ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงรักกันฉันพี่น้องมากยิ่งขึ้น

จงรักกันฉันพี่น้องมากยิ่งขึ้น

จง​รัก​กัน​ฉัน​พี่​น้อง​มาก​ยิ่ง​ขึ้น

“จง​ประพฤติ​ด้วย​ความ​รัก​ต่อ​ไป อย่าง​ที่​พระ​คริสต์​ทรง​รัก​ท่าน​ทั้ง​หลาย.”—เอเฟ. 5:2

1. พระ​เยซู​ทรง​ชี้​ว่า​ลักษณะ​ที่​สำคัญ​ของ​สาวก​ของ​พระองค์​คือ​อะไร?

การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​ตาม​บ้าน​เป็น​ลักษณะ​เด่น​อย่าง​หนึ่ง​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. ถึง​กระนั้น พระ​คริสต์​เยซู​ทรง​เลือก​อีก​แง่​มุม​หนึ่ง​ของ​ศาสนา​คริสเตียน​เพื่อ​ระบุ​ว่า​ใคร​เป็น​สาวก​แท้​ของ​พระองค์. พระองค์​ตรัส​ว่า “เรา​ให้​บัญญัติ​ใหม่​แก่​เจ้า​ทั้ง​หลาย คือ ให้​พวก​เจ้า​รัก​กัน เรา​รัก​พวก​เจ้า​มา​แล้ว​อย่าง​ไร ก็​ให้​พวก​เจ้า​รัก​กัน​อย่าง​นั้น​ด้วย. เพราะ​เหตุ​นี้​แหละ คน​ทั้ง​หลาย​จะ​รู้​ว่า​พวก​เจ้า​เป็น​สาวก​ของ​เรา ถ้า​พวก​เจ้า​รัก​กัน.”—โย. 13:34, 35

2, 3. ความ​รัก​ฉัน​พี่​น้อง​ของ​เรา​มี​ผล​กระทบ​อย่าง​ไร​ต่อ​คน​ที่​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​กับ​เรา?

2 ไม่​มี​ความ​รัก​อื่น​ใด​ใน​สังคม​มนุษย์​จะ​เทียบ​ได้​กับ​ความ​รัก​ที่​มี​อยู่​ท่ามกลาง​สังคม​พี่​น้อง​คริสเตียน​แท้. เช่น​เดียว​กับ​ที่​แม่เหล็ก​ดูด​เหล็ก ความ​รัก​ก็​ดึงดูด​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา​ให้​รวม​กัน​เป็น​หนึ่ง​เดียว​และ​ดึงดูด​คน​ที่​มี​หัวใจ​สุจริต​ให้​มา​เป็น​ผู้​นมัสการ​แท้. ขอ​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ของ​มาร์เซลีโน ซึ่ง​อยู่​ที่​ประเทศ​แคเมอรูน. เขา​ประสบ​อุบัติเหตุ​ใน​ที่​ทำ​งาน​ซึ่ง​ทำ​ให้​เขา​ตา​บอด. หลัง​จาก​เกิด​อุบัติเหตุ ก็​มี​ข่าว​ลือ​แพร่​ออก​ไป​ว่า​ที่​เขา​ตา​บอด​เพราะ​เขา​เป็น​พ่อมด. แทน​ที่​จะ​ปลอบโยน​เขา ศิษยาภิบาล​และ​สมาชิก​โบสถ์​คน​อื่น ๆ กลับ​ขับ​ไล่​เขา​ออก​จาก​คริสตจักร. เมื่อ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​คน​หนึ่ง​เชิญ​เขา​ไป​ร่วม​การ​ประชุม มาร์เซลีโน​จึง​ลังเล. เขา​ไม่​อยาก​ถูก​ปฏิเสธ​อีก.

3 มาร์เซลีโน​แปลก​ใจ​เมื่อ​เห็น​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น ณ หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร. เขา​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ​อย่าง​อบอุ่น และ​ได้​รับ​การ​ปลอบโยน​จาก​คำ​สอน​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เขา​ได้​ยิน​ได้​ฟัง. เขา​เริ่ม​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ประจำ​ประชาคม​ทุก​รายการ ก้าว​หน้า​ใน​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล และ​รับ​บัพติสมา​ใน​ปี 2006. ตอน​นี้​เขา​บอก​ความ​จริง​กับ​ครอบครัว​และ​เพื่อน​บ้าน​ของ​เขา และ​เริ่ม​นำ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​หลาย​ราย. มาร์เซลีโน​อยาก​ให้​คน​ที่​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​กับ​เขา​รู้สึก​ถึง​ความ​รัก​แบบ​เดียว​กับ​ที่​เขา​เอง​ประสบ​ใน​หมู่​ประชาชน​ของ​พระเจ้า.

4. เหตุ​ใด​เรา​ควร​ทำ​ตาม​คำ​เตือน​สติ​ของ​เปาโล​ที่​ให้ “ประพฤติ​ด้วย​ความ​รัก​ต่อ​ไป”?

4 ความ​รัก​ฉัน​พี่​น้อง​ใน​หมู่​พวก​เรา​เป็น​คุณลักษณะ​ที่​น่า​ดึงดูด​ใจ ดัง​นั้น เรา​ทุก​คน​ต้อง​ทำ​ส่วน​ของ​ตัว​เอง​เพื่อ​รักษา​ความ​รัก​แบบ​นี้​ไว้. ขอ​ให้​คิด​ถึง​กอง​ไฟ​ที่​ลุก​ไหม้​ใน​ค่ำ​คืน​อัน​หนาว​เย็น​ใน​ค่าย​พัก​แรม ซึ่ง​ดึงดูด​ผู้​คน​ให้​มา​อยู่​ใกล้ ๆ เปลว​ไฟ​เพื่อ​จะ​ได้​ความ​อบอุ่น. หาก​คน​ที่​ได้​รับ​ความ​อบอุ่น​จาก​กอง​ไฟ​นี้​ไม่​คอย​เติม​ฟืน กอง​ไฟ​นี้​ก็​จะ​มอด​ดับ. คล้าย​กัน ความ​รัก​ซึ่ง​เป็น​เครื่อง​ผูก​พัน​ที่​ยอด​เยี่ยม​ใน​ประชาคม​จะ​อ่อน​ลง​ไป​หาก​พวก​เรา​แต่​ละ​คน​ที่​เป็น​คริสเตียน​ไม่​คอย​เสริม​ให้​ความ​รัก​นี้​แรง​กล้า​อยู่​เสมอ. เรา​จะ​ทำ​อย่าง​นี้​ได้​อย่าง​ไร? อัครสาวก​เปาโล​ตอบ​ว่า “จง​ประพฤติ​ด้วย​ความ​รัก​ต่อ​ไป อย่าง​ที่​พระ​คริสต์​ทรง​รัก​ท่าน​ทั้ง​หลาย อีก​ทั้ง​ทรง​ประทาน​พระองค์​เอง​เป็น​ของ​ถวาย​และ​เป็น​เครื่อง​บูชา​อัน​หอม​หวาน​แด่​พระเจ้า​เพื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย.” (เอเฟ. 5:2) คำ​ถาม​ที่​เรา​ต้องการ​พิจารณา​ก็​คือ ฉัน​จะ​ประพฤติ​ด้วย​ความ​รัก​ต่อ ๆ ไป​ได้​โดย​วิธี​ใด?

“ให้​พวก​ท่าน​เปิด​ใจ​ให้​กว้าง​เช่น​กัน”

5, 6. เหตุ​ใด​เปาโล​จึง​กระตุ้น​คริสเตียน​ใน​เมือง​โครินท์​ให้ “เปิด​ใจ​ให้​กว้าง”?

5 อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ถึง​คริสเตียน​ใน​เมือง​โครินท์​โบราณ​ว่า “เรา​พูด​กับ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​อย่าง​เปิด​เผย​แล้ว พี่​น้อง​ชาว​โครินท์ หัวใจ​เรา​เปิด​กว้าง​แล้ว. ใจ​เรา​ไม่​คับแคบ​สำหรับ​พวก​ท่าน แต่​ใจ​พวก​ท่าน​คับแคบ​สำหรับ​ความ​รักใคร่​อัน​อบอุ่น. ดัง​นั้น ข้าพเจ้า​พูด​กับ​พวก​ท่าน​เหมือน​พูด​กับ​บุตร​ว่า ให้​พวก​ท่าน​เปิด​ใจ​ให้​กว้าง​เช่น​กัน​เพื่อ​ตอบ​สนอง​ความ​รักใคร่​ของ​เรา.” (2 โค. 6:11-13) เหตุ​ใด​เปาโล​กระตุ้น​คริสเตียน​ใน​เมือง​โครินท์​ให้​เปิด​ใจ​ให้​กว้าง​ใน​การ​แสดง​ความ​รัก?

6 ขอ​ให้​พิจารณา​ว่า​ประชาคม​ใน​เมือง​โครินท์​โบราณ​เริ่ม​ต้น​อย่าง​ไร. เปาโล​มา​ที่​เมือง​โครินท์​ใน​ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง​สากล​ศักราช 50. แม้​ว่า​งาน​ประกาศ​ของ​ท่าน​ที่​นั่น​เริ่ม​ต้น​ด้วย​ความ​ยาก​ลำบาก แต่​ท่าน​อัครสาวก​ไม่​เลิก​ประกาศ. ใน​ชั่ว​เวลา​สั้น ๆ หลาย​คน​ใน​เมือง​นั้น​แสดง​ความ​เชื่อ​ใน​ข่าว​ดี. เปาโล​ทุ่มเท​ตัว​โดย​ใช้​เวลา “หนึ่ง​ปี​หก​เดือน” เพื่อ​สอน​และ​เสริม​สร้าง​ประชาคม​ใหม่​นี้​ให้​เข้มแข็ง. เห็น​ได้​ชัด​ว่า ท่าน​รัก​คริสเตียน​ใน​เมือง​โครินท์​อย่าง​ยิ่ง. (กิจ. 18:5, 6, 9-11) พวก​เขา​มี​เหตุ​ผล​เต็ม​เปี่ยม​ที่​จะ​รัก​และ​นับถือ​ท่าน​เป็น​การ​ตอบ​แทน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม มี​บาง​คน​ใน​ประชาคม​ตี​ตัว​ออก​ห่าง​จาก​ท่าน. อาจ​เป็น​ได้​ที่​บาง​คน​ไม่​ชอบ​คำ​แนะ​นำ​แบบ​ตรง​ไป​ตรง​มา​ของ​ท่าน. (1 โค. 5:1-5; 6:1-10) ส่วน​คน​อื่น​อาจ​ฟัง​คำ​ใส่​ร้าย​ของ “พวก​อัครสาวก​สุด​วิเศษ.” (2 โค. 11:5, 6) เปาโล​ต้องการ​ให้​พี่​น้อง​ทั้ง​หมด​มี​ความ​รัก​แท้​ต่อ​ท่าน. ดัง​นั้น ท่าน​ขอร้อง​พวก​เขา​ให้ “เปิด​ใจ​ให้​กว้าง” ด้วย​การ​เข้า​มา​มี​สาย​สัมพันธ์​อัน​ใกล้​ชิด​กับ​ท่าน​และ​ผู้​เชื่อถือ​คน​อื่น ๆ.

7. เรา​จะ “เปิด​ใจ​ให้​กว้าง” ใน​การ​แสดง​ความ​รัก​ฉัน​พี่​น้อง​ได้​อย่าง​ไร?

7 แล้ว​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​สำหรับ​พวก​เรา? เรา​จะ “เปิด​ใจ​ให้​กว้าง” ด้วย​การ​แสดง​ความ​รัก​ฉัน​พี่​น้อง​ได้​อย่าง​ไร? คน​ที่​อายุ​รุ่น​ราว​คราว​เดียว​กัน​หรือ​มี​ภูมิหลัง​ด้าน​ชาติ​พันธุ์​เหมือน​กัน​อาจ​มี​แนว​โน้ม​ตาม​ธรรมชาติ​อยู่​แล้ว​ที่​จะ​รัก​กัน. และ​คน​ที่​มี​ความ​ชอบ​ใน​เรื่อง​นันทนาการ​คล้าย ๆ กัน​มัก​ใช้​เวลา​ส่วน​ใหญ่​ด้วย​กัน. แต่​ถ้า​ความ​สนใจ​ที่​เรา​มี​ร่วม​กัน​กับ​คริสเตียน​บาง​คน​ทำ​ให้​เรา​แยก​ตัว​จาก​คน​อื่น ๆ เรา​ก็​จำเป็น​ต้อง “เปิด​ใจ​ให้​กว้าง.” คง​นับ​ว่า​สุขุม​ที่​จะ​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘นาน ๆ ครั้ง​ฉัน​จึง​จะ​ร่วม​รับใช้​หรือ​สังสรรค์​กับ​พี่​น้อง​ที่​ไม่​อยู่​ใน​กลุ่ม​ที่​สนิท​กับ​ฉัน​ไหม? ที่​หอ​ประชุม ฉัน​ไม่​ค่อย​ได้​ติด​ต่อ​พูด​คุย​กับ​คน​ใหม่ ๆ ที่​เพิ่ง​มา​สมทบ​กับ​ประชาคม​เท่า​ไร​นัก เพราะ​ฉัน​คิด​ว่า​ต้อง​ให้​เวลา​ล่วง​เลย​ไป​อีก​หน่อย​เขา​จึง​จะ​เป็น​เพื่อน​ของ​ฉัน​ได้​อย่าง​นั้น​ไหม? ฉัน​ทักทาย​คน​อื่น ๆ ใน​ประชาคม​ทั้ง​คน​ที่​อายุ​มาก​กว่า​และ​คน​ที่​อายุ​น้อย​กว่า​ไหม?’

8, 9. คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล​ซึ่ง​บันทึก​ไว้​ที่​โรม 15:7 ช่วย​เรา​ได้​อย่าง​ไร​ให้​ทักทาย​กัน​อย่าง​ที่​จะ​เสริม​ให้​รัก​กัน​ฉัน​พี่​น้อง​มาก​ขึ้น?

8 ใน​เรื่อง​การ​ทักทาย​กัน ถ้อย​คำ​ที่​เปาโล​เขียน​ถึง​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​อาจ​ช่วย​เรา​ให้​มี​ทัศนะ​ที่​ถูก​ต้อง​ต่อ​เพื่อน​ผู้​นมัสการ. (อ่าน​โรม 15:7) คำ​ภาษา​กรีก​ใน​ข้อ​นี้​ที่​แปล​ไว้​ว่า “ต้อนรับ​กัน” มี​ความ​หมาย​ว่า “ต้อนรับ​ด้วย​ความ​กรุณา​หรือ​ด้วย​ใจ​อารี ยอม​รับ​เข้า​กลุ่ม​และ​เป็น​เพื่อน​กัน.” เมื่อ​เจ้าบ้าน​ที่​มี​น้ำใจ​เอื้อ​อารี​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล​ต้อนรับ​เพื่อน​ที่​มา​เยี่ยม​ที่​บ้าน เขา​จะ​แสดง​ออก​ให้​แขก​รู้​ว่า​เขา​ยินดี​อย่าง​ยิ่ง​ที่​ได้​พบ​กัน. พระ​คริสต์​ทรง​ต้อนรับ​เรา​เข้า​สู่​ประชาคม​คริสเตียน​อย่าง​เดียว​กัน​นั้น และ​เรา​ได้​รับ​การ​กระตุ้น​ให้​เลียน​แบบ​พระองค์​ใน​การ​ต้อนรับ​เพื่อน​ผู้​นมัสการ​ด้วย​กัน.

9 เมื่อ​เรา​ทักทาย​พี่​น้อง​ที่​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร​และ​ใน​สถาน​ที่​อื่น เรา​สามารถ​แสดง​ความ​สนใจ​ต่อ​คน​ที่​ใน​ช่วง​หลัง ๆ เรา​ไม่​ค่อย​ได้​พบ​หรือ​ไม่​ค่อย​ได้​คุย​ด้วย. เรา​น่า​จะ​หา​โอกาส​คุย​กับ​พวก​เขา​สัก​สอง​สาม​นาที. ใน​การ​ประชุม​ครั้ง​ถัด​ไป เรา​อาจ​ทำ​แบบ​เดียว​กัน​นั้น​กับ​คน​อื่น ๆ. ไม่​นาน​นัก เรา​ก็​จะ​มี​โอกาส​ได้​สนทนา​กับ​พี่​น้อง​แทบ​ทุก​คน. ไม่​จำเป็น​ต้อง​กังวล​ถ้า​เรา​ไม่​ได้​คุย​กับ​ทุก​คน​ใน​การ​ประชุม​แต่​ละ​ครั้ง. คง​ไม่​มี​ใคร​ขุ่นเคือง​ถ้า​เรา​ไม่​สามารถ​ทักทาย​กับ​เขา​ทุก ๆ ครั้ง ณ การ​ประชุม.

10. มี​โอกาส​อัน​ล้ำ​ค่า​อะไร​สำหรับ​ทุก​คน​ใน​ประชาคม และ​เรา​จะ​รับ​ประโยชน์​เต็ม​ที่​จาก​โอกาส​ดัง​กล่าว​ได้​อย่าง​ไร?

10 การ​ทักทาย​คน​อื่น ๆ เป็น​ก้าว​แรก​ใน​การ​ต้อนรับ​พวก​เขา. นั่น​เป็น​ขั้น​ตอน​ที่​อาจ​นำ​ไป​สู่​การ​พูด​คุย​กัน​และ​มี​มิตรภาพ​ที่​ยั่งยืน​ใน​ที่​สุด​ได้. ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​ผู้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ภาค​และ​การ​ประชุม​หมวด​แนะ​นำ​ตัว​เอง​กับ​คน​อื่น​และ​เริ่ม​คุย​กัน พวก​เขา​ก็​จะ​มอง​ไป​ถึง​โอกาส​ต่อ​ไป​ที่​จะ​ได้​พบ​กัน​อีก. อาสา​สมัคร​ก่อ​สร้าง​หอ​ประชุม​และ​คน​ที่​ร่วม​ใน​งาน​บรรเทา​ทุกข์​มัก​กลาย​เป็น​เพื่อน​กัน​เพราะ​พวก​เขา​ได้​มา​รู้​จัก​คุณลักษณะ​ที่​ดี​ของ​กัน​และ​กัน​ระหว่าง​ที่​มี​ประสบการณ์​ใน​การ​ทำ​งาน​ร่วม​กัน. โอกาส​ที่​จะ​สร้าง​มิตรภาพ​ที่​ยั่งยืน​มี​อยู่​มาก​มาย​ใน​องค์การ​ของ​พระ​ยะโฮวา. ถ้า​เรา “เปิด​ใจ​ให้​กว้าง” มิตรภาพ​ของ​เรา​จะ​ขยาย​วง​กว้าง​ยิ่ง​ขึ้น และ​มี​ความ​รัก​อัน​แรง​กล้า​ยิ่ง​ขึ้น​ซึ่ง​ประสาน​เรา​ให้​เป็น​หนึ่ง​เดียว​ใน​การ​นมัสการ​แท้.

จง​ให้​เวลา​แก่​คน​อื่น ๆ

11. พระ​เยซู​ทรง​วาง​ตัว​อย่าง​อะไร​ไว้ ดัง​ที่​มี​บันทึก​ไว้​ใน​มาระโก 10:13-16?

11 เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู คริสเตียน​ทุก​คน​ควร​พยายาม​เป็น​คน​ที่​คน​อื่น​เข้า​หา​ได้​ง่าย. ขอ​ให้​พิจารณา​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​เมื่อ​เหล่า​สาวก​พยายาม​ห้าม​บิดา​มารดา​บาง​คน​ไม่​ให้​พา​ลูก​เข้า​มา​หา​พระองค์. พระองค์​ตรัส​ว่า “ให้​เด็ก​เล็ก ๆ เข้า​มา​หา​เรา​เถิด อย่า​ห้าม​พวก​เขา​เลย เพราะ​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​เป็น​ของ​คน​อย่าง​นี้.” แล้ว “พระองค์​ทรง​โอบ​เด็ก ๆ ไว้ แล้ว​ทรง​วาง​พระ​หัตถ์​บน​พวก​เด็ก ๆ และ​อวย​พร​พวก​เขา.” (มโก. 10:13-16) ขอ​ให้​นึก​ภาพ​ว่า​เด็ก ๆ เหล่า​นั้น​คง​ต้อง​ตื่นเต้น​ขนาด​ไหน​ที่​ครู​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่​ทรง​แสดง​ความ​สน​พระทัย​ด้วย​ความ​รัก​เช่น​นั้น​ต่อ​พวก​เขา!

12. อะไร​อาจ​เป็น​อุปสรรค​ทำ​ให้​เรา​ไม่​ได้​สนทนา​กับ​คน​อื่น?

12 คริสเตียน​แต่​ละ​คน​ควร​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​วาง​ตัว​แบบ​ที่​คน​อื่น​จะ​เข้า​หา​ได้​ง่าย​ไหม หรือ​ว่า​ฉัน​ดู​มี​ธุระ​ยุ่ง​อยู่​เสมอ?’ บาง​ครั้ง นิสัย​บาง​อย่าง​ที่​จริง ๆ แล้ว​ไม่​มี​อะไร​ผิด​อาจ​กลาย​เป็น​อุปสรรค​ที่​ขวาง​กั้น​การ​สนทนา. ตัว​อย่าง​เช่น ถ้า​เรา​มัก​ใช้​โทรศัพท์​มือ​ถือ​หรือ​ฟัง​เพลง​โดย​ใช้​หู​ฟัง​ขณะ​ที่​อยู่​กับ​คน​อื่น ๆ อาจ​เป็น​เหมือน​กับ​การ​ส่ง​สาร​บอก​คน​อื่น​ว่า​เรา​ไม่​อยาก​ให้​ใคร​มา​ยุ่ง​กับ​เรา. ถ้า​คน​อื่น​มัก​เห็น​เรา​หมกมุ่น​กับ​การ​ใช้​คอมพิวเตอร์​มือ​ถือ พวก​เขา​อาจ​ลง​ความ​เห็น​ว่า​เรา​ไม่​สนใจ​จะ​คุย​กับ​พวก​เขา. แน่นอน มี “เวลา​นิ่ง​เงียบ.” แต่​เมื่อ​เรา​อยู่​กับ​หลาย ๆ คน นั่น​มัก​เป็น “เวลา​พูด.” (ผู้ป. 3:7, ล.ม.) บาง​คน​อาจ​บอก​ว่า “ฉัน​อยาก​อยู่​ตาม​ลำพัง​มาก​กว่า” หรือ “ใน​ตอน​เช้า​ฉัน​ไม่​ค่อย​อยาก​พูด​กับ​ใคร.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​พูด​คุย​กัน​ฉัน​มิตร​แม้​แต่​ใน​เวลา​ที่​เรา​ไม่​อยาก​พูด​เท่า​ไร​นัก​เป็น​หลักฐาน​ที่​แสดง​ว่า​เรา​มี​ความ​รัก​ที่ “ไม่​เห็น​แก่​ประโยชน์​ส่วน​ตัว.”—1 โค. 13:5

13. เปาโล​สนับสนุน​ติโมเธียว​ให้​มี​ทัศนะ​อย่าง​ไร​ต่อ​พี่​น้อง​คริสเตียน?

13 เปาโล​สนับสนุน​ติโมเธียว​ที่​อายุ​ยัง​น้อย​ให้​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​พี่​น้อง​ทุก​คน​ใน​ประชาคม. (อ่าน 1 ติโมเธียว 5:1, 2) เรา​เอง​ก็​ควร​ปฏิบัติ​ต่อ​คริสเตียน​ที่​สูง​อายุ​เหมือน​เป็น​พ่อ​เป็น​แม่ และ​คน​ที่​อายุ​รุ่น​ราว​คราว​เดียว​กัน​เหมือน​เป็น​พี่​เป็น​น้อง​ใน​ครอบครัว​เดียว​กัน. เมื่อ​เรา​มี​ทัศนะ​อย่าง​นั้น พี่​น้อง​ที่​รัก​ของ​เรา​ก็​จะ​ไม่​รู้สึก​ว่า​เรา​เป็น​คน​เข้า​หา​ได้​ยาก​และ​วาง​ตัว​ห่าง​เหิน.

14. การ​สนทนา​แบบ​ที่​เสริม​สร้าง​กับ​คน​อื่น ๆ เป็น​ประโยชน์​อย่าง​ไร?

14 เมื่อ​เรา​ร่วม​สนทนา​แบบ​ที่​เสริม​สร้าง​กับ​คน​อื่น ๆ เรา​ส่ง​เสริม​ให้​พวก​เขา​มี​ความ​เชื่อ​และ​อารมณ์​ที่​มั่นคง. พี่​น้อง​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ทำ​งาน​ที่​สำนักงาน​สาขา​ยัง​จำ​ได้​ดี​ว่า ใน​ช่วง​แรก ๆ ที่​เข้า​มา​ทำ​งาน​ใน​เบเธล พี่​น้อง​ใน​ครอบครัว​เบเธล​หลาย​คน​ซึ่ง​มี​อายุ​มาก​กว่า​มัก​แวะ​เวียน​มา​คุย​กับ​เขา​เป็น​ประจำ. คำ​พูด​ที่​ให้​กำลังใจ​ของ​พี่​น้อง​เหล่า​นั้น​ทำ​ให้​เขา​รู้สึก​ว่า​เขา​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ครอบครัว​เบเธล​จริง ๆ. ตอน​นี้ เขา​พยายาม​เลียน​แบบ​พี่​น้อง​เหล่า​นั้น​ด้วย​การ​พูด​คุย​กับ​คน​อื่น ๆ ที่​รับใช้​ด้วย​กัน​ใน​เบเธล.

ความ​ถ่อม​ใจ​ช่วย​เรา​สร้าง​สันติ

15. มี​อะไร​ที่​แสดง​ว่า​ความ​ขัด​แย้ง​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้​แม้​แต่​กับ​ผู้​นมัสการ​แท้?

15 ดู​เหมือน​ว่า นาง​ยุโอเดีย​กับ​นาง​ซินติเค พี่​น้อง​คริสเตียน​สอง​คน​ใน​เมือง​ฟิลิปปอย​โบราณ ไม่​สามารถ​แก้​ปัญหา​ที่​เกิด​ขึ้น​ระหว่าง​พวก​เธอ​ได้. (ฟิลิป. 4:2, 3) เป็น​ที่​รู้​กัน​ทั่ว​ว่า​เปาโล​กับ​บาร์นาบัส​โต้​เถียง​กัน​อย่าง​เผ็ด​ร้อน​จน​ทำ​ให้​ทั้ง​สอง​แยก​ทาง​กัน​อยู่​ชั่ว​ระยะ​หนึ่ง. (กิจ. 15:37-39) บันทึก​ดัง​กล่าว​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ความ​ขัด​แย้ง​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้​แม้​แต่​กับ​ผู้​นมัสการ​แท้. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ช่วย​เรา​ให้​สามารถ​แก้​ข้อ​ขัด​แย้ง​และ​ฟื้นฟู​มิตรภาพ​ได้. แต่​พระองค์​ทรง​คาด​หมาย​ให้​เรา​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง.

16, 17. (ก) ความ​ถ่อม​ใจ​สำคัญ​เพียง​ไร​ใน​การ​แก้ไข​ความ​ขัด​แย้ง​ส่วน​ตัว? (ข) เรื่อง​ราว​เกี่ยว​กับ​ยาโคบ​ที่​เข้า​ไป​หา​เอซาว​แสดง​ให้​เห็น​คุณค่า​ของ​ความ​ถ่อม​ใจ​อย่าง​ไร?

16 ขอ​ให้​นึก​ภาพ​ว่า​คุณ​กับ​เพื่อน​คน​หนึ่ง​กำลัง​จะ​ออก​เดิน​ทาง​ด้วย​รถยนต์. คุณ​ต้อง​เสียบ​กุญแจ​แล้ว​ก็​ติด​เครื่อง​รถ​เสีย​ก่อน จึง​จะ​สามารถ​เริ่ม​ต้น​การ​เดิน​ทาง​ได้. กระบวนการ​ใน​การ​แก้ไข​ความ​ขัด​แย้ง​ส่วน​ตัว​ก็​เริ่ม​ต้น​โดย​ใช้​กุญแจ​อย่าง​หนึ่ง. กุญแจ​ดัง​กล่าว​คือ​ความ​ถ่อม​ใจ. (อ่าน​ยาโกโบ 4:10) ดัง​ที่​จะ​เห็น​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ต่อ​ไป​นี้​ใน​พระ​คัมภีร์ กุญแจ​นี้​ทำ​ให้​คน​ที่​มี​เรื่อง​ขัด​เคือง​กัน​เริ่ม​ใช้​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล.

17 ล่วง​เลย​ไป​ยี่​สิบ​ปี นับ​ตั้ง​แต่​ที่​เอซาว​รู้สึก​โกรธ​แค้น​เพราะ​ต้อง​สูญ​เสีย​สิทธิ​บุตร​หัวปี​ให้​แก่​ยาโคบ น้อง​ชาย​ฝาแฝด​และ​อยาก​จะ​ฆ่า​น้อง. ฝาแฝด​คู่​นี้​กำลัง​จะ​พบ​กัน​อีก​ครั้ง​หลัง​จาก​ที่​เหตุ​การณ์​ดัง​กล่าว​ผ่าน​ไป​นาน​แล้ว และ “ยาโคบ​มี​ความ​กลัว​เป็น​ทุกข์​ใน​ใจ​นัก.” ท่าน​คิด​ว่า​เป็น​ไป​ได้​มาก​ที​เดียว​ที่​เอซาว​จะ​ทำ​ร้าย​ท่าน. แต่​เมื่อ​พบ​กัน ยาโคบ​ทำ​สิ่ง​ที่​เอซาว​ไม่​คาด​คิด. ท่าน “ซบ​หน้า​ลง​ถึง​ดิน” ขณะ​เข้า​ไป​หา​พี่​ชาย. เกิด​อะไร​ขึ้น​หลัง​จาก​นั้น? “เอซาว​วิ่ง​ไป​ต้อนรับ​กอด​คอ​จุบ​ยาโคบ เขา​ทั้ง​สอง​ก็​ร้องไห้.” อันตราย​จาก​การ​ต่อ​สู้​กัน​จึง​ไม่​เกิด​ขึ้น. ความ​ถ่อม​ใจ​ของ​ยาโคบ​ช่วย​ให้​เอา​ชนะ​ความ​เกลียด​ชัง​ที่​สุม​อยู่​ใน​อก​ของ​เอซาว.—เย. 27:41; 32:3-8; 33:3, 4

18, 19. (ก) เมื่อ​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​กัน เหตุ​ใด​จึง​จำเป็น​ที่​เรา​จะ​เป็น​ฝ่าย​ริเริ่ม​ใน​การ​ใช้​คำ​แนะ​นำ​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์? (ข) เหตุ​ใด​เรา​ไม่​ควร​ล้ม​เลิก​ความ​พยายาม​หาก​คน​อื่น​ไม่​ตอบ​สนอง​ความ​พยายาม​ของ​เรา​ใน​ครั้ง​แรก?

18 คัมภีร์​ไบเบิล​มี​คำ​แนะ​นำ​ที่​ดี​เยี่ยม​ใน​เรื่อง​การ​แก้ไข​ความ​ขัด​แย้ง. (มัด. 5:23, 24; 18:15-17; เอเฟ. 4:26, 27) * แต่​หาก​เรา​ไม่​ถ่อม​ใจ​นำ​คำ​แนะ​นำ​นั้น​ไป​ใช้ การ​สร้าง​สันติ​ก็​จะ​เป็น​ไป​ได้​ยาก. การ​คอย​ให้​คน​อื่น​แสดง​ความ​ถ่อม​ใจ​ไม่​ใช่​วิธี​แก้​ปัญหา ใน​เมื่อ​เรา​เอง​ก็​สามารถ​แสดง​ความ​ถ่อม​ใจ​ได้​ด้วย.

19 ถ้า​ความ​พยายาม​ของ​เรา​ใน​ครั้ง​แรก​เพื่อ​สร้าง​สันติ​ไม่​ประสบ​ผล​เนื่อง​ด้วย​เหตุ​ผล​บาง​ประการ ก็​อย่า​เพิ่ง​หมด​หวัง. คน​อื่น​อาจ​ต้อง​ใช้​เวลา​เพื่อ​ปรับ​ความ​รู้สึก. พวก​พี่​ชาย​ของ​โยเซฟ​คิด​คด​และ​ทรยศ​ท่าน. เวลา​ผ่าน​ไป​เนิ่นนาน​ก่อน​ที่​พวก​เขา​จะ​มา​พบ​กับ​โยเซฟ​อีก​ซึ่ง​ใน​ตอน​นี้​อยู่​ใน​ฐานะ​มหา​เสนาบดี​แห่ง​อียิปต์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ที่​สุด​พวก​เขา​ก็​เปลี่ยน​ทัศนคติ​และ​ขอ​โยเซฟ​ให้​อภัย​พวก​เขา. โยเซฟ​ให้​อภัย​พวก​พี่​ชาย และ​เหล่า​บุตร​ของ​ยาโคบ​ก็​กลาย​เป็น​ชาติ​ซึ่ง​มี​สิทธิ​พิเศษ​ได้​ถือ​พระ​นาม​พระ​ยะโฮวา. (เย. 50:15-21) ด้วย​การ​รักษา​สันติ​สุข​กับ​พี่​น้อง เรา​มี​ส่วน​ส่ง​เสริม​เอกภาพ​และ​ความ​ยินดี​ของ​ประชาคม.—อ่าน​โกโลซาย 3:12-14

ให้​เรา​รัก “ด้วย​การ​กระทำ​และ​ด้วย​ความ​จริง​ใจ”

20, 21. เรา​เรียน​อะไร​ได้​จาก​การ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ล้าง​เท้า​ให้​เหล่า​อัครสาวก?

20 ไม่​นาน​ก่อน​สิ้น​พระ​ชนม์ พระ​เยซู​ทรง​บอก​เหล่า​อัครสาวก​ว่า “เรา​วาง​แบบ​อย่าง​ไว้​ให้​พวก​เจ้า เพื่อ​ว่า​เรา​ได้​ทำ​ต่อ​พวก​เจ้า​อย่าง​ไร พวก​เจ้า​จะ​ทำ​ต่อ​กัน​อย่าง​นั้น​ด้วย.” (โย. 13:15) พระองค์​ทรง​เพิ่ง​ล้าง​เท้า​ให้​อัครสาวก 12 คน. พระ​เยซู​ไม่​ได้​เพียง​แค่​ทำ​ตาม​ธรรมเนียม​หรือ​ลง​มือ​กระทำ​ด้วย​ความ​กรุณา. ก่อน​เล่า​เรื่อง​การ​ล้าง​เท้า โยฮัน​เขียน​ว่า “สำหรับ​คน​ของ [พระ​เยซู] ซึ่ง​อยู่​ใน​โลก​นี้ พระองค์​ทรง​รัก​พวก​เขา​เสมอ พระองค์​จึง​ทรง​รัก​พวก​เขา​จน​ถึง​ที่​สุด.” (โย. 13:1) ความ​รัก​ที่​พระ​เยซู​ทรง​มี​ต่อ​เหล่า​สาวก​นั่น​เอง​ที่​กระตุ้น​พระองค์​ให้​ทำ​สิ่ง​ซึ่ง​ตาม​ปกติ​แล้ว​เป็น​หน้า​ที่​ของ​ทาส. ใน​ตอน​นี้ พวก​เขา​ต้อง​ถ่อม​ใจ​ทำ​สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​เป็น​การ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​กัน. ความ​รัก​ฉัน​พี่​น้อง​ที่​แท้​จริง​ควร​กระตุ้น​เรา​ให้​ดู​แล​และ​ห่วงใย​พี่​น้อง​คริสเตียน​ของ​เรา​ทั้ง​หมด.

21 อัครสาวก​เปโตร ซึ่ง​พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า​ทรง​ล้าง​เท้า​ให้​ท่าน เข้าใจ​ความ​มุ่ง​หมาย​ของ​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​ทำ. ท่าน​เขียน​ว่า “เมื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ทำ​ให้​แนว​ทาง​ชีวิต​ของ​พวก​ท่าน​สะอาด​แล้ว​โดย​การ​เชื่อ​ฟัง​ความ​จริง​ซึ่ง​ทำ​ให้​พวก​ท่าน​รักใคร่​กัน​ฉัน​พี่​น้อง​โดย​ไม่​เสแสร้ง ก็​ให้​พวก​ท่าน​รัก​กัน​อย่าง​แรง​กล้า​จาก​หัวใจ.” (1 เป. 1:22) อัครสาวก​โยฮัน ซึ่ง​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ได้​ล้าง​เท้า​ให้​ท่าน​ด้วย เขียน​ว่า “ลูก​เอ๋ย อย่า​ให้​เรา​รัก​ด้วย​ลมปาก​เท่า​นั้น แต่​ให้​รัก​ด้วย​การ​กระทำ​และ​ด้วย​ความ​จริง​ใจ.” (1 โย. 3:18) ขอ​ให้​หัวใจ​เรา​กระตุ้น​เรา​ให้​ยืน​ยัน​ความ​รัก​ฉัน​พี่​น้อง​ด้วย​การ​กระทำ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 18 ดู​หนังสือ​รวบ​รวม​เป็น​องค์การ​เพื่อ​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระ​ยะโฮวา หน้า 144-150.

คุณ​จำ​ได้​ไหม?

• เรา​จะ “เปิด​ใจ​ให้​กว้าง” ใน​การ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​กัน​ได้​โดย​วิธี​ใด​บ้าง?

• อะไร​จะ​ช่วย​เรา​ใน​การ​ให้​เวลา​แก่​คน​อื่น ๆ?

• ความ​ถ่อม​ใจ​มี​บทบาท​อย่าง​ไร​ใน​การ​สร้าง​สันติ?

• อะไร​ควร​กระตุ้น​เรา​ให้​ห่วงใย​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 21]

จง​ต้อนรับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​อย่าง​อบอุ่น

[ภาพ​หน้า 23]

อย่า​พลาด​โอกาส​ที่​จะ​ให้​เวลา​แก่​คน​อื่น ๆ