“ท่านทั้งหลายจงคิดให้ดีว่าควรเป็นคนอย่างไร!”
“ท่านทั้งหลายจงคิดให้ดีว่าควรเป็นคนอย่างไร!”
“เนื่องจากสิ่งทั้งปวงนี้จะต้องสลายไปเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงคิดให้ดีว่าควรเป็นคนอย่างไร. ท่านทั้งหลายควรเป็นคนที่ประพฤติบริสุทธิ์และทำสิ่งที่แสดงว่าท่านเลื่อมใสพระเจ้า!”—2 เป. 3:11
1. เหตุใดจดหมายฉบับที่สองของเปโตรจึงเป็นคำกระตุ้นเตือนที่เหมาะกับเวลาสำหรับคริสเตียนในสมัยของท่าน?
เมื่ออัครสาวกเปโตรเขียนจดหมายฉบับที่สองของท่านซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจ ประชาคมคริสเตียนได้ทนรับการข่มเหงมากมาย แต่เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ความกระตือรือร้นของประชาคมลดลงหรือเติบโตช้าลง. ดังนั้น พญามารใช้อีกวิธีหนึ่งซึ่งก่อนหน้านั้นมันใช้ได้ผลมาหลายครั้งแล้ว. ดังที่เปโตรเปิดเผย ซาตานพยายามทำให้ประชาชนของพระเจ้าเสื่อมศีลธรรมโดยใช้ผู้สอนเท็จซึ่ง “นัยน์ตาพวกเขาฉายแววปรารถนาการเล่นชู้” และ “ชำนาญในการตอบสนองความโลภในใจตน.” (2 เป. 2:1-3, 14; ยูดา 4) ฉะนั้น จดหมายฉบับที่สองของเปโตรจึงเป็นคำกระตุ้นเตือนอย่างจริงจังให้รักษาความซื่อสัตย์.
2. สองเปโตรบท 3 เน้นเรื่องอะไร และเราควรถามตัวเองอย่างไร?
2 เปโตรเขียนว่า “ตราบที่ข้าพเจ้าอยู่ในร่างกายนี้ซึ่งเป็นเหมือนพลับพลา ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะกระตุ้นท่านทั้งหลายด้วยการเตือนสติพวกท่าน โดยรู้อยู่ว่าการถอดพลับพลาของข้าพเจ้าจะเกิดขึ้นในไม่ช้า . . . ดังนั้น ตอนนี้ข้าพเจ้าก็จะทำสุดกำลังเพื่อว่าเมื่อข้าพเจ้าจากไปแล้ว ท่านทั้งหลายจะกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้เองได้เสมอ.” (2 เป. 1:13-15) เปโตรรู้ว่าอีกไม่นานท่านจะเสียชีวิต แต่ท่านปรารถนาให้ข้อเตือนใจที่เหมาะกับเวลาของท่านคงอยู่ต่อไป. ที่จริง ข้อเตือนใจดังกล่าวกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิลและเราทุกคนในปัจจุบันสามารถอ่านได้. จดหมายฉบับที่สองของเปโตรในบทที่ 3 นับว่าน่าสนใจสำหรับเราเป็นพิเศษ เพราะเน้นในเรื่อง “สมัยสุดท้าย” ของระบบปัจจุบันและการทำลายฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกโดยนัย. (2 เป. 3:3, 7, 10) เปโตรให้คำแนะนำอะไรแก่เรา? การทำตามคำแนะนำของท่านจะช่วยให้เราได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวาอย่างไร?
3, 4. (ก) เปโตรกล่าวไว้อย่างไร และท่านให้คำเตือนอะไร? (ข) เราจะพิจารณาสามจุดอะไร?
3 หลังจากกล่าวถึงโลกของซาตานว่า จะต้องสลายไป เปโตรกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงคิดให้ดีว่า ควรเป็นคนอย่างไร. ท่านทั้งหลายควรเป็นคนที่ประพฤติบริสุทธิ์และทำสิ่งที่แสดงว่าท่านเลื่อมใสพระเจ้า!” (2 เป. 3:11, 12) เปโตรรู้ว่าเฉพาะคนที่ทำตามพระประสงค์ของพระยะโฮวาและแสดงคุณลักษณะที่พระเจ้าพอพระทัยเท่านั้นจึงจะได้ รับการพิทักษ์ผ่านพ้น “วันแห่งความแก้แค้นของพระยะโฮวา” ที่ใกล้จะถึง. (ยซา. 61:2) ด้วยเหตุนั้น ท่านอัครสาวกกล่าวเสริมว่า “ฉะนั้น พี่น้องที่รัก เมื่อมีความรู้เช่นนี้แล้ว จงระวังอย่าถูกชักนำด้วยเรื่องเท็จของคนที่ฝ่าฝืนกฎหมายจนหลงไปกับพวกเขา [ผู้สอนเท็จ] แล้วไม่ยืนหยัดมั่นคงอีกต่อไป.”—2 เป. 3:17
4 เนื่องจากอยู่ในกลุ่มคนที่ “มีความรู้เช่นนั้นแล้ว” เปโตรรู้ว่าในสมัยสุดท้ายคริสเตียนจะต้องระวังเป็นพิเศษเพื่อจะสามารถรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง. ต่อมา อัครสาวกโยฮันอธิบายอย่างชัดเจนว่าเพราะเหตุใด. ท่านเห็นล่วงหน้าว่าซาตานถูกขับออกจากสวรรค์และมัน “โกรธยิ่งนัก” เพราะคนที่ “ทำตามข้อบัญญัติของพระเจ้าและทำงานเป็นพยานฝ่ายพระเยซู.” (วิ. 12:9, 12, 17) ผู้ถูกเจิมที่ภักดีของพระเจ้าและ “แกะอื่น” ที่ซื่อสัตย์จะได้รับชัยชนะ. (โย. 10:16) แต่จะว่าอย่างไรสำหรับเราแต่ละคน? เราจะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงไหม? เราจะได้รับการช่วยเหลือให้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงถ้าเราพยายาม (1) พัฒนาคุณลักษณะที่พระเจ้าพอพระทัย (2) รักษาตัวให้ปราศจากด่างพร้อยและไร้มลทินทางศีลธรรมและฝ่ายวิญญาณ และ (3) มีทัศนะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทดสอบ. ให้เรามาพิจารณาสามจุดนี้ด้วยกัน.
จงพัฒนาคุณลักษณะที่พระเจ้าพอพระทัย
5, 6. เราควรพยายามพัฒนาคุณลักษณะอะไรบ้าง และเหตุใดจำเป็นต้อง “พยายามอย่างจริงจัง” ในเรื่องนี้?
5 เปโตรเขียนในตอนต้น ๆ ของจดหมายฉบับที่สองว่า “เพื่อตอบสนองพระองค์ ให้ท่านทั้งหลายพยายามอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มความเชื่อของท่านด้วยคุณความดี เพิ่มคุณความดีด้วยความรู้ เพิ่มความรู้ด้วยการควบคุมตนเอง เพิ่มการควบคุมตนเองด้วยความเพียรอดทน เพิ่มความเพียรอดทนด้วยความเลื่อมใสพระเจ้า เพิ่มความเลื่อมใสพระเจ้าด้วยความรักใคร่ฉันพี่น้อง เพิ่มความรักใคร่ฉันพี่น้องด้วยความรักต่อทุกคน. เพราะถ้าท่านทั้งหลายมีสิ่งเหล่านี้และมีอย่างล้นเหลือ นั่นจะป้องกันพวกท่านไว้จากการอยู่เฉย ๆ หรือไม่ใช้ความรู้ถ่องแท้ในเรื่องพระเยซูคริสต์เจ้าของเราให้เกิดผล.”—2 เป. 1:5-8
6 จริงอยู่ เพื่อจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยเราพัฒนาคุณลักษณะที่พระเจ้าพอพระทัย เราต้อง “พยายามอย่างจริงจัง.” ตัวอย่างเช่น เราต้องพยายามเพื่อเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนทุกรายการ, อ่านคัมภีร์ไบเบิลทุก ๆ วัน, และรักษาตารางการศึกษาส่วนตัวที่ดี. และเราอาจจำเป็นต้องพยายามอย่างมากและต้องวางแผนอย่างดีเพื่อจะนมัสการกับครอบครัวในตอนเย็นแบบที่น่ายินดีและให้ประโยชน์เป็นประจำ. แต่เมื่อเราทำจนเป็นกิจวัตรได้เมื่อไร การทำสิ่งที่ดีเหล่านี้ก็จะทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเราเห็นว่ามีผลประโยชน์หลายอย่าง.
7, 8. (ก) บางคนกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับการนมัสการประจำครอบครัวในตอนเย็น? (ข) คุณได้รับประโยชน์อย่างไรจากการนมัสการประจำครอบครัวของคุณ?
7 พี่น้องหญิงคนหนึ่งเขียนเกี่ยวกับการจัดเตรียมในเรื่องการนมัสการประจำครอบครัวว่า “การนมัสการประจำครอบครัวทำให้เราได้เรียนรู้หลายเรื่อง.” พี่น้องหญิงอีกคนหนึ่งกล่าวว่า “พูดตรง ๆ เลยนะว่าดิฉันไม่อยากให้เลิกกลุ่มการศึกษาหนังสือประจำประชาคมเลย. นั่นเป็นการประชุมที่ดิฉันชอบเป็นพิเศษ. แต่เดี๋ยวนี้ เมื่อครอบครัวเรามีการนมัสการประจำครอบครัวในตอนเย็นด้วยกัน ดิฉันรู้แล้วล่ะว่าพระยะโฮวาทรงทราบว่าเราจำเป็นต้องได้รับอะไรและเมื่อไรที่เราจำเป็นต้องได้รับ.” ประมุขของครอบครัวหนึ่งกล่าวว่า “การนมัสการประจำครอบครัวช่วยเราอย่างมากทีเดียว. การปรับการศึกษาครอบครัวให้เข้ากับความจำเป็นเฉพาะอย่างของเราในฐานะคู่สมรสเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก! เราทั้งสองรู้สึกว่าเรากำลังพัฒนาผลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ และเรามีความยินดีในงานรับใช้มากขึ้นกว่าเดิม.” ประมุขของอีกครอบครัวหนึ่งกล่าวว่า “ลูก ๆ ของเราค้นคว้าด้วยตนเองและได้เรียนรู้มากมาย—และพวกเขาชอบการศึกษาอย่างนี้. การจัดเตรียมนี้ทำให้เราเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นว่าพระยะโฮวาทรงรู้ว่าเราเป็นห่วงในเรื่องอะไรและทรงตอบคำอธิษฐานของเรา.” คุณมีความรู้สึกคล้าย ๆ กันนั้นไหมต่อการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณที่ดีเยี่ยมนี้?
8 อย่าปล่อยให้สิ่งที่สำคัญน้อยกว่าขัดขวางการนมัสการประจำครอบครัว. คู่สมรสคู่หนึ่งกล่าวว่า “ในสี่สัปดาห์ที่ผ่านไป เมื่อถึงเย็นวันพฤหัสฯ ที่เรากำหนดไว้สำหรับการนมัสการ
ประจำครอบครัวเป็นต้องมีเรื่องที่จะทำให้เราไม่ได้ศึกษากันทุกที แต่เราไม่ยอมให้เรื่องเหล่านั้นมาขัดขวางการศึกษาของเรา.” แน่นอน บางครั้งคุณอาจต้องปรับตารางเวลาของคุณ. แต่จงตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ยกเลิกการนมัสการประจำครอบครัวของคุณ—แม้แต่เพียงสัปดาห์เดียว!9. การค้ำจุนจากพระยะโฮวาช่วยยิระมะยาห์อย่างไร และเราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของท่าน?
9 ผู้พยากรณ์ยิระมะยาห์เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเรา. ท่านจำเป็นต้องได้รับการค้ำจุนฝ่ายวิญญาณอย่างที่ท่านได้รับจากพระยะโฮวาและท่านเห็นค่าการค้ำจุนนั้นอย่างยิ่ง. โดยได้รับการค้ำจุนเช่นนั้น ท่านจึงสามารถประกาศอย่างอดทนแก่ชนชาติที่ไม่ตอบรับ. ท่านกล่าวว่า “คำของพระยะโฮวาเป็น . . . เหมือนอย่างไฟปิดไว้ในกะดูกทั้งปวงของตัวข้าพเจ้า.” (ยิระ. 20:8, 9) การค้ำจุนที่ท่านได้รับยังช่วยท่านให้อดทนอีกด้วยในช่วงเวลาที่ยุ่งยากลำบากซึ่งถึงขีดสุดเมื่อกรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย. ปัจจุบัน เรามีพระคำของพระเจ้าที่เป็นลายลักษณ์อักษรครบชุด. เมื่อเราศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างขยันขันแข็งและมีทัศนะแบบเดียวกับพระเจ้า เราก็จะเหมือนกับยิระมะยาห์ คือสามารถอดทนด้วยความยินดีในการทำงานรับใช้, รักษาความซื่อสัตย์อยู่เสมอแม้ถูกทดสอบ, และรักษาตัวให้สะอาดทางศีลธรรมและฝ่ายวิญญาณเสมอ.—ยโก. 5:10
จงรักษาตัวให้ “ปราศจากด่างพร้อยและตำหนิ”
10, 11. เพราะเหตุใดเราต้องพยายามสุดกำลังเพื่อจะรักษาตัวให้ “ปราศจากด่างพร้อยและตำหนิ” และเราจำเป็นต้องทำอะไร?
10 ในฐานะคริสเตียน เรารู้ว่าเรากำลังมีชีวิตอยู่ในเวลาอวสาน. ด้วยเหตุนั้น เราไม่แปลกใจที่โลกหมกมุ่นอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาทรงเกลียดชัง เช่น ความละโมบ, ความเสื่อมทรามทางเพศ, และความรุนแรง. ยุทธวิธีของซาตานอาจสรุปได้อย่างนี้: ‘ถ้าไม่สามารถทำให้ผู้รับใช้ของพระเจ้ากลัว ก็อาจทำให้พวกเขาเสื่อมศีลธรรมได้.’ (วิ. 2:13, 14) ด้วยเหตุนั้น เราต้องจดจำคำเตือนด้วยความรักของเปโตรที่ว่า “จงพยายามสุดกำลัง เพื่อในที่สุด [พระเจ้า] จะทรงเห็นว่าพวกท่านปราศจากด่างพร้อยและตำหนิ และมีสันติสุข.”—2 เป. 3:14
11 วลีที่ว่า “พยายามสุดกำลัง” คล้ายกับคำกระตุ้นเตือนของเปโตรที่กล่าวไปแล้วซึ่งสนับสนุนเราให้ “พยายามอย่างจริงจัง.” เห็นได้ชัด พระยะโฮวา ผู้ทรงดลใจเปโตรให้กล่าวเช่นนั้น ทรงรู้ว่าเราจำเป็นต้องพยายามเต็มที่เพื่อจะสามารถรักษาตัวให้ “ปราศจากด่างพร้อยและตำหนิ” ไม่แปดเปื้อนมลทินจากโลกของซาตาน. การพยายามเต็มที่เช่นนั้นรวมถึงการที่เราปกป้องหัวใจของเราไว้ไม่ให้ถูกครอบงำโดยความปรารถนาผิด ๆ. (อ่านสุภาษิต 4:23; ยาโกโบ 1:14, 15) การทำเช่นนั้นยังรวมถึงการยืนหยัดมั่นคงขณะที่เรารับมือกับคนที่ประหลาดใจเกี่ยวกับแนวทางชีวิตของเราในฐานะคริสเตียนและคนที่ “กล่าวร้าย [เรา] อยู่เรื่อยไป.”—1 เป. 4:4
12. เราพบคำรับรองอะไรที่ลูกา 11:13?
12 เพราะเราเป็นคนไม่สมบูรณ์ เราจึงต้องพยายามอย่างมากเพื่อจะทำสิ่งที่ถูกต้อง. (โรม 7:21-25) เราสามารถมั่นใจได้ว่าจะประสบความสำเร็จถ้าเราหมายพึ่งพระยะโฮวา ผู้ประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วยพระทัยกว้างแก่คนที่ทูลขอพระองค์อย่างจริงใจ. (ลูกา 11:13) แล้วพระวิญญาณก็จะช่วยเราพัฒนาคุณลักษณะต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงพอพระทัยและเป็นคุณลักษณะที่ช่วยเราให้รับมือได้ไม่เฉพาะการล่อใจที่เกิดขึ้นในชีวิตเท่านั้น แต่จะช่วยเราให้รับมือกับการทดสอบต่าง ๆ ด้วย ซึ่งคงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่วันของพระยะโฮวาใกล้เข้ามา.
จงให้การทดสอบต่าง ๆ ทำให้คุณเข้มแข็งขึ้น
13. เมื่อเราประสบกับการทดสอบต่าง ๆ ในชีวิต อะไรจะช่วยให้เราอดทนได้?
13 ตราบเท่าที่เรามีชีวิตในระบบเก่านี้ เป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องพบกับการทดสอบไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง. แต่แทนที่จะท้อแท้ใจ เราน่าจะมองการทดสอบเหล่านั้นว่าเป็นโอกาสที่จะยืนยันความรักที่เรามีต่อพระเจ้าและเสริมความเชื่อที่เรามีต่อพระองค์และพระคำของพระองค์ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นมิใช่หรือ? สาวกยาโกโบเขียนว่า “พี่น้องของข้าพเจ้า เมื่อพวกท่านประสบการทดสอบต่าง ๆ จงถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เพราะพวกท่านรู้ว่าความเชื่อของพวกท่านที่ผ่านการทดสอบแล้วนั้นทำให้เกิดความเพียรอดทน.” (ยโก. 1:2-4) ขอให้จำไว้ด้วยว่า “พระยะโฮวาทรงรู้วิธีช่วยคนที่เลื่อมใสพระองค์ให้รอดชีวิตจากการทดสอบ.”—2 เป. 2:9
14. ตัวอย่างของโยเซฟกระตุ้นใจคุณอย่างไร?
14 ขอให้พิจารณาตัวอย่างของโยเซฟ บุตรชายของยาโคบ ซึ่งถูกพี่ชายของตัวเองขายไปเป็นทาส. (เย. 37:23-28; 42:21) โยเซฟสูญเสียความเชื่อเพราะการกระทำอันโหดร้ายนั้นไหม? ท่านรู้สึกขมขื่นที่พระเจ้าทรงยอมให้เกิดเรื่องร้าย ๆ แก่ท่านไหม? พระคำของพระเจ้าให้คำตอบไว้อย่างชัดเจนว่าไม่เป็นอย่างนั้นเลย! นอกจากนั้น โยเซฟไม่ได้ถูกทดสอบเพียงแค่นั้น. ในเวลาต่อมา ท่านถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ ว่าพยายามข่มขืนและถูกจำคุก. อย่างไรก็ตาม อีกครั้งหนึ่งที่ท่านแสดงความเลื่อมใสพระเจ้าอย่างมั่นคง. (เย. 39:9-21) ท่านให้การทดสอบเหล่านั้นทำให้ท่านเข้มแข็งยิ่งขึ้น และท่านได้รับบำเหน็จอย่างอุดมจากการทำอย่างนี้.
15. เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของนาอะมี?
15 จริงอยู่ การทดสอบอาจทำให้เราเศร้าใจหรือแม้แต่ซึมเศร้า. โยเซฟอาจรู้สึกอย่างนั้นในบางครั้ง. ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าบางคนรู้สึกอย่างนั้น. ขอให้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับนาอะมี ซึ่งสูญเสียทั้งสามีและบุตรชายสองคน. เธอกล่าวว่า “อย่าเรียกฉันว่านาอะมี (สุข), จงเรียกว่ามารา (ขม), ด้วยว่าท่านผู้ทรงฤทธิ์ได้ทรงกระทำต่อฉันอย่างสาหัส.” (รูธ. 1:20, 21) เป็นเรื่องปกติธรรมดาและเข้าใจได้ที่นาอะมีแสดงปฏิกิริยาอย่างนั้น. แต่เช่นเดียวกับโยเซฟ เธอไม่สูญเสียความเชื่อในพระเจ้าและรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง. เมื่อเป็นอย่างนั้น พระยะโฮวาจึงประทานบำเหน็จแก่สตรีที่ดีเยี่ยมผู้นี้. (รูธ. 4:13-17, 22) ยิ่งกว่านั้น ในอุทยานบนแผ่นดินโลกในอนาคต พระองค์จะทรงแก้ไขผลเสียหายทุกอย่างที่ซาตานและโลกชั่วของมันทำให้เกิดขึ้น. “สิ่งเก่าก่อนนั้นจะไม่จำกันหรือนึกได้อีก.”—ยซา. 65:17, ฉบับ R73
16. เราควรมีทัศนคติอย่างไรในเรื่องการอธิษฐาน และเพราะเหตุใด?
16 ไม่ว่าเราเผชิญกับการทดสอบเช่นไร การรู้ว่าพระเจ้าทรงรักเราเสมอจะช่วยเราให้อดทนได้. (อ่านโรม 8:35-39) แม้ว่าซาตานจะไม่เลิกพยายามทำให้เราท้อใจ แต่มันจะไม่ ประสบความสำเร็จถ้าเรา “มีสติ” และ “คอยตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน” อยู่เสมอ. (1 เป. 4:7) พระเยซูตรัสว่า “ฉะนั้น จงเฝ้าระวังและทูลวิงวอนอยู่เสมอเพื่อเจ้าทั้งหลายจะหนีพ้นสิ่งทั้งปวงนี้ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นและยืนอยู่ต่อหน้าบุตรมนุษย์ได้.” (ลูกา 21:36) โปรดสังเกตว่าพระเยซูทรงใช้คำ “ทูลวิงวอน” ซึ่งเป็นการอธิษฐานแบบหนึ่งที่จริงจังอย่างยิ่ง. ด้วยการแนะนำเราให้ทูลวิงวอน พระเยซูทรงเน้นว่านี่เป็นเวลาที่จะต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องฐานะของเราต่อพระองค์และพระบิดาของพระองค์. เฉพาะคนที่พระเจ้าทรงพอพระทัยเท่านั้นจึงจะมีความหวังที่จะรอดผ่านวันของพระยะโฮวา.
จงขันแข็งอยู่เสมอในการรับใช้พระยะโฮวา
17. ถ้าเขตงานของคุณประกาศได้ยาก คุณอาจได้ประโยชน์อย่างไรจากตัวอย่างที่ดีของผู้พยากรณ์ในสมัยโบราณ?
17 การมีส่วนร่วมในกิจกรรมฝ่ายวิญญาณทำให้เราสดชื่น. นี่ทำให้เรานึกถึงคำพูดของเปโตรที่ว่า “ท่านทั้งหลายจงคิดให้ดีว่าควรเป็นคนอย่างไร. ท่านทั้งหลายควรเป็นคนที่ประพฤติ บริสุทธิ์ และทำ สิ่งที่แสดงว่าท่านเลื่อมใสพระเจ้า!” (2 เป. 3:11) สิ่งสำคัญที่สุดในบรรดาสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องทำคือการประกาศข่าวดี. (มัด. 24:14) จริงอยู่ งานประกาศในบางเขตอาจเป็นเรื่องท้าทาย ซึ่งอาจเป็นเพราะความไม่แยแสหรือการต่อต้านหรือเพียงเพราะผู้คนหมกมุ่นอยู่กับความกังวลในชีวิตประจำวัน. ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในสมัยโบราณต้องรับมือกับทัศนคติคล้าย ๆ กัน. กระนั้น พวกเขาไม่เคยท้อถอยแต่กลับไป “ครั้งแล้วครั้งเล่า” เพื่อบอกข่าวสารที่พระเจ้าโปรดประทาน. (อ่าน 2 โครนิกา 36:15, 16, ล.ม. *; ยิระ. 7:24-26) อะไรช่วยพวกเขาให้อดทน? พวกเขามองงานมอบหมายจากมุมมองของพระยะโฮวา ไม่ใช่จากมุมมองของโลก. นอกจากนั้น พวกเขาถือว่าเป็นเกียรติสูงสุดที่ถูกเรียกตามพระนามของพระเจ้า.—ยิระ. 15:16
18. งานประกาศข่าวราชอาณาจักรจะมีผลกระทบเช่นไรต่อการสรรเสริญพระนามของพระเจ้าในอนาคต?
18 เราเองก็มีสิทธิพิเศษในการประกาศพระนามพระยะโฮวาและพระประสงค์ของพระองค์. ขอให้คิดอย่างนี้: ผลโดยตรงที่เกิดจากงานประกาศของเราก็คือ ศัตรูของพระเจ้าจะไม่สามารถอ้างได้ว่าพวกเขาไม่รู้เมื่อพวกเขาให้การต่อพระองค์ในวันใหญ่ของพระองค์. ที่จริง เช่นเดียวกับฟาโรห์ในสมัยโบราณ พวกเขาจะรู้ว่าพระยะโฮวาคือผู้ที่พิพากษาพวกเขา. (เอ็ก. 8:1, 20; 14:25) ในเวลาเดียวกัน พระยะโฮวาจะทรงให้เกียรติผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ด้วยการทำให้เห็นชัดอย่างยิ่งว่า จริง ๆ แล้วพวกเขาเป็นผู้แทนของพระองค์.—อ่านยะเอศเคล 2:5; 33:33
19. เราจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าเราปรารถนาจะใช้ความอดทนของพระยะโฮวาให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่?
19 ในตอนท้าย ๆ ของจดหมายฉบับที่สอง เปโตรเขียนถึงเพื่อนร่วมความเชื่อว่า “จงถือว่าความอดทนขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นความรอด.” (2 เป. 3:15) ใช่แล้ว ขอให้เราใช้ความอดทนของพระยะโฮวาให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่. เราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร? โดยพัฒนาคุณลักษณะที่พระเจ้าพอพระทัย, รักษาตัวให้ “ปราศจากด่างพร้อยและตำหนิ”, มีทัศนะที่ถูกต้องต่อการทดสอบ, และขยันขันแข็งในงานราชอาณาจักร. โดยการทำอย่างนั้น เรามีโอกาสได้รับพระพรอันไม่รู้สิ้นสุดที่เกี่ยวข้องกับ “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่.”—2 เป. 3:13
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 17 2 โครนิกา 36:15, 16 (ล.ม.): “พระยะโฮวาพระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของพวกเขาทรงใช้พวกผู้ส่งข่าวของพระองค์มาเตือนพวกเขาครั้งแล้วครั้งเล่าเพราะพระองค์ทรงสงสารประชาชนของพระองค์และพระนิเวศของพระองค์. แต่พวกเขาล้อเลียนผู้ส่งข่าวของพระเจ้าเที่ยงแท้และดูถูกคำตรัสของพระองค์และเยาะเย้ยผู้พยากรณ์ของพระองค์อยู่เรื่อย ๆ จนพระยะโฮวาทรงพระพิโรธประชาชนของพระองค์อย่างยิ่ง พวกเขาไม่มีทางเยียวยาแล้ว.”
คุณจำได้ไหม?
• เราจะพัฒนาคุณลักษณะที่พระเจ้าพอพระทัยได้อย่างไร?
• เราจะรักษาตัวให้ “ปราศจากด่างพร้อยและตำหนิ” ได้อย่างไร?
• เราเรียนอะไรได้จากโยเซฟและนาอะมี?
• เหตุใดการมีส่วนร่วมในงานประกาศเป็นสิทธิพิเศษอันใหญ่หลวง?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 9]
อะไรจะช่วยคุณผู้เป็นสามีให้ปลูกฝังคุณลักษณะที่พระเจ้าพอพระทัยในตัวคุณและครอบครัว?
[ภาพหน้า 10]
เราเรียนอะไรได้จากวิธีที่โยเซฟรับมือกับการทดสอบต่าง ๆ?