คริสเตียนยุคแรกกับเทพเจ้าทั้งหลายของชาวโรมัน
คริสเตียนยุคแรกกับเทพเจ้าทั้งหลายของชาวโรมัน
ในจดหมายถึงจักรพรรดิทราจันแห่งโรม พลินีผู้อ่อนวัยกว่าซึ่งเป็นผู้ว่าการแคว้นบิทีเนียกล่าวว่า “นี่คือแนวทางที่ข้าพเจ้าได้ใช้กับพวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคริสเตียน. ข้าพเจ้าถามพวกเขาว่าพวกเขาเป็นคริสเตียนจริงหรือไม่ และถ้าพวกเขายอมรับ ข้าพเจ้าก็จะถามเป็นครั้งที่สองและครั้งที่สามพร้อมกับขู่ว่าจะลงโทษพวกเขา. ถ้าพวกเขายังยืนยันอยู่อย่างนั้นอีก ข้าพเจ้าก็จะสั่งประหารชีวิตพวกเขา.” สำหรับคนที่ปฏิเสธหลักการคริสเตียนด้วยการแช่งด่าพระคริสต์และนมัสการรูปปั้นของจักรพรรดิและรูปปั้นของเทพเจ้าต่าง ๆ ที่พลินีได้นำมาไว้ในศาล เขาเขียนว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าสมควรจะปล่อยพวกเขาไป.”
คริสเตียนยุคแรกถูกข่มเหงเพราะพวกเขาปฏิเสธจะนมัสการจักรพรรดิและรูปปั้นของเทพเจ้าต่าง ๆ. ศาสนาอื่น ๆ ทั่วทั้งจักรวรรดิโรมันล่ะเป็นอย่างไร? พวกเขานมัสการเทพเจ้าองค์ใด และชาวโรมันมองพวกเขาอย่างไร? เหตุใดคริสเตียนจึงถูกข่มเหงเพราะปฏิเสธจะถวายเครื่องบูชาแก่เทพเจ้าทั้งหลายของชาวโรมัน? คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้จะช่วยเราให้รู้วิธีที่ควรทำเมื่อเผชิญกับประเด็นคล้าย ๆ กันในสมัยปัจจุบันที่เกี่ยวกับความภักดีต่อพระยะโฮวา.
ศาสนาต่าง ๆ ของจักรวรรดิ
เทพเจ้าต่าง ๆ ที่ผู้คนทั่วทั้งจักรวรรดิโรมันนมัสการมีอยู่มากมายหลากหลายพอ ๆ กับความหลากหลายของภาษาและวัฒนธรรม. แม้ว่าศาสนายิวอาจดูแปลกสำหรับชาวโรมัน แต่พวกเขาถือว่าเป็นเรลิกอิโอ ลิคิทา หรือศาสนาที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ และให้การคุ้มครองศาสนานี้. มีการถวายแกะสองตัวและวัวตัวหนึ่งให้ซีซาร์และชาติโรมันวันละสองครั้งในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเลม. การถวายนั้นจะทำให้เทพเจ้าองค์หนึ่งหรือหลายองค์พอใจหรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับชาวโรมัน. สิ่งสำคัญสำหรับพวกเขาก็คือการทำอย่างนั้นเป็นหลักฐานที่มากพอว่าชาวยิวภักดีต่อโรม.
ลัทธินอกศาสนาในรูปแบบต่าง ๆ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในศาสนาท้องถิ่น. เทพนิยายกรีกได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และการทำนายโชคชะตาเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำกันทั่วไป. ศาสนาที่เรียกกันว่าศาสนาลึกลับจากโลกตะวันออกให้คำมั่นกับผู้เลื่อมใสศรัทธาว่าจะมีอมตชีพ, ได้รับการเปิดเผยความจริงโดยตรง, และสามารถเข้าถึงเทพเจ้าทั้งหลายโดยการเข้าฌาน. ศาสนาเหล่านี้แพร่หลายไปทั่วจักรวรรดิ. ศาสนาที่ผู้คนนิยมนับถือในศตวรรษต้น ๆ แห่งสากลศักราชได้แก่ศาสนาที่นับถือเทพเจ้าเซราพิสและเทพธิดาไอซิสของอียิปต์, อาทาร์กาทิสซึ่งเป็นเทพธิดาแห่งปลาของซีเรีย, และมิทราซึ่งเป็นสุริยเทพของเปอร์เซีย.
กิจ. 13:6, 7) ในเมืองลิสตรา ผู้คนในท้องถิ่นเข้าใจผิดคิดว่าเปาโลและบาร์นาบัสเป็นเทพเจ้ากรีกเฮอร์เมสและซูส. (กิจ. 14:11-13) เมื่อเปาโลอยู่ที่เมืองฟิลิปปอย ท่านเผชิญหน้ากับสาวใช้คนหนึ่งที่ทำนายโชคชะตา. (กิจ. 16:16-18) ในเมืองเอเธนส์ ท่านอัครสาวกกล่าวว่าชาวเมืองนี้ “ดูจะเป็นผู้ที่ยำเกรงพระต่าง ๆ ยิ่งกว่าคนอื่น ๆ ในทุกด้าน.” ในกรุงนี้ท่านยังได้เห็นแท่นบูชาแท่นหนึ่งซึ่งมีคำจารึกว่า “แด่พระเจ้าที่ไม่รู้จัก.” (กิจ. 17:22, 23) ชาวเมืองเอเฟโซส์นมัสการเทพธิดาอาร์เตมิส. (กิจ. 19:1, 23, 24, 34) ที่เกาะมอลตา ประชาชนพูดกันว่าเปาโลเป็นเทพองค์หนึ่ง เพราะท่านไม่ได้รับอันตรายอะไรเลยเมื่อถูกงูกัด. (กิจ. 28:3-6) ในเหตุการณ์เช่นนั้น คริสเตียนต้องระวังไม่รับเอาอิทธิพลที่อาจทำให้การนมัสการบริสุทธิ์เป็นมลทิน.
หนังสือกิจการในคัมภีร์ไบเบิลพรรณนาถึงบรรยากาศของลัทธินอกศาสนาที่แวดล้อมศาสนาคริสเตียนในยุคแรกไว้อย่างชัดเจน. ตัวอย่างเช่น ข้าหลวงใหญ่แห่งไซปรัสจะมีพ่อมดชาวยิวคนหนึ่งติดตามเขาเสมอ. (ศาสนาของชาวโรมัน
ขณะที่จักรวรรดิแผ่ขยาย ชาวโรมันยอมรับเทพเจ้าองค์ใหม่ ๆ ที่พวกเขาพบโดยเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าองค์เดียวกับที่พวกเขารู้จักอยู่แล้วแต่อยู่ในอีกรูปลักษณ์หนึ่ง. แทนที่จะขจัดศาสนาของชาวต่างชาติให้หมดไป ผู้พิชิตชาวโรมันยอมรับและนำเอาศาสนาเหล่านั้นมาถือปฏิบัติ. ศาสนาของชาวโรมันจึงกลายเป็นศาสนาที่มีความหลากหลายเช่นเดียวกับประชากรของจักรวรรดิโรมันที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย. ศาสนาของชาวโรมันไม่เรียกร้องความเลื่อมใสศรัทธาโดยเฉพาะ. ประชาชนสามารถนมัสการเทพเจ้าหลายองค์ได้ในเวลาเดียวกัน.
เทพเจ้าที่ชาวโรมันนับถือสูงสุดได้แก่จูปีเตอร์ ซึ่งได้รับฉายานามว่าออปติมุส มักซิมุส ซึ่งหมายถึงเทพเจ้าที่ดีที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุด. เชื่อกันว่าจูปีเตอร์สำแดงอิทธิฤทธิ์ในลม, ฝน, ฟ้าแลบ, และฟ้าร้อง. ว่ากันว่าจูโน ซึ่งเป็นภคินี (พี่สาว) และมเหสีของจูปีเตอร์และมีความเกี่ยวข้องกับดวงจันทร์ เป็นผู้คอยดูแลชีวิตของบรรดาสตรีในทุกแง่มุม. มิเนอร์วา ธิดาของจูปีเตอร์เป็นเทพธิดาแห่งหัตถกรรม, งานอาชีพ, ศิลปะ, และสงคราม.
เทพเจ้าและเทพธิดาของชาวโรมันมีมากจนดูราวกับไม่รู้จักหมดสิ้น. ลาริสและพีเนทีสเป็นเทพเจ้าแห่งครอบครัว. เวสตาเป็นเทพธิดาแห่งเตาผิง. เทพเจ้ายานุสซึ่งมีสองหน้าเป็นเทพเจ้าแห่งการเริ่มต้นของทุกสิ่ง. มีเทพเจ้าที่พิทักษ์งานอาชีพแต่ละอย่าง. ชาวโรมันบูชาสิ่งที่เป็นนามธรรมจนถึงกับยกให้สิ่งเหล่านั้นเป็นเทพเจ้าหรือเทพธิดา. เทพธิดาพักซ์เป็นผู้พิทักษ์สันติภาพ, เทพธิดาซาลุสพิทักษ์สุขภาพ, เทพธิดาพูดีคิเทียพิทักษ์ความสงบเสงี่ยมและพรหมจรรย์,
เทพธิดาฟิดีสพิทักษ์ความจงรักภักดี, เทพเจ้าเวอร์ทุสพิทักษ์ความกล้าหาญ, และเทพธิดาวอลุปทัสพิทักษ์ความยินดี. การกระทำทุกอย่างของชาวโรมันทั้งในชีวิตส่วนตัวและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับส่วนรวมถือว่าเป็นไปตามที่เทพทั้งหลายกำหนดไว้. ดังนั้น เพื่อจะมั่นใจได้ว่าความพยายามทั้งหลายจะเกิดผลที่ดี ต้องระงับพิโรธของเทพที่เกี่ยวข้องโดยทำพิธีสวดอ้อนวอน, ถวายเครื่องบูชายัญ, และจัดเทศกาลเฉลิมฉลอง.วิธีหนึ่งที่ใช้เพื่อจะรู้ว่าเทพทั้งหลายประสงค์อย่างไรก็คือการดูลางบอกเหตุ. ส่วนใหญ่แล้วทำโดยการตรวจดูเครื่องในสัตว์ที่ใช้บูชายัญ. เชื่อกันว่าสภาพและลักษณะของอวัยวะเหล่านี้บ่งชี้ว่าเทพทั้งหลายพอพระทัยสิ่งที่จะทำกันหรือไม่.
เมื่อถึงปลายศตวรรษที่สองก่อนสากลศักราช ชาวโรมันก็ถือว่าเทพเจ้าสำคัญ ๆ ของตนเป็นองค์เดียวกันกับเทพเจ้าของชาวกรีก โดยเชื่อว่าเทพเจ้าจูปีเตอร์คือซูส และเทพธิดาจูโนก็คือเฮรา เป็นต้น. นอกจากนั้น ชาวโรมันยังรับเอาเทพนิยายปรัมปราพร้อม ๆ กับเทพทั้งหลายของชาวกรีก. เทพนิยายเหล่านี้ไม่ได้ยกยอปอปั้นเทพทั้งหลายผู้มีข้อบกพร่องและข้อจำกัดแบบเดียวกับมนุษย์. ตัวอย่างเช่น มีการพรรณนาภาพของเทพเจ้าซูสว่าเป็นผู้ข่มขืนและทำร้ายเด็กทางเพศ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเพศกับทั้งมนุษย์และเหล่าเทพที่เชื่อกันว่าเป็นอมตะ. พฤติกรรมโลดโผนที่ไร้ยางอายของเทพทั้งหลาย ซึ่งมักมีการปรบมือให้อย่างเกรียวกราวเมื่อแสดงในโรงมหรสพโบราณ ทำให้คนที่เลื่อมใสเทพเหล่านั้นคิดว่าเขาก็มีสิทธิ์ที่จะหมกมุ่นในตัณหาอันต่ำช้าที่สุดเช่นกัน.
คงมีคนที่มีการศึกษาไม่กี่คนที่ยอมรับตำนานเหล่านี้ในความหมายตรงตัว. บางคนตีความตำนานเหล่านี้ว่าเป็นนิทานเปรียบเทียบ. นั่นอาจเป็นที่มาของคำถามซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของปอนติอุส ปีลาตที่ว่า “ความจริงคืออะไร?” (โย. 18:38) คำถามนี้ถูกใช้เพื่อใช้แสดง “ความรู้สึกซึ่งมีอยู่โดยทั่วไปในหมู่คนมีการศึกษา ที่ว่าการพยายามหาความจริงในเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไร้ประโยชน์.”
การนมัสการจักรพรรดิ
การครองราชย์ของเอากุสตุส (27 ก่อน ส.ศ. ถึง ส.ศ. 14) เป็นจุดเริ่มต้นของการนมัสการจักรพรรดิ. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแคว้นต่าง ๆ ทางตะวันออกที่พูดภาษากรีก หลายคนรู้สึกสำนึกอย่างแท้จริงในพระกรุณาธิคุณของเอากุสตุสผู้ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพหลังจากที่มีการทำสงครามกันมายาวนาน. ประชาชนต้องการการปกป้องอย่างถาวรจากผู้มีอำนาจที่เห็นได้ด้วยตา. พวกเขาปรารถนาให้มีสถาบันที่สามารถเอาชนะข้อแตกต่างด้านศาสนา, ส่งเสริมลัทธิชาตินิยม, และหลอมรวมโลกให้เป็นหนึ่งเดียวโดยอยู่ภายใต้การปกครองของ “ผู้ช่วยให้รอด” ของโลก. ผลก็คือ จักรพรรดิถูกมองว่าเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง.
แม้ว่าเอากุสตุสไม่อนุญาตให้คนอื่นเรียกพระองค์เป็นเทพเจ้าตอนที่ยังทรงพระชนม์อยู่ แต่พระองค์ยืนยันให้ผู้คนนมัสการกรุงโรมซึ่งถือว่าเป็นเทพธิดาองค์หนึ่งที่ชื่อโรมา ดีอา. หลังจากสิ้นพระชนม์ เอากุสตุสได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง. ด้วยเหตุนั้น ความรู้สึกนึกคิดทางศาสนาท้องถิ่นและความรักชาติในแคว้นต่าง ๆ จึงมุ่งไปยังศูนย์กลางของจักรวรรดิและผู้ปกครองจักรวรรดิ. ในไม่ช้า การนมัสการจักรพรรดิซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติทางศาสนาในรูปแบบใหม่นี้ก็แพร่ไปทั่วทุกแคว้น และกลายเป็นวิธีหนึ่งในการแสดงความจงรักภักดีต่อจักรวรรดิ.
โดมิเชียนซึ่งเป็นจักรพรรดิตั้งแต่ ส.ศ. 81 ถึง 96 เป็นผู้ปกครองจักรวรรดิโรมันคนแรกที่บัญชาให้ประชาชนนมัสการพระองค์เป็นเทพเจ้า. ถึงตอนนี้ ชาวโรมันได้แยกคริสเตียนเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต่างจากคนที่ถือศาสนายิว และต่อต้านสิ่งที่พวกเขาถือว่าเป็นลัทธิใหม่. น่าจะเป็นในช่วงที่จักรพรรดิโดมิเชียนครองราชย์นี้เองที่อัครสาวกโยฮันถูกเนรเทศไปที่เกาะปัตโมสเพราะ “การเป็นพยานฝ่ายพระเยซู.”—วิ. 1:9
หนังสือวิวรณ์เขียนขึ้นในช่วงที่โยฮันถูกเนรเทศ. ในหนังสือนี้ ท่านกล่าวถึงอันทีพัส คริสเตียนคนหนึ่งซึ่งถูกฆ่าที่เมืองเปอร์กาโมส์ ศูนย์กลางสำคัญในการนมัสการจักรพรรดิ. (วิ. 2:12, 13) เมื่อถึงตอนนี้ การปกครองแบบจักรวรรดิอาจเริ่มออกคำสั่งให้คริสเตียนปฏิบัติพิธีกรรม ของศาสนาประจำจักรวรรดิ. ไม่ว่าเหตุการณ์จริงเป็นอย่างนั้นหรือไม่ แต่ตามที่บอกไว้ในจดหมายที่เขียนไปถึงทราจันซึ่งได้กล่าวถึงในตอนต้นบทความนี้ เมื่อถึง ส.ศ. 112 พลินีได้ออกคำสั่งให้คริสเตียนในแคว้นบิทีเนียให้ปฏิบัติพิธีกรรมดังกล่าว.
จักรพรรดิทราจันชมเชยพลินีในวิธีที่ท่านตัดสินคดีต่าง ๆ และบัญชาว่าคริสเตียนที่ปฏิเสธไม่ยอมนมัสการเทพเจ้าของชาวโรมันต้องถูกประหารชีวิต. จักรพรรดิทราจันเขียนว่า “อย่างไรก็ตาม เมื่อใครคนหนึ่งปฏิเสธการเป็นคริสเตียนและพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้เป็นคริสเตียนอีกต่อไปโดยวิงวอนต่อเทพเจ้าของเรา (แม้ว่าก่อนหน้านั้นมีข้อสงสัยใด ๆ ก็ตาม) จงอภัยโทษให้เขาเมื่อเขากลับใจ.”
วิธีคิดแบบชาวโรมันทำให้พวกเขาไม่อาจเข้าใจศาสนาที่เรียกร้องให้ศาสนิกชนแสดงความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียว. เทพเจ้าของชาวโรมันไม่เรียกร้องแบบนั้น พวกเขาจึงสงสัยว่าทำไมพระเจ้าของคริสเตียนจึงเรียกร้องให้ทำอย่างนั้น. ชาวโรมันถือว่าการนมัสการเทพเจ้าของจักรวรรดิเป็นเพียงการบ่งชี้ถึงการยอมรับระบบทางการเมือง. ด้วยเหตุนั้น การปฏิเสธที่จะนมัสการเทพเจ้าจึงถูกมองว่าเป็นการทรยศต่อจักรวรรดิ. ในภายหลังพลินีจึงรู้ว่าไม่มีทางเลยที่จะบังคับคริสเตียนส่วนใหญ่ให้ทำตาม. สำหรับพวกเขา การทำอย่างนั้นเป็นการไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา และคริสเตียนยุคแรกจำนวนมากยอมตายแทนที่จะบูชานมัสการจักรพรรดิ.
เหตุใดเรื่องนี้จึงน่าสนใจสำหรับพวกเราในทุกวันนี้? ในบางดินแดน มีการคาดหมายให้พลเมืองแสดงความเคารพต่อสัญลักษณ์ประจำชาติ. ในฐานะคริสเตียน เราแสดงความนับถือต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างแน่นอน. (โรม 13:1) อย่างไรก็ตาม ในเรื่องพิธีการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธงชาติ เราได้รับการกระตุ้นจากพระบัญชาของพระยะโฮวาพระเจ้าที่เรียกร้องให้เราแสดงความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระองค์ผู้เดียวและจากคำแนะนำในพระคำของพระองค์ที่ให้ “หลีกหนีจากการไหว้รูปเคารพ” และ “รักษาตัวให้พ้นจากรูปเคารพ.” (1 โค. 10:14; 1 โย. 5:21; นาฮูม 1:2) พระเยซูตรัสว่า “จงนมัสการพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า และจงทำงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ถวายพระองค์ผู้เดียว.” (ลูกา 4:8) ดังนั้น ให้เรารักษาความภักดีต่อพระเจ้าที่เรานมัสการต่อ ๆ ไป.
[คำโปรยหน้า 5]
คริสเตียนแท้เลื่อมใสศรัทธาพระยะโฮวาแต่เพียงผู้เดียว
[ภาพหน้า 3]
คริสเตียนยุคแรกปฏิเสธการนมัสการจักรพรรดิหรือรูปปั้นของเทพเจ้าทั้งหลาย
จักรพรรดิโดมิเชียน
เทพเจ้าซูส
[ที่มาของภาพ]
Emperor Domitian: Todd Bolen/Bible Places.com; Zeus: Photograph by Todd Bolen/Bible Places.com taken at Archaeological Museum of Istanbul
[ภาพหน้า 4]
คริสเตียนในเอเฟโซส์ปฏิเสธการนมัสการเทพธิดาอาร์เตมิสซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบ—กิจ. 19:23-41