ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คำอธิษฐานของคุณบอกอะไรเกี่ยวกับตัวคุณ?

คำอธิษฐานของคุณบอกอะไรเกี่ยวกับตัวคุณ?

คำ​อธิษฐาน​ของ​คุณ​บอก​อะไร​เกี่ยว​กับ​ตัว​คุณ?

“ข้า​แต่​พระองค์​ผู้​สดับ​คำ​อธิษฐาน, บรรดา​มนุษย์​โลก​จะ​ได้​เข้า​มา​เฝ้า​พระองค์.”—เพลง. 65:2

1, 2. เหตุ​ใด​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา​สามารถ​อธิษฐาน​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระองค์​ได้​อย่าง​มั่น​ใจ?

พระ​ยะโฮวา​ไม่​เคย​ปิด​พระ​กรรณ​ของ​พระองค์​ต่อ​คำ​วิงวอน​ของ​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระองค์. เรา​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​พระองค์​ทรง​ฟัง​เรา. แม้​แต่​ถ้า​พยาน​พระ​ยะโฮวา​หลาย​ล้าน​คน​อธิษฐาน​ถึง​พระเจ้า​ใน​เวลา​เดียว​กัน จะ​ไม่​มี​ใคร​สัก​คน ‘ได้​ยิน​เสียง​สัญญาณ​สาย​ไม่​ว่าง.’

2 โดย​มั่น​ใจ​ว่า​พระเจ้า​ทรง​ได้​ยิน​คำ​อ้อน​วอน​ของ​ท่าน ดาวิด​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ร้อง​เพลง​ดัง​นี้: “ข้า​แต่​พระองค์​ผู้​สดับ​คำ​อธิษฐาน, บรรดา​มนุษย์​โลก​จะ​ได้​เข้า​มา​เฝ้า​พระองค์.” (เพลง. 65:2) คำ​อธิษฐาน​ของ​ดาวิด​ได้​รับ​คำ​ตอบ​เพราะ​ท่าน​เป็น​ผู้​นมัสการ​ที่​ภักดี​ของ​พระ​ยะโฮวา. เรา​ควร​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘การ​ทูล​วิงวอน​ของ​ฉัน​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ฉัน​ไว้​วางใจ​พระ​ยะโฮวา​และ​สนใจ​การ​นมัสการ​บริสุทธิ์​เป็น​อันดับ​แรก​ไหม? คำ​อธิษฐาน​ของ​ฉัน​บอก​อะไร​เกี่ยว​กับ​ตัว​ฉัน?’

จง​เข้า​เฝ้า​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ

3, 4. (ก) เรา​ควร​มี​ทัศนะ​อย่าง​ไร​เมื่อ​เข้า​เฝ้า​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​การ​อธิษฐาน? (ข) เรา​ควร​ทำ​อะไร​ถ้า​เรา​รู้สึก​ไม่​สบาย​ใจ​เพราะ “ความ​คิด​ที่​รบกวน​ใจ” เกี่ยว​กับ​บาป​ร้ายแรง?

3 ถ้า​เรา​ต้องการ​ให้​พระเจ้า​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา เรา​ต้อง​เข้า​เฝ้า​พระองค์​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ. (เพลง. 138:6) เรา​ควร​ขอ​พระ​ยะโฮวา​ตรวจ​ดู​เรา เช่น​เดียว​กับ​ที่​ดาวิด​ได้​ขอ​เมื่อ​ท่าน​กล่าว​ว่า “ข้า​แต่​พระเจ้า ขอ​โปรด​พินิจ​พิเคราะห์​ดู​ข้าพเจ้า และ​ทรง​ทราบ​หัวใจ​ของ​ข้าพเจ้า. ขอ​โปรด​ตรวจ​สอบ​ดู​ข้าพเจ้า และ​ทรง​ทราบ​ความ​คิด​ที่​รบกวน​ใจ​ของ​ข้าพเจ้า และ​ทอด​พระ​เนตร​ดู​ว่า​มี​วิถี​ที่​ก่อ​ความ​ปวด​ร้าว​ใด ๆ ใน​ตัว​ข้าพเจ้า​หรือ​ไม่ และ​โปรด​นำ​ข้าพเจ้า​ไป​ใน​หน​ทาง​ที่​ดำเนิน​สืบ​ไป​โดย​ไม่​มี​เวลา​กำหนด.” (เพลง. 139:23, 24, ล.ม.) เรา​ไม่​ควร​เพียง​แค่​อธิษฐาน แต่​ควร​ยอม​ให้​พระเจ้า​ตรวจ​สอบ​และ​ยอม​รับ​คำ​แนะ​นำ​จาก​พระ​คำ​ของ​พระองค์​ด้วย. พระ​ยะโฮวา​ทรง​สามารถ​นำ​เรา “ไป​ใน​หน​ทาง​ที่​ดำเนิน​สืบ​ไป​โดย​ไม่​มี​เวลา​กำหนด” โดย​ทรง​ช่วย​เรา​ให้​ดำเนิน​ใน​แนว​ทาง​ที่​นำ​ไป​สู่​ชีวิต​นิรันดร์.

4 จะ​ว่า​อย่าง​ไร​ถ้า​เรา​รู้สึก​ไม่​สบาย​ใจ​เพราะ “ความ​คิด​ที่​รบกวน​ใจ” เกี่ยว​กับ​บาป​ร้ายแรง? (อ่าน​บทเพลง​สรรเสริญ 32:1-5) การ​พยายาม​ระงับ​ความ​รู้สึก​ผิด​ไว้​อาจ​ทำ​ให้​เรา​หมด​กำลัง​เรี่ยว​แรง​เหมือน​ต้น​ไม้​ที่​สูญ​เสีย​น้ำ​เลี้ยง​เพราะ​ถูก​แดด​แผด​เผา​ใน​ฤดู​ร้อน. เพราะ​บาป​ของ​ท่าน ดาวิด​จึง​สูญ​เสีย​ความ​ยินดี​และ​อาจ​ถึง​กับ​ล้ม​ป่วย​ด้วย​ซ้ำ. แต่​การ​สารภาพ​บาป​กับ​พระเจ้า​ทำ​ให้​ท่าน​รู้สึก​โล่ง​ใจ​จริง ๆ! ขอ​ให้​นึก​ภาพ​ว่า​ดาวิด​ยินดี​ขนาด​ไหน​เมื่อ​ท่าน​รู้สึก​ว่า​พระเจ้า “ทรง​โปรด​ยก​การ​ล่วง​ละเมิด” ของ​ท่าน และ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​อภัย​ท่าน. การ​สารภาพ​บาป​กับ​พระเจ้า​สามารถ​ทำ​ให้​รู้สึก​โล่ง​ใจ และ​การ​ช่วยเหลือ​จาก​คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​จะ​ช่วย​ฟื้นฟู​สุขภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​คน​ที่​ทำ​ผิด​ด้วย.—สุภา. 28:13; ยโก. 5:13-16

จง​วิงวอน​พระเจ้า​และ​ขอบพระคุณ​พระองค์

5. เรา​ควร​วิงวอน​ขอ​ต่อ​พระเจ้า​เมื่อ​ไร?

5 ถ้า​เรา​วิตก​กังวล​อย่าง​มาก​ด้วย​เหตุ​ผล​ใด​ก็​แล้ว​แต่ เรา​ควร​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล​ที่​ว่า “อย่า​วิตก​กังวล​กับ​สิ่ง​ใด แต่​จง​ทูล​ทุก​สิ่ง​ที่​พวก​ท่าน​ปรารถนา​ต่อ​พระเจ้า​โดย​การ​อธิษฐาน​และ​การ​วิงวอน​พร้อม​กับ​การ​ขอบพระคุณ.” (ฟิลิป. 4:6) เรา​ควร​วิงวอน​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​และ​การ​ชี้​นำ​จาก​พระ​ยะโฮวา​โดย​เฉพาะ​เมื่อ​ตก​อยู่​ใน​อันตราย​หรือ​ถูก​ข่มเหง.

6, 7. เพราะ​เหตุ​ใด​คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​ควร​มี​คำ​ขอบพระคุณ​อยู่​ด้วย?

6 อย่าง​ไร​ก็​ตาม ถ้า​เรา​อธิษฐาน​เฉพาะ​เมื่อ​เรา​ต้องการ​จะ​ได้​อะไร​บาง​อย่าง นั่น​เผย​ให้​เห็น​ว่า​เรา​มี​แรง​กระตุ้น​แบบ​ใด? เปาโล​กล่าว​ว่า​เรา​ควร​ทูล​ขอ​ต่อ​พระเจ้า “พร้อม​กับ​การ​ขอบพระคุณ.” เรา​มี​เหตุ​ผล​อย่าง​แน่นอน​ที่​จะ​แสดง​ความ​รู้สึก​เหมือน​กับ​ดาวิด​ซึ่ง​กล่าว​ว่า “ข้า​แต่​พระ​ยะโฮวา, ยศ​ศักดิ์, อำนาจ, รัศมี, ความ​ชัย​ชนะ, และ​เดชานุภาพ: คง​มี​แก่​พระองค์, เพราะ​สรรพสิ่ง​ใน​สวรรค์​ก็​ดี, ที่​พิภพ​โลก​ก็​ดี, เป็น​ของ​พระองค์; ข้า​แต่​พระ​ยะโฮวา, ราชสมบัติ​สิทธิ์​ขาด​แก่​พระองค์, พระองค์​ทรง​สถิต​อยู่​เหนือ​สิ่ง​สารพัตร. . . . ข้า​แต่​พระ​ยะโฮวา, บัด​นี้​ข้าพเจ้า​ทั้ง​หลาย​ขอ​ขอบ​พระเดช​พระคุณ​พระองค์, และ​สรรเสริญ​พระ​นาม​อัน​ล้ำ​เลิศ​ของ​พระองค์.”—1 โคร. 29:11-13

7 พระ​เยซู​ทรง​ขอบพระคุณ​พระเจ้า​สำหรับ​อาหาร​และ​สำหรับ​ขนมปัง​กับ​เหล้า​องุ่น​ที่​ใช้​ใน​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า. (มัด. 15:36; มโก. 14:22, 23) นอก​จาก​นั้น เพื่อ​จะ​แสดง​ความ​ขอบคุณ​คล้าย ๆ กัน​เรา​ควร “ขอบพระคุณ​พระ​เยโฮวาห์” สำหรับ “การ​มหัศจรรย์​ของ​พระองค์​ที่​มี​ต่อ​บุตร​ทั้ง​หลาย​ของ​มนุษย์,” สำหรับ “คำ​ตัดสิน​อัน​ชอบธรรม​ของ​พระองค์,” และ​สำหรับ​พระ​คำ​หรือ​ข่าวสาร​ของ​พระองค์​ซึ่ง​เวลา​นี้​มี​อยู่​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล.—เพลง. 107:15, ฉบับ​แปล​คิงเจมส์; 119:62, 105, ฉบับ​แปล​คิงเจมส์

จง​อธิษฐาน​ขอ​เพื่อ​ผู้​อื่น

8, 9. เหตุ​ใด​เรา​ควร​อธิษฐาน​เพื่อ​เพื่อน​คริสเตียน?

8 ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า​เรา​อธิษฐาน​ขอ​เพื่อ​ตัว​เรา​เอง แต่​คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​ควร​รวม​คำ​ขอ​เพื่อ​ผู้​อื่น​ด้วย แม้​แต่​คริสเตียน​ที่​เรา​ไม่​รู้​จัก. แม้​ว่า​อัครสาวก​เปาโล​อาจ​ไม่​รู้​จัก​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ทุก​คน​ใน​เมือง​โกโลซาย ท่าน​เขียน​ว่า “เรา​ขอบพระคุณ​พระเจ้า​พระ​บิดา​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า​ของ​เรา​เสมอ​เมื่อ​เรา​ทูล​อธิษฐาน​เพื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย เพราะ​เรา​ได้​ยิน​เรื่อง​ความ​เชื่อ​ที่​พวก​ท่าน​มี​ใน​พระ​คริสต์​เยซู​และ​ความ​รัก​ที่​พวก​ท่าน​มี​ต่อ​ผู้​บริสุทธิ์​ทุก​คน.” (โกโล. 1:3, 4) เปาโล​ยัง​อธิษฐาน​เพื่อ​คริสเตียน​ใน​เมือง​เทสซาโลนิเก​ด้วย. (2 เทส. 1:11, 12) คำ​อธิษฐาน​แบบ​นั้น​บอก​หลาย​อย่าง​เกี่ยว​กับ​ตัว​เรา​และ​ทัศนะ​ที่​เรา​มี​ต่อ​พี่​น้อง​คริสเตียน.

9 คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​เพื่อ​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​และ “แกะ​อื่น” สหาย​ของ​พวก​เขา​เป็น​หลักฐาน​ที่​แสดง​ว่า​เรา​สนใจ​ห่วงใย​องค์การ​ของ​พระเจ้า. (โย. 10:16) เปาโล​ขอ​ให้​เพื่อน​ผู้​นมัสการ​อธิษฐาน​เพื่อ​ที่​ท่าน “จะ​พูด​ได้​ด้วย​ความ​มั่น​ใจ​เมื่อ​ประกาศ​เรื่อง​ความ​ลับ​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ใน​ข่าว​ดี​นั้น.” (เอเฟ. 6:17-20) เรา​เอง​อธิษฐาน​เพื่อ​เพื่อน​คริสเตียน​อย่าง​นั้น​ไหม?

10. การ​อธิษฐาน​เพื่อ​ผู้​อื่น​อาจ​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​เรา​อย่าง​ไร?

10 การ​อธิษฐาน​เพื่อ​คน​อื่น​อาจ​ทำ​ให้​ทัศนะ​ที่​เรา​มี​ต่อ​พวก​เขา​เปลี่ยน​ไป. ถ้า​เรา​ไม่​ชอบ​ใคร​คน​ใด​คน​หนึ่ง​แต่​ว่า​เรา​อธิษฐาน​เพื่อ​เขา แล้ว​เรา​จะ​ไม่​ชอบ​คน​นั้น​อยู่​ต่อ​ไป​ได้​อย่าง​ไร? (1 โย. 4:20, 21) การ​อธิษฐาน​แบบ​นี้​เป็น​การ​กระทำ​ที่​เสริม​สร้าง​และ​ส่ง​เสริม​ให้​เรา​มี​เอกภาพ​กับ​พี่​น้อง. นอก​จาก​นั้น การ​อธิษฐาน​เช่น​นั้น​บ่ง​บอก​ว่า​เรา​มี​ความ​รัก​แบบ​พระ​คริสต์. (โย. 13:34, 35) คุณลักษณะ​นี้​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ใน​ผล​ของ​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า. เรา​เอง​อธิษฐาน​ขอ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ไหม โดย​ที่​เรา​ทูล​ขอ​พระ​ยะโฮวา​ให้​ช่วย​เรา​แสดง​ผล​ของ​พระ​วิญญาณ​คือ ความ​รัก, ความ​ยินดี, สันติ​สุข, ความ​อด​กลั้น​ไว้​นาน, ความ​กรุณา, ความ​ดี, ความ​เชื่อ, ความ​อ่อนโยน, และ​การ​ควบคุม​ตน​เอง? (ลูกา 11:13; กลา. 5:22, 23) หาก​เป็น​อย่าง​นั้น คำ​พูด​และ​การ​กระทำ​ของ​เรา​จะ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​กำลัง​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ.—อ่าน​กาลาเทีย 5:16, 25

11. เหตุ​ใด​จึง​เป็น​เรื่อง​เหมาะ​สม​ที่​จะ​ขอ​คน​อื่น​ให้​อธิษฐาน​เพื่อ​เรา?

11 ถ้า​เรา​รู้​ว่า​ลูก​ถูก​ล่อ​ใจ​ให้​โกง​ข้อ​สอบ​ที่​โรง​เรียน เรา​ก็​ควร​อธิษฐาน​เพื่อ​ลูก​และ​ใช้​พระ​คัมภีร์​เพื่อ​ช่วย​เขา​ให้​ประพฤติ​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​และ​ไม่​ทำ​อะไร​ผิด. เปาโล​บอก​คริสเตียน​ใน​เมือง​โครินท์​ว่า “เรา​อธิษฐาน​ต่อ​พระเจ้า​ขอ​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​อย่า​ทำ​อะไร​ผิด.” (2 โค. 13:7) คำ​อธิษฐาน​ที่​แสดง​ถึง​ความ​ถ่อม​ใจ​แบบ​นั้น​เป็น​ที่​ชอบ​พระทัย​พระ​ยะโฮวา​และ​สะท้อน​ถึง​ตัว​เรา​ใน​ทาง​ที่​ดี. (อ่าน​สุภาษิต 15:8) เรา​สามารถ​ขอ​คน​อื่น​ให้​อธิษฐาน​เพื่อ​เรา เหมือน​กับ​ที่​อัครสาวก​เปาโล​ขอ. ท่าน​เขียน​ว่า “จง​อธิษฐาน​เพื่อ​เรา​ต่อ ๆ ไป ด้วย​เรา​มั่น​ใจ​ว่า​เรา​มี​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ที่​ดี​เพราะ​เรา​ปรารถนา​จะ​ประพฤติ​ตัว​ซื่อ​สัตย์​ใน​ทุก​สิ่ง.”—ฮีบรู 13:18

คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​บอก​อะไร​อีก​เกี่ยว​กับ​ตัว​เรา?

12. อะไร​ควร​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ใน​คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา?

12 คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​บ่ง​บอก​ว่า​เรา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ที่​มี​ความ​สุข​และ​มี​ใจ​แรง​กล้า​ไหม? คำ​วิงวอน​ของ​เรา​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​เน้น​เรื่อง​การ​ทำ​ตาม​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า, การ​ประกาศ​ข่าวสาร​เรื่อง​ราชอาณาจักร, การ​พิสูจน์​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มี​สิทธิ​อย่าง​ถูก​ต้อง​ใน​การ​ปกครอง, และ​การ​ทำ​ให้​พระ​นาม​ของ​พระองค์​เป็น​ที่​นับถือ​อัน​บริสุทธิ์​ไหม? เรื่อง​เหล่า​นี้​ควร​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ใน​คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา ดัง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ให้​เห็น​ใน​คำ​อธิษฐาน​แบบ​อย่าง​ของ​พระองค์ ซึ่ง​เริ่ม​ด้วย​ถ้อย​คำ​ที่​ว่า “ข้า​แต่​พระ​บิดา​ของ​ข้าพเจ้า​ทั้ง​หลาย​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์ ขอ​ให้​พระ​นาม​ของ​พระองค์​เป็น​ที่​นับถือ​อัน​บริสุทธิ์. ขอ​ให้​ราชอาณาจักร​ของ​พระองค์​มา​เถิด. ขอ​ให้​พระ​ประสงค์​ของ​พระองค์​สำเร็จ​บน​แผ่นดิน​โลก​เช่น​เดียว​กับ​ใน​สวรรค์.”—มัด. 6:9, 10

13, 14. คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​เผย​ให้​เห็น​อะไร​เกี่ยว​กับ​ตัว​เรา?

13 คำ​อธิษฐาน​ที่​เรา​ทูล​ต่อ​พระเจ้า​เผย​ให้​เห็น​แรง​กระตุ้น, ความ​สนใจ, และ​ความ​ปรารถนา​ของ​เรา. พระ​ยะโฮวา​ทรง​รู้​ว่า​เรา​เป็น​คน​อย่าง​ไร​จริง ๆ. สุภาษิต 17:3 (ล.ม.) กล่าว​ว่า “เบ้า​หลอม​มี​ไว้​สำหรับ​เงิน​และ​เตา​ถลุง​มี​ไว้​สำหรับ​ทอง แต่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​ผู้​ตรวจ​ดู​หัวใจ.” พระเจ้า​ทรง​เห็น​สิ่ง​ที่​อยู่​ใน​หัวใจ​เรา. (1 ซามู. 16:7) พระองค์​ทรง​รู้​ว่า​เรา​รู้สึก​อย่าง​ไร​ต่อ​การ​ประชุม, งาน​รับใช้, และ​พี่​น้อง​คริสเตียน. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ทราบ​ดี​ว่า​เรา​คิด​อย่าง​ไร​ต่อ “พี่​น้อง” ของ​พระ​คริสต์. (มัด. 25:40) พระองค์​ทรง​รู้​ว่า​เรา​ปรารถนา​จริง ๆ หรือ​ไม่​ใน​เรื่อง​ที่​เรา​อธิษฐาน​ขอ หรือ​ว่า​เรา​เพียง​แค่​พูด​ซ้ำ​คำ​เดิม. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “เมื่อ​อธิษฐาน อย่า​กล่าว​ถ้อย​คำ​เดียว​กัน​ซ้ำซาก​อย่าง​ที่​ชน​ต่าง​ชาติ​ทำ เพราะ​พวก​เขา​คิด [ผิด ๆ] ว่า​ถ้า​พวก​เขา​พูด​มาก ๆ พระ​จะ​โปรด​ฟัง.”—มัด. 6:7

14 คำ​พูด​ใน​คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​ยัง​เผย​ให้​เห็น​ด้วย​ว่า​เรา​ไว้​วางใจ​พระเจ้า​มาก​เพียง​ไร. ดาวิด​กล่าว​ว่า “พระองค์ [พระ​ยะโฮวา] เป็น​ที่​พึ่ง​พำนัก​ของ​ข้าพเจ้า​แล้ว, เป็น​ป้อม​อัน​เข้มแข็ง​ป้องกัน​พวก​ศัตรู. ข้าพเจ้า​จะ​อาศัย​อยู่​ใน​พลับพลา​ของ​พระองค์​เป็น​นิตย์: ข้าพเจ้า​จะ​พึ่ง​ร่ม​ปีก​ของ​พระองค์.” (เพลง. 61:3, 4) เมื่อ​พระเจ้า “กาง​พลับพลา” โดย​นัย​ไว้​เหนือ​เรา เรา​มี​ความ​มั่นคง​ปลอด​ภัย​และ​ได้​รับ​การ​ดู​แล​ปก​ป้อง​จาก​พระองค์. (วิ. 7:15) เป็น​เรื่อง​ที่​ทำ​ให้​รู้สึก​สบาย​ใจ​สัก​เพียง​ไร​ที่​จะ​เข้า​ใกล้​พระ​ยะโฮวา​โดย​อธิษฐาน​ด้วย​ความ​เชื่อ​มั่น​ว่า​พระองค์ ‘ทรง​อยู่​ฝ่าย​เรา’ ไม่​ว่า​ความ​เชื่อ​ของ​เรา​จะ​ถูก​ทดสอบ​อย่าง​ไร​ก็​ตาม!—อ่าน​บทเพลง​สรรเสริญ 118:5-9

15, 16. คำ​อธิษฐาน​อาจ​ช่วย​เรา​ให้​มอง​อะไร​ออก​ถ้า​เรา​มี​ความ​ปรารถนา​จะ​รับ​สิทธิ​พิเศษ​ใน​งาน​รับใช้?

15 คำ​อธิษฐาน​อย่าง​จริง​ใจ​ถึง​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​แรง​กระตุ้น​ของ​เรา​อาจ​ช่วย​เรา​ได้​ให้​มอง​ออก​ว่า​แรง​กระตุ้น​ที่​แท้​จริง​ของ​เรา​คือ​อะไร. ตัว​อย่าง​เช่น ความ​ปรารถนา​ที่​จะ​รับใช้​ใน​ตำแหน่ง​ผู้​ดู​แล​ท่ามกลาง​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​เป็น​ความ​ปรารถนา​ด้วย​ใจ​ถ่อม​จริง ๆ ที่​จะ​ทำ​ตัว​ให้​เป็น​ประโยชน์​และ​ทำ​ให้​ดี​ที่​สุด​เท่า​ที่​เรา​จะ​ทำ​ได้​เพื่อ​ผล​ประโยชน์​ของ​ราชอาณาจักร​ไหม? หรือ​ว่า​นั่น​เป็น​เพราะ​เรา​อยาก “เป็น​ใหญ่” หรือ​แม้​แต่​อยาก “ทำ​ตัว​เป็น​นาย​เหนือ” คน​อื่น? ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ควร​มี​แรง​กระตุ้น​อย่าง​นั้น. (อ่าน 3 โยฮัน 9, 10; ลูกา 22:24-27) ถ้า​เรา​มี​ความ​ปรารถนา​ผิด ๆ ความ​สัตย์​ซื่อ​ใน​การ​อธิษฐาน​ถึง​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​สามารถ​เผย​ให้​เห็น​ว่า​เรา​มี​ความ​ปรารถนา​ที่​ไม่​ถูก​ต้อง​และ​ช่วย​เรา​แก้ไข​เปลี่ยน​แปลง​ก่อน​ที่​ความ​ปรารถนา​นั้น​จะ​ฝัง​ลึก.

16 ภรรยา​ที่​เป็น​คริสเตียน​อาจ​ปรารถนา​อย่าง​แรง​กล้า​ให้​สามี​รับใช้​เป็น​ผู้​ช่วย​งาน​รับใช้​และ​อาจ​เป็น​ได้​ว่า​อยาก​ให้​สามี​ได้​เป็น​ผู้​ดู​แล​หรือ​ผู้​ปกครอง​ใน​ที่​สุด. พี่​น้อง​หญิง​เหล่า​นี้​อาจ​ปฏิบัติ​สอดคล้อง​กับ​ความ​ปรารถนา​ที่​พวก​เธอ​แสดง​ใน​คำ​อธิษฐาน​ส่วน​ตัว​โดย​พยายาม​วาง​ตัว​เป็น​แบบ​อย่าง​ที่​ดี. เรื่อง​นี้​นับ​ว่า​สำคัญ เพราะ​คำ​พูด​และ​การ​กระทำ​ของ​คน​ใน​ครอบครัว​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ทัศนะ​ที่​คน​อื่น ๆ ใน​ประชาคม​มี​ต่อ​เขา.

เมื่อ​เป็น​ตัว​แทน​คน​อื่น ๆ ใน​การ​อธิษฐาน

17. เหตุ​ใด​จึง​นับ​ว่า​ดี​ที่​จะ​อยู่​ตาม​ลำพัง​เมื่อ​เรา​อธิษฐาน​เป็น​ส่วน​ตัว?

17 บ่อย​ครั้ง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ปลีก​ตัว​จาก​ฝูง​ชน​เพื่อ​จะ​อธิษฐาน​ถึง​พระ​บิดา​เป็น​ส่วน​ตัว. (มัด. 14:13; ลูกา 5:16; 6:12) เรา​มี​ความ​จำเป็น​อย่าง​เดียว​กัน​ที่​จะ​อยู่​ตาม​ลำพัง. การ​อธิษฐาน​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​สงบ​น่า​จะ​ทำ​ให้​เรา​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​พอ​พระทัย​และ​ช่วย​เรา​ให้​เข้มแข็ง​ฝ่าย​วิญญาณ​อยู่​เสมอ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​เยซู​ทรง​อธิษฐาน​ใน​ที่​สาธารณะ​ด้วย และ​นับ​ว่า​ดี​ที่​เรา​จะ​พิจารณา​วิธี​อธิษฐาน​ใน​ที่​สาธารณะ​อย่าง​เหมาะ​สม.

18. มี​อะไร​บ้าง​ที่​พี่​น้อง​ชาย​ควร​จด​จำ​ไว้​เมื่อ​เป็น​ตัว​แทน​คน​อื่น ๆ ใน​การ​อธิษฐาน​ที่​ประชาคม?

18 ณ การ​ประชุม ชาย​ผู้​ภักดี​เป็น​ตัว​แทน​คน​อื่น​ใน​การ​อธิษฐาน​ที่​ประชาคม. (1 ติโม. 2:8) เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ควร​จะ​สามารถ​กล่าว​คำ​ว่า “อาเมน” ซึ่ง​หมาย​ถึง “ขอ​ให้​เป็น​อย่าง​นั้น” ใน​ตอน​ท้าย​สุด​ของ​คำ​อธิษฐาน. แต่​เพื่อ​จะ​กล่าว​อย่าง​นั้น​ได้ พวก​เขา​ต้อง​เห็น​ด้วย​กับ​สิ่ง​ที่​กล่าว​ใน​คำ​อธิษฐาน​นั้น. ไม่​มี​คำ​พูด​ที่​น่า​ตกใจ​หรือ​ไม่​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา​ใน​คำ​อธิษฐาน​แบบ​อย่าง​ของ​พระ​เยซู. (ลูกา 11:2-4) นอก​จาก​นั้น พระองค์​ไม่​ทรง​แจก​แจง​ราย​ละเอียด​ใน​เรื่อง​ความ​จำเป็น​หรือ​ปัญหา​ทุก​อย่าง​ของ​ผู้​ฟัง​แต่​ละ​คน. การ​แสดง​ความ​ห่วงใย​คน​อื่น​เป็น​ส่วน​ตัว​เป็น​เรื่อง​เหมาะ​สม​สำหรับ​การ​อธิษฐาน​ส่วน​ตัว ไม่​ใช่​สำหรับ​การ​อธิษฐาน​ใน​ที่​สาธารณะ. และ​เมื่อ​เป็น​ตัว​แทน​คน​อื่น​ใน​การ​อธิษฐาน เรา​ไม่​ควร​กล่าว​ถึง​เรื่อง​ที่​เป็น​ความ​ลับ.

19. เรา​ควร​วาง​ตัว​ให้​เหมาะ​สม​อย่าง​ไร​ระหว่าง​ที่​มี​คน​หนึ่ง​เป็น​ตัว​แทน​ใน​การ​อธิษฐาน?

19 เมื่อ​มี​คน​หนึ่ง​เป็น​ตัว​แทน​ใน​การ​อธิษฐาน เรา​ต้อง​แสดง​ความ​เคารพ​และ “ยำเกรง​พระเจ้า.” (1 เป. 2:17) การ​กระทำ​บาง​อย่าง​อาจ​นับ​ว่า​เหมาะ​กับ​กาลเทศะ​ถ้า​ทำ​ที่​อื่น แต่​ไม่​ใช่ ณ การ​ประชุม​คริสเตียน. (ผู้ป. 3:1) ตัว​อย่าง​เช่น สมมุติ​ว่า​มี​ใคร​คน​หนึ่ง​พยายาม​ให้​ทุก​คน​ใน​กลุ่ม​คล้อง​แขน​หรือ​จับ​มือ​กัน​ระหว่าง​ที่​อธิษฐาน​อยู่. การ​ทำ​อย่าง​นี้​อาจ​ทำ​ให้​บาง​คน รวม​ทั้ง​ผู้​เข้า​ร่วม​ประชุม​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​เหมือน​กับ​เรา ไม่​พอ​ใจ​หรือ​เสีย​สมาธิ. คู่​สมรส​บาง​คู่​อาจ​จับ​มือ​กัน​อย่าง​ระวัง​ไม่​ให้​เป็น​จุด​สนใจ แต่​ถ้า​พวก​เขา​โอบ​กอด​กัน​ระหว่าง​ที่​มี​คน​หนึ่ง​เป็น​ตัว​แทน​ใน​การ​อธิษฐาน คน​ที่​บังเอิญ​เหลือบ​ไป​เห็น​การ​กระทำ​เช่น​นั้น​อาจ​รู้สึก​สะดุด. พวก​เขา​อาจ​คิด​หรือ​เกิด​ความ​รู้สึก​ว่า​สอง​คน​นี้​กำลัง​สนใจ​ความ​สัมพันธ์​อัน​หวาน​ชื่น​ของ​ตัว​เอง​แทน​ที่​จะ​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​พระ​ยะโฮวา. ดัง​นั้น ด้วย​ความ​นับถือ​สุด​ซึ้ง​ต่อ​พระองค์ ให้​เรา “ทำ​ทุก​สิ่ง​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​พระเจ้า​ได้​รับ​การ​สรรเสริญ” และ​หลีก​เลี่ยง​การ​กระทำ​ที่​อาจ​ทำ​ให้​ใคร​ก็​ตาม​เสีย​สมาธิ, ตกใจ, หรือ​สะดุด.—1 โค. 10:31, 32; 2 โค. 6:3

เรา​ควร​อธิษฐาน​ขอ​อะไร?

20. คุณ​จะ​อธิบาย​โรม 8:26, 27 อย่าง​ไร?

20 บาง​ครั้ง เรา​อาจ​ไม่​รู้​ว่า​จะ​พูด​อะไร​ใน​คำ​อธิษฐาน​ส่วน​ตัว​ของ​เรา. เปาโล​เขียน​ว่า “เรา​ไม่​รู้​ว่า​เรา​ควร​ทูล​ขอ​สิ่ง​ใด​เมื่อ​จำเป็น​ต้อง​ขอ แต่​พระ​วิญญาณ [บริสุทธิ์] ขอ​แทน​เรา​เมื่อ​เรา​คร่ำ​ครวญ​แม้​ไม่​เป็น​คำ​พูด. แต่​พระองค์ [พระเจ้า] ผู้​ตรวจ​ดู​หัวใจ​ทรง​รู้​ความ​มุ่ง​หมาย​ของ​พระ​วิญญาณ.” (โรม 8:26, 27) พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​มี​การ​บันทึก​คำ​อธิษฐาน​ของ​หลาย​คน​ไว้​ใน​พระ​คัมภีร์. พระองค์​ทรง​ยอม​รับ​คำ​อ้อน​วอน​เหล่า​นี้​ซึ่ง​มี​อยู่​ใน​พระ​คัมภีร์​ราว​กับ​ว่า​เป็น​คำ​ทูล​ขอ​ของ​เรา และ​ด้วย​เหตุ​นั้น​พระองค์​จึง​ทรง​ให้​ตาม​คำ​อ้อน​วอน​เหล่า​นั้น. พระเจ้า​ทรง​รู้​จัก​เรา​และ​ทรง​รู้​ความ​หมาย​ของ​สิ่ง​ที่​พระองค์​ทรง​ให้​พระ​วิญญาณ​พูด​โดย​ทาง​ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตอบ​คำ​วิงวอน​ของ​เรา​เมื่อ​พระ​วิญญาณ “ขอ” หรือ​ช่วย​พูด​แทน​เรา. แต่​เมื่อ​เรา​คุ้น​เคย​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ดี​ขึ้น เรา​ก็​อาจ​นึก​ถึง​เรื่อง​ที่​เรา​ควร​อธิษฐาน​ขอ​ได้​ง่าย​ขึ้น.

21. เรา​จะ​พิจารณา​อะไร​ใน​บทความ​ถัด​ไป?

21 ดัง​ที่​เรา​ได้​พิจารณา​กัน​ไป​แล้ว คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​บอก​ได้​มาก​เกี่ยว​กับ​ตัว​เรา. ตัว​อย่าง​เช่น คำ​อธิษฐาน​อาจ​เผย​ให้​เห็น​ว่า​เรา​มี​ความ​สัมพันธ์​ใกล้​ชิด​กับ​พระ​ยะโฮวา​มาก​เพียง​ไร และ​เรา​รู้​จัก​พระ​คำ​ของ​พระองค์​ดี​เพียง​ไร. (ยโก. 4:8) ใน​บทความ​ถัด​ไป เรา​จะ​พิจารณา​คำ​อธิษฐาน​บาง​อย่าง​และ​ถ้อย​คำ​ที่​ใช้​ใน​คำ​อธิษฐาน​ซึ่ง​บันทึก​ไว้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. การ​พิจารณา​พระ​คัมภีร์​เช่น​นั้น​น่า​จะ​มี​ผล​กระทบ​อย่าง​ไร​ต่อ​การ​ที่​เรา​เข้า​เฝ้า​พระเจ้า​ด้วย​การ​อธิษฐาน?

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• เรา​ควร​มี​ทัศนะ​อย่าง​ไร​เมื่อ​เข้า​เฝ้า​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​การ​อธิษฐาน?

• เหตุ​ใด​เรา​ควร​อธิษฐาน​เพื่อ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ?

• คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​อาจ​เผย​ให้​เห็น​อะไร​เกี่ยว​กับ​ตัว​เรา​และ​แรง​กระตุ้น​ของ​เรา?

• เรา​ควร​วาง​ตัว​แบบ​ที่​เหมาะ​สม​อย่าง​ไร​ระหว่าง​ที่​มี​คน​หนึ่ง​เป็น​ตัว​แทน​ใน​การ​อธิษฐาน?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 4]

คุณ​สรรเสริญ​และ​ขอบพระคุณ พระ​ยะโฮวา​เป็น​ประจำ​ไหม?

[ภาพ​หน้า 6]

กิริยา​ท่า​ทาง​ของ​เรา​ระหว่าง​ที่​มี​คน​หนึ่ง​เป็น​ตัว​แทน​ใน​การ​อธิษฐาน​ควร​ถวาย​เกียรติ​แด่​พระ​ยะโฮวา​เสมอ