จงปลูกฝังลูก ๆ ให้รักการอ่านและการศึกษา
จงปลูกฝังลูก ๆ ให้รักการอ่านและการศึกษา
มีความพยายามไม่กี่อย่างที่อาจส่งผลต่ออนาคตของลูกได้มากกว่าการสอนพวกเขาให้รักการอ่านและการศึกษา. และกิจกรรมทั้งสองอย่างนี้สามารถทำให้พวกเขาชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง! ความทรงจำในวัยเด็กที่ฝังใจที่สุดของบางคนได้แก่การที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้เขาฟัง. การอ่านในตัวมันเองแล้วอาจเป็นเรื่องที่ทำให้น่ายินดี ผลที่ได้รับจากการอ่านก็เป็นเรื่องน่ายินดีเช่นกัน. เรื่องนี้เป็นความจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้รับใช้ของพระเจ้า เนื่องจากการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลช่วยส่งเสริมการเติบโตฝ่ายวิญญาณได้มากทีเดียว. บิดาคริสเตียนคนหนึ่งกล่าวว่า “สิ่งที่เราเห็นว่ามีค่ามากที่สุดนั้นเกี่ยวข้องกับการอ่านและการศึกษา.”
นิสัยการศึกษาที่ดีสามารถช่วยลูก ๆ ให้พัฒนาสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพระเจ้า. (เพลง. 1:1-3, 6) แม้ว่าการอ่านหนังสือได้ไม่ใช่ข้อเรียกร้องเพื่อจะได้รับความรอด แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าการอ่านทำให้เราได้รับพระพรมากมาย. ตัวอย่างเช่น วิวรณ์ 1:3 กล่าวว่า “ผู้ที่อ่านออกเสียงและคนเหล่านั้นที่ได้ยินถ้อยคำในคำพยากรณ์นี้ . . . ก็มีความสุข.” นอกจากนั้น คุณค่าของการมีสมาธิ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการศึกษา ยังเห็นได้ชัดในคำแนะนำที่มีขึ้นโดยการดลใจที่เปาโลให้แก่ติโมเธียวที่ว่า “จงไตร่ตรองเรื่องเหล่านี้ จงหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเหล่านี้.” เพราะเหตุใด? “เพื่อความก้าวหน้าของท่านจะปรากฏแก่ทุกคน.”—1 ติโม. 4:15
แน่นอน การที่คนเรามีความสามารถในการอ่านและการศึกษาไม่ได้ค้ำประกันว่าความสามารถดังกล่าวจะให้ประโยชน์แก่เขา. หลายคนที่มีความสามารถทั้งสองอย่างนี้ละเลยไม่ใช้ความสามารถนี้ แต่กลับหมกมุ่นสนใจในกิจกรรมอื่น ๆ ที่ให้ประโยชน์น้อยกว่า. ดังนั้น พ่อแม่จะปลูกฝังให้ลูกมีความกระหายที่จะได้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ได้อย่างไร?
ความรักและตัวอย่างของคุณ
เด็กจะชอบการศึกษาเมื่อบรรยากาศในการศึกษาอบอวลด้วยความรัก. โอเวนและคลาวเดีย คู่สมรสคริสเตียน เล่าเรื่องลูกสองคนว่า “ลูกทั้งสองของเราเฝ้าคอยเวลาที่จะศึกษาด้วยกัน เพราะนั่นเป็นเวลาพิเศษที่ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยและสบายใจ. เมื่อนึกถึงการศึกษาพวกเขาก็จะคิดถึงบรรยากาศที่อบอุ่น.” แม้เมื่อลูกเติบโตเป็นวัยรุ่นที่มักมีข้อท้าทาย บรรยากาศอันเปี่ยมด้วยความรักในการศึกษาของครอบครัวก็จะหล่อหลอมทัศนะของพวกเขาต่อ ๆ ไป. ในเวลานี้ ลูกทั้งสองคนของโอเวนและคลาวเดียรับใช้เป็นไพโอเนียร์และยังคงรับประโยชน์ต่อไปจากความรักที่มีต่อการอ่านและการศึกษาที่พ่อแม่ปลูกฝังไว้ในตัวพวกเขา.
นอกจากความรักแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้มากคือตัวอย่าง. ลูกที่เห็นพ่อแม่อ่านและศึกษาบ่อย ๆ มักมองการทำอย่างนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของตัวเขาเอง. แต่คุณผู้เป็นพ่อแม่จะวางตัวอย่างเช่นนั้นได้อย่างไรถ้าการอ่านเป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับตัวคุณเอง? นี่อาจหมายความว่าคุณจำเป็นต้องปรับการจัดลำดับความสำคัญหรือทัศนคติที่คุณมีต่อการอ่าน. (โรม 2:21) ถ้าการอ่านเป็นส่วนหนึ่งที่เด่นใน กิจวัตรประจำวันของคุณ นั่นย่อมมีผลอย่างลึกซึ้งต่อลูกของคุณ. ความขยันขันแข็งของคุณ โดยเฉพาะในการอ่านคัมภีร์ไบเบิล, การเตรียมการประชุม, และการศึกษาประจำครอบครัว จะแสดงให้ลูกเห็นอย่างชัดเจนถึงคุณค่าของการทำสิ่งเหล่านี้.
ด้วยเหตุนั้น ความรักและตัวอย่างของคุณเป็นปัจจัยพื้นฐานในการปลูกฝังให้ลูกรักการอ่าน. แต่คุณต้องทำอะไรเพื่อสนับสนุนพวกเขา?
ช่วยลูกให้รักการอ่าน
มีขั้นตอนสำคัญอะไรบ้างที่ต้องทำเพื่อปลูกฝังลูกให้รักการอ่าน? จงจัดหาหนังสือไว้ให้ลูกตั้งแต่เขาอายุยังน้อย. คริสเตียนผู้ปกครองคนหนึ่งที่พ่อแม่ปลูกฝังให้เขารักการอ่านให้คำแนะนำว่า “จงให้ลูกคุ้นเคยกับการจับการเปิดหนังสือ. โดยวิธีนั้น หนังสือก็จะกลายเป็นเพื่อนและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขา.” ดังนั้น หนังสือต่าง ๆ ที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก เช่น จงเรียนจากครูผู้ยิ่งใหญ่ และหนังสือของฉันเกี่ยวด้วยเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล จึงกลายมาเป็นเพื่อนสนิทของเด็กหลายคนนานก่อนที่พวกเขาจะอ่านหนังสือออกด้วยซ้ำ. เมื่อคุณอ่านหนังสือแบบนั้นกับลูก คุณช่วยลูกให้ได้สัมผัสไม่เพียงแค่ภาษาเท่านั้น แต่ยังช่วยเขาให้ได้สัมผัส “เรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า” และ “ถ้อยคำที่มีขึ้นโดยการทรงนำจากพระวิญญาณ.”—1 โค. 2:13
จงอ่านออกเสียงเป็นประจำ. จงให้การอ่านกับลูกเป็นกิจวัตรที่ทำร่วมกันในแต่ละวัน. การทำอย่างนี้ช่วยสอนให้พวกเขาออกเสียงได้อย่างถูกต้องและเสริมพวกเขาให้มีนิสัยรักการอ่าน. วิธีที่คุณอ่านนับว่าสำคัญด้วย. จงกระตือรือร้น แล้วลูกก็จะกระตือรือร้นด้วย. ที่จริง คุณอาจพบว่าลูก ๆ จะขอให้คุณอ่านเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก. จงตามใจลูกในเรื่องนี้! ในที่สุด พวกเขาก็จะอยากรู้เรื่องใหม่ ๆ. แต่ระวังอย่าบังคับลูกให้อ่าน. พระเยซูทรงวางตัวอย่างไว้โดยทรงสอนผู้ฟังของพระองค์ “เท่าที่พวกเขาจะเข้าใจได้” เท่านั้น. (มโก. 4:33) ถ้าคุณไม่บังคับลูก พวกเขาก็จะคอยท่าด้วยความกระหายที่จะได้อ่านกับคุณ และคุณก็จะเข้าใกล้เป้าหมายของคุณมากขึ้นในการปลูกฝังลูกให้รักการอ่าน.
จงสนับสนุนให้ลูกมีส่วนร่วมและพูดคุยกันในเรื่องที่คุณอ่าน. คุณจะยินดีที่ในไม่ช้าลูกเล็ก ๆ ของคุณก็จะเริ่มรู้จักคำต่าง ๆ, วิธีออกเสียง, และเข้าใจความหมายของหลาย ๆ คำ. การพิจารณาสิ่งที่คุณอ่านสามารถช่วยให้ลูกก้าวหน้าได้มากทีเดียว. หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งพิจารณาวิธีช่วยลูกให้เป็นนักอ่านที่ดีอธิบายว่า การสนทนาช่วยลูกให้ “เรียนรู้คำต่าง ๆ ที่ในภายหลังพวกเขาจะต้องรู้จักและเข้าใจเมื่อพวกเขาอ่าน.” หนังสือเล่มเดียวกันนี้กล่าวต่อไปว่า “สำหรับเด็กเล็กซึ่งความคิดจิตใจของพวกเขากำลังพัฒนาและกำลังพยายามเพื่อจะอ่านออกเขียนได้ การพูดคุยเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก—ยิ่งพูดคุยกันในเรื่องที่มีสาระ . . . ก็ยิ่งดี.”
จงให้ลูกอ่านให้คุณฟัง และสนับสนุนพวกเขาให้ถาม. คุณอาจตั้งคำถามเองและช่วยลูกหาคำตอบ. โดยวิธีนั้น ลูกก็จะเรียนรู้ว่าหนังสือเป็นแหล่งข้อมูลและถ้อยคำต่าง ๆ ที่พวกเขาอ่านมีความหมายซ่อนอยู่. วิธีนี้มีประโยชน์เป็นพิเศษเมื่อเรื่องที่คุณอ่านอาศัยพระคำของพระเจ้า ซึ่งเป็นหนังสือที่มีความหมายมากที่สุดในบรรดาหนังสือทั้งหลาย.—ฮีบรู 4:12
ถึงกระนั้น อย่าลืมว่าการอ่านเป็นทักษะที่ซับซ้อน. เพื่อจะอ่านได้ดีต้องใช้เวลาและการฝึกฝน. * ดังนั้น จงสนับสนุนเด็ก ๆ ให้รักการอ่านมากขึ้นด้วยการชมเชยพวกเขาให้มาก ๆ. การชมเชยลูกของคุณจะกระตุ้นพวกเขาให้รักการอ่าน.
ให้ผลคุ้มค่าและน่าเพลิดเพลิน
การสอนลูกให้รู้วิธีศึกษาทำให้มีเป้าหมายในการอ่าน. การศึกษาเกี่ยวข้องกับการเรียนข้อเท็จจริงต่าง ๆ และการเข้าใจว่าข้อเท็จจริงเหล่านั้นสัมพันธ์กันอย่างไร. เมื่อศึกษา เราต้องสามารถจัดระเบียบ, จดจำ, และนำข้อมูลมาใช้ให้เป็นประโยชน์. เมื่อลูกได้เรียนรู้วิธีศึกษาแล้วและเห็นคุณค่าที่ใช้ได้จริงของการศึกษา การศึกษานั้นก็จะให้ผลคุ้มค่าและน่าเพลิดเพลิน.—ผู้ป. 10:10
จงสอนให้เขารู้เทคนิคต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการศึกษา. การนมัสการประจำครอบครัวในตอนเย็น, การพิจารณาข้อพระคัมภีร์ประจำวัน, และโอกาสอื่น ๆ ที่คล้ายกันเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมในการสอนให้ลูกรู้จักเทคนิคต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการศึกษา. การนั่งนิ่ง ๆ และจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งในช่วงเวลาสั้น ๆ จะสอนพวกเขาให้มีสมาธิ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเรียนรู้. นอกจากนั้น คุณอาจสนับสนุนลูกชายให้บอกคุณว่าสิ่งที่เขาเพิ่งเรียนไปนั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขารู้อยู่แล้วอย่างไร. การทำอย่างนี้สอนเขาให้รู้จักเปรียบเทียบ. หรือคุณอาจขอให้ลูกสาวสรุป เรื่องที่เธอได้อ่านโดยใช้คำพูดของเธอเอง. การทำอย่างนี้จะช่วยเธอให้เข้าใจความหมายของเรื่องนั้นและจำได้. การทบทวน ซึ่งก็คือการกล่าวซ้ำจุดสำคัญต่าง ๆ โดยใช้คำพูดอีกแบบหนึ่งหลังจากที่อ่านเรื่องหนึ่งจบแล้ว เป็นวิธีช่วยจำอีกวิธีหนึ่งที่คุณอาจสอนลูก. อาจสอนแม้แต่เด็กเล็ก ๆ ให้จดบันทึกสั้น ๆ ระหว่างการศึกษาหรือในการประชุมที่ประชาคม. การทำอย่างนี้อาจช่วยให้พวกเขาจดจ่อกับเรื่องได้เป็นอย่างดี! เทคนิคง่าย ๆ เหล่านี้ทำให้กระบวนการเรียนรู้มีชีวิตชีวาและมีประโยชน์กับทั้งตัวคุณเองและลูก ๆ.
จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการศึกษา. สถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดีและมีแสงมากพอ สภาพแวดล้อมที่เงียบและสะดวกสบาย ช่วยให้รวบรวมสมาธิได้ง่ายขึ้น. แน่นอน ทัศนะของพ่อแม่ที่มีต่อการศึกษานับว่าสำคัญมาก. มารดาคนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “เป็นเรื่องสำคัญมากที่คุณต้องจัดเวลาไว้เพื่ออ่านและศึกษาด้วยกันเป็นประจำและสม่ำเสมอ. การทำอย่างนี้ช่วยลูก ๆ ให้มีระเบียบ. พวกเขาเรียนรู้ว่าเรื่องนี้หรือเรื่องนั้นควรทำให้เสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้.” พ่อแม่หลายคนไม่อนุญาตให้ทำเรื่องอื่นในเวลาศึกษา. ตามที่ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งกล่าวไว้ นี่เป็นวิธีสำคัญวิธีหนึ่งในการสอนลูกให้มีนิสัยที่ดีในการศึกษา.
จงเน้นคุณค่าการศึกษา. ประการสุดท้าย จงช่วยลูกให้เห็นประโยชน์ที่ใช้ได้จริงของการศึกษา. การใช้ข้อมูลที่เรียนรู้เน้นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการศึกษา. พี่น้องหนุ่มคนหนึ่งยอมรับว่า “ถ้าผมมองไม่เห็นประโยชน์ที่ใช้ได้จริงของเรื่องที่กำลังศึกษา ผมก็ไม่อยากจะศึกษาเรื่องนั้น. แต่ถ้าผมสามารถนำเรื่องนั้นมาใช้กับตัวเอง ผมก็อยากจะเข้าใจเรื่องนั้น.” เมื่อเยาวชนมองการศึกษาว่าเป็นวิธีบรรลุเป้าหมายที่สำคัญ พวกเขาก็จะจดจ่ออยู่กับการศึกษา. พวกเขาจะเริ่มเฝ้าคอยเวลาที่จะได้ศึกษา เหมือนกับที่พวกเขาเฝ้าคอยเวลาที่จะได้อ่าน.
ผลตอบแทนที่ดีที่สุด
มีผลประโยชน์มากมายในการปลูกฝังลูกให้รักการอ่านจนไม่อาจจะพรรณนาได้ทั้งหมดในบทความนี้. ความสำเร็จในการเรียน, ในที่ทำงาน, ในความสัมพันธ์กับคนอื่น, ในการเข้าใจโลกที่เราอาศัยอยู่, และในการสร้างสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างพ่อแม่กับลูกเป็นผลประโยชน์เพียงไม่กี่อย่างของการอ่านและการศึกษา. นอกจากนั้น การอ่านและการศึกษายังทำให้เรามีความอิ่มใจพอใจอย่างแท้จริงด้วย.
เหนือสิ่งอื่นใด นิสัยรักการศึกษาจะช่วยลูกให้เป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา. นิสัยรักการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดความคิดจิตใจของพวกเขาให้รับเอา “ความกว้าง ความยาว ความสูง และความลึก” ของความจริงในพระคัมภีร์. (เอเฟ. 3:18) แน่นอน พ่อแม่ที่เป็นคริสเตียนมีเรื่องมากมายที่จะสอนลูก. เมื่อพ่อแม่ทุ่มเทเวลาและความสนใจให้ลูกและทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อช่วยลูกเริ่มต้นชีวิตได้เป็นอย่างดี พวกเขาหวังว่าในที่สุดลูกจะเลือกเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา. การสอนลูกให้มีนิสัยที่ดีในการศึกษาช่วยให้พวกเขาสร้างและรักษาสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้า. ดังนั้น คุณมีเหตุผลมากมายที่จะอธิษฐานและขอพระพรจากพระยะโฮวาขณะที่คุณพยายามกระตุ้นลูกให้รักการอ่านและการศึกษา.—สุภา. 22:6
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 14 การอ่านและการศึกษาเป็นเรื่องท้าทายเป็นพิเศษสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องในด้านการเรียนรู้. สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่พ่อแม่อาจทำได้เพื่อช่วยพวกเขา โปรดดูตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 กุมภาพันธ์ 1997 หน้า 3-10.
[กรอบ/ภาพหน้า 26]
เมื่ออ่าน . . .
• จัดหาหนังสือไว้ให้พร้อม
• อ่านออกเสียง
• สนับสนุนให้ลูกมีส่วนร่วม
• พูดคุยกับลูกในเรื่องที่อ่าน
• ให้ลูกอ่านให้คุณฟัง
• สนับสนุนลูกให้ถาม
เมื่อศึกษา . . .
• พ่อแม่ควรวางตัวอย่างที่ดี
• จงฝึกลูกให้ . . .
○ มีสมาธิ
○ เปรียบเทียบ
○ สรุป
○ ทบทวน
○ จดบันทึก
• จงจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการศึกษา
• จงเน้นคุณค่าของการศึกษา