เพลงสรรเสริญพระยะโฮวา!
เพลงสรรเสริญพระยะโฮวา!
“ข้าพเจ้าจะร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าของข้าพเจ้าตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่.”—เพลง. 146:2, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย
1. อะไรกระตุ้นดาวิดเมื่อยังหนุ่มให้แต่งเพลงสรรเสริญบางเพลง?
ช่วงที่ยังหนุ่ม ดาวิดใช้เวลานับไม่ถ้วนในท้องทุ่งใกล้ ๆ เมืองเบทเลเฮมดูแลฝูงแกะของบิดา. ขณะเฝ้าดูแกะ ดาวิดอาจสังเกตพระราชกิจอันสง่างามที่พระยะโฮวาทรงสร้างสรรค์ เช่น ท้องฟ้าที่ดารดาษด้วยดวงดาว, “ฝูงสัตว์ตามทุ่งนา,” และ “นกในอากาศ.” ท่านประทับใจสิ่งที่ได้เห็นอย่างยิ่งจนถูกกระตุ้นให้แต่งเพลงที่ซาบซึ้งกินใจเพื่อสรรเสริญพระผู้สร้างสิ่งที่น่าพิศวงเหล่า *—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 8:3, 4, 7-9
นี้. หลายบทเพลงที่ดาวิดแต่งไว้จะพบได้ในหนังสือบทเพลงสรรเสริญ.2. (ก) ดนตรีอาจมีผลกระทบต่อคนเราเช่นไร? จงยกตัวอย่าง. (ข) เราเรียนอะไรได้จากสายสัมพันธ์ที่ดาวิดมีกับพระยะโฮวาจากบทเพลงสรรเสริญ 34:7, 8 และบทเพลงสรรเสริญ 139:2-8?
2 คงเป็นช่วงเวลานี้ในชีวิตที่ดาวิดมีความเชี่ยวชาญสูงสุดในฐานะนักดนตรี. ที่จริง ท่านเป็นนักดนตรีที่เก่งมากถึงขนาดที่ได้รับเชิญให้บรรเลงพิณถวายกษัตริย์ซาอูล. (สุภา. 22:29) ดนตรีที่ดาวิดบรรเลงทำให้กษัตริย์ผู้กังวลใจรู้สึกสบายใจขึ้น เช่นเดียวกับที่ดนตรีดี ๆ ในทุกวันนี้มักก่อผลกระทบเช่นนั้นต่อผู้คน. เมื่อไรก็ตามที่ดาวิดหยิบเครื่องดนตรีขึ้นมา “ซาอูลก็ได้ความทุเลาค่อยสำราญพระราชหฤทัย.” (1 ซามู. 16:23) บทเพลงที่แต่งโดยนักดนตรีและนักแต่งเพลงผู้นี้ซึ่งเป็นผู้เกรงกลัวพระเจ้าได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วทุกยุคทุกสมัยว่ามีคุณค่าอย่างยิ่ง. คิดดูก็แล้วกัน! ปัจจุบัน 3,000 กว่าปีหลังจากสมัยที่ดาวิดเกิด ผู้คนหลายล้านคนจากทุกแวดวงชีวิตและที่อาศัยในทุกส่วนของโลกอ่านบทเพลงสรรเสริญของดาวิดเป็นประจำเพื่อจะได้รับการปลอบโยนและความหวัง.—2 โคร. 7:6; อ่านบทเพลงสรรเสริญ 34:7, 8; 139:2-8; อาโมศ 6:5
ดนตรีมีบทบาทสำคัญในการนมัสการแท้
3, 4. มีการจัดให้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการแท้ในสมัยดาวิดอย่างไร?
3 ดาวิดมีพรสวรรค์ และท่านใช้พรสวรรค์ในวิธีที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อสรรเสริญพระยะโฮวา. หลังจากดาวิดได้เป็นกษัตริย์ของชาติอิสราเอล ท่านจัดให้ดนตรีอันไพเราะเป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการ ณ พลับพลา. มีชาวเลวีถึง 4,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าหนึ่งในสิบของชาวเลวีที่ทำหน้าที่ทั้งหมด ได้รับมอบหมายให้เป็น “พนักงานสรรเสริญ” และมี 288 คน “ได้หัดเรียนชำนาญในการร้องเพลงถวายพระยะโฮวา.”—1 โคร. 23:3, 5; 25:7
4 ดาวิดเองได้แต่งหลายเพลงที่ชาวเลวีบรรเลงและร้อง. ชาวอิสราเอลคนใดที่มีสิทธิพิเศษได้อยู่ในโอกาสที่มีการร้องเพลงสรรเสริญของดาวิดคงรู้สึกประทับใจอย่างยิ่งแน่ ๆ ในบทเพลงที่พวกเขาได้ยิน. ต่อมา เมื่อหีบสัญญาถูกนำมาที่กรุงเยรูซาเลม “ดาวิดจึงตรัสสั่งคนหัวหน้าในพวกเลวี ให้จัดพวกพี่น้องของตนขับเพลงด้วยเครื่องดนตรีต่าง ๆ, มีพิณสิบสาย, กับกระจับปี่, และฉิ่งฉาบ, สำหรับประโคมเพลงเสียงให้ไพเราะด้วยความยินดี.”—1 โคร. 15:16
5, 6. (ก) เหตุใดจึงมีการให้ความสนใจอย่างมากแก่ดนตรีในรัชสมัยดาวิด? (ข) เรารู้ได้อย่างไรว่าดนตรีเป็นส่วนสำคัญของการนมัสการในประเทศอิสราเอลโบราณ?
5 เหตุใดจึงมีการให้ความสำคัญอย่างมากแก่ดนตรีในสมัยดาวิด? นั่นเป็นเพราะว่ากษัตริย์ทรงเป็นนักดนตรีเท่านั้นไหม? ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะมีเหตุผลอื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วยดังที่เห็นได้ในหลายศตวรรษต่อมาเมื่อกษัตริย์ฮิศคียาห์ผู้ชอบธรรมฟื้นฟูการนมัสการ ณ พระวิหาร. ที่ 2 โครนิกา 29:25 เราอ่านว่า “ท่าน [ฮิศคียาห์] ได้ตั้งพวกเลวีในโบสถ์วิหารของพระยะโฮวาให้มีฉิ่ง, ฉาบ, รำมะนา, และพิณสิบสาย, ตามคำสั่งของดาวิด, และคำสั่งของฆาดผู้สำเร็จญาณของกษัตริย์และคำของนาธานผู้พยากรณ์ ด้วยว่าพระยะโฮวา ได้ทรงบัญญัติไว้อย่างนั้นโดยพวกผู้พยากรณ์ของพระองค์.”
6 ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงชี้นำผู้นมัสการพระองค์โดยทางผู้พยากรณ์ให้สรรเสริญพระองค์ด้วยบทเพลง. นักร้องจากตระกูลปุโรหิตได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำหน้าที่ที่ชาวเลวีคนอื่น ๆ ต้องทำ เพื่อพวกเขาจะมีเวลามากพอที่จะทุ่มเทให้แก่การแต่งเพลงและการซ้อมเพลง.—1 โคร. 9:33
7, 8. สิ่งที่สำคัญกว่าความเชี่ยวชาญในการร้องเพลงราชอาณาจักรคืออะไร?
7 คุณอาจพูดว่า “ถ้ามีเรื่องร้องเพลงเข้ามาเกี่ยวด้วยแล้ว ผมคงไม่มีทางถูกนับรวมอยู่ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ ณ พลับพลาอย่างแน่นอน!” แต่ไม่ใช่นักดนตรีชาวเลวีทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญ. ตาม 1 โครนิกา 25:8 มี “ศิษย์” รวมอยู่ด้วย. นอกจากนั้น น่าสังเกตด้วยว่าอาจมีนักดนตรีและนักร้องบางคนที่เชี่ยวชาญมากในตระกูล อื่น ๆ ของอิสราเอล แต่พระยะโฮวาทรงมอบหมายชาวเลวีให้ดูแลเรื่องดนตรี. เราอาจมั่นใจว่าไม่ว่าพวกเขาเป็น “ครู” หรือ “ศิษย์” ชาวเลวีที่ซื่อสัตย์ทุกคนทำงานมอบหมายของตนอย่างดีที่สุด.
8 ดาวิดรักดนตรีและท่านเชี่ยวชาญด้านดนตรี. แต่พรสวรรค์เป็นเพียงสิ่งเดียวที่พระเจ้าทรงถือว่ามีค่าไหม? ดาวิดเขียนที่บทเพลงสรรเสริญ 33:3 (ล.ม.) ว่า “จงบรรเลงเครื่องสายให้สุดฝีมือ และเปล่งเสียงดังด้วยความยินดี.” แนวคิดที่แฝงอยู่เห็นได้ชัดเจน: สิ่งที่นับว่าสำคัญก็คือการที่เราพยายามทำให้ดีที่สุดในการสรรเสริญพระยะโฮวา.
บทบาทของดนตรีหลังสมัยดาวิด
9. จงพรรณนาว่าคุณอาจเห็นและได้ยินเสียงอะไรบ้างถ้าคุณได้เข้าร่วมการอุทิศพระวิหารในรัชสมัยโซโลมอน.
9 ในรัชสมัยโซโลมอน ดนตรีมีบทบาทโดดเด่นในการนมัสการบริสุทธิ์. ในการอุทิศพระวิหาร มีวงดุริยางค์วงใหญ่ซึ่งมีส่วนเครื่องเป่าที่ประกอบด้วยนักเป่าแตร 120 คน. (อ่าน 2 โครนิกา 5:12) คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “พวกแตร [ซึ่งทั้งหมดเป็นปุโรหิต] และพวกขับเพลงทำเพลงพร้อมกันดุจเสียงเดียว, ประโคมถวายฉลองพระเดชพระคุณพระยะโฮวา . . . ‘เพราะพระองค์ทรงพระกรุณาคุณ; และเพราะพระกรุณาของพระองค์ดำรงอยู่ถาวร.’ ” ทันทีที่เสียงเพลงแสดงความยินดีดังขึ้น “โบสถ์วิหารของพระยะโฮวาก็เต็มไปด้วยเมฆ” ซึ่งแสดงว่าพระยะโฮวาพอพระทัย. คนที่ได้ยินเสียงแตรทั้งหมดพร้อมกับเสียงนักร้องนับพันประสานเป็นเสียงเดียวคงต้องรู้สึกตื่นเต้นและเกรงขามสักเพียงไร!—2 โคร. 5:13
10, 11. อะไรแสดงว่าคริสเตียนยุคแรกใช้ดนตรีในการนมัสการ?
10 คริสเตียนยุคแรกใช้ดนตรีในการนมัสการด้วย. แน่นอน ผู้นมัสการในศตวรรษแรกไม่ได้ประชุมกันที่พลับพลาหรือพระวิหาร แต่ประชุมกันที่บ้านส่วนตัว. แม้ถูกข่มเหงและประสบความลำบากหลายอย่าง พวกเขาก็ยังคงร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า.
11 อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเพื่อนคริสเตียนในเมืองโกโลซายว่า “จง . . . เตือนสติกันเสมอด้วยเพลงสรรเสริญ ด้วยคำสดุดีพระเจ้า ด้วยเพลงนมัสการที่กล่าวถึงพระกรุณาของพระเจ้า.” (โกโล. 3:16) หลังจากเปาโลกับซีลัสถูกจับขังคุก พวกเขาเริ่ม “อธิษฐานและร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า” แม้ว่าพวกเขาไม่มีหนังสือเพลง. (กิจ. 16:25) ถ้าคุณถูกจับขังคุก คุณจะจำและร้องเพลงราชอาณาจักรได้สักกี่เพลง?
12. เราจะแสดงว่าเราเห็นคุณค่าเพลงราชอาณาจักรได้อย่างไร?
12 เนื่องจากดนตรีมีบทบาทสำคัญในการนมัสการของเรา เราควรถามตัวเองว่า ‘ฉันแสดงให้เห็นว่า ฉันเห็นคุณค่าดนตรีไหม? ฉันพยายามมายังการประชุมประชาคม, การประชุมหมวด, และการประชุมภาคทันเวลาเพื่อร่วมกับพี่น้องในการร้องเพลงเปิดการประชุม และร้องอย่างที่ออกมาจากความรู้สึกไหม? ฉันสนับสนุนลูก ๆ ให้เห็นความสำคัญของเพลงที่ร้องระหว่างการประชุมโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้ากับการประชุมการรับใช้ หรือเพลงระหว่างคำบรรยายสาธารณะกับการศึกษาหอสังเกตการณ์ ไหม หรือฉันปล่อยให้พวกเขาลุกจากที่นั่งโดยไม่จำเป็นและถือว่านั่นเป็นช่วงพักเพื่อยืดเส้นยืดสาย?’ การร้องเพลงเป็นส่วนหนึ่งในการนมัสการของเรา. ดังนั้น ไม่ว่าเราเป็น ‘ครู’ หรือ ‘ศิษย์’ เราทุกคนสามารถประสานเสียงกันเป็นหนึ่งเดียวในการสรรเสริญพระยะโฮวาและเราควรทำอย่างนั้น.—เทียบกับ 2 โครินท์ 8:12
ความจำเป็นเปลี่ยนไปตามวันเวลาที่เปลี่ยนแปลง
13, 14. การร้องเพลงอย่างสุดหัวใจในการประชุมประชาคมมีคุณค่าเช่นไร? จงยกตัวอย่าง.
13 เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว วารสารหอสังเกตการณ์แห่งซีโอน อธิบายเหตุผลหนึ่งที่เพลงราชอาณาจักรสำคัญมาก. วารสารฉบับนั้นกล่าวว่า “การร้องเพลงเกี่ยวกับความจริงเป็นวิธีที่ดีที่จะให้ความจริงเข้าไปในจิตใจและหัวใจของประชาชนของพระเจ้า.” เนื้อร้องของหลายเพลงอาศัยข้อความจากพระคัมภีร์ การเรียนรู้เนื้อร้องของเพลงบางเพลงเป็นวิธีที่ดีเยี่ยมที่จะให้ความจริงหยั่งรากลึกลงไปในหัวใจเรา. บ่อยครั้ง คนที่มาร่วมประชุมกับเราเป็นครั้ง
แรกรู้สึกถูกกระตุ้นใจอย่างยิ่งจากการร้องเพลงด้วยความรู้สึกจากใจที่ประชาคม.14 เย็นวันหนึ่งในปี 1869 ซี. ที. รัสเซลล์กำลังเดินกลับจากที่ทำงานไปบ้านเมื่อท่านได้ยินเสียงร้องเพลงดังมาจากห้องใต้ดิน. ในช่วงนั้นของชีวิต ท่านเชื่อว่าตัวเองคงไม่มีทางได้พบความจริงเรื่องพระเจ้าแล้วแน่ ๆ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงทุ่มเทตัวในการทำธุรกิจโดยหาเหตุผลว่าถ้ามีเงินแล้วอย่างน้อยท่านก็จะดูแลความจำเป็นของผู้คนได้แม้ว่าจะไม่สามารถช่วยพวกเขาให้เรียนรู้ความจริงเรื่องพระเจ้า. บราเดอร์รัสเซลล์เข้าไปในห้องประชุมซอมซ่อที่เต็มไปด้วยฝุ่น และพบว่าที่นั่นมีการจัดการประชุมทางศาสนากันอยู่. ท่านนั่งลงและฟัง. ต่อมาท่านเขียนว่าสิ่งที่ท่านได้ยินในคืนนั้น “เป็นการชี้นำจากพระเจ้า และนั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ความเชื่อที่อ่อนแอ [ของท่าน] เข้มแข็งขึ้นมาและมั่นใจว่าคัมภีร์ไบเบิลมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า.” ขอให้สังเกตว่าเสียงเพลงคือสิ่งแรกที่ดึงดูด บร. รัสเซลล์ให้เข้าร่วมการประชุมครั้งนั้น.
15. เหตุใดจึงจำเป็นต้องมีหนังสือเพลงใหม่?
15 เมื่อเวลาผ่านไป มีการปรับเปลี่ยนความเข้าใจของเราในพระคัมภีร์ให้ถูกต้อง. สุภาษิต 4:18 กล่าวว่า “วิถีของผู้ชอบธรรมนั้นเหมือนดังแสงอรุณ, ซึ่งกล้าขึ้นทุกทีจนถึงเที่ยงวัน.” แสงสว่างที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีที่เรา ‘ร้องความจริง.’ ในช่วง 25 ปีที่ผ่านไป พยานพระยะโฮวาในหลายดินแดนใช้หนังสือเพลงที่ชื่อจงร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา. * ในปีต่าง ๆ นับตั้งแต่มีการพิมพ์หนังสือเพลงนี้เป็นครั้งแรก แสงสว่างแรงกล้ายิ่งขึ้นในหลายเรื่อง และสำนวนบางอย่างที่ใช้ในหนังสือเพลงนี้ก็กลายเป็นล้าสมัยไป. ตัวอย่างเช่น เราไม่พูดว่า “ระบบใหม่” อีกแล้ว แต่ใช้คำว่า “โลกใหม่” แทน. และเดี๋ยวนี้เราพูดว่าพระนามพระยะโฮวาจะ “เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์” ไม่ใช่ “ได้รับการชันสูตรเชิดชู.” เมื่อพิจารณาจากมุมมองด้านหลักคำสอน เห็นได้ชัดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขหนังสือเพลงของเราให้ทันสมัยขึ้น.
16. หนังสือเพลงใหม่จะช่วยเราให้ทำตามคำแนะนำของเปาโลในเอเฟโซส์ 5:19 อย่างไร?
16 ด้วยเหตุผลนั้นและเหตุผลอื่น ๆ คณะกรรมการปกครองจึงอนุมัติให้ออกหนังสือเพลงใหม่ที่ชื่อเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา. หนังสือเพลงใหม่นี้มีเพลงน้อยลงเหลือเพียง 135 เพลง. เนื่องจากมีเพลงน้อยลงที่ต้องทำความคุ้นเคย จึงน่าจะเป็นไปได้ที่เราจะจำเนื้อร้องของเพลงใหม่อย่างน้อยบางเพลง. เรื่องนี้สอดคล้องกับคำแนะนำของเปาโลซึ่งบันทึกไว้ที่เอเฟโซส์ 5:19.—อ่าน
คุณแสดงความขอบคุณได้
17. การคิดเช่นไรอาจช่วยเราเอาชนะความอายในการร้องเพลงที่ประชาคม?
17 เราควรอายจนไม่กล้าร้องเพลง ณ การประชุมคริสเตียนไหม? ขอให้มองอย่างนี้: เป็นความจริงมิใช่หรือที่ “เราต่างพลาดพลั้งกันหลายครั้ง” ในเรื่องคำพูด? (ยโก. 3:2) ถึงกระนั้น เราไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ยับยั้งเราไว้จากการสรรเสริญพระยะโฮวาด้วยการประกาศตามบ้าน. ถ้าอย่างนั้น ทำไมเราจึงจะปล่อยให้การที่เราร้องเพลงได้ไม่ค่อยดี นักยับยั้งเราไว้ไม่ให้สรรเสริญพระเจ้าด้วยการร้องเพลง? พระยะโฮวาผู้ “สร้างปากมนุษย์” ทรงยินดีฟังเมื่อเราใช้เสียงของเราร้องเพลงสรรเสริญพระองค์.—เอ็ก. 4:11
18. จงบอกวิธีทำความคุ้นเคยกับเนื้อร้องของเพลงใหม่.
18 ซีดีเพลงที่ชื่อเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา—ร้องประสานเสียง มีแล้วในหลายภาษา. ซีดีเพลงนี้บันทึกเสียงดนตรีซึ่งบรรเลงโดยวงออร์เคสตราและการขับร้องประสานเสียงเพลงใหม่บางเพลงไว้อย่างไพเราะ. มีการเรียบเรียงดนตรีไว้อย่างน่าฟังมาก. ขอให้ฟังเพลงเหล่านี้บ่อย ๆ; โดยวิธีนี้ ไม่ช้าคุณก็จะจำเนื้อร้องของเพลงใหม่ได้ อย่างน้อยก็บางเพลง. เนื้อร้องของหลายเพลงแต่งไว้อย่างที่เมื่อคุณร้องบรรทัดหนึ่งแล้ว คุณแทบจะคาดหมายได้เลยว่าบรรทัดถัดไปจะเป็นอย่างไร. ดังนั้น เมื่อคุณเปิดซีดีเพลงแผ่นนี้ฟัง คุณน่าจะร้องตามไปด้วย. ถ้าคุณคุ้นเคยกับเนื้อร้องและดนตรีของเพลงใหม่นี้ตั้งแต่ที่บ้าน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคุณจะร้องเพลงด้วยความมั่นใจมากขึ้นเมื่ออยู่ที่หอประชุมราชอาณาจักร.
19. มีขั้นตอนอะไรบ้างในการเตรียมเพลงราชอาณาจักรซึ่งบรรเลงโดยวงออร์เคสตรา?
19 เป็นเรื่องง่ายที่เราอาจไม่เห็นความสำคัญของดนตรีบรรเลงที่เปิด ณ การประชุมพิเศษ, การประชุมหมวด, และการประชุมภาค. มีงานมากมายที่ต้องทำเพื่อเตรียมเพลงบรรเลงเหล่านี้. หลังจากเลือกเพลงแล้ว ต้องเรียบเรียงเสียงดนตรีอย่างรอบคอบสำหรับนักดนตรีทั้งหมด 64 คนในวงออร์เคสตราของสมาคมว็อชเทาเวอร์. จากนั้น นักดนตรีต้องใช้เวลามากมายหลายชั่วโมงทบทวนสิ่งที่พวกเขาจะฝึกซ้อมและในที่สุดก็บันทึกเสียงในห้องบันทึกเสียงที่แพตเทอร์สัน นิวยอร์ก. สิบคนในกลุ่มพี่น้องชายหญิงเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในสหรัฐ. ทุกคนถือว่าเป็นสิทธิพิเศษที่มีส่วนร่วมในการจัดทำดนตรีที่ไพเราะสำหรับใช้ในการประชุมต่าง ๆ ตามระบอบของพระเจ้า. เราแสดงความขอบคุณสำหรับงานหนักที่พวกเขาทำด้วยความรักได้. เมื่อประธานในการประชุมหมวดและการประชุมภาคเชิญเราให้นั่งและตั้งใจฟังดนตรีที่พี่น้องของเราจัดเตรียมไว้ด้วยความรัก เราควรพร้อมที่จะทำตาม.
20. คุณตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำอะไร?
20 พระยะโฮวาทรงสนใจเมื่อเราร้องเพลงสรรเสริญพระองค์. พระองค์ทรงถือว่าเพลงเหล่านี้สำคัญ. เราทำให้พระทัยพระองค์ยินดีได้โดยร้องเพลงอย่างสุดหัวใจเมื่อไรก็ตามที่เราประชุมกันเพื่อนมัสการพระองค์. ใช่แล้ว ไม่ว่าเราชำนาญในการร้องเพลงหรือไม่ก็ตาม ให้เรา ‘ร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา’!—เพลง. 104:33
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 1 น่าสนใจ สิบศตวรรษหลังจากดาวิดสิ้นพระชนม์ เหล่าทูตสวรรค์ประกาศการประสูติของพระมาซีฮาแก่คนเลี้ยงแกะที่กำลังเฝ้าฝูงแกะอยู่ในทุ่งหญ้าใกล้ ๆ เมืองเบทเลเฮม.—ลูกา 2:4, 8, 13, 14
^ วรรค 15 เพลงครบชุด 225 เพลงมีในภาษาต่าง ๆ มากกว่า 100 ภาษา.
คุณคิดอย่างไร?
• มีตัวอย่างอะไรในสมัยคัมภีร์ไบเบิลที่แสดงว่าดนตรีมีบทบาทสำคัญในการนมัสการของเรา?
• คุณเห็นความเกี่ยวข้องกันเช่นไรระหว่างการเชื่อฟังพระบัญชาของพระเยซูที่บันทึกไว้ในมัดธาย 22:37 กับการร่วมร้องเพลงราชอาณาจักรอย่างสุดหัวใจ?
• มีวิธีใดบ้างที่เราจะแสดงความขอบคุณสำหรับเพลงราชอาณาจักรได้?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 23]
คุณปล่อยให้ลูกลุกจากที่นั่งโดยไม่จำเป็นขณะที่ร้องเพลงไหม?
[ภาพหน้า 24]
คุณทำความคุ้นเคยกับเนื้อร้องของเพลงใหม่ที่บ้านไหม?