รับด้วยความขอบคุณ—ให้อย่างสุดหัวใจ
รับด้วยความขอบคุณ—ให้อย่างสุดหัวใจ
พระยะโฮวา พระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรัก ทรงสนพระทัยเราเป็นส่วนตัว. พระคำของพระเจ้ารับรองกับเราว่าพระองค์ทรงห่วงใยผู้รับใช้ของพระองค์ทุกคนอย่างลึกซึ้ง. (1 เป. 5:7) วิธีหนึ่งที่พระยะโฮวาทรงแสดงความห่วงใยของพระองค์ก็คือโดยประทานความช่วยเหลือหลายรูปแบบเพื่อช่วยเราให้รับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์. (ยซา. 48:17) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราพบกับปัญหาที่ทำให้เราเป็นทุกข์ พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือที่พระองค์ทรงจัดให้. พระบัญญัติของโมเซแสดงให้เห็นความจริงดังกล่าว.
ภายใต้พระบัญญัตินั้น พระยะโฮวาทรงจัดให้มีความช่วยเหลือด้วยความรักแก่ผู้ทุกข์ยาก เช่น ลูกกำพร้า, หญิงม่าย, และคนต่างด้าว. (เลวี. 19:9, 10; บัญ. 14:29) พระองค์ทรงทราบว่าผู้รับใช้บางคนของพระองค์อาจจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนผู้นมัสการ. (ยโก. 1:27) ดังนั้น ผู้รับใช้ของพระองค์ไม่ควรมีใครลังเลที่จะรับความช่วยเหลือจากคนที่ถูกพระยะโฮวากระตุ้นให้ช่วยเหลืออย่างนั้น. ถึงกระนั้น เมื่อเรารับความช่วยเหลือ เราต้องการมีทัศนะที่ถูกต้อง.
ในขณะเดียวกัน พระคำของพระเจ้าเน้นว่าประชาชนของพระเจ้าก็มีโอกาสด้วยที่จะเป็นฝ่ายให้. ขอให้นึกถึงเรื่องราวของ “หญิงม่ายยากจน” ที่พระเยซูทรงสังเกตดู ณ พระวิหารในกรุงเยรูซาเลม. (ลูกา 21:1-4) เธอคงได้รับประโยชน์จากการจัดเตรียมอันเปี่ยมด้วยความรักของพระยะโฮวาสำหรับหญิงม่ายตามที่กล่าวไว้ในพระบัญญัติ. แต่แม้ว่าเธอยากจน ผู้คนจดจำหญิงม่ายคนนี้ได้ไม่ใช่ในฐานะผู้รับ แต่ในฐานะผู้ให้. น้ำใจในการให้ของเธอคงต้องทำให้เธอมีความสุขแน่ ๆ เพราะดังที่พระเยซูตรัสไว้ “การให้ทำให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.” (กิจ. 20:35) โดยนึกถึงความจริงดังกล่าวไว้ คุณอาจ “ให้แก่ผู้อื่น” และได้รับความสุขเป็นสิ่งตอบแทนได้โดยวิธีใด?—ลูกา 6:38
“ข้าพเจ้าจะเอาอะไรตอบแทนพระเจ้าได้?”
ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญสงสัยว่า “ข้าพเจ้าจะเอาอะไรตอบแทนพระเจ้าได้เนื่องจากบรรดาพระราชกิจอันมีพระคุณต่อข้าพเจ้า?” (เพลง. 116:12, ฉบับ R73) ท่านได้รับประโยชน์อะไรบ้าง? พระยะโฮวาได้ค้ำจุนท่านในช่วงที่มี “ความทุกข์และเสียใจ.” นอกจากนั้น พระยะโฮวายัง “ทรงช่วย [ท่าน] ให้พ้นจากความตาย.” ท่านจึงต้องการจะ “ตอบแทน” พระยะโฮวา. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญจะทำอะไรได้บ้าง? ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะแก้บนต่อพระยะโฮวา.” (เพลง. 116:3, 4, 8, 10-14) ท่านตั้งใจแน่วแน่ว่าจะรักษาคำปฏิญาณทุกอย่างที่ท่านได้ทำไว้กับพระยะโฮวาและทำตามพันธะหน้าที่ทั้งหมดที่ท่านมีกับพระองค์ให้สำเร็จลุล่วง.
คุณก็ทำอย่างนั้นได้เช่นกัน. โดยวิธีใด? โดยดำเนินชีวิตในแนวทางที่สอดคล้องกับกฎหมายและหลักการของพระเจ้าตลอดเวลา. ด้วยเหตุนั้น จงทำให้แน่ใจว่าการนมัสการพระยะโฮวาของคุณยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในชีวิตและคุณได้ให้พระวิญญาณของพระเจ้าชี้นำคุณในทุกสิ่งที่คุณทำ. ผู้ป. 12:13; กลา. 5:16-18) แน่นอน ในความเป็นจริงแล้วคุณไม่มีทางตอบแทนพระยะโฮวาได้หมดสำหรับทุกสิ่งที่พระองค์ได้ทำเพื่อคุณ. ถึงกระนั้น เป็นเรื่องที่ ‘ทำให้พระทัยพระยะโฮวายินดี’ ที่ทรงเห็นว่าคุณกำลังทุ่มเทตัวเองอย่างสุดหัวใจในการรับใช้พระองค์. (สุภา. 27:11) ช่างเป็นสิทธิพิเศษอันยอดเยี่ยมจริง ๆ ที่ได้ทำให้พระยะโฮวาทรงยินดีด้วยวิธีนี้!
(มีส่วนส่งเสริมสวัสดิภาพของประชาคม
ไม่ต้องสงสัยว่าคุณคงเห็นด้วยว่าคุณได้รับประโยชน์จากประชาคมคริสเตียนในหลายทาง. พระยะโฮวาทรงจัดให้มีอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างอุดมบริบูรณ์ทางประชาคม. คุณได้รับความจริงที่ทำให้คุณเป็นอิสระจากความเท็จทางศาสนาและความมืดฝ่ายวิญญาณ. (โย. 8:32) ในการประชุมประชาคม, การประชุมหมวด, และการประชุมภาคซึ่งจัดโดย “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” คุณได้รับความรู้ที่จะนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานซึ่งปราศจากความเจ็บปวดและความทุกข์. (มัด. 24:45-47) ผลประโยชน์ที่คุณได้รับแล้วโดยทางประชาคมของพระเจ้า—และที่ยังจะได้รับอีก—มีมากมายจนนับไม่หมด. คุณอาจให้อะไรแก่ประชาคมเป็นการตอบแทน?
อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ทุกส่วนของพระกายซึ่งเชื่อมต่อกันอย่างดีและประสานงานกันโดยที่ทุกข้อต่อให้สิ่งจำเป็นตามขนาดที่เหมาะสมกับหน้าที่ของอวัยวะแต่ละส่วนจึงทำให้พระกายเจริญเติบโตเพื่อให้พระกายเจริญขึ้นด้วยความรัก.” (เอเฟ. 4:15, 16) แม้ว่าในตอนแรกคัมภีร์ข้อนี้ใช้กับกายที่ประกอบด้วยคริสเตียนผู้ถูกเจิม แต่หลักการที่มีอยู่ในข้อนี้สามารถใช้ได้กับคริสเตียนทั้งหมดในปัจจุบัน. แต่ละคนในประชาคมสามารถมีส่วนส่งเสริมสวัสดิภาพและการเติบโตของประชาคม. โดยวิธีใด?
เราสามารถทำอย่างนั้นได้โดยพยายามหนุนใจและให้ความสดชื่นฝ่ายวิญญาณแก่คนอื่นเสมอ. (โรม 14:19) เราสามารถมีส่วนช่วยให้ “พระกายเจริญเติบโต” ด้วยการพัฒนาผลของพระวิญญาณของพระเจ้าในวิธีที่เราปฏิบัติต่อพี่น้องของเราในประชาคมได้ด้วย. (กลา. 5:22, 23) นอกจากนั้น เราสามารถมองหาโอกาสที่จะ “ทำดีต่อทุกคน โดยเฉพาะต่อผู้ที่มีความเชื่อเช่นเดียวกับเรา.” (กลา. 6:10; ฮีบรู 13:16) ทุกคนในประชาคม—พี่น้องไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่—สามารถมีส่วนร่วมในการทำให้ “พระกายเจริญขึ้นด้วยความรัก.”
นอกจากนั้น เราสามารถใช้ความสามารถของเรา, กำลังวังชา, และทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อร่วมในงานช่วยชีวิตที่ประชาคมทำ. พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “พวกเจ้าได้รับเปล่า ๆ.” เราควรตอบสนองอย่างไร? พระองค์ตรัสว่า “จงให้เปล่า ๆ.” (มัด. 10:8) ด้วยเหตุนั้น จงมีส่วนร่วมเต็มที่ในงานสำคัญนี้ คือการประกาศเรื่องราชอาณาจักรและทำให้คนเป็นสาวก. (มัด. 24:14; 28:19, 20) คุณมีข้อจำกัดในการทำอย่างนั้นไหม? ขอให้นึกถึงหญิงม่ายยากจนที่พระเยซูทรงพรรณนาถึง. สิ่งที่เธอให้นั้นน้อยมาก. ถึงกระนั้น พระเยซูตรัสว่าเธอได้ทำมากกว่าคนอื่น ๆ ทั้งหมด. เธอให้ทุกสิ่งตามที่สภาพของเธอจะให้ได้.—2 โค. 8:1-5, 12
รับด้วยทัศนะที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม อาจมีบางครั้งที่คุณจำเป็นต้องรับความช่วยเหลือจากประชาคม. อย่าลังเลที่จะรับความช่วยเหลือใด ๆ ที่ประชาคมเสนอให้เมื่อคุณพยายามรับมือกับความกดดันจากระบบนี้. พระยะโฮวาทรงจัดให้มีชายที่มีคุณวุฒิและมีความห่วงใยให้ “บำรุงเลี้ยงประชาคม”—เพื่อช่วยคุณเมื่อคุณถูกทดสอบและมีความทุกข์ลำบาก. (กิจ. 20:28) ผู้ปกครองและคนอื่น ๆ ในประชาคมต้องการปลอบโยน, เกื้อหนุน, และปกป้องคุณในช่วงเวลาที่ยุ่งยากลำบาก.—กลา. 6:2; 1 เทส. 5:14
อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณรับความช่วยเหลือที่จำเป็น คุณควรรับด้วยทัศนะที่ถูกต้อง. จงรับด้วยความขอบคุณเสมอสำหรับการเกื้อหนุนที่คุณได้รับ. จงถือว่าความช่วยเหลือที่เพื่อนร่วมความเชื่อให้แก่คุณเป็นการแสดงออกซึ่งพระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเจ้า. (1 เป. 4:10) เหตุใดนั่นนับว่าสำคัญ? เพราะเราไม่ต้องการรับด้วยท่าทีแบบเดียวกับหลายคนในโลกนี้ คือรับอย่างที่ไม่รู้สึกขอบคุณเลย.
จงสมดุลและมีเหตุผล
ในจดหมายถึงประชาคมในเมืองฟิลิปปอย เปาโลเขียนเกี่ยวกับติโมเธียวว่า “ข้าพเจ้าไม่มีใครที่มีน้ำใจเหมือนเขาซึ่งจะเอาใจใส่เรื่องของพวกท่านอย่างแท้จริง.” แต่หลังจากนั้นเปาโลก็กล่าวเพิ่มเติมว่า “คนอื่น ๆ ล้วนทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพระคริสต์เยซู.” (ฟิลิป. 2:20, 21) โดยจำข้อสังเกตที่จริงจังดังกล่าวของเปาโลไว้ พวกเราในปัจจุบันจะหลีกเลี่ยงการกลายเป็นคนหมกมุ่นมากเกินไปกับ “ประโยชน์ของตนเอง” ได้โดยวิธีใด?
เราไม่ควรเรียกร้องเมื่อเราขอให้คนอื่นในประชาคมสละเวลาและความเอาใจใส่ของเขาเพื่อช่วยเราจัดการกับปัญหาของเรา. ทำไมจึงไม่ควรทำอย่างนั้น? ขอให้คิดอย่างนี้: ไม่ต้องสงสัยว่าเราคงขอบคุณอย่างยิ่งถ้าพี่น้องคนหนึ่งให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุเพื่อช่วยเรารับมือกับเหตุฉุกเฉิน. แต่เราจะเรียกร้องให้เขาช่วยเหลือด้านวัตถุอยู่เรื่อย ๆ ไหม? แน่นอนว่าเราไม่ทำอย่างนั้น. คล้ายคลึงกัน แม้ว่าพี่น้องที่รักของเรายินดีช่วยเราเสมอ เราจำเป็นต้องสมดุลและมีเหตุผลเกี่ยวกับสิ่งที่เราคาดหมายให้พวกเขาใช้เวลากับเรา. ที่จริง ไม่ว่าเพื่อนร่วมความเชื่อทำอะไรก็ตามเพื่อช่วยเรารับมือในยามลำบาก เราคงต้องการให้พวกเขาทำอย่างเต็มใจ.
ไม่ต้องสงสัยว่าพี่น้องคริสเตียนของคุณอยู่พร้อมและเต็มใจช่วยคุณเสมอ. ถึงกระนั้น บางครั้งพวกเขาอาจไม่สามารถช่วยคุณได้ทุกอย่าง. ถ้าเป็นอย่างนั้น จงมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะค้ำจุนคุณ เช่นเดียวกับที่พระองค์ช่วยผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ไม่ว่าคุณประสบความยากลำบากอะไรก็ตาม.—เพลง. 116:1, 2; ฟิลิป. 4:10-13
ดังนั้น อย่าลังเลที่จะรับด้วยความรู้สึกขอบคุณสำหรับการจัดเตรียมใด ๆ ก็ตามที่พระยะโฮวาทรงทำเพื่อคุณ—โดยเฉพาะในยามทุกข์ยากลำบาก. (เพลง. 55:22) พระองค์ทรงประสงค์ให้คุณทำอย่างนั้น. อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงประสงค์ให้คุณเป็น “ผู้ที่ให้ด้วยใจยินดี” เช่นกัน. ด้วยเหตุนั้น จงให้อะไรก็ตามที่คุณให้ได้ตามสภาพการณ์ของคุณ “อย่างที่ [คุณ] มุ่งหมายไว้ในใจ” เพื่อสนับสนุนการนมัสการแท้. (2 โค. 9:6, 7) โดยวิธีนั้น คุณจะทำได้ทั้งสองอย่าง—รับด้วยความขอบคุณและให้อย่างสุดหัวใจ.
[กรอบ/รูปภาพหน้า 31]
“ข้าพเจ้าจะเอาอะไรตอบแทนพระเจ้าได้เนื่องจากบรรดาพระราชกิจอันมีพระคุณต่อข้าพเจ้า?”—เพลง. 116:12, ฉบับ R73
▪ หาโอกาส “ทำดีต่อทุกคน”
▪ หนุนใจและให้ความสดชื่นฝ่ายวิญญาณแก่คนอื่น ๆ
▪ เข้าร่วมอย่างเต็มที่ในงานทำให้คนเป็นสาวกตามที่สภาพการณ์ของคุณเอื้ออำนวย