คุณยอมให้พระยะโฮวาถามคุณไหม?
คุณยอมให้พระยะโฮวาถามคุณไหม?
คัมภีร์ไบเบิลมีคำถามมากมายหลายร้อยคำถามที่ช่วยคนเราให้ตรวจสอบแรงกระตุ้นในส่วนลึกที่สุดของตน. ที่จริง พระยะโฮวาพระเจ้าเองทรงใช้คำถามเพื่อสอนความจริงต่าง ๆ ที่สำคัญ. ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวาทรงใช้คำถามหลายคำถามเมื่อทรงเตือนคายินให้แก้ไขแนวทางที่จะนำเขาไปสู่ความหายนะ. (เย. 4:6, 7) ในโอกาสอื่น ๆ คำถามเพียงคำถามเดียวจากพระยะโฮวาก็เพียงพอแล้วที่จะกระตุ้นใครคนหนึ่งให้ลงมือกระทำ. เมื่อได้ยินพระยะโฮวาถามว่า “เราจะใช้ผู้ใดไป, และผู้ใดจะไปแทนเรา?” ผู้พยากรณ์ยะซายาห์ก็ตอบว่า “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่; ทรงใช้ข้าพเจ้าเถิด.”—ยซา. 6:8
พระเยซู ครูผู้ยิ่งใหญ่ ทรงใช้คำถามอย่างมีประสิทธิภาพด้วย. หนังสือกิตติคุณทั้งสี่เล่มบันทึกคำถามของพระเยซูไว้มากกว่า 280 คำถาม. แม้ว่าในบางโอกาสพระองค์ทรงใช้คำถามเพื่อทำให้คนที่วิพากษ์วิจารณ์พระองค์เงียบเสียง แต่ส่วนใหญ่แล้วคำถามของพระองค์มีจุดประสงค์ที่จะเข้าถึงหัวใจของผู้ฟัง กระตุ้นพวกเขาให้พิจารณาสภาพฝ่ายวิญญาณของตัวเอง. (มัด. 22:41-46; โย. 14:9, 10) คล้ายกัน อัครสาวกเปาโลซึ่งเขียนหนังสือ 14 เล่มในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกก็ใช้คำถามเพื่อจูงใจให้เชื่อ. (โรม 10:13-15) ตัวอย่างเช่น จดหมายของท่านที่เขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรมมีคำถามมากมายหลายคำถาม. คำถามของเปาโลกระตุ้นผู้อ่านให้เห็นค่า ‘ความมั่งคั่งและสติปัญญาและความรู้ของพระเจ้าว่าล้ำลึก.’—โรม 11:33
คำถามบางอย่างกระตุ้นให้ผู้ฟังตอบ ส่วนคำถามอีกอย่างหนึ่งมุ่งหมายจะกระตุ้นให้คิดอย่างลึกซึ้ง. หนังสือกิตติคุณบันทึกคำถามอย่างหลังนี้ซึ่งพระเยซูทรงใช้อย่างมากมายในหลาย ๆ โอกาส. ในโอกาสหนึ่ง พระเยซูทรงเตือนเหล่าสาวกว่า “ระวังเชื้อของพวกฟาริซายและเชื้อของเฮโรดให้ดี” ซึ่งหมายถึงให้ระวังความหน้าซื่อใจคดและคำสอนเท็จของพวกเขา. (มโก. 8:15; มัด. 16:12) เหล่าสาวกของพระเยซูไม่เข้าใจจุดนี้และเริ่มทะเลาะกันด้วยเรื่องที่พวกเขาลืมเอาขนมปังมาด้วย. ขอให้สังเกตการใช้คำถามของพระเยซูในการสนทนาสั้น ๆ ต่อจากนั้น. “พระองค์ . . . ตรัสกับพวกเขาว่า ‘ทำไมพวกเจ้าจึงพูดกันเรื่องที่เจ้าไม่มีขนมปัง? พวกเจ้ายังไม่รู้และยังไม่เข้าใจความหมายอีกหรือ? ใจพวกเจ้ายังไม่เปิดรับความรู้ความเข้าใจอีกหรือ? “พวกเจ้ามีตาแต่มองไม่เห็นหรือ มีหูแต่ไม่ได้ยินหรือ?” . . . พวกเจ้ายังไม่เข้าใจอีกหรือ?’ ” คำถามของพระเยซูมุ่งหมายให้ตอบในใจ กระตุ้นให้เหล่าสาวกใคร่ครวญความหมายที่แท้จริงของคำตรัสของพระองค์.—มโก. 8:16-21
“ให้เราถามเจ้า”
พระยะโฮวาพระเจ้าทรงใช้คำถามเพื่อปรับความคิดของโยบผู้รับใช้ของพระองค์. โดยใช้คำถามหลายคำถาม พระยะโฮวาทรงสอนโยบเกี่ยวกับความต่ำต้อยของตัวท่านเมื่อเทียบกับพระผู้สร้าง. (โยบบท 38-41) พระยะโฮวาทรงคาดหมายจะได้ยินคำตอบสำหรับแต่ละคำถามจากปากของโยบไหม? ดูเหมือนว่าไม่เป็นเช่นนั้น. เห็นได้ชัดว่าคำถามอย่างเช่น “เจ้านะอยู่ที่ไหนเมื่อเราได้วางรากแห่งพิภพโลก?” เป็นคำถามที่มุ่งหมายจะกระตุ้นความคิดและความรู้สึกของโยบ. หลังจากถูกพระยะโฮวาถามอย่างหนักแน่นเช่นนั้นได้ส่วนหนึ่งของคำถามทั้งหมด โยบก็แทบจะพูดไม่ออก. ท่านได้แต่พูดว่า “ข้าฯ จะไปโต้ตอบกับพระองค์อย่างไรได้? ข้าฯ จำต้องเอามือปิดปากไว้.” (โยบ 38:4; 40:4) โยบเข้าใจจุดสำคัญของเรื่องและแสดงความถ่อมใจ. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาไม่เพียงแต่สอนโยบให้เป็นคนถ่อม. พระองค์ทรงแก้ไขความคิดของโยบด้วย. ในทางใด?
ถึงแม้โยบเป็น “คนดีรอบคอบและชอบธรรม” แต่บางครั้งคำพูดของท่านแสดงให้เห็นทัศนะที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเอลีฮูเอ่ยถึงเมื่อท่านกล่าวติเตียนโยบที่ “อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายถูกยิ่งโยบ 1:8; 32:2; 33:8-12) ดังนั้น คำถามของพระยะโฮวาช่วยแก้ไขความเข้าใจของโยบให้ถูกต้องด้วย. พระเจ้าตรัสกับโยบออกมาจากพายุว่า “นี่เป็นใครที่ทำให้คำแนะนำคลุมเครือด้วยถ้อยคำที่ปราศจากความรู้? โปรดคาดเอวของเจ้าดั่งชายฉกรรจ์ และให้เราถามเจ้า แล้วเจ้าบอกเรา.” (โยบ 38:1-3, ล.ม.) จากนั้น โดยใช้คำถามต่าง ๆ พระยะโฮวาทรงดึงความสนใจไปยังพระสติปัญญาและเดชานุภาพอันไร้ขีดจำกัดของพระองค์ ซึ่งปรากฏในพระราชกิจอันยอดเยี่ยมของพระองค์. ความเข้าใจที่ชัดเจนเช่นนี้ช่วยโยบให้ไว้วางใจในการพิพากษาของพระยะโฮวาและวิธีที่พระองค์ทรงทำสิ่งต่าง ๆ อย่างที่ท่านไม่เคยรู้สึกมาก่อน. ช่างเป็นประสบการณ์ที่น่าครั่นคร้ามจริง ๆ สำหรับโยบที่ถูกพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งถามด้วยพระองค์เอง!
กว่าพระเจ้า.” (เราจะให้พระยะโฮวาถามเราได้อย่างไร?
จะว่าอย่างไรสำหรับเรา? เราสามารถได้รับประโยชน์จากคำถามต่าง ๆ ที่มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลด้วยไหม? แน่นอน! การให้คำถามเหล่านั้นกระตุ้นเราให้คิดสามารถทำให้เราได้รับบำเหน็จฝ่ายวิญญาณอย่างอุดม. คำถามที่กระตุ้นใจซึ่งอยู่ในพระคำของพระเจ้าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระคัมภีร์นั้นทรงพลัง. จริงทีเดียว “พระคำของพระเจ้า . . . ทรงพลัง . . . และสามารถหยั่งรู้ความคิดและความมุ่งหมายในใจ.” (ฮีบรู 4:12) แต่เพื่อจะได้รับประโยชน์เต็มที่ เราต้องนำคำถามเหล่านั้นมาใช้กับตัวเราเอง ราวกับว่าพระยะโฮวาทรงถามเราโดยตรง. (โรม 15:4) ให้เรามาพิจารณาบางตัวอย่างด้วยกัน.
“ผู้พิพากษาทั้งโลกจะไม่พิพากษาตามยุติธรรมหรือ?” (เย. 18:25) อับราฮามตั้งคำถามเชิงวาทศิลป์นี้กับพระยะโฮวาในคราวที่พระองค์ทรงพิพากษาเมืองโซโดมและโกโมร์ราห์. อับราฮามคิดว่าเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่พระยะโฮวาจะปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมด้วยการทำลายคนชอบธรรมพร้อมกับคนชั่ว. คำถามของอับราฮามสะท้อนให้เห็นความเชื่ออย่างลึกซึ้งที่ท่านมีต่อความชอบธรรมของพระยะโฮวา.
ปัจจุบัน บางคนอาจมีแนวโน้มที่จะคาดเดาในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการพิพากษาของพระยะโฮวาในอนาคต เช่น ใครบ้างที่จะรอดชีวิตผ่านอาร์มาเก็ดดอนหรือใครจะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย. แทนที่จะปล่อยให้ความคิดเช่นนั้นรบกวนใจเรา เราสามารถนึกถึงคำถามนี้ของอับราฮาม. การรู้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์ที่เมตตาและการมีความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมในความยุติธรรมและความเมตตาของพระองค์ เหมือนกับที่อับราฮามมี ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาและพลังงานไปกับความกังวลที่ไม่จำเป็น, ความสงสัยที่ทำให้อ่อนแอ, และการโต้เถียงที่ไร้ประโยชน์.
“มีใครในพวกเจ้าไหมที่วิตกกังวลแล้วยืดชีวิตได้อีกสักศอกหนึ่ง?” (มัด. 6:27) เมื่อตรัสกับฝูงชนและเหล่าสาวกของพระองค์ พระเยซูทรงใช้คำถามนี้เพื่อเน้นถึงความจำเป็น ที่พวกเขาต้องได้รับความช่วยเหลืออันเปี่ยมด้วยความรักจากพระยะโฮวา. ในสมัยสุดท้ายของยุคที่ชั่วช้านี้มีหลายเรื่องที่ทำให้เราวิตกกังวล แต่การครุ่นคิดเรื่องเหล่านั้นจะไม่ช่วยยืดชีวิตเราหรือทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น.
เมื่อไรก็ตามที่เรากังวลเกี่ยวกับตัวเราเองหรือคนที่เรารัก การนึกถึงคำถามนี้ของพระเยซูอาจช่วยเราได้ให้มีทัศนะที่ถูกต้องในเรื่องที่เรากังวล. การทำอย่างนี้อาจช่วยเราให้เลิกกังวลและเลิกคิดในแง่ลบที่ทำให้เราหมดแรงทั้งกายและใจ. ดังที่พระเยซูทรงรับรองกับเรา พระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ผู้ทรงเลี้ยงดูนกในท้องฟ้าและทรงตกแต่งพืชพรรณในทุ่งทรงทราบดีว่าเราจำเป็นต้องมีอะไร.—มัด. 6:26-34
“บุรุษใดเล่าเมื่อเอาไฟใส่ที่หน้าอกของตน, เสื้อผ้าของเขาจะไม่ไหม้หรือ?” (สุภา. 6:27) ในเก้าบทแรกของหนังสือสุภาษิตมีโอวาทสั้น ๆ หลายเรื่องที่บิดาคนหนึ่งถ่ายทอดสติปัญญาที่ใช้ได้จริงแก่บุตร. คำถามนี้กล่าวถึงผลอันขมขื่นของการเล่นชู้. (สุภา. 6:29) ถ้าเรารู้ตัวว่าเรากำลังมีพฤติกรรมเจ้าชู้หรือมีความปรารถนาผิด ๆ ในเรื่องเพศอยู่ในใจ คำถามนี้น่าจะเป็นเหมือนกับเสียงกระดิ่งเตือนภัยที่เตือนเราให้สำนึกถึงอันตราย. อันที่จริง เมื่อไรก็ตามที่ใครคนหนึ่งถูกล่อใจให้ทำสิ่งที่ไม่ฉลาดเขาควรนึกถึงคำถามนี้. คำถามนี้เน้นอย่างชัดเจนถึงหลักการที่ใช้ได้จริงในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “ใครหว่านอะไรก็จะเก็บเกี่ยวสิ่งนั้น”!—กลา. 6:7
“ท่านเป็นผู้ใดเล่าที่จะตัดสินบ่าวของผู้อื่น?” (โรม 14:4) ในจดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรม ท่านพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในประชาคมสมัยศตวรรษแรก. คริสเตียนบางคน ซึ่งมาจากภูมิหลังด้านวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มีแนวโน้มที่จะวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจและการกระทำของเพื่อนร่วมความเชื่อ. คำถามของเปาโลเตือนพวกเขาให้ต้อนรับกันและให้พระยะโฮวาเป็นผู้ตัดสิน.
ในทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกัน ประชาชนของพระยะโฮวามาจากทุกฐานะอาชีพและภูมิหลังทางสังคม. ถึงกระนั้น พระยะโฮวาทรงรวบรวมเราให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน. เรามีส่วนช่วยให้มีเอกภาพอย่างนั้นไหม? ถ้าเรามีแนวโน้มจะแสดงความไม่พอใจโดยเร็วต่อการกระทำตามสติรู้สึกผิดชอบของพี่น้อง คงดีที่จะถามตัวเองด้วยคำถามนี้ของเปาโล!
คำถามทำให้เราเข้าใกล้พระยะโฮวามากขึ้น
ตัวอย่างคำถามที่ยกขึ้นมาเพียงไม่กี่คำถามแสดงให้เห็นพลังของคำถามที่อยู่ในพระคำของพระเจ้า. การพิจารณาบริบทของแต่ละคำถามสามารถช่วยเราให้นำเรื่องนั้นมาประยุกต์ใช้กับสภาพการณ์ของตัวเราเอง. และเมื่อเราอ่านคัมภีร์ไบเบิล เราก็จะพบคำถามอื่น ๆ อีกที่เป็นประโยชน์.—ดูกรอบหน้า 14
การยอมให้คำถามที่กระตุ้นใจที่พบในพระคำของพระเจ้ามีผลต่อเราอย่างลึกซึ้งจะช่วยให้ความคิดและจิตใจของเราสอดคล้องกับแนวทางอันชอบธรรมของพระยะโฮวา. หลังจากที่พระยะโฮวาทรงถามโยบ ท่านก็กล่าวอย่างหนักแน่นว่า “แต่ก่อนข้าฯ ได้ยินถึงเรื่องพระองค์ด้วยหูฟังเรื่องราวมา, แต่บัดนี้ข้าฯ เห็นพระองค์ด้วยตาของข้าฯ แล้ว.” (โยบ 42:5) พระยะโฮวาเป็นจริงมากยิ่งขึ้นสำหรับโยบ ราวกับพระองค์ทรงอยู่ตรงหน้าท่าน. ในเวลาต่อมา สาวกยาโกโบกล่าวดังนี้: “จงเข้าไปใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้ามาใกล้พวกท่าน.” (ยโก. 4:8) ขอให้เราใช้ประโยชน์จากพระคำของพระเจ้าทุกส่วน รวมทั้งคำถาม เพื่อช่วยเราให้เติบโตฝ่ายวิญญาณและ “เห็น” พระยะโฮวาชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ!
[กรอบหน้า 14]
การถามตัวคุณเองด้วยคำถามต่อไปนี้จะช่วยคุณได้อย่างไรให้มีทัศนะแบบเดียวกับพระยะโฮวาในเรื่องต่าง ๆ?
▪ “พระยะโฮวาทรงพอพระทัยในเครื่องเผาบูชาเครื่องถวายเสมอเหมือนกับการเชื่อฟังพระดำรัสของพระองค์หรือ?”—1 ซามู. 15:22
▪ “พระองค์ผู้ทรงสร้างตา พระองค์จะไม่ทรงเห็นหรือ?”—เพลง. 94:9
▪ “เจ้าจะนอนอยู่นานสักเท่าใด, เจ้าขี้เกียจ? เมื่อไรเจ้าจะตื่นลุกขึ้นจากการหลับใหลของเจ้า?”—สุภา. 6:9
▪ “การที่เจ้าโกรธเช่นนี้ถูกหรือ?”—โยนา 4:4
▪ “จะเป็นประโยชน์อะไรแก่มนุษย์เล่าถ้าเขาได้โลกทั้งโลกแต่เสียชีวิต?”—มัด. 16:26
▪ “ใครเล่าจะพรากเราจากความรักของพระคริสต์ได้?”—โรม 8:35
▪ “มีอะไรบ้างที่ท่านมีโดยไม่ได้รับมา?”—1 โค. 4:7
▪ “ความสว่างจะรวมกับความมืดได้อย่างไร?”—2 โค. 6:14
[ภาพหน้า 15]
โยบเรียนรู้อะไรจากคำถามต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาทรงถามท่าน?