เมื่อพวกเขาถูกกดขี่?
• เราควรตอบสนองอย่างไรต่อพวกออกหากและความคิดเห็นของคนเหล่านี้?
• พระยะโฮวาทรงปกป้องคนที่ภักดีต่อพระองค์อย่างไรเมื่อพวกเขาทำงานรับใช้ในฐานะคริสเตียน?
[คำถาม]
[แผนที่หน้า 5]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
อาณาจักรทางเหนือ (ยาราบะอาม)
ดาน
เชเคม
เบทเอล
อาณาจักรทางใต้ (ระฮับอาม)
เยรูซาเลม
[รูปภาพ]
พระยะโฮวาไม่ทรงละทิ้งคนที่ภักดีต่อพระองค์เมื่อยาราบะอามตั้งการนมัสการรูปโคขึ้น
[ภาพหน้า 3]
พระพรที่โซโลมอนและราษฎรได้รับมีเงื่อนไข