ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คัมภีร์ไบเบิลไปถึงเกาะแดงใหญ่

คัมภีร์ไบเบิลไปถึงเกาะแดงใหญ่

คัมภีร์​ไบเบิล​ไป​ถึง​เกาะ​แดง​ใหญ่

มาดากัสการ์​เป็น​เกาะ​ใหญ่​อันดับ​สี่​ของ​โลก ตั้ง​อยู่​นอก​ชายฝั่ง​ทะเล​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้​ของ​แอฟริกา​ประมาณ 400 กิโลเมตร. ชาว​มาลากาซี​คุ้น​เคย​กับ​พระ​นาม​พระ​ยะโฮวา​มา​นาน​แล้ว เพราะ​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​มาลากาซี​ซึ่ง​มี​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​มา​เป็น​เวลา​กว่า 170 ปี​แล้ว. วิธี​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​รับ​การ​แปล​เป็น​ภาษา​มาลากาซี​นั้น​เป็น​เรื่อง​ที่​แสดง​ให้​เห็น​ถึง​ความ​บากบั่น​พากเพียร​และ​ความ​ทุ่มเท​อย่าง​แท้​จริง.

แรก​เริ่ม​เดิม​ที การ​พยายาม​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​มาลากาซี​เริ่ม​ที่​เกาะ​มอริเชียส​ซึ่ง​อยู่​ใกล้ ๆ กัน. ย้อน​ไป​จน​ถึง​ปี 1813 เซอร์​โรเบิร์ต ฟาร์คูฮาร์ ผู้​ว่า​การ​ชาว​อังกฤษ​ของ​มอริเชียส ริเริ่ม​แปล​หนังสือ​กิตติคุณ​เป็น​ภาษา​มาลากาซี. ต่อ​มา เขา​พยายาม​ชักชวน​กษัตริย์​รา​ดา​มา​ที่​หนึ่ง​ของ​มาดากัสการ์​ให้​เชิญ​บรรดา​อาจารย์​จาก​สมาคม​มิชชันนารี​แห่ง​ลอนดอน (แอล​เอ็ม​เอส) มา​ที่​เกาะ​แดง​ใหญ่ ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​ที่​มัก​ใช้​เรียก​เกาะ​มาดากัสการ์.

ใน​วัน​ที่ 18 สิงหาคม 1818 มิชชันนารี​ชาว​เวลส์​สอง​คน คือ​เดวิด โจนส์​และ​โทมัส เบวาน เดิน​ทาง​จาก​มอริเชียส​ถึง​เมือง​ท่า​เตามาซินา. ที่​นั่น ทั้ง​สอง​ได้​มา​พบ​กับ​สังคม​ของ​ผู้​คน​ที่​เคร่ง​ศาสนา​ซึ่ง​ยึด​มั่น​อยู่​กับ​การ​นมัสการ​บรรพบุรุษ​และ​คำ​สอน​สืบ​ปาก​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน. ภาษา​ของ​ชาว​มาลากาซี​เป็น​ภาษา​ที่​มี​สี​สัน​ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​มี​ต้น​กำเนิด​มา​จาก​ตระกูล​ภาษา​มาลาโย-โพลินีเชียน.

หลัง​จาก​เปิด​โรง​เรียน​เล็ก ๆ ได้​ไม่​นาน เดวิด​กับ​โทมัส​ก็​พา​ภรรยา​และ​ลูก ๆ จาก​มอริเชียส​มา​อยู่​ที่​เตามาซินา. แต่​น่า​เศร้า​ที่​ทั้ง​หมด​ป่วย​เป็น​โรค​มาลาเรีย​และ​เดวิด​สูญ​เสีย​ภรรยา​และ​ลูก​ใน​เดือน​ธันวาคม 1818. สอง​เดือน​ต่อ​มา​โรค​ร้าย​นี้​ได้​คร่า​ชีวิต​โทมัส​และ​ทุก​คน​ใน​ครอบครัว​ของ​เขา. เดวิด โจนส์ เป็น​คน​เดียว​ใน​กลุ่ม​ที่​รอด​ชีวิต.

เดวิด​ไม่​ปล่อย​ให้​ความ​โศก​เศร้า​มา​ยับยั้ง​เขา. เขา​มุ่ง​มั่น​ที่​จะ​ช่วย​ให้​ผู้​คน​ใน​มาดากัสการ์​มี​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​อ่าน​ใน​ภาษา​ของ​ตน. หลัง​จาก​กลับ​ไป​ที่​มอริเชียส​เพื่อ​ฟื้นฟู​สุขภาพ เดวิด​ก็​เริ่ม​ต้น​เรียน​ภาษา​มาลากาซี​ซึ่ง​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​เลย. หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน เขา​ก็​เริ่ม​เตรียม​สำหรับ​การ​แปล​หนังสือ​กิตติคุณ​โยฮัน.

ใน​เดือน​ตุลาคม 1820 เดวิด​ก็​กลับ​มา​ที่​มาดากัสการ์. ใน​ที่​สุด​เขา​ได้​มา​อยู่​ที่​อัน​ตา​นานา​ริ​โว​ซึ่ง​เป็น​เมือง​หลวง และ​ไม่​ช้า​ก็​ตั้ง​โรง​เรียน​ขึ้น​ใหม่. สภาพ​ของ​โรง​เรียน​นี้​ค่อนข้าง​อนาถา. ไม่​มี​ตำรา​เรียน, กระดาน​ดำ, หรือ​แม้​แต่​โต๊ะ​นัก​เรียน. แต่​หลัก​สูตร​ที่​สอน​นั้น​ยอด​เยี่ยม และ​เด็ก ๆ ก็​กระตือรือร้น​ที่​จะ​เรียน.

หลัง​จาก​ที่​ทำ​งาน​คน​เดียว​อยู่​เจ็ด​เดือน เดวิด​ก็​ได้​เพื่อน​ร่วม​งาน​คน​ใหม่​ซึ่ง​มา​แทน​ที่​โทมัส เป็น​มิชชันนารี​ชื่อ​เดวิด กริฟฟิตส์. สอง​คน​นี้​ทุ่มเท​ตน​เอง​อย่าง​ไม่​รู้​จัก​เหน็ด​เหนื่อย​เพื่อ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​มาลากาซี.

การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เริ่ม​ต้น​ขึ้น

ใน​ช่วง​ต้น​ทศวรรษ 1820 รูป​แบบ​ภาษา​เขียน​อย่าง​เดียว​สำหรับ​ภาษา​มาลากาซี​เรียก​ว่า​ซูราเบ ซึ่ง​เป็น​คำ​ภาษา​มาลากาซี​ที่​เขียน​โดย​ใช้​ตัว​อักษร​อาหรับ. มี​ผู้​คน​แค่​หยิบ​มือ​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​สามารถ​อ่าน​ตัว​อักษร​นี้​ได้. ดัง​นั้น หลัง​จาก​ที่​มิชชันนารี​ปรึกษา​กับ​กษัตริย์​รา​ดา​มา​ที่​หนึ่ง กษัตริย์​ก็​อนุญาต​ให้​ใช้​ตัว​อักษร​โรมัน​แทน​การ​ใช้​ซูราเบ.

งาน​แปล​เริ่ม​วัน​ที่ 10 กันยายน 1823. เดวิด โจนส์ แปล​เยเนซิศ​และ​มัดธาย ส่วน​เดวิด กริฟฟิตส์ แปล​เอ็กโซโด​และ​ลูกา. ทั้ง​สอง​คน​มี​ความ​ทรหด​อย่าง​น่า​ทึ่ง. นอก​จาก​จะ​แปล​ด้วย​ตัว​เอง​เป็น​ส่วน​ใหญ่​แล้ว ทั้ง​สอง​ยัง​สอน​หนังสือ​ใน​โรง​เรียน​ทั้ง​ตอน​เช้า​และ​ตอน​บ่าย. นอก​จาก​นั้น พวก​เขา​ยัง​เตรียม​และ​นำ​พิธี​นมัสการ​ของ​คริสตจักร​เป็น​ภาษา​ต่าง ๆ สาม​ภาษา. ถึง​กระนั้น ทั้ง​สอง​ถือ​ว่า​งาน​แปล​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​สิ่ง​อื่น​ทั้ง​หมด.

ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​ลูก​ศิษย์ 12 คน มิชชันนารี​สอง​คน​นี้​ได้​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​ทั้ง​เล่ม​และ​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​หลาย​เล่ม​ภาย​ใน​เวลา​เพียง 18 เดือน. ปี​ต่อ​มา การ​เตรียม​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​ทั้ง​เล่ม​ก็​เสร็จ​สมบูรณ์. แน่นอน ยัง​จำเป็น​ต้อง​มี​การ​ตรวจ​ทาน​และ​ขัด​เกลา. ดัง​นั้น​นัก​ภาษา​ศาสตร์​สอง​คน คือ​เดวิด จอนส์​และ​โจเซฟ ฟรีแมน ถูก​ส่ง​มา​จาก​อังกฤษ​เพื่อ​ช่วย​พวก​เขา.

มี​อุปสรรค​อยู่​ตลอด

เมื่อ​งาน​แปล​ภาษา​มาลากาซี​เสร็จ​สมบูรณ์ สมาคม​มิชชันนารี​แห่ง​ลอนดอน​ส่ง ชาลส์ โฮฟเวนเดน มา​ตั้ง​แท่น​พิมพ์​แท่น​แรก​ขึ้น​ใน​มาดากัสการ์. ชาลส์​มา​ถึง​วัน​ที่ 21 พฤศจิกายน 1826. แต่​เขา​มา​อยู่​ยัง​ไม่​ทัน​ครบ​เดือน​ก็​เป็น​โรค​มาลาเรีย​และ​เสีย​ชีวิต และ​ไม่​มี​ใคร​ที่​จะ​ตั้ง​แท่น​พิมพ์​ต่อ​ได้. ปี​ต่อ​มา เจมส์ คาเมรอน ช่าง​ผู้​ชำนาญ​จาก​สกอตแลนด์ ได้​ลง​มือ​ประกอบ​แท่น​พิมพ์​โดย​อาศัย​คู่มือ​ที่​พบ​อยู่​ใน​เครื่องจักร. หลัง​จาก​ลอง​ผิด​ลอง​ถูก​อยู่​นาน เจมส์​ก็​สามารถ​พิมพ์​ส่วน​หนึ่ง​ของ​หนังสือ​เยเนซิศ​บท​ที่ 1 ใน​วัน​ที่ 4 ธันวาคม 1827. *

อุปสรรค​อีก​ประการ​หนึ่ง​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​กษัตริย์​รา​ดา​มา​ที่​หนึ่ง​สิ้น​พระ​ชนม์​ใน​วัน​ที่ 27 กรกฎาคม 1828. กษัตริย์​รา​ดา​มา​ทรง​สนับสนุน​โครงการ​แปล​พระ​คัมภีร์​อย่าง​เต็ม​ที่. เดวิด โจนส์ กล่าว​ไว้​ใน​ตอน​นั้น​ว่า “กษัตริย์​รา​ดา​มา​ทรง​กรุณา​และ​เป็น​กัน​เอง​อย่าง​ยิ่ง. พระองค์​ทรง​ส่ง​เสริม​การ​ศึกษา​อย่าง​มาก และ​ทรง​ถือ​ว่า​การ​สอน​ประชาชน​ของ​พระองค์​เกี่ยว​กับ​ศิลปวัฒนธรรม​มี​ค่า​ยิ่ง​กว่า​ทอง​และ​เงิน.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม ผู้​ที่​สืบ​อำนาจ​ต่อ​จาก​กษัตริย์​ก็​คือ​พระ​มเหสี รานาวา​โล​นา​ที่​หนึ่ง และ​ไม่​นาน​ก็​เห็น​ได้​ชัด​ว่า​พระ​นาง​คง​จะ​ไม่​สนับสนุน​งาน​แปล​เหมือน​กับ​ที่​พระ​สวามี​เคย​สนับสนุน.

ไม่​นาน​หลัง​จาก​ที่​ราชินี​ขึ้น​ครอง​บัลลังก์ อาคันตุกะ​คน​หนึ่ง​จาก​อังกฤษ​ได้​ขอ​เข้า​เฝ้า​เพื่อ​ปรึกษา​เรื่อง​การ​แปล​พระ​คัมภีร์. คำ​ขอ​ของ​เขา​ถูก​ปฏิเสธ. ใน​อีก​โอกาส​หนึ่ง​เมื่อ​มิชชันนารี​ทูล​ราชินี​ว่า​พวก​เขา​ยัง​คง​มี​งาน​อีก​มาก​ที่​จะ​สอน​ประชาชน รวม​ถึง​ภาษา​กรีก​และ​ฮีบรู ราชินี​ตรัส​ว่า “ข้าพเจ้า​ไม่​สนใจ​เท่า​ไร​นัก​ใน​เรื่อง​ภาษา​กรีก​และ​ฮีบรู แต่​ข้าพเจ้า​อยาก​รู้​ว่า​พวก​ท่าน​จะ​สอน​ประชาชน​ของ​ข้าพเจ้า​ใน​เรื่อง​ที่​เป็น​ประโยชน์​มาก​กว่า​นั้น​ได้​ไหม อย่าง​เช่น​เรื่อง​การ​ทำ​สบู่.” เมื่อ​รู้​ตัว​ว่า​พวก​เขา​อาจ​ถูก​บีบ​บังคับ​ให้​ออก​จาก​ประเทศ​ก่อน​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​มาลากาซี​จะ​แล้ว​เสร็จ เจมส์​จึง​ขอ​เวลา​หนึ่ง​สัปดาห์​เพื่อ​ใคร่ครวญ​พระ​ราช​กระแส​ของ​ราชินี.

สัปดาห์​ต่อ​มา เจมส์​ก็​ถวาย​สบู่​ก้อน​เล็ก ๆ สอง​ก้อน​ที่​ทำ​จาก​วัตถุ​ดิบ​ใน​ท้องถิ่น​แก่​ผู้​นำ​สาร​ของ​ราชินี. เมื่อ​มิชชันนารี​ที่​เป็น​ช่าง​ฝีมือ​ทั้ง​หลาย​ทำ​อย่าง​นี้​และ​ทำ​งาน​อื่น ๆ เพื่อ​ประโยชน์​ของ​สาธารณชน ท่าที​ของ​ราชินี​ก็​อ่อน​ลง​เป็น​เวลา​นาน​พอ​ที่​พวก​เขา​จะ​ทำ​งาน​พิมพ์​พระ​คัมภีร์​ทั้ง​หมด​เสร็จ ยก​เว้น​หนังสือ​บาง​เล่ม​ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู.

สม​หวัง​แล้ว​ก็​ผิด​หวัง

แม้​ว่า​ใน​ตอน​แรก​ราชินี​ปฏิเสธ​มิชชันนารี​อย่าง​ไม่​ไว้​หน้า แต่​ใน​เดือน​พฤษภาคม 1831 พระ​นาง​ออก​พระ​ราชกฤษฎีกา​ที่​ไม่​มี​ใคร​คาด​คิด. พระ​นาง​อนุญาต​ให้​ประชากร​รับ​บัพติสมา​เป็น​คริสเตียน​ได้! แต่​การ​ตัดสิน​ใจ​นี้​มี​ผล​เพียง​ชั่ว​เวลา​สั้น ๆ. ตาม​ที่​กล่าว​ใน​หนังสือ​ประวัติศาสตร์​มาดากัสการ์ (ภาษา​อังกฤษ) “จำนวน​ผู้​รับ​บัพติสมา​ทำ​ให้​เหล่า​ข้าราชสำนัก​ที่​ไม่​ต้องการ​ให้​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​ตื่น​ตระหนก จึง​โน้ม​น้าว​ราชินี​ให้​เห็น​ว่า​การ​รับ​ศีล​มหา​สนิท​ก็​เท่า​กับ​การ​ให้​สัตย์​ปฏิญาณ​ว่า​จะ​จงรักภักดี​ต่อ​บริเตน.” ด้วย​เหตุ​นั้น คำ​อนุญาต​ให้​รับ​บัพติสมา​เพื่อ​เป็น​คริสเตียน​จึง​ถูก​เพิกถอน​เมื่อ​ตอน​ปลาย​ปี 1831 เพียง​หก​เดือน​หลัง​จาก​ที่​ได้​รับ​อนุญาต.

ความ​โลเล​ของ​ราชินี ประกอบ​กับ​อิทธิพล​ที่​เห็น​ได้​ชัด​ว่า​กำลัง​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ ของ​กลุ่ม​ที่​นิยม​ประเพณี​ใน​รัฐบาล กระตุ้น​ให้​เหล่า​มิชชันนารี​เร่ง​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​แล้ว​เสร็จ. พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​เสร็จ​สมบูรณ์​แล้ว และ​มี​การ​จ่าย​แจก​ออก​ไป​หลาย​พัน​เล่ม. อย่าง​ไร​ก็​ตาม มี​อุปสรรค​อีก​อย่าง​หนึ่ง​เกิด​ขึ้น​ใน​วัน​ที่ 1 มีนาคม 1835 เมื่อ​ราชินี​รา​นาวา​โล​นา​ที่​หนึ่ง​ออก​แถลง​การณ์​ว่า​ศาสนา​คริสเตียน​ไม่​ได้​รับ​การ​รับรอง​ตาม​กฎหมาย​และ​มี​คำ​สั่ง​ให้​ส่ง​หนังสือ​คริสเตียน​ทั้ง​หมด​ให้​กับ​เจ้าหน้าที่.

คำ​สั่ง​ของ​ราชินี​ที่​ประกาศ​เป็น​ราชกฤษฎีกา​ยัง​ส่ง​ผล​ทำ​ให้​ผู้​ฝึก​งาน​ชาว​มาลากาซี​ไม่​สามารถ​ทำ​งาน​ใน​โครงการ​พิมพ์​พระ​คัมภีร์​ได้​อีก​ต่อ​ไป. ดัง​นั้น เมื่อ​เหลือ​มิชชันนารี​เพียง​ไม่​กี่​คน​ที่​จะ​ทำ​งาน​นี้​ให้​แล้ว​เสร็จ พวก​เขา​จึง​ทำ​งาน​อย่าง​หาม​รุ่ง​หาม​ค่ำ จน​กระทั่ง​ใน​ที่​สุด​เมื่อ​ถึง​เดือน​มิถุนายน 1835 ก็​มี​การ​ออก​คัมภีร์​ไบเบิล​ครบ​ชุด​ได้. ใน​ที่​สุด ก็​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​มาลากาซี!

ใน​ขณะ​ที่​การ​สั่ง​ห้าม​มี​ผล​บังคับ​ใช้ ก็​มี​การ​จ่าย​แจก​คัมภีร์​ไบเบิล​ออก​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว และ​พระ​คัมภีร์ 70 เล่ม​ถูก​ฝัง​ไว้​เพื่อ​ไม่​ให้​ถูก​ทำลาย. การ​ทำ​อย่าง​นั้น​นับ​ว่า​เป็น​การ​ตัดสิน​ใจ​ที่​ฉลาด เพราะ​ภาย​ใน​เวลา​ไม่​ถึง​ปี​มิชชันนารี​ทุก​คน​ต้อง​ออก​จาก​เกาะ​จน​เหลือ​เพียง​แค่​สอง​คน. แต่​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​แพร่​กระจาย​ไป​ทั่ว​เกาะ​แดง​ใหญ่.

ความ​รัก​ที่​ชาว​มาลากาซี​มี​ต่อ​คัมภีร์​ไบเบิล

ช่าง​น่า​ยินดี​จริง ๆ ที่​ประชาชน​ใน​มาดากัสการ์​สามารถ​อ่าน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ใน​ภาษา​ของ​ตน​เอง! การ​แปล​มี​ข้อ​ผิด​พลาด​คลาดเคลื่อน​หลาย​แห่ง และ​ภาษา​ที่​ใช้​ก็​ล้า​สมัย​ไป​แล้ว​ใน​เวลา​นี้. ถึง​กระนั้น แทบ​ไม่​มี​บ้าน​ไหน​ที่​ไม่​มี​คัมภีร์​ไบเบิล และ​ชาว​มาลากาซี​หลาย​คน​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ประจำ. สิ่ง​หนึ่ง​ที่​น่า​สังเกต​ก็​คือ​ฉบับ​แปล​นี้​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า คือ​ยะโฮวา ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ตลอด​ทั้ง​เล่ม. มี​การ​พบ​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ใน​ต้น​ฉบับ​ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​ใน​ภาษา​มาลากาซี​ด้วย. ด้วย​เหตุ​นั้น ชาว​มาลากาซี​ส่วน​ใหญ่​จึง​คุ้น​เคย​กับ​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า.

เมื่อ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​เล่ม​แรก ๆ ถูก​พิมพ์​ออก​มา นาย​เบเกอร์​ซึ่ง​เป็น​ช่าง​พิมพ์​ก็​เห็น​ถึง​ความ​ยินดี​ของ​ชาว​มาลากาซี​และ​พูด​ออก​มา​ว่า “ผม​ไม่​ได้​ตั้งใจ​จะ​พยากรณ์​หรอก​นะ แต่​ผม​เชื่อ​ว่า​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​จะ​ไม่​มี​ทาง​ถูก​กำจัด​ให้​หมด​ไป​จาก​ประเทศ​นี้!” คำ​พูด​ของ​เขา​ปรากฏ​ว่า​เป็น​ความ​จริง. ไม่​ว่า​จะ​เป็น​มาลาเรีย หรือ​ข้อ​ท้าทาย​ใน​การ​เรียน​ภาษา​ที่​ยาก หรือ​คำ​สั่ง​ห้าม​ของ​ผู้​ปกครอง​ประเทศ ไม่​มี​สิ่ง​ใด​สามารถ​ขัด​ขวาง​ไม่​ให้​มี​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ใน​มาดากัสการ์.

ปัจจุบัน สถานการณ์​ดี​ขึ้น​มาก. เป็น​เช่น​นั้น​อย่าง​ไร? ใน​ปี 2008 ได้​มี​การ​ออก​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ครบ​ชุด​ใน​ภาษา​มาลากาซี. ฉบับ​แปล​นี้​แสดง​ให้​เห็น​ถึง​ความ​ก้าว​หน้า​ขั้น​ใหญ่ เพราะ​เป็น​ฉบับ​แปล​ที่​ใช้​ภาษา​ทัน​สมัย เข้าใจ​ง่าย. ดัง​นั้น ใน​เวลา​นี้​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​จึง​มี​รากฐาน​มั่นคง​ยิ่ง​ขึ้น​ใน​เกาะ​แดง​ใหญ่​แห่ง​นี้.—ยซา. 40:8

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 14 พระ​บัญญัติ​สิบ​ประการ​และ​คำ​อธิษฐาน​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ซึ่ง​พิมพ์​ใน​มอริเชียส​ราว ๆ เดือน​เมษายน/พฤษภาคม 1826 เป็น​ส่วน​แรก​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​พิมพ์​เป็น​ภาษา​มาลากาซี. แต่​หนังสือ​ที่​พิมพ์​ขึ้น​มา​นี้​ถูก​แจก​จ่าย​เฉพาะ​ใน​หมู่​เชื้อ​พระ​วงศ์​ของ​กษัตริย์​รา​ดา​มา​และ​เจ้าหน้าที่​รัฐบาล​บาง​คน.

[ภาพ​หน้า 31]

“ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่” ใน​ภาษา​มาลากาซี​ถวาย​เกียรติ​แด่​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า คือ​ยะโฮวา