‘จงทำตัวให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ’
‘จงทำตัวให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ’
“[จง] ทำตัวให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอขณะที่คอยท่าพระเมตตาของพระเยซูคริสต์เจ้าของเราโดยหวังจะได้ชีวิตนิรันดร์.”—ยูดา 21
1, 2. พระยะโฮวาทรงแสดงความรักต่อเราอย่างไร และเรารู้ได้อย่างไรว่าพระองค์ไม่ทรงรักเราโดยอัตโนมัติ?
พระยะโฮวาพระเจ้าทรงแสดงความรักต่อเราในหลายวิธีนับไม่ถ้วน. แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ข้อพิสูจน์สำคัญที่สุดว่าพระยะโฮวาทรงรักเราคือการจัดเตรียมเกี่ยวกับเครื่องบูชาไถ่. พระองค์ทรงรักมนุษย์มากจนถึงกับส่งพระบุตรสุดที่รักลงมายังแผ่นดินโลกและสิ้นพระชนม์เพื่อพวกเรา. (โย. 3:16) พระยะโฮวาทำอย่างนี้เพราะพระองค์ทรงประสงค์ให้เรามีชีวิตนิรันดร์และให้เรารับประโยชน์จากความรักของพระองค์ตลอดไปด้วย!
2 แต่เราจะคิดเอาเองได้ไหมว่าพระยะโฮวาจะรักเราโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าเราเลือกจะทำสิ่งใดก็ตาม? ไม่ได้. เพราะเราอ่านคำกระตุ้นเตือนที่ยูดาข้อ 21 ว่า “[จง] ทำตัวให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอขณะที่คอยท่าพระเมตตาของพระเยซูคริสต์เจ้าของเราโดยหวังจะได้ชีวิตนิรันดร์.” วลีที่ว่า “ทำตัว ให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ” บ่งชี้ว่าเราต้องลงมือทำบางสิ่งบางอย่าง. ถ้าอย่างนั้น เราต้องทำอะไรเพื่อจะเป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ?
เราจะเป็นที่รักของพระเจ้าเสมอได้อย่างไร?
3. พระเยซูตรัสว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พระองค์เป็นที่รักของพระบิดาเสมอ?
3 เราพบคำตอบสำหรับคำถามนี้ในคำตรัสของพระเยซูเอง ซึ่งตรัสไว้ในคืนสุดท้ายที่พระองค์มีชีวิตบนแผ่นดินโลก. พระองค์ตรัสว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายทำตามบัญญัติของเรา พวกเจ้าจะเป็นที่รักของเราเสมอ อย่างที่เราทำตามบัญญัติของพระบิดา เราจึงเป็นที่รักของพระองค์เสมอ.” (โย. 15:) ข้อนี้แสดงให้เห็นชัดว่าพระเยซูทรงรู้ว่าการทำตามบัญญัติของพระยะโฮวาเป็นสิ่งสำคัญเพื่อจะรักษาชื่อเสียงที่ดีกับพระบิดา. ถ้าการทำตามบัญญัติของพระยะโฮวาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพระบุตรองค์สมบูรณ์ของพระเจ้า นั่นย่อมจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเราด้วยมิใช่หรือ? 10
4, 5. (ก) วิธีสำคัญที่เราจะแสดงว่าเรารักพระยะโฮวาคืออะไร? (ข) เหตุใดจึงไม่มีเหตุผลที่จะกลัวเมื่อนึกถึงการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระยะโฮวา?
4 วิธีสำคัญที่เราแสดงว่าเรารักพระยะโฮวาก็คือการที่เราเชื่อฟัง พระองค์. อัครสาวกโยฮันพรรณนาไว้อย่างนี้: “การรักพระเจ้าหมายถึงการทำตามพระบัญญัติของพระองค์ และพระบัญญัติของพระองค์ไม่เป็นภาระหนัก.” (1 โย. 5:3) จริงอยู่ แนวคิดในเรื่องการเชื่อฟังไม่เป็นที่นิยมในโลกทุกวันนี้เสมอไป. แต่ขอให้สังเกตวลีที่ว่า “พระบัญญัติของพระองค์ไม่เป็นภาระหนัก.” พระยะโฮวาไม่ได้ขอให้เราทำสิ่งที่ยากเกินกว่าที่เราจะทำได้.
5 เพื่อเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ: คุณจะขอให้เพื่อนสนิทยกของที่คุณรู้ว่าหนักเกินกว่าที่เขาจะยกได้ไหม? คุณไม่ทำอย่างนั้นแน่! พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ที่กรุณามากกว่าเราและทรงรู้ขีดจำกัดของเรามากกว่าที่เรารู้. คัมภีร์ไบเบิลให้ความมั่นใจกับเราว่าพระยะโฮวาทรง ‘ระลึกอยู่ว่าเราเป็นแต่ผงคลีดิน.’ (เพลง. 103:14) พระองค์จะไม่มีทางขอให้เราทำเกินกว่าที่เราจะทำได้. ดังนั้น เราไม่มีเหตุผลที่จะกลัวเมื่อนึกถึงการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระยะโฮวา. ตรงกันข้าม เราตระหนักว่าการเชื่อฟังทำให้เรามีโอกาสอันยอดเยี่ยมที่จะแสดงให้พระบิดาฝ่ายสวรรค์ทราบว่าเรารักพระองค์จริง ๆ และต้องการเป็นที่รักของพระองค์เสมอ.
ของประทานพิเศษจากพระยะโฮวา
6, 7. (ก) สติรู้สึกผิดชอบคืออะไร? (ข) จงยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่แสดงว่าสติรู้สึกผิดชอบช่วยเราได้อย่างไรให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ.
6 ในโลกอันสับสนวุ่นวายที่เราอยู่นี้ มีเรื่องมากมายที่เราต้องตัดสินใจซึ่งเกี่ยวข้องกับการเชื่อฟังพระเจ้า. เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการตัดสินใจเหล่านั้นสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า? พระยะโฮวาทรงให้ของประทานอย่างหนึ่งแก่เรา ซึ่งช่วยเราได้มากในเรื่องการเชื่อฟัง. ของประทานนั้นคือสติรู้สึกผิดชอบ. สติรู้สึกผิดชอบคืออะไร? สติรู้สึกผิดชอบคือความสามารถพิเศษในการตรวจสอบการกระทำ, เจตคติ, และการเลือกของตัวเราเอง. สติรู้สึกผิดชอบทำหน้าที่เหมือนผู้พิจารณาตัดสินที่อยู่ภายใน ทำให้เราสามารถมองเห็นทางเลือกต่าง ๆ ในชีวิต หรือใคร่ครวญสิ่งที่เราได้ทำไปและประเมินการกระทำนั้นว่าดีหรือเลว ถูกหรือผิด.—อ่านโรม 2:14, 15
7 สติรู้สึกผิดชอบจะช่วยเราในทางใดได้บ้าง? ขอให้พิจารณาตัวอย่างเปรียบเทียบต่อไปนี้. นักเดินเท้าคนหนึ่งท่องไปในป่าใหญ่. ไม่มีทางเดิน, ไม่มีถนน, ไม่มีป้ายบอกทาง. แต่เขามุ่งมั่นที่จะเดินไปถึงจุดหมาย. เขาทำอย่างไร? เขามีเข็มทิศ. เข็มทิศมีหน้าปัดที่แสดงสี่ทิศหลักและเข็มแม่เหล็กชี้ไปทางทิศเหนือเสมอ. หากนักเดินเท้าไม่มีเข็มทิศ เขาก็คงหลงทางอย่างสิ้นหวัง. คล้ายกัน มนุษย์ที่ไม่มีสติรู้สึกผิดชอบก็จะไม่มีการชี้นำใด ๆ ในชีวิตเมื่อต้องตัดสินใจเลือกในเรื่องที่เกี่ยวกับศีลธรรม, จริยธรรม, และความชอบธรรม.
8, 9. (ก) เราจำเป็นต้องระลึกอยู่เสมอว่าสติรู้สึกผิดชอบของเรามีข้อจำกัดอะไร? (ข) เราอาจทำอะไรได้เพื่อให้แน่ใจว่าสติรู้สึกผิดชอบของเราจะเป็นประโยชน์ต่อเราอย่างแท้จริง?
8 อย่างไรก็ตาม สติรู้สึกผิดชอบมีข้อจำกัดเช่นเดียวกับเข็มทิศ. ถ้านักเดินเท้าคนนั้นเอาแม่เหล็กเข้าไปใกล้เข็มทิศ แรงแม่เหล็กก็จะทำให้เข็มชี้ไปทางทิศอื่น. เช่นเดียวกัน ถ้าเรายอมให้ความปรารถนาของหัวใจควบคุมการตัดสินใจของเรา จะเกิดอะไรขึ้น? แนวโน้มอันเห็นแก่ตัวของเราอาจทำให้สติรู้สึกผิดชอบชี้นำอย่างไม่ถูกต้อง. คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราว่า “หัวใจทรยศยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดและสิ้นคิด.” (ยิระ. 17:9, ล.ม.; สุภา. 4:23) นอกจากนั้น ถ้านักเดินเท้าไม่มีแผนที่ที่ถูกต้องและไว้ใจได้ เข็มทิศนั้นก็จะมีประโยชน์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย. คล้ายกัน ถ้าเราไม่พึ่งอาศัยการชี้นำที่ไว้ใจได้และไม่เคยเปลี่ยนแปลงจากคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า สติรู้สึกผิดชอบอาจแทบไม่ได้ช่วยเราเลย. (เพลง. 119:105) น่าเศร้าที่หลายคนในโลกนี้ให้ความปรารถนาของหัวใจมาเป็นอันดับแรกอย่างไม่สมควร ขณะที่ใส่ใจเพียงเล็กน้อยหรือไม่สนใจเลยต่อมาตรฐานที่อยู่ในพระคำของพระเจ้า. (อ่านเอเฟโซส์ 4:17-19) นี่จึงเป็นเหตุ ผลที่ผู้คนมากมายถึงแม้มีสติรู้สึกผิดชอบแต่ก็ยังทำสิ่งที่เลวร้าย.—1 ติโม. 4:2
9 เราควรตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น! แต่ให้เรายอมให้พระคำของพระเจ้าสอนและฝึกฝนสติรู้สึกผิดชอบอยู่เสมอเพื่อเราจะสามารถได้ประโยชน์อย่างแท้จริง. เราจำเป็นต้องฟังสติรู้สึกผิดชอบของเราซึ่งได้รับการฝึกฝนจากคัมภีร์ไบเบิล แทนที่จะปล่อยให้แนวโน้มอันเห็นแก่ตัวครอบงำสติรู้สึกผิดชอบ. ในเวลาเดียวกัน เราควรพยายามนับถือสติรู้สึกผิดชอบของพี่น้องชายหญิงอันเป็นที่รัก. เราพยายามอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ทำให้พวกเขาสะดุด โดยระลึกอยู่เสมอว่าสติรู้สึกผิดชอบของพี่น้องอาจไวหรือเข้มงวดกว่าของเราเอง.—1 โค. 8:12; 2 โค. 4:2; 1 เป. 3:16
10. ตอนนี้เราจะพิจารณาสามขอบเขตอะไรในชีวิต?
10 ตอนนี้ขอเราพิจารณาสามขอบเขตในชีวิตที่เราสามารถแสดงความรักต่อพระยะโฮวาโดยการเชื่อฟัง. แน่ละ แต่ละขอบเขตเกี่ยวข้องกับสติรู้สึกผิดชอบ แต่สติรู้สึกผิดชอบจำต้องได้รับการชี้นำโดยมาตรฐานการประพฤติในคัมภีร์ไบเบิลที่มีขึ้นโดยการดลใจซึ่งเป็นการชี้นำที่สำคัญที่สุด. สามแนวทางที่พิสูจน์ว่าเรารักพระยะโฮวาโดยการเป็นคนเชื่อฟังคือ (1) เรารักผู้ที่พระยะโฮวารัก, (2) เราแสดงความนับถือผู้มีอำนาจ, และ (3) เราพยายามรักษาตัวให้สะอาดในสายพระเนตรของพระเจ้าเสมอ.
รักผู้ที่พระยะโฮวารัก
11. เหตุใดเราควรรักผู้ที่พระยะโฮวารัก?
11 ขอบเขตแรกคือ เราต้องรักผู้ที่พระยะโฮวารัก. ในเรื่องการคบหาสมาคม ผู้คนเป็นเหมือนฟองน้ำ. เรามีแนวโน้มที่จะซึมซับอะไรก็ตามที่อยู่รอบตัวเรา. พระผู้สร้างของเราทราบดีว่าการคบหาสมาคมอาจเป็นอันตรายหรือเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์มากเพียงใด. ดังนั้น พระองค์จึงให้คำแนะนำที่สุขุมนี้แก่เรา: “บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา แต่คนที่คบกับคนโฉดเขลาย่อมจะรับความเสียหาย.” (สุภา. 13:20, ล.ม.; 1 โค. 15:33) ไม่มีใครในพวกเราต้องการรับ “ความเสียหาย.” เราแต่ละคนต้องการ “เป็นคนมีปัญญา.” ไม่มีใครสามารถทำให้พระยะโฮวา มีปัญญามากขึ้นหรือทำให้พระองค์เสื่อมเสียได้. กระนั้น พระองค์ก็ยังวางตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมแก่เราในเรื่องการคบหาสมาคม. ขอให้เรามาพิจารณาว่า มนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์คนใดบ้างที่พระยะโฮวาทรงเลือกเป็นมิตรด้วย?
12. คนแบบใดที่พระยะโฮวาทรงเลือกเป็นมิตร?
12 พระยะโฮวาทรงเรียกอับราฮามปฐมบรรพบุรุษว่า “มิตรสหายของเรา.” (ยซา. 41:8) ชายผู้นี้เป็นบุรุษผู้มีความเชื่อซึ่งโดดเด่นในเรื่องความซื่อสัตย์, ความชอบธรรม, และการเชื่อฟัง. (ยโก. 2:21-23) คนแบบนี้แหละที่พระยะโฮวาทรงเลือกเป็นมิตร. พระองค์เป็นมิตรกับคนที่มีคุณลักษณะแบบเดียวกันนั้นในทุกวันนี้. ถ้าพระยะโฮวาทรงเลือกคนเช่นนั้นมาเป็นมิตร ก็เป็นสิ่งสำคัญมิใช่หรือที่เราจะเลือกให้ดีเช่นกัน เพื่อเราจะดำเนินกับคนมีปัญญาและจะได้เป็นคนมีปัญญา?
13. อะไรจะช่วยเราให้เลือกเพื่อนที่ดีได้?
13 อะไรจะช่วยคุณให้เลือกเพื่อนที่ดีได้? การศึกษาตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลอาจเป็นแรงกระตุ้น. ขอพิจารณามิตรภาพระหว่างนางรูทกับนางนาอะมีแม่สามี, ระหว่างดาวิดกับโยนาธาน, หรือระหว่างติโมเธียวกับเปาโล. (รูธ. 1:16, 17; 1 ซามู. 23:16-18; ฟิลิป. 2:19-22) พวกเขามีมิตรภาพที่แน่นแฟ้นต่อกันเนื่องด้วยเหตุผลที่เหนือกว่าเหตุผลอื่นใด นั่นคือ พวกเขามีความรักแท้ต่อพระยะโฮวา. คุณจะหาเพื่อนที่รักพระยะโฮวามากเช่นเดียวกับคุณได้ไหม? จงมั่นใจว่าคุณสามารถหาคนแบบนั้นได้มากมายในประชาคมคริสเตียน. เพื่อนแบบนั้นจะไม่ชักนำคุณให้ได้รับความเสียหายฝ่ายวิญญาณ. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พวกเขาจะช่วยคุณให้เชื่อฟังพระยะโฮวา, เติบโตฝ่ายวิญญาณ, และหว่านเพื่อจะได้พระวิญญาณ. (อ่านกาลาเทีย 6:7, 8) พวกเขาจะช่วยคุณให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ.
นับถือผู้มีอำนาจ
14. มีปัจจัยอะไรบ้างซึ่งมักทำให้ยากที่เราจะแสดงความนับถือต่อผู้มีอำนาจ?
14 ขอบเขตที่สองที่เราแสดงความรักต่อพระยะโฮวานั้นเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ. เราต้องแสดงความนับถือผู้มีอำนาจ. ทำไมบางครั้งจึงเป็นเรื่องยากมากที่เราจะนับถือผู้มีอำนาจ? เหตุผลหนึ่งคือ คนที่อยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ที่มีอำนาจเป็นคนไม่สมบูรณ์. นอกจากนั้น ตัวเราเองก็ไม่สมบูรณ์ด้วย. เราต้องต่อสู้กับแนวโน้มที่จะขืนอำนาจซึ่งมีมาแต่กำเนิด.
15, 16. (ก) เหตุใดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะนับถือคนที่พระยะโฮวาทรงมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้ดูแลประชาชนของพระองค์? (ข) เราได้บทเรียนที่มีค่าอะไรจากวิธีที่พระยะโฮวาทรงมองการกบฏขัดขืนของชาวอิสราเอลต่อโมเซ?
15 คุณอาจสงสัยว่า ‘ถ้าการนับถือผู้มีอำนาจเป็นเรื่องยาก แล้วทำไมเราต้องนับถือด้วยล่ะ?’ คำตอบเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับประเด็นในเรื่องสิทธิปกครอง. คุณจะเลือกใครเป็นองค์บรมมหิศรหรือผู้ปกครองของคุณ? ถ้าเราเลือกพระยะโฮวาเป็นองค์บรมมหิศรของเรา เราต้องนับถืออำนาจของพระองค์. ถ้าเราไม่นับถือ เราจะพูดได้อย่างถูกต้องไหมว่าเราเลือกพระองค์เป็นผู้ปกครองของเรา? นอกจากนั้น ตามปกติแล้วพระยะโฮวาทรงใช้อำนาจของพระองค์โดยทางมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งพระองค์มอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้พวกเขาดูแลประชาชนของพระองค์. ถ้าเราขืนอำนาจคนเหล่านั้น พระยะโฮวาจะทรงมองการกระทำของเราอย่างไร?—อ่าน 1 เทสซาโลนิเก 5:12, 13
16 ยกตัวอย่าง เมื่อชาวอิสราเอลบ่นพึมพำและกบฏขัดขืนต่อโมเซ พระยะโฮวาทรงถือว่าการกระทำของพวกเขาเป็นการขัดขืนต่อพระองค์เอง. (อาฤ. 14:26, 27) พระเจ้าไม่เคยเปลี่ยนแปลง. ถ้าเราขืนอำนาจผู้ที่พระองค์ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งที่มีอำนาจ ก็เท่ากับเรากำลังขืนอำนาจพระองค์!
17. เราควรพยายามพัฒนาเจตคติที่ถูกต้องเช่นไรต่อผู้มีอำนาจในประชาคม?
17 อัครสาวกเปาโลแสดงให้เห็นถึงเจตคติที่ถูกต้องที่เราควรมีต่อผู้มีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมคริสเตียน. ท่านเขียนว่า “จงเชื่อฟังผู้ที่นำหน้าท่ามกลางท่านทั้งหลายและยอมรับอำนาจของพวกเขา เพราะคนเหล่านั้นคอยดูแลพวกท่านเหมือนเป็นผู้ที่ต้องถวายรายงาน เพื่อพวกเขาจะดูแลพวกท่านด้วยความยินดี ไม่ใช่ด้วยการทอดถอนใจซึ่งจะก่อผลเสียหายแก่พวกท่าน.” (ฮีบรู 13:17) จริงอยู่ เราต้องบากบั่นพยายามอย่างหนักเพื่อพัฒนาน้ำใจแห่งการเชื่อฟังและยอมรับอำนาจเช่นนั้น. กระนั้น อย่าลืมว่าที่ เราทำอย่างนั้นก็เพื่อเป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ. เป้าหมายนี้คุ้มค่ากับความพยายามทั้งหมดของเรามิใช่หรือ?
รักษาตัวให้สะอาดในสายพระเนตรพระยะโฮวาเสมอ
18. เหตุใดพระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เรารักษาตัวสะอาดเสมอ?
18 ขอบเขตที่สามที่เราแสดงความรักต่อพระยะโฮวาคือ เราพยายามรักษาตัวให้สะอาดในสายพระเนตรของพระองค์เสมอ. บิดามารดามักพยายามอย่างมากเพื่อดูแลลูก ๆ ให้สะอาด. เพราะเหตุใด? เหตุผลหนึ่งก็คือความสะอาดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูก ๆ มีสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี. นอกจากนั้น เด็กที่สะอาดสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่าครอบครัวเป็นอย่างไร เผยให้เห็นถึงความรักและความเอาใจใส่ที่บิดามารดามีต่อเขา. ด้วยเหตุผลคล้าย ๆ กัน พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราเป็นคนสะอาด. พระองค์รู้ว่าความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญต่อสวัสดิภาพของเรา. พระองค์ยังทราบด้วยว่าความสะอาดของเราสะท้อนถึงพระองค์ พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา. นี่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้คนอาจถูกชักนำให้อยากรับใช้พระเจ้าเพราะสังเกตเห็นว่าเราแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากผู้คนในโลกที่มีมลทินนี้.
19. เรารู้ได้อย่างไรว่าความสะอาดด้านร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ?
19 เราต้องรักษาตัวให้สะอาดในทางใดบ้าง? จริง ๆ แล้ว ในทุกแง่ของชีวิตเรา. ในอิสราเอลโบราณ พระยะโฮวาทรงแสดงให้ประชาชนของพระองค์เห็นอย่างชัดเจนว่าความสะอาดด้านร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ. (เลวี. 15:31) พระบัญญัติของโมเซกล่าวถึงเรื่องต่าง ๆ เช่น การกำจัดสิ่งปฏิกูล, การทำความสะอาดภาชนะใช้สอย, และการล้างมือล้างเท้า รวมทั้งการซักเสื้อผ้า. (เอ็ก. 30:17-21; เลวี. 11:32; อาฤ. 19:17-20; บัญ. 23:13, 14) ชาวอิสราเอลได้รับการเตือนใจว่าพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเขาบริสุทธิ์ ซึ่งหมายถึง “สะอาด,” “ปราศจากมลทิน,” และ “ศักดิ์สิทธิ์.” ผู้รับใช้ของพระเจ้าองค์บริสุทธิ์จำต้องเป็นคนบริสุทธิ์ด้วย.—อ่านเลวีติโก 11:44, 45
20. เราจำเป็นต้องรักษาตัวให้สะอาดอยู่เสมอในทางใดบ้าง?
20 ดังนั้น เราต้องเป็นคนสะอาดทั้งภายในและภายนอก. เราพยายามรักษาความคิดของเราให้สะอาดอยู่เสมอ. เรายึดมั่นอย่างซื่อสัตย์ต่อมาตรฐานของพระยะโฮวาในเรื่องความสะอาดด้านศีลธรรม ไม่ว่าโลกรอบตัวเราจะเสื่อมทรามทางเพศขนาดไหนก็ตาม. ที่สำคัญที่สุด เรายืนหยัดที่จะรักษาการนมัสการของเราให้สะอาด หลีกเลี่ยงมลทินจากศาสนาเท็จ. เราจดจำไว้เสมอถึงคำเตือนที่มีขึ้นโดยการดลใจซึ่งบันทึกไว้ที่ยะซายา 52:11 (ล.ม.) ที่ว่า “จงหลีกหนี จงหลีกหนี จงออกจากที่นั่น อย่าแตะต้องสิ่งใด ๆ ที่ไม่สะอาด; จงออกจากท่ามกลางเมืองนั้น จงรักษาตัวเจ้าให้สะอาด.” ปัจจุบัน เรารักษาความสะอาดฝ่ายวิญญาณโดยไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับสิ่งใด ๆ ที่พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราถือว่าเป็นการนมัสการเท็จ. ตัวอย่างเช่น นั่นเป็นเหตุผลที่เราระวังที่จะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการฉลองและวันหยุดของศาสนาเท็จซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในโลกทุกวันนี้. จริงอยู่ นับว่าเป็นเรื่องท้าทายที่จะรักษาตัวให้สะอาดเสมอ. แต่ประชาชนของพระยะโฮวาพยายามทำอย่างนั้น เพราะนั่นช่วยให้เขาเป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ.
21. เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราจะเป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ?
21 พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราเป็นที่รักของพระองค์ตลอดไป. แต่เราทุกคนต้องทำให้แน่ใจในส่วนของตัวเราเองว่าเราพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อจะเป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ. เราทำอย่างนี้ได้ด้วยการทำตามตัวอย่างของพระเยซู และพิสูจน์ว่าเรารักพระยะโฮวาด้วยการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์. ถ้าทำอย่างนั้น เราจะมั่นใจได้ว่าไม่มีสิ่งใดจะ “พรากเราจากความรักที่พระเจ้าทรงแสดงต่อเราโดยทางพระคริสต์เยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้.”—โรม 8:38, 39
คุณจำได้ไหม?
• สติรู้สึกผิดชอบของเราจะช่วยเราให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอได้อย่างไร?
• เหตุใดเราควรรักผู้ที่พระยะโฮวารัก?
• เหตุใดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะนับถือผู้มีอำนาจ?
• ความสะอาดมีความสำคัญอย่างไรต่อประชาชนของพระเจ้า?
[คำถาม]
[กรอบ/ภาพหน้า 20]
หนังสือที่ส่งเสริมความประพฤติที่ดี
ในการประชุมภาคปี 2008/2009 มีการออกหนังสือขนาด 224 หน้าซึ่งมีชื่อว่า “เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ.” หนังสือใหม่นี้มีจุดประสงค์อะไร? หนังสือนี้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยคริสเตียนให้รู้จักและรักมาตรฐานของพระยะโฮวา มุ่งความสนใจส่วนใหญ่ไปที่ความประพฤติแบบคริสเตียน. การศึกษาหนังสือ “เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ” อย่างถี่ถ้วนจะทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่าการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับมาตรฐานของพระยะโฮวาเป็นแนวทางชีวิตที่ดีที่สุดในขณะนี้และนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ในอนาคต.
ยิ่งกว่านั้น หนังสือนี้ถูกออกแบบเพื่อช่วยเราให้เห็นว่าการเชื่อฟังพระยะโฮวาไม่ใช่ภาระหนัก. ตรงกันข้าม นี่เป็นวิธีหนึ่งที่แสดงว่าเรารักพระยะโฮวามากขนาดไหน. ดังนั้น หนังสือนี้จะกระตุ้นเราให้ถามตัวเองว่า ‘ทำไม ฉันจึงเชื่อฟังพระยะโฮวา?’
เมื่อผู้คนทำสิ่งที่ผิดพลาดอย่างน่าเศร้าโดยละทิ้งความรักของพระยะโฮวา ปัญหามักเกี่ยวข้องกับการกระทำ ไม่ใช่หลักคำสอน. ดังนั้น เป็นสิ่งสำคัญสักเพียงไรที่เราจะเสริมความรักและเห็นคุณค่ากฎหมายและหลักการของพระยะโฮวาที่ชี้นำเราในชีวิตประจำวัน! เรามั่นใจว่าหนังสือใหม่นี้จะช่วยแกะของพระยะโฮวาตลอดทั่วโลกให้ยืนหยัดมั่นคงในสิ่งที่ถูกต้อง, ให้พิสูจน์ว่าซาตานเป็นผู้พูดมุสา, และเหนืออื่นใด ให้ทำตัวเป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ!—ยูดา 21
[ภาพหน้า 18]
“ถ้าเจ้าทั้งหลายทำตามบัญญัติของเรา พวกเจ้าจะเป็นที่รักของเราเสมอ อย่างที่เราทำตามบัญญัติของพระบิดา เราจึงเป็นที่รักของพระองค์เสมอ”