ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“จงเอาใจใส่ . . . ในการสอน”

“จงเอาใจใส่ . . . ในการสอน”

“จง​เอา​ใจ​ใส่ . . . ใน​การ​สอน”

“พวก​เจ้า​เรียก​เรา​ว่า ‘อาจารย์’ และ ‘องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า’ พวก​เจ้า​เรียก​ถูก​แล้ว เพราะ​เรา​เป็น​อาจารย์​และ​เป็น​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า.” (โย. 13:13) โดย​ตรัส​อย่าง​นั้น​กับ​เหล่า​สาวก พระ​เยซู​ทรง​เน้น​บทบาท​ของ​พระองค์​ใน​ฐานะ​ผู้​สอน. ต่อ​มา ไม่​นาน​ก่อน​เสด็จ​สู่​สวรรค์ พระองค์​ทรง​มี​รับสั่ง​แก่​เหล่า​สาวก​ว่า “ฉะนั้น จง​ไป​สอน​คน​จาก​ทุก​ชาติ​ให้​เป็น​สาวก . . . สอน พวก​เขา​ให้​ปฏิบัติ​ตาม​ทุก​สิ่ง​ที่​เรา​สั่ง​พวก​เจ้า​ไว้.” (มัด. 28:19, 20) ใน​ภาย​หลัง อัครสาวก​เปาโล​ก็​เน้น​ความ​สำคัญ​ของ​การ​เป็น​ผู้​สอน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ด้วย. ท่าน​เตือน​ติโมเธียว​ซึ่ง​เป็น​คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​ว่า “จง​เอา​ใจ​ใส่​ใน​การ​อ่าน​ให้​คน​อื่น​ฟัง ใน​การ​กระตุ้น​เตือน ใน​การ​สอน. . . . จง​ไตร่ตรอง​เรื่อง​เหล่า​นี้ จง​หมกมุ่น​อยู่​กับ​เรื่อง​เหล่า​นี้ เพื่อ​ความ​ก้าว​หน้า​ของ​ท่าน​จะ​ปรากฏ​แก่​ทุก​คน.”—1 ติโม. 4:13-15

ใน​ปัจจุบัน การ​สอน​ก็​เป็น​ลักษณะ​เด่น​ทั้ง​ใน​งาน​รับใช้​และ​ใน​การ​ประชุม​คริสเตียน​ของ​เรา​เช่น​เดียว​กับ​สมัย​ศตวรรษ​แรก. เรา​จะ​เอา​ใจ​ใส่​การ​สอน​ต่อ ๆ ไป​ได้​อย่าง​ไร และ​การ​ทำ​อย่าง​นั้น​จะ​ช่วย​เรา​ให้​ทำ​ความ​ก้าว​หน้า​ใน​ฐานะ​ผู้​สอน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ได้​อย่าง​ไร?

จง​เลียน​แบบ​ผู้​สอน​องค์​ยิ่ง​ใหญ่

วิธี​สอน​ของ​พระ​เยซู​ดึงดูด​ผู้​คน​มาก​มาย​ให้​ฟัง​พระองค์. โปรด​สังเกต​ว่า​คำ​ตรัส​ของ​พระองค์​มี​ผล​กระทบ​อย่าง​ไร​ต่อ​ผู้​ฟัง​ใน​ธรรมศาลา​เมือง​นาซาเรท. ลูกา​ผู้​เขียน​หนังสือ​กิตติคุณ​บันทึก​ไว้​ว่า “คน​ทั้ง​ปวง​ก็​กล่าว​ชม​พระองค์​และ​อัศจรรย์​ใจ​ใน​ถ้อย​คำ​จาก​พระ​โอษฐ์​ของ​พระองค์.” (ลูกา 4:22) เหล่า​สาวก​ของ​พระ​เยซู​ประกาศ​โดย​เลียน​แบบ​อย่าง​ผู้​เป็น​นาย​ของ​ตน. ที่​จริง อัครสาวก​เปาโล​สนับสนุน​เพื่อน​คริสเตียน​ว่า “จง​เป็น​ผู้​เลียน​แบบ​ข้าพเจ้า​เหมือน​ที่​ข้าพเจ้า​เป็น​ผู้​เลียน​แบบ​พระ​คริสต์.” (1 โค. 11:1) ด้วย​การ​เลียน​แบบ​วิธี​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ใช้ เปาโล​จึง​มี​ประสิทธิภาพ​อย่าง​ยิ่ง​ใน ‘การ​สอน​ทั้ง​ใน​ที่​สาธารณะ​และ​ตาม​บ้าน​เรือน.’—กิจ. 20:20

สอน “ที่​ตลาด”

ตัว​อย่าง​หนึ่ง​ที่​โดด​เด่น​ใน​เรื่อง​ความ​สามารถ​ของ​เปาโล​ซึ่ง​สอน​ใน​ที่​สาธารณะ​จะ​พบ​ได้​ใน​กิจการ​บท 17. ที่​นั่น เรา​อ่าน​เกี่ยว​กับ​การ​เยี่ยม​เมือง​เอเธนส์ ประเทศ​กรีซ. ไม่​ว่า​เปาโล​จะ​มอง​ไป​ที่​ใด​ใน​เมือง​นั้น—ตาม​ถนน​และ​ใน​ที่​สาธารณะ—มี​รูป​เคารพ​เต็ม​ไป​หมด. ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า​เปาโล​รู้สึก​หงุดหงิด​อย่าง​ยิ่ง! ถึง​กระนั้น ท่าน​ไม่​ปล่อย​ให้​อารมณ์​ครอบ​งำ. ท่าน ‘ไป​ที่​ธรรมศาลา​และ​ถก​กับ . . . คน​ที่​ท่าน​พบ​ที่​ตลาด​ทุก​วัน.’ (กิจ. 17:16, 17) ช่าง​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​สำหรับ​เรา​จริง ๆ! โดย​เข้า​หา​ผู้​คน​ที่​มา​จาก​ภูมิหลัง​ทุก​ชนิด​ด้วย​ท่าที​ที่​ไม่​ตัดสิน​ผู้​อื่น แต่​แสดง​ความ​นับถือ เรา​สามารถ​ปู​ทาง​ไว้​เพื่อ​บาง​คน​จะ​ฟัง​ใน​ภาย​หลัง​และ​หลุด​พ้น​จาก​พันธนาการ​ของ​ศาสนา​เท็จ​ได้​ใน​ที่​สุด.—กิจ. 10:34, 35; วิ. 18:4

เปาโล​เผชิญ​หน้า​กับ​หลาย​คน​ที่​ตลาด​ซึ่ง​ไม่​ตอบรับ​ข่าวสาร​ที่​ท่าน​ประกาศ. ใน​หมู่​ผู้​ฟัง​มี​พวก​นัก​ปรัชญา​รวม​อยู่​ด้วย ซึ่ง​มี​ทัศนะ​ที่​ขัด​แย้ง​กับ​ความ​จริง​ที่​ท่าน​กำลัง​ประกาศ. เมื่อ​มี​คน​โต้​แย้ง เปาโล​รับ​ฟัง​ความ​เห็น​ของ​พวก​เขา. บาง​คน​เรียก​ท่าน​ว่า “คน​ที่​จำ​ขี้​ปาก​คน​อื่น​มา​พูด” (ความ​หมาย​ตรง​ตัว​คือ “คน​เก็บ​เมล็ด​พืช”). และ​บาง​คน​พูด​ว่า “ดู​เหมือน​เขา​เป็น​ผู้​เผยแพร่​พระ​ต่าง​ประเทศ.”—กิจ. 17:18

อย่าง​ไร​ก็​ตาม คำ​พูด​ดูหมิ่น​ของ​ผู้​ฟัง​ไม่​ได้​ทำ​ให้​เปาโล​ท้อ​ใจ. ตรง​กัน​ข้าม เมื่อ​มี​คน​ขอ​ให้​อธิบาย​คำ​สอน​ของ​ท่าน เปาโล​ใช้​โอกาส​นั้น​บรรยาย​เรื่อง​ที่​ลึกซึ้ง ซึ่ง​แสดง​ให้​เห็น​เป็น​อย่าง​ดี​ว่า​ท่าน​มี​ความ​สามารถ​ใน​การ​สอน. (กิจ. 17:19-22; 1 เป. 3:15) ให้​เรา​มา​ทบทวน​คำ​บรรยาย​ของ​ท่าน​อย่าง​ละเอียด​และ​ดู​ว่า​จะ​ปรับ​ปรุง​ความ​สามารถ​ใน​การ​สอน​ของ​เรา​ได้​อย่าง​ไร.

จง​หา​จุด​ที่​เห็น​พ้อง​กัน

เปาโล​กล่าว​ว่า “ชาว​เอเธนส์​ทั้ง​หลาย ข้าพเจ้า​เห็น​ว่า​พวก​ท่าน​ดู​จะ​เป็น​ผู้​ที่​ยำเกรง​พระ​ต่าง ๆ ยิ่ง​กว่า​คน​อื่น ๆ ใน​ทุก​ด้าน. ตัว​อย่าง​เช่น ขณะ​ที่ . . . พวก​ท่าน​ยกย่อง​บูชา ข้าพเจ้า​เห็น​แท่น​บูชา​แท่น​หนึ่ง​มี​คำ​จารึก​ว่า ‘แด่​พระเจ้า​ที่​ไม่​รู้​จัก.’ ฉะนั้น ข้าพเจ้า​จะ​บอก​ให้​พวก​ท่าน​รู้​จัก​พระเจ้า​องค์​นั้น​ที่​พวก​ท่าน​ยกย่อง​บูชา​ทั้ง​ที่​ไม่​รู้​จัก.”—กิจ. 17:22, 23

เปาโล​สังเกต​ทุก​สิ่ง​ที่​อยู่​รอบ​ตัว​ท่าน​อย่าง​ละเอียด ท่าน​จึง​รู้​หลาย​สิ่ง​หลาย​อย่าง​เกี่ยว​กับ​คน​ที่​ท่าน​กำลัง​คุย​ด้วย. เรา​เอง​ก็​สามารถ​เรียน​รู้​บาง​สิ่ง​เกี่ยว​กับ​เจ้าของ​บ้าน​ได้​ถ้า​เรา​ช่าง​สังเกต. ตัว​อย่าง​เช่น ของ​เล่น​ที่​ลาน​บ้าน​หรือ​สัญลักษณ์​ที่​ประตู​บ้าน​อาจ​บอก​อะไร​เรา​ได้​หลาย​อย่าง. ถ้า​เรา​พอ​จะ​นึก​ออก​ว่า​เจ้าของ​บ้าน​อาจ​สนใจ​ใน​เรื่อง​ใด เรา​ก็​สามารถ​เลือก​อย่าง​รอบคอบ​ไม่​เพียง​แค่​ว่า​เรา​จะ​พูด​อะไร แต่​ยัง​เลือก​ได้​ว่า​จะ​พูด​อย่าง​ไร​ด้วย.—โกโล. 4:6

เปาโล​ประกาศ​ข่าวสาร​ใน​แง่​บวก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ท่าน​พบ​ว่า “ความ​เลื่อมใส​ใน​พระเจ้า” ของ​ชาว​เอเธนส์​ถูก​ใช้​ไป​ใน​ทาง​ที่​ผิด. เปาโล​ชี้​ให้​เห็น​อย่าง​ชัดเจน​ว่า​พวก​เขา​จะ​นมัสการ​พระเจ้า​องค์​เที่ยง​แท้​ได้​อย่าง​ไร. (1 โค. 14:8) นับ​ว่า​สำคัญ​สัก​เพียง​ไร​ที่​เรา​จะ​พูด​อย่าง​ชัดเจน​และ​พูด​ใน​แง่​บวก​เมื่อ​เรา​ประกาศ​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร!

จง​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา​และ​ไม่​ลำเอียง

เปาโล​กล่าว​ต่อ​ไป​ว่า “พระเจ้า​ที่​ได้​สร้าง​โลก​และ​สรรพสิ่ง​ใน​โลก พระองค์​ทรง​เป็น​เจ้า​แห่ง​ฟ้า​สวรรค์​และ​แผ่นดิน​โลก จึง​ไม่​สถิต​ใน​วิหาร​ที่​สร้าง​โดย​มนุษย์ และ​พระองค์​ไม่​จำเป็น​ต้อง​รับ​การ​ปรนนิบัติ​จาก​มนุษย์​เสมือน​ว่า​พระองค์​ขาด​สิ่ง​หนึ่ง​สิ่ง​ใด เพราะ​พระองค์​เอง​เป็น​ผู้​ทรง​ประทาน​ชีวิต ลม​หายใจ และ​สารพัด​สิ่ง​แก่​คน​ทั้ง​ปวง.”—กิจ. 17:24, 25

ใน​ที่​นี้ เปาโล​พูด​อย่าง​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา​เพื่อ​นำ​ความ​สนใจ​ของ​ผู้​ฟัง​ไป​ยัง​พระ​ยะโฮวา​ผู้​ประทาน​ชีวิต​โดย​กล่าว​ถึง​พระองค์​ว่า​เป็น “เจ้า​แห่ง​ฟ้า​สวรรค์​และ​แผ่นดิน​โลก.” นับ​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​ที่​จะ​ช่วย​คน​ที่​มี​หัวใจ​สุจริต​ซึ่ง​มี​ภูมิหลัง​ทาง​ศาสนา​และ​วัฒนธรรม​ที่​แตกต่าง​กัน​ให้​ตระหนัก​ว่า​ชีวิต​ทั้ง​สิ้น​มา​จาก​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า!—เพลง. 36:9

จาก​นั้น เปาโล​กล่าว​ว่า “พระองค์​ทรง​สร้าง​คน​ทุก​ชาติ​จาก​คน​คน​เดียว . . . พระองค์​ทรง​กำหนด​เวลา​และ​ขอบ​เขต​ที่​อยู่​ของ​มนุษย์ เพื่อ​ให้​พวก​เขา​แสวง​หา​พระเจ้า ให้​พวก​เขา​พากเพียร​เสาะ​หา​และ​พบ​พระองค์ ที่​จริง พระองค์​ไม่​ได้​อยู่​ไกล​จาก​เรา​ทุก​คน​เลย.”—กิจ. 17:26, 27

วิธี​ที่​เรา​สอน​สามารถ​บอก​ให้​คน​อื่น​รู้​ว่า​พระเจ้า​ที่​เรา​นมัสการ​นั้น​เป็น​พระเจ้า​แบบ​ใด. พระ​ยะโฮวา​ไม่​ทรง​ลำเอียง พระองค์​ทรง​เปิด​โอกาส​ให้​คน​จาก​ทุก​ชาติ “หา​และ​พบ​พระองค์.” คล้าย​กัน เรา​พูด​กับ​ทุก​คน​ที่​เรา​พบ​อย่าง​ไม่​ลำเอียง. เรา​พยายาม​ช่วย​คน​เหล่า​นั้น​ที่​เชื่อ​ใน​พระ​ผู้​สร้าง​ให้​พัฒนา​สาย​สัมพันธ์​ที่​ใกล้​ชิด​กับ​พระองค์​ซึ่ง​สามารถ​ทำ​ให้​พวก​เขา​ได้​รับ​พระ​พร​ถาวร. (ยโก. 4:8) แต่​เรา​จะ​ช่วย​คน​ที่​สงสัย​ใน​เรื่อง​การ​ดำรง​อยู่​ของ​พระเจ้า​ได้​อย่าง​ไร? เรา​เลียน​แบบ​ตัว​อย่าง​ของ​เปาโล. ขอ​ให้​สังเกต​ว่า​ท่าน​พูด​ต่อ​ไป​อย่าง​ไร.

“เรา​มี​ชีวิต​ดำรง​อยู่ และ​เคลื่อน​ไหว​ได้​ก็​โดย​พระองค์ อย่าง​ที่​กวี​บาง​คน​ใน​พวก​ท่าน​ก็​กล่าว​ไว้​เช่น​กัน​ว่า ‘เพราะ​พระองค์​ทรง​เป็น​ผู้​ให้​กำเนิด​เรา​ทั้ง​หลาย​ด้วย.’ ฉะนั้น ใน​เมื่อ​พระองค์​ทรง​เป็น​ผู้​ให้​กำเนิด​เรา​ทั้ง​หลาย เรา​ทั้ง​หลาย​จึง​ไม่​ควร​คิด​ว่า​พระเจ้า​เป็น​เหมือน​ทอง เงิน หรือ​ก้อน​หิน.”—กิจ. 17:28, 29

เพื่อ​ผู้​ฟัง​ของ​ท่าน​จะ​สนใจ​และ​ยอม​รับ​สิ่ง​ที่​ท่าน​พูด เปาโล​ยก​บท​กวี​ที่​ชาว​เอเธนส์​รู้​จัก​และ​ยอม​รับ. คล้าย​กัน เรา​พยายาม​หา​จุด​ที่​เห็น​พ้อง​กัน​โดย​ชัก​เหตุ​ผล​จาก​สิ่ง​ที่​เรา​รู้​ว่า​ผู้​ฟัง​จะ​ยอม​รับ. ตัว​อย่าง​เช่น ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ที่​เปาโล​ใช้​ใน​จดหมาย​ที่​เขียน​ถึง​คริสเตียน​ชาว​ฮีบรู​นั้น​น่า​เชื่อถือ​ทั้ง​ใน​สมัย​โน้น​และ​ใน​สมัย​นี้ ที่​ว่า “บ้าน​ทุก​หลัง​ย่อม​มี​ผู้​สร้าง แต่​ผู้​ที่​สร้าง​สรรพสิ่ง​คือ​พระเจ้า.” (ฮีบรู 3:4) การ​ช่วย​ให้​เจ้าของ​บ้าน​เห็น​เหตุ​ผล​ใน​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ง่าย ๆ นี้​อาจ​ช่วย​พวก​เขา​ให้​ยอม​รับ​ว่า​สิ่ง​ที่​เรา​พูด​เป็น​ความ​จริง. ขอ​ให้​สังเกต​จาก​คำ​บรรยาย​ของ​เปาโล​เกี่ยว​กับ​องค์​ประกอบ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ของ​การ​สอน​ที่​มี​ประสิทธิภาพ คือ​การ​กระตุ้น​ใจ.

จง​เน้น​ถึง​ความ​เร่ง​ด่วน

เปาโล​กล่าว​ว่า “จริง​อยู่ พระเจ้า​ไม่​ทรง​ถือสา​มนุษย์​ใน​ยาม​ที่​พวก​เขา​ยัง​เขลา​อยู่ แต่​เดี๋ยว​นี้ พระองค์​ทรง​บอก​มนุษย์​ทุก​หน​แห่ง​ว่า​พวก​เขา​ควร​กลับ​ใจ​ทุก​คน. เพราะ​พระองค์​ทรง​กำหนด​วัน​หนึ่ง​ไว้​เพื่อ​จะ​พิพากษา​โลก​ด้วย​ความ​ชอบธรรม​โดย​ใช้​บุรุษ​ผู้​หนึ่ง​ซึ่ง​พระองค์​ทรง​แต่ง​ตั้ง.”—กิจ. 17:30, 31

การ​ที่​พระเจ้า​ทรง​อนุญาต​ให้​ความ​ชั่ว​มี​อยู่​ชั่ว​คราว​ทำ​ให้​เรา​ทุก​คน​มี​โอกาส​แสดง​ให้​พระองค์​เห็น​ว่า​มี​อะไร​อยู่​ใน​หัวใจ​เรา​อย่าง​แท้​จริง. เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​เรา​ต้อง​เน้น​ถึง​ความ​เร่ง​ด่วน​ของ​ยุค​สมัย​ของ​เรา​และ​พูด​อย่าง​มั่น​ใจ​เกี่ยว​กับ​พระ​พร​ใน​เรื่อง​การ​ปกครอง​ของ​ราชอาณาจักร ซึ่ง​เรา​จวน​จะ​ได้​รับ​อยู่​แล้ว.—2 ติโม. 3:1-5

ปฏิกิริยา​แตกต่าง​กัน

“เมื่อ​คน​เหล่า​นั้น​ได้​ยิน​เรื่อง​การ​ปลุก​คน​ตาย​ให้​เป็น​ขึ้น​มา บาง​คน​เยาะเย้ย แต่​บาง​คน​บอก​ว่า ‘พวก​เรา​จะ​ฟัง​ท่าน​พูด​เรื่อง​นี้​อีก​คราว​หน้า.’ เปาโล​จึง​ไป​จาก​พวก​เขา แต่​มี​บาง​คน​ตาม​เปาโล​ไป​และ​ได้​มา​เป็น​ผู้​เชื่อถือ.”—กิจ. 17:32-34

บาง​คน​ตอบรับ​เรื่อง​ที่​เรา​สอน​ทันที ส่วน​คน​อื่น ๆ อาจ​ขอ​เวลา​ก่อน​ที่​จะ​มั่น​ใจ​ใน​การ​ชัก​เหตุ​ผล​ของ​เรา. แต่​เมื่อ​เรา​อธิบาย​ความ​จริง​อย่าง​ชัดเจน​เข้าใจ​ง่าย​และ​ช่วย​สัก​คน​หนึ่ง​ให้​รับ​ความ​รู้​ถ่องแท้​ของ​พระ​ยะโฮวา เรา​รู้สึก​ขอบคุณ​สัก​เพียง​ไร​ที่​พระเจ้า​ใช้​เรา​ให้​ชัก​นำ​ผู้​คน​ให้​มา​หา​พระ​บุตร​ของ​พระองค์!—โย. 6:44

บทเรียน​ที่​เรา​ได้​รับ

เมื่อ​เรา​ใคร่ครวญ​คำ​บรรยาย​ของ​เปาโล เรา​สามารถ​เรียน​รู้​ได้​มาก​เกี่ยว​กับ​วิธี​อธิบาย​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​แก่​คน​อื่น ๆ. ถ้า​เรา​มี​สิทธิ​พิเศษ​ที่​จะ​บรรยาย​ใน​ประชาคม เรา​อาจ​พยายาม​ที่​จะ​เลียน​แบบ​เปาโล​โดย​ใช้​คำ​พูด​ที่​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา​ซึ่ง​จะ​ช่วย​ผู้​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​ให้​เข้าใจ​และ​ยอม​รับ​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. เรา​อยาก​สอน​ความ​จริง​อย่าง​ชัดเจน แต่​เรา​ต้อง​ระวัง​ที่​จะ​ไม่​ดูถูก​ความ​เชื่อ​ของ​ผู้​ที่​ยัง​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​ซึ่ง​เข้า​ร่วม​ประชุม​ด้วย. ขณะ​เดียว​กัน ใน​งาน​ประกาศ​เรา​พยายาม​โน้ม​น้าว​ใจ​ผู้​ฟัง​และ​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา. เมื่อ​ทำ​อย่าง​นั้น เรา​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล​ที่​ให้ ‘เอา​ใจ​ใส่​ใน​การ​สอน’ อย่าง​แท้​จริง.

[ภาพ​หน้า 30]

คำ​สอน​ของ​เปาโล​ชัดเจน, เข้าใจ​ง่าย, และ​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา

[ภาพ​หน้า 31]

เรา​เลียน​แบบ​เปาโล​โดย​คำนึง​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​เจ้าของ​บ้าน