ผมได้พบสิ่งดี ๆ มากมาย
ผมได้พบสิ่งดี ๆ มากมาย
เล่าโดย อาเทอร์ บอนโน
ตอนนั้นเป็นปี 1951. ผมกับอีดิท ภรรยาของผม อยู่ที่การประชุมภาคเมื่อเราได้ยินคำประกาศว่าจะมีการประชุมสำหรับคนที่สนใจงานมิชชันนารี.
“ไปฟังกันเถอะ!” ผมพูดอย่างตื่นเต้น.
“อาร์ต เราเป็นมิชชันนารีไม่ได้หรอก!” อีดิทตอบ.
“เอาเถอะน่า อีดิท แค่ไปฟังเฉย ๆ.”
เมื่อจบการประชุมนั้น เราก็ได้รับใบสมัครสำหรับโรงเรียนกิเลียด.
“กรอกใบสมัครกันเถอะ” ผมชวนอีดิท.
“แต่ครอบครัวเราล่ะ อาร์ต?”
หลังจากการประชุมภาคครั้งนั้นประมาณปีครึ่ง เราก็เข้าเรียนในโรงเรียนกิเลียดและได้รับมอบหมายให้รับใช้ที่ประเทศเอกวาดอร์ ทวีปอเมริกาใต้.
ดังที่คุณอาจสังเกตจากบทสนทนาที่ผมพูดกับภรรยาในการประชุมภาคครั้งนั้น ผมมีบุคลิกที่ค่อนข้างจะแข็งกร้าวและมีทัศนคติว่าหากคนเราตั้งใจจะทำอะไรแล้วย่อมทำได้. แต่อีดิทเป็นคนอ่อนโยนและเจียมตัว. ตอนที่เติบโตขึ้นมาในเอลิซาเบทซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ในรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอไม่เคยจากบ้านไปผจญภัยที่ไหนไกล ๆ หรือพบกับคนต่างชาติเลย. เป็นเรื่องยากมากที่เธอจะจากครอบครัวไป. ถึงจะเป็นอย่างนั้น เธอเต็มใจรับงานมอบหมายไปรับใช้ในต่างประเทศ. ในปี 1954 เรามาถึงเอกวาดอร์ และรับใช้เป็นมิชชันนารีในประเทศนี้เรื่อยมานับตั้งแต่นั้น. ตลอดหลายปีที่เราอยู่ที่นี่ เราได้พบสิ่งดี ๆ มากมาย. คุณอยากให้ผมเล่าบางเรื่องให้ฟังไหม?
ความทรงจำอันสดใส
เขตมอบหมายแรกของเราคือกีโต ซึ่งเป็นเมืองหลวงที่อยู่สูงถึง 2,850 เมตรบนเทือกเขาแอนดีส. เราต้องเดินทางถึงสองวันโดยนั่งรถไฟและรถบรรทุกจากไกวอากีลเมืองชายทะเล ซึ่งปัจจุบันสามารถเดินทางไปถึงได้ใน 30 นาทีโดยทางเครื่องบิน! เรารับใช้ที่เมืองกีโตอยู่สี่ปี ซึ่งเป็น
สี่ปีที่น่าจดจำ. จากนั้น ในปี 1958 ก็มีสิ่งดีอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือเราได้รับเชิญให้รับใช้ในงานหมวด.ในเวลานั้น ทั้งประเทศมีหมวดเล็ก ๆ แค่สองหมวด. ดังนั้น นอกจากจะเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ แล้ว เราใช้เวลาหลายสัปดาห์ในแต่ละปีประกาศในเมืองเล็ก ๆ ของชาวอินเดียนแดงซึ่งไม่มีพยานฯ เลย. ที่พักในหมู่บ้านของชาวอินเดียนแดงเหล่านี้มักเป็นแค่ห้องเล็ก ๆ ที่ไม่มีหน้าต่าง มีเพียงแค่เตียง และนอกจากนั้นแล้วก็ไม่มีอะไรอีกเลย. เราขนหีบไม้ใบหนึ่งไปด้วย ซึ่งในนั้นมีตะเกียงน้ำมันก๊าด, กระทะ, จาน, กะละมัง, ผ้าปูที่นอน, มุ้ง, เสื้อผ้า, หนังสือพิมพ์เก่า, และของอื่น ๆ บางอย่าง. เราใช้หนังสือพิมพ์อุดรูต่าง ๆ ตามฝาผนังเพื่อพวกหนูจะเข้ามาในห้องได้ยากขึ้นอีกหน่อย.
แม้ว่าห้องเหล่านั้นจะมืดทึบและสกปรก แต่เรามีความทรงจำอันสดใสที่ได้สนทนากันในความมืดขณะนั่งอยู่บนเตียง กินอาหารง่าย ๆ ที่เราปรุงโดยใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด. เนื่องจากนิสัยหุนหันมักทำให้ผมพูดโดยไม่ทันยั้งคิด บางครั้งภรรยาผมก็จะใช้โอกาสสงบ ๆ แบบนี้คุยกับผมเกี่ยวกับวิธีพูดอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาที่ผมจะเอาไปใช้ได้กับพี่น้องในประชาคมต่าง ๆ ที่เราไปเยี่ยม. ผมฟังเธอ และการเยี่ยมของผมก็หนุนกำลังใจพี่น้องมากขึ้น. นอกจากนั้น เมื่อผมไม่ระวังและพูดถึงคนอื่นในทางที่ไม่ดี เธอก็จะไม่คุยด้วยในเรื่องนั้น. โดยวิธีนี้ ผมเรียนรู้ที่จะมีทัศนะที่ดีต่อพี่น้องเสมอ. แต่ส่วนใหญ่แล้ว การสนทนาของเราตอนค่ำคืนมักเกี่ยวข้องกับจุดต่าง ๆ ที่เราได้เรียนจากบทความในหอสังเกตการณ์ และประสบการณ์ในการรับใช้ของเราในวันนั้น. และเราก็มีประสบการณ์หลายอย่างที่น่าตื่นเต้นจริง ๆ!
วิธีที่เราพบคาร์ลอส
ในเมืองฮีปีฮาปา ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเอกวาดอร์ เราได้ชื่อของผู้สนใจคนหนึ่ง—ชื่อคาร์ลอส เมเฮีย แต่ไม่ได้บอกที่อยู่. เมื่อออกจากห้องเช่าเช้าวันนั้น เราไม่รู้ว่าจะเริ่มหาเขาได้ที่ไหน เราจึงเริ่มออกเดินไปโดยไร้จุดหมาย. เราต้องเดินไปตามถนนดินอย่างระมัดระวังเพื่อจะไม่ตกหลุมตกบ่อที่มีแต่โคลนเลนเนื่องจากฝนตกหนักเมื่อคืนก่อนหน้านั้น. ผมกำลังเดินนำหน้าภรรยา แต่ทันใดนั้นผมก็ได้ยินเสียงร้องดังลั่นมาจากข้างหลังว่า “อาร์ต!” เมื่อผมหันไปดูก็เห็นอีดิทยืนจมโคลนสีดำสูงถึงหัวเข่า. ภาพที่เห็นนั้นตลกมากจนผมคงหัวเราะไปแล้วถ้าไม่เห็นใบหน้าที่นองน้ำตาของเธอเสียก่อน.
ผมดึงเธอขึ้นมาจากปลักนั้นได้ แต่รองเท้าเธอยังติดอยู่ในโคลน. มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งและเด็กผู้หญิงอีกคนหนึ่งยืนดูอยู่ ผมเลยบอกเด็กสองคนนี้ว่า “อาจะให้เงินหนูถ้าหนูช่วยเอารองเท้าขึ้นจากโคลนมาให้อา.” ในพริบตาเดียว รองเท้าคู่นั้นก็ขึ้นมาจากโคลน แต่อีดิทต้องหาที่ล้างรองเท้าให้สะอาด. แม่ของเด็กสองคนนี้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เธอจึงชวนเราไปที่บ้าน และเธอช่วยล้างขาให้ภรรยาผมในขณะที่เด็ก ๆ ช่วยทำความสะอาดรองเท้าที่สกปรก. ก่อนที่เราจะจากไป ก็มีสิ่งดีอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น. ผมถามผู้หญิงคนนี้ว่าเธอรู้ไหมว่าเราจะหาผู้ชายที่ชื่อคาร์ลอส เมเฮียได้ที่ไหน. เธอทำหน้าแปลกใจ แล้วก็พูดว่า “เขาเป็นสามีฉันเอง.” ต่อมา เราก็เริ่มศึกษาพระคัมภีร์กัน และในที่สุดทุกคนในครอบครัวนี้ก็รับบัพติสมา. หลายปีต่อมา คาร์ลอส, ภรรยา, และลูกอีกสองคนได้รับใช้เป็นไพโอเนียร์พิเศษ.
การเดินทางลำบาก แต่การต้อนรับอบอุ่น
การเดินทางในงานหมวดมีข้อท้าทายหลายอย่าง. เราใช้รถประจำทาง, รถไฟ, รถบรรทุก, เรือแคนูขุด, และเครื่องบินเล็ก. มีอยู่ครั้งหนึ่งที่จอห์น แมกเลนาชัน ซึ่งรับใช้เป็นผู้ดูแลภาค กับโดโรทีภรรยาของเขา เดินทางไปกับเราในงานประกาศที่หมู่บ้านชาวประมงหลายหมู่บ้านใกล้ ๆ ชายแดนโคลัมเบีย. เราเดินทางด้วยเรือแคนูขุดติดเครื่องยนต์. ฉลามหลายตัวซึ่งใหญ่พอ ๆ กับเรือแคนูที่เรานั่งว่ายเคียงไปกับเรือของเรา! แม้แต่คนที่นำทางเราซึ่งมีประสบการณ์โชกโชนก็ยังตกใจเมื่อเห็นขนาดของฉลามเหล่านี้ และรีบบังคับเรือแคนูเข้าไปใกล้ ๆ ฝั่ง.
แต่ความลำบากที่เราเผชิญในงานหมวดนั้นคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม. เราได้รู้จักกับพี่น้องที่น่ารักมากซึ่งมีน้ำใจต้อนรับแขก. หลายครั้ง ครอบครัวที่ให้ที่พักแก่เราคะยั้นคะยอให้เรากินอาหารวันละสามมื้อ ส่วนพวกเขากินแค่มื้อเดียว. หรือพวกเขาให้เรานอนบนเตียงซึ่งมีอยู่แค่เตียงเดียวในบ้าน ส่วนพวกเขานอนบนพื้น. ภรรยาผมพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า “พี่น้องที่รักเหล่านี้ช่วยให้ดิฉันเห็นว่าจริง ๆ แล้วมีเพียงไม่กี่สิ่งเท่านั้นที่เราจำเป็นต้องมีเพื่อจะอยู่ได้.”
“เราไม่อยากจะขอตัว”
ในปี 1960 มีสิ่งดีอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นกับเรา—เราได้รับเชิญให้รับใช้ที่สำนักงานสาขาในเมืองไกวอากีล. ผมทำงานในแผนกบริหาร อีดิทรับใช้ในเขตประกาศร่วมกับประชาคมหนึ่งใกล้ ๆ สำนักงานสาขา. ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องมานั่งทำงานในออฟฟิซและรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับงานนี้เท่าไรนัก แต่ดังที่ฮีบรู 13:21 บอกไว้ พระเจ้าทรงโปรดให้เรา “มีสิ่งดีทุกอย่างไว้พร้อมเพื่อจะทำตามพระประสงค์ของพระองค์.” สองปีต่อมา ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมการฝึกอบรมสิบเดือนซึ่งจัดขึ้นที่เบเธลบรุกลิน ในนิวยอร์ก. ในตอนนั้น สมาคมขอให้ภรรยาของผู้ที่ได้รับเชิญอยู่รับใช้ในเขตมอบหมายต่อไป. มีจดหมายจากบรุกลินมาถึงภรรยาผม. เนื้อความในจดหมายนั้นขอให้เธอใคร่ครวญอย่างรอบคอบว่าเธอพร้อมจะอยู่คนเดียวเป็นเวลาสิบเดือนหรือไม่.
อีดิทตอบไปว่า “ดิฉันแน่ใจว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดในโลก แต่เรารู้ว่าพระยะโฮวาจะช่วยเราอย่างแน่นอนให้ผ่านพ้นความลำบากใด ๆ ก็ตามที่อาจเกิดขึ้น. . . . เราไม่อยากจะขอตัวจากสิทธิพิเศษใด ๆ ก็ตามที่เรามีโอกาสได้รับหรือจากโอกาสใด ๆ ก็ตามที่จะทำให้เรามีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้นในการทำหน้าที่รับผิดชอบ.” ในช่วงที่ผมอยู่ที่บรุกลิน ผมได้รับจดหมายจากภรรยาทุกสัปดาห์.
รับใช้ด้วยกันกับเพื่อนร่วมความเชื่อที่ซื่อสัตย์
ในปี 1966 เพราะปัญหาสุขภาพ ผมกับอีดิทกลับไปที่กีโต และเราทำงานในฐานะมิชชันนารีอีกครั้งหนึ่งด้วยกันกับพี่น้องในท้องถิ่น. พวกเขารักษาความซื่อสัตย์จงรักภักดีไว้อย่างดีเยี่ยม!
พี่น้องหญิงที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งมีสามีที่ไม่มีความเชื่อ และเขาทุบตีเธอบ่อย ๆ. วันหนึ่ง ตอนหกโมงเช้า มีคนมาบอกเราว่าเธอถูกตีอีกแล้ว. ผมรีบรุดไปที่บ้านของพี่น้องหญิงคนนี้. เมื่อเห็นเธอ ผมแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง. เธอนอนอยู่บนเตียง เนื้อตัวบวมปูดและมีรอยฟกช้ำเต็มไปหมด. สามีตีเธอด้วยด้ามไม้กวาดจนไม้กวาดหักเป็นสองท่อน. ต่อมาในวันนั้นเอง เมื่อผมเห็นเขากลับมาบ้านผมจึงบอกเขาว่าเขาเป็นคนขี้ขลาดตาขาวที่ทำกับผู้หญิงที่อ่อนแอกว่าอย่างนั้น. เขาขอโทษขอโพยยกใหญ่.
ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 สุขภาพของผมดีขึ้นและเรากลับไปทำงานหมวดอีกครั้งหนึ่ง. เมืองอีบาร์ราเป็นส่วนหนึ่งของหมวดที่เราเยี่ยม. เมื่อเราเยี่ยมเมืองนี้ปลายทศวรรษ 1950 ที่นั่นมีพยานฯ แค่สองคน เป็นมิชชันนารีคนหนึ่งและพี่น้องท้องถิ่นอีกคนหนึ่ง. ดังนั้น เราอยากพบกับคนใหม่ ๆ หลายคนที่ได้เข้ามาสมทบกับประชาคมนี้.
โยฮัน 10:3, 4, 14 เกี่ยวกับผู้เลี้ยงที่ดีและแกะซึ่งรู้จักกันและกันเป็นอย่างดี. ปัจจุบัน อีบาร์รามีหกประชาคมที่ใช้ภาษาสเปน, หนึ่งประชาคมที่ใช้ภาษากีชัว, และหนึ่งประชาคมที่ใช้ภาษามือ. บราเดอร์วากายังคงรับใช้อย่างซื่อสัตย์ในฐานะผู้ปกครองและไพโอเนียร์พิเศษ. *
เมื่อเราเข้าร่วมการประชุมที่นั่นครั้งแรก บราเดอร์โรดริโก วากายืนบนเวทีและนำส่วนที่ผู้ฟังมีส่วนร่วม. เมื่อไรก็ตามที่เขาถาม ผู้เข้าร่วมการประชุมก็จะร้องออกมาว่า “โย โย!” (“ฉัน ฉัน!”) แทนที่จะยกมือ. ผมกับอีดิทมองหน้ากันด้วยความแปลกใจ. ผมสงสัยว่า ‘เกิดอะไรขึ้นนี่?’ ต่อมา ผมจึงได้รู้ว่าบราเดอร์วากาตาบอด แต่เขาจำเสียงของทุกคนในประชาคมได้. เขาเป็นผู้บำรุงเลี้ยงที่รู้จักแกะของตนจริง ๆ! เรื่องนี้ทำให้นึกถึงคำตรัสของพระเยซูที่ขอบคุณสำหรับพระกรุณาคุณของพระยะโฮวา
ในปี 1974 เราได้รับพระกรุณาคุณของพระยะโฮวาอีกอย่างหนึ่งเมื่อเราได้รับเชิญให้กลับมาที่เบเธล ซึ่งผมได้รับมอบหมายให้ทำงานในแผนกบริหารอีกครั้งหนึ่งและภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคนหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการสาขา. ทีแรก อีดิททำงานในห้องครัว และต่อมาเธอก็เริ่มทำงานในสำนักงานในแผนกรับส่งจดหมายจนกระทั่งทุกวันนี้.
ตลอดหลายปี เรามีความชื่นชมยินดีที่ได้ต้อนรับมิชชันนารีที่ผ่านการฝึกอบรมจากโรงเรียนกิเลียดหลายร้อยคนซึ่งพวกเขาได้ช่วยพี่น้องในประชาคมต่าง ๆ ที่พวกเขารับใช้ให้เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณและกระตือรือร้น. นอกจากนั้น เรายังได้รับการหนุนใจจากพี่น้องหลายพันคนที่มาจากประเทศต่าง ๆ มากกว่า 30 ประเทศเพื่อรับใช้ในประเทศนี้. เรารู้สึกประทับใจน้ำใจเสียสละของพวกเขาจริง ๆ! บางคนขายบ้านขายธุรกิจเพื่อมารับใช้ที่นี่ซึ่งเป็นเขตงานที่ต้องการผู้ประกาศราชอาณาจักรมากกว่า. พวกเขาซื้อรถเพื่อใช้ในงานประกาศตามเขตที่อยู่ไกล ๆ, ก่อตั้งประชาคมใหม่, และช่วยสร้างหอประชุมราชอาณาจักร. พี่น้องหญิงโสดหลายคนมาจากต่างประเทศเพื่อเป็นไพโอเนียร์ที่นี่ และพวกเขาเป็นคนงานที่มีใจแรงกล้าและมีความสามารถมากจริง ๆ!
จริงทีเดียว ผมได้พบสิ่งดีมากมายในช่วงเวลาหลายปีที่รับใช้พระเจ้า. สิ่งที่มีค่าที่สุดในบรรดาสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดก็คือสายสัมพันธ์ที่ผมมีกับพระยะโฮวา. นอกจากนั้น ผมรู้สึกขอบคุณที่พระยะโฮวาประทาน “คู่เคียง” ให้ผม. (เย. 2:18) เมื่อผมมองย้อนกลับไปดูช่วงเวลา 69 ปีที่เราอยู่ด้วยกันในฐานะสามีภรรยา ผมนึกถึงสุภาษิต 18:22 ที่กล่าวว่า “คนใดที่ได้ภรรยาก็ได้ของที่ดี.” เป็นเรื่องน่ายินดีจริง ๆ ที่มีอีดิทอยู่เคียงข้าง. เธอช่วยผมอย่างมากในหลาย ๆ ทาง. เธอยังเป็นลูกสาวที่น่ารักของแม่ด้วย. นับตั้งแต่เรามาถึงเอกวาดอร์ ภรรยาผมส่งจดหมายถึงแม่ทุก ๆ สัปดาห์จนกระทั่งถึงปี 1990 ที่แม่ของเธอเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 97 ปี.
ตอนนี้ ผมอายุ 90 ปีและอีดิทอายุ 89 ปี. เราเห็นค่าความชื่นชมยินดีที่เรามีในการช่วยคนประมาณ 70 คนให้มารู้จักพระยะโฮวา. แน่นอน เรายินดีที่เราได้กรอกใบสมัครเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนกิเลียดเมื่อ 60 ปีที่แล้ว. การตัดสินใจในครั้งนั้นได้ทำให้ชีวิตเราเต็มไปด้วยสิ่งดี ๆ มากมาย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 29 สำหรับเรื่องราวชีวิตจริงของบราเดอร์วากาสามารถอ่านได้ใน ตื่นเถิด! 8 กันยายน 1985 (ภาษาอังกฤษ).
[ภาพหน้า 29]
ถ่ายที่สนามกีฬาแยงกี นิวยอร์ก กับเพื่อนมิชชันนารีคนอื่น ๆ ที่จบจากโรงเรียนกิเลียดรุ่นเดียวกันในปี 1958
[ภาพหน้า 31]
ขณะเยี่ยมครอบครัวพยานฯ ครอบครัวหนึ่งในงานหมวด ปี 1959
[ภาพหน้า 32]
ที่สำนักงานสาขาในเอกวาดอร์ ปี 2002