ฉันจะตอบแทนคุณพระยะโฮวาอย่างไรได้?
ฉันจะตอบแทนคุณพระยะโฮวาอย่างไรได้?
เล่าโดย รูท ดันเนอร์
แม่เคยพูดด้วยอารมณ์ขันว่าปี 1933 เป็นปีหายนะ ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นมามีอำนาจ สันตะปาปาประกาศให้ปีนั้นเป็นปีศักดิ์สิทธิ์ และฉันถือกำเนิดในปีนั้น.
พ่อแม่ของฉันอาศัยอยู่ในเมืองยุทซ์ แคว้นลอร์เรน ภูมิภาคที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส มีชายแดนติดประเทศเยอรมนี. แม่ผู้เคร่งศาสนาคาทอลิกได้แต่งงานกับพ่อซึ่งนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ในปี 1921. เฮเลนพี่สาวฉันเกิดปี 1922 ขณะเธอเป็นทารก พ่อกับแม่ได้นำเธอไปรับศีลบัพติสมา ณ โบสถ์คาทอลิก.
วันหนึ่งในปี 1925 พ่อได้รับหนังสือพิณของพระเจ้า ภาษาเยอรมัน. จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ พ่อเชื่อมั่นว่าท่านพบความจริงเข้าแล้ว. ท่านจึงได้เขียนถึงผู้พิมพ์ ซึ่งทำให้พ่อได้ติดต่อบีเบลฟอร์เชอร์ (นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล) ชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้นในเยอรมนี. พ่อไม่รอช้า ท่านลงมือเผยแพร่สิ่งที่ตัวเองค้นพบ. แต่แม่ไม่สบายใจที่พ่อทำเช่นนั้น. แม่จะพูดด้วยสำเนียงเหน่อ ๆ แบบเยอรมันว่า “ทำอะไรก็แล้วแต่คุณพอใจ แต่อย่าไปติดตามพวกบีเบลฟอร์เชอร์ เชียวนะ!” ถึงอย่างไร พ่อได้ตัดสินใจไปแล้ว และในปี 1927 ท่านได้รับบัพติสมาเป็นหนึ่งในพวกนั้น.
ผลที่ตามมา ยายของฉันพยายามเกลี้ยกล่อมแม่ให้หย่า. วันหนึ่ง ณ พิธีมิสซา บาทหลวงประกาศเตือนบรรดาสมาชิกของตนให้ “อยู่ห่างดันเนอร์ผู้พยากรณ์เท็จ.” เมื่อกลับถึงบ้านหลังเสร็จพิธีมิสซา ยายได้ทุ่มกระถางดอกไม้ใส่พ่อจากชั้นบนของบ้าน. กระถางหนักใบนั้นหล่นลงมากระแทกไหล่พ่ออย่างจัง เกือบโดนหัวพ่อ. เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้แม่ได้แง่คิดว่า ‘ศาสนาใดชักนำคนให้เป็นฆาตกรจะเป็นศาสนาที่ดีไม่ได้.’ แม่หันมาสนใจอ่านหนังสือต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวา. ไม่นาน แม่ก็เชื่อมั่นว่าตัวเองได้พบความจริง และรับบัพติสมาในปี 1929.
พ่อแม่ของฉันได้พยายามเต็มที่เพื่อจะช่วยฉันและพี่สาวให้รู้จักพระยะโฮวาในฐานะเป็นบุคคลจริง ๆ. ท่านอ่านเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลแล้วถามเราสองคนว่าเหตุใดบุคคลในพระคัมภีร์จึงได้กระทำเช่นนั้น. ในช่วงนั้น พ่อปฏิเสธงานกะกลางคืน แม้การตัดสินใจของท่านทอนรายได้ของครอบครัวลงไปมากก็ตาม. พ่อต้องการเวลาสำหรับการประชุมคริสเตียน, งานเผยแพร่, และการศึกษากับลูก ๆ.
วิกฤตการณ์เริ่มส่อเค้า
พ่อแม่ของฉันแสดงความเอื้อเฟื้ออย่างสม่ำเสมอ โดยการต้อนรับผู้ดูแลเดินทางและสมาชิกครอบครัวเบเธลจากสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศสให้มาพักที่บ้าน พวกเขาได้เล่าความยากลำบากต่าง ๆ ที่เพื่อนร่วมความเชื่อประสบในเยอรมนี ทั้ง ๆ ที่อยู่ห่างจากบ้านของเราเพียงไม่กี่กิโลเมตร. ช่วงนั้น รัฐบาลนาซีเนรเทศพยานพระยะโฮวาไปยังค่ายกัก
กัน และพรากเด็ก ๆ ไปจากพ่อแม่ที่เป็นพยานพระยะโฮวา.ฉันและเฮเลนเตรียมตัวเตรียมใจไว้พร้อมจะรับมือความยากลำบากอันแสนสาหัสซึ่งรออยู่เบื้องหน้า. พ่อแม่ของเราได้ช่วยเราให้จดจำข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ไว้เป็นเครื่องนำทาง. ท่านจะบอกว่า “ถ้าลูกไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ให้นึกถึงสุภาษิต 3: 5, 6. ถ้าลูกกลัวการทดสอบใด ๆ ที่โรงเรียน ให้ใช้ 1 โครินท์ 10:13. หากถูกพรากตัวจากพ่อแม่ ให้ท่องสุภาษิต 18:10.” ฉันท่องจำบทเพลงสรรเสริญบท 23 และบท 91 จนขึ้นใจ และเกิดความไว้วางใจว่าพระยะโฮวาจะคุ้มครองฉันเสมอ.
ปี 1940 เยอรมนีสมัยนาซีผนวกแคว้นอัลซาซ-ลอร์เรนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเขตแดนเยอรมนี และระบอบการปกครองใหม่นี้กำหนดให้ผู้ใหญ่ทุกคนเข้าร่วมพรรคนาซี. พ่อไม่ยอมและตำรวจลับเกสตาโปได้ข่มขู่จะจับพ่อ. ครั้นแม่ไม่ยอมเย็บชุดเครื่องแบบทหาร เกสตาโปก็เริ่มข่มขู่ท่านเช่นกัน.
โรงเรียนกลายเป็นฝันร้ายสำหรับฉันเสียแล้ว. แต่ละวัน ชั้นเรียนของเราเริ่มด้วยการอธิษฐานเพื่อฮิตเลอร์ กล่าวสดุดี “ไฮล์ ฮิตเลอร์” และร้องเพลงชาติพร้อมกับเหยียดแขนขวาออก. แทนที่จะห้ามฉันกล่าวสดุดีฮิตเลอร์ พ่อแม่ได้ฝึกอบรมฉันให้มีสติรู้สึกผิดชอบ. ดังนั้น การไม่ยอมสดุดีฮิตเลอร์จึงเป็นการตัดสินใจของฉันเอง. ฉันถูกครูตบหน้าและขู่ขับไล่ฉันออกจากโรงเรียน. คราวหนึ่ง ตอนอายุเจ็ดขวบ ฉันต้องยืนต่อหน้าครูทั้ง 12 คนในโรงเรียน. ครูเหล่านั้นพยายามบังคับฉันให้สดุดีฮิตเลอร์. ถึงกระนั้น ฉันยืนหยัดมั่นคงโดยอาศัยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา.
ครูคนหนึ่งเริ่มพยายามโน้มน้าวฉันให้คล้อยตาม. เธอบอกว่าฉันเป็นนักเรียนที่ดี เธอชอบฉันมาก ๆ และคงจะเสียใจหากฉันถูกไล่ออก. เธอพูดทำนองนี้: “หนูไม่จำเป็นต้องเหยียดแขนให้ตรงก็ได้ แค่ยกแขนนิดหน่อย ไม่ต้องพูด ‘ไฮล์ ฮิตเลอร์!’ แสร้งทำท่าขยับปากเท่านั้นเอง.”
เมื่อฉันเล่าให้แม่ฟังว่าครูได้แนะนำอย่างไร แม่เตือนสติฉันให้นึกถึงเด็กหนุ่มชาวฮีบรูสามคนยืนอยู่เบื้องหน้ารูปเคารพที่กษัตริย์บาบิโลนตั้งขึ้น. แม่ถามฉันว่า “เด็กหนุ่มสามคนนั้นถูกคาดหมายให้ทำอะไร? ฉันตอบว่า “คุกเข่าทำความเคารพ.” แม่ถามต่อ “ถ้าพวกเขาโน้มตัวลงต่อหน้ารูปเคารพเพียงชั่วครู่ ทว่าก้มลงผูกเชือกรองเท้า การทำเช่นนั้นถูกไหม? ลูกตัดสินใจเอาเอง ทำสิ่งที่ลูกคิดว่าถูกต้อง.” ฉันตัดสินใจจะทำอย่างซัดรัค เมเซ็คและอะเบ็ดนะโค คือถวายความจงรักภักดีแด่พระยะโฮวาองค์เดียว.—ดานิ. 3:1, 13-18
ครูเคยไล่ฉันออกโรงเรียนหลายครั้ง และยังได้ข่มขู่จะพรากฉันไปจากพ่อแม่. ฉันวิตกกังวลมาก แต่พ่อแม่คอยให้กำลังใจฉันเสมอ. เมื่อฉันจะออกจากบ้านไปโรงเรียน แม่ได้อธิษฐานกับฉัน โดยทูลขอพระยะโฮวาช่วยคุ้มครอง. ฉันรู้ว่าพระองค์จะเสริมกำลังฉันให้ยืนหยัดมั่นคงเพื่อความจริง. (2 โค. 4:7) พ่อบอกฉันว่าหากถูกกดดันมาก ๆ อย่ากลัวที่จะกลับบ้าน. พ่อพูดว่า “พ่อกับแม่รักลูก. ลูกยังคงเป็นลูกของพ่อแม่เสมอ. นี่คือประเด็นสำคัญระหว่างลูกกับพระยะโฮวา.” คำพูดของพ่อเป็นกำลังเสริมความปรารถนาของฉันที่จะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง.—โยบ 27:5
เกสตาโปเข้ามาในบ้านเราบ่อยครั้งเพื่อค้นหาหนังสือของพยานฯ และคอยสอบสวนพ่อแม่อยู่เรื่อย ๆ. พวกเขามักจะพาแม่ออกไปจากบ้านนานหลายชั่วโมง และแวะไปเอาตัวพ่อและพี่สาวฉันจากที่ทำงานเช่นกัน. ฉันไม่มีทางรู้เลยว่าแม่จะอยู่บ้านหรือเปล่าเมื่อฉันกลับบ้านหลังเลิกเรียน. บางครั้งเพื่อนบ้านใกล้เคียงจะบอกว่า “ตำรวจเอาตัวแม่ไป.” แล้วฉันก็จะหลบซ่อนอยู่ในบ้าน ถามตัวเองว่า ‘เขากำลังทรมานแม่หรือเปล่า? ฉันจะเห็นหน้าแม่อีกไหม?’
การเนรเทศ
วันที่ 28 มกราคม 1943 เกสตาโปได้ปลุกเราตอนตีสามครึ่ง. พวกเขาบอกว่าถ้าพ่อแม่และพี่สาวรวมถึงฉันด้วยเข้าร่วมพรรคนาซี พวกเราจะไม่ถูกเนรเทศ. เขาให้เวลาเราเตรียมตัวสามชั่วโมง. แม่พร้อมรับมือสถานการณ์นี้อยู่แล้ว โดยบรรจุเสื้อผ้าคนละชุดสำหรับผลัดเปลี่ยนและพระคัมภีร์เล่มหนึ่งไว้ในเป้ ฉะนั้น เราใช้โอกาสในช่วงนั้นอธิษฐานและโรม 8:35-39
หนุนใจซึ่งกันและกัน. พ่อเตือนเราให้ระลึกว่า ‘ไม่มีสิ่งใดจะพรากเราจากความรักของพระเจ้าได้.’—พวกเกสตาโปหวนกลับมาจริง ๆ. ฉันไม่มีวันลืมอังกลาด พี่น้องหญิงสูงอายุขณะโบกมือลาพวกเราด้วยน้ำตาคลอเบ้า. เกสตาโปขับรถนำพวกเราไปยังสถานีรถไฟที่เมตซ์. หลังจากอยู่บนรถไฟนานสามวัน เราก็มาถึงคอคโววิเซ ค่ายบริวารแห่งหนึ่งของเอาชวิทซ์ในโปแลนด์. สองเดือนต่อมา พวกเราถูกย้ายไปที่กลิวิเซ สำนักชีคาทอลิกซึ่งถูกดัดแปลงเป็นค่ายแรงงาน. พวกนาซีบอกเราว่าถ้าแต่ละคนเซ็นชื่อในเอกสารปฏิเสธความเชื่อของเรา เขาจะปล่อยเราเป็นอิสระและคืนข้าวของให้. พ่อกับแม่ไม่ยินยอม และทหารเหล่านั้นพูดว่า “พวกแกจะไม่มีวันได้กลับบ้าน.”
เดือนมิถุนายน พวกเราถูกย้ายไปที่นิคมชเวนโทคโววิเซ ฉันเริ่มปวดศีรษะและยังปวดเรื่อยมากระทั่งทุกวันนี้. เนื่องจากนิ้วมือฉันติดเชื้อ หมอจึงต้องถอดเล็บออกตั้งหลายเล็บโดยไม่มีการวางยาชา. หากมองในด้านดี การได้ทำงานเป็นเด็กเดินหนังสือให้พวกผู้คุมทำให้ฉันได้แวะไปที่โรงทำขนมปังบ่อย ๆ. ที่นั่น ผู้หญิงคนหนึ่งมักจะหยิบยื่นของกินให้ฉัน.
จนกระทั่งถึงวันนั้น พวกเราอยู่รวมกันเป็นครอบครัว แยกต่างหากจากนักโทษคนอื่น ๆ. เดือนตุลาคม ปี 1943 เราถูกส่งไปที่ค่ายซับโควิเซ. พวกเรานอนบนเตียงสองชั้นในห้องใต้หลังคา อยู่รวมกับคนอื่น ๆ อีกประมาณ 60 คนซึ่งมีทั้งผู้ชาย, ผู้หญิง, และเด็ก. หน่วยเอสเอสของนาซีจงใจให้เรากินอาหารที่เหม็นบูดแล้วและแทบจะกินไม่ได้.
แม้ยากลำบากแค่ไหน เราไม่เคยรู้สึกสิ้นหวัง. ก่อนหน้านั้นเราเคยอ่านในวารสารหอสังเกตการณ์ เกี่ยวกับงานประกาศครั้งใหญ่ที่ต้องทำให้สำเร็จหลังสงครามสงบลง. ดังนั้น เรารู้เหตุผลที่เราทนทุกข์และอีกไม่ช้าไม่นานความทุกข์ยากของเราจะสิ้นสุด.
รายงานข่าวการรุกเข้ามาของกองทัพฝ่ายพันธมิตรทำให้เรารู้ว่านาซีกำลังพ่ายแพ้. ต้นปี 1945 หน่วยเอสเอสตัดสินใจทิ้งค่ายของเรา. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ทหารนาซีบังคับพวกเราให้เดินเป็นระยะทางเกือบ 240 กิโลเมตร. สี่สัปดาห์ผ่านไป เราได้มาถึงเมืองชไทน์เฟลส์ ประเทศเยอรมนี ที่นี่ผู้คุมได้ต้อนพวกนักโทษลงไปรวมกันในเหมือง. หลายคนคิดว่าเราจะถูกฆ่า. แต่ฝ่ายพันธมิตรก็มาถึงวันนั้นพอดี หน่วยเอสเอสหลบหนีไปหมด และความทุกข์ยากของเราเป็นอันยุติ.
พยายามบรรลุเป้าหมาย
เวลาผ่านไปเกือบสองปีครึ่ง วันที่ 5 พฤษภาคม 1945 พวกเราก็กลับมาถึงบ้านในเมืองยุทซ์ ในสภาพมอมแมมและมีเหาเต็มหัว. เราไม่ได้ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้น เราตัดสินใจเผาเสื้อผ้าเก่า ๆ เหล่านั้นทิ้งไป. ฉันจำคำพูดของแม่ที่บอกว่า “ขอให้วันนี้เป็นวันที่น่ายินดีอย่างยิ่งในชีวิตของลูกนะ. เราไม่มีอะไรเลย. แม้แต่เสื้อผ้าที่เราใส่ก็ไม่ใช่ของเรา. กระนั้น พวกเราทั้งสี่คนได้กลับบ้านด้วยความซื่อสัตย์. พวกเราไม่ได้ประนีประนอม.”
หลังจากพักฟื้นสามเดือนในสวิตเซอร์แลนด์ ฉันก็กลับเข้าโรงเรียนอีก และไม่กลัวจะถูกขับไล่อีกต่อไป. เราสามารถเข้าร่วมประชุมนมัสการกับพี่น้องคริสเตียนและประกาศอย่างเปิดเผย. วันที่ 28 สิงหาคม 1947 เมื่ออายุ 13 ปี ฉันได้แสดงตนอย่างเปิดเผยตามที่ได้ปฏิญาณต่อพระยะโฮวาเมื่อหลายปีก่อน. พ่อเป็นผู้ให้บัพติสมาแก่ฉันในแม่น้ำโมเซลล์. ฉันต้องการเข้าสู่งานไพโอเนียร์ทันที แต่พ่อขอให้ฉันเรียนวิชาชีพก่อน. ดังนั้น ฉันได้เลือกเรียนเป็นช่างเย็บผ้า. ปี 1951 เมื่ออายุ 17 ปี ฉันถูกแต่งตั้งเป็นไพโอเนียร์รับใช้ในชุมชนตียงวิลล์ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ.
ปีนั้นเอง ฉันได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่แห่งหนึ่งในปารีสและยื่นใบสมัครเพื่อรับใช้เป็นมิชชันนารี. อายุฉันตอนนั้นยังไม่ถึงเกณฑ์ แต่บราเดอร์นาทาน นอรร์บอกว่าท่านจะรับใบสมัครของฉันไว้ “สำหรับคราวหน้า.” เดือนมิถุนายน 1952 ฉันได้รับเชิญไปเรียนในรุ่น 21 ของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด ซึ่งตั้งอยู่ที่เซาท์แลนซิง รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา.
กิเลียดและชีวิตฉันหลังจากนั้น
ประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต! ฉันมักพบว่าการจะพูดภาษาของตัวเองต่อหน้าผู้คนนั้นยากอยู่แล้ว. บัดนี้ฉันต้องพูดภาษาอังกฤษ. ถึงกระนั้น บรรดาผู้สอนก็ได้สนับสนุนฉันด้วยความรัก. บราเดอร์คนหนึ่งตั้งชื่อเล่นให้ฉันว่าราชอาณาจักรยิ้ม เนื่องจากฉันมีรอยยิ้มบนใบหน้าขณะที่รู้สึกขวยเขิน.
วันที่ 19 กรกฎาคม 1953 เป็นวันที่พวกเรารับประกาศนียบัตร ซึ่งจัดขึ้น ณ สนามกีฬาแยงกีในนครนิวยอร์ก ฉันได้รับมอบหมายให้ไปปารีสกับไอดา กันดูโซ (ภายหลังใช้นามสกุลสามีคือแซนนอบอส). การประกาศเผยแพร่แก่ชาวปารีสผู้มั่งคั่งนั้นเป็นเรื่องน่าตระหนก แต่ฉันก็สามารถนำการศึกษาพระคัมภีร์กับผู้คนจำนวนมากที่ถ่อมตัว. หลังจากไอดาแต่งงานปี 1956 เธอได้ย้ายไปรับใช้ในแอฟริกา แต่ฉันยังคงอยู่ในปารีส.
ปี 1960 ฉันแต่งงานกับบราเดอร์จากเบเธล และเราได้รับใช้ฐานะไพโอเนียร์พิเศษในเขตโชมองต์และวีชี. ห้าปีต่อมา ฉันติดเชื้อวัณโรคจึงต้องหยุดงานไพโอเนียร์. ฉันรู้สึกแย่มาก ๆ เพราะตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เป้าหมายของฉันคือรับใช้เต็มเวลาและจะคงทำอยู่เรื่อยไป. ตอนหลัง สามีทิ้งฉันไปหาหญิงอื่น. การเกื้อหนุนของพี่น้องชายหญิงฝ่ายวิญญาณได้ช่วยฉันตลอดเวลาหลายปีที่มืดมน และพระยะโฮวาทรงแบกภาระของฉันเสมอมา.—เพลง. 68:19
เวลานี้ฉันอาศัยอยู่ในเมืองลูวีเย แคว้นนอร์มังดี ใกล้สำนักงานสาขาฝรั่งเศส. แม้จะมีปัญหาด้านสุขภาพ แต่ก็มีความสุขที่เห็นว่าพระยะโฮวาทรงมีส่วนช่วยเหลือในชีวิตของฉัน. การถูกอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็กเป็นประโยชน์แก่ฉันตราบเท่าทุกวันนี้โดยให้มีทัศนะที่ถูกต้อง. พ่อแม่เคยสอนฉันว่าพระยะโฮวาเป็นบุคคลจริง ๆ ผู้ซึ่งฉันจะรัก จะเฝ้าทูลได้ทุกเวลา และเป็นผู้ตอบคำอธิษฐานของฉัน. ที่จริง “ข้าพเจ้าจะเอาอะไรตอบแทนพระเจ้าได้ เนื่องจากพระราชกิจอันมีพระคุณต่อข้าพเจ้า.”—เพลง. 116:12, ฉบับ R73
[คำโปรยหน้า 6]
“ฉันมีความสุขที่เห็นว่าพระยะโฮวาทรงมีส่วนช่วยเหลือในชีวิตของฉัน”
[ภาพหน้า 5]
ฉันสวมหน้ากากกันแก๊สพิษ เมื่ออายุหกขวบ
[ภาพหน้า 5]
กับมิชชันนารีและ ไพโอเนียร์ที่ลักเซมเบิร์ก ในคราวรณรงค์เผยแพร่พิเศษเมื่ออายุ 16 ปี
[ภาพหน้า 5]
กับพ่อและแม่ ณ การประชุมใหญ่ในปี 1953