ผมได้เห็นการเจริญก้าวหน้าในเกาหลี
ผมได้เห็นการเจริญก้าวหน้าในเกาหลี
เล่าโดย มิลตัน แฮมิลตัน
“เราเสียใจที่ต้องแจ้งให้คุณทราบว่ารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีได้ยกเลิกวีซ่าของมิชชันนารีทุกคน และแจ้งว่าพวกคุณไม่เป็นที่ต้องการในประเทศ. . . . เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คุณได้รับมอบหมายให้ไปที่ประเทศญี่ปุ่นชั่วคราว.”
ใกล้สิ้นปี 1954 ผมกับภรรยาได้รับข่าวข้างต้นจากบรุกลิน นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา. ในปีนั้นเราได้จบหลักสูตรรุ่น 23 ของโรงเรียนกิเลียดซึ่งอยู่ในรัฐนิวยอร์กตอนเหนือ. ขณะได้รับจดหมายนั้น เรากำลังทำงานรับใช้ชั่วคราวในเมืองอินเดียนาโพลิส รัฐอินเดียนา.
ผมและลิซภรรยา (เมื่อก่อนชื่อลิซ เซมอก) เคยเป็นเพื่อนร่วมชั้นในโรงเรียนมัธยม. ต่อมา เราแต่งงานในปี 1948. เธอรักงานรับใช้ประเภทเต็มเวลา แต่ยังลังเลที่จะจากสหรัฐไปทำงานรับใช้ต่างแดน. อะไรทำให้เธอเปลี่ยนใจ?
ลิซยอมไปกับผมยังการประชุมซึ่งจัดขึ้นสำหรับผู้ประสงค์จะเข้าโรงเรียนกิเลียด. การประชุมครั้งนั้นจัดขึ้นในฤดูร้อนของปี 1953 ณ การประชุมนานาชาติที่สนามกีฬาแยงกี นครนิวยอร์ก. ภายหลังการประชุมที่ให้กำลังใจนั้น เราก็ยื่นใบสมัครเข้าโรงเรียนกิเลียด. โดยไม่คาดคิด เราได้รับเชิญให้เข้าเรียนในรุ่นถัดไป ซึ่งเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ 1954.
เราได้รับมอบหมายไปยังประเทศเกาหลี แม้สงครามสามปีเพิ่งสงบลงในฤดูร้อนปี 1953 ประเทศอยู่ในสภาพเสียหายยับเยิน. ตามคำแนะนำในจดหมายที่เกริ่นไว้ตอนต้น เราได้ไปที่ญี่ปุ่นก่อน. หลังจากเดินทาง 20 วันทางทะเล เดือนมกราคม 1955 เราไปถึงที่นั่นพร้อมกับเพื่อนมิชชันนารีหกคนที่ถูกมอบหมายไปทำงานที่เกาหลีเหมือนกัน. ลอยด์ แบร์รี ผู้ดูแลสาขาประเทศญี่ปุ่นเวลานั้นได้มารับพวกเราที่ท่าเรือตอน 6:00 นาฬิกา. จากนั้นเรามุ่งไปที่บ้านมิชชันนารีในเมืองโยโกฮามา. ต่อมาวันเดียวกัน พวกเราก็ออกไปในงานเผยแพร่.
ในที่สุดพวกเราก็ได้ไปเกาหลี
ต่อมา เราได้วีซ่าอนุญาตให้เข้าสาธารณรัฐเกาหลี. วันที่ 7 มีนาคม 1955 เครื่องบินที่เราโดยสารก็ออกจากท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะในกรุงโตเกียว ใช้เวลาเดินทางสามชั่วโมงก็ถึงท่าอากาศยานโยอิโดในกรุงโซล. มีพยานฯชาวเกาหลีมากกว่า 200 คนมาต้อนรับ และพวกเราถึงกับร้องไห้ด้วยความตื้นตัน. สมัยนั้นทั่วประเทศเกาหลีมีพยานฯเพียง 1,000 คน. พวกเราก็เหมือนคนตะวันตกอีกจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าหน้าตาและกิริยาท่าทางของผู้คนในประเทศทางตะวันออกคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะมาจากประเทศใด. ไม่นานพวกเราจึงเรียนรู้ว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด. คนเกาหลีไม่มีเพียงภาษาและอักขระของตัวเองเท่านั้น ทว่าอาหาร, รูปร่างหน้าตา, และชุดพื้นเมืองต่างก็
มีแบบฉบับของตัวเอง, รวมถึงสิ่งอื่น ๆ ซึ่งผิดแผกกว่าใคร ๆ ในโลก อาทิ การออกแบบอาคารบ้านเรือนของพวกเขา.ภารกิจแรกอันยากยิ่งของเราคือการเรียนภาษา. เราหาตำราเรียนภาษาเกาหลีไม่ได้. ไม่นาน เราก็ตระหนักว่าการจะเลียนออกเสียงคำเกาหลีโดยใช้เสียงภาษาอังกฤษเพื่อให้ตรงกันเป็นไปไม่ได้แน่ ๆ. คนเราจะออกเสียงได้อย่างถูกต้องก็โดยการเรียนอักขระเกาหลีเท่านั้น.
บางครั้งเราออกเสียงผิด. ตัวอย่างเช่น ลิซถามเจ้าของบ้านว่ามีพระคัมภีร์หรือเปล่า. เจ้าของบ้านแสดงสีหน้าประหลาดใจขณะที่เดินไปหยิบกล่องไม้ขีดไฟมาให้. ลิซใช้คำ ซองเยียง (ไม้ขีดไฟ) แทนคำ ซองคียอง ซึ่งหมายถึง “คัมภีร์ไบเบิล.”
สองสามเดือนหลังจากนั้น พวกเราถูกมอบหมายให้เปิดบ้านมิชชันนารีในเมืองปูซาน เมืองท่าซึ่งอยู่ทางใต้. เราสามารถเช่าห้องขนาดย่อมได้สามห้อง สำหรับเราสองคนและซิสเตอร์อีกสองคนที่ถูกมอบหมายไปที่นั่นกับเรา. ห้องเช่าที่เข้าไปอยู่ไม่มีทั้งน้ำประปา ไม่มีชักโครก. เฉพาะในตอนกลางคืนเท่านั้นน้ำจะมีแรงดันพอที่จะผ่านสายยางขึ้นไปถึงห้องชั้นบน. ดังนั้น เราจึงผลัดกันตื่นแต่เช้ามืดและลุกขึ้นมารองน้ำใส่ถังไว้ใช้. น้ำที่เราใช้ดื่มก็ต้องต้มเสียก่อน หรือใส่คลอรีนเพื่อความปลอดภัย.
ยังมีข้อท้าทายอื่น ๆ หลายอย่าง. การจ่ายกระแสไฟฟ้าก็จำกัดอย่างที่สุดจนเราไม่สามารถใช้เครื่องซักผ้าหรือเตารีดไฟฟ้า. ที่ทำครัวของเราอยู่ที่ทางเดิน และเครื่องใช้อย่างเดียวในครัวได้แก่เตาน้ำมันก๊าด. ต่อมา แต่ละคนได้เรียนรู้ที่จะทำอาหารตามเวรที่รับมอบหมาย. หลังจากเรามาอยู่ได้สามปี ผมและลิซได้ล้มป่วยด้วยโรคตับอักเสบ. ช่วงเวลานั้นมิชชันนารีส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคนี้. หลายเดือนผ่านไปกว่าเราจะฟื้นตัวหายโรค และเราได้ประสบปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ อีก.
ช่วยให้เอาชนะอุปสรรค
ในช่วง 55 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ทางการเมืองบนคาบสมุทรเกาหลีไร้เสถียรภาพอย่างแท้จริง. เขตปลอดทหารได้แบ่งคาบสมุทรออกเป็นสองส่วน. เส้นแบ่งนี้อยู่ห่างออกไป 55 กิโลเมตรทางตอนเหนือกรุงโซล เมืองหลวงของสาธารณรัฐเกาหลี. ปี 1971 เฟรเดอริก แฟรนซ์จากสำนักงานใหญ่บรุกลินได้มาเยี่ยมพวกเรา. ผมพาเขาไปยังเขตปลอดทหาร การป้องกันที่ชายแดนนั้นแน่นหนาแข็งแรงที่สุดในโลก. ตลอดหลายปี เจ้าหน้าที่จากองค์การสหประชาชาติได้ประชุมกันที่นั่นบ่อย ๆ กับตัวแทนของสองรัฐบาลนี้.
แน่ละ พวกเราได้รักษาความเป็นกลางด้านการเมืองของโลก รวมถึงสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีด้วย. (โย. 17:) เพราะเหตุที่พวกเขาปฏิเสธการทำสงครามต่อสู้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน พยานฯชาวเกาหลีมากกว่า 13,000 คนต้องติดคุกรวมกันถึง 26,000 ปี. ( 142 โค. 10:3, 4) พี่น้องหนุ่มทุกคนในประเทศนี้ต่างก็ทราบดีว่าจะเผชิญประเด็นนี้ แต่ไม่รู้สึกหวาดหวั่น. เป็นเรื่องน่าเศร้าที่รัฐบาลจะตราหน้าคริสเตียนผู้เผยแพร่ว่าเป็น “อาชญากร” ซึ่งการกระทำ “ความผิด” สถานเดียวคือพวกเขาไม่ยอมอะลุ่มอล่วยความเป็นกลางของคริสเตียน.
ย้อนไปเมื่อปี 1944 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมเองก็ได้ปฏิเสธการเป็นทหารเหมือนกัน ดังนั้น ผมถูกจำคุกสองปีครึ่งในทัณฑสถานที่ลูอิสเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐ. ถึงแม้พี่น้องเกาหลีได้รับความยากลำบากในคุกมากกว่า ถึงกระนั้น ผมชินมาแล้วกับสภาพการณ์อย่างที่พยานฯหนุ่มเหล่านี้ประสบ. เป็นการหนุนใจหลายคนที่รู้ว่าพวกเราที่ทำงานมิชชันนารีในเกาหลีก็เคยผ่านประสบการณ์ทำนองนี้เช่นเดียวกัน.—ยซา. 2:4.
เราเผชิญความยากลำบาก
ฐานะความเป็นกลางของเราเองเกี่ยวข้องกับประเด็นหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในปี 1977. ทางเจ้าหน้าที่คิดเอาเองว่าพวกเราได้ชักชวนชายหนุ่มชาวเกาหลีให้ปฏิเสธการเป็นทหารและไม่ให้จับอาวุธ. ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ยอมให้มิชชันนารีที่ออกนอกประเทศไปแล้ว ไม่ว่าจะโดยเหตุผลใดก็ตามกลับเข้ามาอีก. คำสั่งห้ามนี้ยืดเยื้อระหว่างปี 1977 ถึง 1987. ระหว่างนั้นถ้าเราออกนอกประเทศ เราคงจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้ามา. เพราะฉะนั้น ในช่วงหลายปีดังกล่าว เราไม่ได้กลับไปเยี่ยมบ้านเลย.
เราได้เข้าไปพบเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลหลายครั้งและชี้แจงถึงสถานภาพความเป็นกลางของเราฐานะผู้ติดตามพระคริสต์. ในที่สุด พวกเขาตระหนักว่าถึงอย่างไรเราก็ไม่หวั่นกลัว และการสั่งห้ามจึงเป็นอันสิ้นสุด หลังจากยืดเยื้อนานถึงสิบปี. ในช่วงหลายปีเหล่านั้น มีมิชชันนารีไม่กี่คนได้ออกนอกประเทศเพราะเหตุผลด้านสุขภาพ แต่พวกเราที่เหลือยังอยู่ที่นั่น และรู้สึกดีใจที่เราได้ทำเช่นนั้น.
กลางทศวรรษ 1980 ผู้ขัดขวางงานเผยแพร่ได้กล่าวหาคณะกรรมการของนิติบุคคลอย่างผิด ๆ ว่าสอนคนหนุ่มไม่ให้เป็นทหาร. ตอนนั้น รัฐบาลได้เรียกตัวกรรมการแต่ละคนเข้าไปซักถาม. วันที่ 22 มกราคม 1987 สำนักอัยการของรัฐพบว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล. เรื่องนี้ได้ช่วยขจัดความเข้าใจผิดใด ๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต.
พระเจ้าทรงอวยพรงานของเรา
ในเกาหลี งานประกาศของเราถูกขัดขวางอย่างรุนแรงตลอดเวลาหลายปีเนื่องจากความเป็นกลางของเรา. ด้วยเหตุนี้ จึงกลายเป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้นเมื่อจัดหาสถานที่อันเหมาะสำหรับการประชุมหมวด, การประชุมภาค. เพราะฉะนั้น เหล่าพยานฯได้ลงมือทำบางสิ่งเป็นการแก้ปัญหาด้วยการก่อสร้างสถานประชุมใหญ่ในเมืองปูซาน ถือเป็นแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออก. ผมได้รับสิทธิพิเศษเป็นผู้บรรยายอุทิศหอประชุม ณ วันที่ 5 เมษายน 1976 ท่ามกลางผู้ร่วมฟัง 1,300 คน.
ตั้งแต่ปี 1950 ทหารนับพันนับหมื่นนายจากประเทศสหรัฐได้เข้าประจำการในเกาหลี. หลังจากกลับไปสหรัฐแล้ว หลายคนกลายมาเป็นพยานฯที่เอาการเอางาน. เรา
ได้รับจดหมายจากพวกเขาบ่อย ๆ และถือว่าเป็นพระพรที่เราได้ช่วยคนเหล่านี้ให้รู้จักพระยะโฮวา.น่าเศร้า ผมสูญเสียลิซคู่ชีวิตที่รักของผมเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2006. ผมคิดถึงเธอเหลือเกิน. ช่วงเวลา 51 ปีในประเทศนี้ เธอรับหน้าที่มอบหมายทุกอย่างด้วยความยินดีและไม่เคยบ่น. เธอไม่เคยแนะหรือแม้แต่เอ่ยเป็นนัยถึงการกลับสหรัฐ ซึ่งครั้งหนึ่งเธอบอกว่าไม่อยากจากบ้านเกิด!
ผมยังคงรับใช้ฐานะสมาชิกครอบครัวเบเธลในประเทศเกาหลี. ครอบครัวซึ่งเติบโตจากจำนวนเพียงไม่กี่คนในตอนเริ่มแรกจนถึงเวลานี้มีประมาณ 250 คน. นับว่าเป็นสิทธิพิเศษของผมที่ได้รับใช้ร่วมกับกรรมการสาขาเจ็ดคนซึ่งดูแลกิจการที่นี่.
แม้ว่าเกาหลียากจนมากตอนที่พวกเรามาถึง แต่บัดนี้เป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดของโลก. มีพยานพระยะโฮวามากกว่า 95,000 คนในเกาหลี จากจำนวนนี้ เกือบร้อยละ 40 รับใช้ฐานะไพโอเนียร์ประจำ หรือไม่ก็เป็นไพโอเนียร์สมทบ. ทั้งหมดนี้เสริมเหตุผลที่ว่าเพราะอะไรผมจึงพอใจยินดีที่สามารถรับใช้พระเจ้า ณ ประเทศนี้และมองเห็นฝูงแกะของพระเจ้าเจริญก้าวหน้า.
[ภาพหน้า 24]
เมื่อมาถึงประเทศเกาหลีพร้อมเพื่อนมิชชันนารี
[ภาพหน้า 24, 25]
รับใช้ในเมืองปูซาน
[ภาพหน้า 25]
กับบราเดอร์แฟรนซ์ ที่เขตปลอดทหาร ปี 1971
[ภาพหน้า 26]
กับลิซไม่นานก่อนเธอเสียชีวิต
[ภาพหน้า 26]
สำนักงานสาขาประเทศเกาหลีที่ซึ่งผมยังคงรับใช้ฐานะสมาชิกครอบครัวเบเธล