ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณควรยืนกรานตามความชอบส่วนตัวไหม?

คุณควรยืนกรานตามความชอบส่วนตัวไหม?

คุณ​ควร​ยืนกราน​ตาม​ความ​ชอบ​ส่วน​ตัว​ไหม?

เด็ก​สอง​คน​กำลัง​เล่น​อยู่​ด้วย​กัน. คน​หนึ่ง​คว้า​ของ​เล่น​ชิ้น​โปรด​ไป​จาก​อีก​คน​หนึ่ง พร้อม​กับ​ตะเบ็ง​เสียง​ว่า “นี่​ของ​ฉัน!” ตั้ง​แต่​ใน​วัย​เยาว์ มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​แสดง​ความ​เห็น​แก่​ตัว​ไม่​มาก​ก็​น้อย. (เย. 8:21; โรม 3:23) ยิ่ง​กว่า​นั้น โลก​โดย​ทั่ว​ไป​ส่ง​เสริม​เจตคติ​ใน​ทาง​เห็น​แก่​ตัว หรือ​คิด​ถึง​ตัว​เอง​ก่อน. หาก​เรา​จะ​หลีก​เลี่ยง​เจตคติ​ดัง​กล่าว เรา​ต้อง​ไม่​ย่อท้อ​ที่​จะ​ต่อ​สู้​ความ​โน้ม​เอียง​ใน​ทาง​เห็น​แก่​ตัว. หาก​เรา​ไม่​ต่อ​สู้​แนว​โน้ม​อย่าง​นั้น​แล้ว เรา​อาจ​ทำ​ให้​คน​อื่น​หลง​ผิด​ได้​ง่าย ๆ และ​บั่น​ทอน​สัมพันธภาพ​ระหว่าง​เรา​กับ​พระ​ยะโฮวา.—โรม 7:21-23.

อัครสาวก​เปาโล​สนับสนุน​พวก​เรา​ให้​คำนึง​ถึง​ผล​กระทบ​อัน​เนื่อง​มา​จาก​การ​กระทำ​ของ​เรา​ต่อ​คน​อื่น ท่าน​เขียน​ดัง​นี้: “ทุก​สิ่ง​ทำ​ได้​ไม่​มี​ข้อ​ห้าม แต่​ไม่​ใช่​ทุก​สิ่ง​เป็น​ประโยชน์. ทุก​สิ่ง​ทำ​ได้​ไม่​มี​ข้อ​ห้าม แต่​ไม่​ใช่​ทุก​สิ่ง​ทำ​ให้​เจริญ.” ท่าน​กล่าว​ด้วย​ว่า “อย่า​เป็น​เหตุ​ให้ . . . หลง​ผิด.” (1 โค. 10:23, 32) ดัง​นั้น เมื่อ​พูด​ถึง​ความ​ชอบ​ส่วน​ตัว นับ​ว่า​เป็น​แนว​ทาง​แห่ง​สติ​ปัญญา​ที่​จะ​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​เต็ม​ใจ​สละ​ความ​ชอบ​ส่วน​ตัว​บาง​อย่าง​ไหม ถ้า​ความ​ชอบ​นั้น​เป็น​การ​คุกคาม​สันติ​สุข​ของ​ประชาคม? ฉัน​พร้อม​หรือ​ไม่​ที่​จะ​ยอม​ทำ​ตาม​หลักการ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​แม้​การ​ทำ​เช่น​นั้น​อาจ​จะ​ยาก?’

การ​เลือก​งาน​อาชีพ

คน​ส่วน​ใหญ่​ถือ​ว่า​การ​เลือก​งาน​อาชีพ​เป็น​เรื่อง​ส่วน​ตัว คง​จะ​ไม่​กระทบ​กระเทือน​ใคร ๆ หรือ​หาก​มี​ผล​กระทบ​ก็​เพียง​เล็ก​น้อย. แต่​ขอ​พิจารณา​ประสบการณ์​ของ​นัก​ธุรกิจ​คน​หนึ่ง​จาก​เมือง​เล็ก ๆ ใน​อเมริกา​ใต้. เขา​ขึ้น​ชื่อ​ว่า​เป็น​นัก​พนัน​และ​เสพ​สุรา​มึน​เมา. ครั้น​ได้​มา​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา เขา​เริ่ม​ใช้​สิ่ง​ที่​ได้​เรียน​รู้​และ​เปลี่ยน​แนว​ทาง​ชีวิต. (2 โค. 7:1) เมื่อ​เขา​แสดง​ความ​สนใจ​อยาก​ร่วม​ทำ​งาน​เผยแพร่​กับ​ประชาคม ผู้​ปกครอง​ได้​พูด​กับ​เขา​อย่าง​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา ชี้​แนะ​ให้​เขา​ใคร่ครวญ​ดู​ลักษณะ​งาน​อาชีพ​ที่​เขา​ทำ​อยู่. ชาย​คน​นี้​เป็น​ผู้​จัด​จำหน่าย​แอลกอฮอล์​บริสุทธิ์​จาก​อ้อย​ราย​ใหญ่​ของ​เมือง​นี้​มา​นาน​พอ​สม​ควร—แอลกอฮอล์​ประเภท​นี้​ใช้​ประโยชน์​ได้​หลาย​อย่าง แต่​ผู้​คน​ใน​เขต​นั้น​นิยม​นำ​มา​ผสม​น้ำ​อัด​ลม​โดย​หมาย​ว่า​จะ​ดื่ม​ให้​เมา.

ชาย​ผู้​นี้​ตระหนัก​ว่า​ถ้า​ตน​ออก​ไป​เผยแพร่​แต่​ยัง​คง​ขาย​แอลกอฮอล์​ประเภท​นี้​อยู่​ก็​คง​จะ​นำ​ชื่อเสียง​ไม่​ดี​มา​สู่​ประชาคม และ​อาจ​เป็น​การ​ทำลาย​สัมพันธภาพ​ระหว่าง​เขา​กับ​พระเจ้า. แม้​เขา​มี​ครอบครัว​ใหญ่​ต้อง​เลี้ยง​ดู เขา​ยอม​เลิก​อาชีพ​ขาย​แอลกอฮอล์. ปัจจุบัน เขา​จุนเจือ​ครอบครัว​ด้วย​ราย​ได้​จาก​การ​ขาย​ผลิตภัณฑ์​กระดาษ. ชาย​ผู้​นี้​พร้อม​ด้วย​ภรรยา​และ​ลูก​สาว​สอง​คน​ใน​จำนวน​ลูก​ห้า​คน​ได้​รับ​บัพติสมา​แล้ว. พวก​เขา​ประกาศ​ข่าว​ดี​อย่าง​กระตือรือร้น​และ​มั่น​ใจ.

การ​เลือก​เพื่อน

การ​คบหา​กับ​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อถือ​ว่า​เป็น​เรื่อง​ของ​ความ​ชอบ​ส่วน​ตัว​ไหม หรือ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​หลักการ​ต่าง ๆ ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ด้วย? พี่​น้อง​หญิง​คน​หนึ่ง​ต้องการ​ไป​งาน​เลี้ยง​กับ​ชาย​หนุ่ม​ซึ่ง​ไม่​ใช่​คริสเตียน​แท้. ถึง​แม้​เธอ​ได้​รับ​การ​เตือน​ให้​รู้​อันตราย​แล้ว แต่​เธอ​ถือ​ว่า​เป็น​สิทธิ​ส่วน​ตัว และ​เธอ​ได้​ไป​ร่วม​งาน​เลี้ยง​นั้น. ไม่​นาน​หลัง​จาก​ไป​ถึง ก็​มี​การ​เสิร์ฟ​เครื่อง​ดื่ม​ที่​เจือ​ยา​นอน​หลับ​อย่าง​แรง​ให้​เธอ. กว่า​เธอ​จะ​รู้​ตัว​ตื่น​ขึ้น​มา​ก็​นาน​หลาย​ชั่วโมง และ​พบ​ว่า​ตัว​เอง​ถูก​ชาย​ที่​อ้าง​ตัว​เป็น​เพื่อน​ข่มขืน.—เทียบ​กับ​เยเนซิศ 34:2.

แม้​การ​คบหา​กับ​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​อาจ​จะ​ไม่​เกิด​เรื่อง​น่า​เศร้า​อย่าง​ที่​ว่า​เสมอ​ไป แต่​พระ​คัมภีร์​เตือน​ดัง​นี้: “บุคคล​ที่​ดำเนิน​กับ​คน​มี​ปัญญา​ก็​จะ​เป็น​คน​มี​ปัญญา แต่​คน​ที่​คบ​กับ​คน​โฉด​เขลา​ย่อม​จะ​รับ​ความ​เสียหาย.” (สุภา. 13:20, ล.ม.) ไม่​มี​ข้อ​สงสัย​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้—การ​คบหา​สมาคม​ที่​ไม่​ดี​อาจ​ทำ​ให้​เรา​ได้​รับ​อันตราย! สุภาษิต 22:3 (ฉบับ R​73) บอก​ว่า “คน​หยั่ง​รู้​เห็น​อันตราย​และ​ซ่อน​ตัว​ของ​เขา​เสีย แต่​คน​เขลา​เดิน​เรื่อย​ไป​และ​รับ​อันตราย​นั้น.” คน​ที่​เรา​คบหา​ด้วย​ย่อม​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​เรา​และ​ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​เรา​กับ​พระเจ้า.—1 โค. 15:33; ยโก. 4:4.

เสื้อ​ผ้า​และ​การ​แต่ง​กาย

แฟชั่น​เสื้อ​ผ้า​ตาม​สมัย​นิยม​นั้น​มัก​จะ​เปลี่ยน​ไป​ทุก​ฤดู​กาล. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หลักการ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า​ด้วย​เสื้อ​ผ้า​และ​การ​แต่ง​กาย​นั้น​ไม่​เปลี่ยน. เปาโล​กระตุ้น​เตือน​สตรี​คริสเตียน​ให้ “แต่ง​ตัว​ด้วย​เสื้อ​ผ้า​ที่​เรียบร้อย สุภาพ และ​มี​สติ”—หลักการ​ข้อ​นี้​ใช้​ได้​กับ​ผู้​ชาย​เช่น​เดียว​กัน. (1 ติโม. 2:9) เปาโล​ไม่​ได้​สนับสนุน​การ​แต่ง​ตัว​ที่​เชย​เกิน​ไป หรือ​ไม่​ได้​พูด​ว่า​คริสเตียน​ทุก​คน​ต้อง​มี​รสนิยม​เหมือน​กัน. แต่​ว่า​กัน​ถึง​ความ​สุภาพ​ล่ะ? พจนานุกรม​เล่ม​หนึ่ง​นิยาม​คำ​สุภาพ​ไว้​ว่า “เรียบร้อย, อ่อนโยน, ประพฤติ​ดี, ละมุน​ละม่อม.”

เรา​พึง​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​พูด​จาก​ใจ​จริง​ไหม​ว่า​ฉัน​แต่ง​ตัว​อย่าง​สุภาพ​หาก​ฉัน​ยัง​คง​ยืนกราน​ว่า​มี​สิทธิ์​จะ​แต่ง​ตัว​อย่าง​ที่​ดึงดูด​ความ​สนใจ​สู่​ตัว​เอง? ฉัน​แต่ง​ตัว​แบบ​ที่​ทำ​ให้​ผู้​คน​สงสัย​ไหม​ว่า​ฉัน​เป็น​ใคร​หรือ​ดำเนิน​ชีวิต​ใน​ทาง​ศีลธรรม​แบบ​ไหน?’ เรา​สามารถ​หลีก​เลี่ยง​ที่​จะ “ไม่​เป็น​เหตุ​ให้​หลง​ผิด” ใน​เรื่อง​นี้​โดย “ไม่​ห่วง​แต่​เรื่อง​ของ​ตัว​เอง​เท่า​นั้น แต่​ห่วง​เรื่อง​ของ​คน​อื่น​ด้วย.”—2 โค. 6:3; ฟิลิป. 2:4.

ด้าน​ธุรกิจ

เมื่อ​เกิด​ปัญหา​ร้ายแรง​อัน​เกี่ยว​เนื่อง​กับ​การ​ทำ​ผิด​หรือ​การ​ฉ้อ​โกง​ใน​ประชาคม​โครินท์ เปาโล​เขียน​ดัง​นี้: “ทำไม​พวก​ท่าน​ไม่​ยอม​ทน​ที่​เป็น​ฝ่าย​เสียหาย? ทำไม​พวก​ท่าน​ไม่​ยอม​ทน​ที่​ถูก​เขา​โกง?” เปาโล​ได้​แนะ​นำ​คริสเตียน​ให้​เต็ม​ใจ​ยอม​เสีย​สละ​บาง​สิ่ง​แทน​ที่​จะ​ฟ้องร้อง​พี่​น้อง​ใน​ศาล. (1 โค. 6:1-7) พี่​น้อง​ชาย​คน​หนึ่ง​ใน​สหรัฐ​ใส่​ใจ​คำ​แนะ​นำ​ข้อ​นี้. เขา​มี​ความ​คิด​เห็น​ต่าง​ไป​จาก​นาย​จ้าง​คริสเตียน​ใน​เรื่อง​ค่า​จ้าง​ที่​เขา​พึง​ได้. โดย​อาศัย​คำ​แนะ​นำ​ของ​พระ​คัมภีร์ พี่​น้อง​ชาย​สอง​คน​นี้​ได้​พบ​และ​พูด​คุย​กัน​หลาย​ครั้ง แต่​หา​วิธี​แก้​ปัญหา​ไม่​ได้. ใน​ที่​สุด พวก​เขา​จึง​นำ​เรื่อง​เสนอ “ประชาคม” ซึ่ง​ก็​คือ​พูด​กับ​คริสเตียน​ผู้​ปกครอง.—มัด. 18:15-17.

น่า​เศร้า ประเด็น​ยัง​หา​ทาง​แก้​ปัญหา​ไม่​ได้. ภาย​หลัง​การ​ทูล​อธิษฐาน​หลาย​ครั้ง ลูกจ้าง​คน​นี้​เลย​ตัดสิน​ใจ​สละ​เงิน​เกือบ​ทั้ง​หมด​ที่​ตน​คิด​ว่า​ควร​จะ​ได้. เพราะ​อะไร? ใน​เวลา​ต่อ​มา​เขา​พูด​ว่า “ความ​ไม่​เห็น​พ้อง​กัน​ใน​เรื่อง​นี้​ได้​ปล้น​เอา​ความ​ยินดี​ของ​ผม​ไป และ​ผลาญ​เวลา​อัน​มี​ค่า​ซึ่ง​น่า​จะ​ใช้​เวลา​นั้น​สำหรับ​กิจกรรม​ฝ่าย​คริสเตียน.” เมื่อ​ตก​ลง​ใจ​ได้​เช่น​นั้น พี่​น้อง​ชาย​คน​นี้​รู้สึก​ว่า​ได้​ความ​ชื่นชม​ยินดี​คืน​มา และ​เขา​ได้​สังเกต​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​อวย​พร​งาน​รับใช้​ของ​เขา.

แม้​แต่​ใน​เรื่อง​เล็ก​น้อย

นอก​จาก​นั้น การ​ไม่​ยืนกราน​ใน​ความ​พอ​ใจ​หรือ​ความ​ชอบ​ส่วน​ตัว​ทำ​ให้​เรา​ประสบ​ความ​ยินดี​ใน​เรื่อง​เล็ก ๆ น้อย ๆ. ณ วัน​แรก​ของ​การ​ประชุม​ภาค ไพโอเนียร์​คู่​หนึ่ง​มา​ถึง​ก่อน​เวลา​และ​ได้​ที่​นั่ง​ตาม​ที่​พวก​เขา​ต้องการ. ขณะ​ระเบียบ​วาระ​เริ่ม มี​ครอบครัว​หนึ่ง​พร้อม​กับ​เด็ก ๆ หลาย​คน​รีบ​เข้า​มา​ใน​สถาน​ประชุม​ซึ่ง​ผู้​คน​อยู่​กัน​แน่น. เมื่อ​สังเกต​ครอบครัว​นั้น​กำลัง​หา​ที่​นั่ง​ให้​พอ​จำนวน​คน ไพโอเนียร์​ทั้ง​สอง​จึง​สละ​ที่​นั่ง​ให้. ทั้ง​นี้​ทุก​คน​ใน​ครอบครัว​จึง​มี​โอกาส​ได้​นั่ง​ด้วย​กัน. ไม่​กี่​วัน​ภาย​หลัง​เสร็จ​การ​ประชุม ไพโอเนียร์​ทั้ง​สอง​ได้​รับ​จดหมาย​แสดง​ความ​ขอบคุณ​จาก​ครอบครัว​นี้. ความ​ใน​จดหมาย​แจ้ง​ว่า​พวก​เขา​ท้อ​ใจ​มาก​แค่​ไหน​เมื่อ​มา​ถึง​ที่​ประชุม​สาย​กว่า​กำหนด. แต่​แล้ว​ความ​รู้สึก​ท้อ​ใจ​พลัน​กลับ​กลาย​เป็น​ความ​ปีติ​ยินดี​และ​ความ​รู้สึก​ขอบคุณ​เพราะ​ความ​กรุณา​ของ​ไพโอเนียร์​คู่​นั้น.

ตราบ​ที่​เรา​มี​โอกาส ขอ​ให้​เรา​เต็ม​ใจ​สละ​ความ​ชอบ​ส่วน​ตัว​เพื่อ​ประโยชน์​สุข​ของ​ผู้​อื่น. โดย​การ​แสดง​ความ​รัก​อย่าง “ไม่​เห็น​แก่​ประโยชน์​ส่วน​ตัว” เรา​ช่วย​รักษา​สันติ​สุข​ภาย​ใน​ประชาคม​และ​สันติ​สุข​กับ​เพื่อน​บ้าน​ของ​เรา. (1 โค. 13:5) แต่​สำคัญ​ที่​สุด เรา​รักษา​มิตรภาพ​ของ​เรา​กับ​พระ​ยะโฮวา.

[ภาพ​หน้า 20]

คุณ​เต็ม​ใจ​สละ​ความ​ชอบ​ส่วน​ตัว​ใน​การ​เลือก​เครื่อง​แต่ง​กาย​ไหม?

[ภาพ​หน้า 21]

คุณ​เต็ม​ใจ​สละ​ที่​นั่ง​ให้​พี่​น้อง​ของ​คุณ​ไหม?