คุณมองว่าพระยะโฮวาเป็นพระบิดาของคุณไหม?
คุณมองว่าพระยะโฮวาเป็นพระบิดาของคุณไหม?
“พระองค์เจ้าข้า ขอทรงสอนพวกข้าพเจ้าให้อธิษฐาน.” เมื่อสาวกคนหนึ่งถามพระองค์อย่างนั้น พระเยซูทรงตอบว่า “เมื่อพวกเจ้าอธิษฐาน ให้กล่าวว่า ‘ข้าแต่พระบิดา ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.’ ” (ลูกา 11:1, 2) พระเยซูทรงสามารถเรียกพระยะโฮวาโดยใช้คำระบุตำแหน่งต่าง ๆ ที่น่าประทับใจ เช่น “ผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง,” “พระบรมครู,” “พระผู้สร้าง,” “ผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์,” และ “พระมหากษัตริย์แห่งนิรันดรกาล.” (เย. 49:25, ล.ม.; ยซา. 30:20, ล.ม.; 40:28, ล.ม.; ดานิ. 7:9; 1 ติโม. 1:17) แต่พระเยซูทรงเลือกใช้คำ “พระบิดา.” เพราะเหตุใด? อาจเป็นเพราะพระองค์ทรงประสงค์ให้เราเข้าเฝ้าพระผู้สูงสุดแห่งเอกภพในลักษณะเดียวกับเด็กที่นอบน้อมเข้าไปหาบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรัก.
อย่างไรก็ตาม บางคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะนึกถึงพระเจ้าในฐานะพระบิดาของตน. คริสเตียนคนหนึ่งที่ชื่ออัตสึโกะ *ยอมรับว่า “หลังจากรับบัพติสมาแล้วหลายปี ดิฉันก็ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาและอธิษฐานถึงพระองค์ในฐานะพระบิดา.” เธอบอกเหตุผลที่เรื่องนี้เป็นเรื่องยากสำหรับเธอว่า “ดิฉันนึกไม่ออกเลยว่าพ่อแท้ ๆ ของดิฉันเองแสดงความรักต่อดิฉันเมื่อไร.”
ในสมัยสุดท้ายอันวิกฤตินี้ “ความรักใคร่ตามธรรมชาติ” ซึ่งน่าจะได้รับจากบิดาลดน้อยลงไปมาก. (2 ติโม. 3:1, 3) ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางคนมีความรู้สึกคล้าย ๆ กับอัตสึโกะ. แต่เป็นเรื่องที่ให้กำลังใจที่รู้ว่าเรามีเหตุผลที่ดีที่จะมองว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรัก.
พระยะโฮวา—ผู้จัดเตรียม ที่เปี่ยมด้วยความรัก
หากเราต้องการจะมองว่าพระยะโฮวาเป็นพระบิดาของเรา เราต้องรู้จักพระองค์เป็นอย่างดี. พระเยซูตรัสว่า “ไม่มีใครรู้จักพระบุตรอย่างถ่องแท้นอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดาอย่างถ่องแท้นอกจากพระบุตรกับผู้ที่พระบุตรทรงประสงค์จะเปิดเผยเรื่องพระบิดาแก่เขา.” (มัด. 11:27) วิธีหนึ่งที่ดีเยี่ยมที่จะรู้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระบิดาแบบใดก็คือโดยใคร่ครวญสิ่งที่พระเยซูทรงเปิดเผยเกี่ยวกับพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. ถ้าอย่างนั้น พระเยซูทรงเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับพระบิดา?
พระเยซูทรงยอมรับว่าพระยะโฮวาเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตของพระองค์โดยตรัสว่า “เรามีชีวิตอยู่เพราะพระองค์.” (โย. 6:57) พวกเราก็มีชีวิตอยู่เพราะพระบิดาเช่นเดียวกัน. (เพลง. 36:9; กิจ. 17:28) อะไรกระตุ้นพระยะโฮวาให้ประทานชีวิตแก่ผู้อื่น? นั่นเป็นเพราะความรักมิใช่หรือ? เนื่องจากเราได้รับของประทานเช่นนั้น ไม่ต้องสงสัยว่าเราควรตอบสนองด้วยการรักพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์.
ความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่พระเจ้าทรงแสดงต่อมนุษยชาติก็คือการที่พระองค์ทรงจัดเตรียมให้พระเยซูมาเป็นเครื่องบูชาไถ่. การแสดงความรักดังกล่าวทำให้เป็นไปได้ที่มนุษย์ผู้ผิดบาปจะมีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระยะโฮวา โดยทางพระบุตรที่รักของพระองค์. (โรม 5:12; 1 โย. 4:9, 10) และเนื่องจากพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ทรงเป็นผู้ทำให้คำสัญญาสำเร็จเป็นจริง เราจึงมั่นใจได้ว่าในที่สุดทุกคนที่รักและเชื่อฟังพระองค์จะได้รับ “เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งเหล่าบุตรของพระเจ้า.”—โรม 8:21
พระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ยัง “ทรงบันดาลให้ดวงอาทิตย์ขึ้นส่องแสง” แก่เราทุก ๆ วัน. (มัด. 5:45) เราไม่จำเป็นต้องอธิษฐานขอให้ดวงอาทิตย์ขึ้น. ถึงกระนั้น แสงอาทิตย์คือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเรา! นอกจากนั้น พระบิดาของเราทรงเป็นผู้จัดเตรียมที่ไม่มีใครเทียบได้ เพราะพระองค์ทรงรู้ว่าเราจำเป็นต้องมีสิ่งใดทางด้านวัตถุก่อนที่เราจะทูลขอพระองค์ด้วยซ้ำ. ด้วยเหตุนั้น เราควรใช้เวลาสังเกตและใคร่ครวญด้วยความขอบคุณถึงวิธีที่พระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ทรงดูแลสิ่งทรงสร้างของพระองค์มิใช่หรือ?—มัด. 6:8, 26
พระบิดาของเรา—“พระผู้ปกป้องที่อ่อนละมุน”
คำพยากรณ์ของยะซายาห์ให้คำรับรองแก่ประชาชนของพระเจ้าในสมัยโบราณว่า “ถึงแม้ภูเขาทั้งหลายจะเคลื่อนจากที่และเนินเขาทั้งหลายจะคลอนแคลน แต่มิตรภาพของเราจะไม่มีวันเคลื่อนหายไปจากเจ้า และสันถวไมตรีของเราจะไม่มีวันคลอนแคลน พระยะโฮวาพระผู้ปกป้องที่อ่อนละมุนตรัสไว้ดังนั้น.” (ยซา. 54:10, ฉบับแปลเดอะ ไบเบิล อิน ลิฟวิง อิงลิช) คำอธิษฐานของพระเยซูในคืนสุดท้ายของชีวิตพระองค์บนแผ่นดินโลกช่วยเสริมจุดนี้ เพราะคำอธิษฐานนี้แสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาทรงเป็น “พระผู้ปกป้องที่อ่อนละมุน” จริง ๆ. พระเยซูทรงอธิษฐานเกี่ยวกับเหล่าสาวกว่า “พวกเขาอยู่ในโลกและข้าพเจ้าจะมาหาพระองค์. ข้าแต่พระบิดาองค์บริสุทธิ์ ขอทรงดูแลพวกเขาเพื่อเห็นแก่พระนามของพระองค์.” (โย. 17:11, 14) พระยะโฮวาทรงคอยเฝ้าดูและปกป้องเหล่าสาวกของพระเยซู.
วิธีหนึ่งที่พระเจ้าทรงปกป้องเราไว้จากเครื่องมือต่าง ๆ ที่ซาตานใช้ในปัจจุบันก็คือโดยทรงจัดให้มีอาหารฝ่ายวิญญาณตามเวลาทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัด. 24:45) การรับเอาอาหารที่เสริมกำลังดังกล่าวนับว่าสำคัญยิ่งหากเราต้องการจะ “สวมยุทธภัณฑ์ครบชุดจากพระเจ้า.” ตัวอย่างเช่น ขอให้พิจารณา “โล่ใหญ่แห่งความเชื่อ” ที่เราจะ “สามารถใช้ดับลูกศรเพลิงทั้งหมดของตัวชั่วร้ายนั้นได้.” (เอเฟ. 6:11, 16) ความเชื่อของเราช่วยปกป้องเราไว้จากอันตรายฝ่ายวิญญาณและเป็นข้อพิสูจน์ถึงอำนาจในการปกป้องของพระบิดาของเรา.
เราสามารถเข้าใจมากขึ้นในเรื่องความอ่อนละมุนของพระบิดาของเราที่อยู่ในสวรรค์ด้วยการพิจารณาอย่างละเอียดถึงวิธีที่พระบุตรของพระเจ้าทรงประพฤติปฏิบัติขณะที่อยู่บนแผ่นดินโลก. ขอให้สังเกตเรื่องราวที่บันทึกไว้ในมาระโก 10:13-16. บันทึกนั้นกล่าวถึงคำตรัสของพระเยซูที่ตรัสกับเหล่าสาวกว่า “ให้เด็กเล็ก ๆ เข้ามาหาเราเถิด.” เมื่อเด็กเล็ก ๆ เหล่านั้นมาห้อมล้อมพระองค์ พระเยซูทรงกอดพวกเขาไว้อย่างอ่อนโยนและทรงอวยพรพวกเขา. ใบหน้าของเด็ก ๆ เหล่านั้นคงต้องฉายแววด้วยความยินดี! และเนื่องจากพระเยซูตรัสว่า “ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดาด้วย” เราจึงรู้ว่าพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ทรงประสงค์ให้เราเข้าใกล้พระองค์.—โย. 14:9
พระยะโฮวาพระเจ้าทรงเป็นแหล่งแห่งความรักที่ไม่มีขีดจำกัด. พระองค์ทรงเป็นผู้จัดเตรียมที่ไม่มีใครเทียบได้และเป็นพระผู้ปกป้องที่ไม่มีใครเทียมซึ่งทรงประสงค์ให้เราเข้าใกล้พระองค์. (ยโก. 4:8) ดังนั้น ไม่มีข้อสงสัยว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระบิดาที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะนึกภาพออกได้!
เราได้รับประโยชน์อย่างมากมาย!
เราได้รับประโยชน์อย่างมากมายจากการไว้วางใจพระยะโฮวาในฐานะพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ที่เปี่ยมด้วยความรักและความอ่อนละมุน. (สุภา. 3:5, 6) พระเยซูทรงได้รับประโยชน์จากการไว้วางใจพระบิดาอย่างครบถ้วน. พระคริสต์ทรงบอกเหล่าสาวกว่า “เราไม่ได้ตัดสินโดยลำพัง แต่พระบิดาผู้ทรงใช้เรามาทรงอยู่กับเรา.” (โย. 8:16) พระเยซูทรงมั่นใจเสมอว่าพระยะโฮวาจะคอยช่วยเหลือ. ตัวอย่างเช่น เมื่อรับบัพติสมา พระองค์ได้รับคำรับรองด้วยความรักจากพระบิดาที่ทรงประกาศว่า “นี่คือบุตรที่รักของเราซึ่งเราพอใจมาก.” (มัด. 3:15-17) และเพียงไม่กี่อึดใจก่อนจะสิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงร้องออกมาว่า “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้าฝากชีวิตไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์.” (ลูกา 23:46) พระเยซูยังคงไว้วางใจพระบิดาอย่างมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง.
เราก็สามารถเป็นอย่างนั้นได้ด้วย. ในเมื่อพระยะโฮวาทรงอยู่ข้าง ๆ เรา เรายังจะต้องกลัวอะไรอีก? (เพลง. 118:6) อัตสึโกะ ซึ่งกล่าวถึงในตอนต้น เคยชินกับการหมายพึ่งตัวเองเมื่อพบกับปัญหา. แต่ต่อมาเธอได้ศึกษาชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซู โดยพิจารณาเป็นพิเศษในเรื่องความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมที่พระองค์ทรงมีกับพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์. ผลเป็นอย่างไร? อัตสึโกะกล่าวว่า “ดิฉันได้มารู้ว่าการมีพระบิดามีความหมายอย่างไรจริง ๆ และได้เรียนรู้ที่จะไว้วางใจพระองค์.” เธอกล่าวเสริมอีกว่า “ดิฉันมีสันติสุขและความสุขอย่างแท้จริง. ที่จริง ไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะกังวลในเรื่องใดก็ตาม.”
เราได้รับประโยชน์อย่างไรอีกจากการมองว่าพระยะโฮวาเป็นพระบิดาของเรา? ตามปกติ ลูกจะรักพ่อแม่และต้องการทำให้พ่อแม่พอใจ. พระบุตรของพระเจ้า ‘ทรงทำสิ่งที่พระบิดาชอบพระทัยเสมอ’ เพราะพระองค์ทรงรักพระบิดา. (โย. 8:29) คล้ายกัน ความรักที่เรามีต่อพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์สามารถกระตุ้นเราให้ประพฤติปฏิบัติอย่างฉลาด สุขุมและ “สรรเสริญพระองค์ต่อหน้าคนทั้งปวง.”—มัด. 11:25; โย. 5:19
พระบิดาของเรา ‘กำลังยึดมือข้างขวาของเราอยู่’
พระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ยังจัดให้เรามี “ผู้ช่วย” ด้วย คือพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์. พระเยซูตรัสว่า ผู้ช่วยนี้ “จะช่วยพวกเจ้าให้เข้าใจความจริงทั้งหมด.” (โย. 14:15-17; 16:12, 13) พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าสามารถช่วยเราให้เข้าใจพระบิดาของเราได้ดีขึ้น. พระวิญญาณนี้สามารถช่วยเราให้ทำลาย “สิ่งที่ฝังรากลึก” กล่าวคือความคิดที่มีอยู่แล้วก่อนเรียนรู้ความจริง, แนวคิดที่ผิด ๆ, หรือทัศนะที่บิดเบือน และโดยวิธีนั้นจึงช่วย “ทำให้ความคิดทุกอย่างอยู่ใต้บังคับเพื่อให้เชื่อฟังพระคริสต์.” (2 โค. 10:4, 5) ด้วยเหตุนั้น ให้เราอธิษฐานขอพระยะโฮวาประทาน “ผู้ช่วย” ที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ โดยเชื่อมั่นว่า “พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่ผู้ที่ทูลขอพระองค์.” (ลูกา 11:13) เป็นเรื่องเหมาะสมด้วยที่จะอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเราให้เข้าใกล้พระยะโฮวามากขึ้น.
เด็กเล็ก ๆ รู้สึกมั่นคงปลอดภัยและไม่กลัวเมื่อเขาเดินจับมือพ่อ. ถ้าคุณมองว่าพระยะโฮวาเป็นพระบิดาของคุณจริง ๆ คุณก็จะสามารถมั่นใจได้ในถ้อยคำที่ปลอบประโลมใจนี้ ที่ว่า “เรา, ยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า, กำลังยึดมือข้างขวาของเจ้าอยู่, กำลังกล่าวแก่เจ้าว่า, ‘อย่ากลัวเลย, เราจะช่วยเจ้า.’ ” (ยซา. 41:13) คุณสามารถมีสิทธิพิเศษอันยอดเยี่ยมในการ “ดำเนิน” กับพระเจ้าตลอดไป. (มีคา 6:8) จงทำตามพระประสงค์ของพระองค์ต่อ ๆ ไป แล้วคุณจะประสบกับความรัก, ความยินดี, และความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยซึ่งเกิดจากการมองว่าพระยะโฮวาเป็นพระบิดาของคุณ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ชื่อสมมุติ.