ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณมีส่วนทำให้การประชุมคริสเตียนเป็นการหนุนใจกันไหม?

คุณมีส่วนทำให้การประชุมคริสเตียนเป็นการหนุนใจกันไหม?

คุณ​มี​ส่วน​ทำ​ให้​การ​ประชุม​คริสเตียน​เป็น​การ​หนุน​ใจ​กัน​ไหม?

“เมื่อ​พวก​ท่าน​มา​ประชุม​กัน . . . จง​ทำ​ทุก​สิ่ง​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​เจริญ.”—1 โค. 14:26

1. ตาม​ที่​กล่าว​ใน 1 โครินท์ บท 14 จุด​มุ่ง​หมาย​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ของ​การ​ประชุม​คริสเตียน​คือ​อะไร?

‘การ​ประชุม​วัน​นี้​ดี​จริง ๆ!’ คุณ​เคย​แสดง​ความ​รู้สึก​คล้าย ๆ กัน​นี้​ไหม​หลัง​จาก​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ที่​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร? คุณ​คง​เคย​พูด​แบบ​นี้​แน่ ๆ! การ​ประชุม​ประชาคม​ให้​กำลังใจ​เรา​อย่าง​แท้​จริง แต่​ไม่​แปลก​ที่​เป็น​อย่าง​นั้น. ที่​จริง เช่น​เดียว​กับ​ใน​สมัย​คริสเตียน​ยุค​แรก จุด​มุ่ง​หมาย​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ของ​การ​ประชุม​ใน​สมัย​นี้​ก็​คือ​เพื่อ​ช่วย​ผู้​เข้า​ร่วม​ทุก​คน​ให้​เข้มแข็ง​ฝ่าย​วิญญาณ. ขอ​ให้​สังเกต​วิธี​ที่​อัครสาวก​เปาโล​เน้น​เป้าหมาย​หลัก​ดัง​กล่าว​ของ​การ​ประชุม​คริสเตียน​ใน​จดหมาย​ฉบับ​แรก​ถึง​คริสเตียน​ใน​เมือง​โครินท์. ท่าน​กล่าว​หลาย​ครั้ง​ตลอด​บท 14 ว่า​แต่​ละ​ส่วน​ที่​นำ​เสนอ​ใน​การ​ประชุม​ประชาคม​ควร​มี​จุด​มุ่ง​หมาย​เดียว​กัน คือ “เพื่อ​ทำ​ให้​ประชาคม​เจริญ​ขึ้น.”อ่าน 1 โครินท์ 14:3, 12, 26 *

2. (ก) การ​ประชุม​ที่​เสริม​สร้าง​เป็น​ผล​มา​จาก​อะไร? (ข) เรา​จะ​พิจารณา​คำ​ถาม​อะไร?

2 ก่อน​อื่น เรา​ตระหนัก​ว่า​การ​ประชุม​ที่​หนุน​ใจ​เป็น​ผล​มา​จาก​การ​ดำเนิน​กิจ​ของ​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า. ด้วย​เหตุ​นั้น เรา​เริ่ม​การ​ประชุม​ประชาคม​แต่​ละ​ครั้ง​ด้วย​การ​อธิษฐาน​จาก​ใจ​จริง​ถึง​พระ​ยะโฮวา โดย​ขอ​พระ​บิดา​ผู้​อยู่​ใน​สวรรค์​ให้​อวย​พร​การ​ประชุม​ของ​เรา​โดย​ทาง​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์. ถึง​กระนั้น เรา​รู้​ว่า​สมาชิก​ทุก​คน​ใน​ประชาคม​มี​ส่วน​ร่วม​ได้​ใน​การ​ทำ​ให้​ระเบียบ​วาระ​การ​ประชุม​หนุน​ใจ​เรา​เท่า​ที่​จะ​เป็น​ไป​ได้. ดัง​นั้น มี​อะไร​บ้าง​ที่​เรา​เอง​อาจ​ทำ​ได้​เพื่อ​จะ​ทำ​ให้​การ​ประชุม​แต่​ละ​สัปดาห์​ใน​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร​เป็น​แหล่ง​ที่​ให้​ความ​สดชื่น​ฝ่าย​วิญญาณ​และ​ให้​กำลังใจ​เสมอ?

3. การ​ประชุม​คริสเตียน​สำคัญ​อย่าง​ไร?

3 เพื่อ​ตอบ​คำ​ถาม​ดัง​กล่าว เรา​จะ​พิจารณา​บาง​แง่​มุม​ของ​การ​ประชุม​ซึ่ง​ผู้​นำ​การ​ประชุม​ควร​คำนึง​ถึง​เสมอ. นอก​จาก​นั้น เรา​ยัง​จะ​พิจารณา​ถึง​วิธี​ที่​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​อาจ​มี​ส่วน​ทำ​ให้​การ​ประชุม​เป็น​โอกาส​ที่​หนุน​กำลังใจ​ทุก​คน​ที่​เข้า​ร่วม​ได้. เรื่อง​นี้​นับ​ว่า​น่า​สนใจ​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​เรา​เพราะ​การ​ประชุม​ของ​เรา​เป็น​การ​ประชุม​อัน​ศักดิ์สิทธิ์. ที่​จริง การ​เข้า​ร่วม​และ​การ​มี​ส่วน​ใน​การ​ประชุม​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ของ​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา.—เพลง. 26:12; 111:1; ยซา. 66:22, 23

การ​ประชุม​เพื่อ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล

4, 5. จุด​มุ่ง​หมาย​ของ​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ คือ​อะไร?

4 เรา​ทุก​คน​ต้องการ​ได้​รับ​ประโยชน์​อย่าง​เต็ม​ที่​จาก​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ ใน​แต่​ละ​สัปดาห์. ดัง​นั้น เพื่อ​จะ​เข้าใจ​อย่าง​ชัดเจน​ถึง​จุด​มุ่ง​หมาย​หลัก​ของ​การ​ประชุม​นี้ ให้​เรา​มา​ทบทวน​ว่า​มี​การ​ปรับ​เปลี่ยน​อะไร​บ้าง​ใน​วารสาร​หอสังเกตการณ์ และ​บทความ​ศึกษา.

5 โดย​เริ่ม​กับ​หอสังเกตการณ์ 15 มกราคม 2008 ซึ่ง​เป็น​ฉบับ​ศึกษา​ฉบับ​แรก มี​การ​เพิ่ม​ราย​ละเอียด​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ที่​หน้า​ปก. คุณ​สังเกต​เห็น​ไหม? ขอ​ให้​สังเกต​ดู​ดี ๆ ที่​หน้า​ปก​วารสาร​ที่​คุณ​กำลัง​ถือ​อยู่. ที่​ส่วน​ฐาน​ของ​หอสังเกตการณ์ คุณ​จะ​เห็น​ว่า​มี​ภาพ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เปิด​อยู่. ส่วน​ที่​เพิ่ม​เข้า​มา​นี้​เน้น​ถึง​เหตุ​ผล​ที่​เรา​ศึกษา​หอสังเกตการณ์. นั่น​ก็​คือ​เพื่อ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​โดย​อาศัย​วารสาร​นี้. ใน​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ แต่​ละ​สัปดาห์ มี​การ “อธิบาย” พระ​คำ​ของ​พระเจ้า และ​เช่น​เดียว​กับ​ใน​สมัย​ของ​นะเฮมยา มี​การ “ชี้​แจง​ความ​หมาย” ของ​พระ​คัมภีร์.—นเฮม. 8:8, ล.ม.; ยซา. 54:13

6. (ก) มี​การ​ปรับ​เปลี่ยน​อะไร​ใน​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์? (ข) ควร​จำ​อะไร​ไว้​เสมอ​เกี่ยว​กับ​ข้อ​พระ​คัมภีร์​ที่​มี​การ​ระบุ​ไว้​ว่า “อ่าน”?

6 เนื่อง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ตำรา​หลัก​ของ​เรา จึง​มี​การ​ปรับ​เปลี่ยน​อย่าง​หนึ่ง​ใน​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์. มี​การ​ระบุ​ไว้​ให้ “อ่าน” ข้อ​พระ​คัมภีร์​บาง​ข้อ​ใน​บทความ​ศึกษา. เรา​ทุก​คน​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​ให้​เปิด​พระ​คัมภีร์​ของ​เรา​เอง​และ​ดู​ตาม​เมื่อ​มี​การ​เชิญ​ให้​อ่าน​ข้อ​พระ​คัมภีร์​เหล่า​นี้​ระหว่าง​การ​ประชุม. (กิจ. 17:11) เพราะ​เหตุ​ใด? เมื่อ​เรา​เห็น​คำ​แนะ​นำ​ของ​พระเจ้า​ใน​พระ​คัมภีร์​ของ​เรา​เอง เรื่อง​นั้น​จะ​ฝัง​ลึก​ใน​ใจ​เรา​มาก​กว่า. (ฮีบรู 4:12) ด้วย​เหตุ​นั้น ก่อน​ที่​จะ​ให้​อ่าน​ข้อ​พระ​คัมภีร์​เหล่า​นั้น ผู้​นำ​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ ควร​ให้​ทุก​คน​ใน​ที่​ประชุม​มี​เวลา​พอ​ที่​จะ​เปิด​พระ​คัมภีร์​และ​ดู​ตาม​ได้.

มี​เวลา​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​แสดง​ความ​เชื่อ​ของ​เรา

7. เรา​มี​โอกาส​อะไร​บ้าง​ระหว่าง​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์?

7 การ​ปรับ​เปลี่ยน​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ใน​บทความ​ศึกษา​ของ​หอสังเกตการณ์ เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​ยาว​ของ​บทความ. ใน​ปี​หลัง ๆ มา​นี้ บทความ​ศึกษา​สั้น​ลง. ด้วย​เหตุ​นั้น ระหว่าง​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ เรา​จึง​ใช้​เวลา​อ่าน​แต่​ละ​ข้อ​น้อย​ลง​และ​มี​เวลา​มาก​ขึ้น​ใน​การ​ให้​ความ​เห็น. ตอน​นี้ มี​พี่​น้อง​มาก​ขึ้น​ใน​ประชาคม​ที่​มี​โอกาส​แสดง​ความ​เชื่อ​ของ​ตน​อย่าง​เปิด​เผย​ด้วย​การ​ตอบ​คำ​ถาม, อธิบาย​ว่า​จะ​นำ​เอา​ข้อ​พระ​คัมภีร์​มา​ใช้​อย่าง​ไร, เล่า​ประสบการณ์​สั้น ๆ ที่​แสดง​ว่า​การ​ทำ​ตาม​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​แนว​ทาง​ที่​ฉลาด​สุขุม, หรือ​ด้วย​วิธี​อื่น ๆ. นอก​จาก​นั้น ควร​ให้​เวลา​บ้าง​กับ​การ​พิจารณา​ภาพ​ต่าง ๆ.—อ่าน​บทเพลง​สรรเสริญ 22:22; 35:18; 40:9

8, 9. บทบาท​ของ​ผู้​นำ​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ คือ​อะไร?

8 อย่าง​ไร​ก็​ตาม เพื่อ​จะ​มี​เวลา​มาก​พอ​สำหรับ​ความ​เห็น​ที่​หลาก​หลาย ผู้​เข้า​ร่วม​ควร​ให้​ความ​เห็น​สั้น ๆ และ​ผู้​นำ​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ ต้อง​หลีก​เลี่ยง​การ​ให้​ความ​เห็น​ของ​ตน​เอง​มาก​เกิน​ไป. ถ้า​อย่าง​นั้น อะไร​อาจ​ช่วย​ให้​ผู้​นำ​การ​ศึกษา​รู้​ว่า​จุด​ที่​สมดุล​ระหว่าง​ความ​เห็น​ของ​เขา​กับ​ความ​เห็น​ของ​พี่​น้อง​อยู่​ตรง​ไหน เพื่อ​การ​ประชุม​จะ​หนุน​ใจ​ทุก​คน?

9 เพื่อ​ตอบ​คำ​ถาม​ดัง​กล่าว ขอ​ให้​พิจารณา​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​หนึ่ง. การ​นำ​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ ที่​ดี​เป็น​เหมือน​กับ​ช่อ​ดอกไม้​ที่​ดู​แล้ว​สดชื่น. เช่น​เดียว​กับ​ที่​ช่อ​ดอกไม้​ช่อ​ใหญ่​ประกอบ​ด้วย​ดอกไม้​หลาย​ดอก การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ ก็​ประกอบ​ด้วย​ความ​เห็น​ที่​แตกต่าง​หลาก​หลาย. และ​เช่น​เดียว​กับ​ดอกไม้​ทั้ง​หลาย​ที่​อยู่​ใน​ช่อ​มี​ขนาด​และ​สี​สัน​แตกต่าง​กัน​ไป ความ​เห็น​ที่​ให้​ใน​การ​ศึกษา​ก็​มี​วิธี​นำ​เสนอ​ที่​แตกต่าง​กัน​และ​สั้น​บ้าง​ยาว​บ้าง. แล้ว​บทบาท​ของ​ผู้​นำ​ล่ะ​ควร​เป็น​อย่าง​ไร? การ​แสดง​ความ​คิด​เห็น​บ้าง​เป็น​ครั้ง​คราว​ของ​เขา​เป็น​เหมือน​กับ​ใบ​ไม้​สี​เขียว​ที่​ปัก​แซม​ใน​ช่อ​ดอกไม้​อย่าง​เหมาะเจาะ. ใบ​ไม้​เหล่า​นี้​จะ​ไม่​เด่น​เกิน​องค์​ประกอบ​อื่น แต่​จะ​ทำ​หน้า​ที่​ประสาน​ให้​ทั้ง​ช่อ​กลมกลืน​กัน​เป็น​หนึ่ง​เดียว. คล้าย​กัน คน​ที่​นำ​การ​ศึกษา​ต้อง​จำ​ไว้​เสมอ​ว่า​เขา​ไม่​ควร​ให้​ความ​เห็น​มาก​เกิน​ไป แต่​บทบาท​ของ​เขา​ควร​เป็น​ส่วน​ที่​เสริม​คำ​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา​ของ​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม. ดัง​นั้น เมื่อ​ผู้​นำ​การ​ศึกษา​เปิด​โอกาส​ให้​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​แสดง​ความ​เห็น​ที่​แตกต่าง​หลาก​หลาย​และ​ตัว​เขา​เอง​ให้​ความ​เห็น​บ้าง​ใน​จุด​ที่​เหมาะ​สม ทั้ง​หมด​นี้​ก็​จะ​ประกอบ​กัน​เป็น​ช่อ​ดอกไม้​แห่ง​ถ้อย​คำ​ที่​งดงาม​ซึ่ง​จะ​ทำ​ให้​ผู้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ทุก​คน​ชื่น​ใจ​ยินดี.

“ให้​เรา​ถวาย เครื่อง​บูชา​ที่​เป็น​คำ​สรรเสริญ แด่​พระเจ้า​เสมอ”

10. คริสเตียน​ใน​ยุค​แรก​มอง​การ​ประชุม​ประชาคม​อย่าง​ไร?

10 คำ​พรรณนา​ของ​เปาโล​เกี่ยว​กับ​การ​ประชุม​คริสเตียน​ใน 1 โครินท์ 14:26-33 ช่วย​เรา​ให้​เข้าใจ​มาก​ขึ้น​ว่า​การ​ประชุม​ใน​ศตวรรษ​แรก​ทำ​กัน​อย่าง​ไร. ผู้​คง​แก่​เรียน​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​คน​หนึ่ง​ให้​ความ​เห็น​เกี่ยว​กับ​ข้อ​พระ​คัมภีร์​ดัง​กล่าว​โดย​เขียน​ว่า​สิ่ง​ที่​เด่น​จริง ๆ เกี่ยว​กับ​การ​ประชุม​เพื่อ​นมัสการ​ใน​ยุค​แรก​คง​ได้​แก่​เรื่อง​ที่​ว่า “เกือบ​ทุก​คน​รู้สึก​ว่า​เขา​มี​สิทธิ​พิเศษ​ที่​จะ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​นมัสการ อีก​ทั้ง​มี​หน้า​ที่​ต้อง​ทำ​อย่าง​นั้น​ด้วย. เขา​ไม่​ได้​ตั้งใจ​มา​เป็น​ผู้​ฟัง​เท่า​นั้น; เขา​ไม่​ได้​มา​เพียง​เพื่อ​จะ​เป็น​ฝ่าย​รับ แต่​เพื่อ​จะ​เป็น​ฝ่าย​ให้​ด้วย.” คริสเตียน​ใน​ยุค​แรก​มอง​การ​ประชุม​ประชาคม​ว่า​เป็น​โอกาส​ที่​จะ​แสดง​ความ​เชื่อ​ของ​ตน.—โรม 10:10

11. (ก) เรา​จะ​มี​ส่วน​ช่วย​อย่าง​มาก​เพื่อ​ทำ​ให้​การ​ประชุม​เป็น​การ​หนุน​ใจ​กัน​โดย​วิธี​ใด และ​เพราะ​เหตุ​ใด? (ข) การ​ใช้​คำ​แนะ​นำ​อะไร​ที่​อาจ​ช่วย​เรา​ให้​ปรับ​ปรุง​ความ​เห็น​ของ​เรา ณ การ​ประชุม? (โปรด​ดู​เชิงอรรถ)

11 การ​แสดง​ความ​เชื่อ​ของ​เรา ณ การ​ประชุม​มี​ส่วน​ช่วย​อย่าง​มาก​ใน​การ “ทำ​ให้​ประชาคม​เจริญ​ขึ้น.” คุณ​คง​เห็น​ด้วย​ว่า​ไม่​ว่า​เรา​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​มา​กี่​ปี​แล้ว เรา​ก็​ยัง​ยินดี​จริง ๆ ที่​ได้​ฟัง​ความ​เห็น​ของ​พี่​น้อง​ชาย​หญิง. เรา​ประทับใจ​คำ​ตอบ​จาก​ใจ​จริง​ของ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ที่​ซื่อ​สัตย์​ซึ่ง​เป็น​ผู้​สูง​อายุ; เรา​รู้สึก​ได้​รับ​การ​ชู​ใจ​จาก​ความ​เห็น​ที่​ลึกซึ้ง​ของ​ผู้​ปกครอง​ที่​ห่วงใย; และ​เรา​อด​ยิ้ม​ไม่​ได้​เมื่อ​เด็ก ๆ ออก​ความ​เห็น​ด้วย​ตัว​เอง​ซึ่ง​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เขา​รัก​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​แท้​จริง. เห็น​ได้​ชัด​ว่า โดย​การ​ให้​ความ​เห็น เรา​ทุก​คน​มี​ส่วน​ทำ​ให้​การ​ประชุม​คริสเตียน​เป็น​การ​หนุน​ใจ​กัน. *

12. (ก) คุณ​อาจ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​โมเซ​และ​ยิระมะยาห์? (ข) การ​อธิษฐาน​ช่วย​คุณ​ได้​อย่าง​ไร​ใน​การ​ออก​ความ​คิด​เห็น?

12 อย่าง​ไร​ก็​ตาม สำหรับ​คน​ขี้อาย​การ​ให้​ความ​เห็น​อาจ​เป็น​เรื่อง​ท้าทาย​อย่าง​แท้​จริง. ถ้า​คุณ​เป็น​คน​ขี้อาย อาจ​เป็น​ประโยชน์​ที่​จะ​จำ​ไว้​ว่า​นี่​ไม่​ใช่​เรื่อง​ผิด​ปกติ. ที่​จริง แม้​แต่​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระเจ้า​อย่าง​โมเซ​และ​ยิระมะยาห์​ก็​ยัง​ขาด​ความ​มั่น​ใจ​ใน​ความ​สามารถ​ที่​จะ​พูด​ต่อ​หน้า​สาธารณชน. (เอ็ก. 4:10; ยิระ. 1:6) ถึง​กระนั้น เช่น​เดียว​กับ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ช่วย​ผู้​รับใช้​เหล่า​นั้น​ใน​สมัย​โบราณ​ให้​สรรเสริญ​พระองค์​ต่อ​หน้า​คน​ทั้ง​ปวง พระเจ้า​ก็​จะ​ทรง​ช่วย​คุณ​ใน​การ​ถวาย​เครื่อง​บูชา​ที่​เป็น​คำ​สรรเสริญ​ด้วย. (อ่าน​ฮีบรู 13:15) คุณ​จะ​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​ยะโฮวา​เพื่อ​เอา​ชนะ​ความ​กลัว​และ​สามารถ​ให้​ความ​เห็น​ได้​อย่าง​ไร? ก่อน​อื่น จง​เตรียม​ตัว​สำหรับ​การ​ประชุม​เป็น​อย่าง​ดี. แล้ว​ก่อน​จะ​ไป​ที่​หอ​ประชุม จง​อธิษฐาน​และ​ทูล​ขอ​อย่าง​เจาะจง​ให้​พระ​ยะโฮวา​ประทาน​ความ​กล้า​แก่​คุณ​เพื่อ​จะ​สามารถ​ออก​ความ​คิด​เห็น​ได้. (ฟิลิป. 4:6) การ​ขอ​อย่าง​นั้น​เป็น​การ​ขอ​สิ่ง​ที่ “สอดคล้อง​กับ​พระ​ประสงค์​ของ​พระองค์” คุณ​จึง​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​ของ​คุณ.—1 โย. 5:14; สุภา. 15:29

การ​ประชุม​ซึ่ง​มุ่ง​หมาย​จะ ‘ทำ​ให้​เจริญ, หนุน​กำลังใจ, และ​ปลอบโยน’

13. (ก) การ​ประชุม​ควร​มี​ผล​กระทบ​อย่าง​ไร​ต่อ​ผู้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม? (ข) คำ​ถาม​อะไร​ซึ่ง​สำคัญ​เป็น​พิเศษ​สำหรับ​ผู้​ปกครอง?

13 เปาโล​กล่าว​ว่า​จุด​มุ่ง​หมาย​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ของ​การ​ประชุม​คริสเตียน​ก็​เพื่อ ‘ทำ​ให้​เจริญ, หนุน​กำลังใจ, และ​ปลอบโยน’ ผู้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม. * (1 โค. 14:3) คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​ใน​ทุก​วัน​นี้​จะ​ทำ​ให้​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​พวก​เขา ณ การ​ประชุม​หนุน​กำลังใจ​และ​ปลอบโยน​พี่​น้อง​อย่าง​แท้​จริง​ได้​อย่าง​ไร? เพื่อ​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​นี้ ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​การ​ประชุม​หนึ่ง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​นำ​หลัง​จาก​ที่​พระองค์​ถูก​ปลุก​ให้​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย​ได้​ไม่​นาน.

14. (ก) มี​เหตุ​การณ์​อะไร​เกิด​ขึ้น​ก่อน​การ​ประชุม​ที่​พระ​เยซู​ทรง​นัด​หมาย​ไว้? (ข) เหตุ​ใด​เหล่า​อัครสาวก​คง​ต้อง​รู้สึก​โล่ง​ใจ​เมื่อ “พระ​เยซู​ทรง​เข้า​มา​หา​แล้ว​ตรัส​กับ​พวก​เขา”?

14 ก่อน​อื่น ขอ​ให้​สังเกต​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​ก่อน​การ​ประชุม​ดัง​กล่าว. ไม่​นาน​ก่อน​พระ​เยซู​ถูก​ประหาร เหล่า​อัครสาวก “ทิ้ง​พระองค์​แล้ว​หนี​ไป” และ​ดัง​ที่​มี​บอก​ไว้​ล่วง​หน้า พวก​เขา “กระจัด​กระจาย​ไป​แล้ว​ต่าง​คน​ต่าง​กลับ​บ้าน​ของ​ตน.” (มโก. 14:50; โย. 16:32) หลัง​จาก​พระองค์​ถูก​ปลุก​ให้​คืน​พระ​ชนม์ พระ​เยซู​ทรง​เชิญ​เหล่า​อัครสาวก​ที่​หดหู่​หมด​กำลังใจ​ให้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​พิเศษ. * สาวก​สิบ​เอ็ด​คน​ตอบรับ​คำ​เชิญ​โดย “ไป​ยัง​ภูเขา​ใน​แคว้น​แกลิลี​ตาม​ที่​พระ​เยซู​ทรง​นัด​หมาย​ไว้.” เมื่อ​พวก​เขา​มา​ถึง “พระ​เยซู​ทรง​เข้า​มา​หา​แล้ว​ตรัส​กับ​พวก​เขา.” (มัด. 28:10, 16, 18) ลอง​นึก​ภาพ​ดู​ว่า​เหล่า​อัครสาวก​คง​ต้อง​รู้สึก​โล่ง​ใจ​เพียง​ไร​เมื่อ​พระ​เยซู​ทรง​ตรัส​กับ​พวก​เขา​ก่อน! พระ​เยซู​ทรง​พิจารณา​เรื่อง​อะไร?

15. (ก) พระ​เยซู​ทรง​ทำ​อะไร แต่​พระองค์​ไม่​ทรง​ทำ​อะไร? (ข) การ​ประชุม​นั้น​มี​ผล​กระทบ​อย่าง​ไร​ต่อ​เหล่า​อัครสาวก?

15 พระ​เยซู​ทรง​เริ่ม​การ​ประชุม​โดย​ประกาศ​ว่า “อำนาจ​ทั้ง​สิ้น . . . ได้​ทรง​มอบ​แก่​เรา​แล้ว.” จาก​นั้น พระองค์​ทรง​มอบหมาย​งาน​ให้​พวก​เขา​ทำ​โดย​ตรัส​ว่า “ฉะนั้น จง​ไป​สอน​คน . . . ให้​เป็น​สาวก.” ใน​ตอน​ท้าย พระองค์​ทรง​รับรอง​กับ​พวก​เขา​อย่าง​อบอุ่น​ว่า “เรา​จะ​อยู่​กับ​พวก​เจ้า​เสมอ.” (มัด. 28:18-20) แต่​คุณ​สังเกต​ไหม​ว่า​พระ​เยซู​ไม่​ได้ ทำ​อะไร? พระองค์​ไม่​ได้​ตำหนิ​เหล่า​อัครสาวก อีก​ทั้ง​ไม่​ได้​ใช้​การ​ประชุม​นั้น​เพื่อ​สอบ​ถาม​เจตนา​ของ​พวก​เขา หรือ​ทำ​ให้​พวก​เขา​รู้สึก​ผิด​มาก​ขึ้น​ด้วย​การ​ตรัส​ถึง​ความ​เชื่อ​ของ​พวก​เขา​ที่​อ่อนแอ​ไป​ชั่ว​ขณะ​หนึ่ง. แทน​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น พระ​เยซู​ทรง​ทำ​ให้​พวก​เขา​มั่น​ใจ​ใน​ความ​รัก​ที่​พระองค์​และ​พระ​บิดา​ทรง​มี​ต่อ​พวก​เขา​โดย​มอบ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​สำคัญ​แก่​พวก​เขา. การ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​เข้า​มา​หา​เหล่า​อัครสาวก​ก่อ​ผล​กระทบ​อย่าง​ไร? พวก​เขา​เข้มแข็ง​ขึ้น, ได้​รับ​การ​หนุน​กำลังใจ, และ​ได้​รับ​การ​ปลอบโยน​อย่าง​มาก พวก​เขา​จึง “สอน​และ​ประกาศ​ข่าว​ดี” อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ไม่​นาน​หลัง​จาก​การ​ประชุม​นั้น.—กิจ. 5:42

16. คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​ใน​ปัจจุบัน​เลียน​แบบ​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​อย่าง​ไร​ใน​การ​นำ​การ​ประชุม​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​พี่​น้อง​สดชื่น?

16 ผู้​ปกครอง​ใน​ทุก​วัน​นี้​เลียน​แบบ​พระ​เยซู​โดย​มอง​ว่า​การ​ประชุม​ต่าง ๆ เป็น​โอกาส​ที่​จะ​ช่วย​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ให้​มั่น​ใจ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​รัก​ประชาชน​ของ​พระองค์​อย่าง​ไม่​มี​วัน​เสื่อม​คลาย. (โรม 8:38, 39) ดัง​นั้น ใน​ส่วน​การ​ประชุม​ต่าง ๆ ผู้​ปกครอง​เน้น​จุด​ที่​พี่​น้อง​เข้มแข็ง ไม่​ใช่​จุด​ที่​พวก​เขา​อ่อนแอ. พวก​เขา​ไม่​ตั้ง​ข้อ​สงสัย​เจตนา​ของ​พี่​น้อง. แทน​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น ผู้​ปกครอง​พูด​อย่าง​ที่​เผย​ให้​เห็น​ว่า​พวก​เขา​มอง​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​แต่​ละ​คน​ว่า​เป็น​ผู้​ที่​รัก​พระ​ยะโฮวา​และ​ต้องการ​ทำ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง. (1 เทส. 4:1, 9-12) แน่นอน ผู้​ปกครอง​อาจ​ให้​คำ​แนะ​นำ​แก้ไข​ประชาคม​โดย​รวม​เป็น​ครั้ง​คราว แต่​ถ้า​มี​เพียง​ไม่​กี่​คน​ที่​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน​แก้ไข นับ​ว่า​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​ให้​คำ​แนะ​นำ​เช่น​นั้น​เป็น​ส่วน​ตัว​กับ​คน​ที่​เกี่ยว​ข้อง. (กลา. 6:1; 2 ติโม. 2:24-26) เมื่อ​กล่าว​กับ​ทั้ง​ประชาคม ผู้​ปกครอง​ตั้งใจ​ที่​จะ​ให้​คำ​ชมเชย​เมื่อ​ไร​ก็​ตาม​ที่​เห็น​ว่า​เหมาะ. (ยซา. 32:2) พวก​เขา​พยายาม​พูด​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​ผู้​เข้า​ร่วม​ทั้ง​หมด​รู้สึก​สดชื่น​และ​มี​กำลัง​ขึ้น​เมื่อ​การ​ประชุม​สิ้น​สุด​ลง.—มัด. 11:28; กิจ. 15:32

แหล่ง​แห่ง​การ​ปลอบโยน

17. (ก) เหตุ​ใด​จึง​นับ​ว่า​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​แต่​ก่อน​ที่​การ​ประชุม​ของ​เรา​ควร​เป็น​แหล่ง​แห่ง​การ​ปลอบโยน? (ข) คุณ​เอง​จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​ทำ​ให้​การ​ประชุม​เป็น​การ​หนุน​ใจ​กัน? (โปรด​ดู​กรอบ “สิบ​วิธี​ใน​การ​ทำ​ให้​การ​ประชุม​หนุน​ใจ​คุณ​และ​คน​อื่น ๆ”)

17 ใน​ขณะ​ที่​โลก​ของ​ซาตาน​ทำ​ให้​เกิด​แรง​กดดัน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ เรา​ต้อง​พยายาม​ทำ​ให้​การ​ประชุม​คริสเตียน​เป็น​แหล่ง​แห่ง​การ​ปลอบโยน และ​ให้​การ​ชู​ใจ​แก่​ทุก​คน. (1 เทส. 5:11) พี่​น้อง​หญิง​คน​หนึ่ง​กับ​สามี​ซึ่ง​รับมือ​กับ​ความ​ยาก​ลำบาก​อย่าง​หนัก​เป็น​เวลา​หลาย​ปี​เล่า​ว่า “การ​อยู่​ที่​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร​เป็น​เหมือน​กับ​การ​ได้​รับ​การ​ดู​แล​จาก​พระ​หัตถ์​ของ​พระ​ยะโฮวา. ใน​ช่วง​ที่​เรา​อยู่​ที่​หอ​ประชุม​และ​อยู่​กับ​พี่​น้อง​คริสเตียน เรา​รู้สึก​ว่า​เรา​สามารถ​มอบ​ภาระ​ของ​เรา​ไว้​กับ​พระ​ยะโฮวา และ​เรา​มี​ความ​สงบ​ใจ​ใน​ระดับ​หนึ่ง.” (เพลง. 55:22) เรา​อยาก​ให้​ทุก​คน​ที่​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​กับ​เรา​รู้สึก​ว่า​ได้​รับ​การ​หนุน​ใจ​และ​การ​ปลอบโยน​คล้าย ๆ กัน​นี้. เพื่อ​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น​ได้ ให้​เรา​ทำ​ส่วน​ของ​เรา​ต่อ ๆ ไป​เพื่อ​การ​ประชุม​คริสเตียน​จะ​เป็น​การ​หนุน​ใจ​กัน.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 1 มี​การ​บอก​ไว้​ล่วง​หน้า​ว่า​บาง​สิ่ง​ที่​ทำ​กัน​ใน​การ​ประชุม​คริสเตียน​สมัย​ศตวรรษ​แรก​จะ​ยุติ​ลง. ตัว​อย่าง​เช่น เรา​ไม่ “พูด​ภาษา​ต่าง ๆ” หรือ “พยากรณ์” กัน​อีก​ต่อ​ไป. (1 โค. 13:8; 14:5) แม้​กระนั้น คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล​ช่วย​ให้​เรา​มี​ความ​เข้าใจ​อย่าง​ชัดเจน​ว่า​การ​ประชุม​คริสเตียน​ใน​ทุก​วัน​นี้​ควร​ทำ​กัน​อย่าง​ไร.

^ วรรค 11 สำหรับ​คำ​แนะ​นำ​ใน​เรื่อง​วิธี​ปรับ​ปรุง​ความ​เห็น​ของ​เรา ณ การ​ประชุม โปรด​ดู​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กันยายน 2003 หน้า 19-22.

^ วรรค 13 สำหรับ​ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​คำ​ว่า “หนุน​กำลังใจ” กับ “ปลอบโยน” พจนานุกรม​อธิบาย​ศัพท์​คัมภีร์​พันธสัญญา​เดิม​และ​ใหม่​ของ​ไวน์ อธิบาย​ว่า​คำ​ภาษา​กรีก​ที่​แปล​ว่า “ปลอบโยน” บ่ง​บอก​ถึง “ความ​อ่อนโยน​ใน​ระดับ​ที่​มาก​กว่า [การ​หนุน​กำลังใจ].”—เทียบ​กับ​โยฮัน 11:19

^ วรรค 14 นี่​อาจ​เป็น​การ​ประชุม​ที่​เปาโล​กล่าว​ถึง​ใน​ภาย​หลัง​ว่า​พระ​เยซู “ทรง​ปรากฏ​กาย​แก่​พี่​น้อง​มาก​กว่า​ห้า​ร้อย​คน.”—1 โค. 15:6

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• การ​ประชุม​คริสเตียน​สำคัญ​ขนาด​ไหน?

• เหตุ​ใด​ความ​เห็น​ที่​ให้ ณ การ​ประชุม​มี​ส่วน “ทำ​ให้​ประชาคม​เจริญ​ขึ้น”?

• เรา​อาจ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​วิธี​ที่​พระ​เยซู​ทรง​นำ​การ​ประชุม​กับ​เหล่า​สาวก?

[คำ​ถาม]

[กรอบ/ภาพ​หน้า 22, 23]

สิบ​วิธี​ใน​การ​ทำ​ให้​การ​ประชุม​หนุน​ใจ​คุณ​และ​คน​อื่น ๆ

เตรียม​ตัว​ล่วง​หน้า. เมื่อ​คุณ​ศึกษา​เนื้อหา​ที่​จะ​พิจารณา​ใน​การ​ประชุม​มา​ก่อน​แล้ว คุณ​ก็​จะ​สนใจ​การ​ประชุม​และ​เกิด​ความ​ประทับใจ​มาก​กว่า.

เข้า​ร่วม​เป็น​ประจำ. เนื่อง​จาก​ทุก​คน​จะ​ได้​รับ​กำลังใจ​มาก​กว่า​เมื่อ​มี​คน​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​มาก ๆ ดัง​นั้น การ​ที่​คุณ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​จึง​มี​ความ​สำคัญ.

มา​ประชุม​ให้​ตรง​เวลา. ถ้า​คุณ​มา​นั่ง​ก่อน​การ​ประชุม​จะ​เริ่ม​ต้น คุณ​สามารถ​ร่วม​ร้อง​เพลง​และ​อธิษฐาน​เปิด​การ​ประชุม​ซึ่ง​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา.

นำ​หนังสือ​ต่าง ๆ มา​ให้​ครบ. จง​นำ​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​หนังสือ​ต่าง ๆ ที่​ใช้​ใน​การ​ประชุม​มา​ด้วย​เพื่อ​คุณ​จะ​ดู​ตาม​และ​เข้าใจ​สิ่ง​ที่​พิจารณา​กัน​ได้​ดี​ยิ่ง​ขึ้น.

หลีก​เลี่ยง​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​เขว. ตัว​อย่าง​เช่น อ่าน​ข้อ​ความ​ที่​ส่ง​มา​ทาง​โทรศัพท์​มือ​ถือ​หลัง​การ​ประชุม ไม่​ใช่​ระหว่าง​การ​ประชุม. โดย​วิธี​นี้ คุณ​จัด​การ​เรื่อง​ส่วน​ตัว​อย่าง​ที่​ถูก​กาลเทศะ.

มี​ส่วน​ร่วม. ยิ่ง​มี​คน​ให้​ความ​เห็น​หลาก​หลาย​ซึ่ง​เป็น​การ​แสดง​ความ​เชื่อ​ของ​พวก​เขา​มาก​เท่า​ไร ก็​ยิ่ง​ทำ​ให้​หลาย​คน​ได้​รับ​การ​หนุน​ใจ​มาก​เท่า​นั้น.

ให้​ความ​เห็น​สั้น ๆ. การ​ทำ​อย่าง​นี้​ทำ​ให้​หลาย​คน​มี​โอกาส​ได้​ร่วม​แสดง​ความ​คิด​เห็น.

ทำ​ส่วน​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย. ใน​ฐานะ​นัก​เรียน​ใน​โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​หรือ​ผู้​มี​ส่วน​ใน​การ​ประชุม​การ​รับใช้ จง​เตรียม​ตัว​อย่าง​ดี, ฝึก​ซ้อม​ล่วง​หน้า, และ​พยายาม​จริง ๆ ที่​จะ​มา​ทำ​ส่วน​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย.

ชมเชย​ผู้​ที่​ทำ​ส่วน. บอก​พี่​น้อง​ที่​ทำ​ส่วน​ใน​การ​ประชุม​หรือ​ที่​ให้​ความ​เห็น​ว่า​คุณ​รู้สึก​ขอบคุณ​เพียง​ไร​สำหรับ​ความ​พยายาม​ของ​พวก​เขา.

คบหา​สมาคม​กัน. การ​ทักทาย​กัน​อย่าง​กรุณา​และ​การ​สนทนา​ที่​หนุน​ใจ​ก่อน​และ​หลัง​การ​ประชุม​ทำ​ให้​มี​ความ​ยินดี​และ​ได้​รับ​ประโยชน์​มาก​ยิ่ง​ขึ้น​จาก​การ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม.