ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

รู้สึกขอบคุณที่ได้รับใช้พระยะโฮวาแม้ถูกทดสอบ

รู้สึกขอบคุณที่ได้รับใช้พระยะโฮวาแม้ถูกทดสอบ

รู้สึก​ขอบคุณ​ที่​ได้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​แม้​ถูก​ทดสอบ

เล่า​โดย มาตเจอ เดอะ ยงเงอ-ฟาน เดน เฮอเฟิล

ฉัน​อายุ 98 ปี. ฉัน​ยินดี​ที่​ได้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​มา​นาน​ถึง​เจ็ด​สิบ​ปี​แล้ว. แต่​ก็​ใช่​ว่า​ความ​เชื่อ​ของ​ฉัน​จะ​ไม่​ถูก​ทดสอบ​เลย. ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง ฉัน​ถูก​ส่ง​เข้า​ค่าย​กัก​กัน ซึ่ง​มี​อยู่​ครั้ง​หนึ่ง​ตอน​ที่​อยู่​ที่​นั่น ความ​ท้อ​แท้​ใจ​ทำ​ให้​ฉัน​ตัดสิน​ใจ​ทำ​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​ฉัน​รู้สึก​เสียใจ​ใน​ภาย​หลัง. หลาย​ปี​ต่อ​มา ฉัน​เผชิญ​การ​ทดสอบ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​เจ็บ​ปวด. แม้​ว่า​เป็น​อย่าง​นั้น ฉัน​รู้สึก​ขอบคุณ​พระ​ยะโฮวา​ที่​มี​สิทธิ​พิเศษ​ได้​รับใช้​พระองค์ แม้​ถูก​ทดสอบ.

ชีวิต​ฉัน​เปลี่ยน​ไป​ใน​เดือน​ตุลาคม 1940. ฉัน​อยู่​ใน​เมือง​ฮิลเฟอร์ซัม ซึ่ง​อยู่​ห่าง​ออก​ไป​ประมาณ 24 กิโลเมตร​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้​ของ​กรุง​อัมสเตอร์ดัม ประเทศ​เนเธอร์แลนด์. ตอน​นั้น ประเทศ​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​พวก​นาซี. ฉัน​แต่งงาน​แล้ว​ห้า​ปี​กับ​ยาบ เดอะ ยงเงอ สามี​ผู้​ใส่​ใจ​ดู​แล​ฉัน และ​เรา​มี​ลูก​สาว​ที่​น่า​รัก​วัย​สาม​ขวบ​ชื่อ​วิลลี. เรา​อาศัย​อยู่​ติด​กับ​ครอบครัว​หนึ่ง​ที่​ยาก​จน และ​ต้อง​ดิ้นรน​เลี้ยง​ดู​ลูก​แปด​คน. ถึง​กระนั้น พวก​เขา​ก็​ยัง​ให้​ที่​พัก​และ​อาหาร​แก่​แขก​ประจำ​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เป็น​ชาย​หนุ่ม. ฉัน​สงสัย​ว่า ‘ทำไม​พวก​เขา​ต้อง​รับ​ภาระ​เพิ่ม​เป็น​พิเศษ​อย่าง​นั้น​ด้วย?’ เมื่อ​ฉัน​แบ่ง​อาหาร​ให้​บ้าน​นี้ ฉัน​จึง​รู้​ว่า​ชาย​หนุ่ม​คน​นี้​เป็น​ไพโอเนียร์. เขา​อธิบาย​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​และ​พระ​พร​ต่าง ๆ ที่​จะ​มา​จาก​ราชอาณาจักร​นี้​ให้​ฉัน​ฟัง. ฉัน​รู้สึก​ประทับใจ​อย่าง​มาก​จาก​สิ่ง​ที่​ได้​เรียน​รู้ และ​ตอบรับ​ความ​จริง​อย่าง​รวด​เร็ว. ใน​ปี​นั้น​เอง ฉัน​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา​และ​รับ​บัพติสมา. หนึ่ง​ปี​หลัง​จาก​รับ​บัพติสมา สามี​ฉัน​ก็​รับ​ความ​จริง​เช่น​กัน.

แม้​ว่า​ฉัน​มี​ความ​รู้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​มาก ฉัน​เข้าใจ​อย่าง​เต็ม​ที่ว่าการ​เป็น​พยาน​ฯ คือ​การ​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​องค์การ​ที่​ถูก​สั่ง​ห้าม. ฉัน​รู้​ด้วย​ว่า​พยาน​ฯ จำนวน​มาก​ถูก​ส่ง​เข้า​คุก​แล้ว​เพราะ​พวก​เขา​ประกาศ​ข่าวสาร​เรื่อง​ราชอาณาจักร. ถึง​กระนั้น ฉัน​เริ่ม​ประกาศ​ตาม​บ้าน​ทันที และ​ฉัน​กับ​สามี​ก็​เปิด​บ้าน​ให้​ไพโอเนียร์​และ​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​มา​พัก. บ้าน​ของ​เรา​ยัง​เป็น​ที่​เก็บ​สรรพหนังสือ ซึ่ง​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​จาก​อัมสเตอร์ดัม​มา​ส่ง​ให้​เรา. จักรยาน​ขน​ของ​ที่​หนัก​อึ้ง​ของ​พวก​เขา​บรรทุก​หนังสือ​มา​เต็ม​คัน​และ​คลุม​ทับ​ด้วย​ผ้า​ใบ. พี่​น้อง​ที่​ทำ​หน้า​ที่​ขน​หนังสือ​เหล่า​นี้​ช่าง​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​และ​กล้า​หาญ​จริง ๆ! พวก​เขา​เสี่ยง​ชีวิต​เพื่อ​พี่​น้อง.—1 โย. 3:16

“แม่​จะ​ไป​นาน​ไหม​จ๊ะ?”

ราว ๆ หก​เดือน​หลัง​จาก​ที่​ฉัน​รับ​บัพติสมา มี​ตำรวจ​สาม​คน​มา​ปรากฏ​ตัว​ที่​ประตู​บ้าน​เรา. พวก​เขา​เข้า​มา​ใน​บ้าน​และ​ค้น. แม้​ว่า​พวก​เขา​ไม่​พบ​ห้อง​เล็ก​ที่​มี​หนังสือ​อยู่​เต็ม​ห้อง แต่​พวก​เขา​พบ​หนังสือ​บาง​เล่ม​ที่​ซ่อน​อยู่​ใต้​เตียง​ของ​เรา. พวก​เขา​สั่ง​ให้​ฉัน​ตาม​พวก​เขา​ไป​สถานี​ตำรวจ​ใน​ฮิลเฟอร์ซัม​ทันที. เมื่อ​ฉัน​สวมกอด​และ​บอก​ลา​ลูก​สาว วิลลี​ถาม​ว่า “แม่​จะ​ไป​นาน​ไหม​จ๊ะ?” ฉัน​ตอบ​ว่า “ไม่​หรอก​ลูก ไม่​นาน​แม่​ก็​จะ​กลับ​มา.” แต่​ฉัน​ต้อง​รอ​นาน​ถึง 18 เดือน อัน​เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​แสน​ลำบาก กว่า​จะ​ได้​กลับ​มา​กอด​ลูก​อีก​ครั้ง​หนึ่ง.

เจ้าหน้าที่​ตำรวจ​คน​หนึ่ง​พา​ตัว​ฉัน​ขึ้น​รถไฟ​ไป​อัมสเตอร์ดัม​เพื่อ​สอบ​ปากคำ. ผู้​สอบ​ปากคำ​พยายาม​บังคับ​ให้​ฉัน​ยืน​ยัน​ว่า​พี่​น้อง​ชาย​สาม​คน​จาก​เมือง​ฮิลเฟอร์ซัม​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา. ฉัน​บอก​ว่า “ฉัน​ไม่​รู้​จัก​พวก​เขา ยก​เว้น​คน​หนึ่ง. เขา​เป็น​คน​ส่ง​นม​ให้​บ้าน​เรา.” และ​นั่น​เป็น​ความ​จริง พี่​น้อง​คน​นั้น​เป็น​คน​ส่ง​นม. ฉัน​กล่าว​ต่อ​ไป​ว่า “แต่​เรื่อง​ที่​ว่า​เขา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​หรือ​เปล่า คุณ​น่า​จะ​ไป​ถาม​เขา ไม่​ใช่​มา​ถาม​ฉัน.” พอ​ฉัน​ไม่​ยอม​พูด​อะไร​อีก พวก​เขา​ก็​ต่อย​หน้า​ฉัน​และ​จับ​ฉัน​ยัด​ห้อง​ขัง​และ​ทิ้ง​ฉัน​ไว้​ที่​นั่น​สอง​เดือน. เมื่อ​สามี​รู้​ว่า​ฉัน​อยู่​ที่​ไหน เขา​ก็​นำ​เสื้อ​ผ้า​และ​อาหาร​มา​ให้​ฉัน. ต่อ​มา ใน​เดือน​สิงหาคม 1941 ฉัน​ถูก​ส่ง​ไป​ราเฟนส์บรึค ค่าย​กัก​กัน​ที่​มี​ชื่อ​ฉาวโฉ่​ซึ่ง​ขัง​เฉพาะ​นัก​โทษ​หญิง ห่าง​จาก​กรุง​เบอร์ลิน ประเทศ​เยอรมนี ขึ้น​ไป​ทาง​เหนือ​ประมาณ 80 กิโลเมตร.

“อย่า​เศร้า​ไป​เลย”

เมื่อ​ไป​ถึง พวก​เขา​บอก​เรา​ว่า​เรา​จะ​ได้​กลับ​บ้าน​ถ้า​เซ็น​ชื่อ​ใน​คำ​แถลง​ปฏิเสธ​ความ​เชื่อ​ของ​เรา. แต่​แน่นอน ฉัน​ไม่​ยอม​เซ็น. เมื่อ​ไม่​ทำ​อย่าง​นั้น ฉัน​ก็​ถูก​ริบ​ข้าวของ​ส่วน​ตัว​และ​ถูก​เปลื้อง​เสื้อ​ผ้า​จน​เปลือย​เปล่า​ใน​ห้อง​น้ำ ซึ่ง​ที่​นั่น​ฉัน​ได้​พบ​กับ​พี่​น้อง​หญิง​บาง​คน​จาก​เนเธอร์แลนด์. พวก​เรา​ได้​รับ​เสื้อ​ผ้า​นัก​โทษ​ที่​มี​สาม​เหลี่ยม​สี​ม่วง​เย็บ​ติด​อยู่, จาน, ถ้วย, และ​ช้อน. คืน​แรก เรา​ถูก​ขัง​ใน​โรง​เรือน​ชั่ว​คราว. ที่​นั่น ฉัน​ร้องไห้​เป็น​ครั้ง​แรก​นับ​ตั้ง​แต่​ที่​ฉัน​ถูก​จับ. “หลัง​จาก​นี้​จะ​มี​อะไร​เกิด​ขึ้น​อีก? ฉัน​ต้อง​อยู่​ที่​นี่​อีก​นาน​เท่า​ไร?” ฉัน​สะอื้น​ไห้. พูด​ตาม​ตรง ใน​ตอน​นั้น​สาย​สัมพันธ์​ของ​ฉัน​กับ​พระ​ยะโฮวา​ยัง​ไม่​ค่อย​แข็งแรง​นัก เนื่อง​จาก​ฉัน​เพิ่ง​รู้​ความ​จริง​ได้​ไม่​กี่​เดือน. ฉัน​ยัง​ต้อง​เรียน​รู้​อีก​มาก. วัน​ต่อ​มา เมื่อ​มี​การ​เรียก​ให้​เข้า​แถว​เพื่อ​ขาน​ชื่อ พี่​น้อง​หญิง​ชาว​ดัตช์​คน​หนึ่ง​คง​สังเกต​ว่า​ฉัน​เศร้า. เธอ​บอก​ฉัน​ว่า “อย่า​เศร้า​ไป​เลย! มี​อะไร​จะ​ทำ​ร้าย​เรา​ได้​หรือ?”

หลัง​จาก​ขาน​ชื่อ​แล้ว เรา​ถูก​พา​ไป​อีก​โรง​เรือน​หนึ่ง​ซึ่ง​เรา​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ​จาก​พี่​น้อง​หญิง​คริสเตียน​หลาย​ร้อย​คน​จาก​เยอรมนี​และ​เนเธอร์แลนด์. พี่​น้อง​หญิง​ชาว​เยอรมัน​บาง​คน​อยู่​ที่​โรง​เรือน​นั้น​นาน​กว่า​หนึ่ง​ปี​แล้ว. การ​ได้​อยู่​กับ​พวก​เขา​ช่วย​เสริม​กำลัง​ฉัน และ​ที่​จริง​ทำ​ให้​ฉัน​สดชื่น​ขึ้น. ฉัน​ยัง​ประทับใจ​ด้วย​ที่​เห็น​ว่า​โรง​เรือน​ที่​พี่​น้อง​หญิง​ของ​เรา​อยู่​สะอาด​สะอ้าน​มาก​เมื่อ​เทียบ​กับ​โรง​เรือน​อื่น ๆ ใน​ค่าย​กัก​กัน​นั้น. นอก​จาก​สะอาด​แล้ว โรง​เรือน​ของ​เรา​ยัง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​ด้วย​ว่า​เป็น​ที่​ที่​ไม่​มี​การ​ขโมย, การ​แช่ง​ด่า, หรือ​การ​ต่อ​สู้​เกิด​ขึ้น​เลย. แม้​เรา​ต้อง​เผชิญ​สภาพ​ที่​โหด​ร้าย​ใน​ค่าย​กัก​กัน​นั้น แต่​โรง​เรือน​ของ​เรา​เป็น​เหมือน​เกาะ​สะอาด​ที่​ล้อม​รอบ​ด้วย​ทะเล​สกปรก.

ชีวิต​ประจำ​วัน​ใน​ค่าย​กัก​กัน

ชีวิต​ใน​ค่าย​กัก​กัน​ต้อง​ทำ​งาน​หนัก​มาก​และ​ได้​กิน​น้อย​มาก. พวก​เรา​ต้อง​ตื่น​ตอน​ตี​ห้า​และ​ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น​ก็​จะ​เริ่ม​เรียก​แถว​ขาน​ชื่อ. พวก​ผู้​คุม​ให้​เรา​ยืน​อยู่​ข้าง​นอก​เป็น​เวลา​ประมาณ​หนึ่ง​ชั่วโมง ไม่​ว่า​ฝน​จะ​ตก​หรือ​แดด​จะ​ออก. เมื่อ​ถึง​ห้า​โมง​เย็น หลัง​จาก​ทำ​งาน​หนัก​มา​ทั้ง​วัน ก็​จะ​มี​การ​เรียก​แถว​ขาน​ชื่อ​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. จาก​นั้น เรา​ก็​กิน​ซุป​และ​ขนมปัง​นิด​หน่อย​แล้ว​เข้า​นอน​อย่าง​อ่อน​ระโหย​โรย​แรง.

ทุก​วัน​ยก​เว้น​วัน​อาทิตย์ ฉัน​ถูก​ส่ง​ให้​ไป​ทำ​งาน​ที่​ไร่ ซึ่ง​ฉัน​ต้อง​ใช้​เคียว​ด้าม​ยาว​เกี่ยว​ข้าว​สาลี, ขุด​ลอก​คู​น้ำ, และ​ทำ​ความ​สะอาด​คอก​หมู. แม้​ว่า​เป็น​งาน​หนัก​และ​สกปรก ฉัน​สามารถ​ทำ​งาน​นั้น​ได้​ทุก​วัน​เพราะ​อายุ​ยัง​น้อย และ​ค่อนข้าง​แข็งแรง. นอก​จาก​นั้น การ​ร้อง​เพลง​ที่​มี​เนื้อหา​ซึ่ง​อาศัย​พระ​คัมภีร์​ขณะ​ทำ​งาน​ช่วย​ฉัน​ให้​เข้มแข็ง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ฉัน​เฝ้า​แต่​คิด​ถึง​สามี​และ​ลูก​ทุก​วัน.

เรา​ได้​รับ​อาหาร​น้อย​มาก แต่​พี่​น้อง​หญิง​ทุก​คน​พยายาม​เก็บ​ขนมปัง​ไว้​ส่วน​หนึ่ง​ทุก​วัน เพื่อ​ว่า​เมื่อ​ถึง​วัน​อาทิตย์​เรา​จะ​มี​อาหาร​มาก​เป็น​พิเศษ​เมื่อ​เรา​มี​โอกาส​มา​อยู่​ร่วม​กัน​เพื่อ​พิจารณา​เรื่อง​ราว​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล. เรา​ไม่​มี​หนังสือ​อธิบาย​คัมภีร์​ไบเบิล แต่​ฉัน​ตั้งใจ​ฟัง​พี่​น้อง​หญิง​ชาว​เยอรมัน​ที่​ซื่อ​สัตย์​ซึ่ง​มี​อายุ​มาก​กว่า​พิจารณา​เรื่อง​ต่าง ๆ เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์. เรา​ถึง​กับ​จัด​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ระลึก​ถึง​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระ​คริสต์​ด้วย​ซ้ำ.

ทุกข์​ใจ, เสียใจ, และ​ได้​กำลังใจ

บาง​ครั้ง พวก​เรา​ถูก​สั่ง​ให้​ทำ​งาน​ที่​สนับสนุน​การ​ทำ​สงคราม​ของ​พวก​นาซี​โดย​ตรง. เนื่อง​จาก​เป็น​กลาง​ทาง​การ​เมือง พี่​น้อง​หญิง​ทุก​คน​ปฏิเสธ​ที่​จะ​ทำ​งาน​นั้น และ​ฉัน​ก็​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ที่​กล้า​หาญ​ของ​พวก​เขา. เรา​ถูก​ลง​โทษ​ไม่​ได้​รับ​อาหาร​อยู่​หลาย​วัน​และ​ต้อง​ยืน​เข้า​แถว​หลาย​ชั่วโมง. ครั้ง​หนึ่ง ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว เรา​ถูก​กัก​ตัว​ให้​อยู่​ใน​โรง​เรือน​ที่​ไม่​มี​เครื่อง​ทำ​ความ​ร้อน​ใด ๆ นาน​ถึง 40 วัน.

พวก​เขา​บอก​พวก​เรา​ที่​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า​ว่า​เรา​จะ​ถูก​ปล่อย​ตัว​และ​กลับ​บ้าน​ได้​ถ้า​เซ็น​ชื่อ​ใน​คำ​แถลง​ปฏิเสธ​ความ​เชื่อ​ของ​เรา. หลัง​จาก​ที่​ฉัน​อยู่​ใน​ค่าย​กัก​กัน​ราเฟนส์บรึค​มา​ปี​กว่า ฉัน​ก็​รู้สึก​ท้อ​แท้​มาก. ความ​ปรารถนา​ที่​จะ​ได้​เห็น​สามี​และ​ลูก​สาว​เริ่ม​รุนแรง​มาก​ขึ้น​จน​ใน​ที่​สุด​ฉัน​ไป​หา​ผู้​คุม ขอ​แบบ​ฟอร์ม​คำ​แถลง​ที่​กล่าว​ว่า​ฉัน​จะ​ไม่​เป็น​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​อีก​ต่อ​ไป แล้ว​ก็​เซ็น​ชื่อ​ใน​แบบ​ฟอร์ม​นั้น.

เมื่อ​พวก​พี่​น้อง​รู้​ว่า​ฉัน​ทำ​อะไร บาง​คน​เริ่ม​หลบ​เลี่ยง​ไม่​คุย​กับ​ฉัน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พี่​น้อง​หญิง​ชาว​เยอรมัน​สอง​คน​ซึ่ง​อายุ​มาก​แล้ว ชื่อ​เฮด​วิก​และ​แกร์ทรูด ตาม​หา​ฉัน​จน​พบ​แล้ว​ก็​บอก​ให้​ฉัน​มั่น​ใจ​ว่า​พวก​เธอ​รัก​ฉัน. ขณะ​ทำ​งาน​ด้วย​กัน​ที่​คอก​หมู พวก​เธอ​อธิบาย​อย่าง​กรุณา​ให้​ฉัน​เข้าใจ​ความ​สำคัญ​ของ​การ​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​จงรักภักดี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​และ​วิธี​ที่​เรา​จะ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​พระองค์​ด้วย​การ​ไม่​ยอม​อะลุ่มอล่วย. เธอ​ทั้ง​สอง​ห่วงใย​และ​รัก​ฉัน​มาก​เหมือน​ฉัน​เป็น​ลูก ทำ​ให้​ฉัน​รู้สึก​ประทับใจ​อย่าง​ยิ่ง. * ฉัน​รู้​ว่า​สิ่ง​ที่​ทำ​ไป​นั้น​ผิด และ​ฉัน​อยาก​ให้​คำ​แถลง​นั้น​เป็น​โมฆะ. เย็น​วัน​หนึ่ง ฉัน​บอก​พี่​น้อง​หญิง​คน​หนึ่ง​ว่า​ฉัน​ตัดสิน​ใจ​จะ​ขอ​ให้​คำ​แถลง​ของ​ฉัน​เป็น​โมฆะ. เจ้าหน้าที่​คน​หนึ่ง​ใน​ค่าย​กัก​กัน​นั้น​คง​ได้​ยิน​การ​สนทนา​ของ​เรา เพราะ​เย็น​วัน​นั้น​เอง​ฉัน​ถูก​ปล่อย​ตัว​จาก​ค่าย​กัก​กัน​นั้น​อย่าง​กะทันหัน​และ​ถูก​ส่ง​ขึ้น​รถไฟ​กลับ​ไป​เนเธอร์แลนด์. ผู้​ดู​แล​ค่าย​คน​หนึ่ง ซึ่ง​ฉัน​ยัง​จำ​หน้า​เธอ​ได้ พูด​กับ​ฉัน​ว่า “เธอ​ยัง​คง​เป็น​บีเบลฟอร์เชอร์ (นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล) และ​เธอ​ก็​จะ​ไม่​ยอม​เลิก​เป็น.” ฉัน​ตอบ​กลับ​ไป​ว่า “ใช่ นั่น​เป็น​พระ​ประสงค์​ของ​พระ​ยะโฮวา.” ถึง​กระนั้น ฉัน​ก็​ยัง​คิด​ไม่​ตก​ว่า ‘ฉัน​จะ​ยก​เลิก​คำ​แถลง​นั้น​ได้​อย่าง​ไร?’

จุด​หนึ่ง​ใน​คำ​แถลง​นี้​กล่าว​ว่า “ด้วย​การ​เซ็น​ชื่อ​ใน​คำ​แถลง​นี้ ข้าพเจ้า​ขอ​รับรอง​ว่า​จะ​ไม่​เกี่ยว​ข้อง​ใด ๆ กับ​สมาคม​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​นานา​ชาติ​อีก​ต่อ​ไป.” ฉัน​รู้​แล้ว​ว่า​ต้อง​ทำ​อะไร! เดือน​มกราคม 1943 ไม่​นาน​หลัง​จาก​ที่​ฉัน​กลับ​มา​อยู่​บ้าน ฉัน​ก็​เริ่ม​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​งาน​ประกาศ​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. แน่นอน ถ้า​ฉัน​ถูก​เจ้าหน้าที่​ของ​นาซี​จับ​เป็น​ครั้ง​ที่​สอง​ขณะ​ประกาศ​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า ฉัน​จะ​ถูก​ลง​โทษ​อย่าง​รุนแรง.

เพื่อ​แสดง​ให้​พระ​ยะโฮวา​เห็น​อีก​ว่า​ฉัน​ปรารถนา​จะ​เป็น​ผู้​รับใช้​ที่​ภักดี ฉัน​กับ​สามี​จึง​เปิด​บ้าน​เป็น​ที่​พัก​สำหรับ​ผู้​ส่ง​หนังสือ​และ​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. ฉัน​รู้สึก​ขอบคุณ​สัก​เพียง​ไร​ที่​มี​โอกาส​พิสูจน์​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ว่า​ฉัน​รัก​พระ​ยะโฮวา​และ​รัก​ประชาชน​ของ​พระองค์!

เรื่อง​ที่​ทำ​ให้​เจ็บ​ปวด​ใจ

ไม่​กี่​เดือน​ก่อน​สงคราม​ยุติ ก็​มี​เรื่อง​ที่​ทำ​ให้​ฉัน​กับ​สามี​เจ็บ​ปวด​ใจ​อย่าง​ยิ่ง. ใน​เดือน​ตุลาคม 1944 ลูก​สาว​ของ​เรา​ป่วย​หนัก​อย่าง​กะทันหัน. วิลลี​เป็น​โรค​คอ​ตีบ. อาการ​ป่วย​ของ​เธอ​ทรุด​อย่าง​รวด​เร็ว และ​หลัง​จาก​นั้น​สาม​วัน​เธอ​ก็​ตาย. ตอน​นั้น เธอ​อายุ​แค่​เจ็ด​ขวบ.

การ​สูญ​เสีย​ลูก​คน​เดียว​ทำ​ให้​เรา​เสียใจ​อย่าง​ยิ่ง. ที่​จริง การ​ทดสอบ​ที่​ฉัน​ประสบ​ใน​ค่าย​ราเฟนส์บรึค​เทียบ​ไม่​ได้​เลย​กับ​ความ​เจ็บ​ปวด​เมื่อ​เรา​สูญ​เสีย​ลูก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ขณะ​ที่​เรา​เป็น​ทุกข์​โศก​เศร้า​อยู่​นั้น​เรา​ได้​รับ​คำ​ปลอบโยน​เสมอ​จาก​ถ้อย​คำ​ที่​พบ​ใน​บทเพลง​สรรเสริญ 16:8 ที่​ว่า “ข้าพเจ้า​ได้​ตั้ง​พระ​ยะโฮวา​ไว้​ตรง​หน้า​ข้าพเจ้า​เสมอ. เพราะ​พระองค์​ทรง​สถิต​อยู่​ข้าง​มือ​ขวา​ของ​ข้าพเจ้า, ข้าพเจ้า​จะ​ไม่​แปรปรวน​ไป.” ฉัน​กับ​สามี​เชื่อ​มั่น​อย่าง​เต็ม​ที่​ใน​คำ​สัญญา​ของ​พระ​ยะโฮวา​เรื่อง​การ​กลับ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย. เรา​บากบั่น​พากเพียร​ใน​ความ​จริง​และ​ประกาศ​ข่าว​ดี​อย่าง​กระตือรือร้น​เสมอ. ก่อน​ที่​สามี​ของ​ฉัน​จะ​เสีย​ชีวิต​ใน​ปี 1969 เขา​ได้​ช่วย​ฉัน​อย่าง​แท้​จริง​ให้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ความ​รู้สึก​ขอบคุณ.

พระ​พร​และ​ความ​ยินดี

ใน​ช่วง​หลาย​สิบ​ปี​ที่​ผ่าน​ไป สิ่ง​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​ยินดี​อย่าง​ใหญ่​หลวง​เสมอ​ก็​คือ​การ​คบหา​ใกล้​ชิด​กับ​ผู้​รับใช้​เต็ม​เวลา. เช่น​เดียว​กับ​ใน​ช่วง​สงคราม เรา​เปิด​บ้าน​ต้อนรับ​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​และ​ภรรยา​ของ​เขา​เสมอ​เมื่อ​เขา​มา​เยี่ยม​ประชาคม​ของ​เรา. คู่​หนึ่ง​ที่​ทำ​งาน​เดิน​หมวด​คือ​มาร์เตน​และ​เนล กัปไตน์ เคย​พัก​อยู่​ที่​บ้าน​เรา​นาน​ถึง 13 ปี​ด้วย​ซ้ำ! เมื่อ​เนล​ป่วย​หนัก​ใน​ระยะ​สุด​ท้าย ฉัน​มี​สิทธิ​พิเศษ​ได้​ดู​แล​เธอ​ที่​บ้าน​ของ​เรา​เป็น​เวลา​สาม​เดือน​จน​กระทั่ง​เธอ​เสีย​ชีวิต. การ​คบหา​สมาคม​กับ​เขา​ทั้ง​สอง​และ​กับ​พี่​น้อง​ที่​รัก​ใน​ท้องถิ่น​ได้​ช่วย​ฉัน​ให้​ชื่นชม​อุทยาน​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​เรา​อยู่​ใน​ขณะ​นี้.

เหตุ​การณ์​เด่น​อย่าง​หนึ่ง​ใน​ชีวิต​ของ​ฉัน​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี 1995 คือ​ฉัน​ได้​รับ​เชิญ​ให้​ไป​ร่วม​งาน​รำลึก​เหตุ​การณ์​ใน​ค่าย​กัก​กัน​ราเฟนส์บรึค. ที่​นั่น ฉัน​ได้​พบ​พี่​น้อง​หญิง​หลาย​คน​ที่​เคย​อยู่​ใน​ค่าย​นั้น​และ​ไม่​ได้​พบ​กัน​เลย​นาน​กว่า 50 ปี! การ​มา​อยู่​ด้วย​กัน​เป็น​ประสบการณ์​ที่​ไม่​อาจ​ลืม​เลือน​ได้​และ​น่า​ประทับใจ​อย่าง​ยิ่ง​และ​ยัง​เป็น​โอกาส​ดี​ที่​ได้​หนุน​ใจ​กัน​ให้​คอย​ท่า​วัน​ที่​เรา​จะ​ได้​พบ​กับ​คน​ที่​เรา​รัก​อีก​ครั้ง​หนึ่ง.

อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​ไว้​ที่​โรม 15:4 ว่า “เรา​จะ​มี​ความ​หวัง​โดย​ความ​เพียร​อด​ทน​ของ​เรา​และ​โดย​การ​ชู​ใจ​จาก​พระ​คัมภีร์.” ฉัน​รู้สึก​ขอบคุณ​พระ​ยะโฮวา​ที่​ประทาน​ความ​หวัง​นี้​ซึ่ง​ทำ​ให้​ฉัน​สามารถ​รับใช้​พระองค์​ด้วย​ความ​รู้สึก​ขอบคุณ แม้​ถูก​ทดสอบ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 19 ใน​ช่วง​เวลา​นั้น​ซึ่ง​เรา​ขาด​การ​ติด​ต่อ​กับ​สำนักงาน​ใหญ่ พี่​น้อง​ได้​จัด​การ​ประเด็น​เกี่ยว​กับ​ความ​เป็น​กลาง​อย่าง​ดี​ที่​สุด​ตาม​ความ​รู้​ความ​เข้าใจ​ของ​แต่​ละ​คน. ด้วย​เหตุ​นั้น ปฏิกิริยา​ของ​แต่​ละ​คน​ที่​แสดง​ต่อ​มาตเจอ​จึง​แตกต่าง​กัน​ไป.

[ภาพ​หน้า 10]

ถ่าย​คู่​กับ​ยาบ​ใน​ปี 1930

[ภาพ​หน้า 10]

วิลลี ลูก​สาว ของ​เรา ตอน​อายุ​เจ็ด​ขวบ

[ภาพ​หน้า 12]

ใน​งาน​ชุมนุม​สังสรรค์​อัน​อบอุ่น​กับ​เพื่อน​เก่า ปี 1995. ฉัน​อยู่​แถว​แรก คน​ที่​สอง​จาก​ซ้าย