ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อักษรรูปลิ่มโบราณและคัมภีร์ไบเบิล

อักษรรูปลิ่มโบราณและคัมภีร์ไบเบิล

อักษร​รูป​ลิ่ม​โบราณ​และ​คัมภีร์​ไบเบิล

หลัง​จาก​ภาษา​ของ​มนุษยชาติ​สับสน​ที่​บาเบล ก็​ได้​มี​การ​พัฒนา​ระบบ​การ​เขียน​ขึ้น​มา​หลาย​ระบบ. ผู้​คน​ที่​อยู่​ใน​เมโสโปเตเมีย เช่น ชาว​ซูเมอร์​และ​ชาว​บาบิโลน ใช้​อักษร​รูป​ลิ่ม. ตาม​ที่​ชื่อ​ก็​บอก​อยู่​แล้ว ระบบ​การ​เขียน​แบบ​นี้​ใช้​อักษร​ที่​เป็น​เครื่องหมาย​รูป​สาม​เหลี่ยม ซึ่ง​เขียน​โดย​ใช้​เครื่อง​มือ​เขียน​ที่​ตรง​ปลาย​เป็น​รูป​ลิ่ม​กด​ลง​บน​ดิน​เหนียว​เปียก.

นัก​โบราณคดี​ได้​ขุด​พบ​บท​จารึก​อักษร​รูป​ลิ่ม​ซึ่ง​มี​เนื้อ​ความ​บอก​เกี่ยว​กับ​ผู้​คน​และ​เหตุ​การณ์​ที่​พระ​คัมภีร์​กล่าว​ถึง. เรา​รู้​อะไร​บ้าง​เกี่ยว​กับ​ระบบ​การ​เขียน​โบราณ​แบบ​นี้? และ​บท​จารึก​เหล่า​นี้​ให้​ข้อ​พิสูจน์​ยืน​ยัน​ความ​น่า​เชื่อถือ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​ไร?

บันทึก​ที่​คง​อยู่​ยาว​นาน

ผู้​คง​แก่​เรียน​เชื่อ​ว่า​ใน​ตอน​แรก​ระบบ​การ​เขียน​ที่​ใช้​ใน​เมโสโปเตเมีย​เป็น​อักษร​ภาพ ซึ่ง​ใช้​สัญลักษณ์​หรือ​ภาพ​แทน​คำ​หรือ​ความ​คิด. ตัว​อย่าง​เช่น เครื่องหมาย​ที่​ใช้​แทน​วัว​ใน​ตอน​แรก​เริ่ม​มี​ลักษณะ​ที่​ดู​คล้าย​หัว​ของ​วัว. เมื่อ​มี​ความ​จำเป็น​มาก​ขึ้น​ใน​การ​เก็บ​บันทึก จึง​ได้​พัฒนาการ​เขียน​โดย​ใช้​อักษร​รูป​ลิ่ม. หนังสือ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​ศึกษา​เชิง​โบราณคดี​ของ​เอ็นไอวี​อธิบาย​ว่า “ถึง​ตอน​นี้​เครื่องหมาย​ต่าง ๆ ไม่​เพียง​สามารถ​ใช้​แทน​คำ​เท่า​นั้น แต่​ใช้​แทน​พยางค์​ได้​ด้วย โดย​ที่​สามารถ​รวม​หลาย​พยางค์​เข้า​ด้วย​กัน​เพื่อ​แทน​พยางค์​ต่าง ๆ ของ​คำ​คำ​หนึ่ง.” ใน​ที่​สุด เครื่องหมาย​ต่าง ๆ ซึ่ง​มี​ประมาณ 200 เครื่องหมาย​ก็​ทำ​ให้​อักษร​รูป​ลิ่ม​สามารถ “แทน​คำ​พูด​ต่าง ๆ ได้​จริง ๆ โดย​แสดง​แง่​มุม​ที่​ซับซ้อน​ของ​คำ​ศัพท์​และ​ไวยากรณ์​ได้​หมด.”

เมื่อ​ถึง​สมัย​ของ​อับราฮาม คือ​ประมาณ​ปี 2,000 ก่อน​สากล​ศักราช อักษร​รูป​ลิ่ม​ก็​พัฒนา​มาก​แล้ว. ใน​ช่วง 20 ศตวรรษ​ต่อ​มา มี​ประมาณ 15 ภาษา​ที่​ใช้​ตัว​อักษร​ชนิด​นี้. บท​จารึก​อักษร​รูป​ลิ่ม​ที่​พบ​มาก​กว่า 99 เปอร์เซ็นต์​เขียน​บน​แผ่นดิน​เหนียว. ช่วง 150 ปี​ที่​ผ่าน​มา มี​การ​ค้น​พบ​แผ่นดิน​เหนียว​ดัง​กล่าว​มาก​มาย​ใน​เมือง​อูร์, อูรัก, บาบิโลน, นิมรุด, นิพพูร์, อาชูร์, นีเนเวห์, มารี, เอบลา, อูการิต, และ​อะมาร์นา. วารสาร​การ​เดิน​ทาง​อัน​ยาว​นาน​ของ​โบราณคดี (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ผู้​เชี่ยวชาญ​ประมาณ​ว่า​มี​การ​ขุด​พบ​แผ่น​จารึก​อักษร​รูป​ลิ่ม​แล้ว​ราว ๆ หนึ่ง​ถึง​สอง​ล้าน​แผ่น และ​พบ​เพิ่ม​อีก​ประมาณ 25,000 แผ่น​ทุก ๆ ปี.”

ผู้​คง​แก่​เรียน​ด้าน​อักษร​รูป​ลิ่ม​ทั่ว​โลก​มี​งาน​แปล​มาก​มาย​ท่วมท้น. ตาม​ที่​เคย​มี​การ​ประมาณ​ไว้ “ผู้​คง​แก่​เรียน​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​ได้​อ่าน​บท​จารึก​อักษร​รูป​ลิ่ม​ไป​แล้ว (แค่​อย่าง​น้อย​แผ่น​ละ​ครั้ง) เพียง 1 ใน 10 ของ​บท​จารึก​ที่​มี​อยู่.”

การ​ค้น​พบ​บท​จารึก​อักษร​รูป​ลิ่ม​ที่​มี​สอง​ภาษา​และ​สาม​ภาษา​ใน​ข้อ​เขียน​เดียว​กัน​เป็น​กุญแจ​ที่​ช่วย​ไข​ความ​หมาย​ของ​อักษร​รูป​ลิ่ม. ผู้​คง​แก่​เรียน​ดู​ออก​ว่า​เอกสาร​เหล่า​นี้​มี​เนื้อ​ความ​เหมือน​กัน​ใน​ภาษา​ต่าง ๆ ซึ่ง​ทั้ง​หมด​เขียน​โดย​ใช้​ตัว​อักษร​รูป​ลิ่ม. สิ่ง​ที่​ช่วย​กระบวนการ​ถอด​ความ​หมาย​ก็​คือ​การ​สังเกต​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า​มัก​มี​การ​กล่าว​ซ้ำ​ชื่อ, ตำแหน่ง, วงศ์วาน​ของ​ผู้​ปกครอง, และ​แม้​แต่​ถ้อย​คำ​เยินยอ​ตัว​เอง.

พอ​ถึง​ทศวรรษ 1850 ผู้​คง​แก่​เรียน​ก็​สามารถ​อ่าน​ภาษา​ที่​ใช้​ร่วม​กัน​ของ​ชาว​ตะวัน​ออก​กลาง​โบราณ คือ​ภาษา​อัก​คาด​หรือ​ภาษา​อัสซีเรีย-บาบิโลน ซึ่ง​เขียน​ด้วย​อักษร​รูป​ลิ่ม. สารานุกรม​บริแทนนิกา​อธิบาย​ว่า “เมื่อ​ถอด​ความ​หมาย​ภาษา​อัก​คาด​ได้​แล้ว ก็​สามารถ​เข้าใจ​ส่วน​สำคัญ​ที่​สุด​ของ​ระบบ​ได้ และ​สามารถ​วาง​แบบ​แผน​ไว้​สำหรับ​การ​แปล​ภาษา​อื่น​ที่​ใช้​อักษร​รูป​ลิ่ม.” ข้อ​เขียน​เหล่า​นี้​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​ไร​กับ​พระ​คัมภีร์?

พยาน​หลักฐาน​ที่​สอดคล้อง​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล

คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า​เมือง​เยรูซาเลม​อยู่​ใน​การ​ปกครอง​โดย​กษัตริย์​หลาย​องค์​ของ​ชาว​คะนาอัน​จน​กระทั่ง​ดาวิด​พิชิต​เมือง​นี้ ประมาณ​ปี 1070 ก่อน​สากล​ศักราช. (ยโฮ. 10:1; 2 ซามู. 5:4-9) แต่​ผู้​คง​แก่​เรียน​บาง​คน​สงสัย​เรื่อง​นี้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ปี 1887 หญิง​ชาว​นา​คน​หนึ่ง​พบ​แผ่นดิน​เหนียว​แผ่น​หนึ่ง​ที่​เมือง​อะมาร์นา ประเทศ​อียิปต์. ใน​ที่​สุด​ผู้​คง​แก่​เรียน​ก็​รู้​ว่า​ข้อ​ความ​ประมาณ 380 ข้อ​ความ​ที่​พบ​ที่​นั่น​เป็น​สาร​โต้​ตอบ​ระหว่าง​ผู้​ปกครอง​ของ​อียิปต์ (อาเมน​โฮ​เทป​ที่ 3 และ​อะเคนาทน) กับ​อาณาจักร​ทั้ง​หลาย​ของ​คะนาอัน. มี​จดหมาย​หก​ฉบับ​ที่​เขียน​มา​จาก​อับดี-เฮบา ผู้​ปกครอง​เมือง​เยรูซาเลม.

วารสาร​บท​วิจารณ์​โบราณคดี​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “แผ่นดิน​เหนียว​ที่​พบ​ที่​อะมาร์นา​อ้าง​ถึง​อย่าง​ชัดเจน​ว่า​เยรูซาเลม​เป็น​เมือง ไม่​ใช่​ที่​ดิน​ส่วน​ตัว และ​อ้าง​ถึง​ตำแหน่ง​ของ​อับดี-เฮบา​ว่า​เป็น . . . ผู้​สำเร็จ​ราชการ​ซึ่ง​มี​เรือน​ที่​พัก​และ​ทหาร​ประจำการ​ชาว​อียิปต์ 50 นาย​ใน​เยรูซาเลม. ข้อ​เท็จ​จริง​ดัง​กล่าว​ชี้​ว่า​เยรูซาเลม​เป็น​อาณาจักร​เล็ก ๆ ที่​ตั้ง​อยู่​บน​เนิน​เขา.” วารสาร​เดียว​กัน​นี้​กล่าว​ใน​ภาย​หลัง​อีก​ว่า “เรา​อาจ​มั่น​ใจ​ได้ โดย​อาศัย​จดหมาย​ที่​พบ​ที่​อะมาร์นา ว่า​มี​เมือง​หนึ่ง​ที่​ค่อนข้าง​โดด​เด่น​ใน​ยุค​นั้น​จริง ๆ.”

ชื่อ​ต่าง ๆ ใน​บันทึก​ของ​อัสซีเรีย​และ​บาบิโลน

ชาว​อัสซีเรีย และ​ใน​เวลา​ต่อ​มา​ชาว​บาบิโลน เขียน​ประวัติศาสตร์​ของ​ตน​บน​แผ่นดิน​เหนียว เช่น​เดียว​กับ​ที่​เขียน​บน​กระบอก​ดิน​เหนียว, แท่ง​ปริซึม, และ​อนุสาวรีย์. ดัง​นั้น เมื่อ​ผู้​คง​แก่​เรียน​ถอด​ความ​อักษร​รูป​ลิ่ม​ภาษา​อัก​คาด พวก​เขา​จึง​พบ​ว่า​บันทึก​เหล่า​นั้น​กล่าว​ถึง​บุคคล​ต่าง ๆ ที่​มี​ชื่อ​ปรากฏ​อยู่​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ด้วย.

หนังสือ​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​พิพิธภัณฑสถาน​บริเตน (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ใน​คำ​ปราศรัย​เมื่อ​ปี 1870 ต่อ​สมาคม​โบราณคดี​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​เพิ่ง​ก่อ​ตั้ง ดร. แซมมูเอล เบิร์ช สามารถ​ระบุ [ใน​ข้อ​ความ​ที่​เขียน​ด้วย​อักษร​รูป​ลิ่ม] ว่า​เป็น​ชื่อ​ของ​กษัตริย์​ชาว​ฮีบรู​ต่อ​ไป​นี้: อัมรี, อาฮาบ, เยฮู, อะซาระยา . . . , มะนาเฮ็ม, เพคา, โฮเซอา, ฮิศคียาห์​และ​มะนาเซห์, กษัตริย์​อัสซีเรีย​ต่อ​ไป​นี้: ทิกลัท-พิเลเซอร์ . . . [ที่ 3], ซาร์กอน, ซันเฮริบ, เอซัรฮัดโดน​และ​อะเชอร์บานิปาล, . . . และ​กษัตริย์​ซีเรีย​ดัง​ต่อ​ไป​นี้: เบนฮะดัด, ฮะซาเอล​และ​ระซีน.”

หนังสือ​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​การ​วัด​อายุ​โดย​วิธี​คาร์บอน​กัมมันตรังสี (ภาษา​อังกฤษ) เปรียบ​เทียบ​ประวัติศาสตร์​ของ​อาณาจักร​อิสราเอล​และ​ยูดาห์​กับ​บท​จารึก​อักษร​รูป​ลิ่ม​โบราณ. ผล​เป็น​อย่าง​ไร? “รวม​ทั้ง​หมด​แล้ว มี​ชื่อ​กษัตริย์​ยูดาห์​และ​อิสราเอล 15 หรือ 16 องค์​ปรากฏ​อยู่​ใน​บันทึก​ต่าง ๆ ของ​ประเทศ​อื่น ๆ ใน​สมัย​นั้น ซึ่ง​ก็​สอดคล้อง​กัน​อย่าง​ดี​กับ​ที่​ปรากฏ​อยู่​ใน​หนังสือ​พงศาวดาร​กษัตริย์​ทั้ง​สอง​เล่ม​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​ใน​เรื่อง​ชื่อ​และ​สมัย​ที่​คน​เหล่า​นั้น​มี​ชีวิต​อยู่. ไม่​มี​ชื่อ​กษัตริย์​แม้​แต่​ชื่อ​เดียว​ที่​ดู​เหมือน​อยู่​ผิด​ที่​ผิด​ทาง​หรือ​เป็น​ชื่อ​ที่​เรา​ไม่​รู้​จัก​อยู่​แล้ว.”

บท​จารึก​อักษร​รูป​ลิ่ม​ที่​มี​ชื่อเสียง​ซึ่ง​ค้น​พบ​ใน​ปี 1879 คือ​กระบอก​ดิน​เหนียว​ของ​ไซรัส บันทึก​ไว้​ว่า​หลัง​จาก​ขึ้น​ครอง​ราชย์​ใน​ปี 539 ก่อน​สากล​ศักราช​ไซรัส​ก็​ปล่อย​เชลย​คืน​สู่​มาตุภูมิ​ตาม​แนว​นโยบาย​ของ​เขา. ใน​บรรดา​ชาติ​ต่าง ๆ ที่​รับ​ประโยชน์​จาก​นโยบาย​นี้​ก็​มี​ชาว​ยิว​รวม​อยู่​ด้วย. (เอษรา 1:1-4) ผู้​คง​แก่​เรียน​หลาย​คน​ใน​ศตวรรษ​ที่ 19 เคย​ตั้ง​ข้อ​สงสัย​ว่า​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง​พระ​ราชกฤษฎีกา​ดัง​กล่าว​นั้น​เป็น​เรื่อง​จริง​หรือ​ไม่. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เอกสาร​อักษร​รูป​ลิ่ม​จาก​สมัย​ที่​เปอร์เซีย​เป็น​มหาอำนาจ รวม​ทั้ง​กระบอก​ดิน​เหนียว​ของ​ไซรัส​ด้วย ให้​พยาน​หลักฐาน​ที่​ทำ​ให้​เชื่อ​มั่น​ว่า​ประวัติ​บันทึก​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ถูก​ต้อง​แม่นยำ.

ใน​ปี 1883 มี​การ​ค้น​พบ​คลัง​เอกสาร​แห่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​บท​จารึก​อักษร​รูป​ลิ่ม​มาก​กว่า 700 ชิ้น​ที่​เมือง​นิพพูร์ ใกล้ ๆ บาบิโลน. ใน​บรรดา​ชื่อ 2,500 ชื่อ​ที่​มี​การ​กล่าว​ถึง มี​ประมาณ 70 ชื่อ​ที่​ระบุ​ได้​ว่า​เป็น​ชาว​ยิว. เอดวิน ยา​มา​อุ​ชิ นัก​ประวัติศาสตร์​กล่าว​ว่า คน​เหล่า​นี้ “เป็น​ผู้​ร่วม​ลง​นาม​ใน​สัญญา​ต่าง ๆ, ตัว​แทน, พยาน, คน​เก็บ​ภาษี, และ​ข้าราชสำนัก.” หลักฐาน​ที่​ว่า​ชาว​ยิว​มี​การ​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​ใกล้​ชิด​กับ​บาบิโลน​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​ใน​ช่วง​เวลา​ดัง​กล่าว​นับ​ว่า​สำคัญ​ที​เดียว. ข้อ​เท็จ​จริง​นี้​ให้​หลักฐาน​ยืน​ยัน​คำ​พยากรณ์​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ว่า แม้​ว่า “คน​ที่​เหลือ​อยู่” ของ​ชาว​อิสราเอล​หลุด​พ้น​จาก​การ​เป็น​เชลย​ใน​อัสซีเรีย​และ​บาบิโลน​และ​กลับ​มา​ยัง​ยูเดีย แต่​หลาย​คน​ไม่​ได้​กลับ​ไป.—ยซา. 10:21, 22, ฉบับ R73.

ใน​ช่วง​สหัสวรรษ​แรก​ก่อน​สากล​ศักราช มี​การ​ใช้​อักษร​รูป​ลิ่ม​ควบ​คู่​กับ​การ​เขียน​โดย​ใช้​พยัญชนะ. แต่​ใน​ที่​สุด​ชาว​อัสซีเรีย​และ​ชาว​บาบิโลน​ก็​เลิก​ใช้​อักษร​รูป​ลิ่ม​และ​เปลี่ยน​มา​เขียน​โดย​ใช้​พยัญชนะ.

ยัง​มี​แผ่นดิน​เหนียว​อีก​หลาย​แสน​แผ่น​ซึ่ง​เก็บ​ไว้​ใน​พิพิธภัณฑสถาน​ต่าง ๆ ที่​ต้อง​ศึกษา​กัน​ต่อ​ไป. แผ่นดิน​เหนียว​ที่​ผู้​เชี่ยวชาญ​ได้​ถอด​ความ​กัน​ไป​แล้ว​ให้​พยาน​หลักฐาน​ที่​หนักแน่น​ใน​เรื่อง​ความ​น่า​เชื่อถือ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล. ใคร​จะ​รู้​ล่ะ​ว่า​ยัง​จะ​มี​พยาน​หลักฐาน​เพิ่ม​เติม​อะไร​อีก​ที่​อาจ​มา​จาก​บท​จารึก​ที่​ผู้​เชี่ยวชาญ​ยัง​ไม่​ได้​ศึกษา?

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 21]

Photograph taken by courtesy of the British Museum