ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงเพิ่มพูนความรู้ถ่องแท้ด้วย “ใจกระตือรือร้น”

จงเพิ่มพูนความรู้ถ่องแท้ด้วย “ใจกระตือรือร้น”

จง​เพิ่ม​พูน​ความ​รู้​ถ่องแท้​ด้วย “ใจ​กระตือรือร้น”

ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา​ทุก​คน​อยาก​ให้​พระองค์​พอ​พระทัย. เพราะ​ปรารถนา​อย่าง​นั้น เรา​จึง​กระตือรือร้น​ที่​จะ​ปรับ​ปรุง​คุณภาพ​ความ​เชื่อ​ของ​เรา​และ​ทำ​งาน​รับใช้​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ถวาย​พระองค์​อย่าง​ทุ่มเท​เต็ม​ที่. แต่​อัครสาวก​เปาโล​เตือน​เรา​ให้​ระวัง​อันตราย​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้ ซึ่ง​ชาว​ยิว​บาง​คน​ใน​สมัย​ท่าน​ประสบ: “พวก​เขา​มี​ใจ​แรง​กล้า​เพื่อ​พระเจ้า แต่​ไม่​ได้​เป็น​ไป​ตาม​ความ​รู้​ถ่องแท้.” (โรม 10:2) เห็น​ได้​ชัด ความ​เชื่อ​ของ​เรา​และ​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ควร​อาศัย​เพียง​แค่​อารมณ์​เป็น​พื้น​ฐาน. เรา​จำเป็น​ต้อง​มี​ความ​รู้​ถ่องแท้​เกี่ยว​กับ​พระ​ผู้​สร้าง​และ​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระองค์.

ใน​ที่​อื่น ๆ ที่​ท่าน​เขียน เปาโล​เชื่อม​โยง​การ​กระทำ​ที่​พระเจ้า​พอ​พระทัย​กับ​การ​รับ​เอา​ความ​รู้​อย่าง​กระตือรือร้น. ท่าน​อธิษฐาน​ขอ​ให้​เหล่า​สาวก​ของ​พระ​คริสต์ “เปี่ยม​ด้วย​ความ​รู้​ถ่องแท้” เรื่อง​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า “เพื่อ​จะ​ประพฤติ​สม​กับ​เป็น​ผู้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​เพื่อ​ทำ​ให้​พระองค์​พอ​พระทัย​ทุก​ประการ” ขณะ​ที่​พวก​เขา “เกิด​ผล​ต่อ ๆ ไป​ใน​การ​ดี​ทุก​อย่าง มี​ความ​รู้​ถ่องแท้​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า​มาก​ขึ้น​ต่อ ๆ ไป.” (โกโล. 1:9, 10) เหตุ​ใด​เรา​จำเป็น​อย่าง​ยิ่ง​ต้อง​มี “ความ​รู้​ถ่องแท้”? และ​เหตุ​ใด​เรา​ควร​เพิ่ม​พูน​ความ​รู้​ถ่องแท้​เช่น​นั้น?

กุญแจ​ที่​นำ​ไป​สู่​ความ​เชื่อ

ความ​รู้​ถ่องแท้​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า​และ​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระองค์​ที่​เปิด​เผย​ไว้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​รากฐาน​ความ​เชื่อ​ของ​เรา. หาก​ปราศจาก​ความ​รู้​ที่​เชื่อถือ​ได้ ความ​เชื่อ​ของ​เรา​ที่​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ย่อม​จะ​เป็น​ดุจ​ดัง​บ้าน​ที่​ทำ​ด้วย​ไพ่​ที่​แค่​ลม​พัด​เบา ๆ ก็​พัง​แล้ว. เปาโล​กระตุ้น​เรา​ให้​ทำ​งาน​รับใช้​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ถวาย​แด่​พระเจ้า​ด้วย “ความ​สามารถ​ใน​การ​ใช้​เหตุ​ผล” และ​ให้​เรา ‘เปลี่ยน​ความ​คิด​จิตใจ​ของ​เรา​เสีย​ใหม่.’ (โรม 12:1, 2) การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ประจำ​สามารถ​ช่วย​เรา​ได้​ใน​เรื่อง​นี้.

เอวา ไพโอเนียร์​ประจำ​คน​หนึ่ง​ใน​โปแลนด์ ยอม​รับ​ว่า “ถ้า​ดิฉัน​ไม่​ได้​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เป็น​ประจำ ดิฉัน​คง​ไม่​พัฒนา​ใน​เรื่อง​ความ​รู้​ถ่องแท้​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา. เอกลักษณ์​คริสเตียน​ของ​ดิฉัน​คง​เสื่อม​ลง​อย่าง​รวด​เร็ว และ​ความ​เชื่อ​ของ​ดิฉัน​ใน​พระเจ้า​คง​อ่อน​ลง​ไป—อาจ​ถึง​กับ​สูญ​เสีย​สาย​สัมพันธ์​ที่​มี​ค่า​ที่​สุด​กับ​พระเจ้า​ก็​เป็น​ได้.” ขอ​อย่า​ให้​เหตุ​การณ์​แบบ​นั้น​เกิด​ขึ้น​กับ​เรา​เลย! ให้​เรา​มา​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ของ​ชาย​คน​หนึ่ง​ที่​เพิ่ม​พูน​ความ​รู้​ถ่องแท้​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​และ​ด้วย​เหตุ​นั้น​จึง​ได้​รับ​ความ​พอ​พระทัย​จาก​พระองค์.

“ข้าพเจ้า​รัก​ข้อ​กฎหมาย​ของ​พระองค์​มาก​เพียง​ใด!”

เพลง​อัน​เป็น​บท​กวี​ซึ่ง​อยู่​ที่​บทเพลง​สรรเสริญ​บท 119 ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ถ่ายทอด​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ที่​มี​ต่อ​กฎหมาย, ข้อ​เตือน​ใจ, ระเบียบ, คำ​สั่ง, และ​คำ​ตัดสิน​ของ​พระ​ยะโฮวา. ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​เขียน​ว่า “ข้าพเจ้า​จะ​ชื่น​ชอบ​ข้อ​กำหนด​ของ​พระองค์. . . . ข้อ​เตือน​ใจ​ของ​พระองค์​เป็น​สิ่ง​ที่​ข้าพเจ้า​ชื่น​ชอบ.” ท่าน​ยัง​เขียน​อีก​ว่า “ข้าพเจ้า​รัก​ข้อ​กฎหมาย​ของ​พระองค์​มาก​เพียง​ใด! ข้าพเจ้า​คำนึง​ถึง​ตลอด​วัน.”—เพลง. 119:16, 24, 47, 48, 77, 97, ล.ม.

คำ​ว่า “ชื่น​ชอบ” และ “คำนึง​ถึง” บอก​เป็น​นัย​ว่า​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ใคร่ครวญ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า และ​อัน​ที่​จริง ยินดี​ที่​ได้​ใคร่ครวญ​เช่น​นั้น. คำ​เหล่า​นี้​เน้น​ให้​เห็น​อย่าง​ชัดเจน​ถึง​ความ​รัก​ที่​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​มี​ต่อ​การ​ศึกษา​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า. ความ​รัก​ดัง​กล่าว​ไม่​เพียง​เกิด​จาก​อารมณ์​ที่​เอ่อ​ล้น​ออก​จาก​หัวใจ​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น ท่าน​ปรารถนา​อย่าง​จริง​ใจ​ที่​จะ “คำนึง​ถึง” กฎหมาย​นั้น เพื่อ​จะ​เข้าใจ​คำ​ตรัส​ของ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ลึกซึ้ง. เรา​เห็น​ได้​จาก​เจตคติ​ของ​ท่าน​ว่า​ท่าน​ต้องการ​รู้​จัก​พระเจ้า​และ​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระองค์​อย่าง​ถ่องแท้​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้.

เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ความ​รัก​ของ​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ต่อ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​มา​จาก​ก้นบึ้ง​แห่ง​หัวใจ. เรา​อาจ​ถาม​ตัว​เอง​ได้​ว่า ‘ฉัน​เป็น​อย่าง​นั้น​เหมือน​กัน​ไหม? ฉัน​ชื่น​ใจ​ยินดี​ที่​จะ​อ่าน​และ​วิเคราะห์​ส่วน​หนึ่ง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​แต่​ละ​วัน​ไหม? ฉัน​ขยัน​อ่าน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​อย่าง​ถี่ถ้วน​และ​อธิษฐาน​ก่อน​อ่าน​ไหม? หาก​เรา​ตอบ​ว่า​ใช่ เรา​ก็​คง​จะ “มี​ความ​รู้​ถ่องแท้​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า​มาก​ขึ้น.”

เอวา​ตั้ง​ข้อ​สังเกต​ว่า “ดิฉัน​พยายาม​ปรับ​ปรุง​คุณภาพ​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​ของ​ดิฉัน​อยู่​เสมอ. นับ​ตั้ง​แต่​ได้​รับ​จุลสาร ‘ไป​ดู​แผ่นดิน​อัน​ดี’ ดิฉัน​ใช้​จุลสาร​นี้​แทบ​ทุก​ครั้ง​ที่​ศึกษา. ดิฉัน​พยายาม​ค้นคว้า​มาก​ขึ้น​โดย​ใช้​หนังสือ​การ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ​พระ​คัมภีร์ (ภาษา​อังกฤษ) และ​หนังสือ​อ้างอิง​อื่น ๆ ตาม​ที่​จำเป็น.”

นอก​จาก​นี้ ขอ​ให้​ดู​ตัว​อย่าง​ของ​วอยเชค​และ​เมาโกร์ซาทา​ซึ่ง​มี​เรื่อง​ที่​ต้อง​รับผิดชอบ​ใน​ครอบครัว​หลาย​อย่าง. ทั้ง​สอง​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​จัด​ให้​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​อยู่​ใน​ตาราง​เวลา​ของ​เขา​ได้? “เรา​แต่​ละ​คน​พยายาม​หา​เวลา​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เป็น​ส่วน​ตัว​เท่า​ที่​เรา​ทำ​ได้. แล้ว​ระหว่าง​ที่​มี​การ​ศึกษา​ใน​ครอบครัว​ด้วย​กัน​และ​เมื่อ​สนทนา​กัน​ใน​แต่​ละ​วัน เรา​ก็​จะ​คุย​กัน​ถึง​จุด​ต่าง ๆ ที่​เรา​เห็น​ว่า​น่า​สนใจ​หรือ​กระตุ้น​ใจ.” การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​อย่าง​ลึกซึ้ง​ทำ​ให้​พวก​เขา​มี​ความ​ยินดี​อย่าง​ยิ่ง​และ​ช่วย​พวก​เขา “มี​ความ​รู้​ถ่องแท้​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า​มาก​ขึ้น.”

ศึกษา​ด้วย​ใจ​เปิด

ใน​ฐานะ​คริสเตียน เรา​เชื่อ​ว่า​พระเจ้า​ทรง​ประสงค์ “ให้​คน​ทุก​ชนิด​รอด​และ​ได้​รับ​ความ​รู้​ถ่องแท้​เรื่อง​ความ​จริง.” (1 ติโม. 2:3, 4) ข้อ​เท็จ​จริง​นี้​เน้น​คุณค่า​ของ​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​การ​พยายาม “เข้าใจ” พระ​คัมภีร์. (มัด. 15:10) สิ่ง​หนึ่ง​ที่​ช่วย​ให้​เข้าใจ​พระ​คัมภีร์​ก็​คือ​การ​ศึกษา​ด้วย​ใจ​เปิด. นั่น​เป็น​ทัศนคติ​ที่​ชาว​เมือง​เบโรยา​ใน​สมัย​โบราณ​เคย​แสดง​ให้​เห็น​เมื่อ​เปาโล​บอก​ข่าว​ดี​แก่​พวก​เขา: “พวก​เขา​รับ​ฟัง​ถ้อย​คำ​ของ​ทั้ง​สอง​ด้วย​ใจ​กระตือรือร้น​อย่าง​ยิ่ง​และ​ค้น​ดู​พระ​คัมภีร์​อย่าง​รอบคอบ​ทุก​วัน​เพื่อ​ดู​ว่า​ถ้อย​คำ​เหล่า​นั้น​จะ​เป็น​ไป​ตาม​พระ​คัมภีร์​หรือ​ไม่.”—กิจ. 17:11.

คุณ​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ความ​กระตือรือร้น​ของ​ชาว​เบโรยา​และ​พยายาม​มี​สมาธิ​เพื่อ​จะ​ไม่​เขว​ง่าย ๆ ขณะ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ไหม? คริสเตียน​สามารถ​พยายาม​เลียน​แบบ​ชาว​เมือง​เบโรยา แม้​ว่า​ที่​ผ่าน ๆ มา​เขา​อาจ​ไม่​เห็น​ว่า​การ​ศึกษา​เป็น​เรื่อง​น่า​เพลิดเพลิน. นอก​จาก​นั้น แม้​ว่า​บาง​คน​มี​แนว​โน้ม​จะ​อ่าน​และ​ศึกษา​น้อย​ลง​เมื่อ​อายุ​มาก​ขึ้น แต่​ไม่​จำเป็น​ต้อง​เป็น​อย่าง​นั้น​กับ​คริสเตียน​แท้. ไม่​ว่า​อายุ​เท่า​ไร​แล้ว เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​ไม่​ให้​สิ่ง​อื่น​มา​ทำ​ให้​เขว. และ​เมื่อ​คุณ​อ่าน คุณ​อาจ​จะ​พยายาม​ตื่น​ตัว​มอง​หา​ข้อมูล​ที่​จะ​เอา​ไป​คุย​กับ​คน​อื่น ๆ ได้. ตัว​อย่าง​เช่น คุณ​อาจ​ตั้ง​เป้า​ว่า​จะ​พูด​กับ​คู่​สมรส​หรือ​กับ​เพื่อน​คริสเตียน​เกี่ยว​กับ​บาง​สิ่ง​ที่​คุณ​ได้​อ่าน​หรือ​เรียน​รู้​ระหว่าง​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​ได้​ไหม? การ​ทำ​อย่าง​นั้น​สามารถ​ประทับ​ความ​รู้​เหล่า​นั้น​ให้​ฝัง​แน่น​ใน​จิตใจ​และ​หัวใจ​คุณ และ​ขณะ​เดียว​กัน​ก็​ก่อ​ผล​ที่​ดี​ต่อ​คน​อื่น​ด้วย.

เมื่อ​คุณ​ศึกษา จง​ทำ​ตาม​ตัว​อย่าง​ของ​เอษรา ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​ใน​สมัย​โบราณ​ซึ่ง “เตรียม​หัวใจ​ของ​ตน​เพื่อ​พิจารณา​ข้อ​กฎหมาย​ของ​พระ​ยะโฮวา.” (เอษรา 7:10, ล.ม.) คุณ​จะ​ทำ​เช่น​นั้น​ได้​อย่าง​ไร? คุณ​สามารถ​จัด​สภาพ​แวด​ล้อม​ให้​เอื้อ​ต่อ​การ​ศึกษา. จาก​นั้น​ก็​นั่ง​ลง​และ​อธิษฐาน​ขอ​การ​ชี้​นำ​และ​สติ​ปัญญา​จาก​พระ​ยะโฮวา. (ยโก. 1:5) ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​คาด​หมาย​จะ​เรียน​รู้​อะไร​ขณะ​ที่​ศึกษา​เรื่อง​นี้?’ ขณะ​อ่าน ขอ​ให้​ตื่น​ตัว​เพื่อ​จะ​สังเกต​แนว​คิด​สำคัญ. คุณ​อาจ​ต้องการ​จด​บันทึก​จุด​เหล่า​นี้​หรือ​ทำ​เครื่องหมาย​ไว้​ว่า​คุณ​ต้องการ​จำ​ส่วน​ไหน​เป็น​พิเศษ. คิด​ถึง​วิธี​ที่​คุณ​จะ​ใช้​เนื้อหา​เหล่า​นี้​ได้​เมื่อ​ประกาศ, เมื่อ​ตัดสิน​ใจ, หรือ​เมื่อ​หนุน​ใจ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ. เมื่อ​ศึกษา​ใกล้​จะ​จบ​แล้ว ทบทวน​สั้น ๆ ว่า​คุณ​ได้​พิจารณา​อะไร​ไป​บ้าง. นั่น​จะ​ช่วย​คุณ​ให้​จำ​สิ่ง​ที่​คุณ​ศึกษา.

เอวา​เล่า​ให้​ฟัง​ถึง​วิธี​ศึกษา​ของ​เธอ​ว่า “ขณะ​ที่​ดิฉัน​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล ดิฉัน​ใช้​ข้อ​อ้าง​โยง, ดัชนี​สรรพหนังสือ​ของ​ว็อชเทาเวอร์, และ​แผ่น​ซีดีรอม​ห้อง​สมุด​ว็อชเทาเวอร์. ดิฉัน​จด​บันทึก​ไว้​สำหรับ​ตัว​เอง​เพื่อ​นำ​ไป​ใช้​ใน​งาน​ประกาศ.”

บาง​คน​ได้​ศึกษา​อย่าง​ลึกซึ้ง​มา​นาน​หลาย​ปี ซึ่ง​ทำ​ให้​เขา​สนใจ​แรง​กล้า​ใน​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ. (สุภา. 2:1-5) ถึง​กระนั้น พวก​เขา​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​หลาย​อย่าง​และ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​ที่​จะ​จัด​เวลา​สำหรับ​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว. หาก​คุณ​เป็น​อย่าง​นั้น คุณ​อาจ​ปรับ​เปลี่ยน​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​จะ​จัด​ตาราง​เวลา​ได้?

ฉัน​จะ​หา​เวลา​ได้​อย่าง​ไร?

คุณ​คง​เห็น​ด้วย​ว่า​เป็น​เรื่อง​ง่าย​กว่า​ที่​จะ​หา​เวลา​เพื่อ​ทำ​สิ่ง​ที่​คุณ​ชอบ. หลาย​คน​พบ​ว่า​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​ช่วย​เขา​ทุ่มเท​ใจ​ให้​กับ​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​ก็​คือ​การ​ตั้ง​เป้าหมาย​อย่าง​ที่​ทำ​ได้​จริง เช่น ตั้ง​เป้า​จะ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​เล่ม. จริง​อยู่ การ​อ่าน​ประวัติ​วงศ์วาน​อัน​ยาว​เหยียด, คำ​พรรณนา​ละเอียด​ยิบ​เกี่ยว​กับ​พระ​วิหาร​โบราณ, หรือ​คำ​พยากรณ์​อัน​ซับซ้อน​ซึ่ง​ดู​เหมือน​ไม่​มี​อะไร​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ชีวิต​ประจำ​วัน​ของ​เรา​เลย​อาจ​ดู​เหมือน​ว่า​ยาก​มาก. ลอง​ทำ​ตาม​ขั้น​ตอน​บาง​อย่าง​ซึ่ง​จะ​ช่วย​ให้​คุณ​บรรลุ​เป้าหมาย. ตัว​อย่าง​เช่น ก่อน​พิจารณา​ส่วน​หนึ่ง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​ดู​เหมือน​เป็น​เรื่อง​ยาก คุณ​อาจ​อ่าน​ภูมิหลัง​ทาง​ประวัติศาสตร์​หรือ​ประโยชน์​ที่​นำ​มา​ใช้​ได้​จริง​ของ​เรื่อง​นั้น. อาจ​พบ​ข้อมูล​เช่น​นั้น​ได้​ใน​หนังสือ “พระ​คัมภีร์​ทุก​ตอน​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​และ​เป็น​ประโยชน์” ซึ่ง​มี​ใน​ภาษา​ต่าง ๆ เกือบ 50 ภาษา.

การ​สร้าง​จินตนาการ​ไป​ด้วย​ขณะ​ที่​คุณ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ช่วย​กระตุ้น​ความ​คิด. การ​ทำ​อย่าง​นี้​สามารถ​ช่วย​คุณ​ให้​วาด​ภาพ​ขึ้น​ใน​ใจ​เกี่ยว​กับ​บุคคล​และ​เหตุ​การณ์​ที่​เกี่ยว​ข้อง. เมื่อ​ใช้​ข้อ​แนะ​ไม่​กี่​อย่าง​ที่​กล่าว​ไป​แล้ว​นี้​ก็​น่า​จะ​ทำ​ให้​ช่วง​เวลา​ที่​คุณ​ศึกษา​น่า​เพลิดเพลิน​และ​เป็น​ประโยชน์​มาก​ขึ้น. เมื่อ​เป็น​อย่าง​นั้น คุณ​ก็​จะ​กระตือรือร้น​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​จัด​เวลา​ไว้​สำหรับ​การ​ศึกษา. คุณ​จะ​รักษา​นิสัย​ใน​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ทุก​วัน​ได้​ง่าย​ขึ้น

แม้​ข้อ​เสนอ​แนะ​ที่​กล่าว​ไป​แล้ว​อาจ​ช่วย​เรา​แต่​ละ​คน​เป็น​ส่วน​ตัว​ได้ แต่​ครอบครัว​ที่​มี​ธุระ​ยุ่ง​อาจ​ทำ​อะไร​ได้? ถ้า​ลอง​นั่ง​ลง​แล้ว​พิจารณา​ด้วย​กัน​อย่าง​ผ่อน​คลาย​ว่า​ครอบครัว​อาจ​ได้​ประโยชน์​อะไร​บ้าง​จาก​การ​ศึกษา​ด้วย​กัน​ก็​คง​จะ​ดี​มิ​ใช่​หรือ? เมื่อ​พิจารณา​กัน​อย่าง​นี้​อาจ​มี​ความ​คิด​ดี ๆ เกิด​ขึ้น​ว่า​ทำ​อย่าง​ไร​จึง​จะ​ศึกษา​ด้วย​กัน​ได้ เช่น ตื่น​นอน​เร็ว​ขึ้น​สัก​นิด​ใน​แต่​ละ​วัน​หรือ​ใน​บาง​วัน​เพื่อ​จะ​พิจารณา​ส่วน​หนึ่ง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ด้วย​กัน. หรือ​การ​พิจารณา​ด้วย​กัน​อย่าง​นั้น​อาจ​ทำ​ให้​เห็น​ว่า​จำเป็น​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน​ตาราง​เวลา​ของ​ครอบครัว. ตัว​อย่าง​เช่น บาง​ครอบครัว​พบ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​ที่​จะ​พิจารณา​ข้อ​พระ​คัมภีร์​ประจำ​วัน​หรือ​อ่าน​ส่วน​หนึ่ง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ด้วย​กัน​เมื่อ​รับประทาน​อาหาร​มื้อ​ใด​มื้อ​หนึ่ง​เสร็จ. ก่อน​จะ​เก็บ​โต๊ะ​หรือ​ลุก​จาก​โต๊ะ​ไป​ทำ​อะไร​อย่าง​อื่น ครอบครัว​จะ​ใช้​เวลา 10 หรือ 15 นาที​พิจารณา​พระ​คัมภีร์​หรือ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ตาม​ตาราง​ที่​กำหนด​ไว้​ด้วย​กัน. เมื่อ​เริ่ม​ทำ​ใหม่ ๆ อาจ​ดู​เหมือน​ว่า​ยาก​อยู่​บ้าง แต่​ไม่​ช้า​การ​ทำ​อย่าง​นี้​ก็​จะ​กลาย​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​สำหรับ​ครอบครัว​และ​ทำ​ให้​เพลิดเพลิน​ยินดี​อย่าง​มาก.

วอยเชค​และ​เมาโกร์ซาทา​อธิบาย​ว่า​อะไร​ช่วย​ครอบครัว​ของ​เขา: “ใน​อดีต เรา​ใช้​เวลา​หมด​ไป​กับ​กิจกรรม​เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่​ไม่​สำคัญ. เรา​ตัดสิน​ใจ​ว่า​เรา​จะ​ตัด​เวลา​ที่​ใช้​กับ​การ​ส่ง​อี​เมล์. เรา​ยัง​ลด​เวลา​ที่​ใช้​ไป​กับ​กิจกรรม​ยาม​ว่าง และ​กัน​วัน​และ​เวลา​ไว้​โดย​เฉพาะ​เพื่อ​จะ​ศึกษา​อย่าง​ลึกซึ้ง.” ครอบครัว​นี้​ไม่​เสียใจ​อย่าง​แน่นอน​ที่​ปรับ​เปลี่ยน​อย่าง​นั้น และ​คุณ​ก็​สามารถ​พบ​ว่า​เป็น​อย่าง​นั้น​ด้วย​กับ​ครอบครัว​ของ​คุณ.

การ​เพิ่ม​พูน​ความ​รู้​ถ่องแท้​คุ้มค่า!

การ​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​อย่าง​ลึกซึ้ง​สามารถ​ทำ​ให้​เรา “เกิด​ผล . . . ใน​การ​ดี​ทุก​อย่าง.” (โกโล. 1:10) เมื่อ​เป็น​อย่าง​นั้น​ใน​ชีวิต​คุณ ความ​ก้าว​หน้า​ของ​คุณ​ก็​จะ​ปรากฏ​แก่​ทุก​คน. คุณ​จะ​เป็น​มนุษย์​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​มี​ความ​เข้าใจ​ครอบ​คลุม​เกี่ยว​กับ​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​คุณ​ใน​เรื่อง​ต่าง ๆ ก็​จะ​สมดุล​ยิ่ง​ขึ้น​และ​ทำ​ให้​คุณ​ช่วย​คน​อื่น ๆ ได้​ดี​ยิ่ง​ขึ้น โดย​ไม่​มี​ทัศนะ​แบบ​สุด​โต่ง​อย่าง​ที่​คน​ซึ่ง​ขาด​ความ​รู้​ความ​เข้าใจ​มัก​มี. ยิ่ง​กว่า​นั้น คุณ​จะ​ใกล้​ชิด​พระ​ยะโฮวา​มาก​ขึ้น. คุณ​จะ​เข้าใจ​คุณลักษณะ​ของ​พระองค์​ลึกซึ้ง​ยิ่ง​ขึ้น และ​นั่น​จะ​ปรากฏ​ชัด​เมื่อ​คุณ​บอก​คน​อื่น ๆ เกี่ยว​กับ​พระองค์.—1 ติโม. 4:15; ยโก. 4:8.

ไม่​ว่า​คุณ​อายุ​เท่า​ไร​แล้ว​หรือ​มี​ประสบการณ์​อย่าง​ไร จง​พยายาม​จริง ๆ เพื่อ​จะ​พบ​ความ​ยินดี​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ต่อ ๆ ไป และ​ศึกษา​พระ​คำ​นั้น​อย่าง​ลึกซึ้ง​ด้วย​ใจ​เปิด. คุณ​สามารถ​เชื่อ​มั่น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​ไม่​ลืม​ความ​บากบั่น​พยายาม​ของ​คุณ. (ฮีบรู 6:10) พระองค์​จะ​ทรง​เท​พระ​พร​อย่าง​อุดม​แก่​คุณ.

[กรอบ​หน้า 13]

เมื่อ​เรา ‘เพิ่ม​พูน​ความ​รู้​ถ่องแท้’ . . .

ความ​เชื่อ​ของ​เรา​ที่​มี​ต่อ​พระเจ้า​เข้มแข็ง​ยิ่ง​ขึ้น​และ​เรา​ดำเนิน​อย่าง​คู่​ควร​กับ​พระ​ยะโฮวา.—โกโล. 1:9, 10

เรา​ได้​รับ​ความ​เข้าใจ​ลึกซึ้ง สามารถ​ใช้​ความ​สังเกต​เข้าใจ​และ​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​สม​เหตุ​ผล.—เพลง. 119:99

เรา​ชื่นชม​ยินดี​ยิ่ง​ขึ้น​ใน​การ​ช่วย​คน​อื่น ๆ เข้า​ใกล้​ชิด​กับ​พระ​ยะโฮวา.—มัด. 28:19, 20

[ภาพ​หน้า 14]

การ​หา​สถาน​ที่​ที่​เอื้อ​ต่อ​การ​ศึกษา​อาจ​เป็น​เรื่อง​ยาก แต่​ว่า​คุ้มค่า​ความ​พยายาม

[ภาพ​หน้า 15]

บาง​ครอบครัว​อ่าน​ส่วน​หนึ่ง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ด้วย​กัน​หลัง​รับประทาน​อาหาร