ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงช่วยลูกให้รับมือกับข้อท้าทายมากมาย

จงช่วยลูกให้รับมือกับข้อท้าทายมากมาย

จง​ช่วย​ลูก​ให้​รับมือ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​มาก​มาย

เยาวชน​ของ​เรา​ถูก​กดดัน​อย่าง​หนัก. พวก​เขา​ต้อง​เผชิญ​กับ​อิทธิพล​ของ​โลก​ที่​ชั่ว​ร้าย​ของ​ซาตาน และ​พวก​เขา​ต้อง​สู้​กับ “ความ​ปรารถนา​ซึ่ง​มัก​เกิด​ขึ้น​ใน​วัย​หนุ่ม​สาว.” (2 ติโม. 2:22; 1 โย. 5:19) นอก​จาก​นั้น เนื่อง​จาก​พยายาม ‘ระลึก​ถึง​พระองค์​ผู้​ได้​ทรง​สร้าง​พวก​เขา’ พวก​เขา​จึง​ต้อง​รับมือ​กับ​การ​เยาะเย้ย—หรือ​แม้​แต่​การ​รังควาน—จาก​คน​ที่​ต่อ​ต้าน​ความ​เชื่อ​ของ​พวก​เขา. (ผู้ป. 12:1) เมื่อ​มอง​ย้อน​กลับ​ไป​ถึง​ตอน​ที่​เขา​กำลัง​เติบโต​ขึ้น​มา พี่​น้อง​ชาย​คน​หนึ่ง​ชื่อ​วินเซนต์​กล่าว​ว่า “บาง​คน​ชอบ​ก่อกวน, รังแก, หรือ​ท้า​สู้​กับ​ผม​เพราะ​ผม​เป็น​พยาน​ฯ. หลาย​ครั้ง​เกิด​เรื่อง​แบบ​นี้​หนัก​มาก​จน​ผม​ไม่​อยาก​ไป​โรง​เรียน.” *

นอก​จาก​ถูก​กดดัน​จาก​โลก​แล้ว ลูก ๆ ของ​เรา​อาจ​ต้อง​ต่อ​สู้​กับ​ความ​ปรารถนา​ของ​พวก​เขา​เอง​ที่​อยาก​จะ​เป็น​เหมือน​กับ​เพื่อน ๆ ด้วย. แคทลีน พี่​น้อง​หญิง​ซึ่ง​อายุ​เกือบ​ยี่​สิบ​ปี กล่าว​ว่า “ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​เลย​ที่​จะ​ถูก​มอง​ว่า​ผิด​แปลก​ไป​จาก​คน​อื่น.” พี่​น้อง​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​ชื่อ​อลัน ยอม​รับ​ว่า “เพื่อน​นัก​เรียน​มัก​ชวน​ผม​ไป​เที่ยว​ใน​ช่วง​สุด​สัปดาห์ และ​ผม​ก็​อยาก​ไป​มาก​เลย.” นอก​จาก​นั้น คน​หนุ่ม​สาว​อาจ​อยาก​เข้า​ร่วม​ใน​การ​แข่งขัน​กีฬา​ต่าง ๆ ของ​โรง​เรียน ซึ่ง​อาจ​ทำ​ให้​มี​การ​คบหา​สมาคม​ที่​ไม่​ดี​ได้​ง่าย​มาก. พี่​น้อง​หญิง​วัยรุ่น​คน​หนึ่ง​ชื่อ​ทันยา กล่าว​ว่า “ดิฉัน​รัก​กีฬา. ครู​ผู้​ฝึก​สอน​กีฬา​ใน​โรง​เรียน​พยายาม​ชวน​ดิฉัน​อยู่​เรื่อย ๆ ให้​ร่วม​เล่น​ใน​ทีม. นั่น​เป็น​เรื่อง​ที่​ปฏิเสธ​ได้​ยาก​ที​เดียว.”

คุณ​จะ​ช่วย​ลูก​ให้​รับมือ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​มาก​มาย​เหล่า​นั้น​ได้​อย่าง​ไร? พระ​ยะโฮวา​ทรง​มี​พระ​บัญชา​ให้​บิดา​มารดา​ชี้​นำ​ลูก. (สุภา. 22:6; เอเฟ. 6:4) เป้าหมาย​ของ​บิดา​มารดา​ที่​เกรง​กลัว​พระเจ้า​ก็​คือ​การ​พัฒนา​ความ​ปรารถนา​ใน​หัวใจ​ลูก​ที่​จะ​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา. (สุภา. 6:20-23) โดย​วิธี​นั้น ลูก​ก็​จะ​ได้​รับ​แรง​กระตุ้น​ให้​ต้านทาน​แรง​กดดัน​จาก​โลก​แม้​แต่​เมื่อ​บิดา​มารดา​ไม่​ได้​อยู่​ด้วย.

สำหรับ​บิดา​มารดา เป็น​เรื่อง​ท้าทาย​ที่​จะ​หา​เลี้ยง​ชีพ, เลี้ยง​ดู​ครอบครัว, และ​เอา​ใจ​ใส่​กิจกรรม​ต่าง ๆ ใน​ประชาคม—ทำ​ทั้ง​หมด​นี้​ใน​เวลา​เดียว​กัน. บาง​คน​ต้อง​ทำ​อย่าง​นั้น​ใน​ฐานะ​บิดา​หรือ​มารดา​ที่​เลี้ยง​ลูก​คน​เดียว หรือ​ขณะ​ที่​ถูก​คู่​สมรส​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​ต่อ​ต้าน. ถึง​กระนั้น พระ​ยะโฮวา​ทรง​เรียก​ร้อง​ให้​บิดา​มารดา​กัน​เวลา​ไว้​เพื่อ​สอน​และ​ช่วยเหลือ​ลูก. ดัง​นั้น คุณ​จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​ช่วย​ลูก​ป้องกัน​ตัว​เอง​จาก​แรง​กดดัน​ของ​คน​รุ่น​เดียว​กัน, การ​ล่อ​ใจ, และ​การ​รังควาน​ที่​พวก​เขา​เผชิญ​อยู่​ทุก​เมื่อ​เชื่อ​วัน?

สาย​สัมพันธ์​เป็น​ส่วน​ตัว​กับ​พระ​ยะโฮวา

ก่อน​อื่น เยาวชน​ต้อง​รู้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​บุคคล​จริง ๆ. พวก​เขา​ต้อง​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​ให้ “เสมือน​เห็น​พระองค์​ผู้​ไม่​ประจักษ์​แก่​ตา.” (ฮีบรู 11:27) วินเซนต์ ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ใน​ตอน​ต้น เล่า​ถึง​วิธี​ที่​บิดา​มารดา​ช่วย​เขา​ให้​พัฒนา​สาย​สัมพันธ์​เป็น​ส่วน​ตัว​กับ​พระ​ยะโฮวา. เขา​กล่าว​ว่า “ท่าน​สอน​ผม​ให้​เห็น​ความ​สำคัญ​ของ​การ​อธิษฐาน. ผม​จำ​ได้​ว่า​ตั้ง​แต่​อายุ​ยัง​น้อย​ผม​อธิษฐาน​ถึง​พระ​ยะโฮวา​ทุก​คืน​ก่อน​นอน. พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​บุคคล​จริง ๆ สำหรับ​ผม.” คุณ​อธิษฐาน​กับ​ลูก​ไหม? ทำไม​ไม่​ลอง​ฟัง​คำ​พูด​ของ​เขา​ใน​คำ​อธิษฐาน​ส่วน​ตัว​ของ​เขา​ถึง​พระ​ยะโฮวา​ดู​ล่ะ? พวก​เขา​เพียง​แค่​อธิษฐาน​ซ้ำ ๆ แบบ​เดิม​ไหม? หรือ​ว่า​พวก​เขา​อธิษฐาน​อย่าง​ที่​พวก​เขา​รู้สึก​จริง ๆ เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา? ด้วย​การ​ฟัง​คำ​อธิษฐาน​ของ​พวก​เขา คุณ​อาจ​รู้​ได้​ว่า​ลูก​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ​ขนาด​ไหน.

การ​อ่าน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เป็น​ส่วน​ตัว​เป็น​อีก​วิธี​หนึ่ง​ที่​สำคัญ​ซึ่ง​คน​หนุ่ม​สาว​จะ​เข้า​ใกล้​พระ​ยะโฮวา​มาก​ขึ้น​ได้. แคทลีน ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ไป​แล้ว กล่าว​ว่า “การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ตั้ง​แต่​ต้น​จน​จบ​เมื่อ​อายุ​ยัง​น้อย​ช่วย​ดิฉัน​ได้​มาก. การ​อ่าน​อย่าง​นั้น​ทำ​ให้​ดิฉัน​มั่น​ใจ​ว่า​แม้​แต่​เมื่อ​ผู้​คน​โจมตี​ดิฉัน ดิฉัน​มี​พระ​ยะโฮวา​คอย​สนับสนุน.” ลูก​ของ​คุณ​มี​ตาราง​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​เขา​เอง​ไหม?—เพลง. 1:1-3; 77:12

จริง​อยู่ เด็ก​แต่​ละ​คน​แตกต่าง​กัน​ใน​วิธี​ที่​พวก​เขา​แสดง​ปฏิกิริยา​ต่อ​การ​ชี้​นำ​ของ​บิดา​มารดา. นอก​จาก​นั้น ความ​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​พวก​เขา​อาจ​ขึ้น​อยู่​กับ​อายุ​ของ​พวก​เขา​ด้วย. กระนั้น ถ้า​ไม่​มี​การ​ชี้​นำ ย่อม​จะ​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​เยาวชน​จะ​รู้​จัก​พระ​ยะโฮวา​ใน​ฐานะ​บุคคล​จริง ๆ. บิดา​มารดา​ต้อง​ปลูกฝัง​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ไว้​ใน​ตัว​ลูก​เพื่อ​ลูก​จะ​เสมือน​หนึ่ง​ได้​ยิน​พระ​ยะโฮวา​ตรัส ไม่​ว่า​พวก​เขา​จะ​อยู่​ที่​ไหน. (บัญ. 6:6-9) ลูก​ของ​คุณ​ต้อง​เชื่อ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ดู​แล​พวก​เขา​เป็น​ส่วน​ตัว.

วิธี​ทำ​ให้​การ​สื่อ​ความ​มี​ความ​หมาย

การ​สื่อ​ความ​เป็น​วิธี​สำคัญ​ใน​การ​ช่วย​ลูก​ของ​คุณ. แน่นอน การ​สื่อ​ความ​ที่​ดี​ไม่​ได้​หมาย​ถึง​เพียง​แค่​พูด​คุย​กับ​ลูก. การ​ติด​ต่อ​สื่อ​ความ​ที่​ดี​รวม​ถึง​การ​ถาม​และ​ฟัง​คำ​ตอบ​ของ​ลูก​อย่าง​อด​ทน—แม้​แต่​เมื่อ​นั่น​ไม่​ใช่​คำ​ตอบ​ที่​คุณ​อยาก​ได้​ยิน. แอนน์ มารดา​ซึ่ง​มี​ลูก​ชาย​สอง​คน กล่าว​ว่า “ดิฉัน​จะ​ถาม​จน​กว่า​จะ​แน่​ใจ​ว่า​ดิฉัน​เข้าใจ​แล้ว​ว่า​ลูก​คิด​อะไร​และ​พวก​เขา​ต้อง​รับมือ​กับ​อะไร​อยู่ ใน​ชีวิต​ของ​พวก​เขา.” ลูก​รู้สึก​ไหม​ว่า​คุณ​กำลัง​ฟัง​เขา​อยู่? ทันยา ซึ่ง​กล่าว​ถึง​แล้ว​ใน​ตอน​ต้น กล่าว​ว่า “พ่อ​แม่​ดิฉัน​ฟัง​ดิฉัน​พูด​จริง ๆ และ​จำ​เรื่อง​ที่​เรา​พูด​คุย​กัน​ได้. ท่าน​รู้​จัก​ชื่อ​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​ดิฉัน. ท่าน​จะ​คอย​ถาม​ถึง​เพื่อน​ของ​ดิฉัน​และ​ถาม​ถึง​เรื่อง​อื่น ๆ ที่​เรา​เคย​คุย​กัน.” การ​ฟัง​และ​การ​จำ​เรื่อง​ที่​คุย​กัน​นับ​ว่า​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​การ​สื่อ​ความ​ที่​ประสบ​ผล​สำเร็จ.

หลาย​ครอบครัว​พบ​ว่า​เวลา​รับประทาน​อาหาร​ด้วย​กัน​เป็น​โอกาส​ที่​ดี​ที่​จะ​พูด​คุย​กัน​อย่าง​ที่​มี​ความ​หมาย. วินเซนต์​อธิบาย​ว่า “การ​รับประทาน​อาหาร​ด้วย​กัน​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​สำหรับ​ครอบครัว​เรา. ทุก​คน​ถูก​คาด​หมาย​ว่า​จะ​อยู่​ที่​โต๊ะ​อาหาร​ร่วม​กับ​ครอบครัว​ทุก​เมื่อ​ที่​เป็น​ไป​ได้. ไม่​อนุญาต​ให้​ดู​โทรทัศน์, ฟัง​วิทยุ, หรือ​อ่าน​หนังสือ​ระหว่าง​ที่​รับประทาน​อาหาร​ด้วย​กัน. เนื่อง​จาก​เรื่อง​ส่วน​ใหญ่​ที่​คุย​กัน​เป็น​เรื่อง​เบา ๆ เวลา​ที่​รับประทาน​อาหาร​ด้วย​กัน​ใน​แต่​ละ​วัน​จึง​เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​สงบ​สุข​ซึ่ง​ช่วย​ผม​ให้​รับมือ​ได้​กับ​ความ​วุ่นวาย​สับสน​และ​แรง​กดดัน​ที่​ผม​พบ​ใน​โรง​เรียน.” เขา​กล่าว​อีก​ว่า “การ​คุ้น​เคย​กับ​การ​พูด​คุย​กับ​พ่อ​และ​แม่​ตอน​รับประทาน​อาหาร​ยัง​ช่วย​ผม​ด้วย​ให้​รู้สึก​สบาย​ใจ​เมื่อ​พูด​กับ​ท่าน​ตอน​ที่​ผม​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​ใน​เรื่อง​ที่​จริงจัง​กว่า.”

ลอง​ถาม​ตัว​เอง​ดู​ว่า ‘ฉัน​รับประทาน​อาหาร​ด้วย​กัน​กับ​ครอบครัว​บ่อย​ขนาด​ไหน​ใน​แต่​ละ​สัปดาห์?’ การ​ปรับ​เปลี่ยน​ใน​เรื่อง​นี้​จะ​ทำ​ให้​คุณ​มี​โอกาส​มาก​ขึ้น​ไหม​ที่​จะ​มี​การ​สื่อ​ความ​กับ​ลูก​มาก​ขึ้น​และ​ดี​ขึ้น?

ทำไม​การ​ฝึก​ซ้อม​จึง​เป็น​ประโยชน์​มาก?

การ​นมัสการ​ประจำ​ครอบครัว​ตอน​เย็น​ใน​แต่​ละ​สัปดาห์​ช่วย​เยาวชน​ด้วย​ให้​รับมือ​กับ​ปัญหา​ที่​พวก​เขา​ประสบ. อลัน ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ไป​แล้ว​ใน​ตอน​ต้น กล่าว​ว่า “พ่อ​และ​แม่​ใช้​ช่วง​ที่​เรา​ศึกษา​กัน​ใน​ครอบครัว​เพื่อ​จะ​รู้​ความ​ใน​ใจ​ของ​เรา. ท่าน​จะ​พิจารณา​หัวเรื่อง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​สิ่ง​ที่​เรา​กำลัง​รับมือ​อยู่.” มารดา​ของ​อลัน​กล่าว​ว่า “เรา​ใช้​เวลา​บาง​ส่วน​ที่​ศึกษา​เพื่อ​ฝึก​ซ้อม​ด้วย​กัน. การ​ฝึก​ซ้อม​ด้วย​กัน​แบบ​นี้​ช่วย​ให้​ลูก ๆ เรียน​รู้​วิธี​ปก​ป้อง​ความ​เชื่อ​ของ​ตัว​เอง​และ​วิธี​พิสูจน์​ว่า​ความ​เชื่อ​ของ​พวก​เขา​เป็น​ความ​จริง. นี่​ทำ​ให้​พวก​เขา​มี​ความ​เชื่อ​มั่น​อย่าง​ที่​พวก​เขา​จำเป็น​ต้อง​มี​เมื่อ​ต้อง​รับมือ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​ที่​เกิด​ขึ้น​กับ​พวก​เขา.”

ที่​จริง เมื่อ​เผชิญ​กับ​แรง​กดดัน​จาก​คน​รุ่น​เดียว​กัน หลาย​ครั้ง​ลูก​จำเป็น​ต้อง​ทำ​ไม่​เพียง​แค่​บอก​ว่า​ไม่​แล้ว​ก็​เดิน​หนี. พวก​เขา​ต้อง​สามารถ​ตอบ​คำ​ถาม​ที่​ว่า​ทำไม และ​ทำไม​จึง​ไม่. พวก​เขา​จำเป็น​ต้อง​รู้สึก​มั่น​ใจ​ด้วย​ว่า​ควร​ทำ​อย่าง​ไร​เมื่อ​ถูก​เยาะเย้ย​ใน​เรื่อง​ความ​เชื่อ. ถ้า​พวก​เขา​ไม่​สามารถ​ปก​ป้อง​ความ​เชื่อ​ของ​ตน ย่อม​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​เขา​จะ​ยืนหยัด​อย่าง​กล้า​หาญ​เพื่อ​การ​นมัสการ​แท้. การ​ฝึก​ซ้อม​ด้วย​กัน​สามารถ​ช่วย​สร้าง​ความ​มั่น​ใจ​เช่น​นั้น​ได้.

กรอบ​ใน​หน้า 18 มี​ฉาก​เหตุ​การณ์​บาง​อย่าง​ที่​อาจ​ใช้​ซ้อม​ด้วย​กัน​ระหว่าง​การ​นมัสการ​ประจำ​ครอบครัว​ตอน​เย็น. จง​พยายาม​ทำ​ให้​การ​ฝึก​ซ้อม​นั้น​เหมือน​กับ​เหตุ​การณ์​จริง ด้วย​การ​แย้ง​คำ​ตอบ​ของ​ลูก. พร้อม​กับ​การ​ฝึก​ซ้อม​อย่าง​นั้น จง​พิจารณา​บทเรียน​ที่​ใช้​ได้​จริง​บาง​เรื่อง​ที่​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า การ​ฝึก​อบรม​เช่น​นี้​ที่​บ้าน​จะ​เตรียม​ลูก​ให้​พร้อม​จะ​รับมือ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​ที่​โรง​เรียน​และ​ใน​ที่​อื่น​ใด​ก็​ตาม.

บ้าน​เป็น​ที่​พักพิง​อัน​ปลอด​ภัย​ไหม?

บ้าน​ของ​คุณ​เป็น​สถาน​ที่​ที่​ลูก​จะ​คอย​ให้​ถึง​เวลา​กลับ​บ้าน​เมื่อ​โรง​เรียน​เลิก​ใน​แต่​ละ​วัน​ไหม? ถ้า​บ้าน​เป็น​ที่​พักพิง​อัน​ปลอด​ภัย นั่น​ย่อม​จะ​ช่วย​ลูก​ให้​รับมือ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​ใน​แต่​ละ​วัน. พี่​น้อง​หญิง​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ตอน​นี้​เป็น​สมาชิก​ครอบครัว​เบเธล​กล่าว​ว่า “เมื่อ​ดิฉัน​เติบโต​ขึ้น​มา สิ่ง​หนึ่ง​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​สำหรับ​ดิฉัน​ก็​คือ​การ​ที่​บ้าน​ของ​เรา​เป็น​ที่​พักพิง​อัน​ปลอด​ภัย. ไม่​ว่า​สภาพการณ์​ที่​โรง​เรียน​จะ​แย่​ขนาด​ไหน ดิฉัน​รู้​ว่า​เมื่อ​กลับ​ถึง​บ้าน ทุก​สิ่ง​ก็​จะ​เรียบร้อย.” บรรยากาศ​ใน​บ้าน​ของ​คุณ​เป็น​อย่าง​ไร? บ้าน​ของ​คุณ​เป็น​สถาน​ที่​ซึ่ง​มี​แต่ “การ​บันดาล​โทสะ การ​ชิง​ดี​ชิง​เด่น​กัน [และ] การ​แตก​แยก​กัน” ไหม หรือ​ว่า​เป็น​สถาน​ที่​ซึ่ง​มี “ความ​รัก ความ​ยินดี [และ] สันติ​สุข”? (กลา. 5:19-23) ถ้า​บ้าน​ของ​คุณ​มัก​จะ​ไม่​ค่อย​มี​สันติ​สุข คุณ​พยายาม​จริง ๆ ไหม​ที่​จะ​รู้​ว่า​จำเป็น​ต้อง​เปลี่ยน​แปลง​อะไร​บ้าง​เพื่อ​จะ​ทำ​ให้​บ้าน​เป็น​ที่​พักพิง​อัน​ปลอด​ภัย​สำหรับ​ลูก?

อีก​วิธี​หนึ่ง​ที่​จะ​ช่วย​ลูก​ให้​รับมือ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​ได้​ก็​คือ การ​ช่วย​ให้​พวก​เขา​ได้​มี​โอกาส​คบหา​สมาคม​ที่​เสริม​สร้าง. ตัว​อย่าง​เช่น คุณ​จะ​ชวน​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​ที่​มี​ทัศนะ​ที่​ดี​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​ให้​มา​ร่วม​ด้วย​ได้​ไหม​เมื่อ​พักผ่อน​หย่อนใจ​ด้วย​กัน​ใน​ครอบครัว? หรือ​คุณ​จะ​เชิญ​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​หรือ​พี่​น้อง​ที่​รับใช้​เต็ม​เวลา​มา​รับประทาน​อาหาร​ง่าย ๆ ด้วย​กัน​ที่​บ้าน​ได้​ไหม? คุณ​รู้​จัก​มิชชันนารี​หรือ​สมาชิก​เบเธล​บาง​คน​ไหม​ที่​ลูก​ของ​คุณ​จะ​สามารถ​พัฒนา​มิตรภาพ​กับ​พวก​เขา แม้​แต่​จะ​เป็น​เพียง​การ​ติด​ต่อ​กัน​ทาง​จดหมาย, อีเมล, หรือ​โทรศัพท์​เป็น​ระยะ ๆ? ความ​สัมพันธ์​เช่น​นั้น​สามารถ​ช่วย​ลูก​ของ​คุณ​ให้​เลือก​แนว​ทาง​ชีวิต​ที่​ถูก​ต้อง​และ​มี​เป้าหมาย​ฝ่าย​วิญญาณ. ขอ​ให้​นึก​ถึง​ผล​กระทบ​ที่​ดี​ที่​อัครสาวก​เปาโล​มี​ต่อ​ติโมเธียว. (2 ติโม. 1:13; 3:10) การ​คบหา​ใกล้​ชิด​กับ​เปาโล​ช่วย​ติโมเธียว​ให้​จดจ่อ​อยู่​กับ​เป้าหมาย​ฝ่าย​วิญญาณ.—1 โค. 4:17

จง​ชมเชย​ลูก​ของ​คุณ

พระ​ยะโฮวา​ทรง​ยินดี​เมื่อ​เห็น​เยาวชน​ยืนหยัด​เพื่อ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง​แม้​ถูก​กดดัน​จาก​โลก​ของ​ซาตาน. (เพลง. 147:11; สุภา. 27:11) ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า คุณ​ก็​รู้สึก​ยินดี​เช่น​กัน​เมื่อ​เห็น​เยาวชน​เลือก​แนว​ทาง​ชีวิต​ของ​เขา​อย่าง​ฉลาด. (สุภา. 10:1) จง​บอก​ลูก​ของ​คุณ​ว่า​คุณ​รู้สึก​อย่าง​ไร​ต่อ​พวก​เขา และ​พร้อม​ที่​จะ​ชมเชย​เขา​อยู่​เสมอ. พระ​ยะโฮวา​ทรง​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ไว้​สำหรับ​บิดา​มารดา. ใน​คราว​ที่​พระ​เยซู​รับ​บัพติสมา พระ​ยะโฮวา​ตรัส​ว่า “เจ้า​เป็น​บุตร​ที่​รัก​ของ​เรา เรา​พอ​ใจ​เจ้า​มาก.” (มโก. 1:11) คำ​รับรอง​เช่น​นั้น​จาก​พระ​บิดา​คง​ช่วย​เสริม​กำลัง​พระ​เยซู​มาก​เพียง​ไร​ให้​รับมือ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​มาก​มาย​ที่​พระองค์​กำลัง​จะ​เผชิญ! เช่น​เดียว​กัน จง​บอก​ลูก​ว่า​คุณ​รัก​เขา และ​ชมเชย​เขา​ใน​สิ่ง​ที่​เขา​กำลัง​ทำ​ให้​สำเร็จ.

จริง​อยู่ คุณ​ไม่​สามารถ​ปก​ป้อง​ลูก​ของ​คุณ​จาก​แรง​กดดัน, การ​รังควาน, และ​การ​เยาะเย้ย​ได้​ทั้ง​หมด. แต่​มี​หลาย​สิ่ง​ที่​คุณ​ทำ​ได้​เพื่อ​ช่วย​ลูก. โดย​วิธี​ใด​บ้าง? โดย​ช่วย​พวก​เขา​ให้​พัฒนา​สาย​สัมพันธ์​เป็น​ส่วน​ตัว​กับ​พระ​ยะโฮวา. โดย​สร้าง​บรรยากาศ​ที่​กระตุ้น​ให้​มี​การ​สนทนา​ที่​เสริม​สร้าง. จง​ทำ​ให้​การ​นมัสการ​ประจำ​ครอบครัว​ตอน​เย็น​เป็น​แบบ​นำ​ไป​ใช้​ได้​จริง และ​ทำ​ให้​บ้าน​ของ​คุณ​เป็น​ที่​พักพิง​อัน​ปลอด​ภัย. แน่นอน การ​ทำ​อย่าง​นั้น​จะ​ช่วย​ลูก​ของ​คุณ​ให้​พร้อม​จะ​รับมือ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​มาก​มาย.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 2 บาง​ชื่อ​ใน​บทความ​นี้​เป็น​ชื่อ​สมมุติ.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 18]

การ​ฝึก​ซ้อม​ช่วย​ได้

ต่อ​ไป​นี้​เป็น​ตัว​อย่าง​ของ​สถานการณ์​ต่าง ๆ ที่​เยาวชน​ของ​เรา​อาจ​เผชิญ. ลอง​ฝึก​ซ้อม​บาง​ฉาก​เหตุ​การณ์​ใน​ช่วง​ที่​นมัสการ​ประจำ​ครอบครัว​ตอน​เย็น​ด้วย​กัน.

▸ ครู​ผู้​ฝึก​สอน​กีฬา​ชวน​ลูก​ของ​คุณ​ให้​ร่วม​ใน​ทีม​กีฬา​ของ​โรง​เรียน.

▸ เพื่อน ๆ ยื่น​บุหรี่​ให้​ลูก​ชาย​ของ​คุณ​ขณะ​เดิน​ทาง​กลับ​จาก​โรง​เรียน.

▸ มี​เด็ก​บาง​คน​ขู่​ว่า​จะ​ต่อย​ลูก​ชาย​คุณ​ถ้า​เห็น​เขา​ประกาศ​อีก.

▸ ระหว่าง​ที่​ลูก​ของ​คุณ​กำลัง​ทำ​งาน​ประกาศ​ตาม​บ้าน เขา​พบ​กับ​เพื่อน​นัก​เรียน.

▸ ลูก​ของ​คุณ​ถูก​ถาม​ที่​หน้า​ชั้น​เรียน​ว่า​ทำไม​ไม่​เคารพ​ธง.

▸ เด็ก​คน​หนึ่ง​เยาะเย้ย​ลูก​ของ​คุณ​อยู่​เรื่อย ๆ เพราะ​เขา​เป็น​พยาน​ฯ.

[ภาพ​หน้า 17]

ลูก​ของ​คุณ​มี​ตาราง​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​เขา​เอง​ไหม?

[ภาพ​หน้า 19]

คุณ​จะ​ชวน​พี่​น้อง​ที่​มี​ทัศนะ​ที่​ดี​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​ให้​มา​ร่วม​ด้วย​ได้​ไหม​เมื่อ​พักผ่อน​หย่อนใจ​ด้วย​กัน​ใน​ครอบครัว?