“หาที่ลี้ภัยโดยวางใจในพระนามพระยะโฮวา”
“หาที่ลี้ภัยโดยวางใจในพระนามพระยะโฮวา”
“เราจะให้มีคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนเหลืออยู่ . . . พวกเขาจะหาที่ลี้ภัยโดยวางใจในพระนามพระยะโฮวา.”—ซฟัน. 3:12, ล.ม.
1, 2. พายุโดยนัยอะไรจะกระหน่ำมนุษยชาติในไม่ช้า?
คุณเคยต้องหลบพายุฝนหรือพายุลูกเห็บอยู่ใต้สะพานไหม? สะพานอาจช่วยปกป้องคุณจากพายุฝนหรือพายุลูกเห็บได้ แต่มันคงแทบจะปกป้องคุณไม่ได้เลยจากพายุทอร์นาโดหรือพายุไต้ฝุ่น.
2 มีพายุอีกชนิดหนึ่งกำลังเคลื่อนใกล้เข้ามา ซึ่งเป็นพายุที่คุกคามการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์เลยทีเดียว. พายุโดยนัยนี้ได้แก่ “วันแห่งความชำรุด [“วันแห่งพายุ,” ล.ม.].” “วันใหญ่แห่งพระยะโฮวา” นี้จะมีผลกระทบต่อมนุษยชาติทั้งสิ้น. อย่างไรก็ตาม เราหาที่ลี้ภัยได้. (อ่านซะฟันยา 1:14-18) เราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไรในช่วง “วันแห่งความพิโรธ” ของพระยะโฮวาที่จะเริ่มต้นในไม่ช้า?
วันแห่งพายุ ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล
3. “พายุฝน” อะไรที่กระหน่ำอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูล?
3 วันของพระยะโฮวาจะเริ่มต้นด้วยการทำลายระบบศาสนาเท็จทั้งสิ้นบนแผ่นดินโลก. สำหรับเรื่องการจะหาที่ลี้ภัยได้จากที่ไหนนั้น เราอาจหาคำตอบได้จากบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับประชาชนของพระเจ้าในสมัยโบราณ. ยะซายาห์ ซึ่งมีชีวิตในศตวรรษที่แปดก่อนสากลศักราช เปรียบการพิพากษาของพระยะโฮวาต่ออาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลที่ออกหากว่าเป็นเหมือน “พายุฝน” ที่ประชาชนจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย. (อ่านยะซายา 28:1, 2) คำพยากรณ์ดังกล่าวสำเร็จในปี 740 ก่อน ส.ศ. เมื่ออัสซีเรียรุกรานดินแดนของสิบตระกูล ซึ่งเอ็ฟรายิมเป็นชื่อที่ใช้เรียกแทนสิบตระกูลนี้.
4. “วันใหญ่แห่งพระยะโฮวา” ทำลายกรุงเยรูซาเลมในปี 607 ก่อน ส.ศ. อย่างไร?
4 การพิพากษาอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์ตามด้วย “วันใหญ่แห่งพระยะโฮวา” ที่ทำลายกรุงเยรูซาเลมและอาณาจักรยูดาห์ในปี 607 ก่อน ส.ศ. เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเพราะประชาชนของอาณาจักรยูดาห์ก็ออกหากด้วย. พวกบาบิโลนซึ่งนำโดยนะบูคัดเนซัรคุกคามยูดาห์และกรุงเยรูซาเลมเมืองหลวง. ชาวยูดาห์หันไปพึ่ง ‘ความมุสาเป็นที่คุ้มภัย’ คือหันไปขอความช่วยเหลือจากอียิปต์พันธมิตรทางการเมืองของพวกเขา. อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับพายุลูกเห็บที่ทำลายล้าง ชาวบาบิโลนก็กวาดทำลาย “ที่คุ้มภัย” ดังกล่าวไปเสีย.—ยซา. 28:14, 17
5. จะเกิดอะไรขึ้นกับประชาชนของพระเจ้าทั้งกลุ่มในช่วงที่มีการทำลายศาสนาเท็จทั้งหมด?
5 วันใหญ่ของพระยะโฮวาที่ทำลายกรุงเยรูซาเลมชี้ถึงการพิพากษาที่จะเกิดขึ้นกับคริสต์ศาสนจักรที่ออกหากวิ. 7:14; 18:2, 8; 19:19-21
ในสมัยของเรา. นอกจากนั้น ส่วนที่เหลือของ “บาบิโลนใหญ่” จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จจะถูกทำลาย. หลังจากนั้น ส่วนที่เหลืออยู่ของระบบชั่วของซาตานจะถูกทำลายให้สูญสิ้น. แต่ประชาชนของพระเจ้าทั้งกลุ่มจะรอดชีวิตเพราะพวกเขาหาที่ลี้ภัยโดยวางใจพระยะโฮวา.—ที่ลี้ภัยฝ่ายวิญญาณและด้านร่างกาย
6. ประชาชนของพระยะโฮวาจะหาที่ลี้ภัยได้โดยวิธีใด?
6 ประชาชนของพระเจ้าจะหาที่ลี้ภัยแม้แต่ ในขณะนี้ที่เป็นช่วงอวสานได้อย่างไร? เราหาที่ลี้ภัยฝ่ายวิญญาณ ได้ด้วยการ “ระลึกถึงพระนามของ [พระเจ้า]” อย่างจริงจัง และโดยการรับใช้พระองค์ด้วยใจแรงกล้า. (อ่านมาลาคี 3:16-18) แต่เราเข้าใจได้ว่าเราต้องทำมากกว่าแค่ระลึกถึงพระนามของพระองค์. เราอ่านว่า “ทุกคนที่ทูลอ้อนวอนโดยออกพระนามพระยะโฮวาจะรอด.” (โรม 10:13) มีความเกี่ยวข้องกันระหว่างการทูลอ้อนวอนโดยออกพระนามพระยะโฮวากับความรอดที่มาจากพระองค์. และประชาชนผู้มีหัวใจสุจริตมากมายสามารถเห็นความแตกต่างระหว่างคริสเตียนแท้ ซึ่ง “ระลึกถึงพระนามของพระองค์” และรับใช้เป็นพยานของพระองค์ กับมนุษยชาติทั้งหลายที่ไม่รับใช้พระองค์.
7, 8. คริสเตียนในศตวรรษแรกได้รับความรอดทางกายภาพโดยวิธีใด ซึ่งเทียบได้กับอะไรในทุกวันนี้?
7 ถึงกระนั้น ความรอดที่เราจะได้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การหาที่ลี้ภัยฝ่ายวิญญาณ. มีคำสัญญาว่าประชาชนของพระเจ้าจะได้รับความรอดทางกายภาพ. เราเห็นว่าเป็นเช่นนั้นจากสิ่งที่เกิดขึ้นใน ส.ศ. 66 หลังจากกองทัพโรมันที่นำโดยเซสติอุส กัลลุส โจมตีกรุงเยรูซาเลม. พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าว่าวันแห่งความทุกข์ลำบากนั้นจะถูกทำให้ “สั้นลง.” (มัด. 24:15, 16, 21, 22) เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อกองทัพโรมันถอนทัพจากการล้อมกรุงเยรูซาเลมอย่างไม่คาดหมาย ซึ่งทำให้คริสเตียนแท้ “รอด.” พวกเขาสามารถหนีออกจากกรุงเยรูซาเลมและอาณาเขตโดยรอบ. บางคนข้ามแม่น้ำจอร์แดนและลี้ภัยในเขตภูเขาที่อยู่ด้านตะวันออกของฝั่งแม่น้ำ.
8 เราอาจเทียบคริสเตียนเหล่านั้นได้กับประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้. ในอดีต คริสเตียนศตวรรษแรกหาที่ลี้ภัย และผู้รับใช้ของพระเจ้าในปัจจุบันก็จะทำคล้าย ๆ กันนั้น. อย่างไรก็ตาม ในคราวนี้จะไม่ใช่การหนีไปยังที่ใดที่หนึ่งจริง ๆ เพราะคริสเตียนแท้อาศัยอยู่ในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก. ถึงกระนั้น “เหล่าผู้ถูกเลือก” และสหายที่ภักดีของพวกเขาจะรอดชีวิตจากอวสานของคริสต์ศาสนจักรที่ออกหากด้วยการหาที่ลี้ภัยโดยวางใจพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์ซึ่งเปรียบดุจภูเขา.
9. ใครพยายามทำให้ผู้คนลืมพระนามพระยะโฮวา? จงยกตัวอย่าง.
9 ตรงกันข้าม คริสต์ศาสนจักรสมควรจะประสบความพินาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพราะไม่ได้สอนความจริงเรื่องพระเจ้าแก่สมาชิกของตนและแสดงความเกลียดชังต่อพระนามของพระเจ้า. ในยุคกลาง พระนามของพระเจ้าเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในยุโรป. พระนามนั้น ซึ่งเขียนด้วยอักษรฮีบรูสี่ตัวที่เรียกว่าเททรากรัมมาทอนและมักถ่ายเสียงอักษรเป็น ยฮวฮ ปรากฏบนเหรียญต่าง ๆ, ด้านหน้าของอาคาร, ในหนังสือและคัมภีร์ไบเบิลฉบับต่าง ๆ, และกระทั่งในโบสถ์คาทอลิกและโบสถ์โปรเตสแตนต์. อย่างไรก็ตาม ในสมัยหลัง ๆ มานี้มีแนวโน้มที่จะกำจัดพระนามของพระเจ้าออกจากคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลต่าง ๆ และจากที่อื่น ๆ ที่มีพระนามนี้. สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกว่าเป็นเช่นนั้นคือจดหมายซึ่งลงวันที่ 29 มิถุนายน 2008 ที่กระทรวงคารวกิจและศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งวาติกันส่งถึงการประชุมบิชอปว่าด้วยเรื่อง ‘พระนามของพระเจ้า.’ ในจดหมายนั้นคริสตจักรโรมันคาทอลิกสั่งว่า คำแปลของเททรากรัมมาทอนในรูปแบบต่าง ๆ จะต้องถูกแทนที่ด้วยคำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า.” วาติกันสั่งว่าไม่ควรใช้หรือออกเสียงพระนามเฉพาะของพระเจ้าในเพลงนมัสการและบทภาวนาระหว่างทำพิธีทางศาสนาของคาทอลิก. และผู้นำของศาสนาอื่น ๆ ทั้งในและนอกคริสต์ศาสนจักรก็ปิดซ่อนเอกลักษณ์ของพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ไว้ไม่ให้สมาชิกหลายล้านคนรู้.
การปกป้องผู้ที่ทำให้พระนาม พระเจ้าเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์
10. มีการแสดงความนับถือต่อพระนามของพระเจ้าอย่างไรในปัจจุบัน?
10 พยานพระยะโฮวานับถือและยกย่องพระนามของพระเจ้า ซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากศาสนาอื่น ๆ. พวกเขาทำให้พระนามพระเจ้าเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ด้วยการใช้พระนามนี้ในวิธีที่เทิดพระเกียรติพระองค์. พระยะโฮวาพอพระทัยคนที่ไว้วางใจว่าพระองค์จะทรงทำอะไรก็ตามที่จำเป็นเพื่ออวยพรและปกป้องประชาชนของพระองค์. “พระองค์ทรงรู้จักพวกที่เข้ามาพึ่งอาศัยในพระองค์.”—นาฮูม 1:7; กิจ. 15:14
11, 12. ใครยังคงซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาในอาณาจักรยูดาห์โบราณ และใครที่ทำอย่างนั้นในสมัยปัจจุบัน?
11 แม้ผู้คนส่วนใหญ่ในอาณาจักรยูดาห์โบราณออกหาก แต่ก็มีบางคน “หาที่ลี้ภัยโดยวางใจในพระนามพระยะโฮวา.” (อ่านซะฟันยา 3:12, 13) ใช่แล้ว เมื่อพระเจ้าทรงลงโทษอาณาจักรยูดาห์ที่ไม่ซื่อสัตย์โดยทรงยอมให้ชาวบาบิโลนมาพิชิตดินแดนแห่งนี้และจับประชาชนไปเป็นเชลย มีบางคนรอดชีวิต เช่น ยิระมะยาห์, บารุค, และเอเบ็ดเมเล็ก. พวกเขามีชีวิตอยู่ “ท่ามกลาง” ชาติที่ออกหาก. คนอื่น ๆ รักษาความซื่อสัตย์ต่อไปขณะที่เป็นเชลย. ในปี 539 ก่อน ส.ศ. พวกมีเดียและเปอร์เซียซึ่งนำโดยไซรัสพิชิตบาบิโลน. ไม่นานหลังจากนั้น ไซรัสออกราชกฤษฎีกาอนุญาตให้ชาวยิวที่เหลืออยู่กลับสู่มาตุภูมิ.
12 ซะฟันยาบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับผู้คนที่จะถูกนำกลับมาสู่การนมัสการแท้ว่าพระยะโฮวาจะทรงช่วยพวกเขาให้รอดและทรงยินดีในตัวพวกเขา. (อ่านซะฟันยา 3:14-17) เป็นเช่นนี้ด้วยในสมัยของเรา. หลังจากราชอาณาจักรของพระเจ้าสถาปนาขึ้นในสวรรค์ พระยะโฮวาทรงช่วยชนที่เหลือแห่งผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ให้หลุดพ้นการเป็นเชลยฝ่ายวิญญาณของบาบิโลนใหญ่. และพระองค์ทรงยินดีในตัวพวกเขาเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้.
13. ผู้คนจากทุกชาติกำลังหลุดพ้นจากอะไร?
13 คนที่มีความหวังจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกก็ได้ออกจากบาบิโลนใหญ่และหลุดพ้นจากคำสอนเท็จทางศาสนา. (วิ. 18:4) ด้วยเหตุนั้น ซะฟันยา 2:3 จึงประสบความสำเร็จเป็นจริงครั้งใหญ่ในสมัยของเรา ที่ว่า “บรรดาท่านทั้งหลายในแผ่นดินที่มีความสุภาพ . . . จงแสวงหาพระยะโฮวา.” บัดนี้ คนที่สุภาพหรือมีใจอ่อนน้อมจากทุก ชาติ ไม่ว่ามีความหวังจะมีชีวิตในสวรรค์หรือบนแผ่นดินโลก กำลังหาที่ลี้ภัยโดยวางใจในพระนามพระยะโฮวา.
พระนามของพระเจ้าไม่ใช่เครื่องรางของขลัง
14, 15. (ก) บางคนใช้อะไรเป็นเครื่องรางของขลัง? (ข) ไม่ควรใช้อะไรเป็นเครื่องรางของขลัง?
14 ชาวอิสราเอลบางคนถือว่าพระวิหารเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจวิเศษซึ่งจะช่วยปกป้องพวกเขาไว้จากศัตรู. (ยิระ. 7:1-4) ก่อนหน้านั้น ชาวอิสราเอลถือว่าหีบสัญญาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยปกป้องพวกเขาในการสู้รบ. (1 ซามู. 4:3, 10, 11) คอนสแตนตินมหาราชเขียนอักษรภาษากรีกคี และโร ซึ่งเป็นอักษรสองตัวแรกของชื่อ “คริสต์” ในภาษากรีกบนโล่ของทหารโดยหวังว่าจะช่วยปกป้องพวกทหารในการทำศึกสงคราม. และเชื่อกันว่ากุสตาฟ อะดอล์ฟที่สอง กษัตริย์แห่งสวีเดน ซึ่งสู้รบในสงครามสามสิบปีสวมเกราะดังที่เห็นในภาพหน้า 7. ขอให้สังเกตว่า มีพระนามยะโฮวา (Iehova) ปรากฏบนเกราะนี้อย่างที่เห็นได้ชัด.
15 ประชาชนของพระเจ้าบางคนที่ถูกปิศาจรังควานได้ขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาด้วยการร้องออกพระนามของพระองค์ดัง ๆ. ถึงกระนั้น ไม่ควรถือว่าวัตถุใด ๆ ที่มีพระนามของพระเจ้าอยู่เป็นเครื่องรางของขลังหรือนำมาใช้เป็นเครื่องนำโชคในชีวิตประจำวัน ราวกับว่าวัตถุนั้นมีอำนาจวิเศษที่ช่วยปกป้อง. การหาที่ลี้ภัยโดยวางใจในพระนามพระยะโฮวาไม่ได้หมายถึงการทำเช่นนั้น.
การหาที่ลี้ภัยในทุกวันนี้
16. ในทุกวันนี้เราจะหาที่ลี้ภัยฝ่ายวิญญาณได้อย่างไร?
16 พวกเราที่เป็นประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้มีความปลอดภัยฝ่ายวิญญาณ. (เพลง. 91:1) เราได้รับคำ เตือนโดยทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” และผู้ปกครองในประชาคมให้ระวังสิ่งที่โลกนิยมชมชอบซึ่งอาจทำให้เราตกอยู่ในอันตรายฝ่ายวิญญาณ. (มัด. 24:45-47; ยซา. 32:1, 2) ขอให้คิดดูว่าบ่อยเพียงไรที่เราได้รับคำเตือนเกี่ยวกับวัตถุนิยม และขอให้พิจารณาว่าคำเตือนเช่นนั้นช่วยป้องกันเราไว้จากหายนะฝ่ายวิญญาณอย่างไร. และจะว่าอย่างไรเกี่ยวกับอันตรายจากการมีนิสัยเฉื่อยชา ซึ่งในที่สุดอาจทำให้เลิกรับใช้พระยะโฮวาได้? พระคำของพระเจ้ากล่าวว่า “ความเฉยเมยของคนโฉดจะทำลายตัวเขาเอง. แต่ว่าผู้ใดที่ฟังเราจะพำนักอยู่โดยปลอดภัย, และจะอยู่สงบสุขปราศจากกลัวภัยของความชั่ว.” (สุภา. 1:32, 33) การพยายามรักษาความสะอาดด้านศีลธรรมอยู่เสมอยังจะช่วยเราให้ปลอดภัยฝ่ายวิญญาณต่อ ๆ ไปด้วย.
17, 18. อะไรช่วยหลายล้านคนในปัจจุบันให้หาที่ลี้ภัยโดยวางใจในพระนามพระยะโฮวา?
17 นอกจากนั้น ขอให้คิดถึงการสนับสนุนจากทาสสัตย์ซื่อที่ให้เราทำตามพระบัญชาของพระเยซูในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรไปทั่วแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่. (มัด. 24:14; 28:19, 20) ซะฟันยากล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยผู้คนให้หาที่ลี้ภัยโดยวางใจในพระนามของพระเจ้า. เราอ่านว่า “ในคราวนั้น เราจะให้ประชาชนนั้นหันไปใช้ภาษาบริสุทธิ์ เพื่อว่าทุกคนจะร้องทูลออกพระนามพระเยโฮวาห์ และปรนนิบัติพระองค์เป็นใจเดียวกัน.”—ซฟัน. 3:9, ฉบับแปลคิงเจมส์
18 ภาษาบริสุทธิ์นี้คืออะไร? ภาษาบริสุทธิ์คือความจริงเกี่ยวกับพระยะโฮวาพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์ดังที่จะพบได้ในพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจของพระองค์. ในแง่หนึ่ง คุณกำลังใช้ภาษานี้เมื่อคุณอธิบายให้คนอื่นเข้าใจเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าอย่างถูกต้องและเข้าใจวิธีที่ราชอาณาจักรจะทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์, เมื่อคุณเน้นว่าพระเจ้าทรงมีสิทธิอย่างถูกต้องในการปกครอง, และเมื่อคุณพูดคุยอย่างมีความสุขเรื่องพระพรถาวรที่มนุษย์ผู้ซื่อสัตย์จะได้รับ. ผลอย่างหนึ่งจากการที่มีผู้คนมากมายพูดภาษาโดยนัยนี้ก็คือ มีคนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่กำลัง “ร้องทูลออกพระนามพระเยโฮวาห์” และ “ปรนนิบัติพระองค์เป็นใจเดียวกัน.” ในเวลานี้ หลายล้านคนทั่วโลกกำลังหาที่ลี้ภัยโดยวางใจพระยะโฮวา.—เพลง. 1:1, 3
19, 20. ‘การใช้ความมุสาเป็นที่คุ้มภัย’ ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลล้มเหลวอย่างไร?
19 ผู้คนในโลกต้องรับมือปัญหาต่าง ๆ ที่ดูเหมือนว่าไม่มีทางแก้. เนื่องจากหมดหวังที่จะแก้ปัญหาของตัวเอง หลายคนหมายพึ่งมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์. หรือพวกเขาหวังว่าสถาบันการเมืองจะช่วยแก้ปัญหาให้ เช่นเดียวกับชาติอิสราเอลโบราณที่บางครั้งหมายพึ่งการสนับสนุนจากชาติใกล้เคียงด้วยการเป็นพันธมิตรกับชาติเหล่านั้น. แต่คุณรู้ว่าการทำเช่นนั้นไม่ได้ช่วยชาติอิสราเอลเลย. และไม่ว่าจะรัฐใดในปัจจุบันหรือองค์การสหประชาชาติก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของมนุษยชาติได้อย่างครบถ้วน. ถ้าอย่างนั้น ทำไมเราจึงจะถือว่าสถาบันการเมืองและพันธมิตรเป็นที่คุ้มภัยล่ะ? คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าสถาบันการเมืองเหล่านี้เป็นที่คุ้มภัยจอมปลอม. คุณสามารถลงความเห็นเช่นนั้นได้อย่างถูกต้องเพราะทุกคนที่หวังพึ่งสถาบันเหล่านี้จะผิดหวังอย่างมาก.—อ่านยะซายา 28:15, 17
ยะซายา 28:17 ชี้ให้เห็นว่า “พายุลูกเห็บจะกวาดเอาความมุสาซึ่งเป็นที่คุ้มภัย, และน้ำจะมาท่วมทำลายที่กำบังไปเสีย.”
20 ไม่ช้า พายุลูกเห็บโดยนัยแห่งวันของพระยะโฮวาจะกระหน่ำแผ่นดินโลก. แผนการของมนุษย์จะปรากฏชัดว่าไม่สามารถช่วยปกป้อง และไม่ว่าจะระเบิดนิวเคลียร์หรือทรัพย์สินเงินทองก็ไม่อาจช่วยคุ้มภัยได้.21. เราจะได้รับประโยชน์อะไรจากการปฏิบัติตามข้อพระคัมภีร์ประจำปี 2011?
21 ทั้งในเวลานี้และในอนาคต ประชาชนของพระเจ้าจะพบความปลอดภัยแท้ในพระยะโฮวาพระเจ้า. ชื่อซะฟันยาซึ่งมีความหมายว่า “พระยะโฮวาทรงกำบัง” บ่งชี้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้กำบังที่แท้จริง. นับว่าเหมาะทีเดียวที่เราได้รับคำแนะนำที่ฉลาดสุขุมนี้เป็นข้อพระคัมภีร์ประจำปี 2011: “หาที่ลี้ภัยโดยวางใจในพระนามพระยะโฮวา.” (ซฟัน. 3:12, ล.ม.) แม้แต่ในเวลานี้เราจะหาที่ลี้ภัยได้โดยวางใจในพระนามพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ และเราควรทำเช่นนั้น. (เพลง. 9:10) แต่ละวัน ขอให้เราจำคำรับรองซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจที่ว่า “พระนามพระยะโฮวาเป็นป้อมเข้มแข็ง, คนชอบธรรมทั้งปวงวิ่งเข้าไปก็พ้นภัย.”—สุภา. 18:10
คุณจำได้ไหม?
• เราจะหาที่ลี้ภัยโดยวางใจในพระนามพระยะโฮวาในเวลานี้ได้อย่างไร?
• เหตุใดเราไม่ควร “ใช้ความมุสาเป็นที่คุ้มภัย”?
• ที่ลี้ภัยอะไรทำให้เรามั่นใจในเรื่องอนาคต?
[คำถาม]
[คำโปรยหน้า 6]
ข้อพระคัมภีร์ประจำปี 2011 คือ: “หาที่ลี้ภัยโดยวางใจใน พระนามพระยะโฮวา” —ซะฟันยา 3:12, ล.ม.
[ที่มาของภาพหน้า 7]
Thüringer Landesmuseum Heidecksburg Rudolstadt Waffensammlung “Schwarzburger Zeughaus”