ครอบครัวคริสเตียน จง “ตื่นอยู่”
ครอบครัวคริสเตียน จง “ตื่นอยู่”
“ให้เราตื่นอยู่และมีสติอยู่เสมอ.”—1 เทส. 5:6
1, 2. ครอบครัวต้องทำอย่างไรเพื่อจะตื่นอยู่ทางฝ่ายวิญญาณได้?
เมื่อกล่าวถึง “วันใหญ่ยิ่งอันน่ากลัวของพระยะโฮวา” อัครสาวกเปาโลเขียนถึงคริสเตียนในเมืองเทสซาโลนิเกว่า “พี่น้องทั้งหลาย พวกท่านไม่ได้อยู่ในความมืดเหมือนขโมย วันนั้นจึงไม่มาถึงโดยพวกท่านไม่ทันรู้ตัวอย่างที่มีแสงสว่างส่องมาโดยที่ขโมยไม่ทันรู้ตัว เพราะพวกท่านล้วนเป็นลูกของความสว่างและลูกของกลางวัน. เราไม่ได้เป็นฝ่ายกลางคืนและฝ่ายความมืด.” จากนั้น เปาโลก็กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ฉะนั้น อย่าให้เราหลับใหลเหมือนคนอื่น แต่ให้เราตื่นอยู่และมีสติอยู่เสมอ.”—โยเอล 2:31; 1 เทส. 5:4-6
2 คำแนะนำของเปาโลที่เขียนถึงพี่น้องในเมืองเทสซาโลนิเกนับว่าเหมาะเป็นพิเศษสำหรับคริสเตียนที่มีชีวิตอยู่ใน “วาระสุดท้าย.” (ดานิ. 12:4) ขณะที่อวสานของระบบชั่วใกล้เข้ามา ซาตานมุ่งมั่นที่จะทำให้ผู้นมัสการแท้หันเหไปจากการรับใช้พระเจ้ามากเท่าที่จะมากได้. ด้วยเหตุนั้น เราควรสนใจคำเตือนของเปาโลที่กระตุ้นให้เราตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ. เพื่อครอบครัวคริสเตียนจะตื่นตัวอยู่เสมอได้ เป็นเรื่องสำคัญที่สมาชิกแต่ละคนต้องทำหน้าที่รับผิดชอบของตนตามหลักพระคัมภีร์. ดังนั้น สามี ภรรยา และเยาวชนมีบทบาทเช่นไรในการช่วยครอบครัวให้ “ตื่นอยู่”?
สามีทั้งหลาย จงเลียนแบบ“ผู้เลี้ยงที่ดี”
3. ตาม 1 ติโมเธียว 5:8 หน้าที่รับผิดชอบของผู้ชายที่เป็นประมุขของครอบครัวรวมถึงอะไร?
3 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ผู้ชายเป็นประมุขของผู้หญิง.” (1 โค. 11:3) หน้าที่รับผิดชอบของผู้ชายในฐานะหัวหน้าครอบครัวเกี่ยวข้องกับอะไร? พระคัมภีร์กล่าวถึงแง่มุมหนึ่งของประมุขว่า “ถ้าใครไม่เลี้ยงดูคนเหล่านั้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกในครอบครัวเขา คนนั้นก็ปฏิเสธความเชื่อและเป็นคนเลวยิ่งกว่าคนที่ไม่มีความเชื่อด้วยซ้ำ.” (1 ติโม. 5:8) แน่นอน ผู้ชายควรหาเลี้ยงครอบครัวด้านวัตถุ. แต่เพื่อที่เขาจะช่วยครอบครัวให้ตื่นตัวฝ่ายวิญญาณได้ เขาต้องทำมากกว่าการหาเงินเพื่อจุนเจือครอบครัว. เขาจำเป็นต้องเสริมสร้างครอบครัวทางฝ่ายวิญญาณ โดยช่วยทุกคนในครอบครัวให้มีสายสัมพันธ์ที่มั่นคงกับพระเจ้า. (สุภา. 24:3, 4) เขาจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
4. อะไรจะช่วยผู้ชายให้เสริมสร้างครอบครัวให้เข้มแข็งฝ่ายวิญญาณได้?
4 เนื่องจาก “สามีเป็นประมุขของภรรยาเหมือนพระคริสต์ทรงเป็นประมุขของประชาคม” ผู้ชายที่แต่งงานแล้วควรพิจารณาและเลียนแบบวิธีที่พระเยซูทรงทำหน้าที่ประมุขเหนือประชาคม. (เอเฟ. 5:23) ขอให้พิจารณาว่าพระเยซูทรงพรรณนาสายสัมพันธ์ของพระองค์กับเหล่าสาวกไว้อย่างไร. (อ่านโยฮัน 10:14, 15) ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ชายสามารถเสริมสร้างครอบครัวให้เข้มแข็งฝ่ายวิญญาณคืออะไร? ปัจจัยนั้นก็คือการศึกษาคำตรัสและการกระทำของพระเยซูที่เป็น “ผู้เลี้ยงที่ดี” และ “ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.”—1 เป. 2:21
5. “ผู้เลี้ยงที่ดี” รู้อะไรเกี่ยวกับประชาคม?
5 สายสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงแกะกับแกะของเขาอาศัยความรู้และความไว้วางใจเป็นพื้นฐาน. ผู้เลี้ยงแกะรู้จักแกะของเขาทุกตัว และแกะก็รู้จักและไว้ใจผู้เลี้ยง. พวกมันรู้จักและเชื่อฟังเสียงของผู้เลี้ยง. พระเยซูตรัสว่า “เรารู้จักแกะของเราและแกะของเราก็รู้จักเรา.” พระองค์
ไม่เพียงแต่รู้จักประชาคมอย่างผิวเผิน. คำภาษากรีกที่แปลในที่นี้ว่า “รู้จัก” หมายถึง “การรู้จักมักคุ้นเป็นส่วนตัว.” ดังนั้น พระเยซูผู้เลี้ยงที่ดีรู้จักแกะของพระองค์เป็นส่วนตัว. พระองค์ทรงรู้ว่าแกะแต่ละตัวมีความจำเป็น จุดอ่อนและจุดแข็งอย่างไร. ไม่มีสิ่งใดเกี่ยวกับแกะที่พ้นจากการสังเกตเห็นของพระเยซูผู้ทรงเป็นแบบอย่างของเรา. และแกะก็รู้จักผู้เลี้ยงเป็นอย่างดีและไว้วางใจการนำของพระองค์.6. สามีจะเลียนแบบ “ผู้เลี้ยงที่ดี” ได้อย่างไร?
6 เพื่อจะเลียนแบบพระคริสต์ในการทำหน้าที่ประมุข สามีต้องเรียนรู้ที่จะมองตัวเองเหมือนเป็นผู้เลี้ยงแกะและมองคนที่เขาดูแลเป็นเหมือนแกะ. เขาควรพยายามรู้จักครอบครัวตัวเองเป็นอย่างดี. สามีจะรู้จักครอบครัวของเขาเป็นอย่างดีได้จริง ๆ ไหม? เขาจะทำอย่างนั้นได้ถ้าเขามีการสื่อความที่ดีกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว รับฟังเรื่องที่พวกเขากังวล และนำหน้าในกิจกรรมต่าง ๆ ของครอบครัว. นอกจากนั้น เขาควรคำนึงถึงสภาพการณ์ของแต่ละคนในครอบครัวเมื่อตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เช่น การนมัสการประจำครอบครัว การเข้าร่วมการประชุม การประกาศ นันทนาการ และความบันเทิง. เมื่อคริสเตียนที่เป็นสามีนำหน้าโดยไม่เพียงอาศัยความรู้ในพระคำของพระเจ้า แต่พยายามรู้จักคนที่อยู่ในความดูแลของเขาเป็นอย่างดีด้วย สมาชิกในครอบครัวก็คงจะมั่นใจในการนำของเขา และเขาจะอิ่มใจยินดีที่เห็นทุกคนในครอบครัวมีเอกภาพในการนมัสการแท้.
7, 8. สามีจะเลียนแบบ “ผู้เลี้ยงที่ดี” ในการแสดงความรักต่อคนที่เขาดูแลได้อย่างไร?
7 ผู้เลี้ยงแกะที่ดียังรักแกะของเขาด้วย. เมื่อเราศึกษาบันทึกเกี่ยวกับชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซูในหนังสือกิตติคุณ หัวใจเราถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกขอบคุณสำหรับความรักที่พระเยซูทรงแสดงต่อเหล่าสาวก. พระองค์ถึงกับ ‘ยอมสละชีวิตเพื่อแกะของพระองค์.’ สามีควรเลียนแบบพระเยซูในการแสดงความรักต่อคนที่อยู่ในความดูแลของตน. แทนที่จะใช้อำนาจเหนือภรรยาอย่างแข็งกร้าว สามีที่ปรารถนาจะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าจะรักเธอเสมอ “อย่างที่พระคริสต์ทรงรักประชาคม.” (เอเฟ. 5:25) คำพูดของเขาควรกรุณาและคำนึงถึงความรู้สึกของเธอ เพราะเธอสมควรได้รับเกียรติ.—1 เป. 3:7
8 ในการอบรมลูก หัวหน้าครอบครัวควรยึดมั่นหลักการของพระเจ้า. อย่างไรก็ตาม เขาต้องไม่ละเลยการแสดงความรักใคร่ต่อลูก. เขาควรตีสอนลูกตามที่จำเป็นด้วยความรัก. เด็กบางคนอาจต้องใช้เวลามากกว่าเด็กคนอื่น ๆ เพื่อจะเข้าใจว่าพ่อแม่คาดหมายอะไรจากเขา. เมื่อเป็นอย่างนี้ ผู้เป็นพ่อควรแสดงความอดทนต่อเขาเป็นพิเศษ. เมื่อผู้ชายเลียนแบบอย่างของพระเยซูอย่างสม่ำเสมอ พวกเขาก็จะทำให้บ้านมีบรรยากาศที่มั่นคงปลอดภัย. ครอบครัวของเขามีความปลอดภัยฝ่ายวิญญาณอย่างที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้พรรณนาไว้.—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 23:1-6
9. เช่นเดียวกับปฐมบรรพบุรุษโนอาห์ คริสเตียนที่เป็นสามีมีหน้าที่รับผิดชอบอะไร และอะไรจะช่วยพวกเขาในการทำหน้าที่นี้?
9 ปฐมบรรพบุรุษโนอาห์มีชีวิตอยู่ในเวลาอวสานของโลกในสมัยของท่าน. แต่พระยะโฮวาทรงคุ้มครองท่าน “กับคนอื่นอีกเจ็ดคนให้ปลอดภัยเมื่อพระองค์ทรงทำให้เกิดน้ำท่วมโลกที่มีแต่คนดูหมิ่นพระเจ้า.” (2 เป. 2:5) โนอาห์มีหน้าที่รับผิดชอบในการช่วยครอบครัวให้รอดชีวิตจากน้ำท่วม. หัวหน้าครอบครัวคริสเตียนในสมัยสุดท้ายนี้ก็มีหน้าที่รับผิดชอบคล้าย ๆ กัน. (มัด. 24:37) นับว่าสำคัญจริง ๆ ที่พวกเขาจะศึกษาตัวอย่างของ “ผู้เลี้ยงที่ดี” และพยายามเลียนแบบพระองค์!
ภรรยาทั้งหลาย จงเสริมสร้างครอบครัวของคุณ
10. การที่ภรรยายอมเชื่อฟังสามีหมายถึงอะไร?
10 อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ให้ภรรยายอมเชื่อฟังสามีเหมือนเชื่อฟังองค์พระผู้เป็นเจ้า.” (เอเฟ. 5:22) ถ้อยคำดังกล่าวไม่ได้ส่อนัยเลยว่าภรรยาอยู่ในฐานะที่ไม่มีเกียรติ. ก่อนสร้างฮาวาผู้หญิงคนแรก พระเจ้าองค์เที่ยงแท้ตรัสว่า “ซึ่งมนุษย์ผู้นั้นจะอยู่คนเดียวก็ไม่เหมาะ. เราจะสร้างขึ้นอีกคนหนึ่ง, ให้เป็นคู่เคียงเหมาะกับเขา.” (เย. 2:18) บทบาทของ “คู่เคียง” หรือผู้ช่วย ซึ่งสนับสนุนสามีขณะที่เขาเอาใจใส่ดูแลหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัว เป็นบทบาทที่มีเกียรติอย่างแท้จริง.
11. ภรรยาที่เป็นตัวอย่างที่ดีเสริมสร้างครอบครัวอย่างไร?
11 ภรรยาที่เป็นแบบอย่างที่ดีทำทุกสิ่งเพื่อประโยชน์ของครอบครัว. (อ่านสุภาษิต 14:1) ตรงกันข้ามกับผู้หญิงโง่เขลาที่ไม่แสดงความนับถือต่อตำแหน่งประมุข ผู้หญิงที่ฉลาดสุขุมแสดงความนับถืออย่างยิ่งต่อการจัดเตรียมนี้. แทนที่จะแสดงท่าทีที่ไม่เชื่อฟังและเป็นเอกเทศซึ่งเป็นลักษณะที่เด่นชัดของผู้คนในโลก เธออยู่ใต้อำนาจของสามี. (เอเฟ. 2:2) ภรรยาที่โง่เขลาไม่ลังเลที่จะพูดถึงสามีในทางที่ไม่ดี ส่วนภรรยาที่ฉลาดสุขุมพยายามทำให้ลูกและคนอื่น ๆ นับถือสามีของเธอมากยิ่งขึ้น. ภรรยาที่ฉลาดสุขุมจะระวังไม่บั่นทอนความนับถือที่ตัวเองและคนอื่น ๆ มีต่อตำแหน่งประมุขของสามีด้วยการบ่นต่อว่าเขาหรือโต้เถียงเขา. นอกจากนั้น ควรพิจารณาเรื่องความมัธยัสถ์ด้วย. ผู้หญิงที่โง่เขลามักถลุงทรัพย์สินของครอบครัวที่หามาได้ด้วยความลำบากยากเย็น. ภรรยาที่เกื้อหนุนจะไม่ทำอย่างนั้น. เธอร่วมมือกับสามีในเรื่องเงิน. ทุกสิ่งที่เธอทำแสดงว่าเธอเป็นคนรอบคอบและมัธยัสถ์. เธอไม่กดดันสามีให้ทำงานล่วงเวลา.
12. ภรรยาอาจทำอะไรได้เพื่อช่วยครอบครัวให้ “ตื่นอยู่”?
12 ภรรยาที่เป็นแบบอย่างช่วยครอบครัวให้ “ตื่นอยู่” โดยช่วยสามีสอนลูกเกี่ยวกับพระยะโฮวา. (สุภา. 1:8) เธอสนับสนุนการนมัสการประจำครอบครัวอย่างกระตือรือร้น. นอกจากนั้น เธอยังสนับสนุนสามีเมื่อเขาแนะนำและตีสอนลูก. ช่างแตกต่างกันจริง ๆ เมื่อเทียบกับภรรยาที่ไม่ร่วมมือกับสามี ซึ่งทำให้เกิดผลเสียหายแก่ลูกทั้งด้านร่างกายและฝ่ายวิญญาณ!
13. เหตุใดจึงสำคัญที่ภรรยาจะสนับสนุนสามีเมื่อเขามีส่วนร่วมอย่างขันแข็งในกิจกรรมต่าง ๆ ตามระบอบของพระเจ้า?
13 ภรรยาที่สนับสนุนสามีรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นสามีมีบทบาทในประชาคมคริสเตียน? แน่นอน เธอรู้สึกยินดี! ไม่ว่าสามีเธอเป็นผู้ช่วยงานรับใช้ ผู้ปกครอง สมาชิกคณะกรรมการประสานงานกับโรงพยาบาล หรือสมาชิกคณะกรรมการก่อสร้างภูมิภาค เธอยินดีด้วยกับสิทธิพิเศษที่เขาได้รับ. การสนับสนุนสามีอย่างกระตือรือร้นด้วยคำพูดและการกระทำย่อมเกี่ยวข้องกับการที่เธอต้องเสียสละด้วย. แต่เธอตระหนักว่าการที่สามีมีส่วนร่วมในกิจกรรมตามระบอบของพระเจ้านั้นช่วยทุกคนในครอบครัวให้ตื่นตัวเสมอทางฝ่ายวิญญาณ.
14. (ก) อะไรอาจทำให้เป็นเรื่องยากที่ภรรยาจะสนับสนุนสามี และเธอจะรับมือข้อท้าทายนี้ได้อย่างไร? (ข) ภรรยาจะส่งเสริมสวัสดิภาพของทั้งครอบครัวได้อย่างไร?
14 การที่ภรรยาจะแสดงให้เห็นว่าเธอเป็นผู้สนับสนุนที่ดีอาจทำได้ยากเมื่อสามีตัดสินใจอย่างที่เธอไม่เห็นด้วย. แม้แต่เมื่อเป็นอย่างนั้น เธอแสดงให้เห็นว่าเธอมี “ใจที่สงบเสงี่ยมและอ่อนโยน” และร่วมมือกับเขาเพื่อจะทำให้สำเร็จตามการตัดสินใจของเขา. (1 เป. 3:4) นอกจากนั้น ภรรยาที่ดีพยายามทำตามตัวอย่างที่ดีของสตรีที่ เลื่อมใสพระเจ้าในสมัยโบราณ เช่น ซาราห์ รูท อะบีฆายิล และมาเรียมารดาของพระเยซู. (1 เป. 3:5, 6) เธอยังเลียนแบบสตรีสูงอายุในสมัยปัจจุบันที่ “ประพฤติอย่างที่น่านับถือ” ด้วย. (ทิทุส 2:3, 4) ภรรยาที่เป็นแบบอย่างที่ดีมีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมชีวิตสมรสให้ประสบความสำเร็จและส่งเสริมสวัสดิภาพของทั้งครอบครัวด้วยการแสดงความรักและความนับถือต่อสามี. บ้านของเธอเป็นที่ที่ทำให้ทุกคนรู้สึกสบายใจและปลอดภัย. ภรรยาที่เกื้อหนุนมีค่าอย่างยิ่งสำหรับสามีที่เป็นมนุษย์ฝ่ายวิญญาณ!—สุภา. 18:22
เยาวชนทั้งหลาย ‘จงเพ่งตาดูที่สิ่งซึ่งมองไม่เห็น’
15. เยาวชนจะทำส่วนของตนเองและช่วยบิดามารดาเพื่อให้ครอบครัว “ตื่นอยู่” ได้อย่างไร?
15 เยาวชนทั้งหลาย คุณจะทำส่วนของตัวเองและช่วยบิดามารดาเพื่อให้ครอบครัว “ตื่นอยู่” ทางฝ่ายวิญญาณได้อย่างไร? ขอให้พิจารณารางวัลที่พระยะโฮวาทรงสัญญาจะประทานแก่คุณ. อาจเป็นได้ว่าตั้งแต่ที่คุณยังเด็ก บิดามารดาให้คุณดูรูปภาพเกี่ยวกับชีวิตในอุทยาน. เมื่อคุณโตขึ้น บิดามารดาคงใช้คัมภีร์ไบเบิลและหนังสือต่าง ๆ ของคริสเตียนเพื่อช่วยให้คุณนึกภาพออกว่าชีวิตนิรันดร์ในโลกใหม่จะเป็นอย่างไร. การรักษาตาของคุณให้จดจ้องอยู่ที่การรับใช้พระยะโฮวาและการวางแผนชีวิตให้สอดคล้องกับเป้าหมายนี้จะช่วยคุณให้ “ตื่นอยู่” เสมอ.
16, 17. เยาวชนอาจทำอะไรได้เพื่อจะประสบความสำเร็จในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิต?
16 ขอให้จดจำถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลที่ 1 โครินท์ 9:24. (อ่าน) จงวิ่งแข่งเพื่อชีวิตด้วยความตั้งใจเต็มที่ว่าจะชนะให้ได้. จงเลือกแนวทางที่จะส่งผลให้คุณได้รับรางวัลอันได้แก่ชีวิตนิรันดร์. หลายคนได้ปล่อยให้การแสวงหาสิ่งฝ่ายวัตถุทำให้พวกเขาเขว และไม่ได้จดจ้องที่รางวัลอีกต่อไป. ช่างโง่เขลาเสียจริง ๆ! การวางแผนชีวิตเพื่อจะมั่งคั่งร่ำรวยไม่ทำให้มีความสุขอย่างแท้จริง. สิ่งต่าง ๆ ที่เงินซื้อได้คงอยู่แค่ชั่วคราว. แต่ขอให้คุณเพ่งตาดู “สิ่งซึ่งมองไม่เห็น.” เพราะเหตุใด? เพราะ “สิ่งที่มองไม่เห็นนั้นคงอยู่ชั่วนิรันดร์.”—2 โค. 4:18
17 “สิ่งที่มองไม่เห็น” รวมถึงพระพรต่าง ๆ ที่ราชอาณาจักรจะนำมาให้. จงวางแผนที่จะดำเนินชีวิตอย่างที่จะทำให้คุณได้พระพรเหล่านั้น. ความสุขแท้มาจากการใช้ชีวิตในการรับใช้พระยะโฮวา. การรับใช้พระเจ้าองค์เที่ยงแท้ทำให้คุณมีโอกาสจะบรรลุเป้าหมายหลายอย่าง ทั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว. * การตั้งเป้าหมายฝ่ายวิญญาณที่ทำได้จริงอาจช่วยคุณให้หมกมุ่นอยู่กับการรับใช้พระเจ้าเสมอโดยคิดถึงรางวัลที่จะได้รับคือชีวิตนิรันดร์.—1 โย. 2:17
18, 19. เยาวชนจะบอกได้อย่างไรว่าเขาได้พัฒนาสายสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระเจ้าแล้วหรือยัง?
18 เยาวชนทั้งหลาย ก้าวแรกบนเส้นทางสู่ชีวิตก็คือการพัฒนาสายสัมพันธ์ของตัวคุณเองกับพระยะโฮวา. คุณได้ทำขั้นตอนนี้แล้วหรือยัง? จงถามตัวเองว่า ‘ฉันเป็นมนุษย์ฝ่ายวิญญาณไหม หรือว่าการทำกิจกรรมฝ่ายวิญญาณของฉันขึ้นอยู่กับพ่อแม่? ฉันพัฒนาคุณลักษณะต่าง ๆ ที่พระเจ้าพอพระทัยไหม? ฉันพยายามรักษากิจวัตรในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการนมัสการแท้อย่างสม่ำเสมอไหม เช่น อธิษฐาน ศึกษา เข้าร่วมการประชุม และประกาศเป็นประจำ? ฉันกำลังเข้าใกล้พระเจ้าด้วยการพัฒนาสายสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระองค์ไหม?’—ยโก. 4:8
19 ขอให้พิจารณาดูตัวอย่างของโมเซ. แม้ว่าโมเซต้องฮีบรู 11:24-27) เยาวชนคริสเตียนทั้งหลาย คุณเองก็จำเป็นต้องตั้งใจแน่วแน่ว่าจะรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ด้วย. เมื่อคุณทำอย่างนั้น คุณจะมีความสุขอย่างแท้จริง มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในเวลานี้ และ “ยึดชีวิตแท้ไว้ให้มั่น.”—1 ติโม. 6:19
ไปอยู่ท่ามกลางชาวต่างชาติที่มีวัฒนธรรมต่างออกไป ท่านเลือกที่จะถูกเรียกว่าเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาแทนที่จะให้ใครเรียกว่าเป็นบุตรของราชธิดาฟาโรห์. (อ่าน20. ในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิต ใครได้รับรางวัล?
20 ในสมัยโบราณ มีนักวิ่งเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะได้รับรางวัลในการแข่งขัน. การวิ่งแข่งเพื่อชีวิตไม่เป็นอย่างนั้น. พระเจ้าทรงประสงค์ “ให้คนทุกชนิดรอดและได้รับความรู้ถ่องแท้เรื่องความจริง.” (1 ติโม. 2:3, 4) หลายคนที่มีชีวิตอยู่ก่อนคุณได้ชนะการวิ่งแข่งนี้แล้ว และยังมีอีกหลายคนที่กำลังวิ่งไปด้วยกันกับคุณ. (ฮีบรู 12:1, 2) รางวัลจะเป็นของทุกคนที่ไม่ยอมแพ้. ดังนั้น จงตั้งใจแน่วแน่ว่าจะชนะให้ได้!
21. บทความถัดไปจะพิจารณาอะไร?
21 “วันใหญ่ของพระยะโฮวาอันเป็นวันที่น่าสะพรึงกลัว” จะมาอย่างแน่นอน. (มลคี. 4:5) วันนั้นไม่น่าจะมาถึงโดยที่ครอบครัวคริสเตียนไม่ทันรู้ตัว. นับว่าสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกคนในครอบครัวจะทำหน้าที่รับผิดชอบของตนตามหลักพระคัมภีร์. มีอะไรอีกที่คุณอาจทำได้เพื่อจะตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอและเสริมสายสัมพันธ์ของคุณกับพระเจ้าให้มั่นคง? บทความถัดไปจะพิจารณาสามปัจจัยที่มีผลต่อสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของทั้งครอบครัว.
[เชิงอรรถ]
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• เหตุใดจึงสำคัญที่ครอบครัวคริสเตียนจะ “ตื่นอยู่”?
• สามีจะเลียนแบบ “ผู้เลี้ยงที่ดี” ได้อย่างไร?
• ภรรยาที่เป็นแบบอย่างที่ดีอาจทำอะไรได้เพื่อสนับสนุนสามี?
• เยาวชนจะช่วยครอบครัวให้ตื่นอยู่ทางฝ่ายวิญญาณได้อย่างไร?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 9]
ภรรยาที่เกื้อหนุนมีค่าอย่างยิ่งสำหรับสามีที่เป็นมนุษย์ฝ่ายวิญญาณ