ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

รักษามิตรภาพไว้ในโลกที่ไร้ความรัก

รักษามิตรภาพไว้ในโลกที่ไร้ความรัก

รักษา​มิตรภาพ​ไว้​ใน​โลก​ที่​ไร้​ความ​รัก

“สิ่ง​เหล่า​นี้​เรา​สั่ง​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ไว้​เพื่อ​พวก​เจ้า​จะ​ได้​รัก​กัน.”—โย. 15:17

1. เหตุ​ใด​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​จึง​ต้อง​รักษา​มิตรภาพ​ที่​แนบแน่น​ไว้​เสมอ?

ระหว่าง​คืน​สุด​ท้าย​ที่​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก พระ​เยซู​ทรง​สนับสนุน​เหล่า​สาวก​ที่​ภักดี​ให้​รักษา​มิตรภาพ​ที่​มี​ต่อ​กัน. ก่อน​หน้า​นั้น​ใน​ตอน​เย็น พระองค์​ตรัส​ว่า​ความ​รัก​ที่​พวก​เขา​แสดง​ต่อ​กัน​จะ​เป็น​สิ่ง​ที่​ระบุ​ว่า​พวก​เขา​เป็น​สาวก​ของ​พระองค์. (โย. 13:35) เหล่า​อัครสาวก​ต้อง​รักษา​มิตรภาพ​ที่​แนบแน่น​ไว้​เสมอ จึง​จะ​อด​ทน​การ​ทดสอบ​ใน​อนาคต​และ​ทำ​งาน​ที่​พระ​เยซู​จะ​มอบหมาย​แก่​พวก​เขา​ใน​อีก​ไม่​ช้า​ให้​สำเร็จ​ได้. ที่​จริง ผู้​คน​รู้​จัก​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​เพราะ​ความ​เลื่อมใส​ที่​พวก​เขา​มี​ต่อ​พระเจ้า​อย่าง​ไม่​เสื่อม​คลาย​และ​ความ​ผูก​พัน​ที่​พวก​เขา​มี​ต่อ​กัน​อย่าง​มั่นคง.

2. (ก) เรา​ตั้งใจ​แน่วแน่​จะ​ทำ​อะไร และ​เพราะ​เหตุ​ใด? (ข) เรา​จะ​พิจารณา​คำ​ถาม​อะไร​บ้าง?

2 ปัจจุบัน นับ​เป็น​ความ​ยินดี​สัก​เพียง​ไร​ที่​ได้​สมทบ​กับ​องค์การ​ระดับ​โลก​ซึ่ง​บรรดา​สมาชิก​ทำ​ตาม​แบบ​แผนที่​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​ได้​วาง​ไว้! เรา​ตั้งใจ​แน่วแน่​ว่า​จะ​ทำ​ตาม​พระ​บัญชา​ของ​พระ​เยซู​ที่​ให้​แสดง​ความ​รัก​แท้​ต่อ​กัน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ระหว่าง​สมัย​สุด​ท้าย​นี้ ผู้​คน​ทั่ว​ไป​ไม่​มี​ความ​ภักดี​และ​ไม่​ได้​แสดง​ความ​รักใคร่​ตาม​ธรรมชาติ. (2 ติโม. 3:1-3) มิตรภาพ​ที่​พวก​เขา​มี​ต่อ​กัน​มัก​เป็น​แบบ​ผิว​เผิน​และ​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​ตัว​เอง. เพื่อ​จะ​รักษา​เอกลักษณ์​ของ​เรา​ใน​ฐานะ​คริสเตียน​แท้ เรา​ต้อง​ไม่​มี​ทัศนคติ​อย่าง​นั้น. ดัง​นั้น ให้​เรา​มา​พิจารณา​กัน​ว่า รากฐาน​ของ​มิตรภาพ​ที่​ดี​คือ​อะไร? เรา​จะ​สร้าง​มิตรภาพ​ที่​ดี​ได้​อย่าง​ไร? เรา​อาจ​ต้อง​ตัด​ขาด​มิตรภาพ​เมื่อ​ไร? และ​เรา​จะ​รักษา​มิตรภาพ​ที่​ส่ง​เสริม​ให้​เรา​เจริญ​ได้​โดย​วิธี​ใด?

รากฐาน​ของ​มิตรภาพ​ที่​ดี​คือ​อะไร?

3, 4. รากฐาน​ของ​มิตรภาพ​ที่​มั่นคง​แข็งแรง​ที่​สุด​คือ​อะไร และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

3 มิตรภาพ​ที่​มั่นคง​แข็งแรง​ที่​สุด​อาศัย​ความ​รัก​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​รากฐาน. กษัตริย์​โซโลมอน​เขียน​ว่า “ถ้า​ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด​ทำ​ร้าย​เขา, สอง​คน​คง​จะ​ช่วย​เขา​ไว้​ได้; เชือก​สาม​เกลียว​จะ​ขาด​ง่าย​ก็​หา​มิ​ได้.” (ผู้ป. 4:12) เมื่อ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​เกลียว​ที่​สาม​ใน​มิตรภาพ​ใด มิตรภาพ​นั้น​ก็​จะ​ยั่งยืน.

4 จริง​อยู่ คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​ไม่​รัก​พระ​ยะโฮวา​ก็​สามารถ​มี​มิตรภาพ​ที่​ให้​ความ​อิ่ม​ใจ​ได้​ด้วย. แต่​เมื่อ​แต่​ละ​คน​ได้​รับ​การ​ชัก​นำ​ให้​มา​เป็น​เพื่อน​กัน​โดย​ความ​รัก​ที่​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​มี​ต่อ​พระเจ้า มิตรภาพ​ของ​พวก​เขา​จะ​ไม่​สั่น​คลอน. เมื่อ​เกิด​การ​เข้าใจ​ผิด มิตร​แท้​จะ​ปฏิบัติ​ต่อ​กัน​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​พอ​พระทัย. หาก​ผู้​ต่อ​ต้าน​พระเจ้า​พยายาม​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​แตก​แยก ศัตรู​เหล่า​นี้​ก็​จะ​พบ​ว่า​มิตรภาพ​ใน​หมู่​คริสเตียน​แท้​มั่นคง​อย่าง​ยิ่ง. ตลอด​ประวัติศาสตร์ ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา​ได้​พิสูจน์​แล้ว​ว่า​พวก​เขา​พร้อม​จะ​เผชิญ​หน้า​กับ​ความ​ตาย​มาก​กว่า​จะ​ทรยศ​กัน.—อ่าน 1 โยฮัน 3:16

5. เหตุ​ใด​มิตรภาพ​ระหว่าง​รูท​กับ​นาอะมี​จึง​ยั่งยืน​อย่าง​ยิ่ง?

5 ไม่​ต้อง​สงสัย มิตรภาพ​ที่​น่า​พอ​ใจ​ที่​สุด​ที่​เรา​สามารถ​มี​ได้​ก็​คือ​มิตรภาพ​กับ​คน​ที่​รัก​พระ​ยะโฮวา. ขอ​ให้​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ของ​รูท​และ​นาอะมี. มิตรภาพ​ของ​สตรี​ทั้ง​สอง​เป็น​หนึ่ง​ใน​มิตรภาพ​ที่​น่า​ชื่นชม​ที่​สุด​ที่​มี​บันทึก​ไว้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. เหตุ​ใด​มิตรภาพ​ของ​ทั้ง​สอง​จึง​ยั่งยืน? รูท​แสดง​ให้​เห็น​เหตุ​ผล​ที่​เป็น​อย่าง​นั้น​เมื่อ​เธอ​กล่าว​กับ​นาอะมี​ว่า “ญาติ​พี่​น้อง​ของ​แม่, จะ​เป็น​ญาติ​พี่​น้อง​ของ​ฉัน, และ​พระเจ้า​ของ​แม่​จะ​เป็น​พระเจ้า​ของ​ฉัน​ด้วย. . . . ขอ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​กระทำ​ดัง​นี้​แก่​ฉัน, และ​ยิ่ง​กว่า​นี้​อีก, ความ​มรณะ​สิ่ง​เดียว​ที่​จะ​ทำ​ให้​แม่​กับ​ฉัน​ขาด​จาก​กัน​และ​กัน​ได้.” (รูธ. 1:16, 17) เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ทั้ง​รูท​และ​นาอะมี​ต่าง​ก็​มี​ความ​รัก​อย่าง​ลึกซึ้ง​ต่อ​พระเจ้า และ​ความ​รัก​นี้​ส่ง​ผล​ต่อ​วิธี​ที่​ทั้ง​สอง​ปฏิบัติ​ต่อ​กัน. ผล​ก็​คือ สตรี​ทั้ง​สอง​ได้​รับ​พระ​พร​จาก​พระ​ยะโฮวา.

วิธี​สร้าง​มิตรภาพ​ที่​ดี

6-8. (ก) มิตรภาพ​ที่​ยั่งยืน​เป็น​ผล​มา​จาก​อะไร? (ข) คุณ​จะ​เป็น​ฝ่าย​ริเริ่ม​ใน​การ​สร้าง​มิตรภาพ​ได้​อย่าง​ไร?

6 ตัว​อย่าง​ของ​รูท​และ​นาอะมี​แสดง​ว่า​มิตรภาพ​ที่​ดี​ไม่​ได้​เกิด​ขึ้น​โดย​บังเอิญ. ความ​รัก​ที่​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​รากฐาน​ของ​มิตรภาพ​นั้น. แต่​มิตรภาพ​ที่​ยั่งยืน​เป็น​ผล​มา​จาก​ความ​เพียร​พยายาม​และ​การ​เสีย​สละ. แม้​แต่​พี่​น้อง​ที่​คลาน​ตาม​กัน​มา​ซึ่ง​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ภาย​ใน​ครอบครัว​คริสเตียน​ก็​ยัง​ต้อง​พยายาม​สร้าง​มิตรภาพ​ที่​ใกล้​ชิด​สนิทสนม. ถ้า​อย่าง​นั้น คุณ​จะ​สร้าง​มิตรภาพ​ที่​ดี​ได้​อย่าง​ไร?

7 จง​ริเริ่ม. อัครสาวก​เปาโล​สนับสนุน​เพื่อน​ใน​ประชาคม​ที่​กรุง​โรม​ให้ “มี​น้ำใจ​รับรอง​แขก.” (โรม 12:13) ดัง​นั้น เพื่อ​จะ​สร้าง​มิตรภาพ​ที่​ดี​เรา​ต้อง​ใช้​ทุก​โอกาส​เพื่อ​แสดง​น้ำใจ​รับรอง​แขก. ไม่​มี​ใคร​แสดง​น้ำใจ​รับรอง​แขก​แทน​คุณ​ได้. (อ่าน​สุภาษิต 3:27) วิธี​หนึ่ง​ที่​คุณ​สามารถ​แสดง​น้ำใจ​รับรอง​แขก​ได้​ก็​คือ​โดย​เชิญ​บาง​คน​ใน​ประชาคม​ให้​มา​รับประทาน​อาหาร​ง่าย ๆ ด้วย​กัน. คุณ​จะ​แสดง​น้ำใจ​รับรอง​แขก​ต่อ​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​ของ​คุณ​เป็น​ประจำ​ได้​ไหม?

8 อีก​วิธี​หนึ่ง​ที่​คุณ​สามารถ​ริเริ่ม​ใน​การ​สร้าง​มิตรภาพ​ก็​คือ​โดย​ชวน​บาง​คน​ไป​ด้วย​กัน​ใน​งาน​ประกาศ. เมื่อ​คุณ​ยืน​อยู่​หน้า​บ้าน​ของ​เจ้าของ​บ้าน​ที่​ไม่​รู้​จัก​กัน​เลย​และ​ฟัง​เพื่อน​ที่​ไป​ด้วย​กัน​พูด​อย่าง​ที่​ออก​มา​จาก​หัวใจ​เกี่ยว​กับ​ความ​รัก​ที่​เขา​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา คุณ​คง​อด​ไม่​ได้​ที่​จะ​รู้สึก​ผูก​พัน​ใกล้​ชิด​กับ​เขา​มาก​ขึ้น.

9, 10. เปาโล​วาง​ตัว​อย่าง​อะไร​ไว้ และ​เรา​อาจ​เลียน​แบบ​ท่าน​ได้​อย่าง​ไร?

9 จง​เปิด​ใจ​ให้​กว้าง​ใน​การ​แสดง​ความ​รัก​ของ​คุณ. (อ่าน 2 โครินท์ 6:12, 13) คุณ​เคย​รู้สึก​ไหม​ว่า​ไม่​มี​ใคร​สัก​คน​ใน​ประชาคม​ที่​คุณ​จะ​คบ​เป็น​เพื่อน​ได้? ถ้า​อย่าง​นั้น เป็น​ไป​ได้​ไหม​ว่า​คุณ​มี​ทัศนะ​ที่​แคบ​เกิน​ไป​ใน​เรื่อง​คน​ที่​คุณ​สามารถ​คบ​เป็น​เพื่อน? อัครสาวก​เปาโล​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ใน​เรื่อง​การ​เปิด​ใจ​ให้​กว้าง​ใน​การ​แสดง​ความ​รัก. เมื่อ​ก่อน ท่าน​ไม่​เคย​คิด​เลย​ว่า​จะ​เป็น​เพื่อน​สนิท​กับ​คน​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​ยิว. ถึง​กระนั้น ใน​ที่​สุด​ท่าน​ก็​ได้​เป็น “อัครสาวก​ที่​ถูก​ส่ง​มา​ยัง​ชน​ต่าง​ชาติ.”—โรม 11:13

10 นอก​จาก​นั้น​แล้ว เปาโล​ไม่​ได้​จำกัด​มิตรภาพ​ของ​ท่าน​ไว้​เฉพาะ​แต่​กับ​คน​รุ่น​ราว​คราว​เดียว​กับ​ท่าน. ตัว​อย่าง​เช่น ท่าน​กับ​ติโมเธียว​กลาย​เป็น​เพื่อน​สนิท​แม้​ว่า​ทั้ง​สอง​มี​อายุ​และ​ภูมิหลัง​ต่าง​กัน. ปัจจุบัน หนุ่ม​สาว​หลาย​คน​เห็น​ค่า​มิตรภาพ​ที่​พวก​เขา​มี​กับ​พี่​น้อง​ที่​อายุ​มาก​กว่า​ใน​ประชาคม. วาเนสซา​วัย​ยี่​สิบ​ต้น ๆ บอก​ว่า “ดิฉัน​มี​เพื่อน​ที่​น่า​รัก​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​อายุ​ห้า​สิบ​กว่า​ปี​แล้ว. ดิฉัน​สามารถ​เล่า​ทุก​อย่าง​ให้​เธอ​ฟัง​เหมือน​กับ​ที่​ดิฉัน​เล่า​ให้​เพื่อน​ใน​วัย​เดียว​กัน​ฟัง. และ​เธอ​ก็​รัก​และ​เป็น​ห่วง​ดิฉัน​มาก.” มิตรภาพ​นั้น​เริ่ม​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร? วาเนสซา​บอก​ว่า “ดิฉัน​ต้อง​พยายาม​มอง​หา​มิตรภาพ ไม่​ใช่​รอ​ให้​มิตรภาพ​มา​หา​เอง.” คุณ​พร้อม​จะ​สร้าง​มิตรภาพ​กับ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ไม่​ใช่​คน​รุ่น​เดียว​กับ​คุณ​ไหม? พระ​ยะโฮวา​จะ​อวย​พร​ความ​พยายาม​ของ​คุณ​อย่าง​แน่นอน.

11. เรา​อาจ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​โยนาธาน​กับ​ดาวิด?

11 จง​ภักดี. โซโลมอน​เขียน​ว่า “มิตร​สหาย​ย่อม​รัก​กัน​อยู่​ทุก​เวลา, และ​พี่​ชาย​น้อง​ชาย​ก็​เกิด​มา​สำหรับ​ช่วย​กัน​ใน​เวลา​ทุกข์​ยาก.” (สุภา. 17:17) เมื่อ​เขียน​ถ้อย​คำ​ดัง​กล่าว โซโลมอน​อาจ​นึก​ถึง​มิตรภาพ​ที่​ดาวิด​ราชบิดา​ของ​ท่าน​มี​กับ​โยนาธาน. (1 ซามู. 18:1) กษัตริย์​ซาอูล​ต้องการ​ให้​โยนาธาน​ราชบุตร​สืบ​ราชบัลลังก์​ปกครอง​อิสราเอล. แต่​โยนาธาน​ยอม​รับ​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เลือก​ดาวิด​ไว้​ให้​เป็น​กษัตริย์. ไม่​เหมือน​กับ​ซาอูล โยนาธาน​ไม่​อิจฉา​ดาวิด. ท่าน​ไม่​รู้สึก​ขุ่นเคือง​เมื่อ​ดาวิด​ได้​รับ​คำ​ยกย่อง​สรรเสริญ และ​ไม่​เชื่อ​คำ​ใส่​ร้าย​ที่​ซาอูล​พูด​เกี่ยว​กับ​ดาวิด. (1 ซามู. 20:24-34) เรา​เป็น​เหมือน​โยนาธาน​ไหม? เมื่อ​เพื่อน​ของ​เรา​ได้​รับ​สิทธิ​พิเศษ เรา​ยินดี​กับ​เขา​ไหม? เมื่อ​พวก​เขา​ประสบ​ความ​ลำบาก เรา​ปลอบโยน​และ​เกื้อ​หนุน​พวก​เขา​ไหม? ถ้า​เรา​ได้​ยิน​คำ​ซุบซิบ​ที่​ทำ​ให้​เพื่อน​คน​หนึ่ง​เสียหาย เรา​ด่วน​เชื่อ​ไหม? หรือ​เรา​ปก​ป้อง​เพื่อน​ของ​เรา​อย่าง​ภักดี​เหมือน​โยนาธาน?

เมื่อ​จำเป็น​ต้อง​ตัด​ขาด​มิตรภาพ

12-14. นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​บาง​คน​พบ​ข้อ​ท้าทาย​อะไร และ​เรา​จะ​ช่วย​เขา​ได้​อย่าง​ไร?

12 เมื่อ​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เริ่ม​เปลี่ยน​รูป​แบบ​การ​ดำเนิน​ชีวิต เขา​อาจ​พบ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​อย่าง​แท้​จริง​ใน​เรื่อง​เพื่อน. เขา​อาจ​มี​เพื่อน​ที่​เขา​ชอบ​คบหา​ด้วย แต่​ไม่​ได้​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​มาตรฐาน​ศีลธรรม​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. ใน​อดีต เขา​อาจ​ใช้​เวลา​คบหา​สมาคม​กับ​คน​เหล่า​นี้​เป็น​ประจำ. แต่​ใน​ตอน​นี้ เขา​เห็น​ว่า​กิจกรรม​ที่​เพื่อน ๆ ของ​เขา​ทำ​อาจ​ส่ง​ผล​ไม่​ดี​ต่อ​ตัว​เขา และ​เขา​คิด​ว่า​จำเป็น​ต้อง​จำกัด​การ​ติด​ต่อ​กับ​เพื่อน​เหล่า​นี้. (1 โค. 15:33) แม้​กระนั้น เขา​อาจ​รู้สึก​ว่า​เป็น​การ​ไม่​ภักดี​ต่อ​เพื่อน​ถ้า​จะ​เลิก​คบหา​กับ​เพื่อน​เหล่า​นั้น.

13 ถ้า​คุณ​เป็น​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ต้อง​พบ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​อย่าง​นี้ ขอ​ให้​จำ​ไว้​ว่า​เพื่อน​แท้​จะ​รู้สึก​ยินดี​ที่​คุณ​พยายาม​ปรับ​เปลี่ยน​ชีวิต​ของ​คุณ​ให้​ดี​ขึ้น. เขา​อาจ​ถึง​กับ​อยาก​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​กัน​กับ​คุณ. ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม เพื่อน​จอม​ปลอม​จะ “กล่าว​ร้าย [คุณ] อยู่​เรื่อย​ไป” เพราะ​คุณ​ไม่​ร่วม “จม​อยู่​ใน​ปลัก​แห่ง​ความ​เหลวไหล​เสเพล​เหมือน​กัน” กับ​พวก​เขา. (1 เป. 4:3, 4) ที่​จริง เพื่อน​เหล่า​นี้​ต่าง​หาก​ที่​ไม่​ภักดี​ต่อ​คุณ ไม่​ใช่​คุณ​ที่​ไม่​ภักดี​ต่อ​พวก​เขา.

14 เมื่อ​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ถูก​เพื่อน​เก่า​ที่​ไม่​รัก​พระเจ้า​ทอดทิ้ง พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​สามารถ​ทดแทน​เพื่อน​เหล่า​นั้น. (กลา. 6:10) คุณ​รู้​จัก​ใคร​บาง​คน​ที่​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​กับ​คุณ​ซึ่ง​กำลัง​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ไหม? ใน​บาง​ครั้ง คุณ​จะ​สามารถ​สมาคม​คบหา​กับ​เขา​อย่าง​ที่​เสริม​สร้าง​ได้​ไหม?

15, 16. (ก) เรา​ควร​มี​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​ถ้า​เพื่อน​เลิก​รับใช้​พระ​ยะโฮวา? (ข) เรา​จะ​พิสูจน์​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​เรา​รัก​พระเจ้า?

15 แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​ถ้า​เพื่อน​ใน​ประชาคม​ตัดสิน​ใจ​หัน​หลัง​ให้​พระ​ยะโฮวา​และ​อาจ​ต้อง​ถูก​ตัด​สัมพันธ์? กรณี​เช่น​นั้น​อาจ​เป็น​เรื่อง​ที่​ทำ​ให้​ทุกข์​ใจ​อย่าง​ยิ่ง. พี่​น้อง​หญิง​คน​หนึ่ง​พรรณนา​ถึง​ปฏิกิริยา​ของ​เธอ​เมื่อ​เพื่อน​สนิท​คน​หนึ่ง​เลิก​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ว่า “ดิฉัน​เสียใจ​มาก. ดิฉัน​คิด​ว่า​เพื่อน​คน​นี้​เข้มแข็ง​ใน​ความ​จริง แต่​จริง ๆ แล้ว​ไม่​ได้​เป็น​อย่าง​นั้น​เลย. ดิฉัน​สงสัย​ว่า​ที่​เธอ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​มา​นั้น​ก็​แค่​เพื่อ​จะ​ให้​ครอบครัว​เธอ​พอ​ใจ. แล้ว​ดิฉัน​ก็​เริ่ม​คิด​ทบทวน​แรง​กระตุ้น​ของ​ตัว​เอง. ดิฉัน​กำลัง​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​เหตุ​ผล​ที่​ถูก​ต้อง​ไหม?” พี่​น้อง​หญิง​คน​นี้​รับมือ​อย่าง​ไร? เธอ​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​มอบ​ภาระ​ไว้​กับ​พระ​ยะโฮวา. ดิฉัน​ตั้งใจ​แน่วแน่​ว่า​จะ​แสดง​ให้​พระ​ยะโฮวา​เห็น​ว่า​เหตุ​ผล​ที่​ดิฉัน​รัก​พระองค์​นั้น​ไม่​ใช่​แค่​เพราะ​พระองค์​ช่วย​ให้​ดิฉัน​มี​เพื่อน ๆ ใน​องค์การ​ของ​พระองค์.”

16 เรา​ไม่​อาจ​คาด​หมาย​ว่า​จะ​เป็น​มิตร​กับ​พระเจ้า​ได้​หาก​เรา​อยู่​ฝ่าย​เดียว​กับ​คน​ที่​เลือก​จะ​เป็น​มิตร​กับ​โลก. สาวก​ยาโกโบ​เขียน​ว่า “พวก​ท่าน​ไม่​รู้​หรือ​ว่า​การ​เป็น​มิตร​กับ​โลก​คือ​การ​เป็น​ศัตรู​กับ​พระเจ้า? ฉะนั้น ผู้​ใด​อยาก​เป็น​มิตร​กับ​โลก​ก็​ตั้ง​ตัว​เป็น​ศัตรู​กับ​พระเจ้า.” (ยโก. 4:4) เรา​สามารถ​พิสูจน์​ว่า​เรา​รัก​พระเจ้า​ได้​ด้วย​การ​ไว้​วางใจ​ว่า​พระองค์​จะ​ช่วย​เรา​รับมือ​กับ​การ​สูญ​เสีย​เพื่อน ถ้า​เรา​ภักดี​ต่อ​พระองค์. (อ่าน​ฮีบรู 13:5​ข) พี่​น้อง​หญิง​ที่​เพิ่ง​อ้าง​ถึง​ใน​ข้อ​ก่อน​หน้า​นี้​สรุป​ดัง​นี้: “ดิฉัน​ได้​เรียน​รู้​ว่า​เรา​ไม่​อาจ​ทำ​ให้​ใคร​คน​หนึ่ง​รัก​พระ​ยะโฮวา​หรือ​รัก​เรา​ได้. เมื่อ​ถึง​ที่​สุด​แล้ว นี่​เป็น​เรื่อง​ที่​แต่​ละ​คน​ต้อง​เลือก​เอง.” แต่​เรา​จะ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​รักษา​มิตรภาพ​ที่​เสริม​สร้าง​กับ​คน​ที่​ยัง​คง​อยู่​ใน​ประชาคม?

รักษา​มิตรภาพ​ที่​ดี​ไว้

17. เพื่อน​ที่​ดี​พูด​คุย​กัน​อย่าง​ไร?

17 การ​สื่อ​ความ​ที่​ดี​ช่วย​รักษา​มิตรภาพ​ที่​ใกล้​ชิด​สนิทสนม. เมื่อ​คุณ​อ่าน​เรื่อง​ราว​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เกี่ยว​กับ​รูท​และ​นาอะมี, ดาวิด​กับ​โยนาธาน, และ​เปาโล​กับ​ติโมเธียว คุณ​จะ​สังเกต​ได้​ว่า​เพื่อน​ที่​ดี​นั้น​พูด​คุย​กัน​อย่าง​เปิด​เผย​ตรง​ไป​ตรง​มา แต่​ก็​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​กัน. เปาโล​เขียน​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​เรา​ควร​ติด​ต่อ​สื่อ​ความ​กับ​คน​อื่น ๆ ว่า “ให้​คำ​พูด​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​คำ​พูด​ที่​แสดง​ความ​กรุณา​เสมอ​เหมือน​อาหาร​ที่​ปรุง​ด้วย​เกลือ.” เปาโล​กล่าว​อย่าง​เจาะจง​ถึง​วิธี​ที่​เรา​ควร​พูด​กับ “คน​ภาย​นอก” กล่าว​คือ คน​ที่​ไม่​ได้​เป็น​พี่​น้อง​คริสเตียน​ของ​เรา. (โกโล. 4:5, 6) แน่นอน หาก​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​สม​ควร​ได้​รับ​ความ​นับถือ​เมื่อ​เรา​พูด​กับ​พวก​เขา ยิ่ง​กว่า​นั้น​สัก​เท่า​ใด​ที่​เพื่อน ๆ ใน​ประชาคม​ควร​ได้​รับ​ความ​นับถือ​จาก​เรา!

18, 19. เรา​ควร​มี​ทัศนะ​อย่าง​ไร​ต่อ​คำ​แนะ​นำ​ที่​เรา​ได้​รับ​จาก​เพื่อน​คริสเตียน และ​ผู้​ปกครอง​ประชาคม​เอเฟโซส์​วาง​ตัว​อย่าง​อะไร​ไว้​ให้​เรา?

18 เพื่อน​ที่​ดี​นับถือ​ความ​คิด​เห็น​ของ​กัน​และ​กัน ฉะนั้น การ​สื่อ​ความ​ระหว่าง​พวก​เขา​ต้อง​ทั้ง​สุภาพ​และ​ตรง​ไป​ตรง​มา. โซโลมอน​กษัตริย์​ผู้​ฉลาด​สุขุม​เขียน​ว่า “น้ำมัน​และ​น้ำหอม​เป็น​ของ​ที่​ทำ​ให้​ชื่น​ใจ​ฉัน​ใด, คำ​เตือน​สติ​อัน​อ่อน​หวาน​ของ​เพื่อน​ก็​เป็น​ที่​ให้​ชื่น​ใจ​ฉัน​นั้น.” (สุภา. 27:9) คุณ​รู้สึก​อย่าง​นั้น​ไหม​เมื่อ​คุณ​ได้​รับ​คำ​เตือน​สติ​จาก​เพื่อน? (อ่าน​บทเพลง​สรรเสริญ 141:5) ถ้า​เพื่อน​แสดง​ความ​เป็น​ห่วง​เกี่ยว​กับ​การ​กระทำ​บาง​อย่าง​ของ​คุณ คุณ​มี​ท่าที​อย่าง​ไร? คุณ​มอง​คำ​เตือน​สติ​นั้น​ว่า​เป็น​การ​แสดง​ความ​กรุณา​รักใคร่ หรือ​คุณ​รู้สึก​โกรธ​เคือง?

19 อัครสาวก​เปาโล​เพลิดเพลิน​กับ​มิตรภาพ​ที่​ใกล้​ชิด​กับ​ผู้​ปกครอง​ประชาคม​เอเฟโซส์. ดู​เหมือน​ว่า​ท่าน​คง​รู้​จัก​ผู้​ปกครอง​เหล่า​นี้​บาง​คน​ตอน​ที่​พวก​เขา​เริ่ม​เข้า​มา​เป็น​ผู้​เชื่อถือ. ถึง​กระนั้น ระหว่าง​ที่​พบ​กับ​พวก​เขา​ครั้ง​สุด​ท้าย ท่าน​ให้​คำ​แนะ​นำ​แก่​พวก​เขา​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา. พวก​เขา​มี​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร? เพื่อน​เหล่า​นี้​ของ​เปาโล​ไม่​รู้สึก​โกรธ​เคือง. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น พวก​เขา​รู้สึก​ขอบคุณ​ที่​ท่าน​สนใจ​พวก​เขา และ​พวก​เขา​ถึง​กับ​ร้องไห้​เมื่อ​นึก​ถึง​ว่า​จะ​ไม่​ได้​เห็น​หน้า​ท่าน​อีก.—กิจ. 20:17, 29, 30, 36-38

20. เพื่อน​ที่​มี​ความ​รัก​จะ​ทำ​อะไร?

20 เพื่อน​ที่​ดี​ไม่​เพียง​แค่​รับ​คำ​แนะ​นำ​ที่​สุขุม แต่​ให้​คำ​แนะ​นำ​ด้วย. แน่นอน เรา​ต้อง​รู้​ว่า​เมื่อ​ไร​ที่​เรา​ไม่​ควร “เข้า​ไป​ยุ่ง​กับ​เรื่อง​ของ​คน​อื่น.” (1 เทส. 4:11) และ​เรา​ต้อง​ตระหนัก​ด้วย​ว่า​เรา​แต่​ละ​คน “จะ​ต้อง​ให้​การ​เรื่อง​ของ​ตัว​เอง​ต่อ​พระเจ้า.” (โรม 14:12) แต่​เมื่อ​จำเป็น เพื่อน​ที่​มี​ความ​รัก​จะ​เตือน​สติ​เพื่อน​อย่าง​กรุณา​ให้​นึก​ถึง​มาตรฐาน​ของ​พระ​ยะโฮวา. (1 โค. 7:39) ตัว​อย่าง​เช่น คุณ​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​ถ้า​คุณ​สังเกต​ว่า​เพื่อน​คน​หนึ่ง​ที่​ยัง​เป็น​โสด​เริ่ม​ผูก​พัน​ทาง​อารมณ์​กับ​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ? เพราะ​กลัว​ว่า​จะ​เสีย​เพื่อน คุณ​จะ​ลังเล​ที่​จะ​พูด​ใน​เรื่อง​ที่​คุณ​เป็น​ห่วง​ไหม? หรือ​ถ้า​เพื่อน​ของ​คุณ​เพิกเฉย​คำ​เตือน​ของ​คุณ คุณ​จะ​ทำ​อะไร? เพื่อน​ที่​ดี​จะ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​ผู้​บำรุง​เลี้ยง​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ให้​ช่วย​เพื่อน​ที่​ก้าว​พลาด​ไป. การ​ทำ​อย่าง​นั้น​ต้อง​อาศัย​ความ​กล้า. ถึง​กระนั้น มิตรภาพ​ที่​อาศัย​ความ​รัก​ที่​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​จะ​ไม่​เสียหาย​อย่าง​ถาวร.

21. เรา​ทุก​คน​ทำ​อะไร​ใน​บาง​ครั้ง แต่​เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​ที่​เรา​จะ​รักษา​มิตรภาพ​ที่​มั่นคง​ใน​ประชาคม?

21 อ่าน​โกโลซาย 3:13, 14. บาง​ครั้ง เรา​ทำ​ให้​เพื่อน​ของ​เรา “มี​เหตุ​จะ​บ่น​ว่า” เรา และ​พวก​เขา​เอง​ก็​พูด​หรือ​ทำ​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​เรา​ขุ่นเคือง​เหมือน​กัน. ยาโกโบ​เขียน​ว่า “เรา​ต่าง​พลาด​พลั้ง​กัน​หลาย​ครั้ง.” (ยโก. 3:2) อย่าง​ไร​ก็​ตาม สิ่ง​ที่​วัด​ความ​เป็น​เพื่อน​นั้น​ไม่​ได้​ดู​ที่​ว่า​เรา​ทำ​ผิด​ต่อ​กัน​บ่อย​แค่​ไหน แต่​เรา​ให้​อภัย​ความ​ผิด​ของ​เพื่อน​อย่าง​แท้​จริง​ขนาด​ไหน. เป็น​เรื่อง​สำคัญ​สัก​เพียง​ไร​ที่​เรา​จะ​สร้าง​มิตรภาพ​ที่​มั่นคง​ด้วย​การ​สื่อ​ความ​กัน​อย่าง​เปิด​เผย​และ​ให้​อภัย​กัน​อย่าง​ใจ​กว้าง! ถ้า​เรา​แสดง​ความ​รัก​เช่น​นั้น ความ​รัก​นั้น​จะ​เป็น ‘สิ่ง​ที่​ผูก​พัน​ให้​เป็น​อัน​หนึ่ง​อัน​เดียว​กัน​อย่าง​สมบูรณ์.’

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• เรา​จะ​สร้าง​มิตรภาพ​ที่​ดี​ได้​อย่าง​ไร?

• อาจ​จำเป็น​ต้อง​ตัด​ขาด​มิตรภาพ​เมื่อ​ไร?

• เรา​ต้อง​ทำ​อะไร​เพื่อ​รักษา​มิตรภาพ​ให้​มั่นคง?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 18]

อะไร​เป็น​รากฐาน​ของ​มิตรภาพ​ที่​ยั่งยืน​ระหว่าง​รูท​กับ​นาอะมี?

[ภาพ​หน้า 19]

คุณ​แสดง​น้ำใจ​รับรอง​แขก​เป็น​ประจำ​ไหม?