พระยะโฮวาทรงฟังเสียงร้องของคนที่ทุกข์ใจ
พระยะโฮวาทรงฟังเสียงร้องของคนที่ทุกข์ใจ
ดังที่กษัตริย์โซโลมอนผู้เฉลียวฉลาดแห่งอิสราเอลโบราณให้ข้อสังเกตไว้ “วาระและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้าย่อมบังเกิดแก่ [เรา] ทุกคน.” (ผู้ป. 9:11, ล.ม.) เหตุการณ์ที่น่าเศร้าหรือความทุกข์อันเจ็บปวดอาจทำให้เราชะงักงัน. ตัวอย่างเช่น การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของญาติใกล้ชิดอาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงทางอารมณ์. หลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจากนั้น ความรู้สึกโศกเศร้าและหมดกำลังใจอาจเข้าครอบงำ. คนที่สูญเสียอาจสับสนจนถึงกับรู้สึกว่าเขาไม่สมควรจะเข้าเฝ้าพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐาน.
คนที่อยู่ในสภาพเช่นนั้นต้องการกำลังใจ, ความเห็นอกเห็นใจ, และความรัก. ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงที่ทำให้มั่นใจดังนี้: “พระยะโฮวาทรงประคองสรรพสัตว์และสรรพสิ่งที่จวนจะล้มลง, และทรงยกบรรดาคนที่ถ่อมตัวลงให้ยืนขึ้นตรง.” (เพลง. 145:14) คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “พระยะโฮวาทรงทอดพระเนตรไปทั่วพิภพโลก, เพื่อจะสำแดงว่าพระองค์ทรงฤทธานุภาพสถิตอยู่กับคนทั้งปวงที่มีใจซื่อสัตย์สุจริตต่อพระองค์.” (2 โคร. 16:9) พระองค์ทรง “อยู่กับผู้ซึ่งชอกช้ำและหดหู่ เพื่อฟื้นจิตใจของผู้ที่หดหู่และเพื่อฟื้นหัวใจของผู้ที่ชอกช้ำ.” (ยซา. 57:15, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงค้ำจุนและปลอบโยนคนที่ชอกช้ำและหดหู่โดยวิธีใด?
“ถ้อยคำที่กล่าวเหมาะกับกาลเทศะ”
วิธีหนึ่งที่พระยะโฮวาประทานความช่วยเหลือในเวลาอันเหมาะก็คือโดยทางสังคมพี่น้องคริสเตียน. คริสเตียนได้รับคำแนะนำให้ “พูดปลอบโยนคนทุกข์ใจ.” (1 เทส. 5:14) คำพูดที่แสดงความห่วงใยและความรักของเพื่อนร่วมความเชื่อที่เห็นอกเห็นใจกันช่วยคนที่เป็นทุกข์โศกเศร้าให้เข้มแข็งได้. แม้เมื่อพูดปลอบใจกันเพียงไม่กี่คำก็อาจช่วยฟื้นฟูจิตใจคนที่หดหู่ได้มาก. คำพูดที่คิดอย่างรอบคอบอาจมาจากคนที่ประสบความทุกข์ทางจิตใจและอารมณ์คล้าย ๆ กัน. หรืออาจเป็นคำพูดที่แสดงถึงความเข้าใจถ่องแท้จากเพื่อนผู้มีประสบการณ์มาก. พระยะโฮวาทรงช่วยฟื้นฟูจิตใจของคนที่ทุกข์ใจได้โดยทางพี่น้องเหล่านี้.
ขอให้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับคริสเตียนผู้ปกครองที่เพิ่งแต่งงานชื่ออะเล็กซ์ซึ่งภรรยาเสียชีวิตอย่างไม่คาดคิดด้วยโรคร้ายที่รักษาไม่ได้. ผู้ดูแลเดินทางคนหนึ่งซึ่งเข้าใจความรู้สึกของอะเล็กซ์ตั้งใจพูดปลอบโยนเขา. ภรรยาผู้ดูแลเดินทางคนนี้ก็เสียชีวิตไปแล้วเหมือนกัน แต่หลังจากนั้นเขาแต่งงานใหม่. ผู้ดูแลเดินทางคนนี้เล่าถึงความรู้สึกอ่อนไหวที่เคยเข้าครอบงำตัวเขาเอง. เขารู้สึกดีเมื่ออยู่กับคนอื่น ๆ ในงานประกาศและที่การประชุมประชาคม. แต่เมื่อกลับถึงห้องและปิดประตูแล้ว เขารู้สึกเหงามาก. อะเล็กซ์กล่าวสุภา. 15:23
ว่า “ผมรู้สึกสบายใจที่รู้ว่าความรู้สึกแบบนั้นของผมเป็นเรื่องปกติและคนอื่น ๆ ก็เคยรู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน.” แน่นอน “ถ้อยคำที่กล่าวเหมาะกับกาลเทศะ” ช่วยเกื้อหนุนและปลอบโยนในยามที่ทุกข์ใจ.—คริสเตียนผู้ปกครองอีกคนหนึ่งซึ่งรู้จักหลายคนที่คู่สมรสเสียชีวิตได้พูดให้กำลังใจอะเล็กซ์. เขาพูดอย่างร่วมความรู้สึกและชี้ให้เห็นอย่างกรุณาว่าพระยะโฮวาทรงรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไรและต้องการอะไร. พี่น้องคนนี้กล่าวว่า “เมื่อผ่านไปหลายเดือนหรือหลายปีและคุณต้องการมีคู่ ถึงตอนนั้นถ้าคุณจะแต่งงานใหม่ก็ถือว่านั่นเป็นการจัดเตรียมที่เปี่ยมด้วยความรักของพระยะโฮวา.” แน่นอน ไม่ใช่ทุกคนที่คู่สมรสเสียชีวิตและต่อมาอยากแต่งงานใหม่จะแต่งงานได้. แต่เมื่อใคร่ครวญคำพูดของพี่น้องคนนี้ อะเล็กซ์กล่าวว่า “การที่เขาเตือนให้ผมนึกขึ้นได้ว่านี่เป็นการจัดเตรียมของพระยะโฮวาทำให้ผมรู้สึกโล่งอกและไม่คิดในแง่ลบว่าเป็นการทรยศต่อภรรยาหรือต่อการจัดเตรียมของพระยะโฮวาในเรื่องการสมรสถ้าผมจะแต่งงานใหม่ในวันข้างหน้า.”—1 โค. 7:8, 9, 39
ดาวิด ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ซึ่งผ่านการทดสอบและความทุกข์ยากมามากมาย ยอมรับว่า “พระเนตรพระยะโฮวาเพ่งดูผู้ชอบธรรม, และพระกรรณของพระองค์ทรงสดับฟังคำทูลร้องทุกข์ของเขา.” (เพลง. 34:15) เป็นเรื่องแน่นอนว่าพระยะโฮวาทรงตอบเสียงร้องทุกข์ของคนที่ทุกข์ใจในเวลาที่เหมาะสมได้โดยทางคำพูดที่แสดงถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของเพื่อนคริสเตียนที่เห็นอกเห็นใจและมีความเป็นผู้ใหญ่. การช่วยเหลือจากพระยะโฮวาเช่นนั้นมีค่าอย่างยิ่งและใช้ได้จริง.
ความช่วยเหลือโดยทางการประชุมคริสเตียน
คนที่หดหู่มีความคิดในแง่ลบได้ง่ายซึ่งอาจทำให้เขาแยกตัวจากคนอื่น. แต่สุภาษิต 18:1 เตือนว่า “คนที่ปลีกตัวออกไปจากผู้อื่นจงใจจะทำตามตนเอง, และค้านคติแห่งปัญญาอันถูกต้องทั้งหลาย.” อะเล็กซ์ยอมรับว่า “เมื่อภรรยาผมตาย ผมก็คิดแต่ในแง่ลบ.” เขาเคยถามตัวเองว่า “ ‘ที่ผ่าน ๆ มาผมอาจทำอะไรที่ดีกว่านั้นได้ไหม? ผมอาจคำนึงถึงคนอื่นและมีความเข้าใจมากกว่านั้นได้ไหม?’ ผมไม่อยากอยู่คนเดียว. ผมอยากแต่งงานใหม่. เป็นเรื่อง ยากมากที่จะเลิกคิดในทำนองนี้เพราะเราถูกตอกย้ำอยู่ทุกวันว่าเราอยู่คนเดียว.”
คนที่จิตใจชอกช้ำจำเป็นต้องมีการคบหาสมาคมที่ดีมากกว่าที่เคยเป็นมา. การคบหาแบบนี้มีให้อยู่แล้ว ณ การประชุมประชาคม. ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น เราเปิดใจรับเอาความคิดของพระเจ้าซึ่งเป็นความคิดในแง่บวกและให้กำลังใจ.
การประชุมคริสเตียนช่วยเราให้มีทัศนะที่สมดุลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เราประสบอยู่. เมื่อเราฟังและคิดใคร่ครวญข้อความในคัมภีร์ไบเบิล เราเพ่งความคิดของเราไปที่เรื่องสำคัญที่สุดสองเรื่อง คือการพิสูจน์ว่าการปกครองของพระยะโฮวาถูกต้องและการทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ ไม่ใช่คิดถึงแต่ความทุกข์ของตัวเอง. นอกจากนั้น ระหว่างที่เราได้รับการสอนฝ่ายวิญญาณ เราได้รับการเสริมกำลังเมื่อรู้ว่าแม้แต่ถ้าคนอื่นไม่รู้หรือไม่เข้าใจความทุกข์ที่เราประสบอยู่ พระยะโฮวาทรงรู้และทรงเข้าใจ. พระองค์ทรงรู้ว่า “ความเศร้าใจทำให้จิตต์แตกร้าว.” (สุภา. 15:13) พระเจ้าองค์เที่ยงแท้ทรงประสงค์จะช่วยเรา และนี่ทำให้เรามีแรงกระตุ้นและมีกำลังที่จะก้าวต่อไป.—เพลง. 27:14
เมื่อถูกกดดันอย่างหนักจากศัตรู กษัตริย์ดาวิดร้องถึงพระเจ้าว่า “ข้าพเจ้าจึงหมดกำลังใจ ในใจข้าพเจ้าก็อ่อนล้า.” (เพลง. 143:4, ล.ม.) สถานการณ์ที่เลวร้ายมักทำให้คนเราหมดแรงกายแรงใจ และอาจถึงขั้นไม่มีจิตใจจะทำอะไร. ความทุกข์อาจเกิดขึ้นกับเราในรูปของความเจ็บป่วยหรือความอ่อนแอด้านร่างกายที่ยืดเยื้อ. เรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะทรงช่วยเราให้อดทน. (เพลง. 41:1-3) แม้ว่าทุกวันนี้พระเจ้าไม่ทรงรักษาใครให้หายโดยการอัศจรรย์ แต่พระองค์ประทานสติปัญญาและกำลังที่จำเป็นให้อดทนได้. จำไว้ว่า เมื่อรู้สึกหนักอกหนักใจเพราะความทุกข์ลำบาก ดาวิดหมายพึ่งพระยะโฮวา. ท่านร้องเพลงว่า “ข้าพเจ้าจะระลึกถึงเวลาที่ล่วงไปแล้ว; ข้าพเจ้าภาวนาถึงพระราชกิจทั้งปวงที่พระองค์ทรงกระทำนั้น; ข้าพเจ้ารำพึงถึงพระหัตถกิจการต่าง ๆ ของพระองค์.”—เพลง. 143:5
ข้อเท็จจริงที่ว่าถ้อยคำที่น่าประทับใจเหล่านี้ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจได้รับการบันทึกไว้ในพระคำของพระเจ้าแสดงว่าพระยะโฮวาทรงเข้าใจว่าเรารู้สึกอย่างไร. คำพูดเช่นนั้นเป็นการรับรองว่าพระองค์ทรงฟังคำวิงวอนของเรา. ถ้าเราตอบรับความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา ‘พระองค์จะทรงค้ำจุนเรา.’—เพลง. 55:22, ฉบับ R73
“จงอธิษฐานไม่หยุดหย่อน”
ยาโกโบ 4:8 กล่าวว่า “จงเข้าไปใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้ามาใกล้พวกท่าน.” วิธีหนึ่งที่เราจะเข้าใกล้พระเจ้าได้ก็คือโดยการอธิษฐาน. อัครสาวกเปาโลแนะนำเราให้ “อธิษฐานไม่หยุดหย่อน.” (1 เทส. 5:17) แม้แต่ถ้าเรารู้สึกว่ายากที่จะอธิบายความรู้สึก ‘พระวิญญาณก็จะขอแทนเราเมื่อเราคร่ำครวญแม้ไม่เป็นคำพูด.’ (โรม 8:26, 27) พระยะโฮวาทรงเข้าใจความรู้สึกของเราอย่างแน่นอน.
โมนิกา ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดเช่นนั้นกับพระยะโฮวา กล่าวว่า “ด้วยการอธิษฐาน, การอ่านคัมภีร์ไบเบิล, และการศึกษาส่วนตัว ดิฉันรู้สึกว่าพระยะโฮวาทรงเป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดของดิฉัน. ดิฉันรู้สึกได้เลยว่าพระองค์คอยช่วยดิฉันอยู่เสมอ. นั่นทำให้ดิฉันรู้สึกสบายใจที่พระองค์ทรงเข้าใจดิฉันแม้ในยามที่ดิฉันไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกอย่างไร. ดิฉันรู้ซึ้งในพระกรุณาและพระพรที่พระองค์ทรงมีให้อย่างไม่ขาดสาย.”
ดังนั้น ขอให้เราตอบรับคำพูดของเพื่อนคริสเตียนที่แสดงความรักและช่วยปลอบโยน, ใช้คำแนะนำที่กรุณาและข้อเตือนใจที่เสริมความเชื่อให้เข้มแข็งซึ่งได้ยินจากการประชุมคริสเตียน, และระบายความรู้สึกทุกอย่างกับพระยะโฮวาในคำอธิษฐาน. การจัดเตรียมทั้งหมดนี้แสดงว่าพระยะโฮวาทรงห่วงใยเรา. อะเล็กซ์สรุปจากประสบการณ์ของเขาเองว่า “ถ้าเราทำส่วนของเราและตอบรับการจัดเตรียมทุกอย่างของพระยะโฮวาที่ช่วยให้เราเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ เราก็จะมี ‘กำลังที่มากกว่าปกติ’ ซึ่งช่วยให้อดทนการทดสอบใด ๆ ที่อาจเผชิญ.”—2 โค. 4:7
[กรอบ/ภาพหน้า 18]
คำปลอบโยนสำหรับคนที่ทุกข์ใจ
บทเพลงสรรเสริญเต็มไปด้วยถ้อยคำที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์พร้อมกับมีคำรับรองหลายต่อหลายครั้งว่าพระยะโฮวาทรงฟังเสียงร้องของคนที่ทุกข์ใจเนื่องจากความเครียด. ขอให้พิจารณาบทกวีต่อไปนี้:
“ขณะมีความทุกข์ร้อน, ข้าพเจ้าได้ร้องทูลพระยะโฮวา, และได้อธิษฐานทูลพระเจ้าของข้าพเจ้า. พระองค์ทรงสดับฟังเสียงร้องของข้าพเจ้าแต่พระวิหารของพระองค์, และคำอธิษฐานของข้าพเจ้าต่อพระพักตร์ก็ได้เข้าพระโสตของพระองค์.”—เพลง. 18:6
“พระยะโฮวาทรงอยู่ใกล้คนที่หัวใจสลาย; และคนที่จิตใจชอกช้ำพระองค์ทรงช่วยให้รอด.”—เพลง. 34:18, ล.ม.
“พระองค์ [พระยะโฮวา] ทรงรักษาคนที่ใจแตกสลาย และทรงพันแผลให้เขา.”—เพลง. 147:3, พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับมาตรฐาน
[ภาพหน้า 17]
“ถ้อยคำที่กล่าวเหมาะกับกาลเทศะ” ช่วยปลอบโยนได้มากจริง ๆ ในยามที่ทุกข์ใจ!