ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“ผลของพระวิญญาณ” ทำให้พระเจ้าได้รับเกียรติ

“ผลของพระวิญญาณ” ทำให้พระเจ้าได้รับเกียรติ

“ผล​ของ​พระ​วิญญาณ” ทำ​ให้​พระเจ้า​ได้​รับ​เกียรติ

“พระ​บิดา​ของ​เรา​ได้​รับ​เกียรติ​ด้วย​สิ่ง​นี้ คือ​ด้วย​การ​ที่​พวก​เจ้า​เกิด​ผล​มาก​อยู่​เสมอ.”—โย. 15:8

1, 2. (ก) เรา​มี​โอกาส​อะไร​บ้าง​ที่​จะ​หนุน​ใจ​คน​อื่น ๆ? (ข) ของ​ประทาน​อะไร​จาก​พระ​ยะโฮวา​ที่​ช่วย​ให้​เรา​มี​ความ​สามารถ​ใน​การ​รับใช้​พระองค์​มาก​ขึ้น?

ขอ​พิจารณา​สอง​ฉาก​เหตุ​การณ์​ต่อ​ไป​นี้: สตรี​คริสเตียน​คน​หนึ่ง​สังเกต​ว่า​พี่​น้อง​หญิง​อีก​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​อายุ​น้อย​กว่า​ดู​เหมือน​มี​เรื่อง​กังวล​ใจ. เธอ​นัด​พี่​น้อง​คน​นี้​ไป​ประกาศ​ด้วย​กัน. เมื่อ​ทั้ง​สอง​พูด​คุย​กัน​ระหว่าง​เดิน​จาก​บ้าน​หนึ่ง​ไป​อีก​บ้าน​หนึ่ง พี่​น้อง​หญิง​ที่​อายุ​น้อย​กว่า​ก็​บอก​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​เธอ​กังวล​ใจ. ภาย​หลัง​ใน​วัน​นั้น​เอง พี่​น้อง​หญิง​ที่​อายุ​น้อย​กว่า​ก็​อธิษฐาน​ขอบคุณ​พระ​ยะโฮวา​ที่​พี่​น้อง​หญิง​ผู้​สูง​วัย​กว่า​สนใจ​เธอ​ด้วย​ความ​รัก ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​ที่​เธอ​ต้องการ​อยู่​พอ​ดี. ใน​อีก​แห่ง​หนึ่ง คู่​สมรส​คู่​หนึ่ง​เพิ่ง​กลับ​มา​จาก​การ​ประกาศ​ใน​ต่าง​แดน. ใน​การ​สังสรรค์ ขณะ​ที่​ทั้ง​สอง​เล่า​ประสบการณ์​ของ​ตน​อย่าง​ตื่นเต้น พี่​น้อง​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​นั่ง​ฟัง​อยู่​เงียบ ๆ. หลาย​ปี​ต่อ​มา ขณะ​ที่​พี่​น้อง​หนุ่ม​คน​นี้​กำลัง​เตรียม​ตัว​จะ​ไป​ทำ​งาน​มอบหมาย​ใน​ต่าง​แดน เขา​นึก​ถึง​คู่​สมรส​คู่​นี้​รวม​ทั้ง​การ​สนทนา​ที่​ทำ​ให้​เขา​อยาก​เป็น​มิชชันนารี.

2 สถานการณ์​เหล่า​นั้น​อาจ​ทำ​ให้​คุณ​นึก​ถึง​บาง​คน​ที่​ทำ​ให้​ชีวิต​ของ​คุณ​เปลี่ยน​ไป​หรือ​คน​ที่​คุณ​รู้สึก​ประทับใจ​ประสบการณ์​ชีวิต​ของ​เขา. แน่นอน มี​ไม่​บ่อย​นัก​ที่​การ​สนทนา​เพียง​ครั้ง​เดียว​จะ​ทำ​ให้​ชีวิต​ของ​ใคร​บาง​คน​เปลี่ยน​ไป กระนั้น ใน​แต่​ละ​วัน​มี​หลาย​โอกาส​ที่​เรา​จะ​หนุน​ใจ​และ​เสริม​กำลัง​คน​อื่น ๆ. ลอง​คิด​ดู​ว่า​ถ้า​มี​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​จะ​ช่วย​เสริม​ทักษะ​และ​คุณลักษณะ​ของ​คุณ​ให้​ดี​ขึ้น ทำ​ให้​คุณ​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​พี่​น้อง​และ​ต่อ​พระเจ้า​มาก​ขึ้น. นั่น​คง​เป็น​สิ่ง​ที่​ยอด​เยี่ยม​มิ​ใช่​หรือ? ที่​จริง พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​ของ​ประทาน​เช่น​นั้น​แก่​เรา คือ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระองค์. (ลูกา 11:13) เมื่อ​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​ดำเนิน​กิจ​ใน​ชีวิต​เรา​ก็​จะ​ก่อ​ให้​เกิด​คุณลักษณะ​ที่​ดี​ใน​ตัว​เรา​ซึ่ง​ช่วย​ให้​รับใช้​พระเจ้า​ได้​ดี​ขึ้น​ใน​ทุก​แง่​มุม. ช่าง​เป็น​ของ​ประทาน​ที่​ยอด​เยี่ยม​จริง ๆ!—อ่าน​กาลาเทีย 5:22, 23

3. (ก) การ​พัฒนา “ผล​ของ​พระ​วิญญาณ” ทำ​ให้​พระเจ้า​ได้​รับ​เกียรติ​อย่าง​ไร? (ข) เรา​จะ​พิจารณา​คำ​ถาม​อะไร?

3 คุณลักษณะ​ที่​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ก่อ​ให้​เกิด​ขึ้น​เป็น​สิ่ง​ที่​สะท้อน​ให้​เห็น​บุคลิกภาพ​ของ​ผู้​ที่​เป็น​ต้น​กำเนิด​ของ​พระ​วิญญาณ​นั้น คือ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า. (โกโล. 3:9, 10) พระ​เยซู​ทรง​ระบุ​เหตุ​ผล​สำคัญ​ที่​สุด​ที่​คริสเตียน​ควร​พยายาม​เลียน​แบบ​พระเจ้า​เมื่อ​พระองค์​ทรง​บอก​เหล่า​อัครสาวก​ว่า “พระ​บิดา​ของ​เรา​ได้​รับ​เกียรติ​ด้วย​สิ่ง​นี้ คือ​ด้วย​การ​ที่​พวก​เจ้า​เกิด​ผล​มาก​อยู่​เสมอ.” * (โย. 15:8) เมื่อ​เรา​ปลูกฝัง “ผล​ของ​พระ​วิญญาณ” ก็​จะ​เห็น​ผล​ได้​ชัด​จาก​วิธี​ที่​เรา​พูด​และ​กระทำ และ​นั่น​ทำ​ให้​พระเจ้า​ของ​เรา​ได้​รับ​การ​สรรเสริญ. (มัด. 5:16) ผล​ของ​พระ​วิญญาณ​แตกต่าง​จาก​นิสัย​ของ​โลก​ซาตาน​อย่าง​ไร? เรา​จะ​พัฒนา​ผล​ของ​พระ​วิญญาณ​ได้​อย่าง​ไร? เหตุ​ใด​เรา​อาจ​รู้สึก​ว่า​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น? เรา​จะ​พิจารณา​คำ​ถาม​เหล่า​นี้​ขณะ​ที่​เรา​วิเคราะห์​คุณลักษณะ​สาม​อย่าง​แรก​ของ​ผล​พระ​วิญญาณ คือ​ความ​รัก, ความ​ยินดี, และ​สันติ​สุข.

ความ​รัก​ที่​อาศัย​หลักการ​อัน​สูง​ส่ง​กว่า

4. พระ​เยซู​ทรง​สอน​เหล่า​สาวก​ให้​แสดง​ความ​รัก​แบบ​ใด?

4 ความ​รัก​ที่​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ก่อ​ให้​เกิด​ขึ้น​นั้น​ต่าง​กัน​อย่าง​ชัดเจน​จาก​ความ​รัก​ที่​มี​อยู่​ทั่ว​ไป​ใน​โลก. เป็น​เช่น​นั้น​อย่าง​ไร? ความ​รัก​นี้​อาศัย​หลักการ​ที่​สูง​ส่ง​กว่า. พระ​เยซู​ทรง​เน้น​ความ​แตกต่าง​นี้​ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา. (อ่าน​มัดธาย 5:43-48) พระองค์​ทรง​ชี้​ว่า​แม้​แต่​คน​บาป​ก็​มัก​ปฏิบัติ​ต่อ​คน​อื่น​แบบ​เดียว​กับ​ที่​คน​อื่น​ปฏิบัติ​ต่อ​ตน. “ความ​รัก” เช่น​นั้น​ไม่​เกี่ยว​กับ​การ​เสีย​สละ​ที่​แท้​จริง หาก​แต่​เป็น​เพียง​การ​แลก​เปลี่ยน​ไมตรี​จิต. ถ้า​เรา​ต้องการ ‘แสดง​ว่า​เรา​เป็น​บุตร​ของ​พระ​บิดา​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์’ เรา​ต้อง​แตกต่าง​ออก​ไป. แทน​ที่​จะ​ปฏิบัติ​ต่อ​คน​อื่น​แบบ​เดียว​กับ​ที่​พวก​เขา​ปฏิบัติ​ต่อ​เรา เรา​ควร​มอง​และ​ปฏิบัติ​ต่อ​คน​อื่น​เหมือน​กับ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอง​และ​ปฏิบัติ​ต่อ​พวก​เขา. แต่​เป็น​ไป​ได้​ไหม​ที่​จะ​รัก​ศัตรู​ดัง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​บัญชา?

5. เรา​จะ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​คน​ที่​ข่มเหง​เรา​ได้​อย่าง​ไร?

5 ขอ​ให้​พิจารณา​ตัว​อย่าง​หนึ่ง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. ขณะ​ประกาศ​ที่​เมือง​ฟิลิปปอย เปาโล​และ​ซีลัส​ถูก​จับ, ถูก​เฆี่ยน​ตี​อย่าง​รุนแรง, และ​ถูก​โยน​เข้า​คุก​ชั้น​ใน​และ​ใส่​ขื่อ​ไว้. ขณะ​ที่​ถูก​คุม​ขัง​อยู่​นั้น ผู้​คุม​อาจ​ปฏิบัติ​ต่อ​ทั้ง​สอง​อย่าง​เลว​ร้าย​ด้วย. เมื่อ​ทั้ง​สอง​เป็น​อิสระ​อย่าง​ไม่​คาด​คิด​เพราะ​แผ่นดิน​ไหว พวก​เขา​ดีใจ​ที่​จะ​มี​โอกาส​ได้​แก้แค้น​ผู้​คุม​ไหม? ไม่​เลย. ความ​ห่วงใย​อย่าง​จริง​ใจ​หรือ​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ที่​ทั้ง​สอง​มี​ต่อ​สวัสดิภาพ​ของ​ผู้​คุม​กระตุ้น​พวก​เขา​ให้​ลง​มือ​ทำ​อย่าง​ฉับ​ไว​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​ชาย​ผู้​นี้ ซึ่ง​ทำ​ให้​เป็น​ไป​ได้​ที่​ผู้​คุม​กับ​ครอบครัว​ของ​เขา​ทั้ง​หมด​จะ​เข้า​มา​เป็น​ผู้​เชื่อถือ. (กิจ. 16:19-34) พี่​น้อง​ของ​เรา​หลาย​คน​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​ก็​ทำ​คล้าย ๆ กัน​ใน​แนว​ทาง​ที่​เป็น​การ “อวย​พร​ผู้​ที่​ข่มเหง” พวก​เขา.—โรม 12:14

6. เรา​จะ​แสดง​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ต่อ​พี่​น้อง​ของ​เรา​ได้​อย่าง​ไร? (โปรด​ดู​กรอบ​ใน​หน้า 21)

6 เรา​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​มาก​ยิ่ง​กว่า​นั้น​อีก. “เรา . . . ควร​สละ​ชีวิต​เพื่อ​พี่​น้อง.” (อ่าน 1 โยฮัน 3:16-18) แต่​เรา​มี​โอกาส​มาก​กว่า​ที่​จะ​แสดง​ความ​รัก​ใน​วิธี​อื่น ๆ โดย​ไม่​ต้อง​เสีย​สละ​ถึง​ขนาด​นั้น. ตัว​อย่าง​เช่น ถ้า​เรา​พูด​หรือ​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​พี่​น้อง​ขุ่นเคือง เรา​สามารถ​แสดง​ความ​รัก​ด้วย​การ​เป็น​ฝ่าย​ริเริ่ม​ใน​การ​ทำ​ให้​สันติ​สุข​กลับ​คืน​มา. (มัด. 5:23, 24) จะ​ว่า​อย่าง​ไร​ถ้า​มี​ใคร​ทำ​ให้​เรา​ขุ่นเคือง? เรา ‘พร้อม​ที่​จะ​ยก​ความ​ผิด’ ไหม หรือ​ว่า​บาง​ครั้ง​เรา​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​ผูก​ใจ​เจ็บ? (เพลง. 86:5) ความ​รัก​อัน​แรง​กล้า​ที่​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ก่อ​ให้​เกิด​ขึ้น​อาจ​ช่วย​เรา​ให้​ปก​ปิด​ความ​ผิด​เล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ โดย​ให้​อภัย​คน​อื่น​อย่าง​ใจ​กว้าง​เหมือน​กับ​ที่ “พระ​ยะโฮวา​เต็ม​พระทัย​ให้​อภัย” เรา.—โกโล. 3:13, 14; 1 เป. 4:8

7, 8. (ก) ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​ส่ง​ผล​ต่อ​ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​ผู้​คน​อย่าง​ไร? (ข) เรา​จะ​เสริม​ความ​รัก​ที่​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ให้​ลึกซึ้ง​ยิ่ง​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร? (โปรด​ดู​ภาพ​ข้าง​ล่าง.)

7 เรา​จะ​พัฒนา​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ต่อ​พี่​น้อง​ของ​เรา​ได้​อย่าง​ไร? โดย​เสริม​ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระเจ้า​ให้​ลึกซึ้ง​ยิ่ง​ขึ้น. (เอเฟ. 5:1, 2; 1 โย. 4:9-11, 20, 21) เวลา​ที่​เรา​เอง​ใกล้​ชิด​กับ​พระ​ยะโฮวา​เมื่อ​เรา​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล, ใคร่ครวญ, และ​อธิษฐาน​ช่วย​หล่อ​เลี้ยง​หัวใจ​และ​เพิ่ม​พูน​ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระ​บิดา​ผู้​อยู่​ใน​สวรรค์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เรา​จำเป็น​ต้อง​ใช้​เวลา​ให้​เกิด​ประโยชน์​มาก​ที่​สุด​เพื่อ​จะ​เข้า​ใกล้​พระเจ้า​ได้.

8 เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ลอง​นึก​ภาพ​ว่า​ถ้า​คุณ​สามารถ​อ่าน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า, ใคร่ครวญ, และ​อธิษฐาน​ถึง​พระ​ยะโฮวา​ได้​เฉพาะ​ใน​ช่วง​เวลา​หนึ่ง​เท่า​นั้น​ใน​แต่​ละ​วัน. คุณ​คง​จะ​รักษา​ช่วง​เวลา​นั้น​ไว้​อย่าง​หวง​แหน​ไม่​ให้​สิ่ง​ใด​มา​ขัด​ขวาง​การ​ใช้​เวลา​เป็น​ส่วน​ตัว​กับ​พระ​ยะโฮวา​มิ​ใช่​หรือ? แน่นอน ไม่​มี​ใคร​สามารถ​ยับยั้ง​เรา​ไว้​ไม่​ให้​อธิษฐาน​ถึง​พระเจ้า และ​พวก​เรา​ส่วน​ใหญ่​สามารถ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​เมื่อ​ไร​ก็​ตาม​ที่​เรา​ต้องการ. กระนั้น เรา​อาจ​จำเป็น​ต้อง​ระวัง​อย่า​ให้​กิจกรรม​มาก​มาย​ใน​แต่​ละ​วัน​ที่​เรา​ต้อง​ทำ​ขัด​ขวาง​เรา​ไว้​จาก​การ​ใช้​เวลา​เป็น​ส่วน​ตัว​กับ​พระเจ้า. คุณ​ใช้​เวลา​ให้​เป็น​ประโยชน์​มาก​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้​ใน​แต่​ละ​วัน​เพื่อ​เข้า​ใกล้​พระ​ยะโฮวา​ไหม?

“ความ​ยินดี​จาก​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์”

9. พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ช่วย​เรา​ให้​รักษา​ความ​ยินดี​ไว้​แม้​เมื่อ​เผชิญ​กับ​อะไร?

9 ความ​ยินดี ซึ่ง​เป็น​คุณลักษณะ​หนึ่ง​ของ​ผล​พระ​วิญญาณ สามารถ​คง​อยู่​กับ​เรา​ได้​เสมอ​แม้​เมื่อ​เผชิญ​ความ​ยาก​ลำบาก. ความ​ยินดี​เป็น​เหมือน​ต้น​ไม้​ที่​ทนทาน​ซึ่ง​เติบโต​ได้​ดี​แม้​อยู่​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​ไม่​ดี. ทั่ว​โลก ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​หลาย​คน “รับ​เอา​พระ​คำ​แม้​ต้อง​ทุกข์​ลำบาก​มาก แต่​ก็​ได้​รับ​ความ​ยินดี​จาก​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์.” (1 เทส. 1:6) คน​อื่น ๆ เผชิญ​ความ​ทุกข์​ยาก​ลำบาก​และ​ความ​อัตคัด​ขัดสน. ถึง​กระนั้น พระ​ยะโฮวา​ประทาน​กำลัง​แก่​พวก​เขา​โดย​ทาง​พระ​วิญญาณ​ของ​พระองค์ “เพื่อ​จะ​เพียร​อด​ทน​ได้​จน​ถึง​ที่​สุด​และ​อด​กลั้น​ไว้​นาน​ด้วย​ความ​ยินดี.” (โกโล. 1:11) ความ​ยินดี​นี้​มา​จาก​ไหน?

10. ความ​ยินดี​ของ​เรา​มา​จาก​ไหน?

10 ไม่​เหมือน​กับ “ทรัพย์​สมบัติ​ที่​ไม่​ยั่งยืน” ของ​โลก​ซาตาน ทรัพย์​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​เรา​ได้​รับ​จาก​พระ​ยะโฮวา​มี​คุณค่า​ถาวร. (1 ติโม. 6:17; มัด. 6:19, 20) พระองค์​ทรง​โปรด​ให้​เรา​มี​ความ​หวัง​อัน​น่า​ยินดี​ใน​เรื่อง​อนาคต​ที่​ไม่​รู้​สิ้น​สุด. เรา​ยินดี​ที่​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​สังคม​พี่​น้อง​คริสเตียน​ทั่ว​โลก. ที่​สำคัญ​ที่​สุด ความ​ยินดี​ของ​เรา​อาศัย​สาย​สัมพันธ์​ที่​เรา​มี​กับ​พระเจ้า​เป็น​พื้น​ฐาน. เรา​รู้สึก​เหมือน​กับ​ดาวิด ซึ่ง​แม้​ว่า​ถูก​บีบ​บังคับ​ให้​ใช้​ชีวิต​เป็น​ผู้​ลี้​ภัย แต่​ก็​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​เพลง โดย​กล่าว​ว่า “เพราะ​พระ​กรุณาคุณ​ของ​พระองค์​ประเสริฐ​ยิ่ง​กว่า​ชีวิต, ริมฝีปาก​ของ​ข้าพเจ้า​จะ​ถวาย​สรรเสริญ​พระองค์. ข้าพเจ้า​จึง​จะ​ถวาย​สรรเสริญ​พระองค์​ขณะ​เมื่อ​ข้าพเจ้า​มี​ชีวิต.” (เพลง. 63:3, 4) แม้​แต่​เมื่อ​เรา​ประสบ​ความ​ทุกข์​ลำบาก หัวใจ​เรา​ก็​จะ​เต็ม​ไป​ด้วย​ความ​ยินดี​และ​การ​สรรเสริญ​พระเจ้า.

11. เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​ที่​เรา​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ความ​ยินดี?

11 อัครสาวก​เปาโล​กระตุ้น​คริสเตียน​ว่า “จง​ชื่นชม​ยินดี​เสมอ​ที่​ได้​เป็น​ผู้​รับใช้​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า. ข้าพเจ้า​ขอ​บอก​อีก​ครั้ง​ว่า จง​ชื่นชม​ยินดี​เถิด!” (ฟิลิป. 4:​4) เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​ที่​คริสเตียน​จะ​ทำ​งาน​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ความ​ยินดี? ทั้ง​นี้​เพราะ​ประเด็น​ที่​ซาตาน​ยก​ขึ้น​มา​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ปกครอง​สูง​สุด​ของ​พระ​ยะโฮวา. ซาตาน​อ้าง​ว่า​ไม่​มี​ใคร​จะ​รับใช้​พระเจ้า​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ. (โยบ 1:9-11) ถ้า​เรา​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ตาม​หน้า​ที่​แต่​ไม่​มี​ความ​ยินดี การ​ถวาย​เครื่อง​บูชา​ของ​เรา​ที่​เป็น​คำ​สรรเสริญ​ก็​จะ​ไม่​ครบ​ถ้วน. ด้วย​เหตุ​นั้น เรา​พยายาม​ทำ​ตาม​คำ​กระตุ้น​เตือน​ของ​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ที่​ว่า “จง​ปฏิบัติ​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ใจ​ชื่นชม. จง​เข้า​มา​เฝ้า​พระองค์​ด้วย​ร้อง​เพลง.” (เพลง. 100:2) การ​รับใช้​ที่​ทำ​ด้วย​ความ​ยินดี​และ​เต็ม​ใจ​ทำ​ให้​พระเจ้า​ได้​รับ​เกียรติ.

12, 13. เรา​อาจ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​ต่อ​สู้​ความ​คิด​ใน​แง่​ลบ?

12 อย่าง​ไร​ก็​ตาม ต้อง​ยอม​รับ​ว่า​บาง​ครั้ง​แม้​แต่​ผู้​รับใช้​ที่​อุทิศ​ตัว​แล้ว​ของ​พระ​ยะโฮวา​ก็​รู้สึก​ท้อ​แท้​และ​ต้อง​พยายาม​อย่าง​หนัก​ที่​จะ​รักษา​ทัศนะ​ใน​แง่​บวก. (ฟิลิป. 2:25-30) อะไร​อาจ​ช่วย​เรา​ได้​ใน​ช่วง​เวลา​เช่น​นั้น? เอเฟโซส์ 5:18, 19 กล่าว​ว่า “จง​เปี่ยม​ด้วย​พระ​วิญญาณ​อยู่​เสมอ พูด​กัน​เรื่อง​เพลง​สรรเสริญ​และ​คำ​สดุดี​พระเจ้า​และ​เพลง​นมัสการ และ​ร้อง​เพลง​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา​คลอ​เสียง​ดนตรี​ใน​ใจ​ท่าน​ทั้ง​หลาย.” เรา​จะ​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​นี้​ได้​อย่าง​ไร?

13 เมื่อ​ถูก​รุม​เร้า​ด้วย​ความ​รู้สึก​ใน​แง่​ลบ เรา​สามารถ​วิงวอน​ขอ​พระ​ยะโฮวา​ใน​คำ​อธิษฐาน​และ​พยายาม​ใคร่ครวญ​สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​น่า​สรรเสริญ. (อ่าน​ฟิลิปปอย 4:6-9) บาง​คน​พบ​ว่า​การ​เปิด​เพลง​ราชอาณาจักร​และ​ฮัม​เพลง​ไป​ด้วย​เบา ๆ ช่วย​ทำ​ให้​จิตใจ​ของ​เขา​เบิกบาน​ขึ้น​และ​ช่วย​ให้​เขา​คิด​ใน​แง่​บวก. พี่​น้อง​ชาย​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เผชิญ​ความ​ลำบาก​แสน​สาหัส​ที่​ทำ​ให้​เขา​หงุดหงิด​และ​ท้อ​ใจ​อยู่​บ่อย ๆ เล่า​ว่า “นอก​จาก​ผม​จะ​อธิษฐาน​ด้วย​ความ​รู้สึก​จาก​ใจ​เป็น​ประจำ​แล้ว ผม​ยัง​จำ​เพลง​ราชอาณาจักร​ได้​บาง​เพลง. ผม​รู้สึก​สงบ​ใจ​เมื่อ​ร้อง​เพลง​ไพเราะ​เหล่า​นี้​เพื่อ​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา ไม่​ว่า​จะ​ร้อง​ออก​มา​ดัง ๆ หรือ​ร้อง​เบา ๆ กับ​ตัว​เอง. นอก​จาก​นั้น​แล้ว ใน​ช่วง​นั้น​มี​การ​ออก​หนังสือ​จง​เข้า​ใกล้​พระ​ยะโฮวา. ผม​อ่าน​หนังสือ​นี้​จบ​สอง​รอบ​ภาย​ใน​หนึ่ง​ปี. หนังสือ​นี้​เป็น​เหมือน​ยา​ชโลม​ใจ. ผม​รู้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​อวย​พร​ความ​พยายาม​ของ​ผม.”

“ความ​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน​ด้วย​สันติ​สุข”

14. ลักษณะ​พิเศษ​อย่าง​หนึ่ง​ที่​น่า​ทึ่ง​ของ​สันติ​สุข​ที่​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ก่อ​ให้​เกิด​ขึ้น​คือ​อะไร?

14 ณ การ​ประชุม​นานา​ชาติ ตัว​แทน​ที่​มี​ภูมิหลัง​แตกต่าง​หลาก​หลาย​ล้วน​ชื่นชม​ยินดี​กับ​มิตรภาพ​อัน​อบอุ่น​ใน​หมู่​คริสเตียน. ฉาก​เหตุ​การณ์​เช่น​นั้น​เน้น​ให้​เห็น​อย่าง​ชัดเจน​ถึง​สันติ​สุข​ที่​มี​อยู่​ใน​หมู่​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ใน​ทุก​วัน​นี้ นั่น​คือ​เอกภาพ​ทั่ว​โลก. คน​ที่​สังเกต​ดู​พวก​เรา​มัก​รู้สึก​พิศวง​เมื่อ​เห็น​ผู้​คน​ที่​พวก​เขา​คาด​หมาย​ว่า​จะ​เป็น​ศัตรู​กัน​กลับ “พยายาม​อย่าง​จริงจัง​เพื่อ​รักษา​ความ​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน​ด้วย​สันติ​สุข​ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​ที่​ผูก​พัน​ผู้​คน​ให้​มี​เอกภาพ.” (เอเฟ. 4:3) เอกภาพ​นี้​เป็น​เรื่อง​น่า​ทึ่ง​จริง ๆ เมื่อ​คำนึง​ถึง​สิ่ง​ที่​หลาย​คน​ต้อง​เอา​ชนะ.

15, 16. (ก) ภูมิหลัง​ของ​เปโตร​เป็น​เช่น​ไร และ​นั่น​ทำ​ให้​เป็น​เรื่อง​ยาก​อย่าง​ไร​สำหรับ​ท่าน? (ข) พระ​ยะโฮวา​ทรง​ช่วย​เปโตร​ให้​ปรับ​ทัศนะ​ของ​ท่าน​อย่าง​ไร?

15 การ​ทำ​ให้​ผู้​คน​ที่​ภูมิหลัง​แตกต่าง​กัน​มี​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน​เป็น​เรื่อง​ที่​ทำ​ได้​ยาก. เพื่อ​ช่วย​เรา​เข้าใจ​ว่า​ต้อง​เอา​ชนะ​อะไร​บ้าง​เพื่อ​จะ​มี​เอกภาพ​เช่น​นั้น ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​ตัว​อย่าง​หนึ่ง​ใน​สมัย​ศตวรรษ​แรก คือ​อัครสาวก​เปโตร. ทัศนะ​ของ​ท่าน​ต่อ​คน​ต่าง​ชาติ​ที่​ไม่​ได้​รับ​สุหนัต​อาจ​เห็น​ได้​จาก​คำ​พูด​ของ​ท่าน​ที่​ว่า “พวก​ท่าน​ก็​รู้​ดี​ว่า​ที่​คน​ยิว​จะ​ติด​ต่อ​คบหา​กับ​คน​ต่าง​ชาติ​ก็​ผิด​พระ​บัญญัติ แต่​พระเจ้า​ได้​ทรง​แสดง​ให้​ข้าพเจ้า​รู้​ว่า​ข้าพเจ้า​ไม่​ควร​เรียก​ใคร​ว่า​เป็น​คน​มี​มลทิน​หรือ​คน​ไม่​สะอาด.” (กิจ. 10:24-29; 11:1-3) สอด​คล้อง​กับ​ทัศนะ​ของ​ผู้​คน​โดย​ทั่ว​ไป​ใน​เวลา​นั้น เปโตร​ดู​เหมือน​จะ​เติบโต​ขึ้น​มา​โดย​เชื่อ​ว่า​พระ​บัญญัติ​กำหนด​ให้​ท่าน​รัก​เฉพาะ​เพื่อน​ร่วม​ชาติ​ชาว​ยิว. อาจ​ดู​เหมือน​ว่า​เป็น​เรื่อง​ปกติ​ธรรมดา​ที่​ท่าน​จะ​มอง​คน​ต่าง​ชาติ​ว่า​เป็น​ศัตรู​ที่​ต้อง​เกลียด. *

16 ลอง​นึก​ภาพ​ดู​ว่า​เปโตร​คง​ต้อง​รู้สึก​อึดอัด​ใจ​สัก​เพียง​ไร​เมื่อ​เขา​เข้า​ไป​ใน​บ้าน​ของ​คอร์เนลิอุส. ชาย​ผู้​ซึ่ง​ก่อน​หน้า​นี้​มี​ทัศนะ​ใน​แง่​ลบ​ต่อ​คน​ต่าง​ชาติ​จะ “เชื่อม​ต่อ​กัน​อย่าง​ดี” กับ​พวก​เขา​และ​มี “สันติ​สุข​ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​ที่​ผูก​พัน​ผู้​คน​ให้​มี​เอกภาพ” ได้​ไหม? (เอเฟ. 4:3, 16) เปโตร​ทำ​อย่าง​นั้น​ได้ เพราะ​เพียง​แค่​ไม่​กี่​วัน​ก่อน​หน้า​นั้น พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​ได้​เปิด​ใจ​ท่าน ทำ​ให้​ท่าน​เริ่ม​ปรับ​ทัศนะ​และ​เอา​ชนะ​อคติ​ที่​เคย​มี. โดย​ทาง​นิมิต พระ​ยะโฮวา​ทรง​แสดง​ให้​ท่าน​เห็น​อย่าง​ชัดเจน​ว่า​พระเจ้า​ไม่​ทรง​ตัดสิน​ผู้​คน​จาก​เชื้อชาติ​หรือ​ชาติ​พันธุ์. (กิจ. 10:10-15) ด้วย​เหตุ​นั้น เปโตร​จึง​บอก​คอร์เนลิอุส​ได้​ว่า “ข้าพเจ้า​รู้​แน่​ว่า​พระเจ้า​ไม่​ทรง​ลำเอียง แต่​พระองค์​ทรง​ชอบ​พระทัย​คน​ที่​ยำเกรง​พระองค์​และ​ประพฤติ​ชอบธรรม​ไม่​ว่า​จะ​เป็น​คน​ชาติ​ใด.” (กิจ. 10:34, 35) ทัศนะ​ของ​เปโตร​เปลี่ยน​ไป และ​ท่าน​ผูก​พัน​เป็น​หนึ่ง​เดียว​กับ “ทุก​คน​ใน​สังคม​พี่​น้อง​คริสเตียน.”—1 เป. 2:17

17. เอกภาพ​ที่​มี​อยู่​ใน​หมู่​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​น่า​ทึ่ง​อย่าง​ไร?

17 ประสบการณ์​ของ​เปโตร​ช่วย​เรา​ให้​เห็น​คุณค่า​ของ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ที่​น่า​ทึ่ง​ซึ่ง​กำลัง​เกิด​ขึ้น​ใน​หมู่​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ทุก​วัน​นี้. (อ่าน​ยะซายา 2:3, 4) ผู้​คน​หลาย​ล้าน​คน “จาก​ทุก​ประเทศ ทุก​ตระกูล ทุก​ชน​ชาติ และ​ทุก​ภาษา” ปรับ​ความ​คิด​ให้​สอดคล้อง​กับ “พระ​ประสงค์​อัน​ดี​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​เป็น​ที่​ชอบ​พระทัย​และ​สมบูรณ์​พร้อม.” (วิ. 7:9; โรม 12:2) เมื่อ​ก่อน หลาย​คน​จม​อยู่​ใน​ความ​เกลียด​ชัง, ความ​เป็น​ศัตรู, และ​ความ​แตก​แยก​ของ​โลก​ซาตาน. แต่​ด้วย​การ​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​และ​ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์ พวก​เขา​ได้​เรียน​รู้​ที่​จะ “มุ่ง​ทำ​สิ่ง​ที่​สร้าง​สันติ​สุข.” (โรม 14:19) เอกภาพ​ที่​พระ​คำ​และ​พระ​วิญญาณ​ทำ​ให้​เกิด​ขึ้น​นำ​คำ​สรรเสริญ​มา​สู่​พระเจ้า.

18, 19. (ก) เรา​แต่​ละ​คน​จะ​ส่ง​เสริม​สันติ​สุข​และ​เอกภาพ​ใน​ประชาคม​ได้​อย่าง​ไร? (ข) เรา​จะ​พิจารณา​อะไร​ใน​บทความ​ถัด​ไป?

18 เรา​แต่​ละ​คน​จะ​ส่ง​เสริม​สันติ​สุข​และ​เอกภาพ​ที่​มี​อยู่​ใน​หมู่​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ได้​อย่าง​ไร? ใน​หลาย​ประชาคม มี​พี่​น้อง​ที่​ย้าย​มา​จาก​ต่าง​แดน. บาง​คน​มี​ขนบธรรมเนียม​ที่​แตกต่าง​ออก​ไป​หรือ​พูด​ภาษา​ของ​เรา​ได้​ไม่​คล่อง. เรา​พยายาม​ทำ​ความ​รู้​จัก​พวก​เขา​ไหม? พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​แนะ​นำ​ให้​เรา​ทำ​อย่าง​นี้. เปาโล​เขียน​ถึง​ประชาคม​ใน​กรุง​โรม ซึ่ง​มี​ทั้ง​ชาว​ยิว​และ​ผู้​เชื่อถือ​ชาว​ต่าง​ชาติ​ว่า “จง​ต้อนรับ​กัน​อย่าง​ที่​พระ​คริสต์​ทรง​ต้อนรับ​เรา​ด้วย เพื่อ​พระเจ้า​จะ​ได้​รับ​พระ​เกียรติ.” (โรม 15:7) มี​ใคร​บาง​คน​ใน​ประชาคม​ที่​คุณ​จะ​สามารถ​ทำ​ความ​รู้​จัก​ให้​ดี​ขึ้น​ได้​ไหม?

19 เรา​อาจ​ทำ​อะไร​ได้​อีก​เพื่อ​ให้​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ดำเนิน​กิจ​ใน​ชีวิต​เรา? บทความ​ถัด​ไป​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​นี้​ขณะ​ที่​เรา​พิจารณา​คุณลักษณะ​ที่​เหลือ​ของ​ผล​พระ​วิญญาณ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 3 พระ​เยซู​ตรัส​ถึง​ผล​สอง​อย่าง​คือ “ผล​ของ​พระ​วิญญาณ” และ “ผล​ของ​ริมฝีปาก” ที่​คริสเตียน​ถวาย​แด่​พระเจ้า​ด้วย​การ​ทำ​งาน​ประกาศ​เรื่อง​ราชอาณาจักร.—ฮีบรู 13:15

^ วรรค 15 เลวีติโก 19:18 กล่าว​ว่า “อย่า​แก้แค้น​หรือ​ผูก​พยาบาท​ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด, แต่​จง​รัก​เพื่อน​บ้าน​เหมือน​รัก​ตัว​เอง.” หัวหน้า​ศาสนา​ชาว​ยิว​ถือ​ว่า “คน​หนึ่ง​คน​ใด” และ “เพื่อน​บ้าน” หมาย​ถึง​ชาว​ยิว​เท่า​นั้น. พระ​บัญญัติ​เรียก​ร้อง​ให้​ชาว​อิสราเอล​อยู่​ต่าง​หาก​จาก​ชาติ​อื่น ๆ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​บัญญัติ​ไม่​ได้​เห็น​ชอบ​กับ​ทัศนะ​ที่​พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ใน​ศตวรรษ​แรก​ส่ง​เสริม กล่าว​คือ ทัศนะ​ที่​ว่า​คน​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​ยิว​ทั้ง​หมด​เป็น​ศัตรู​และ​ต้อง​เกลียด​คน​เหล่า​นี้​ทุก​คน.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• เรา​จะ​แสดง​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ต่อ​พี่​น้อง​ของ​เรา​ได้​อย่าง​ไร?

• เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​ที่​เรา​จะ​รับใช้​พระเจ้า​ด้วย​ความ​ยินดี?

• เรา​จะ​ส่ง​เสริม​สันติ​สุข​และ​เอกภาพ​ใน​ประชาคม​ได้​อย่าง​ไร?

[คำ​ถาม]

[กรอบ/ภาพ​หน้า 21]

“คน​เหล่า​นี้​เป็น​คริสเตียน​แท้”

หนังสือ​อยู่​ตรง​กลาง​ระหว่าง​การ​ต่อ​ต้าน​และ​การ​พลี​ชีพ—พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​จักรวรรดิ​ไรช์​ที่​สาม เล่า​ความ​เห็น​ของ​นัก​โทษ​หนุ่ม​ชาว​ยิว​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​พรรณนา​เหตุ​การณ์​ตอน​ที่​เขา​ได้​พบ​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ครั้ง​แรก​เมื่อ​เขา​มา​ถึง​ค่าย​กัก​กัน​นอยเอนกามเม.

“ทันที​ที่​พวก​เรา​ชาว​ยิว​จาก​เมือง​ดาเคา​เข้า​ไป​ใน​อาคาร​นั้น ชาว​ยิว​คน​อื่น ๆ ก็​เริ่ม​ซ่อน​ทุก​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​มี​เพื่อ​จะ​ไม่​ต้อง​แบ่ง​ให้​เรา. . . . นอก [ค่าย​กัก​กัน] พวก​เรา​เคย​ช่วยเหลือ​เกื้อกูล​กัน. แต่​ที่​นี่ ใน​สถานการณ์​ที่​เผชิญ​ความ​เป็น​ความ​ตาย สิ่ง​ที่​ทุก​คน​ห่วง​เป็น​อันดับ​แรก​คือ​ทำ​อย่าง​ไร​จึง​จะ​เอา​ตัว​รอด​ได้ และ​ไม่​สนใจ​เลย​ว่า​คน​อื่น​จะ​เป็น​อย่าง​ไร. แต่​ขอ​ให้​นึก​ภาพ​ถึง​สิ่ง​ที่​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ทำ. ใน​เวลา​นั้น พวก​เขา​ต้อง​ทำ​งาน​หนัก​มาก​ใน​การ​ซ่อมแซม​ท่อ​น้ำ. อากาศ​หนาว​เหน็บ​และ​พวก​เขา​ยืน​ตลอด​วัน​ใน​น้ำ​ที่​เย็น​เฉียบ​เหมือน​น้ำ​แข็ง. ไม่​มี​ใคร​เข้าใจ​ว่า​พวก​เขา​ทน​สภาพ​เช่น​นี้​ได้​อย่าง​ไร. พวก​เขา​บอก​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ประทาน​กำลัง​ความ​เข้มแข็ง​ให้​พวก​เขา. เช่น​เดียว​กับ​พวก​เรา พวก​เขา​ต้องการ​ขนมปัง​อย่าง​ยิ่ง เพราะ​พวก​เขา​หิว. แต่​พวก​เขา​ทำ​อะไร? พวก​เขา​รวบ​รวม​ขนมปัง​ทั้ง​หมด​ที่​มี แบ่ง​ไว้​ครึ่ง​หนึ่ง​สำหรับ​ตัว​เอง และ​ให้​อีก​ครึ่ง​หนึ่ง​แก่​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​จาก​เมือง​ดาเคา​ที่​เพิ่ง​เดิน​ทาง​มา​ถึง. และ​พวก​เขา​ต้อนรับ​และ​จูบ​เพื่อน​ที่​มา. ก่อน​จะ​กิน พวก​เขา​อธิษฐาน. หลัง​จาก​นั้น พวก​เขา​ทุก​คน​มี​ความ​อิ่ม​ใจ​ยินดี​และ​มี​ความ​สุข. พวก​เขา​พูด​ว่า​พวก​เขา​ไม่​หิว​อีก​ต่อ​ไป​แล้ว. ถึง​ตอน​นั้น​แหละ​ที่​ผม​คิด​ว่า คน​เหล่า​นี้​เป็น​คริสเตียน​แท้.”

[ภาพ​หน้า 19]

คุณ​ใช้​เวลา​ใน​แต่​ละ​วัน​ให้​เกิด​ประโยชน์​มาก​ที่​สุด​เพื่อ​จะ​เข้า​ใกล้​พระ​ยะโฮวา​ไหม?