ทำไมจึงมอบหมายงานและทำอย่างไร?
ทำไมจึงมอบหมายงานและทำอย่างไร?
การมอบหมายงานมีประวัติยาวนานกว่าโลกของเรา. พระยะโฮวาทรงสร้างพระบุตรองค์เดียวแล้วก็ให้พระบุตรเป็น “นายช่าง” ในการสร้างเอกภพ. (สุภา. 8:22, 23, 30, ฉบับ R73; โย. 1:3) เมื่อพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์คู่แรก พระองค์ทรงมีรับสั่งกับพวกเขาว่า “จงบังเกิดทวีมากขึ้นทั่วทั้งแผ่นดิน; จงมีอำนาจเหนือแผ่นดิน.” (เย. 1:28) พระผู้สร้างทรงมอบหมายงานให้มนุษย์ขยายสวนเอเดนจนเต็มแผ่นดินโลก. ดังนั้น มีการมอบหมายงานในองค์การของพระยะโฮวาตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว.
การมอบหมายงานเกี่ยวข้องกับอะไร? เหตุใดคริสเตียนผู้ปกครองควรเรียนรู้ที่จะมอบหมายงานบางอย่างในประชาคมแก่คนอื่น ๆ และพวกเขาจะทำอย่างนั้นได้โดยวิธีใด?
การมอบหมายงานคืออะไร?
“มอบหมาย” หมายถึง “กำหนดให้ทำ.” (พจนานุกรมฉบับมติชน) การมอบหมายงานจึงหมายถึงการกำหนดให้ใครคนหนึ่งเป็นตัวแทนและมอบหน้าที่รับผิดชอบหรืออำนาจให้ทำงานอย่างหนึ่ง. ดังนั้น เพื่อจะมอบหมายงานคุณต้องให้คนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อจะทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย. เมื่อเป็นอย่างนั้นจึงเป็นเรื่องแน่นอนว่าต้องมีการมอบอำนาจ.
คนที่ได้รับมอบงานให้ทำในประชาคมคริสเตียนถูกคาดหมายว่าเขาจะทำงานมอบหมายให้สำเร็จ รายงานความก้าวหน้า และตามปกติแล้วเขาควรปรึกษากับคนที่มอบหมายงานให้เขา. อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบพื้นฐาน
เป็นของพี่น้องชายที่ได้รับการแต่งตั้งซึ่งเป็นผู้มอบหมายงานนั้น. เขาจำเป็นต้องติดตามดูความก้าวหน้า และให้คำแนะนำเมื่อจำเป็น. อย่างไรก็ตาม บางคนอาจถามว่า ‘ทำไมจึงมอบหมายงานให้คนอื่นทำในเมื่อคุณทำด้วยตัวคุณเองได้?’ทำไมจึงมอบหมายงาน?
ขอให้นึกถึงการที่พระยะโฮวาทรงสร้างพระบุตรองค์เดียวและมอบหมายให้พระบุตรร่วมสร้างสิ่งอื่นทั้งหมด. “พระองค์เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงใช้ให้สร้างสิ่งอื่นทั้งหมดในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก ทั้งสิ่งที่ประจักษ์แก่ตาและไม่ประจักษ์แก่ตา.” (โกโล. 1:16) พระผู้สร้างทรงสามารถทำทุกสิ่งด้วยพระองค์เอง แต่พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยให้พระบุตรมีส่วนร่วมในความยินดีที่เกิดจากงานสร้าง. (สุภา. 8:31) การที่พระเจ้าทรงทำอย่างนี้ช่วยพระบุตรให้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระองค์. ในแง่หนึ่ง พระบิดาทรงใช้โอกาสนี้เพื่อฝึกพระบุตรองค์เดียวของพระองค์.
เมื่อทรงอยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูคริสต์ทรงเลียนแบบพระบิดาในเรื่องการมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบ. พระองค์ทรงฝึกเหล่าสาวกเป็นขั้น ๆ. พระองค์ทรงส่งอัครสาวก 12 คน และต่อมาก็ส่งสาวกอีก 70 คน ให้ล่วงหน้าพระองค์ไปเพื่อเป็นกองหน้าในงานประกาศ. (ลูกา 9:1-6; 10:1-7) ภายหลังเมื่อพระเยซูไปถึงที่เหล่านั้น ก็มีการวางพื้นฐานไว้แล้วให้พระองค์สานต่อได้. เมื่อจะจากแผ่นดินโลกไป พระเยซูทรงมอบหมายงานอื่น ๆ ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งก็รวมถึงงานประกาศทั่วโลก แก่เหล่าสาวกที่พระองค์ทรงฝึก.—มัด. 24:45-47; กิจ. 1:8
การมอบหมายและการฝึกอบรมกลายมาเป็นลักษณะเฉพาะที่ทำกันเป็นปกติในประชาคมคริสเตียน. อัครสาวกเปาโลบอกติโมเธียวว่า “จงมอบให้แก่คนที่ซื่อสัตย์ผู้ซึ่งมีคุณวุฒิเพียงพอจะสอนสิ่งเหล่านี้แก่คนอื่นด้วย.” (2 ติโม. 2:2) ดังนั้น คนที่มีประสบการณ์ต้องฝึกคนอื่น ๆ และคนเหล่านั้นก็จะฝึกคนอื่น ๆ ต่อไป.
ด้วยการมอบงานบางอย่างที่ตนเองได้รับมอบหมายให้คนอื่นช่วยทำ ผู้ปกครองสามารถแบ่งปันความยินดีซึ่งเกิดจากการสอนและการบำรุงเลี้ยงแก่คนอื่น ๆ. เมื่อตระหนักว่ามนุษย์เรามีความสามารถจำกัด ผู้ปกครองก็ยิ่งมีเหตุผลมากขึ้นที่จะขอให้คนอื่นช่วยทำหน้าที่บางอย่างในประชาคม. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “สติปัญญาอยู่กับคนเจียมตัว.” (สุภา. 11:2, ล.ม.) ความเจียมตัวหมายรวมถึงการตระหนักถึงข้อจำกัดของตน. ถ้าคุณพยายามทำทุกสิ่งด้วยตัวคุณเอง คุณอาจหมดเรี่ยวแรงและไม่ได้ให้เวลากับครอบครัวอย่างที่ควรทำ. ดังนั้น เป็นแนวทางที่ฉลาดสุขุมจริง ๆ ที่จะให้คนอื่นช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่. ตัวอย่างเช่น พี่น้องที่รับใช้เป็นผู้ประสานงานคณะผู้ปกครองอาจขอผู้ปกครองคนอื่น ๆ ให้ตรวจบัญชีของประชาคม. เมื่อมีโอกาสได้ตรวจบัญชี ผู้ปกครองเหล่านั้นก็จะมีโอกาสได้รู้สถานะทางการเงินของประชาคมดีขึ้น.
ในขณะที่การมอบหมายงานเปิดโอกาสให้คนอื่น ๆ ได้พัฒนาความสามารถและประสบการณ์ที่จำเป็น การมอบหมายงานยังทำให้ผู้มอบหมายมีโอกาสสังเกตเห็นความสามารถของคนที่ได้รับมอบงานด้วย. ด้วยเหตุนั้น ด้วยการมอบหมายหน้าที่อย่างเหมาะสมในประชาคม ผู้ปกครองสามารถทดลอง “ดูความเหมาะสม” ว่าใครอาจเป็นผู้ช่วยงานรับใช้ได้ในอนาคต.—1 ติโม. 3:10
ประการสุดท้าย ด้วยการมอบหมายงาน ผู้ปกครองแสดงให้เห็นว่าเขาไว้วางใจคนอื่น. เปาโลฝึกติโมเธียวด้วยการทำงานด้วยกันในงานมิชชันนารี. ทั้งสองพัฒนาสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนม. เปาโลเรียกติโมเธียวว่า “บุตร1 ติโม. 1:2) คล้ายกัน สายสัมพันธ์อันมั่นคงเหนียวแน่นถูกหล่อหลอมขึ้นระหว่างพระยะโฮวากับพระเยซูขณะที่พระองค์ทั้งสองทำงานด้วยกันในการสร้างสิ่งอื่นทั้งหมด. ด้วยการมอบหมายคนอื่นให้ดูแลงาน ผู้ปกครองสามารถพัฒนาสายสัมพันธ์ที่อบอุ่นกับพี่น้องเหล่านั้น.
แท้ในความเชื่อ.” (เหตุใดบางคนจึงลังเล?
แม้รู้ว่ามีประโยชน์หลายอย่าง แต่ผู้ปกครองบางคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่เขาจะมอบหมายงาน ซึ่งก็อาจเป็นเพราะรู้สึกว่าเขาจะมีอำนาจน้อยลง. เขาอาจคิดว่าเขาเองต้องเป็นคนที่คอยควบคุมเสมอ. กระนั้น อย่าลืมว่าก่อนเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ พระเยซูทรงมอบอำนาจให้เหล่าสาวกทำงานมอบหมายที่สำคัญมาก โดยที่พระองค์ทรงรู้อยู่ตลอดว่าพวกเขาจะบรรลุผลสำเร็จในการทำงานที่ยิ่งใหญ่กว่าพระองค์!—มัด. 28:19, 20; โย. 14:12
ผู้ปกครองคนอื่น ๆ อาจเคยมอบหมายงานให้คนอื่น แต่ไม่ได้ผลที่น่าพอใจ. เขาอาจรู้สึกว่าถ้าเขาทำงานนั้นเองจะทำได้ดีกว่าและเร็วกว่า. ถึงกระนั้น ขอให้พิจารณาตัวอย่างของเปาโล. ท่านรู้ว่าการมอบหมายงานมีประโยชน์ แต่ท่านก็ตระหนักด้วยว่าคนที่ได้รับการฝึกจะไม่สามารถทำงานอย่างที่คาดหมายได้เสมอไป. ในการเดินทางรอบแรกในฐานะมิชชันนารี เปาโลฝึกมาระโก เพื่อนร่วมเดินทางที่เป็นคนหนุ่ม. เปาโลรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งเพราะมาระโกทิ้งงานมอบหมายและกลับบ้าน. (กิจ. 13:13; 15:37, 38) ถึงกระนั้น นั่นไม่ได้ทำให้เปาโลเลิกฝึกคนอื่น. ดังได้กล่าวไปแล้ว ท่านเชิญติโมเธียว คริสเตียนหนุ่ม ให้เป็นเพื่อนร่วมเดินทางด้วยกันกับท่าน. เมื่อติโมเธียวพร้อมจะรับหน้าที่มอบหมายที่สำคัญมากขึ้น เปาโลก็ละเขาไว้ในเมืองเอเฟโซส์ มอบอำนาจให้เขาแต่งตั้งผู้ดูแลและผู้ช่วยงานรับใช้ในประชาคม.—1 ติโม. 1:3; 3:1-10, 12, 13; 5:22
คล้ายกัน ผู้ปกครองในสมัยปัจจุบันไม่ควรเลิกฝึกพี่น้องชายเพียงเพราะมีคนหนึ่งซึ่งทำได้ไม่ดี. การเรียนรู้ที่จะไว้ใจคนอื่น ๆ และฝึกพวกเขาเป็นการกระทำที่ฉลาดสุขุมและสำคัญ. แต่มีปัจจัยอะไรบ้างที่ผู้ปกครองควรคำนึงถึงเมื่อจะมอบหมายงาน?
วิธีมอบหมายงาน
ในการมอบหมายหน้าที่ ควรพิจารณาคุณสมบัติของพี่น้องที่คุณคิดจะมอบหมาย. เมื่อมีความจำเป็นต้องแจกจ่ายอาหารประจำวันในกรุงเยรูซาเลม เหล่าอัครสาวกเลือก “ชายเจ็ดคน . . . ซึ่งเป็นคนมีชื่อเสียงดี เปี่ยมด้วยพระวิญญาณและสติปัญญา.” (กิจ. 6:3) ถ้าคุณขอให้คนที่ไว้ใจไม่ได้ให้ทำงาน เขาอาจไม่ได้ทำงานนั้นเลยด้วยซ้ำ. ดังนั้น จงมอบหมายงานเล็ก ๆ ก่อน. เมื่อคนนั้นพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็นคนเอาจริงเอาจังในหน้าที่ เขาก็อาจพร้อมจะรับหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้นได้.
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งอื่นด้วยที่เกี่ยวข้อง. บุคลิกภาพและความสามารถของแต่ละคนแตกต่างกัน. ประสบการณ์ของแต่ละคนก็แตกต่างกันด้วย. พี่น้องชายคนหนึ่งที่อารมณ์ดีและเป็นมิตรอาจทำหน้าที่ผู้ต้อนรับได้ดี ในขณะที่พี่น้องชายที่เป็นคนมีระเบียบและมีความคิดเป็นระบบอาจเป็นประโยชน์ที่สุดในการช่วยงานเลขาธิการประชาคม. พี่น้องหญิงที่มีความถนัดทางศิลปะอาจได้รับมอบหมายให้จัดดอกไม้สำหรับการประชุมอนุสรณ์.
เมื่อมอบหมายหน้าที่ จงระบุให้ชัดเจนว่าคุณคาดหมายอะไร. ก่อนโยฮันผู้ให้บัพติสมาจะส่งคนไปถามพระเยซู ท่านอธิบายกับพวกเขาว่าท่านต้องการรู้อะไรและบอกด้วยว่าให้ถามอย่างไร. (ลูกา 7:18-20) ในทางตรงกันข้าม เมื่อพระเยซูทรงสั่งเหล่าสาวกให้เก็บอาหารที่เหลือจากการเลี้ยงฝูงชนด้วยวิธีอัศจรรย์ พระองค์ไม่ได้บอกเขาอย่างละเอียดว่าต้องทำอย่างไร. (โย. 6:12, 13) ควรอธิบายรายละเอียด มากน้อยแค่ไหนส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานและคุณสมบัติของผู้ช่วย. ทั้งคนที่มอบหมายและคนที่ได้รับเชิญให้ทำงานควรเข้าใจว่ามีการคาดหมายให้ผลงานออกมาอย่างไรและควรรายงานความก้าวหน้าของงานนั้นบ่อยเพียงใด. ทั้งสองฝ่ายควรรู้ว่าคนที่ทำงานนั้นสามารถใช้ดุลยพินิจของตนในงานนั้นมากน้อยขนาดไหน. ถ้างานนั้นจะต้องกำหนดวันแล้วเสร็จ การพูดคุยกันและตกลงกันเพื่อกำหนดวันที่ควรทำเสร็จ แทนที่จะรวบรัดกำหนดเอง ก็อาจก่อให้เกิดแรงกระตุ้นให้ทำงานได้ดีกว่า.
ควรจัดหาสิ่งต่าง ๆ ให้กับคนที่ได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะเป็นเงิน, เครื่องมือ, หรือความช่วยเหลือตามที่จำเป็น. อาจเป็นประโยชน์ที่จะให้คนอื่น ๆ รู้เรื่องการมอบหมายนั้น. เมื่อพระเยซูทรงมอบหมายเปโตรให้ถือ “ลูกกุญแจแห่งราช-อาณาจักรสวรรค์” พระองค์ทรงมอบหมายต่อหน้าสาวกคนอื่น ๆ. (มัด. 16:13-19) คล้ายกัน ในบางกรณี อาจดีที่จะให้ประชาคมรู้ว่าใครได้รับมอบหน้าที่ให้ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง.
มีข้อควรระวังด้วย. ถ้าคุณยังคงพยายามเข้าไปจัดการมากเกินไปกับงานที่คุณมอบหมายใครคนหนึ่งไปแล้ว ก็เหมือนกับการที่คุณพูดว่า “ผมไม่ค่อยไว้ใจคุณเท่าไรนัก.” จริงอยู่ บางครั้งผลงานอาจไม่ได้ออกมาอย่างที่คุณคาดหวังทุกอย่าง. กระนั้น ถ้าพี่น้องที่ได้รับมอบหมายมีอิสระพอสมควรในการทำงาน เขาคงมีความมั่นใจและมีประสบการณ์มากขึ้น. แน่นอน นี่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องสนใจว่าเขาจัดการอย่างไรกับงานนั้น. แม้ว่าพระยะโฮวาทรงมอบหน้าที่ในการสร้างแก่พระบุตร แต่พระองค์เองทรงร่วมด้วยในงานนั้น. พระองค์ตรัสกับนายช่างของพระองค์ว่า “จงให้เรา สร้างมนุษย์ตามแบบฉายาของเรา.” (เย. 1:26) ดังนั้น จงสนับสนุนงานที่มอบหมายให้คนอื่นไปแล้วทั้งทางคำพูดและการกระทำของคุณ และชมเชยคนที่คุณมอบหมายที่เขาพยายามทำงานอย่างดี. การทบทวนสั้น ๆ เกี่ยวกับผลงานที่ออกมาอาจช่วยเขาได้. ถ้าเขาทำงานนั้นอย่างไม่ถูกต้อง อย่าลังเลที่จะให้คำแนะนำหรือความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่เขา. จำไว้ว่า หน้าที่รับผิดชอบในขั้นสุดท้ายเป็นของคุณซึ่งเป็นผู้มอบหมายงาน.—ลูกา 12:48
หลายคนได้รับประโยชน์จากการที่ผู้ปกครอง ซึ่งสนใจพวกเขาอย่างแท้จริง มอบหมายงานของประชาคมให้พวกเขาทำ. อันที่จริง ผู้ปกครองทุกคนจำเป็นต้องเข้าใจว่าทำไมเขาควรมอบหมายงานและจะทำอย่างนั้นได้โดยวิธีใด เพราะนั่นเป็นการเลียนแบบพระยะโฮวา.
[กรอบหน้า 29]
การมอบหมายงานคือ
• วิธีหนึ่งในการแบ่งปันความยินดีที่เกิดจากการทำงานให้สำเร็จ
• วิธีหนึ่งที่ช่วยให้บรรลุผลสำเร็จมากขึ้น
• วิธีหนึ่งที่แสดงถึงความฉลาดสุขุมและความเจียมตัว
• วิธีหนึ่งในการฝึกคนอื่น ๆ
• วิธีหนึ่งในการแสดงความไว้วางใจผู้อื่น
[กรอบหน้า 30]
วิธีมอบหมายงาน
• เลือกคนที่เหมาะกับงาน
• อธิบายหรือสื่อความอย่างชัดเจน
• บอกให้ชัดเจนว่าควรทำอะไรให้บรรลุผลสำเร็จ
• จัดหาสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นให้
• สนใจงานนั้น และแสดงความไว้วางใจ
• พร้อมจะรับผิดชอบในขั้นสุดท้าย
[ภาพหน้า 31]
การมอบหมายงานรวมถึงการมอบงานให้คนอื่นทำแล้วคอยติดตามผล