เหตุใดจึงติดตาม “พระคริสต์”?
เหตุใดจึงติดตาม “พระคริสต์”?
“ถ้าผู้ใดต้องการติดตามเรา ให้เขาปฏิเสธตัวเอง . . . แล้วตามเราเรื่อยไป.”—ลูกา 9:23
1, 2. เหตุใดจึงสำคัญที่เราจะพิจารณาเหตุผลที่เราควรติดตาม “พระคริสต์”?
พระยะโฮวาคงต้องยินดีสักเพียงไรที่เห็นพวกคุณที่เป็นผู้สนใจใหม่และคนหนุ่มสาวอยู่ในหมู่ผู้นมัสการพระองค์บนแผ่นดินโลก! เมื่อคุณศึกษาคัมภีร์ไบเบิลต่อ ๆ ไป, เข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ, และมีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับความจริงที่ช่วยชีวิตซึ่งอยู่ในพระคำของพระเจ้า คุณจำเป็นต้องคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับคำเชิญของพระเยซูที่ว่า “ถ้าผู้ใดต้องการติดตามเรา ให้เขาปฏิเสธตัวเองและแบกเสาทรมานของตนวันแล้ววันเล่าแล้วตามเราเรื่อยไป.” (ลูกา 9:23) พระเยซูตรัสว่าสิ่งที่คุณควรต้องการทำก็คือปฏิเสธตัวเองและมาเป็นผู้ติดตามพระองค์. ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะพิจารณาว่าทำไมเราจึงควรติดตาม “พระคริสต์”?—มัด. 16:13-16
2 จะว่าอย่างไรสำหรับพวกเราที่ดำเนินตามรอยพระบาทของพระเยซูคริสต์อยู่แล้ว? เราได้รับการกระตุ้นเตือนให้ “ทำเช่นนั้นต่อ ๆ ไปให้มากยิ่งขึ้น.” (1 เทส. 4:1, 2) ไม่ว่าเราเพิ่งเข้ามานมัสการแท้เมื่อไม่นานมานี้หรือหลายปีมาแล้ว การใคร่ครวญเหตุผลที่ควรติดตามพระคริสต์จะช่วยเราให้ทำตามคำกระตุ้นเตือนของเปาโลและติดตามพระองค์มากยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา. ให้เราพิจารณาเหตุผลห้าประการที่เราควรต้องการติดตามพระคริสต์.
เพื่อจะใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพระยะโฮวา
3. เรารู้จักพระยะโฮวาได้ด้วยสองวิธีอะไร?
3 เมื่อเปาโล “ยืนขึ้นท่ามกลางคนที่อยู่บนเขาอาเรโอพากุส” ท่านกล่าวว่า “[พระเจ้า] ทรงกำหนดเวลาและขอบเขตที่อยู่ของมนุษย์ เพื่อให้พวกเขาแสวงหาพระเจ้า ให้พวกเขาพากเพียรเสาะหาและพบพระองค์ ที่จริง พระองค์ไม่ได้อยู่ไกลจากเราทุกคนเลย.” (กิจ. 17:22, 26, 27) เราสามารถ แสวงหาพระเจ้าและรู้จักพระองค์อย่างแท้จริง. ตัวอย่างเช่น เมื่อเรามองดูสิ่งทรงสร้างทั้งหลายเราเรียนรู้มากมายเกี่ยวกับคุณลักษณะและพระปรีชาสามารถของพระเจ้า. การใคร่ครวญพระราชกิจที่พระองค์สร้างสรรค์ด้วยความสำนึกขอบคุณสอนเรามากทีเดียวเกี่ยวกับพระผู้สร้าง. (โรม 1:20) พระยะโฮวายังทรงเปิดเผยรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับพระองค์เองไว้ในพระคำที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร คือคัมภีร์ไบเบิล. (2 ติโม. 3:16, 17) ยิ่งเรา ‘ใคร่ครวญดูกิจการของพระองค์’ และ “รำพึงถึงกิจการที่พระองค์ได้ทรงกระทำ” มากเท่าไร เราก็ยิ่งรู้จักพระยะโฮวาดีขึ้นเท่านั้น.—เพลง. 77:12
4. การติดตามพระคริสต์ช่วยเราให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพระยะโฮวาได้อย่างไร?
4 วิธีหนึ่งที่ดีมากซึ่งจะทำให้เราใกล้ชิดยิ่งขึ้นไปอีกกับพระยะโฮวาก็คือการติดตามพระคริสต์. ขอให้คิดดูว่าพระเยซูทรงได้รับเกียรติขนาดไหนที่ได้อยู่เคียงข้างพระบิดาของพระองค์ “ก่อนมีโลกนี้”! (โย. 17:5) พระองค์ทรงเป็น “ผู้แรกที่พระเจ้าทรงสร้าง.” (วิ. 3:14) ในฐานะ “ผู้ที่เกิดก่อนสรรพสิ่งทรงสร้าง” พระองค์ทรงมีชีวิตอยู่ในสวรรค์กับพระยะโฮวาพระบิดาของพระองค์มาเป็นเวลานานมาก. ก่อนจะมาเป็นมนุษย์ พระเยซูไม่เพียงแค่ใช้เวลาอยู่กับพระบิดา. พระองค์ทรงเป็นมิตรสนิทที่ใกล้ชิดกับพระเจ้า ทำงานอย่างมีความสุขด้วยกันกับผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง พัฒนาสายสัมพันธ์ของความรักที่มั่นคงที่สุดเท่าที่เคยมีกับพระบิดา. พระเยซูไม่เพียงแค่เฝ้าสังเกตวิธีที่พระบิดาทำสิ่งต่าง ๆ หรือสังเกตความรู้สึกและคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระบิดาเท่านั้น แต่ทรงซึมซับทุกสิ่งที่พระองค์เรียนรู้เกี่ยวกับพระบิดาและนำเอาไปใช้. ผลก็คือ พระบุตรผู้เชื่อฟังองค์นี้ทรงเหมือนกับพระบิดามาก จนคัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระองค์ว่าเป็น “ภาพสะท้อนของพระเจ้าผู้ไม่ประจักษ์แก่ตา.” (โกโล. 1:15) ด้วยการติดตามพระคริสต์อย่างใกล้ชิด เราจะมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพระยะโฮวาได้.
เพื่อจะเลียนแบบพระยะโฮวามากยิ่งขึ้น
5. อะไรจะช่วยเราให้เลียนแบบพระยะโฮวามากยิ่งขึ้น และเพราะเหตุใด?
5 เรา ‘ถูกสร้างตามแบบพระเจ้า ให้มีลักษณะคล้ายกับพระองค์’ เราจึงมีความสามารถที่จะเลียนแบบคุณลักษณะของพระเจ้า. (เย. 1:26, ล.ม.) อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเตือนคริสเตียนให้ ‘เป็นผู้เลียนแบบพระเจ้าเพราะพวกเขาเป็นบุตรที่รักของพระองค์.’ (เอเฟ. 5:1) การติดตามพระคริสต์ช่วยเราให้เลียนแบบพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์. ทั้งนี้เพราะไม่มีใครที่สามารถสะท้อนความคิด, ความรู้สึก, และบุคลิกภาพของพระเจ้า รวมถึงสอนเราเกี่ยวกับพระยะโฮวา ได้ดีเท่าพระเยซู. เมื่อพระเยซูทรงอยู่บนแผ่นดินโลก พระองค์ไม่เพียงแต่ประกาศพระนามพระยะโฮวาให้ผู้คนรู้จัก. แต่พระองค์ทรงเปิดเผยให้เราทราบด้วยว่าพระเจ้าทรงเป็นบุคคลเช่นไร. (อ่านมัดธาย 11:27) พระเยซูทรงเปิดเผยอย่างนั้นทั้งโดยคำพูดและการกระทำของพระองค์ ทั้งทางคำสอนและการวางตัวอย่าง.
6. คำสอนของพระเยซูเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวา?
6 พระเยซูทรงแสดงให้เห็นโดยคำสอนของพระองค์ว่าพระเจ้าทรงประสงค์อะไรจากเรา และทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับผู้นมัสการพระองค์. (มัด. 22:36-40; ลูกา 12: 6, 7; 15:4-7) ตัวอย่างเช่น หลังจากยกข้อความจากข้อหนึ่งในพระบัญญัติสิบประการ—“อย่าล่วงประเวณีผัวเมียเขา”—พระเยซูทรงอธิบายว่าพระเจ้าทรงมีทัศนะอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวใจคนเรานานก่อนที่เขาจะทำผิดอย่างนั้น. พระองค์ตรัสว่า “ทุกคนที่มองผู้หญิงอย่างไม่วางตาจนเกิดความกำหนัดในหญิงนั้นก็ได้เล่นชู้ในใจกับนางแล้ว.” (เอ็ก. 20:14; มัด. 5:27, 28) หลังจากตรัสถึงการที่พวกฟาริซายตีความพระบัญญัติข้อหนึ่งอย่างผิด ๆ โดยที่พวกเขาบอกว่า “จงรักเพื่อนบ้านและเกลียดชังศัตรู” พระเยซูทรงบอกให้ทราบทัศนะของพระยะโฮวาโดยตรัสว่า “จงรักศัตรูของเจ้าต่อ ๆ ไปและอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงเจ้าต่อ ๆ ไป.” (มัด. 5:43, 44; เอ็ก. 23:4; เลวี. 19:18) การเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าพระเจ้าทรงคิดและรู้สึกอย่างไรและพระองค์ทรงประสงค์ให้เราทำอะไรช่วยให้เราเลียนแบบพระองค์มากยิ่งขึ้น.
7, 8. เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวาได้จากตัวอย่างที่พระเยซูทรงวางไว้?
7 พระเยซูทรงเปิดเผยด้วยว่าพระบิดาของพระองค์ทรงมีคุณลักษณะอย่างไรด้วยการวางตัวอย่าง. เมื่อเราอ่านในหนังสือกิตติคุณว่าพระเยซูทรงรู้สึกสงสารคนยากจน, ทรงเห็นใจคนทุกข์ยาก, ทรงขุ่นเคืองเหล่าสาวกที่ดุว่าเด็กเล็ก ๆ เราจึงเห็นได้ว่าพระบิดาของพระองค์ก็ทรงมีความรู้สึกแบบเดียวกันนั้น. (มโก. 1:40-42; 10:13, 14; โย. 11:32-35) ขอให้คิดดูว่าการกระทำของพระเยซูช่วยเราให้เข้าใจคุณลักษณะสำคัญของพระเจ้าอย่างไร. การอัศจรรย์ที่พระคริสต์ทรงทำแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีอำนาจอันยิ่งใหญ่ที่จะใช้ได้ทุกเมื่อ. ถึงกระนั้น พระองค์ไม่เคยใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือโดยมุ่งหมายจะทำให้ผู้อื่นเสียหาย. (ลูกา 4:1-4) การที่พระองค์ทรงไล่พวกพ่อค้าที่เห็นแก่ได้ออกจากพระวิหารแสดงให้เห็นชัดเจนทีเดียวว่าพระองค์ทรงมีจิตสำนึกในเรื่องความยุติธรรม! (มโก. 11:15-17; โย. 2:13-16) คำสอนและถ้อยคำที่ดึงดูดใจซึ่งพระองค์ใช้เพื่อเข้าถึงหัวใจผู้คนแสดงว่าพระองค์ “ใหญ่กว่าโซโลมอน” ในด้านสติปัญญา. (มัด. 12:42) เราจะพูดอะไรอย่างอื่นได้ล่ะเกี่ยวกับความรักที่พระเยซูทรงแสดงออกด้วยการสละชีวิตเพื่อผู้อื่น นอกจากจะพูดว่า “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่านี้”?—โย. 15:13
8 พระบุตรของพระเจ้าเป็นตัวแทนพระยะโฮวาได้อย่างสมบูรณ์แบบในทุกสิ่งที่พระองค์ตรัสและทำจนพระองค์สามารถตรัสได้ว่า “ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดาด้วย.” (อ่านโยฮัน 14:9-11) การติดตามพระคริสต์เทียบเท่ากับการเลียนแบบพระยะโฮวา.
พระเยซูทรงเป็นผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวา
9. พระเยซูทรงเป็นผู้ถูกเจิมของพระเจ้าตั้งแต่เมื่อไร และโดยวิธีใด?
9 ขอให้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงสากลศักราช 29 เมื่อพระเยซูซึ่งมีพระชนมายุ 30 พรรษาเสด็จมาหาโยฮันผู้ให้บัพติสมา. “เมื่อทรงรับบัพติสมาแล้วพระเยซูเสด็จขึ้นจากน้ำทันที แล้วท้องฟ้าก็เปิดออก และโยฮันเห็นพระวิญญาณของพระเจ้าลงมาบนพระองค์ดุจนกพิราบ.” ในเวลานั้นเองที่พระองค์ทรงเริ่มเป็นพระคริสต์หรือพระมาซีฮา. ในตอนนั้น พระยะโฮวาเองทรงแจ้งให้ทราบว่าพระเยซูทรงเป็นผู้ถูกเจิมของพระองค์ โดยตรัสว่า “นี่คือบุตรที่รักของเราซึ่งเราพอใจมาก.” (มัด. 3:13-17) นั่นนับว่าเป็นเหตุผลที่ดีทีเดียวที่เราต้องการจะติดตามพระคริสต์!
10, 11. (ก) ชื่อตำแหน่ง “พระคริสต์” ถูกใช้เพื่ออ้างถึงพระเยซูอย่างไรบ้าง? (ข) เหตุใดเราต้องติดตามพระเยซูคริสต์?
10 ในคัมภีร์ไบเบิล มีการใช้ชื่อตำแหน่ง “พระคริสต์” ในการอ้างถึงพระเยซูหลายวิธี เช่น พระเยซูคริสต์, พระคริสต์เยซู, และพระคริสต์. พระเยซูเองทรงเป็นคนแรกที่ใช้คำ “พระเยซูคริสต์”—เริ่มด้วยพระนามแล้วโย. 17:3) เห็นได้ชัดว่าการวางลำดับคำไว้อย่างนี้ดึงความสนใจไปยังตัวบุคคลที่พระเจ้าทรงส่งมาให้เป็นผู้ถูกเจิมของพระองค์. เมื่อให้ตำแหน่งมาก่อนพระนาม เช่นในคำ “พระคริสต์เยซู” การเน้นก็เปลี่ยนจากบุคคลมาเน้นตำแหน่งของพระองค์. (2 โค. 4:5) การใช้คำ “พระคริสต์” เป็นอีกวิธีหนึ่งในการเน้นตำแหน่งของพระเยซูที่ทรงเป็นพระมาซีฮา.—กิจ. 5:42
ตามด้วยชื่อตำแหน่ง. ในคำอธิษฐานถึงพระบิดา พระองค์ตรัสว่า “พวกเขาจะมีชีวิตนิรันดร์ ถ้าพวกเขารับความรู้ต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และเกี่ยวกับผู้ที่พระองค์ทรงใช้มา คือเยซูคริสต์.” (11 ไม่ว่าชื่อตำแหน่ง “พระคริสต์” ถูกใช้เพื่ออ้างถึงพระเยซูอย่างไร ตำแหน่งนี้เน้นความจริงสำคัญที่ว่า แม้ว่าพระบุตรของพระเจ้าเสด็จมายังแผ่นดินโลกมาเป็นมนุษย์และประกาศให้ผู้คนรู้พระประสงค์ของพระบิดา พระองค์ไม่ได้เป็นเพียงคนธรรมดาหรือเพียงแค่ผู้พยากรณ์; พระองค์เสด็จมาเพื่อเป็นผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวา. เราต้องติดตามผู้ถูกเจิมผู้นี้.
พระเยซูทรงเป็นทางเดียวเท่านั้นสำหรับความรอด
12. พระเยซูตรัสอะไรกับอัครสาวกโทมัสซึ่งมีความหมายสำหรับเรา?
12 เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรติดตามพระมาซีฮาต่อ ๆ ไปมีอยู่ในถ้อยคำที่พระเยซูตรัสกับอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ ซึ่งตรัสเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะสิ้นพระชนม์. เพื่อตอบคำถามของโทมัสเกี่ยวกับคำตรัสของพระองค์เรื่องการไปเตรียมที่สำหรับพวกเขา พระเยซูตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต. ไม่มีใครจะมาถึงพระบิดาได้นอกจากมาทางเรา.” (โย. 14:1-6) ในตอนนั้นพระเยซูกำลังตรัสกับอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ 11 คน. พระองค์ทรงสัญญาว่าพวกเขาจะมีที่ในสวรรค์ แต่คำตรัสของพระองค์ยังมีความหมายด้วยสำหรับคนที่หวังจะได้รับชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลก. (วิ. 7:9, 10; 21:1-4) เป็นเช่นนั้นอย่างไร?
13. พระเยซูทรงเป็น “ทางนั้น” ในความหมายใด?
13 พระเยซูคริสต์ทรงเป็น “ทางนั้น.” นั่นคือ พระองค์ทรงเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่ทำให้เราเข้าไปถึงพระเจ้าได้. เป็นจริงอย่างนั้นในเรื่องการอธิษฐาน เพราะเฉพาะแต่เมื่ออธิษฐานในนามพระเยซูเท่านั้นเราจึงจะมั่นใจได้ว่าพระบิดาจะประทานแก่เราตามที่เราขอซึ่งสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์. (โย. 15:16) อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงเป็น “ทางนั้น” ในอีกแง่หนึ่งด้วย. บาปได้ทำให้มนุษย์เราห่างเหินจากพระเจ้า. (ยซา. 59:2) พระเยซูประทาน “ชีวิตเป็นค่าไถ่เพื่อคนเป็นอันมาก.” (มัด. 20:28) ดังที่คัมภีร์ไบเบิลอธิบายไว้ ผลที่ตามมาคือ “พระโลหิตของพระเยซู . . . ชำระเราให้ปราศจากบาปทั้งปวง.” (1 โย. 1:7) พระบุตรจึงได้เปิดทางไว้ให้เราคืนดีกับพระเจ้าได้. (โรม 5:8-10) เมื่อมีความเชื่อในพระเยซูและเชื่อฟังพระองค์ เราจึงมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าได้.—โย. 3:36
14. พระเยซูทรงเป็น “ความจริง” อย่างไร?
14 พระเยซูทรงเป็น “ความจริง” ไม่เพียงเพราะพระองค์ตรัสและดำเนินชีวิตตามความจริงเสมอเท่านั้น แต่เพราะคำพยากรณ์ทั้งหมดที่เขียนเกี่ยวกับพระมาซีฮา—ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก—ล้วนสำเร็จเป็นจริงโดยพระองค์ด้วย. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ไม่ว่าคำสัญญาของพระเจ้าจะมีมากเพียงไร คำสัญญาเหล่านั้นก็เป็นจริงโดยพระองค์.” (2 โค. 1:20) แม้แต่ “เงาของสิ่งดีที่จะมีมา” ซึ่งมีอยู่ในพระบัญญัติของโมเซก็เป็นจริงในที่สุดโดยพระคริสต์เยซู. (ฮีบรู 10:1; โกโล. 2:17) พระเยซูทรงเป็นจุดรวมของคำพยากรณ์ทั้งหมด และคำพยากรณ์เหล่านั้นช่วยเราให้เข้าใจบทบาทสำคัญของพระองค์ในการทำให้พระประสงค์ของพระยะโฮวาสำเร็จ. (วิ. 19:10) เพื่อจะได้ประโยชน์จากความสำเร็จ ของสิ่งที่พระเจ้าทรงประสงค์สำหรับเรา เราจำเป็นต้องติดตามพระมาซีฮา.
15. พระเยซูทรงเป็น “ชีวิต” ในความหมายใด?
15 พระเยซูทรงเป็น “ชีวิต” เพราะพระองค์ทรงซื้อเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยพระโลหิตของพระองค์ และชีวิตนิรันดร์เป็นของประทานจากพระเจ้า “เนื่องด้วยพระคริสต์เยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” (โรม 6:23) พระเยซูทรงเป็น “ชีวิต” สำหรับคนที่ตายไปแล้วด้วย. (โย. 5:28, 29) นอกจากนั้น ขอให้คิดถึงสิ่งที่พระองค์จะทำด้วยในฐานะมหาปุโรหิตในช่วงรัชสมัยพันปี. พระองค์จะช่วยให้ราษฎรของพระองค์ที่อยู่บนแผ่นดินโลกได้รับความรอดนิรันดร์พ้นจากบาปและความตาย.—ฮีบรู 9:11, 12, 28
16. เรามีเหตุผลอะไรที่ควรติดตามพระเยซู?
16 ดังนั้น คำตรัสของพระเยซูที่ตอบคำถามของโทมัสมีความหมายมากสำหรับเรา. พระเยซูทรงเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต. พระองค์เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมาในโลกเพื่อช่วยโลกให้รอด. (โย. 3:17) และไม่มีใครที่มาถึงพระบิดานอกจากมาทางพระองค์. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “ไม่มีความรอดในผู้อื่นเลย เพราะพระเจ้าไม่ทรงโปรดให้มีผู้อื่นท่ามกลางมนุษย์ที่อยู่ใต้ฟ้านี้เพื่อช่วยพวกเราให้รอด.” (กิจ. 4:12) ด้วยเหตุนั้น ไม่ว่าภูมิหลังของเราเป็นอย่างไร แนวทางที่สุขุมสำหรับเราก็คือเชื่อในพระเยซู, ติดตามพระองค์, และได้รับชีวิตสืบเนื่องจากการดำเนินในแนวทางนี้.—โย. 20:31
เราได้รับพระบัญชาให้ฟังพระคริสต์
17. เหตุใดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะฟังพระบุตรของพระเจ้า?
17 เปโตร, โยฮัน, และยาโกโบเป็นพยานรู้เห็นนิมิตการเปลี่ยนรูปพระกาย. ในตอนนั้น พวกเขาได้ยินเสียงตรัสจากสวรรค์ว่า “นี่คือบุตรของเรา ผู้ที่เราเลือกไว้. จงฟังท่านเถิด.” (ลูกา 9:28, 29, 35) เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ที่เราจะทำตามพระบัญชาที่ให้ฟังพระมาซีฮา.—อ่านกิจการ 3:22, 23
18. เราอาจฟังพระเยซูคริสต์โดยวิธีใด?
18 การฟังพระเยซูหมายรวมถึง ‘การเพ่งมองพระองค์ พิจารณาดูตัวอย่างของพระองค์.’ (ฮีบรู 12:2, 3) ด้วยเหตุนั้น เราควร ‘เอาใจใส่ให้มากกว่าปกติ’ ในสิ่งที่เราอ่านเกี่ยวกับพระองค์ในคัมภีร์ไบเบิลและในหนังสือต่าง ๆ ที่มาจาก “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” รวมถึงสิ่งที่เราได้ยินเกี่ยวกับพระองค์ในการประชุมคริสเตียน. (ฮีบรู 2:1; มัด. 24:45) ให้เรากระตือรือร้นที่จะฟังพระเยซูผู้บำรุงเลี้ยงของเราและติดตามพระองค์.—โย. 10:27
19. อะไรจะช่วยเราให้ติดตามพระคริสต์ต่อ ๆ ไป?
19 เราจะติดตามพระคริสต์ต่อ ๆ ไปได้ไหมแม้เมื่อเผชิญความยุ่งยากลำบาก? เราทำอย่างนั้นได้ถ้าเรา “ยึดถือแบบแผนถ้อยคำที่ก่อประโยชน์” ด้วยการใช้สิ่งที่เราเรียนรู้ “ด้วยความเชื่อและความรักอันเกี่ยวเนื่องกับพระคริสต์เยซู.”—2 ติโม. 1:13
คุณได้เรียนอะไร?
• เหตุใดการติดตาม “พระคริสต์” จึงสามารถทำให้เราใกล้ชิดพระยะโฮวามากขึ้น?
• เหตุใดการเลียนแบบพระเยซูจึงเทียบเท่ากับการเลียนแบบพระยะโฮวา?
• พระเยซูทรงเป็น “ทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต” อย่างไร?
• เหตุใดเราควรฟังผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวา?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 29]
คำสอนของพระเยซูสะท้อนให้เห็นความคิดอันสูงส่งของพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 30]
เราต้องติดตามผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์
[ภาพหน้า 32]
พระยะโฮวาทรงประกาศว่า “นี่คือบุตรของเรา . . . จงฟังท่านเถิด”