เข้าใจความสำคัญของบทบาทอันโดดเด่นของพระเยซูในพระประสงค์ของพระเจ้า
เข้าใจความสำคัญของบทบาทอันโดดเด่นของพระเยซูในพระประสงค์ของพระเจ้า
“เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต. ไม่มีใครจะมาถึงพระบิดาได้นอกจากมาทางเรา.”—โย. 14:6.
1, 2. เหตุใดเราควรสนใจที่จะพิจารณาบทบาทอันโดดเด่นกว่าใครของพระเยซูในพระประสงค์ของพระเจ้า?
ตลอดทุกยุคทุกสมัย หลายคนพยายามอย่างมากเพื่อจะแตกต่างจากคนรอบข้าง แต่มีน้อยคนที่ทำได้อย่างนั้น. ที่มีน้อยยิ่งกว่านั้นอีกก็คือคนที่สามารถอ้างได้อย่างแท้จริงว่าเขาโดดเด่นกว่าใครในแนวทางที่สำคัญ. กระนั้น พระเยซูคริสต์พระบุตรของพระเจ้าทรงโดดเด่นกว่าใครในหลายด้าน.
2 เหตุใดเราควรสนใจบทบาทอันโดดเด่นกว่าใครของพระเยซู? เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสายสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวา พระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์! พระเยซูตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต. ไม่มีใครจะมาถึงพระบิดาได้นอกจากมาทางเรา.” (โย. 14:6; 17:3) ให้เรามาพิจารณากันถึงบางแง่มุมที่ทำให้พระเยซูโดดเด่นกว่าใคร. การพิจารณานี้จะทำให้เราเข้าใจความสำคัญของบทบาทของพระองค์ในพระประสงค์ของพระเจ้า.
“พระบุตรองค์เดียว”
3, 4. (ก) เหตุใดเราจึงกล่าวได้ว่าพระเยซูทรงโดดเด่นไม่เหมือนใครในบทบาทของพระองค์ฐานะพระบุตรองค์เดียว? (ข) บทบาทของพระเยซูในการสร้างนับว่าโดดเด่นอย่างไร?
3 พระเยซูไม่ได้เป็นแค่บุตรองค์หนึ่งของพระเจ้า. พระองค์ทรงเป็น “พระบุตรองค์เดียว.” (โย. 3:16, 18) คำภาษากรีกที่แปลไว้ว่า “องค์เดียว” ยังอาจแปลได้ด้วยว่า “เอก,” “หนึ่งเดียวเท่านั้น,” หรือ “ไม่เหมือนใคร.” พระยะโฮวาทรงมีบุตรที่เป็นกายวิญญาณนับล้านนับโกฏิ. ในเมื่อเป็นอย่างนั้น พระเยซูทรง “ไม่เหมือนใคร” ในความหมายใด?
4 พระเยซูทรงไม่เหมือนใครในแง่ที่ว่าพระองค์เป็นผู้เดียวที่พระบิดาทรงสร้างด้วยพระองค์เอง. พระองค์ทรงเป็นพระบุตรหัวปี. ที่จริง พระองค์ทรงเป็น “ผู้ที่เกิดก่อนสรรพสิ่งทรงสร้าง.” (โกโล. 1:15) พระองค์ทรงเป็น “ผู้แรกที่พระเจ้าทรงสร้าง.” (วิ. 3:14) บทบาทของพระบุตรองค์เดียวในการสร้างก็นับว่าโดดเด่นด้วย. พระองค์ไม่ใช่พระผู้สร้างหรือผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่ง. แต่พระยะโฮวาทรงใช้พระองค์เป็นตัวแทนหรือเครื่องมือเพื่อสร้างสิ่งอื่น ๆ ทั้งหมด. (อ่านโยฮัน 1:3.) อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “แต่สำหรับเรา พระเจ้ามีองค์เดียวคือพระบิดา สรรพสิ่งมาจากพระองค์และเราอยู่เพื่อพระองค์ องค์พระผู้เป็นเจ้าก็มีองค์เดียวคือพระเยซูคริสต์ ผู้ซึ่งพระเจ้าทรงใช้เพื่อทำให้ทุกสิ่งเป็นอยู่ และทำให้เราเป็นอยู่.”—1 โค. 8:6.
5. พระคัมภีร์เน้นความโดดเด่นไม่เหมือนใครของพระเยซูอย่างไร?
5 อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นไม่เหมือนใครของพระเยซูยังมีอีกมาก. พระคัมภีร์กล่าวถึงพระองค์โดยใช้ตำแหน่งหรือชื่อหลายชื่อ ซึ่งล้วนแต่เน้นให้เห็นบทบาทอันโดดเด่นไม่เหมือนใครของพระองค์ในพระประสงค์ของพระเจ้า. ต่อไปนี้ ให้เรามาพิจารณากันอีกห้าตำแหน่งที่ใช้กับพระเยซูซึ่งปรากฏในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. *
“พระวาทะ”
6. เหตุใดจึงนับว่าเหมาะที่เรียกพระเยซูว่า “พระวาทะ”?
6 อ่านโยฮัน 1:14. เหตุใดจึงเรียกพระเยซูว่า “พระวาทะ” หรือโลกอส? ตำแหน่งนี้ระบุหน้าที่ที่พระองค์ทรงทำนับตั้งแต่สิ่งทรงสร้างที่มีเชาวน์ปัญญาอื่น ๆ ถูกสร้างขึ้น. พระยะโฮวาทรงใช้พระบุตรให้ส่งข่าวสารและพระบัญชาแก่บุตรกายวิญญาณองค์อื่น ๆ เช่นเดียวกับที่พระเจ้าทรงใช้พระบุตรให้ส่งข่าวสารแก่มนุษย์บนแผ่นดินโลก. ข้อเท็จจริง ที่ว่าพระเยซูทรงเป็นพระวาทะ หรือโฆษกของพระเจ้า ได้รับการยืนยันจากพระดำรัสของพระคริสต์ที่ตรัสกับผู้ฟังชาวยิวว่า “สิ่งที่เราสอนไม่ใช่คำสอนของเราเอง แต่เป็นของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา. ถ้าผู้ใดปรารถนาจะทำตามพระประสงค์ของพระองค์ เขาจะรู้ว่าคำสอนนี้มาจากพระเจ้าหรือว่าเราพูดตามความคิดของเราเอง.” (โย. 7:16, 17) พระเยซูทรงดำรงตำแหน่ง “พระวาทะของพระเจ้า” ต่อไป แม้แต่หลังจากที่พระองค์ทรงกลับไปรับสง่าราศีในสวรรค์แล้ว.—วิ. 19:11, 13, 16.
7. เราจะเลียนแบบความถ่อมที่พระเยซูทรงแสดงให้เห็นในบทบาทที่ทรงเป็น “พระวาทะ” ได้อย่างไร?
7 ขอให้คิดดูว่าตำแหน่งนี้หมายถึงอะไร. แม้ว่าพระเยซูทรงฉลาดสุขุมที่สุดในบรรดาสิ่งทรงสร้างทั้งสิ้นของพระยะโฮวา พระองค์ไม่พึ่งสติปัญญาของพระองค์เอง. พระองค์ตรัสตามที่พระบิดาทรงสอนพระองค์. พระองค์ทรงนำความสนใจไปยังพระยะโฮวาเสมอ แทนที่จะเป็นพระองค์เอง. (โย. 12:50) ช่างเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ ที่เราควรเลียนแบบ! เราเองก็ได้รับมอบหมายงานอันเป็นสิทธิพิเศษล้ำค่าให้ “ประกาศข่าวดี.” (โรม 10:15) การเข้าใจและเห็นค่าตัวอย่างของพระเยซูในเรื่องความถ่อมน่าจะกระตุ้นเราให้หลีกเลี่ยงการพูดโดยอาศัยความคิดของตัวเอง. เมื่อบอกข่าวสารที่ช่วยชีวิตในพระคัมภีร์ เราไม่ต้องการ “เลยขอบเขตที่เขียนบอกไว้.”—1 โค. 4:6.
“อาเมน”
8, 9. (ก) คำ “อาเมน” หมายความอย่างไร และเหตุใดจึงเรียกพระเยซูว่า “อาเมน”? (ข) พระเยซูทรงทำตามบทบาทของพระองค์ในฐานะเป็น “อาเมน” อย่างไร?
8 อ่านวิวรณ์ 3:14. เหตุใดจึงเรียกพระเยซูว่า “อาเมน”? คำที่แปลว่า “อาเมน” นี้เป็นคำที่ทับศัพท์จากคำภาษาฮีบรูซึ่งหมายความว่า “ขอให้เป็นอย่างนั้น” หรือ “แน่นอน.” รากศัพท์ของคำนี้ในภาษาฮีบรูหมายถึง “ซื่อสัตย์” หรือ “ไว้ใจได้.” มีการใช้คำเดียวกันนี้เพื่อพรรณนาถึงความซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา. (บัญ. 7:9; ยซา. 49:7) ถ้าอย่างนั้น พระเยซูทรงโดดเด่นไม่เหมือนใครอย่างไรเมื่อมีการกล่าวถึงพระองค์ว่าเป็น “อาเมน”? ขอให้สังเกตว่า 2 โครินท์ 1:19, 20 ตอบคำถามนี้อย่างไร: “พระคริสต์เยซูพระบุตรของพระเจ้าที่ . . . [ได้รับการ] ประกาศท่ามกลางพวกท่านนั้นไม่ใช่ผู้ที่ตรัสว่าใช่ แล้วจู่ ๆ ก็ตรัสว่าไม่ แต่เมื่อพระองค์ตรัสว่าใช่ก็คือใช่. เพราะไม่ว่าคำสัญญาของพระเจ้าจะมีมากเพียงไร คำสัญญาเหล่านั้นก็เป็นจริงโดยพระองค์. ฉะนั้น เราจึงทูลพระเจ้าว่า ‘อาเมน’ ในนามพระองค์เพื่อพระเจ้าจะได้รับเกียรติ.”
9 พระเยซูทรงเป็น “อาเมน” สำหรับคำสัญญาทั้งสิ้นของพระเจ้า. วิถีชีวิตบนแผ่นดินโลกของพระองค์ที่ปราศจากตำหนิ รวมทั้งการสิ้นพระชนม์เป็นเครื่องบูชา ยืนยันว่าคำสัญญาทั้งสิ้นของพระยะโฮวาพระเจ้าเป็นความจริงและทำให้คำสัญญาเหล่านั้นสำเร็จเป็นจริงได้. โดยรักษาความซื่อสัตย์เสมอ พระเยซูทรงพิสูจน์ด้วยว่าคำกล่าวหาของซาตานเป็นคำโกหก ที่ว่าเมื่อขัดสน, ทุกข์ยาก, และถูกทดสอบ ผู้รับใช้ของพระเจ้าจะปฏิเสธพระองค์. (โยบ 1:6-12; 2:2-7) ในบรรดาสิ่งทรงสร้างทั้งหมด พระบุตรหัวปีทรงสามารถให้คำตอบที่หนักแน่นชัดเจนที่สุดต่อข้อกล่าวหานั้น. นอกจากนั้น พระเยซูทรงให้หลักฐานที่ดีที่สุดซึ่งสนับสนุนฝ่ายพระบิดาพระองค์ในประเด็นที่ใหญ่กว่าในเรื่องสิทธิอันชอบธรรมของพระยะโฮวาในการปกครองสิ่งทรงสร้างทั้งสิ้น.
10. เราจะเลียนแบบพระเยซูในบทบาทอันโดดเด่นของพระองค์ที่ทรงเป็น “อาเมน” ได้อย่างไร?
10 เราจะเลียนแบบพระเยซูในบทบาทอันโดดเด่นของพระองค์ที่ทรงเป็น “อาเมน” ได้อย่างไร? โดยรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาและสนับสนุนอำนาจปกครองสิ่งทรงสร้างทั้งสิ้นของพระองค์เสมอ. โดยทำอย่างนั้น เราก็จะตอบรับคำขอดังบันทึกไว้ที่สุภาษิต 27:11 (ล.ม.) ว่า “บุตรชายของเราเอ๋ย จงมีปัญญาและทำให้หัวใจเราปีติยินดี เพื่อเราจะตอบผู้ที่เยาะเย้ยเรา.”
“ ‘ผู้กลางของสัญญาใหม่”
11, 12. บทบาทของพระเยซูในฐานะผู้กลางโดดเด่นไม่เหมือนใครอย่างไร?
11 อ่าน 1 ติโมเธียว 2:5, 6. พระเยซูทรงเป็น “ผู้กลางผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์.” พระองค์ทรงเป็น “ผู้กลางของสัญญาใหม่.” (ฮีบรู 9:15; 12:24) อย่างไรก็ตาม มีการกล่าวถึงโมเซด้วยว่าเป็นผู้กลาง กล่าวคือผู้กลางของสัญญาแห่งพระบัญญัติ. (กลา. 3:19) ถ้าอย่างนั้น บทบาทของพระเยซูในฐานะผู้กลางโดดเด่นไม่เหมือนใครอย่างไร?
12 คำภาษาเดิมซึ่งแปลไว้ว่า “ผู้กลาง” เป็นศัพท์กฎหมาย. คำนี้กล่าวถึงพระเยซูว่าเป็นผู้กลางทางกฎหมาย (หรือในแง่หนึ่งคือ เป็นทนาย) ของสัญญาใหม่ที่ทำให้ชาติกลา. 6:16) ชาตินี้ประกอบด้วยคริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ ซึ่งประกอบกันเป็น “ปุโรหิตและเป็นกษัตริย์.” (1 เป. 2:9; เอ็ก. 19:6) สัญญาแห่งพระบัญญัติ ซึ่งโมเซเป็นผู้กลาง ไม่สามารถทำให้ชาติแบบนั้นเกิดขึ้น.
ใหม่เกิดขึ้นมา คือ “อิสราเอลของพระเจ้า.” (13. บทบาทของพระเยซูในฐานะผู้กลางเกี่ยวข้องกับอะไร?
13 บทบาทของพระเยซูในฐานะผู้กลางเกี่ยวข้องกับอะไร? พระยะโฮวาทรงใช้คุณค่าของพระโลหิตพระเยซูกับคนที่ถูกนำเข้าสู่สัญญาใหม่. ด้วยวิธีนี้ พระยะโฮวาทรงถือว่าพวกเขามีฐานะชอบธรรมตามกฎหมาย. (โรม 3:24; ฮีบรู 9:15) ถัดจากนั้น พระเจ้าจึงสามารถนำพวกเขาเข้าสู่สัญญาใหม่พร้อมกับมีความหวังที่จะเป็นกษัตริย์และปุโรหิตในสวรรค์! ในฐานะผู้กลาง พระเยซูทรงช่วยพวกเขาให้รักษาฐานะที่สะอาดเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า.—ฮีบรู 2:16.
14. เหตุใดคริสเตียนทุกคนควรสำนึกถึงคุณค่าของบทบาทของพระเยซูในฐานะผู้กลาง ไม่ว่าเขามีความหวังแบบใดก็ตาม?
14 จะว่าอย่างไรสำหรับคนที่ไม่อยู่ในสัญญาใหม่ ซึ่งมีความหวังจะอยู่ตลอดไปบนแผ่นดินโลก ไม่ใช่ในสวรรค์? แม้ว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้มีส่วนในสัญญาใหม่ พวกเขาเป็นผู้รับประโยชน์ จากสัญญาใหม่. พวกเขาได้รับการอภัยบาปและพระเจ้าทรงถือว่าพวกเขาชอบธรรมในฐานะมิตรของพระองค์. (ยโก. 2:23; 1 โย. 2:1, 2) ไม่ว่าเรามีความหวังทางสวรรค์หรือแผ่นดินโลก เราแต่ละคนมีเหตุผลที่ดีที่จะสำนึกถึงคุณค่าของบทบาทของพระเยซูในฐานะผู้กลางของสัญญาใหม่.
“มหาปุโรหิต”
15. บทบาทของพระเยซูในฐานะมหาปุโรหิตแตกต่างอย่างไรจากบทบาทของชายคนอื่น ๆ ทั้งหมดที่เคยรับใช้เป็นมหาปุโรหิต?
15 ในอดีตมีผู้ชายหลายคนที่รับใช้เป็นมหาปุโรหิต แต่กระนั้น บทบาทของพระเยซูในฐานะมหาปุโรหิตนับได้ว่าโดดเด่นอย่างแท้จริง. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? เปาโลอธิบายว่า “พระองค์ไม่ต้องถวายเครื่องบูชาทุกวันเหมือนพวกมหาปุโรหิตที่ถวายสำหรับบาปของตนก่อนแล้วจึงถวายสำหรับบาปของประชาชน (เพราะเมื่อพระองค์ถวายเครื่องบูชา พระองค์ทรงถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาครั้งเดียวสำหรับตลอดกาล) ด้วยว่าพระบัญญัติแต่งตั้งมนุษย์ผู้อ่อนแอเป็นมหาปุโรหิต แต่คำสาบานที่มีมาภายหลังพระบัญญัติแต่งตั้งพระบุตรผู้ถูกทำให้สมบูรณ์พร้อมตลอดกาล.”—ฮีบรู 7:27, 28. *
16. เหตุใดเครื่องบูชาของพระเยซูจึงนับว่าโดดเด่นอย่างแท้จริง?
16 พระเยซูทรงเป็นมนุษย์สมบูรณ์ ซึ่งเท่าเทียมทุกอย่างกับอาดามก่อนที่เขาทำบาป. (1 โค. 15:45) เนื่องจากเหตุนั้น พระเยซูทรงเป็นมนุษย์ผู้เดียวที่อยู่ในฐานะจะถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาที่สมบูรณ์ครบถ้วน—เครื่องบูชาชนิดที่ไม่จำเป็นต้องถวายซ้ำอีก. ภายใต้พระบัญญัติของโมเซ ต้องถวายเครื่องบูชาทุก ๆ วัน. แต่เครื่องบูชาทั้งหมดเหล่านั้นและการรับใช้ของเหล่าปุโรหิตเป็นเพียงเงาของสิ่งที่พระเยซูจะทำให้สำเร็จครบถ้วน. (ฮีบรู 8:5; 10:1) ดังนั้น เนื่องจากพระเยซูทรงสามารถทำให้สำเร็จครบถ้วนยิ่งกว่ามหาปุโรหิตคนอื่น ๆ และจะรับใช้ในบทบาทนี้อย่างถาวร ตำแหน่งของพระองค์ในฐานะมหาปุโรหิตจึงนับว่าโดดเด่นไม่เหมือนใคร.
17. เหตุใดเราควรยอมรับบทบาทของพระเยซูในฐานะมหาปุโรหิตของเราด้วยความขอบคุณ และเราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร?
17 เราจำเป็นต้องมีพระเยซูผู้ทำหน้าที่เป็นมหาปุโรหิตเพื่อช่วยเราให้มีฐานะอันชอบต่อพระพักตร์พระเจ้า. และเรามีมหาปุโรหิตที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ! เปาโลเขียนว่า “มหาปุโรหิตของเรามิใช่ผู้ที่ไม่อาจเห็นอกเห็นใจในความอ่อนแอของเราได้ แต่เป็นผู้ที่ได้ผ่านการทดสอบมาแล้วทุกประการเหมือนเรา แต่ปราศจากบาป.” (ฮีบรู 4:15) จริงทีเดียว การยอมรับข้อเท็จจริงนี้ด้วยความขอบคุณน่าจะกระตุ้นเราให้ ไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป แต่อยู่เพื่อพระองค์ผู้ได้สิ้นพระชนม์เพื่อพวกเรา.’—2 โค. 5:14, 15; ลูกา 9:23.
“พงศ์พันธุ์” ที่บอกไว้ล่วงหน้า
18. มีการกล่าวคำพยากรณ์อะไรหลังจากอาดามทำบาป และมีการเปิดเผยอะไรในภายหลังเกี่ยวกับคำพยากรณ์นี้?
18 ย้อนไปในเอเดน เมื่อดูเหมือนว่ามนุษย์เราสูญเสียทุกสิ่ง—ฐานะที่สะอาดต่อพระพักตร์พระเจ้า, ชีวิตนิรันดร์, ความสุข, และอุทยาน—พระยะโฮวาพระเจ้าทรงบอกล่วงหน้าว่าจะมีผู้ช่วยให้รอด. มีการกล่าวถึงผู้ช่วยให้รอดนี้ว่าเป็น “พงศ์พันธุ์.” (เย. 3:15, ฉบับ R73) พงศ์พันธุ์ที่ยังไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นใครกลายเป็นสาระสำคัญอย่างหนึ่งของคำพยากรณ์มากมายในคัมภีร์ไบเบิลเรื่อยมาในยุคต่าง ๆ. พงศ์พันธุ์ผู้นี้จะเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายจากอับราฮาม, ยิศฮาค, และยาโคบ. นอกจากนั้น พงศ์พันธุ์นี้จะมาทางเชื้อวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด.—เย. 21:12; 22:16-18; 28:14; 2 ซามู. 7:12-16.
19, 20. (ก) ใครคือพงศ์พันธุ์ตามคำสัญญา? (ข) เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าพงศ์พันธุ์ที่บอกไว้ล่วงหน้าไม่ได้มีเฉพาะพระเยซูผู้เดียวเท่านั้น?
19 ใครคือพงศ์พันธุ์ตามคำสัญญานี้? คำตอบสำหรับคำถามนี้จะพบได้ที่กาลาเทีย 3:16. (อ่าน.) อย่างไรก็ตาม ต่อมาในบทเดียวกัน อัครสาวกเปาโลกล่าวต่อไปกับคริสเตียนผู้ถูกเจิมว่า “นอกจากนั้น ถ้าท่านทั้งหลายเป็นคนของพระคริสต์ ท่านทั้งหลายก็เป็นผู้สืบเชื้อสายของอับราฮามจริง เป็นทายาทตามคำสัญญา.” (กลา. 3:29) พระคริสต์ทรงเป็นพงศ์พันธุ์ตามคำสัญญา แต่ก็มีคนอื่นด้วยที่มีส่วนเกี่ยวข้อง. เป็นเช่นนั้นอย่างไร?
20 หลายล้านคนอ้างว่าสืบเชื้อสายจากอับราฮาม และบางคนถึงกับแสดงตัวเป็นผู้พยากรณ์. บางศาสนาให้ความสำคัญอย่างมากกับข้ออ้างที่ว่าผู้พยากรณ์ของตนสืบเชื้อสายจากอับราฮาม. แต่ผู้พยากรณ์เหล่านั้นทั้งหมดเป็นพงศ์พันธุ์ตามคำสัญญาไหม? ไม่. ดังที่อัครสาวกเปาโลซึ่งได้รับการดลใจชี้ให้เห็น ไม่ใช่ลูกหลานทั้งหมดของอับราฮามจะอ้างได้ว่าเป็นพงศ์พันธุ์ตามคำสัญญา. ลูกหลานที่เกิดจากลูกคนอื่น ๆ ของอับราฮามไม่ได้ถูกใช้เพื่ออวยพรมนุษยชาติ. พงศ์พันธุ์ที่ได้รับพระพรต้องสืบเชื้อสายมาทางยิศฮาคเท่านั้น. (ฮีบรู 11:18) ท้ายที่สุดแล้ว มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เป็นพงศ์พันธุ์หลักตามคำพยากรณ์ คือพระเยซูคริสต์ ซึ่งบันทึกประวัติวงศ์ตระกูลในคัมภีร์ไบเบิลบอกว่าสืบเชื้อสาย จากอับราฮาม. * คนอื่น ๆ ทั้งหมดซึ่งภายหลังกลายมาเป็นพงศ์พันธุ์อันดับรองของอับราฮามมีฐานะเช่นนั้นเพราะพวกเขา “เป็นคนของพระคริสต์.” เห็นได้ชัด บทบาทของพระเยซูในการทำให้คำพยากรณ์นี้สำเร็จนับว่าโดดเด่นจริง ๆ.
21. คุณประทับใจอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระเยซูทรงทำตามบทบาทอันโดดเด่นของพระองค์ตามพระประสงค์ของพระยะโฮวา?
21 เราได้เรียนอะไรไปบ้างจากการทบทวนสั้น ๆ เกี่ยวกับบทบาทอันโดดเด่นของพระเยซูในพระประสงค์ของพระยะโฮวา? นับตั้งแต่ที่พระยะโฮวาทรงสร้างพระองค์ขึ้นมา พระบุตรองค์เดียวของพระเจ้าทรงโดดเด่นอย่างที่ไม่มีใครเหมือนอย่างแท้จริง. อย่างไรก็ตาม พระบุตรผู้โดดเด่นของพระเจ้าผู้นี้ซึ่งได้มาเป็นพระเยซูทรงรับใช้ตามพระทัยประสงค์ของพระบิดาด้วยความถ่อมใจเสมอ ไม่เคยแสวงหาเกียรติยศสำหรับพระองค์เอง. (โย. 5:41; 8:50) ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีจริง ๆ สำหรับเราในทุกวันนี้! เช่นเดียวกับพระเยซู ขอให้เราตั้งเป้าที่จะ “ทำทุกสิ่งอย่างที่ทำให้พระเจ้าได้รับการสรรเสริญ.”—1 โค. 10:31.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 ตำแหน่งเหล่านี้บางตำแหน่งในภาษากรีกมีคำนำหน้านามที่เจาะจงกำกับอยู่ด้วย ซึ่งตามที่ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งได้กล่าวไว้ นั่นชี้ว่า “ในแง่หนึ่ง ‘เป็นตำแหน่งที่โดดเด่นไม่มีอะไรเทียบได้.’ ”
^ วรรค 15 ตามที่ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งกล่าว คำที่แปลไว้ว่า “ครั้งเดียวสำหรับตลอดกาล” แสดงถึงแนวคิดสำคัญในคัมภีร์ไบเบิลที่ “ส่อนัยถึงความแน่นอน, ความโดดเด่น, หรือความพิเศษเฉพาะของการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์.”
^ วรรค 20 แม้ชาวยิวในศตวรรษแรกคิดว่าพวกเขาซึ่งเป็นลูกหลานหรือผู้สืบเชื้อสายจากอับราฮามเป็นชนชาติที่พระเจ้าโปรดปราน พวกเขาเฝ้าคอยบุคคลที่จะมาเป็นมาซีฮา หรือพระคริสต์.—โย. 1:25; 7:41, 42; 8:39-41.
คุณจำได้ไหม?
• คุณได้เรียนอะไรเกี่ยวกับบทบาทอันโดดเด่นของพระเยซูจากตำแหน่งหรือชื่อที่ตั้งให้พระองค์? (ดูกรอบ)
• คุณจะเลียนแบบตัวอย่างของพระบุตรของพระยะโฮวาผู้โดดเด่นไม่เหมือนใครได้อย่างไร?
[คำถาม]
[กรอบ/ภาพหน้า 15]
บางตำแหน่งที่สะท้อนถึงบทบาทอันโดดเด่นของพระเยซูในพระประสงค์ของพระเจ้า
▪ พระบุตรองค์เดียว. (โย. 1:3) พระเยซูทรงเป็นผู้เดียวที่พระบิดาทรงสร้างด้วยพระองค์เอง.
▪ พระวาทะ. (โย. 1:14) พระยะโฮวาทรงใช้พระบุตรเป็นโฆษกเพื่อส่งข่าวสารและพระบัญชาแก่สิ่งทรงสร้างอื่น ๆ.
▪ อาเมน. (วิ. 3:14) วิถีชีวิตบนแผ่นดินโลกของพระเยซูที่ปราศจากตำหนิ รวมทั้งการสิ้นพระชนม์เป็นเครื่องบูชา ยืนยันว่าคำสัญญาทั้งสิ้นของพระยะโฮวาพระเจ้าเป็นความจริงและทำให้คำสัญญาเหล่านั้นสำเร็จเป็นจริงได้.
▪ ผู้กลางของสัญญาใหม่. (1 ติโม. 2:5, 6) ในฐานะผู้กลางทางกฎหมาย พระเยซูทรงทำให้ชาติใหม่ คือ “อิสราเอลของพระเจ้า” เกิดขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วยคริสเตียนที่จะเป็น “ปุโรหิตและกษัตริย์” ในสวรรค์.—กลา. 6:16; 1 เป. 2:9.
▪ มหาปุโรหิต. (ฮีบรู 7:27, 28) พระเยซูทรงเป็นมนุษย์เพียงคนเดียวที่อยู่ในฐานะจะถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องบูชาที่ไม่จำเป็นต้องถวายซ้ำ. พระองค์ทรงสามารถชำระเราให้สะอาดจากบาปและทำให้เราหลุดพ้นจากผลกระทบของบาปที่นำไปถึงความตาย.
▪ พงศ์พันธุ์ตามคำสัญญา. (เย. 3:15) มีเพียงมนุษย์คนเดียวเท่านั้น คือพระเยซูคริสต์ ที่เป็นพงศ์พันธุ์อันดับแรกตามคำพยากรณ์. คนอื่น ๆ ทั้งหมดซึ่งในภายหลังกลายมาเป็นพงศ์พันธุ์อันดับรองของอับราฮาม “เป็นคนของพระคริสต์.”—กลา. 3:29.