จุดเด่นจากจดหมายถึงทิทุส, ถึงฟิเลโมน, และถึงคริสเตียนชาวฮีบรู
พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากจดหมายถึงทิทุส, ถึงฟิเลโมน, และถึงคริสเตียนชาวฮีบรู
หลังจากถูกปล่อยจากการคุมขังครั้งแรกในกรุงโรมเมื่อสากลศักราช 61 ได้ระยะหนึ่ง อัครสาวกเปาโลไปที่เกาะครีต. เมื่อสังเกตเห็นสภาพฝ่ายวิญญาณของประชาคมต่าง ๆ ในเกาะนี้แล้ว ท่านให้ทิทุสอยู่ต่อเพื่อเสริมกำลังประชาคมให้เข้มแข็ง. ต่อมา เปาโลเขียนจดหมายถึงทิทุส ดูเหมือนว่าเขียนจากมาซิโดเนีย เพื่อแนะนำเขาในการทำหน้าที่และเพื่อจะแสดงว่าเขาได้รับมอบอำนาจจากท่านอัครสาวกให้ทำงานนี้.
ก่อนหน้านั้น ไม่นานก่อนถูกปล่อยตัวจากการคุมขังในสากลศักราช 61 เปาโลเขียนจดหมายถึงฟิเลโมน พี่น้องคริสเตียนที่อยู่ในเมืองโกโลซาย. จดหมายนี้เป็นคำขอร้องส่วนตัวที่เขียนถึงเพื่อน.
ประมาณสากลศักราช 61 เปาโลยังเขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงผู้มีความเชื่อชาวฮีบรูในยูเดีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหลักการคริสเตียนเหนือกว่าระบบยิว. จดหมายทั้งสามฉบับมีคำแนะนำที่มีค่ายิ่งสำหรับเรา.—ฮีบรู 4:12.
จงรักษาความเชื่อที่มั่นคง
หลังจากให้หลักในเรื่องการ “แต่งตั้งผู้เฒ่าผู้แก่ไว้ตามเมืองต่าง ๆ” เปาโลแนะนำทิทุสให้ “ว่ากล่าว [คนดื้อรั้น] ให้แรงเพื่อพวกเขาจะมีความเชื่อที่มั่นคง.” ท่านเตือนสติทุกคนในประชาคมต่าง ๆ ในเกาะครีตให้ “ปฏิเสธการกระทำที่ดูหมิ่นพระเจ้า . . . และให้ดำเนินชีวิต . . . อย่างมีสติ.”—ทิทุส 1:5, 10-13; 2:12.
เปาโลให้คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อช่วยพี่น้องในเกาะครีตให้รักษาความเชื่อที่มั่นคง. ท่านแนะนำทิทุสให้ “หลีกเลี่ยงการถกเถียงกันอย่างโง่ ๆ . . . และการทุ่มเถียงกันเรื่องพระบัญญัติ.”—ทิทุส 3:9.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
1:15—“ทุกสิ่งสะอาดสำหรับคนสะอาด” แต่ไม่สะอาด “สำหรับคนมีมลทินและไม่มีความเชื่อ” ได้อย่างไร? เพื่อจะตอบคำถามนี้ได้ต้องเข้าใจว่าเปาโลหมายถึงอะไรเมื่อใช้คำว่า “ทุกสิ่ง.” ท่านไม่ได้กล่าวถึงสิ่งที่พระคำของพระเจ้าตำหนิโดยตรง แต่กล่าวถึงสิ่งที่พระคัมภีร์เปิดให้ผู้มีความเชื่อแต่ละคนตัดสินใจเองตามสติรู้สึกผิดชอบของเขา. สำหรับคนที่คิดสอดคล้องกับมาตรฐานของพระเจ้า สิ่งที่เขาตัดสินใจทำถือว่าสะอาด. สำหรับคนที่มีความคิดบิดเบือนและสติรู้สึกผิดชอบมีมลทินก็ย่อมจะตรงกันข้าม. *
3:5—คริสเตียนผู้ถูกเจิม ‘ถูกช่วยให้รอดโดยการชำระ’ และ ‘ถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์’ อย่างไร? พวกเขา ‘ถูกช่วยให้รอดโดยการชำระ’ โดยที่พระเจ้าได้ทรงชำระหรือทำให้พวกเขาสะอาดด้วยพระโลหิตของพระเยซูโดยอาศัยคุณค่าของเครื่องบูชาไถ่. พวกเขา ‘ถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์’ เพราะพวกเขากลายเป็น “ผู้ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่” ให้เป็นบุตรที่กำเนิดโดยพระวิญญาณของพระเจ้า.—2 โค. 5:17.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:10-13; 2:15. ผู้ดูแลคริสเตียนต้องแสดงความกล้าหาญในการแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องในประชาคม.
2:3-5. เช่นเดียวกับในศตวรรษแรก คริสเตียนหญิงที่อาวุโสในปัจจุบันจำเป็นต้อง “ประพฤติอย่างที่น่านับถือ ไม่พูดให้ร้ายคนอื่น ไม่เป็นทาสเหล้าองุ่น เป็นผู้สอนสิ่งที่ดี.” โดยวิธีนั้น พวกเธอสามารถสอน “ผู้หญิงสาว ๆ” ในประชาคมเป็นส่วนตัวอย่างได้ผล.
3:8, 14. การ “มุ่งทำการดีต่อ ๆ ไป” เป็นสิ่งที่ “ดีและเป็น ประโยชน์” เพราะการทำอย่างนั้นช่วยเราให้เกิดผลในการรับใช้พระเจ้าและช่วยเราให้อยู่ต่างหากจากโลกชั่วเสมอ.
ขอร้อง “เนื่องด้วยความรัก”
ฟิเลโมนได้รับคำชมเชยเพราะเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่อง “ความรักและความเชื่อ.” การที่ท่านเป็นแหล่งที่ให้ความสดชื่นแก่เพื่อนคริสเตียนทำให้เปาโล “ยินดีและมีกำลังใจมาก.”—ฟิเล. 4, 5, 7.
เปาโลวางตัวอย่างไว้สำหรับผู้ดูแลทุกคน โดยจัดการเรื่องที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับโอเนซิมุสด้วยการใช้คำขอร้อง “เนื่องด้วยความรัก” ไม่ใช่ด้วยการสั่งให้ทำ. ท่านบอกฟิเลโมนว่า “ข้าพเจ้าเขียนถึงท่านด้วยความมั่นใจว่าท่านจะทำตาม และข้าพเจ้ารู้ว่าท่านจะทำมากกว่าที่ข้าพเจ้าขอด้วยซ้ำ.”—ฟิเล. 8, 9, 21.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
10, 11, 18—โอเนซิมุสซึ่งเมื่อก่อน “ไม่เป็นประโยชน์” กลายเป็นคนที่ “เป็นประโยชน์” อย่างไร? โอเนซิมุสเป็นทาสโดยไม่สมัครใจที่หนีจากบ้านของฟิเลโมนในเมืองโกโลซายและหนีมายังกรุงโรม. โอเนซิมุสคงขโมยอะไรบางอย่างจากนายของเขาด้วยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ไกลถึง 1,400 กิโลเมตรดังกล่าว. เขาไม่เป็นประโยชน์แก่ฟิเลโมนจริง ๆ. แต่ในกรุงโรม โอเนซิมุสได้รับความช่วยเหลือจากเปาโลจนกลายมาเป็นคริสเตียน. ทาสที่เคยเป็นคน “ไม่เป็นประโยชน์” ในตอนนี้กลายเป็นพี่น้องฝ่ายวิญญาณที่ “เป็นประโยชน์.”
15, 16—เหตุใดเปาโลไม่ได้ขอฟิเลโมนปล่อยโอเนซิมุสให้เป็นอิสระจากการเป็นทาส? เปาโลต้องการจำกัดบทบาทของท่านไว้เฉพาะงานมอบหมายที่ท่านได้รับ คือการ “ประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้าและสอนเรื่องพระเยซูคริสต์เจ้า.” ด้วยเหตุนั้น ท่านเลือกไม่เข้าไปยุ่งกับประเด็นทางสังคมอย่างเช่นเรื่องที่เกี่ยวกับทาส.—กิจ. 28:31.
บทเรียนสำหรับเรา:
2. ฟิเลโมนเปิดบ้านให้ใช้สำหรับการประชุมคริสเตียน. นับเป็นสิทธิพิเศษเมื่อมีการจัดการประชุมเพื่อการประกาศที่บ้านของเรา.—โรม 16:5; โกโล. 4:15.
4-7. เราควรริเริ่มในการชมเชยเพื่อนร่วมความเชื่อที่เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความเชื่อและความรัก.
15, 16. ไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตทำให้เรากังวลเกินจำเป็น. ผลที่ออกมาอาจกลายเป็นผลประโยชน์ ดังในกรณีของโอเนซิมุส.
21. เปาโลคาดหมายว่าฟิเลโมนจะให้อภัยโอเนซิมุส. เราก็ถูกคาดหมายด้วยเช่นกันว่าจะให้อภัยพี่น้องที่อาจทำให้เราขุ่นเคือง.—มัด. 6:14.
“พยายามก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่”
เพื่อพิสูจน์ว่าความเชื่อในเครื่องบูชาของพระเยซูเหนือกว่าการทำตามพระบัญญัติ เปาโลเน้นถึงความล้ำเลิศของผู้ก่อตั้งศาสนาคริสเตียน, ตำแหน่งปุโรหิตของพระองค์, เครื่องบูชาของพระองค์, และสัญญาใหม่. (ฮีบรู 3:1-3; 7:1-3, 22; 8:6; 9:11-14, 25, 26) ความรู้นี้คงต้องได้ช่วยคริสเตียนชาวฮีบรูให้รับมือกับการข่มเหงจากน้ำมือของพวกยิว. เปาโลกระตุ้นเพื่อนร่วมความเชื่อชาวฮีบรูให้ “พยายามก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่.”—ฮีบรู 6:1.
ความเชื่อสำคัญขนาดไหนสำหรับคริสเตียน? เปาโลเขียนว่า “ถ้าไม่มีความเชื่อก็ไม่อาจทำให้พระเจ้าพอพระทัยได้เลย.” ท่านสนับสนุนชาวฮีบรูดังนี้: “ให้เราวิ่งด้วยความเพียรอดทนในการวิ่งแข่งซึ่งอยู่ตรงหน้าเรา” ด้วยความเชื่อ.—ฮีบรู 11:6; 12:1.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
2:14, 15—การที่ซาตาน “สามารถทำให้เกิดความตาย” แสดงว่ามันสามารถทำให้ใครก็ตามที่มันเลือกเสียชีวิตก่อนวัยอันควรไหม? ไม่ คำพูดนี้ไม่ได้หมายความอย่างนั้น. อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ที่ซาตานเริ่มแนวทางชั่วในสวนเอเดน คำโกหกของมันได้ทำให้เกิดความตาย เพราะอาดามทำบาปและถ่ายทอดบาปและความตายให้ครอบครัวมนุษย์. (โรม 5:12) นอกจากนั้น ตัวแทนของซาตานที่อยู่บนโลกนี้ได้ข่มเหงผู้รับใช้พระเจ้าจนถึงแก่ความตาย แม้แต่กับพระเยซู. แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าซาตานมีอำนาจไม่จำกัดที่จะฆ่าใครก็ได้ตามที่มันต้องการ. หากเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันคงกำจัดผู้นมัสการพระยะโฮวาหมดไปนาน แล้ว. พระยะโฮวาทรงคุ้มครองผู้รับใช้ของพระองค์เป็นกลุ่ม และพระองค์ไม่ยอมให้ซาตานทำลายล้างพวกเขา. แม้ว่าพระเจ้าทรงยอมให้พวกเราบางคนเสียชีวิตจากการโจมตีของซาตาน เรามั่นใจได้ว่าพระเจ้าจะทรงแก้ไขผลเสียหายใด ๆ ก็ตามที่ซาตานทำให้เกิดขึ้นกับเรา.
4:9-11—เรา “เข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้า” โดยวิธีใด? ในตอนสิ้นสุดวันที่หกแห่งการทรงสร้าง พระเจ้าทรงหยุดพักจากงานสร้างสรรค์ของพระองค์ โดยทรงมั่นพระทัยว่าพระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับแผ่นดินโลกและมนุษยชาติจะสำเร็จ. (เย. 1:28; 2:2, 3) เรา “เข้าสู่การหยุดพักนั้น” โดยเลิกพยายามตั้งตัวเองเป็นคนชอบธรรมและยอมรับการจัดเตรียมของพระเจ้าที่ทำให้เราได้รับความรอด. เมื่อเราแสดงความเชื่อในพระยะโฮวาและประพฤติตามพระบุตรอย่างเชื่อฟังแทนที่จะหาประโยชน์อันเห็นแก่ตัว เราได้รับพระพรเป็นความสดชื่นและผ่อนคลายทุก ๆ วัน.—มัด. 11:28-30.
9:16—“ผู้ทำสัญญาซึ่งเป็นมนุษย์” ของสัญญาใหม่คือใคร? พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ทำสัญญาใหม่ ส่วนพระเยซูทรงเป็น “ผู้ทำสัญญาใหม่ซึ่งเป็นมนุษย์.” พระเยซูทรงเป็นผู้กลางของสัญญานั้น และด้วยการสิ้นพระชนม์พระองค์ทรงจัดให้มีค่าไถ่ที่จำเป็นเพื่อให้สัญญานั้นมีผลบังคับใช้.—ลูกา 22:20; ฮีบรู 9:15.
11:10, 13-16—“เมือง” ที่อับราฮามคอยคืออะไร? เมืองนี้ไม่ใช่เมืองจริง ๆ แต่เป็นเมืองโดยนัย. อับราฮามกำลังคอย “เยรูซาเลมฝ่ายสวรรค์” ซึ่งประกอบด้วยพระคริสต์เยซูและคน 144,000 คนที่ร่วมปกครองกับพระองค์. ผู้ร่วมปกครองเหล่านี้ซึ่งได้รับสง่าราศีในสวรรค์ยังถูกกล่าวถึงด้วยว่าเป็น “เมืองบริสุทธิ์ . . . เยรูซาเลมใหม่.” (ฮีบรู 12:22; วิ. 14:1; 21:2) อับราฮามกำลังคอยด้วยใจจดจ่อจะได้อยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรของพระเจ้า.
12:2—“ความยินดีที่อยู่ตรงหน้า [พระเยซู]” ซึ่ง “พระองค์ทรงทนทุกข์จนสิ้นพระชนม์บนเสาทรมาน” เพื่อจะได้รับนั้นคืออะไร? นั่นคือความยินดีที่ได้เห็นว่างานรับใช้ของพระองค์ทำให้อะไรบรรลุผล ซึ่งก็รวมถึงการทำให้พระนามพระยะโฮวาได้รับความนับถืออันบริสุทธิ์, การพิสูจน์ว่าพระเจ้าทรงมีสิทธิโดยชอบธรรมในการปกครอง, และการไถ่ครอบครัวมนุษย์ให้พ้นความตาย. นอกจากนั้น พระเยซูทรงคอยท่าด้วยพระทัยจดจ่อที่จะได้รับบำเหน็จด้วยการปกครองเป็นกษัตริย์และรับใช้เป็นมหาปุโรหิตเพื่อทำประโยชน์แก่มนุษยชาติ.
13:20—เหตุใดจึงมีการกล่าวถึงสัญญาใหม่ว่าเป็น “นิรันดร์”? มีเหตุผลสามประการ: (1) สัญญานี้จะไม่มีทางถูกแทนที่ด้วยสัญญาอื่น (2) สัญญานี้ก่อให้เกิดผลที่ถาวร และ (3) “แกะอื่น” จะได้รับประโยชน์จากสัญญาใหม่นี้ต่อ ๆ ไปภายหลังอาร์มาเก็ดดอน.—โย. 10:16.
บทเรียนสำหรับเรา:
5:14. เราควรเป็นนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า ที่ขยันและใช้สิ่งที่เราเรียนจากพระคำนั้น. ไม่มีทางอื่นที่เราจะ “ฝึกใช้วิจารณญาณเพื่อจะแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด.”—1 โค. 2:10.
6:17-19. การที่ความหวังของเรามีรากฐานมั่นคงในคำสัญญาและคำสาบานของพระเจ้าจะช่วยเราไม่ให้หันเหไปจากการเดินในทางความจริง.
12:3, 4. แทนที่จะ “เหนื่อยล้าและหมดกำลังใจ” เพราะการทดสอบเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือการต่อต้านที่เราอาจประสบ เราควรพยายามก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่และปรับปรุงความสามารถที่จะช่วยเราอดทนการทดสอบทั้งหลาย. เราควรตั้งใจแน่วแน่จะต้านทาน “จนถึงแก่ชีวิต.”—ฮีบรู 10:36-39.
12:13-15. เราไม่ควรปล่อยให้ “รากขม” หรือใครก็ตามในประชาคมที่คอยจับผิดวิธีการดำเนินงานต่าง ๆ มาขัดขวางเราไว้ไม่ให้ ‘ทำทางเดินของเราให้ตรง.’
12:26-28. “สิ่งที่พระเจ้าไม่ได้สร้าง” ซึ่งก็คือระบบปัจจุบันทั้งสิ้น และแม้แต่ “สวรรค์” อันชั่วช้า จะต้องถูกทำให้สั่นสะเทือนจนสูญสิ้นไป. เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เฉพาะ “สิ่งที่ไม่ถูกทำให้สั่นสะเทือน” คือราชอาณาจักรและผู้สนับสนุนจะคงอยู่. สำคัญสักเพียงไรที่เราจะประกาศราชอาณาจักรอย่างกระตือรือร้นและดำเนินชีวิตตามหลักการของราชอาณาจักรนั้น!
13:7, 17. การเอาใจใส่ทำตามคำเตือนนี้เสมอที่ให้เชื่อฟังและยอมรับอำนาจของผู้ดูแลในประชาคมจะช่วยเราให้แสดงน้ำใจที่พร้อมจะให้ความร่วมมือ.
[เชิงอรรถ]