ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คำพูดที่กรุณาส่งเสริมสายสัมพันธ์ที่ดี

คำพูดที่กรุณาส่งเสริมสายสัมพันธ์ที่ดี

คำ​พูด​ที่​กรุณา​ส่ง​เสริม​สาย​สัมพันธ์​ที่​ดี

“ให้​คำ​พูด​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​คำ​พูด​ที่​แสดง​ความ​กรุณา​เสมอ.”—โกโล. 4:6

1, 2. คำ​พูด​ที่​แสดง​ความ​กรุณา​ของ​พี่​น้อง​ชาย​คน​หนึ่ง​ก่อ​ให้​เกิด​ผล​ดี​อะไร?

พี่​น้อง​ชาย​คน​หนึ่ง​เล่า​ว่า “ขณะ​ที่​ผม​กำลัง​ประกาศ​ตาม​บ้าน ผม​พบ​กับ​ชาย​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​โกรธ​มาก​จน​ปาก​สั่น​ตัว​สั่น. ผม​พยายาม​ชี้​ให้​เขา​เห็น​เหตุ​ผล​จาก​พระ​คัมภีร์​ด้วย​ท่าที​ที่​สงบ แต่​เขา​ยิ่ง​โกรธ​มาก​ขึ้น​ไป​อีก. ภรรยา​ของ​เขา​กับ​ลูก ๆ ก็​ร่วม​ด่า​ว่า​ผม​ด้วย ผม​จึง​รู้​ว่า​ถึง​เวลา​แล้ว​ที่​ควร​จะ​จาก​ไป. ผม​รับรอง​กับ​ครอบครัว​นี้​ว่า​ผม​มา​อย่าง​สันติ​และ​อยาก​จะ​จาก​ไป​อย่าง​สันติ. ผม​ให้​พวก​เขา​ดู​กาลาเทีย 5:22, 23 ซึ่ง​ที่​นั่น​กล่าว​ถึง​ความ​รัก, ความ​อ่อนโยน, การ​ควบคุม​ตน​เอง, และ​สันติ​สุข. แล้ว​ผม​ก็​จาก​มา.

2 “ต่อ​มา ขณะ​ที่​ผม​กำลัง​ประกาศ​ตาม​บ้าน​ที่​อีก​ฟาก​หนึ่ง​ของ​ถนน ผม​เห็น​ครอบครัว​นั้น​นั่ง​อยู่​ที่​บันได​หน้า​บ้าน. พวก​เขา​เรียก​ให้​ผม​ไป​หา. ‘อะไร​อีก​ล่ะ​คราว​นี้?’ ผม​คิด. ชาย​คน​นั้น​ถือ​เหยือก​น้ำ​เย็น​และ​เชิญ​ให้​ผม​ดื่ม​น้ำ. เขา​ขอ​โทษ​ที่​หยาบคาย​กับ​ผม​และ​ชมเชย​ที่​ผม​มี​ความ​เชื่อ​แรง​กล้า. แล้ว​เรา​ก็​ลา​จาก​กัน​ด้วย​ดี.”

3. เหตุ​ใด​เรา​ต้อง​ควบคุม​ตัว​เอง​ไม่​ให้​โกรธ?

3 ใน​โลก​ปัจจุบัน​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​ความ​กดดัน มัก​เป็น​เรื่อง​ที่​หลีก​เลี่ยง​ไม่​ได้​ที่​เรา​จะ​เผชิญ​หน้า​กับ​ผู้​คน​ที่​อารมณ์​ฉุนเฉียว รวม​ทั้ง​ใน​ขณะ​ที่​เรา​ทำ​งาน​รับใช้​ด้วย. เมื่อ​เรา​พบ​คน​อย่าง​นั้น นับ​ว่า​สำคัญ​ที่​เรา​จะ​แสดง ‘อารมณ์​อ่อนโยน​และ​ความ​นับถือ​อย่าง​ยิ่ง.’ (1 เป. 3:15) ถ้า​พี่​น้อง​ชาย​คน​นั้น​ปล่อย​ให้​ความ​โกรธ​และ​ความ​ไม่​กรุณา​ของ​เจ้าของ​บ้าน​ทำ​ให้​เขา​โกรธ ท่าที​ของ​เจ้าของ​บ้าน​คง​จะ​ไม่​อ่อน​ลง​อย่าง​นั้น; เขา​อาจ​โกรธ​มาก​ขึ้น​ไป​อีก. เนื่อง​จาก​พี่​น้อง​ของ​เรา​ควบคุม​ตัว​เอง​และ​พูด​อย่าง​กรุณา จึง​เกิด​ผล​ที่​ดี.

สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​เรา​พูด​อย่าง​กรุณา

4. เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​ที่​จะ​ใช้​คำ​พูด​ที่​แสดง​ความ​กรุณา?

4 ไม่​ว่า​เรา​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คน​ภาย​นอก​หรือ​ภาย​ใน​ประชาคม แม้​แต่​กับ​คน​ใน​ครอบครัว​ของ​เรา​เอง เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​จะ​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​อัครสาวก​เปาโล​ที่​ว่า “ให้​คำ​พูด​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​คำ​พูด​ที่​แสดง​ความ​กรุณา​เสมอ​เหมือน​อาหาร​ที่​ปรุง​ด้วย​เกลือ.” (โกโล. 4:6) คำ​พูด​ที่​น่า​ฟัง​และ​เหมาะ​สม​มี​ความ​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​ต่อ​การ​สื่อ​ความ​ที่​ดี​และ​สันติ​สุข.

5. การ​สื่อ​ความ​ที่​ดี​ไม่​ได้​หมาย​ถึง​การ​ทำ​เช่น​ไร? จง​ยก​ตัว​อย่าง.

5 การ​สื่อ​ความ​ที่​ดี​ไม่​ได้​หมาย​ถึง​การ​พูด​ทุก​สิ่ง​ที่​คุณ​คิด​และ​รู้สึก​ทุก​เมื่อ​ที่​มี​โอกาส โดย​เฉพาะ​เมื่อ​คุณ​รู้สึก​ขุ่นเคือง. พระ​คัมภีร์​ชี้​ว่า​การ​แสดง​ความ​โกรธ​อย่าง​ไม่​ควบคุม​แสดง​ถึง​ความ​อ่อนแอ ไม่​ใช่​ความ​เข้มแข็ง. (อ่าน​สุภาษิต 25:28; 29:11) ครั้ง​หนึ่ง โมเซ​ซึ่ง “เป็น​คน​ถ่อม​จิตใจ​อ่อน​ยิ่ง​มาก​กว่า” คน​ที่​มี​ชีวิต​ใน​สมัย​นั้น​ปล่อย​ให้​การ​ขืน​อำนาจ​ของ​ชาว​อิสราเอล​ทำ​ให้​ท่าน​อารมณ์​เสีย และ​ด้วย​เหตุ​นั้น​จึง​ไม่​ได้​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​พระเจ้า. โมเซ​พูด​ออก​มา​อย่าง​ชัดเจน​ที​เดียว​ว่า​ท่าน​รู้สึก​อย่าง​ไร แต่​พระ​ยะโฮวา​ไม่​พอ​พระทัย. หลัง​จาก​ที่​นำ​ชาว​อิสราเอล​ถึง 40 ปี โมเซ​ไม่​ได้​รับ​สิทธิ​พิเศษ​ที่​จะ​พา​พวก​เขา​เข้า​ไป​ใน​แผ่นดิน​ที่​ทรง​สัญญา.—อาฤ. 12:3; 20:10, 12; เพลง. 106:32

6. การ​พูด​อย่าง​สุขุม​รอบคอบ​หมาย​ถึง​อะไร?

6 พระ​คัมภีร์​ชมเชย​การ​หัก​ห้าม​ใจ​และ​ความ​สุขุม​รอบคอบ​หรือ​การ​ใช้​ดุลพินิจ​เมื่อ​เรา​พูด. “การ​พูด​มาก​มัก​มี​ความ​ผิด; แต่​ผู้​ที่​ยับยั้ง​ริมฝีปาก​ของ​ตน​ย่อม​ประพฤติ​เป็น​คน​มี​ปัญญา.” (สุภา. 10:19; 17:27) ถึง​กระนั้น การ​พูด​อย่าง​สุขุม​รอบคอบ​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​จะ​แสดง​ความ​คิด​เห็น​ไม่​ได้ แต่​หมาย​ถึง​การ​พูด​อย่าง “ที่​แสดง​ความ​กรุณา” ไม่​ใช้​คำ​พูด​ที่​ทำ​ให้​เจ็บใจ แต่​ใช้​คำ​พูด​ที่​เยียว​ยา​รักษา.—อ่าน​สุภาษิต 12:18; 18:21

มี “เวลา​นิ่ง​เงียบ​และ​เวลา​พูด”

7. เรา​ไม่​ควร​แสดง​สิ่ง​ใด​ออก​มา และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

7 เช่น​เดียว​กับ​ที่​เรา​จำเป็น​ต้อง​แสดง​ความ​กรุณา​และ​การ​หัก​ห้าม​ใจ​เมื่อ​พูด​กับ​เพื่อน​ร่วม​งาน​หรือ​คน​แปลก​หน้า​ใน​การ​ประกาศ เรา​จำเป็น​ต้อง​ทำ​อย่าง​นั้น​ด้วย​เมื่อ​อยู่​ใน​ประชาคม​และ​ที่​บ้าน. การ​ระบาย​ความ​โกรธ​โดย​ไม่​คำนึง​ถึง​ผล​กระทบ​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​สามารถ​สร้าง​ความ​เสียหาย​ร้ายแรง​ต่อ​สุขภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ, สุขภาพ​จิต, และ​สุขภาพ​กาย​ของ​ตัว​เรา​เอง​และ​คน​อื่น ๆ. (สุภา. 18:6, 7) ความ​รู้สึก​ที่​ไม่​ดี—ซึ่ง​แสดง​ถึง​ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​เรา—ต้อง​ถูก​ควบคุม​ไว้. คำ​พูด​หยาบ​หยาม, เย้ย​หยัน, ดูถูก, และ​การ​เดือดดาล​อัน​น่า​รังเกียจ​เป็น​สิ่ง​ที่​ไม่​ถูก​ต้อง. (โกโล. 3:8; ยโก. 1:20) สิ่ง​เหล่า​นี้​อาจ​ทำลาย​สาย​สัมพันธ์​อัน​มี​ค่า​ยิ่ง​ที่​เรา​มี​กับ​คน​อื่น ๆ และ​กับ​พระ​ยะโฮวา. พระ​เยซู​ทรง​สอน​ว่า “ทุก​คน​ที่​โกรธ​พี่​น้อง​อยู่​ไม่​หาย​จะ​ต้อง​ให้​การ​ต่อ​ศาล ผู้​ใด​เรียก​พี่​น้อง​ด้วย​คำ​ดูหมิ่น​ที่​ไม่​ควร​พูด​จะ​ต้อง​ให้​การ​ต่อ​ศาล​สูง และ​ถ้า​ผู้​ใด​พูด​ว่า ‘เจ้า​มัน​โง่​เง่า​สิ้น​ดี!’ จะ​ต้อง​รับ​โทษ​ที่​เกเฮนนา​ซึ่ง​มี​ไฟ​ร้อน​แรง.”—มัด. 5:22

8. เรา​ต้อง​แสดง​ความ​รู้สึก​เมื่อ​ไร แต่​ด้วย​ท่าที​อย่าง​ไร?

8 อย่าง​ไร​ก็​ตาม มี​บาง​เรื่อง​ที่​เรา​อาจ​ลง​ความ​เห็น​ได้​ว่า​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​พูด​คุย​กัน. ถ้า​พี่​น้อง​พูด​หรือ​ทำ​บาง​สิ่ง​ที่​รบกวน​ใจ​คุณ​มาก​จน​ไม่​อาจ​เพียง​แต่​ปล่อย​ให้​เรื่อง​นั้น​ผ่าน​ไป อย่า​ปล่อย​ให้​ความ​รู้สึก​ที่​ไม่​ดี​เช่น​นั้น​เพิ่ม​ทวี​ขึ้น​ใน​ใจ. (สุภา. 19:11) ถ้า​มี​ใคร​ทำ​ให้​คุณ​โกรธ จง​ควบคุม​อารมณ์​แล้ว​ก็​ลง​มือ​ทำ​สิ่ง​ที่​จำเป็น​เพื่อ​แก้ไข​เรื่อง​นั้น. เปาโล​เขียน​ว่า “อย่า​โกรธ​จน​ถึง​ดวง​อาทิตย์​ตก.” เนื่อง​จาก​ปัญหา​นั้น​จะ​ยัง​คง​รบกวน​ใจ​คุณ​อยู่ จง​จัด​การ​กับ​ปัญหา​นั้น​อย่าง​กรุณา​ใน​เวลา​ที่​เหมาะ​สม. (อ่าน​เอเฟโซส์ 4:26, 27, 31, 32) จง​พูด​กับ​พี่​น้อง​ใน​เรื่อง​นั้น​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​แต่​ก็​ด้วย​ความ​กรุณา​โดย​มี​เป้าหมาย​ที่​จะ​คืน​ดี​กัน.—เลวี. 19:17; มัด. 18:15

9. เหตุ​ใด​เรา​ควร​ควบคุม​อารมณ์​ของ​เรา​ให้​ได้​ก่อน​จะ​เข้า​ไป​พูด​คุย​กับ​คน​ที่​ทำ​ให้​เรา​โกรธ?

9 แน่นอน คุณ​ควร​หา​โอกาส​เหมาะ ๆ ที่​จะ​พูด​คุย​กัน. มี “เวลา​นิ่ง​เงียบ​และ​เวลา​พูด.” (ผู้ป. 3:1, 7, ล.ม.) นอก​จาก​นั้น “ใจ​ของ​คน​ชอบธรรม​ตรึกตรอง​ก่อน​แล้ว​จึง​ตอบ.” (สุภา. 15:28) นี่​อาจ​หมาย​ความ​ว่า​ต้อง​คอย​ให้​ถึง​เวลา​ที่​เหมาะ​จะ​พูด​คุย​กัน​เพื่อ​แก้ไข​ปัญหา. ถ้า​พูด​คุย​กัน​ขณะ​ที่​ยัง​มี​อารมณ์​โกรธ​อยู่​มาก​ก็​อาจ​ทำ​ให้​เรื่อง​เลว​ร้าย​ลง​ไป​อีก; แต่​ก็​ไม่​ฉลาด​ที่​จะ​คอย​เป็น​เวลา​นาน​ด้วย​เช่น​กัน.

การ​กระทำ​ที่​กรุณา​ส่ง​เสริม​สาย​สัมพันธ์​ที่​ดี

10. การ​กระทำ​ที่​กรุณา​อาจ​ช่วย​ให้​มี​สาย​สัมพันธ์​ที่​ดี​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร?

10 คำ​พูด​ที่​แสดง​ความ​กรุณา​และ​การ​สื่อ​ความ​ที่​ดี​ช่วย​สร้าง​และ​รักษา​สาย​สัมพันธ์​อัน​สงบ​สุข. ที่​จริง การ​ทำ​สิ่ง​ที่​เรา​สามารถ​ทำ​ได้​เพื่อ​ปรับ​ปรุง​ความ​สัมพันธ์​ของ​เรา​กับ​คน​อื่น ๆ อาจ​ช่วย​ให้​เรา​สื่อ​ความ​กับ​พวก​เขา​ได้​ดี​ขึ้น. การ​ริเริ่ม​ทำ​ดี​ต่อ​คน​อื่น ๆ อย่าง​จริง​ใจ เช่น การ​หา​โอกาส​ที่​จะ​ช่วย, การ​ให้​ของ​ขวัญ​จาก​ใจ, การ​แสดง​น้ำใจ​รับรอง​แขก สามารถ​ส่ง​เสริม​ให้​มี​การ​พูด​คุย​กัน​อย่าง​เปิด​ใจ. การ​ทำ​อย่าง​นั้น​อาจ “เป็น​เหมือน​การ​กอง​ถ่าน​เพลิง​ไว้” บน​ใคร​คน​หนึ่ง​และ​อาจ​ชัก​นำ​ให้​คุณลักษณะ​ที่​ดี​ปรากฏ​ออก​มา ซึ่ง​ทำ​ให้​พูด​คุย​กัน​และ​แก้​ปัญหา​ได้​ง่าย​ขึ้น.—โรม 12:20, 21

11. ยาโคบ​พยายาม​ทำ​อะไร​เพื่อ​จะ​คืน​ดี​กับ​เอซาว และ​ผล​เป็น​อย่าง​ไร?

11 ยาโคบ​ปฐม​บรรพบุรุษ​เข้าใจ​เรื่อง​นี้​ดี. เอซาว​พี่​ชาย​ฝาแฝด​ของ​ท่าน​โกรธ​ท่าน​มาก​จน​ท่าน​ต้อง​หนี​ไป​เพราะ​กลัว​จะ​ถูก​เอซาว​ฆ่า. หลัง​จาก​ผ่าน​ไป​หลาย​ปี ยาโคบ​ก็​กลับ​มา. เอซาว​ออก​มา​พบ​ท่าน​พร้อม​กับ​คน​ของ​เขา 400 คน. ยาโคบ​อธิษฐาน​ขอ​ให้​พระ​ยะโฮวา​ช่วย. จาก​นั้น ท่าน​ส่ง​ปศุสัตว์​จำนวน​มาก​ไป​ล่วง​หน้า​เพื่อ​เป็น​ของ​กำนัล​แก่​เอซาว. ของ​กำนัล​นั้น​ใช้​ได้​ผล. เมื่อ​ทั้ง​สอง​พบ​กัน ท่าที​ของ​เอซาว​ก็​อ่อน​ลง​และ​วิ่ง​ไป​กอด​ยาโคบ.—เย. 27:41-44; 32:6, 11, 13-15; 33:4, 10

จง​ชู​ใจ​คน​อื่น ๆ ด้วย​คำ​พูด​ที่​กรุณา

12. เหตุ​ใด​เรา​ควร​ใช้​คำ​พูด​ที่​แสดง​ความ​กรุณา​กับ​พี่​น้อง​ของ​เรา?

12 คริสเตียน​รับใช้​พระเจ้า ไม่​ใช่​รับใช้​มนุษย์. ถึง​กระนั้น มนุษย์​เรา​มี​ความ​ปรารถนา​ตาม​ธรรมชาติ​ที่​จะ​ได้​รับ​ความ​ชื่น​ชอบ​จาก​คน​อื่น ๆ. คำ​พูด​ของ​เรา​ที่​แสดง​ความ​กรุณา​อาจ​ทำ​ให้​ภาระ​หนัก​ที่​พี่​น้อง​ของ​เรา​ต้อง​แบก​รับ​อยู่​เบา​ลง​ได้. แต่​การ​วิพากษ์วิจารณ์​ที่​รุนแรง​อาจ​ทำ​ให้​รู้สึก​ว่า​ภาระ​เหล่า​นั้น​หนัก​ยิ่ง​ขึ้น​ไป​อีก และ​แม้​แต่​ทำ​ให้​บาง​คน​สงสัย​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ไม่​พอ​พระทัย​พวก​เขา​เสีย​แล้ว. ดัง​นั้น ให้​เรา​สื่อ​ความ​กัน​อย่าง​จริง​ใจ​โดย​ใช้​คำ​พูด​ที่​ให้​กำลังใจ​คน​อื่น ๆ หรือ​คำ​พูด​แบบ​ใด​ก็​ตาม​ที่ “เป็น​คำ​ดี ๆ ที่​ทำ​ให้​เจริญ​ขึ้น​ตาม​ความ​จำเป็น​ใน​เวลา​นั้น เพื่อ​ให้​เกิด​ประโยชน์​แก่​คน​ที่​ได้​ยิน​ได้​ฟัง.”—เอเฟ. 4:29

13. ผู้​ปกครอง​ควร​จำ​อะไร​ไว้ (ก) เมื่อ​ให้​คำ​แนะ​นำ? (ข) เมื่อ​เขียน​จดหมาย?

13 โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง ผู้​ปกครอง​ควร “อ่อนโยน” และ​ปฏิบัติ​ต่อ​ฝูง​แกะ​อย่าง​นุ่มนวล. (1 เทส. 2:7, 8) เมื่อ​ผู้​ปกครอง​จำเป็น​ต้อง​ให้​คำ​แนะ​นำ เป้าหมาย​ของ​เขา​คือ​การ​ให้​คำ​แนะ​นำ “ด้วย​ความ​อ่อนโยน” แม้​แต่​เมื่อ​พูด​กับ​คน​ที่ “ไม่​เชื่อ​ฟัง.” (2 ติโม. 2:24, 25) เมื่อ​จำเป็น​ต้อง​ติด​ต่อ​กับ​ผู้​ปกครอง​คณะ​อื่น​หรือ​สำนักงาน​สาขา​ทาง​จดหมาย ผู้​ปกครอง​ควร​แสดง​ความ​กรุณา​ด้วย​ใน​การ​แสดง​ความ​คิด​เห็น. พวก​เขา​ควร​มี​ความ​กรุณา​และ​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา ซึ่ง​สอดคล้อง​กับ​คำ​แนะ​นำ​ที่​เรา​อ่าน​ใน​มัดธาย 7:12.

การ​ใช้​คำ​พูด​ที่​กรุณา​ใน​ครอบครัว

14. เปาโล​ให้​คำ​แนะ​นำ​อะไร​แก่​สามี และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

14 เป็น​เรื่อง​ง่าย​ที่​เรา​อาจ​ประเมิน​ผล​กระทบ​ของ​คำ​พูด, สี​หน้า, และ​ภาษา​กาย​ของ​เรา​ที่​มี​ต่อ​คน​อื่น ๆ ต่ำ​เกิน​ไป. ตัว​อย่าง​เช่น ผู้​ชาย​บาง​คน​อาจ​ไม่​ตระหนัก​อย่าง​แท้​จริง​ว่า​คำ​พูด​ของ​ตน​มี​ผล​ต่อ​ผู้​หญิง​อย่าง​ลึกซึ้ง​ขนาด​ไหน. พี่​น้อง​หญิง​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​รู้สึก​กลัว​มาก​เมื่อ​สามี​ตวาด​ดิฉัน​ด้วย​ความ​โมโห.” คำ​พูด​ที่​รุนแรง​อาจ​ส่ง​ผล​อย่าง​มาก​ต่อ​ผู้​หญิง​ยิ่ง​กว่า​ที่​ส่ง​ผล​ต่อ​ผู้​ชาย และ​ความ​รู้สึก​นั้น​อาจ​ติด​ค้าง​ใน​ใจ​เธอ​เป็น​เวลา​นาน. (ลูกา 2:19) เรื่อง​นี้​เป็น​ความ​จริง​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ถ้า​คำ​พูด​นั้น​ออก​มา​จาก​ปาก​ของ​คน​ที่​เธอ​รัก​และ​ต้องการ​จะ​แสดง​ความ​นับถือ. เปาโล​แนะ​นำ​สามี​ทั้ง​หลาย​ว่า “จง​รัก​ภรรยา​เสมอ​และ​อย่า​เกรี้ยวกราด​ต่อ​นาง.”—โกโล. 3:19

15. จง​ยก​ตัว​อย่าง​ที่​แสดง​ว่า​ทำไม​สามี​ควร​ปฏิบัติ​ต่อ​ภรรยา​อย่าง​อ่อนโยน.

15 ใน​เรื่อง​นี้ พี่​น้อง​ชาย​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​แต่งงาน​มา​นาน​แล้ว​ยก​ตัว​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​เห็น​เหตุ​ผล​ที่​สามี​ควร​ปฏิบัติ​ต่อ​ภรรยา​อย่าง​อ่อนโยน​เหมือน​เป็น “ภาชนะ​ที่​อ่อนแอ​กว่า.” เขา​กล่าว​ว่า “เมื่อ​คุณ​จับ​ถือ​แจกัน​ที่​มี​ค่า​และ​บอบบาง คุณ​ต้อง​ระวัง​ที่​จะ​ไม่​จับ​แรง​เกิน​ไป เพราะ​ไม่​อย่าง​นั้น​มัน​อาจ​แตก​ร้าว​ได้. แม้​แต่​เมื่อ​ซ่อม​แล้ว ก็​ยัง​จะ​มอง​เห็น​รอยร้าว​นั้น​อยู่. ถ้า​สามี​ใช้​คำ​พูด​รุนแรง​เกิน​ไป​กับ​ภรรยา เขา​อาจ​ทำ​ให้​เธอ​เจ็บ​ช้ำ​น้ำใจ. นี่​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​รอยร้าว​อย่าง​ถาวร​ใน​สาย​สัมพันธ์​ของ​ทั้ง​สอง.”—อ่าน 1 เปโตร 3:7

16. ภรรยา​สามารถ​เสริม​สร้าง​ครอบครัว​ได้​โดย​วิธี​ใด?

16 ผู้​ชาย​ก็​อาจ​มี​กำลังใจ​หรือ​เสีย​กำลังใจ​เพราะ​คำ​พูด​ของ​คน​อื่น​ได้​เหมือน​กัน รวม​ทั้ง​คำ​พูด​ของ​ภรรยา. “ภรรยา​ที่​เฉลียวฉลาด” ซึ่ง​สามี “ไว้​วางใจ” ได้​อย่าง​แท้​จริง​จะ​คำนึง​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​เขา เช่น​เดียว​กับ​ที่​เธอ​ต้องการ​ให้​เขา​คำนึง​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​เธอ. (สุภา. 19:14; 31:11) อัน​ที่​จริง ภรรยา​สามารถ​ก่อ​ให้​เกิด​ผล​กระทบ​ต่อ​ครอบครัว​ได้​มาก ทั้ง​ใน​ทาง​ที่​ดี​และ​ไม่​ดี. “สตรี​ที่​มี​ปัญญา​ทุก​คน​ย่อม​ก่อ​สร้าง​บ้าน​เรือน​ของ​ตน​ขึ้น; แต่​ผู้​ที่​โฉด​เขลา​ย่อม​รื้อ​บ้าน​ลง​ด้วย​มือ​ตน​เอง.”—สุภา. 14:1

17. (ก) เด็ก ๆ ควร​พูด​กับ​พ่อ​แม่​อย่าง​ไร? (ข) ผู้​ใหญ่​ควร​พูด​กับ​เด็ก ๆ อย่าง​ไร และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

17 พ่อ​แม่​และ​ลูก ๆ ควร​พูด​จา​กัน​ด้วย​ความ​กรุณา. (มัด. 15:4) เมื่อ​พูด​กับ​คน​ที่​อายุ​น้อย​กว่า การ​คิด​ถึง​ผู้​อื่น​จะ​ช่วย​เรา​ให้​หลีก​เลี่ยง ‘การ​ยั่ว​เขา​ให้​ขุ่นเคือง.’ (โกโล. 3:21; เอเฟ. 6:4) แม้​แต่​ถ้า​เด็ก​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​ตี​สอน พ่อ​แม่​และ​ผู้​ปกครอง​ควร​พูด​กับ​เขา​อย่าง​ที่​ให้​เกียรติ​เขา. โดย​วิธี​นี้ ผู้​ใหญ่​ทำ​ให้​เยาวชน​สามารถ​แก้ไข​แนว​ทาง​ของ​ตน​และ​รักษา​สาย​สัมพันธ์​กับ​พระเจ้า​ได้​ง่าย​ขึ้น. นั่น​นับ​ว่า ดี​กว่า​มาก​เมื่อ​เทียบ​กับ​การ​สื่อ​ให้​พวก​เขา​คิด​ว่า​เรา​หมด​หวัง​ใน​ตัว​เขา​แล้ว ซึ่ง​อาจ​ทำ​ให้​พวก​เขา​ไม่​อยาก​จะ​ปรับ​ปรุง​ตัว​เอง. เด็ก ๆ อาจ​จำ​คำ​แนะ​นำ​ไม่​ได้​ทั้ง​หมด แต่​พวก​เขา​จะ​จำ​ได้​ว่า​คน​อื่น​พูด​กับ​เขา​อย่าง​ไร.

พูด​สิ่ง​ดี ๆ จาก​ใจ

18. เรา​จะ​ขจัด​ความ​คิด​และ​ความ​รู้สึก​ที่​ไม่​ดี​ได้​โดย​วิธี​ใด?

18 การ​ควบคุม​ความ​โกรธ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ที่​ทำ​ได้​โดย​เพียง​แค่​วาง​สี​หน้า​เรียบ​เฉย​ไม่​แสดง​ความ​รู้สึก​ใด ๆ ออก​มา. เรา​ควร​มี​เป้าหมาย​มาก​กว่า​เพียง​แค่​ระงับ​ความ​รู้สึก​ที่​รุนแรง​ไว้. การ​พยายาม​รักษา​สภาพ​ที่​สงบ​ภาย​นอก​ใน​ขณะ​ที่​ความ​โกรธ​ยัง​เดือด​ปุด ๆ อยู่​ภาย​ใน​ทำ​ให้​เรา​ตึงเครียด. การ​ทำ​อย่าง​นั้น​เป็น​เหมือน​กับ​การ​เหยียบ​ทั้ง​เบรก​และ​คัน​เร่ง​ของ​รถ​พร้อม ๆ กัน. นั่น​ทำ​ให้​เกิด​แรง​กดดัน​ต่อ​รถ​มาก​กว่า​ปกติ​และ​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​เสียหาย​ได้. ดัง​นั้น อย่า​เก็บ​ความ​โกรธ​ไว้​ใน​ใจ​แล้ว​ให้​มัน​ระเบิด​ออก​มา​ใน​ภาย​หลัง. จง​อธิษฐาน​ขอ​พระ​ยะโฮวา​ช่วย​คุณ​ขจัด​ความ​รู้สึก​ที่​ไม่​ดี​ออก​ไป​จาก​ใจ. จง​ให้​พระ​วิญญาณ​ของ​พระ​ยะโฮวา​เปลี่ยน​ความ​คิด​และ​หัวใจ​ของ​คุณ​ให้​สอดคล้อง​กับ​พระ​ประสงค์​ของ​พระองค์.—อ่าน​โรม 12:2; เอเฟโซส์ 4:23, 24

19. มี​แนว​ทาง​อะไร​บ้าง​ที่​อาจ​ช่วย​เรา​ได้​ให้​หลีก​เลี่ยง​การ​เผชิญ​หน้า​กัน​ด้วย​ความ​โกรธ?

19 จง​ดำเนิน​ตาม​แนว​ทาง​บาง​อย่าง​ที่​ใช้​ได้​จริง. ถ้า​คุณ​พบ​ว่า​ตัว​คุณ​เอง​อยู่​ใน​สถานการณ์​ที่​ตึงเครียด​และ​รู้สึก​ว่า​ความ​โกรธ​คุ​กรุ่น​อยู่​ใน​ตัว​คุณ สิ่ง​หนึ่ง​ที่​อาจ​ช่วย​ได้​ก็​คือ​การ​ออก​ไป​จาก​สถานการณ์​นั้น​ก่อน เพื่อ​คุณ​เอง​จะ​มี​เวลา​ควบคุม​อารมณ์​ตัว​เอง. (สุภา. 17:14) ถ้า​คน​ที่​คุณ​คุย​ด้วย​เริ่ม​โกรธ จง​พยายาม​เป็น​พิเศษ​ที่​จะ​พูด​อย่าง​กรุณา. ขอ​ให้​จำ​ไว้​ว่า “คำ​ตอบ​อ่อน​หวาน​กระทำ​ให้​ความ​โกรธ​ผ่าน​พ้น​ไป; แต่​คำ​ขม​เผ็ด​ร้อน​กระทำ​ให้​โทโส​พลุ่ง​ขึ้น.” (สุภา. 15:1) คำ​พูด​ที่​เชือด​เฉือน​หรือ​ก้าวร้าว​จะ​เป็น​เหมือน​กับ​การ​เติม​เชื้อเพลิง​เข้า​ไป​ใน​กอง​ไฟ แม้​แต่​เมื่อ​พูด​ด้วย​น้ำ​เสียง​นุ่ม ๆ. (สุภา. 26:21) ดัง​นั้น เมื่อ​เกิด​สถานการณ์​ที่​ทดสอบ​การ​ควบคุม​ตัว​เอง​ของ​คุณ จง “ช้า​ใน​การ​พูด ช้า​ใน​การ​โกรธ.” จง​อธิษฐาน​ขอ​พระ​วิญญาณ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ช่วย​คุณ​ให้​พูด​สิ่ง​ดี ๆ และ​ไม่​พูด​อะไร​ที่​ไม่​ดี.—ยโก. 1:19

ให้​อภัย​กัน​จาก​ใจ

20, 21. อะไร​อาจ​ช่วย​เรา​ได้​ที่​จะ​ให้​อภัย​ผู้​อื่น และ​เหตุ​ใด​เรา​ต้อง​ทำ​อย่าง​นั้น?

20 น่า​เสียดาย ไม่​มี​ใคร​ใน​พวก​เรา​ที่​สามารถ​ควบคุม​ลิ้น​ได้​อย่าง​สมบูรณ์. (ยโก. 3:2) แม้​ว่า​พยายาม​อย่าง​ดี​ที่​สุด​แล้ว บาง​ครั้ง​แม้​แต่​คน​ใน​ครอบครัว​และ​พี่​น้อง​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​รัก​ของ​เรา​ก็​อาจ​พลั้ง​ปาก​พูด​อะไร​บาง​อย่าง​ออก​มา​ที่​ทำ​ให้​เรา​เจ็บใจ. แทน​ที่​จะ​โกรธ​เร็ว จง​ค่อย ๆ วิเคราะห์​ดู​ว่า​ทำไม​เขา​จึง​พูด​อย่าง​นั้น. (อ่าน​ท่าน​ผู้​ประกาศ 7:8, 9) เขา​อยู่​ใน​ภาวะ​ที่​ตึงเครียด, กลัว, ไม่​ค่อย​สบาย, หรือ​กำลัง​รับมือ​กับ​ปัญหา​บาง​อย่าง​ที่​คุณ​ไม่​รู้​ไหม?

21 ปัจจัย​เหล่า​นั้น​ไม่​อาจ​ใช้​เป็น​ข้อ​แก้​ตัว​สำหรับ​การ​ระเบิด​อารมณ์​ออก​มา​เป็น​คำ​พูด​ที่​รุนแรง. แต่​การ​ที่​เรา​รู้​ปัจจัย​เหล่า​นั้น​อาจ​ช่วย​ให้​เรา​เข้าใจ​ว่า​ทำไม​บาง​ครั้ง​คน​เรา​พูด​และ​ทำ​อย่าง​ที่​ไม่​สม​ควร และ​อาจ​กระตุ้น​เรา​ที่​จะ​ให้​อภัย. เรา​ทุก​คน​เคย​พูด​และ​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​คน​อื่น​เจ็บใจ และ​เรา​หวัง​ว่า​พวก​เขา​จะ​แสดง​ความ​กรุณา​โดย​ให้​อภัย​เรา. (ผู้ป. 7:21, 22) พระ​เยซู​ตรัส​ว่า​เพื่อ​เรา​จะ​ได้​รับ​การ​ให้​อภัย​จาก​พระเจ้า เรา​ต้อง ให้​อภัย​ผู้​อื่น. (มัด. 6:14, 15; 18:21, 22, 35) ด้วย​เหตุ​นั้น เรา​ควร​รีบ​ขอ​โทษ​และ​รีบ​ให้​อภัย ซึ่ง​จะ​ช่วย​ให้​เรา​รักษา​ความ​รัก​ภาย​ใน​ครอบครัว​และ​ประชาคม เพราะ​ความ​รัก​เป็น “สิ่ง​ที่​ผูก​พัน​ผู้​คน​ให้​เป็น​อัน​หนึ่ง​อัน​เดียว​กัน​อย่าง​สมบูรณ์.”—โกโล. 3:14

22. เหตุ​ใด​จึง​คุ้มค่า​ที่​จะ​พยายาม​ใช้​คำ​พูด​ที่​แสดง​ความ​กรุณา?

22 การ​รักษา​ความ​ยินดี​และ​เอกภาพ​ใน​หมู่​พวก​เรา​คง​เป็น​เรื่อง​ยาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ขณะ​ที่​ระบบ​ปัจจุบัน​ซึ่ง​เต็ม​ไป​ด้วย​ความ​โกรธ​ใกล้​จะ​ถึง​อวสาน. การ​ใช้​หลักการ​ที่​ได้​ผล​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​จะ​ช่วย​ให้​เรา​พูด​แต่​สิ่ง​ดี ๆ ไม่​พูด​สิ่ง​ที่​ไม่​ดี. เรา​จะ​มี​สาย​สัมพันธ์​ที่​สงบ​สุข​ยิ่ง​ขึ้น​ภาย​ใน​ประชาคม และ​ใน​ครอบครัว และ​ตัว​อย่าง​ของ​เรา​จะ​เป็น​การ​ให้​คำ​พยาน​ที่​ดี​เยี่ยม​แก่​คน​อื่น ๆ ใน​เรื่อง​พระ​ยะโฮวา “พระเจ้า​ผู้​มี​ความ​สุข.”—1 ติโม. 1:11

คุณ​อธิบาย​ได้​ไหม?

• เหตุ​ใด​จึง​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​จะ​เลือก​เวลา​ที่​เหมาะ​สม​เพื่อ​พูด​คุย​กัน​และ​แก้ไข​ปัญหา?

• เหตุ​ใด​สมาชิก​ครอบครัว​ควร​พูด​คุย​กัน​อย่าง​ที่ “แสดง​ความ​กรุณา” เสมอ?

• เรา​จะ​ไม่​พูด​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​คน​อื่น​เจ็บใจ​ได้​อย่าง​ไร?

• อะไร​อาจ​ช่วย​เรา​ได้​ที่​จะ​ให้​อภัย?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 21]

จง​สงบ​สติ​อารมณ์​ก่อน แล้ว​ค่อย​หา​โอกาส​เหมาะ ๆ พูด​คุย​กัน

[ภาพ​หน้า 23]

ผู้​ชาย​ควร​พูด​กับ​ภรรยา​อย่าง​อ่อนโยน​เสมอ