“พระวิญญาณสืบค้น . . . สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า”
“พระวิญญาณสืบค้น . . . สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า”
“พระวิญญาณสืบค้นทุกสิ่ง แม้แต่สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า.”—1 โค. 2:10
1. เปาโลเน้นบทบาทอะไรของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ 1 โครินท์ 2:10 และเกิดมีคำถามอะไรขึ้น?
เรารู้สึกขอบคุณสักเพียงไรสำหรับการดำเนินกิจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา! พระคัมภีร์กล่าวถึงพระวิญญาณว่าเป็นผู้ช่วย, ของประทาน, พยาน, และผู้ที่ขอแทนเรา. (โย. 14:16; กิจ. 2:38; โรม 8:16, 26, 27) อัครสาวกเปาโลเน้นบทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่งของพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่า “พระวิญญาณสืบค้นทุกสิ่ง แม้แต่สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า.” (1 โค. 2:10) ที่จริง พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์เพื่อเปิดเผยความจริงฝ่ายวิญญาณอันลึกซึ้ง. ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างนี้ เราจะมีความเข้าใจขนาดไหนในเรื่องพระประสงค์ของพระยะโฮวา? (อ่าน 1 โครินท์ 2:9-12) อย่างไรก็ตาม เกิดมีคำถามขึ้นมาหลายข้อ เช่น ‘พระวิญญาณสืบค้นสิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า’ อย่างไร? พระยะโฮวาทรงเปิดเผยสิ่งเหล่านี้ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราชโดยทางใคร? พระวิญญาณสืบค้นสิ่งลึกซึ้งเหล่านี้ในสมัยของเราอย่างไรและโดยทางใคร?
2. พระวิญญาณดำเนินกิจอย่างไรในสองวิธี?
2 พระเยซูทรงระบุสองวิธีที่พระวิญญาณจะดำเนินกิจ. ไม่นานก่อนจะสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงบอกเหล่าสาวกว่า “ผู้ช่วย คือพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งพระบิดาจะทรงใช้มาในนามของเรานั้นจะสอนพวกเจ้าทุกสิ่งและจะช่วยพวกเจ้าให้ระลึกถึงทุกสิ่งที่เราได้บอกพวกเจ้าไว้.” (โย. 14:26) ด้วยเหตุนั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทำหน้าที่เป็นครูและผู้เตือนความจำ. ในฐานะครู พระวิญญาณบริสุทธิ์จะช่วยคริสเตียน ให้เข้าใจสิ่งที่เมื่อก่อนเขาไม่เข้าใจ. ในฐานะผู้เตือนความจำ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะช่วยพวกเขาให้ระลึกและนำความรู้ที่ได้รับการอธิบายไปใช้อย่างถูกต้อง.
ในศตวรรษแรก
3. คำตรัสอะไรของพระเยซูที่ชี้ว่า “สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า” จะได้รับการเปิดเผยทีละเล็กทีละน้อย?
3 พระเยซูเองทรงสอนความจริงแก่เหล่าสาวกหลายเรื่องที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขา. แต่ก็ยังมีอีกมากที่พวกเขาต้องเรียนรู้. พระเยซูทรงบอกเหล่าอัครสาวกว่า “เรายังมีอีกหลายเรื่องที่จะบอกพวกเจ้า แต่ตอนนี้พวกเจ้ายังไม่อาจเข้าใจได้. แต่เมื่อผู้ช่วย คือพระวิญญาณแห่งความจริงนั้นมาถึง ผู้ช่วยนั้นจะช่วยพวกเจ้าให้เข้าใจความจริงทั้งหมด.” (โย. 16:12, 13) ดังนั้น พระเยซูทรงชี้ว่าสิ่งฝ่ายวิญญาณที่ลึกซึ้งจะได้รับการเปิดเผยทีละเล็กทีละน้อยโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์.
4. ในวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 พระวิญญาณบริสุทธิ์ทำหน้าที่ในฐานะครูและผู้เตือนความจำอย่างไร?
4 ในวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 “พระวิญญาณแห่งความจริง” มาถึง โดยถูกเทลงบนคริสเตียนประมาณ 120 คนที่มาชุมนุมกันในกรุงเยรูซาเลม. มีหลักฐานที่ได้ยินและมองเห็นได้ในเรื่องนี้. (กิจ. 1:4, 5, 15; 2:1-4) เหล่าสาวกพูดภาษาต่าง ๆ “ถึงราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า.” (กิจ. 2:5-11) ตอนนี้เป็นเวลาที่จะเปิดเผยบางสิ่งที่เป็นเรื่องใหม่. ผู้พยากรณ์โยเอลได้บอกล่วงหน้าถึงการเทพระวิญญาณบริสุทธิ์นี้. (โยเอล 2:28-32) ผู้ที่เห็นเหตุการณ์เป็นพยานถึงความสำเร็จเป็นจริงในวิธีที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และอัครสาวกเปโตรก็เริ่มอธิบายเหตุการณ์นี้. (อ่านกิจการ 2:14-18) โดยวิธีนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทำหน้าที่เป็นครูโดยช่วยเปโตรให้เข้าใจชัดว่าสิ่งที่เหล่าสาวกประสบเป็นความสำเร็จของคำพยากรณ์เก่าแก่นั้น. พระวิญญาณยังทำหน้าที่เป็นผู้เตือนความจำด้วย เพราะเปโตรไม่ได้ยกข้อความจากหนังสือโยเอลเท่านั้น แต่ยังยกข้อความจากเพลงสรรเสริญของดาวิดอีกสองบทด้วย. (เพลง. 16:8-11; 110:1; กิจ. 2:25-28, 34, 35) สิ่งที่คนทั้งปวงที่มาชุมนุมกันได้เห็นและได้ยินนั้นเป็นสิ่งลึกซึ้งของพระเจ้าจริง ๆ.
5, 6. (ก) หลังจากวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 มีคำถามสำคัญ ๆ อะไรบ้างเกี่ยวกับสัญญาใหม่ที่ต้องได้รับคำตอบ? (ข) ใครเป็นผู้หยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา และมีการตัดสินกันอย่างไร?
5 มีหลายเรื่องที่คริสเตียนในศตวรรษแรกยังคงต้องได้รับคำอธิบาย. ตัวอย่างเช่น มีคำถามเกี่ยวกับสัญญาใหม่ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันเพนเทคอสต์นั้น. สัญญาใหม่นั้นใช้เฉพาะกับชาวยิวและผู้เปลี่ยนมาถือศาสนายิวเท่านั้นไหม? ชนต่างชาติสามารถถูกรับเข้าสู่สัญญาใหม่นั้นและได้รับการเจิมโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วยไหม? (กิจ. 10:45) ชนต่างชาติที่เป็นผู้ชายต้องยอมปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซและรับสุหนัตก่อนไหม? (กิจ. 15:1, 5) คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่สำคัญมาก. จำเป็นต้องมีพระวิญญาณของพระยะโฮวาเพื่อจะสืบค้นเรื่องลึกซึ้งเหล่านี้. แต่พระวิญญาณนั้นจะดำเนินกิจโดยทางใคร?
6 พี่น้องชายที่มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นผู้หยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณา. เปโตร, เปาโล, และบาร์นาบัสอยู่ด้วยในการประชุมของคณะกรรมการปกครองและเล่าถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงหันมาให้ความสนใจชนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัต. (กิจ. 15:7-12) หลังจากพิจารณาหลักฐานนี้ประกอบกับสิ่งที่มีระบุไว้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูและด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ คณะกรรมการปกครองก็ตัดสินประเด็นดังกล่าว. จากนั้น พวกเขาก็แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ประชาคมต่าง ๆ ทราบเกี่ยวกับการตัดสินนั้น.—อ่านกิจการ 15:25-30; 16:4, 5; เอเฟ. 3:5, 6
7. ความจริงอันลึกซึ้งได้รับการเปิดเผยโดยทางใด?
7 เรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่องได้รับความกระจ่างโดยทางข้อเขียนของโยฮัน, เปโตร, ยาโกโบ, และเปาโล ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจ. แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งหลังจากที่พระคัมภีร์คริสเตียนครบถ้วนแล้ว ของประทานในการพยากรณ์และความรู้ที่ได้รับการเปิดเผยอย่างอัศจรรย์ก็ยุติลง. (1 โค. 13:8) พระวิญญาณจะยังคงทำหน้าที่เป็นครูและผู้เตือนความจำอยู่ต่อไปไหม? พระวิญญาณจะยังช่วยคริสเตียนให้สืบค้นสิ่งลึกซึ้งของพระเจ้าต่อไปไหม? คำพยากรณ์เผยให้เห็นว่าพระวิญญาณจะยังทำอย่างนั้นต่อไป.
ในช่วงสมัยสุดท้าย
8, 9. ใครจะ “ส่องแสง” ด้วยความหยั่งเห็นเข้าใจฝ่ายวิญญาณในช่วงเวลาอวสาน?
8 เมื่อกล่าวถึงสมัยสุดท้าย ทูตสวรรค์องค์หนึ่งบอกล่วงหน้าว่า “ผู้ที่มีความหยั่งเห็นเข้าใจจะส่องแสงเหมือนแสงสว่างแห่งท้องฟ้า; และผู้ที่นำหลายคนมาสู่ความชอบธรรม เหมือนดวงดาวจนถึงเวลาไม่กำหนด จนกระทั่งตลอดกาล. . . . และความรู้แท้จะมีอุดมบริบูรณ์.” (ดานิ. 12:3, 4, ล.ม.) ใครจะเป็นคนที่มีความหยั่งเห็นเข้าใจ และใครจะส่องแสง? พระเยซูทรงให้เบาะแสอย่างหนึ่งในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องข้าวสาลีกับวัชพืช. พระองค์ตรัสเกี่ยวกับ “ช่วงสุดท้ายของยุค” ว่า “ในเวลานั้นผู้ชอบธรรมจะส่องแสงจ้าดุจดวงอาทิตย์ในราชอาณาจักรของพระบิดาของพวกเขา.” (มัด. 13:39, 43) ในคำอธิบายของพระองค์ พระเยซูทรงระบุว่า “ผู้ชอบธรรม” ได้แก่ “เหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักร” ซึ่งก็คือคริสเตียนผู้ถูกเจิม.—มัด. 13:38
9 คริสเตียนผู้ถูกเจิมทั้งหมดจะ “ส่องแสง” ไหม? เป็นเช่นนั้นจริงในแง่หนึ่ง เพราะคริสเตียนทุกคนจะเข้าร่วมในการประกาศ, ในงานสอนคนให้เป็นสาวก, และในการส่งเสริมกันให้เจริญขึ้น ณ การประชุม. ผู้ถูกเจิมจะวางแบบอย่างในเรื่องเหล่านี้. (ซคา. 8:23) อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว สิ่งลึกซึ้งทั้งหลายจะได้รับการเปิดเผยในเวลาอวสาน. คำพยากรณ์ที่ดานิเอลบันทึกไว้นั้นถูก “ประทับตราเก็บไว้” จนกว่าจะถึงเวลาดังกล่าว. (ดานิ. 12:) พระวิญญาณจะสืบค้นสิ่งลึกซึ้งอย่างไรและโดยทางใคร? 9
10. (ก) ในสมัยสุดท้ายนี้พระวิญญาณเปิดเผยความจริงที่ลึกซึ้งโดยทางใคร? (ข) จงอธิบายว่าความจริงเกี่ยวกับพระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาได้รับการอธิบายอย่างชัดเจนอย่างไร.
10 เมื่อถึงเวลาที่จะอธิบายเรื่องฝ่ายวิญญาณในสมัยของเรา พระวิญญาณบริสุทธิ์ก็ช่วยตัวแทนที่มีหน้าที่รับผิดชอบของ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ที่สำนักงานใหญ่ให้เข้าใจความจริงที่ลึกซึ้ง ซึ่งเมื่อก่อนพวกเขาไม่เข้าใจ. (มัด. 24:45; 1 โค. 2:13) คณะกรรมการปกครองทั้งคณะพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่มีการปรับเปลี่ยน. (กิจ. 15:6) พวกเขาจัดพิมพ์สิ่งที่ได้พิจารณาค้นคว้าเพื่อประโยชน์ของทุกคน. (มัด. 10:27) เมื่อเวลาผ่านไป อาจมีความจำเป็นต้องอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งพวกเขาก็จะทำอย่างตรงไปตรงมาด้วย.—โปรดดูกรอบ “วิธีที่พระวิญญาณเปิดเผยความหมายของพระวิหารฝ่ายวิญญาณ.”
รับประโยชน์จากบทบาทของพระวิญญาณในทุกวันนี้
11. คริสเตียนทุกคนในทุกวันนี้ได้รับประโยชน์อย่างไรจากบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการเปิดเผยสิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า?
11 คริสเตียนที่ซื่อสัตย์ทุกคนได้รับประโยชน์จากบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการเปิดเผยสิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า. เช่นเดียวกับคริสเตียนในศตวรรษแรก เราในทุกวันนี้ศึกษาและในภายหลังก็นึกถึงเรื่องนั้นได้และใช้ข้อมูลที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเราให้เข้าใจ. (ลูกา 12:11, 12) เราไม่จำเป็นต้องรับการศึกษาขั้นสูงเพื่อจะเข้าใจความจริงฝ่ายวิญญาณอันลึกซึ้งที่ทาสสัตย์ซื่อได้จัดพิมพ์. (กิจ. 4:13) เราจะปรับปรุงความเข้าใจของเราในเรื่องสิ่งลึกซึ้งของพระเจ้าได้อย่างไร? ขอให้พิจารณาข้อเสนอแนะบางประการ.
12. เราควรอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อไร?
12 จงอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์. ก่อนที่เราจะพิจารณาเรื่องในพระคัมภีร์ เราควรทูลอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ช่วยชี้นำเรา. ควรทำอย่างนี้แม้แต่เมื่อเราพิจารณาคนเดียวหรือมีเวลาเพียงสั้น ๆ. การทูลขออย่างถ่อมใจเช่นนั้นย่อมจะทำให้พระทัยของพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์ยินดีอย่างแน่นอน. ดังที่พระเยซูทรงชี้ให้เห็น พระยะโฮวาจะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์อย่างเต็มที่เมื่อเราทูลขออย่างจริงใจ.—ลูกา 11:13
13, 14. การเตรียมตัวสำหรับการประชุมมีบทบาทอะไรในการเข้าใจสิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า?
13 เตรียมตัวสำหรับการประชุม. เราได้รับ ‘อาหารในเวลาอันเหมาะ’ โดยทางชนชั้นทาส. เหล่า “ทาส” ทำงานมอบหมายของตนให้สำเร็จโดยให้ข้อมูลที่อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลักและโดยจัดกำหนดการสำหรับการศึกษาและการประชุมต่าง ๆ. ทาสสัตย์ซื่อได้ไตร่ตรองอย่างดีก่อนจะขอให้ “ทุกคนในสังคมพี่น้องคริสเตียน” พิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง. (1 เป. 2:17; โกโล. 4:16; ยูดา 3) เราร่วมมือกับพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อเราปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านั้นอย่างดีที่สุด.—วิ. 2:29
14 เมื่อเตรียมตัวสำหรับการประชุมคริสเตียน เราควรเปิดดูข้อคัมภีร์ที่มีการอ้างถึงและพยายามทำความเข้าใจว่าแต่ละข้อเกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังพิจารณาอยู่อย่างไร. การทำอย่างนี้จะทำให้เราเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลลึกซึ้งยิ่งขึ้นทีละเล็กทีละน้อย. (กิจ. 17:11, 12) การเปิดดูข้อคัมภีร์ช่วยให้ข้อความเหล่านั้นประทับลงในจิตใจซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ สามารถช่วยเราให้ระลึกได้. นอกจากนั้น ถ้าเราเห็นข้อความบนหน้ากระดาษของคัมภีร์ไบเบิล นั่นจะประทับลงในความคิดของเราซึ่งอาจช่วยเราหาข้อความนั้นพบเมื่อเราต้องการใช้ข้อพระคัมภีร์นั้น.
15. เหตุใดเราควรติดตามความรู้ในสิ่งพิมพ์ของสมาคมให้ทัน และคุณจะทำอย่างนี้โดยวิธีใด?
15 อ่านให้ทัน. สิ่งพิมพ์บางอย่างไม่ได้มีการพิจารณากัน ณ การประชุม แต่มีการจัดเตรียมไว้เพื่อประโยชน์ของเรา. แม้แต่เรื่องในวารสารของเราที่เสนอแก่สาธารณชนก็ถูกเตรียมไว้โดยคิดถึงประโยชน์ของพวกเราด้วย. ในโลกที่ผู้คนมีธุระยุ่ง เรามักต้องรอใครบางคนหรือรออะไรบางอย่าง. ถ้าเราพกหนังสือที่เรายังไม่ได้อ่านหรืออ่านแล้วเพียงบางส่วนติดตัวไปด้วย เราอาจใช้โอกาสเหล่านี้เพื่ออ่านหนังสือเหล่านั้นได้. บางคนตามให้ทันความรู้ที่สมาคมจัดให้โดยใช้วิธีฟังสื่อบันทึกเสียงการอ่านสิ่งพิมพ์ขณะที่เดินอยู่หรือขณะขับรถ. เนื่องจากหนังสือเหล่านี้เขียนขึ้นด้วยการค้นคว้าอย่างถี่ถ้วนเพื่อผู้อ่านโดยทั่วไปจะได้รับความพึงพอใจ สิ่งพิมพ์เหล่านี้ทั้งหมดจึงทำให้เราเข้าใจและเห็นคุณค่าสิ่งฝ่ายวิญญาณมากยิ่งขึ้น.—ฮบา. 2:2
16. มีประโยชน์อะไรถ้าเราจดข้อสงสัยที่เกิดขึ้นมาในใจและค้นคว้าเรื่องนั้นต่อ?
16 จงคิดใคร่ครวญ. เมื่อคุณอ่านคัมภีร์ไบเบิลหรือหนังสือที่อธิบายพระคัมภีร์ จงใช้เวลาคิดใคร่ครวญ. ขณะที่คุณติดตามแนวคิดของเรื่องที่อ่านอย่างละเอียด คุณอาจมีข้อสงสัยขึ้นมาในใจ. คุณอาจจดเรื่องที่คุณสงสัยนั้นไว้และค้นคว้าเพิ่มเติมในภายหลัง. หลายครั้งที่เราติดตามเรื่องที่เราสนใจต่อไปถึงขนาดที่ขุดลึกลงไปในเรื่องนั้น. ความรู้ความเข้าใจที่เราได้มาก็จะกลายเป็นทรัพย์ส่วนตัวของเราที่จะดึงมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้เมื่อจำเป็น.—มัด. 13:52
17. คุณทำอย่างไรในการศึกษาประจำครอบครัวหรือการศึกษาส่วนตัว?
17 กำหนดเวลาไว้สำหรับการนมัสการประจำครอบครัว. คณะกรรมการปกครองสนับสนุนพวกเราทุกคนให้กำหนดเย็นวันหนึ่งหรือช่วงเวลาอื่นในแต่ละสัปดาห์ไว้สำหรับการศึกษาส่วนตัวหรือการศึกษาประจำครอบครัว. การปรับเปลี่ยนตารางเวลาการประชุมเปิดโอกาสให้เราทำตามคำแนะนำนี้ได้ง่ายขึ้น. คุณพิจารณาเรื่องอะไรเมื่อนมัสการประจำครอบครัวในตอนเย็น? บางครอบครัวอ่านคัมภีร์ไบเบิล ค้นคว้าเพิ่มเติมในข้อที่ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในใจ และจดคำอธิบายย่อ ๆ ไว้ในพระคัมภีร์. หลายครอบครัวใช้เวลาเพื่อพิจารณาว่าจะนำเรื่องที่ได้ศึกษานั้นมาใช้กับครอบครัวอย่างไร. หัวหน้าครอบครัวบางคนเลือกเรื่องที่เขาคิดว่าครอบครัวจำเป็นต้องพิจารณาหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อหรือคำถามที่ครอบครัวอยากพิจารณา. ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคุณคงคิดถึงเรื่องอื่น ๆ ที่จะพิจารณากันได้อีกเมื่อเวลาผ่านไป. *
18. เหตุใดเราไม่ควรละเว้นการศึกษาความจริงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในพระคำของพระเจ้า?
18 พระเยซูตรัสว่าพระวิญญาณทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย. ดังนั้น เราไม่ควรละเว้นการศึกษาความจริงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในพระคำของพระเจ้า. ความจริงเช่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “ความรู้ของพระเจ้า” อันล้ำค่า และเราได้รับเชิญให้สืบค้นความจริงเหล่านั้น. (อ่านสุภาษิต 2:1-5) ความรู้เหล่านี้เปิดเผยหลายเรื่องเกี่ยวกับ “สิ่งที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้สำหรับผู้ที่รักพระองค์.” ขณะที่เราพยายามเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระคำของพระยะโฮวา พระวิญญาณบริสุทธิ์ก็จะช่วยเรา เพราะ “พระวิญญาณสืบค้นทุกสิ่ง แม้แต่สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า.”—1 โค. 2:9, 10
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 17 โปรดดูพระราชกิจของเรา เดือนตุลาคม 2008 หน้า 8.
คุณจะตอบอย่างไร?
• สองวิธีที่พระวิญญาณช่วยเราให้สืบค้น “สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า” คืออะไร?
• ในศตวรรษแรก พระวิญญาณบริสุทธิ์เปิดเผยความจริงที่ลึกซึ้งโดยทางใคร?
• พระวิญญาณบริสุทธิ์ดำเนินกิจอย่างไรเพื่ออธิบายเรื่องต่าง ๆ ให้ชัดเจนในสมัยของเรา?
• เราจะทำอะไรได้เพื่อรับประโยชน์จากบทบาทของพระวิญญาณ?
[คำถาม]
[กรอบหน้า 22]
วิธีที่พระวิญญาณเปิดเผยความหมายของพระวิหารฝ่ายวิญญาณ
“สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า” อย่างหนึ่งซึ่งได้รับการเปิดเผยในศตวรรษแรกคือข้อเท็จจริงที่ว่า พลับพลาและต่อมาก็คือพระวิหารเป็นภาพเล็งถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งอัครสาวกเปาโลเรียกว่า “พลับพลาแท้ซึ่งพระยะโฮวาทรงตั้งไว้ ไม่ใช่มนุษย์.” (ฮีบรู 8:2) พลับพลาแท้นี้คือพระวิหารฝ่ายวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีที่เราจะเข้าไปถึงพระเจ้าได้โดยเครื่องบูชาและตำแหน่งปุโรหิตของพระเยซูคริสต์.
“พลับพลาแท้” มีขึ้นในสากลศักราช 29 เมื่อพระเยซูทรงรับบัพติสมาและพระยะโฮวาทรงยอมรับพระองค์ในฐานะผู้ที่จะเป็นเครื่องบูชาที่สมบูรณ์. (ฮีบรู 10:5-10) หลังจากสิ้นพระชนม์และถูกปลุกให้คืนพระชนม์ พระเยซูทรงเข้าไปในที่บริสุทธิ์ที่สุดของพระวิหารฝ่ายวิญญาณและเสนอคุณค่าของเครื่องบูชาของพระองค์ “เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า.”—ฮีบรู 9:11, 12, 24
ในที่อื่น อัครสาวกเปาโลเขียนถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมว่า “กำลังเจริญขึ้นเป็นพระวิหารบริสุทธิ์สำหรับพระยะโฮวา.” (เอเฟ. 2:20-22) พระวิหารนี้จะเป็นอันเดียวกันกับ “พลับพลาแท้” ที่ท่านพรรณนาไว้ในจดหมายถึงพี่น้องชาวฮีบรูในภายหลังไหม? เป็นเวลาหลายสิบปีที่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาคิดว่าเป็นอย่างนั้น. ดูเหมือนว่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมถูกเตรียมไว้บนแผ่นดินโลกเพื่อจะกลายมาเป็น “หิน” ในพระวิหารของพระยะโฮวาที่อยู่ในสวรรค์.—1 เป. 2:5
อย่างไรก็ตาม เมื่อใกล้จะถึงปี 1971 สมาชิกของชนชั้นทาสที่มีหน้าที่รับผิดชอบเริ่มเข้าใจว่าพระวิหารที่เปาโลกล่าวถึงในหนังสือเอเฟโซส์จะหมายถึงพระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่หรือพลับพลาแท้ของพระยะโฮวาไม่ได้. ถ้า “พลับพลาแท้” ประกอบด้วยคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย พลับพลานั้นก็ต้องเริ่มมีขึ้นหลังจากที่พวกเขาเริ่มกลับเป็นขึ้นจากตายในช่วง “การประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” (1 เทส. 4:15-17) แต่เปาโลเขียนถึงพลับพลาดังกล่าวว่า “พลับพลานี้เป็นภาพแสดงถึงเวลากำหนดที่มาถึงแล้ว.”—ฮีบรู 9:9
เมื่อเปรียบเทียบข้อคัมภีร์เหล่านี้กับข้อคัมภีร์อื่น ๆ เห็นได้ชัดว่าพระวิหารฝ่ายวิญญาณหรือพลับพลาแท้ไม่ได้อยู่ในขั้นตอนที่กำลังสร้างขึ้น และคริสเตียนผู้ถูกเจิมไม่ใช่ “หิน” ที่ถูกเตรียมไว้บนแผ่นดินโลกเพื่อนำไปรวมเข้าไว้ในพระวิหารนั้น. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น คริสเตียนผู้ถูกเจิมกำลังรับใช้ในลานพระวิหารและในที่บริสุทธิ์ของพระวิหารฝ่ายวิญญาณ ถวาย “เครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญ” แด่พระเจ้าทุกวัน.—ฮีบรู 13:15
[ภาพหน้า 23]
เราจะพัฒนาความเข้าใจใน “สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า” ได้โดยวิธีใด?