จงพยายามก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่—“วันใหญ่ของพระยะโฮวาใกล้เข้ามาแล้ว”
จงพยายามก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่—“วันใหญ่ของพระยะโฮวาใกล้เข้ามาแล้ว”
“ให้เราพยายามก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่.”—ฮีบรู 6:1
1, 2. มีโอกาสอะไรที่เปิดให้อย่างไม่คาดฝันเพื่อคริสเตียนในศตวรรษแรกในกรุงเยรูซาเลมและยูเดียจะ “หนีไปยังภูเขา” ได้?
เมื่อพระเยซูทรงอยู่บนแผ่นดินโลก เหล่าสาวกเข้ามาหาและถามพระองค์ว่า “อะไรจะเป็นสัญญาณบอกว่าพระองค์ประทับอยู่และบอกว่าเป็นช่วงสุดท้ายของยุค?” คำพยากรณ์ที่พระเยซูทรงให้ไว้เพื่อตอบคำถามของพวกเขาสำเร็จเบื้องต้นในศตวรรษแรก. พระเยซูตรัสถึงเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดาซึ่งจะเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าอวสานใกล้จะถึงแล้ว. เมื่อเห็นเหตุการณ์นั้น “คนที่อยู่ในแคว้นยูเดีย [ต้อง] เริ่มหนีไปยังภูเขา.” (มัด. 24:1-3, 15-22) เหล่าสาวกของพระเยซูจะสังเกตเห็นสัญญาณดังกล่าวและปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์ไหม?
2 เกือบสามทศวรรษต่อมา ในสากลศักราช 61 อัครสาวกเปาโลเขียนข่าวสารอันหนักแน่นซึ่งเตือนสติคริสเตียนชาวฮีบรูที่อาศัยในกรุงเยรูซาเลมและบริเวณโดยรอบ. ทั้งเปาโลและเพื่อนร่วมความเชื่อต่างก็ไม่รู้ว่าสัญญาณที่บอกถึงช่วงเริ่มต้นของ “ความทุกข์ลำบากใหญ่” จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกประมาณห้าปีเท่านั้น. (มัด. 24:21) ใน ส.ศ. 66 เซสติอุส กัลลุส นำกองทหารโรมันมาโจมตีกรุงเยรูซาเลมจนเกือบจะได้ชัยชนะ. แต่แล้วเขาก็ถอนทัพกลับอย่างกะทันหัน เปิดโอกาสให้คนที่ตกอยู่ในอันตรายได้หนีไปยังที่ปลอดภัย.
3. เปาโลกระตุ้นเตือนคริสเตียนชาวฮีบรูเรื่องอะไร และเพราะเหตุใด?
3 คริสเตียนเหล่านั้นจำเป็นต้องสังเกตและเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเป็นความสำเร็จตามคำตรัสของพระเยซู และพวกเขาควรหนีไป. อย่างไรก็ตาม บางคนกลายเป็นคน “เฉื่อยชาในการฟัง.” พวกเขาเป็นเหมือนทารกฝ่ายวิญญาณที่ต้องการ “น้ำนม.” (อ่านฮีบรู 5:11-13) แม้แต่บางคนที่ได้ดำเนินในแนวทางความจริงมาหลายสิบปีก็เริ่มแสดงท่าทีว่าพวกเขากำลัง “เอาตัวออกห่างจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” (ฮีบรู 3:12) บางคนขาดการประชุมคริสเตียน “เป็นนิสัย” ในขณะที่ “วัน” ที่จะเกิดภัยพิบัติ “ใกล้เข้ามา.” (ฮีบรู 10:24, 25) เปาโลกระตุ้นเตือนพวกเขาอย่างที่เหมาะกับเวลาทีเดียวว่า “เมื่อเราได้ละหลักคำสอนพื้นฐานเกี่ยวกับพระคริสต์แล้ว ให้เราพยายามก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่.”—ฮีบรู 6:1
4. เหตุใดจึงสำคัญที่จะรักษาความตื่นตัวฝ่ายวิญญาณไว้เสมอ และอะไรจะช่วยเราให้ทำอย่างนั้น?
4 เรามีชีวิตอยู่ในสมัยที่คำพยากรณ์ของพระเยซูสำเร็จในขั้นสุดท้าย. “วันใหญ่ของพระยะโฮวา”—วันที่จะนำอวสานมาสู่ระบบทั้งสิ้นของซาตาน—“ใกล้เข้ามาแล้ว.” (ซฟัน. 1:14, ล.ม.) เราต้องรักษาความกระตือรือร้นและความตื่นตัวฝ่ายวิญญาณไว้เสมอยิ่งกว่าแต่ก่อน. (1 เป. 5:8) เรากำลังทำอย่างนั้นอยู่จริง ๆ ไหม? ความเป็นผู้ใหญ่แบบคริสเตียนจะช่วยเราให้คำนึงอยู่เสมอว่าเราอยู่ ณ จุดไหนในกระแสเวลา.
ความเป็นผู้ใหญ่แบบคริสเตียนคืออะไร?
5, 6. (ก) ความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณหมายรวมถึงอะไร? (ข) จำเป็นต้องพยายามในสองขอบเขตอะไรเพื่อจะก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ได้?
5 เปาโลไม่เพียงแค่สนับสนุนคริสเตียนชาวฮีบรูในศตวรรษแรกให้พยายามก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ท่านยังบอกพวกเขาด้วยว่าความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณเกี่ยวข้องกับอะไร. (อ่านฮีบรู 5:14) “คนที่เป็นผู้ใหญ่” ไม่ พอใจรับเพียงแค่ “น้ำนม.” พวกเขารับ “อาหารแข็ง.” ด้วยเหตุนั้น พวกเขารู้จักทั้ง “เรื่องพื้นฐาน” และ “สิ่งลึกซึ้ง” ของความจริง. (1 โค. 2:10) นอกจากนั้น พวกเขาได้ฝึกใช้วิจารณญาณ—โดยใช้สิ่งที่พวกเขารู้—ซึ่งช่วยพวกเขาให้แยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด. เมื่อพวกเขาต้องตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การฝึกนี้ทำให้พวกเขาสามารถมองออกว่ามีหลักการในพระคัมภีร์ข้อใดบ้างที่เกี่ยวข้องและจะใช้หลักการเหล่านั้นอย่างไร.
6 เปาโลเขียนว่า “เราจึงต้องเอาใจใส่สิ่งที่เราได้ยินให้มากกว่าปกติเพื่อเราจะไม่ลอยห่างไป.” (ฮีบรู 2:1) การลอยห่างจากความเชื่อเช่นนั้นอาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว. เราสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นอย่างนี้ได้โดย “เอาใจใส่ . . . ให้มากกว่าปกติ” ขณะที่เราพิจารณาความจริงฝ่ายวิญญาณ. ด้วยเหตุนั้น เราแต่ละคนจำเป็นต้องถามตัวเองว่า ‘ฉันยังคงพิจารณาแต่เพียงเรื่องพื้นฐานเท่านั้นไหม? อาจเป็นได้ไหมว่าฉันเพียงแต่ทำตามกิจวัตรแบบพอเป็นพิธีโดยที่ไม่ได้ใส่ใจอย่างเต็มที่กับความจริง? ฉันจะทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณจริง ๆ ได้โดยวิธีใด?’ เพื่อจะก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ได้ จำเป็นต้องพยายามอย่างน้อยในสองขอบเขต. เราต้องคุ้นเคยกับพระคำของพระเจ้า. และเราจำเป็นต้องเรียนรู้การเชื่อฟัง.
จงทำความคุ้นเคยกับพระคำ
7. เราจะได้รับประโยชน์จากการคุ้นเคยกับพระคำของพระเจ้ามากขึ้นได้โดยวิธีใด?
7 เปาโลเขียนว่า “ทุกคนที่กินน้ำนมก็ไม่คุ้นเคยกับถ้อยคำแห่งความชอบธรรม ด้วยว่าเขาเป็นทารก.” (ฮีบรู 5:13) เพื่อจะเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณได้ เราต้องคุ้นเคยกับคำตรัสหรือสารของพระเจ้าที่ส่งมาถึงเรา. เนื่องจากสารดังกล่าวอยู่ในพระคำของพระองค์ คือคัมภีร์ไบเบิล เราควรขยันศึกษาพระคัมภีร์และหนังสือต่าง ๆ ที่มาจาก “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม. (มัด. 24:45-47) การซึมซับความคิดของพระเจ้าด้วยวิธีนี้สามารถช่วยเราฝึกใช้วิจารณญาณ. ขอให้พิจารณาตัวอย่างของคริสเตียนคนหนึ่งชื่อออร์คิด. * เธอกล่าวว่า “ข้อเตือนใจที่มีผลต่อชีวิตดิฉันมากที่สุดก็คือข้อเตือนใจที่ให้อ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ. ดิฉันใช้เวลาถึงสองปีจึงจะอ่านจบทั้งเล่ม แต่นั่นทำให้ดิฉันรู้สึกว่าได้มารู้จักพระผู้สร้างเป็นครั้งแรก. ดิฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางของพระองค์, สิ่งที่พระองค์พอพระทัยและสิ่งที่พระองค์ไม่พอพระทัย, ความยิ่งใหญ่ของอำนาจของพระองค์, และความลึกซึ้งของสติปัญญาของพระองค์. การอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวันได้ช่วยค้ำจุนดิฉันให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดในชีวิต.”
8. พระคำของพระเจ้าสามารถให้พลังอะไรแก่เรา?
8 การอ่านส่วนหนึ่งจากพระคำของพระเจ้าเป็นประจำเปิดโอกาสให้ข่าวสารจากพระคัมภีร์ ‘ให้พลัง’ แก่เรา. (อ่านฮีบรู 4:12) การอ่านอย่างนี้สามารถนวดปั้นตัวตนที่แท้จริงของเราและทำให้เราเป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวามากขึ้น. คุณเองจำเป็นต้องจัดเวลามากขึ้นไหมเพื่อจะอ่านคัมภีร์ไบเบิลและใคร่ครวญเรื่องราวที่กล่าวไว้ในนั้น?
9, 10. การคุ้นเคยกับพระคำของพระเจ้าเกี่ยวข้องกับอะไร? จงยกตัวอย่าง.
9 การทำความคุ้นเคยกับคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้หมายความเพียงแค่รู้ว่าพระคัมภีร์กล่าวถึงอะไรบ้าง. การที่คริสเตียนบางคนในสมัยของเปาโลเป็นทารกฝ่ายวิญญาณอาจไม่ใช่เพราะเขาไม่รู้ว่าพระคำซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า
กล่าวไว้อย่างไร. แต่เพราะเขาไม่ได้ใช้พระคำนั้นและไม่ได้ทดสอบเพื่อจะเห็นคุณค่าของพระคำนั้นด้วยการนำเอาไปใช้จริง ๆ. พวกเขาไม่คุ้นเคยกับพระคำเนื่องจากพวกเขาไม่ยอมให้พระคำชี้นำเพื่อจะตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตอย่างฉลาดสุขุม.10 การคุ้นเคยกับพระคำของพระเจ้าหมายถึงการรู้ว่าพระคำนั้นบอกอะไรและนำเอาความรู้นั้นไปใช้ในภาคปฏิบัติ. ประสบการณ์ของพี่น้องหญิงคนหนึ่งซึ่งชื่อไคล์แสดงให้เห็นว่าจะทำอย่างนี้ได้อย่างไร. ไคล์มีเรื่องทะเลาะกับเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง. เธอทำอย่างไรเพื่อแก้ไขข้อบาดหมางนั้น? เธอบอกว่า “ข้อคัมภีร์ที่ดิฉันนึกถึงทันทีคือโรม 12:18 ซึ่งบอกว่า ‘จงพยายามสุดความสามารถเพื่อจะอยู่อย่างสันติกับคนทั้งปวง.’ ดังนั้น ดิฉันนัดกับเพื่อนร่วมงานคนนั้นไปปรับความเข้าใจกันหลังเลิกงาน.” การพูดคุยกันครั้งนั้นประสบผลสำเร็จดี และเพื่อนร่วมงานของเธอรู้สึกประทับใจที่ไคล์ทำอย่างนั้นเพื่อแก้ปัญหา. ไคล์กล่าวว่า “ดิฉันได้ข้อคิดจากเรื่องนี้ว่าเราไม่มีทางทำผิดพลาดถ้าเราใช้หลักการในพระคัมภีร์ไบเบิล.”
จงเรียนรู้การเชื่อฟัง
11. มีอะไรที่แสดงว่าการเชื่อฟังในสถานการณ์ที่มีความลำบากอาจไม่ใช่เรื่องง่าย?
11 การใช้สิ่งที่เราเรียนรู้จากพระคัมภีร์อาจไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความลำบาก. ตัวอย่างเช่น ไม่นานหลังจากพระยะโฮวาทรงช่วยลูกหลานชาติอิสราเอลให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสในอียิปต์ พวกเขา “บ่นติเตียนโมเซ” และ “บังอาจลองดีพระยะโฮวา.” เพราะเหตุใด? เพราะขาดน้ำดื่ม. (เอ็ก. 17:1-4) เวลาผ่านไปยังไม่ถึงสองเดือนหลังจากชาวอิสราเอลทำสัญญากับพระเจ้าและตกลงว่าจะทำตาม “ถ้อยคำทั้งหมดซึ่งพระยะโฮวาได้ตรัสไว้” พวกเขาก็ฝ่าฝืนพระบัญญัติของพระองค์ด้วยการไหว้รูปเคารพ. (เอ็ก. 24:3, 12-18; 32:1, 2, 7-9) นั่นเป็นเพราะโมเซไม่ได้อยู่กับพวกเขาเป็นเวลานานระหว่างที่ท่านรับพระบัญชาจากพระยะโฮวาบนภูเขาโฮเรบจึงทำให้พวกเขากลัวไหม? พวกเขาอาจคิดว่าพวกอะมาเลคจะมาโจมตีอีกครั้งและชาวอิสราเอลจะไม่มีทางสู้เพราะไม่มีโมเซ ซึ่งในครั้งก่อนได้ยกชูมือไว้แล้วทำให้พวกเขาได้รับชัยชนะ อย่างนั้นไหม? (เอ็ก. 17:8-16) อาจเป็นไปได้ว่าเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ว่าเหตุผลคืออะไร ชาวอิสราเอล “ไม่ยอมเชื่อฟัง.” (กิจ. 7:39-41) เปาโลกระตุ้นคริสเตียนให้ “พยายามสุดความสามารถ” เพื่อจะไม่ ‘หลงเอาอย่างชาวอิสราเอลที่ไม่เชื่อฟัง’ เมื่อพวกเขากลัวที่จะเข้าในแผ่นดินตามคำสัญญา.—ฮีบรู 4:3, 11
12. พระเยซูทรงเรียนรู้การเชื่อฟังอย่างไร และนั่นก่อประโยชน์อย่างไร?
12 เพื่อจะก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ เราจำเป็นต้องพยายามสุดความสามารถในการเชื่อฟังพระยะโฮวา. ดังที่พระเยซูคริสต์ทรงวางแบบอย่างไว้ การเชื่อฟังมักสามารถเรียนรู้ได้จากการทนทุกข์ต่าง ๆ. (อ่านฮีบรู 5:8, 9) ก่อนเสด็จมายังแผ่นดินโลก พระเยซูทรงเชื่อฟังพระบิดา. อย่างไรก็ตาม การทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนแผ่นดินโลกเกี่ยวข้องกับการทนทุกข์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ. โดยทรงเชื่อฟังแม้ประสบความลำบากแสนสาหัส พระเจ้าทรงทำให้พระเยซู “เป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อม” สำหรับตำแหน่งใหม่ที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้สำหรับพระองค์ คือตำแหน่งกษัตริย์และมหาปุโรหิต.
13. มีอะไรที่แสดงให้เห็นว่าเราได้เรียนรู้การเชื่อฟังแล้วหรือไม่?
13 แล้วพวกเราล่ะ? เราตั้งใจแน่วแน่จะเชื่อฟังพระยะโฮวาแม้เมื่อเผชิญกับปัญหาที่ทำให้ทุกข์ใจไหม? (อ่าน 1 เปโตร 1:6, 7) คำแนะนำของพระเจ้าบอกไว้อย่างชัดเจนในเรื่อง ศีลธรรม, ความซื่อสัตย์, การใช้คำพูดอย่างเหมาะสม, การอ่านและศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว, การเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน, และการเข้าร่วมในงานประกาศ. (ยโฮ. 1:8; มัด. 28:19, 20; เอเฟ. 4:25, 28, 29; 5:3-5; ฮีบรู 10:24, 25) เราเชื่อฟังพระยะโฮวาในเรื่องเหล่านี้แม้เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีความลำบากไหม? การที่เราเชื่อฟังเป็นเครื่องบ่งบอกว่าเราก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่แล้ว.
ความเป็นผู้ใหญ่แบบคริสเตียน—เหตุใดจึงเป็นประโยชน์?
14. จงยกตัวอย่างซึ่งแสดงถึงวิธีที่การพยายามก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่สามารถช่วยปกป้องเรา.
14 นับเป็นการปกป้องอย่างแท้จริงที่คริสเตียนได้ฝึกใช้วิจารณญาณอย่างถูกต้องเพื่อจะแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิดในโลกที่ “ไม่มีความรู้สึกละอายต่อบาป.” (เอเฟ. 4:19) ตัวอย่างเช่น พี่น้องชายคนหนึ่งชื่อเจมส์ ซึ่งอ่านหนังสือที่อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลักเป็นประจำและเห็นค่าของความรู้เหล่านั้นมาก ได้ตอบรับทำงานในที่แห่งหนึ่งซึ่งเพื่อนร่วมงานทั้งหมดเป็นผู้หญิง. เจมส์กล่าวว่า “แม้เห็นได้ชัดว่าเพื่อนร่วมงานหลายคนขาดสำนึกด้านศีลธรรม แต่มีคนหนึ่งที่ดูเหมือนว่านิสัยดีและแสดงความสนใจความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. แต่เมื่อผมกับเธออยู่กันตามลำพังในห้องทำงาน เธอเริ่มยั่วยวนและเข้าถึงตัวผม. ตอนแรกผมคิดว่าเธอล้อเล่น แต่เธอเอาจริงและหยุดเธอได้ยากมาก. ในตอนนั้นเองผมนึกขึ้นได้ถึงประสบการณ์หนึ่งซึ่งเล่าไว้ในหอสังเกตการณ์ เกี่ยวกับพี่น้องชายคนหนึ่งที่พบกับการล่อใจในที่ทำงานคล้าย ๆ กัน. บทความนั้นยกตัวอย่างของโยเซฟที่เผชิญกับภรรยาของโพติฟา. * ผมจึงผลักหญิงสาวคนนี้ออกไปทันที แล้วเธอก็วิ่งออกไป.” (เย. 39:7-12) เจมส์ดีใจที่ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นและเขาก็รักษาสติรู้สึกผิดชอบที่ดีไว้.—1 ติโม. 1:5
15. การพยายามก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ช่วยเสริมหัวใจโดยนัยของเราได้โดยวิธีใด?
15 ความเป็นผู้ใหญ่ยังมีประโยชน์ในแง่ที่ช่วยเสริมหัวใจโดยนัยของเราให้แข็งแกร่งขึ้น และช่วยป้องกันเราไว้ไม่ให้ “หลงไปกับคำสอนหลากหลายที่แปลก ๆ.” (อ่านฮีบรู 13:9) เมื่อเราพยายามก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ เราก็จะเพ่งความสนใจที่ ‘สิ่งที่สำคัญกว่า.’ (ฟิลิป. 1:9, 10) ด้วยเหตุนั้น เรารู้สึกขอบคุณพระเจ้ามากยิ่งขึ้นสำหรับทุกสิ่งที่พระองค์ทรงจัดเตรียมให้เพื่อประโยชน์ของเรา. (โรม 3:24) คริสเตียนที่ “มีความคิดความเข้าใจอย่างผู้ซึ่งเติบโตเต็มที่” พัฒนาความสำนึกบุญคุณเช่นนั้นและมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา.—1 โค. 14:20
16. อะไรช่วยพี่น้องหญิงคนหนึ่งทำ “ใจให้มั่นคง”?
16 พี่น้องหญิงคนหนึ่งชื่อลูอิสยอมรับว่าหลังจากรับบัพติสมาแล้วระยะหนึ่ง เรื่องหลักที่เธอเป็นห่วงก็คือคนอื่นมองเธออย่างไร. เธอกล่าวว่า “ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด แต่หัวใจดิฉันไม่ได้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะรับใช้พระยะโฮวา. ดิฉันรู้ตัวว่าต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ถ้าอยากจะรู้สึกว่าตัวเองกำลังถวายทุกสิ่งที่ทำได้แด่พระยะโฮวา. การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดก็คือการนมัสการพระองค์อย่างสิ้นสุดหัวใจ.” โดยพยายามอย่างนั้น ลูอิสทำ “ใจให้มั่นคง” และในภายหลังก็เห็นได้ว่านั่นเป็นเรื่องที่สำคัญมากตอนที่เธอมีปัญหาร้ายแรงด้านสุขภาพ. (ยโก. 5:8) ลูอิสกล่าวว่า “ดิฉัน ต่อสู้อย่างหนักกับปัญหานี้ แต่นั่นช่วยดิฉันให้มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาจริง ๆ.”
“เต็มใจเชื่อฟัง”
17. เหตุใดการเชื่อฟังจึงสำคัญเป็นพิเศษในสมัยศตวรรษแรก?
17 คำแนะนำของเปาโลที่ให้ “พยายามก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่” ได้ช่วยชีวิตคริสเตียนในศตวรรษแรกที่อาศัยในกรุงเยรูซาเลมและยูเดีย. คนที่ใส่ใจคำแนะนำนั้นมีความเข้าใจฝ่ายวิญญาณที่ดีซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อจะมองออกถึงสัญญาณที่พระเยซูได้ให้ไว้เพื่อพวกเขาจะ “เริ่มหนีไปยังภูเขา.” เมื่อพวกเขาเห็น “สิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้เกิดความร้างเปล่าตั้งอยู่ในที่บริสุทธิ์” กล่าวคือ กองทัพโรมันที่มาล้อมและเจาะทะลวงกรุงเยรูซาเลม พวกเขาก็รู้ว่าถึงเวลาต้องหนีไป. (มัด. 24:15, 16) เนื่องจากคริสเตียนเชื่อฟังคำเตือนเชิงพยากรณ์ของพระเยซู พวกเขาได้หนีออกไปจากกรุงเยรูซาเลมก่อนที่กรุงนี้จะถูกทำลาย และตามที่ยูเซบิอุส นักประวัติศาสตร์แห่งคริสตจักร กล่าวไว้ พวกเขาได้ไปตั้งหลักปักฐานที่เมืองเพลลาในเขตที่เป็นภูเขาของกิเลียด. โดยวิธีนี้ พวกเขาจึงรอดพ้นหายนะครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของกรุงเยรูซาเลม.
18, 19. (ก) เพราะเหตุใดการเชื่อฟังจึงสำคัญมากในสมัยของเรา? (ข) บทความถัดไปจะพิจารณาอะไร?
18 การเชื่อฟังซึ่งเป็นผลมาจากการพยายามก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่จะช่วยชีวิตเราด้วยเช่นกันเมื่อเราประสบกับความสำเร็จครั้งใหญ่ตามคำพยากรณ์ของพระเยซูที่ว่า “จะมีความทุกข์ลำบากใหญ่” ที่ไม่มีอะไรเทียบได้. (มัด. 24:21) เราจะเชื่อฟังคำแนะนำใด ๆ ที่เร่งด่วนซึ่งในอนาคตเราอาจได้รับจาก “คนรับใช้ที่ซื่อสัตย์” ไหม? (ลูกา 12:42) เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ที่เราต้องเรียนรู้ที่จะ “เต็มใจเชื่อฟัง”!—โรม 6:17
19 เพื่อจะเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณได้ เราจำเป็นต้องฝึกใช้วิจารณญาณ. เราทำอย่างนี้ได้โดยพยายามทำความคุ้นเคยกับพระคำของพระเจ้าให้มากขึ้นและโดยเรียนรู้การเชื่อฟัง. การเติบโตขึ้นสู่ความเป็นผู้ใหญ่แบบคริสเตียนเป็นเรื่องท้าทายเป็นพิเศษสำหรับเยาวชน. บทความถัดไปจะพิจารณาวิธีรับมือกับข้อท้าทายเหล่านั้นได้อย่างประสบผลสำเร็จ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 บางชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.
^ วรรค 14 ดูบทความชื่อ “ได้รับการเสริมกำลังให้ปฏิเสธการกระทำผิด” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 ตุลาคม 1999.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• ความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณคืออะไร และเราบรรลุได้โดยวิธีใด?
• การคุ้นเคยกับพระคำของพระเจ้ามีส่วนช่วยอย่างไรให้เราพยายามก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่?
• เราเรียนรู้การเชื่อฟังโดยวิธีใด?
• ความเป็นผู้ใหญ่ให้ประโยชน์แก่เราอย่างไรบ้าง?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 10]
การใช้คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลช่วยเราให้รับมือปัญหาอย่างสุขุม
[ภาพหน้า 12, 13]
การทำตามคำแนะนำของพระเยซูช่วยชีวิตคริสเตียนในยุคแรก