คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
ยะเอศเคล 18:20 ซึ่งกล่าวว่า “บุตรจะมิได้แบกซึ่งบาปโทษแห่งบิดา” ขัดแย้งกันไหมกับ เอ็กโซโด 20:5 ที่กล่าวว่าพระยะโฮวาจะ “ให้โทษของบิดา . . . นั้นติดเนื่องจนถึงลูกหลาน”?
พระคัมภีร์สองข้อนี้ไม่ขัดแย้งกัน. ข้อแรกเน้นว่าแต่ละคนต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง ส่วนอีกข้อหนึ่งแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่าความผิดพลาดที่คนหนึ่งทำอาจส่งผลกระทบไปถึงลูกหลานของเขา.
ท้องเรื่องในยะเอศเคลบท 18 เน้นให้เห็นว่าแต่ละคนต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง. ข้อ 4 กล่าวว่า “จิตวิญญาณที่ได้ทำบาป, จิตวิญญาณนั้นจะตายเอง.” จะว่าอย่างไรสำหรับคนที่ “ชอบธรรม, และประพฤติความชอบและการสัตย์ซื่อ”? ‘เขาจะมีชีวิตเป็นแน่.’ (ยเอศ. 18:5, 9) ด้วยเหตุนั้น หลังจากที่โตพอจะรับผิดชอบการกระทำของตัวเองได้ แต่ละคนจะถูกพิพากษา ‘ตามทางประพฤติของตน.’—ยะเอศเคล 18:30, ฉบับ R73
หลักการข้อนี้เห็นได้ชัดในกรณีของชาวเลวีคนหนึ่งที่ชื่อโครา. ระหว่างที่พวกอิสราเอลรอนแรมในถิ่นทุรกันดาร โคราเริ่มไม่พอใจสิทธิพิเศษในการรับใช้ของตน. โดยพยายามให้ตัวเขาเองได้ทำหน้าที่ปุโรหิต โคราและคนอื่น ๆ กบฏขัดขืนต่อโมเซและอาโรนผู้เป็นตัวแทนของพระยะโฮวา. เพราะพวกเขาทำเกินสิทธิ์ด้วยการพยายามจะทำหน้าที่นี้ ซึ่งเป็นหน้าที่พิเศษที่พวกเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะทำ พระยะโฮวาจึงทรงประหารโคราและผู้ร่วมกบฏกับเขา. (อาฤ. 16:8-11, 31-33) อย่างไรก็ตาม บุตรชายของโคราไม่ได้ร่วมในการกบฏขัดขืนด้วย. พระเจ้าไม่ได้ทรงถือว่า พวกเขาต้องรับผิดชอบบาปของบิดา. ความภักดีของพวกเขาต่อพระยะโฮวาทำให้พวกเขาได้รับการไว้ชีวิต.—อาฤ. 26:10, 11
แต่จะว่าอย่างไรสำหรับคำเตือนที่เอ็กโซโด 20:5 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระบัญญัติสิบประการ? อีกครั้งหนึ่ง ต้องพิจารณาท้องเรื่อง. พระยะโฮวาทรงเริ่มใช้สัญญาแห่งพระบัญญัติกับชาติอิสราเอล. หลังจากได้ยินข้อตกลงในสัญญาไมตรี ชาวอิสราเอลก็ประกาศออกมาว่า “สิ่งสารพัตรที่พระยะโฮวาตรัสนั้นข้าพเจ้าทั้งหลายจะกระทำตาม.” (เอ็ก. 19:5-8) ทั้งชาติจึงได้เข้ามามีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับพระยะโฮวา. ดังนั้น ในอันดับแรกถ้อยคำที่เอ็กโซโด 20:5 จึงมุ่งไปที่คนชาตินี้ทั้งชาติ.
เมื่อชาวอิสราเอลรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา ชาตินี้ได้รับประโยชน์และพระพรมากมาย. (เลวี. 26:3-8) เป็นอย่างนั้นด้วยในทางตรงกันข้าม. เมื่อชาตินี้ปฏิเสธพระยะโฮวาและติดตามพระเท็จ พระองค์ไม่ทรงอวยพรและปกป้องพวกเขาอีกต่อไป ชาตินี้จึงประสบความหายนะ. (วินิจ. 2:11-18) ที่จริง มีบางคนที่ยังซื่อสัตย์มั่นคงและปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระเจ้าแม้ว่าชาตินี้บูชารูปเคารพ. (1 กษัต. 19:14, 18) คนที่ซื่อสัตย์คงประสบความยากลำบากบางอย่างเนื่องจากการกระทำที่ผิดบาปของชาตินี้ แต่พระยะโฮวาทรงแสดงความกรุณารักใคร่ต่อพวกเขา.
เมื่อชาติอิสราเอลละเมิดหลักการของพระยะโฮวาอย่างโจ่งแจ้งจนทำให้พระนามของพระยะโฮวาตกเป็นเป้าของการเยาะเย้ยท่ามกลางนานาชาติ พระยะโฮวาจึงตัดสินพระทัยลงโทษประชาชนของพระองค์โดยปล่อยให้พวกเขาถูกจับไปเป็นเชลยในบาบิโลน. แน่นอน นี่เป็นการลงโทษประชาชนของพระองค์เป็นรายบุคคลและทั้งกลุ่ม. (ยิระ. 52:3-11, 27) ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าความผิดของอิสราเอลทั้งชาตินั้นใหญ่หลวงมากจนลูกหลานของพวกเขาสามชั่วสี่ชั่วอายุคนหรืออาจจะมากกว่านั้นได้รับผลกระทบจากการประพฤติผิดที่ปู่ยาตายายของพวกเขาทำ ดังบอกไว้ในเอ็กโซโด 20:5.
นอกจากนั้น พระคำของพระเจ้ามีเรื่องราวของบางครอบครัวที่ได้รับผลจากการกระทำที่ไม่ถูกต้องของบิดามารดา. มหาปุโรหิตเอลีกระทำผิดต่อพระยะโฮวาเมื่อเขายอมให้บุตรซึ่งเป็น “คนชั่วช้า” และทำผิดศีลธรรมเป็นปุโรหิตต่อไป. (1 ซามู. 2:12-16, 22-25) เนื่องจากเอลีให้เกียรติบุตรชายมากกว่าพระยะโฮวา พระเจ้าจึงทรงประกาศตัดครอบครัวของท่านจากการสืบทอดตำแหน่งมหาปุโรหิต ซึ่งเริ่มตั้งแต่อะบีอาธารลูกของเหลนของท่าน. (1 ซามู. 2:29-36; 1 กษัต. 2:27) หลักการในเอ็กโซโด 20:5 ยังเห็นได้ด้วยในกรณีของเฆฮะซี. เขาใช้ตำแหน่งของตัวเองในฐานะคนรับใช้ของเอลีชา (อะลีซา) อย่างไม่ถูกต้องโดยแสวงหาผลประโยชน์ด้านวัตถุจากการรักษานามาน แม่ทัพชาวซีเรีย. พระยะโฮวาทรงประกาศการพิพากษาผ่านทางเอลีชาว่า “โรคเรื้อนของนามานคงจะติดกับเจ้า, และเผ่าพันธุ์ของเจ้าเป็นนิตย์.” (2 กษัต. 5:20-27) ลูกหลานของเฆฮะซีจึงได้รับผลจากการกระทำผิดของเขาด้วย.
ในฐานะพระผู้สร้างและผู้ประทานชีวิต พระยะโฮวาทรงมีสิทธิ์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่จะตัดสินว่าการลงโทษแบบใดที่ยุติธรรมและเหมาะสม. กรณีตัวอย่างข้างต้นแสดงว่าลูกหลานอาจได้รับผลอันเลวร้ายจากความผิดของบรรพบุรุษ. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวา “ทรงฟังเสียงร้องของผู้รับความทุกข์ใจ” และแต่ละคนที่หมายพึ่งพระองค์อาจได้รับความโปรดปรานจากพระองค์และแม้แต่ได้รับความบรรเทาในระดับหนึ่ง.—โยบ 34:28, ฉบับ R73
[ภาพหน้า 29]
โคราและผู้ร่วมกบฏต้องรับผิดชอบการกระทำของตน